ในช่วงชีวิต 30 ปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปเมืองโคเปนเฮเกนประมาณ 2 ครั้ง ครั้งแรกเดินทางเพียงลําพังเพื่อการศึกษา โดยเจาะจงไปเยี่ยมโรงงานเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบ จากนั้นก็ไปดูงานเฟอร์นิเจอร์ตามโชว์รูมต่างๆ หลากหลายแบรนด์ และแน่นอนว่าต้องแวะไปดูมิวเซียมและร้านหนังสือที่มีมากมายกระจายทั่วเมือง ซึ่งเป็นนิสัยส่วนตัวของผมไม่ว่าไปเที่ยวที่ใดก็ตาม 

แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล
แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล

ครั้งแรกที่ไปเป็นช่วงหน้าร้อน ฟ้าใสแดดเปรี้ยงรุนแรงเหมือนประเทศบ้านเกิด สิ่งที่ทําให้ผมรู้สึกเผ็ดร้อนกว่าอากาศคืออาการของชาวเมืองที่นอนถอดเสื้ออาบแสงอาทิตย์ หรือเดินกันขวักไขว่อยู่ตามถนนหนทาง โดยเฉพาะลานกว้างและทางเดินริมแม่น้ำ เวลานั้นทุกคนแห่กันออกจากบ้านมาอยู่ตามถนน ร้านรวงต่างๆ สถานที่ท่องเที่ยวก็คึกคักเป็นพิเศษ ตอนนั้นผมสงสัยอย่างแรงกล้าว่านี่คือเรื่องปกติของที่นี่รึเปล่า จนได้คำตอบจากเจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์ร้านหนึ่งที่ผมเข้าไปชม 

เขาบอกว่า นี่คือสัปดาห์แรกที่เราได้แสงอาทิตย์เต็มๆ หลายเดือนที่ผ่านมาท้องฟ้ามืดมิดหนาวเหน็บยาวนาน ชาวเมืองเลยออกจากบ้านมาด้วยความดีใจ เขาถามต่อว่าผมมาถึงเดนมาร์กเมื่อไหร่ ผมตอบไปว่าเมื่อ 2 วันก่อนนี้ เจ้าของร้านยิ้มกว้างแล้วพูดว่า คุณมาพร้อมกับพระอาทิตย์เลย (You bring the sun) 

แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล

ครั้งที่สองผมไปโคเปนเฮเกนเนื่องด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ช่วงที่ไปคือต้นฤดูหนาวที่ลมแรง อากาศหนาว อุณหภูมิเลขตัวเดียวอย่างที่เจ้าของร้านคนนั้นกล่าวไว้ โคเปนเฮเกนดูสงบเงียบกว่าในหน้าร้อนมาก ผู้คนต่างเก็บตัวอยู่ในบ้าน ความรู้สึกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง สิ่งที่เหมือนกันอาจเป็นอากาศสะอาดที่วัดได้ศูนย์ US AQI และมิวเซียมดีๆ ยังคงเปิดให้บริการไม่ว่าฤดูกาลไหน

แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล

มิวเซียมแห่งหนึ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษชื่อ Design Museum Denmark ตั้งอยู่บนถนน Bredgade ใจกลางเมืองโคเปนเฮเกน สาเหตุหลักที่ผมชอบที่นี่เพราะผมเองทํางานเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ นอกจากเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์สําคัญเกี่ยวกับงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของเดนมาร์กแล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นหลายสิ่งในกระแสการออกแบบที่ยิ่งใหญ่และสําคัญที่สุดยุคหนึ่งของเดนมาร์ก นั่นคือ Danish Design Movement 

ไฮไลต์ของ Designmuseum Denmark คือนิทรรศการชื่อ The Danish Chair – an international affair ซึ่งเป็นนิทรรศการถาวรที่เก็บรวบรวมงานเก้าอี้กว่า 113 ตัวจากนักออกแบบทั่วโลก เก้าอี้เหล่านี้ล้วนเป็นหมุดหมายสําคัญในวงการการออกแบบของเดนมาร์ก ทั้งสองครั้งที่ผมไปเยือนเมืองนี้ ไม่เคยพลาดมิวเซียมแห่งนี้เลย แต่ 2 ครั้งที่เยือนนั้นต่างกัน ครั้งแรกผมเข้าไปดูเฉพาะตัวเก้าอี้ ดูความงาม ดูโครงสร้างวัสดุ แต่ครั้งที่ 2 ผมดูพร้อมความเข้าใจที่มากขึ้น 

แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล
แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล

สิ่งที่ทําให้ผมเข้าใจเรื่องราวไม่ได้เกิดขึ้นที่เดนมาร์ก แต่เกิดขึ้นจากหนังสือที่ผมซื้อในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนังสือที่มีชื่อเดียวกับนิทรรศการ ผมซื้อมาจากร้านโดยใช้เวลาตัดสินใจสั้นมาก เมื่อเห็นแวบแรกก็หยิบมันมาจากชั้นวางแล้วตรงไปให้พนักงานแกะห่อออกด้วยความรวดเร็ว เพียงแค่ได้เปิดและพลิกดูเนื้อหาต่างๆ ในเล่ม ก็ทําให้เงินในกระเป๋าของผมจากไปอย่างง่ายดาย 

แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล

The Danish Chair เป็นหนังสือประกอบนิทรรศการ แต่เพิ่งออกมาได้ไม่นาน ผมจึงไม่เห็นมันเมื่อไปมิวเซียมครั้งแรก เมื่อได้เริ่มอ่านจึงเริ่มเห็นความเชื่อมโยงของเก้าอี้แต่ละตัว นักออกแบบแต่ละคน และเรื่องราวที่มาที่ไปต่างๆ ซึ่งสอดประสานถักทอกันเป็นโครงสร้างที่แข็งแรง 

ครั้งหนึ่งเมื่อผมเป็นนักศึกษาออกแบบ ขณะนั่งฟังอาจารย์เล่าถึงประวัติศาสตร์การออกแบบของประเทศโน้น ประเทศนี้ ผมมักเข้าใจไปเองว่าประเทศเหล่านั้นมีเอกลักษณ์ทางการออกแบบกันมาแต่ไหนแต่ไร เช่น ญี่ปุ่นก็มีความเป็นญี่ปุ่นแบบนั้นมายาวนาน หรืองานออกแบบแถบสแกนดิเนเวียก็เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว และมักรู้สึกอิจฉาเหล่าประเทศที่มีลายเซ็นชัดเจนแตกต่างอยู่ลึกๆ 

การอ่านหนังสือเล่มนี้ทําให้ผมเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สําคัญ เหมือนจะติดตัวประเทศนั้นๆ มาตั้งแต่เกิด จริงๆ แล้วสร้างขึ้นมาโดยใครบางคน มีจุดเริ่มต้นและปัจจัยต่างๆ ที่ทําให้พัฒนาต่อเนื่องและมีที่มาที่ไปชัดเจน 

ในช่วง ค.ศ. 1920 ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปทยอยปรับเข้าสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น เศรษฐกิจและแนวคิดต่างๆ พัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่เดนมาร์กเป็นประเทศท้ายๆ ที่เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ในช่วงที่คนอื่นใช้ระบบโรงงาน เดนมาร์กยังคงเป็นประเทศที่ทําเกษตร มีทรัพยากรธรรมชาติจํากัด และใช้สิ่งของที่เป็นงานหัตถกรรม 

จิตวิญญาณของงานช่างและการใช้วัสดุให้คุ้มค่า (Optimal use of material resources) จึงเป็นสิ่งที่ติดตัวชาวเดนมาร์ก และแสดงให้เห็นเด่นชัดเมื่องานออกแบบของเดนมาร์กพัฒนาขึ้น 

แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล

จุดเริ่มต้นของ Danish Design Movement เริ่มต้นเมื่อสถาปนิกหนุ่ม คารร์ คลินต์ (Kaare Klint) ได้รับการจ้างให้ออกแบบ Design Museum แห่งใหม่ โดยรีโนเวตสถานที่ซึ่งเป็นอาคารโรงพยาบาลเก่าในช่วง พ.ศ. 1920 ตัวมิวเซียมนั้นนอกจากเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะและการออกแบบแล้ว ยังเป็นที่พักของคลินต์ และเป็นโรงเรียนสอนออกแบบเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย ซึ่งอาจารย์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากคุณคลินต์นี่เอง 

คารร์ คลินต์ มีมุมมองต่อการออกแบบแตกต่างจาก Movement ที่มาแรงในยุคนั้นอย่าง Bauhaus จากประเทศเยอรมนี Bauhaus มุ่งเน้นการเทิดทูนระบบอุตสาหกรรม มองไปยังอนาคต ค้นคว้าหารูปทรงที่บริสุทธิ์ เน้นการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรและวัสดุใหม่ๆ ระบบตรรกะ วิทยาศาสตร์ และตัดขาดจากอดีตอย่างชัดเจน ขณะที่คลินต์ให้ความ สําคัญกับอดีตและวัฒนธรรมที่ผ่านมา เขาเห็นว่าการที่รูปแบบเก้าอี้ตัวหนึ่งพัฒนาและอยู่มาได้เป็นร้อยปี หมายความว่ามันถูกลดทอนจนเหลือแต่สิ่งที่สําคัญแล้ว สิ่งที่ควรทําคือเรียนรู้จากของเก่า และพัฒนาปรับปรุงให้เข้ากับบริบทในปัจจุบันมากกว่า 

การออกแบบหลักสูตรการสอนของคลินต์จึงเริ่มต้นที่ให้นักเรียนไปศึกษาสัดส่วนและสไตล์ของเฟอร์นิเจอร์โบราณในมิวเซียม ทั้งจากอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ไปจนถึงอินเดีย โดยใช้ทั้งการวัดและวาดภาพ เพื่อให้เข้าใจโครงสร้างอย่างถ่องแท้ มากไปกว่านั้น นักเรียนออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในยุคนั้นล้วนแล้วแต่ต้องผ่านการฝึกงานเป็นช่างไม้ เพื่อให้เข้าใจพื้นฐานสําคัญด้วยมือของตนเอง ก่อนจะใช้มือนั้นลงมือออกแบบ 

แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล
แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล

ผลลัพธ์ที่สําคัญของปรัชญาการออกแบบของคลินต์มาเบ่งบานชัดเจนในศิษย์เอกทั้งสองคน อย่าง Hans Wegner และ Børge Mogensen ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นกัน ทั้งคู่ใช้วิธีการศึกษาเฟอร์นิเจอร์โบราณอย่างที่คลินต์สอน และพัฒนาต่อให้เข้ากับความเชี่ยวชาญของตนเอง โดยเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีของ ฮันส์ เวกเนอร์ (Hans Wegner) 

 ฮันส์ เวกเนอร์ มีพื้นฐานช่างไม้ชนิดฝีมือหาตัวจับยาก เก้าอี้ของเวกเนอร์ทุกตัวล้วนเค้นเอาศักยภาพของช่าง เครื่องมือ และวัสดุออกมาอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงที่โค้งมนพริ้วไหว ไปจนถึงระบบข้อต่อที่แม่นยํา ซับซ้อน และแข็งแรง 

แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล
แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล

งานของเวกเนอร์ยุคแรกพยายามพัฒนาเก้าอี้โบราณหลากหลายถิ่นทั้งจากจีนและกรีกโบราณให้เรียบง่ายมากขึ้น เบื้องต้นยังคงเส้นสายของแต่ละวัฒนธรรมชัดเจน จนถึงจุดหนึ่งความชัดเจนหายไป และเริ่มกลายเป็นภาษาสากล อย่างเก้าอี้ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในหลายมาสเตอร์พีซของเวกเนอร์อย่าง Wishbone Chair และ Round Chair 

แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล
แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล

การมาถึงของ Round Chair หรือที่คนให้ชื่อเล่นว่า The Chair ที่จัดแสดงในงาน Copenhagen Cabinetmakers’ Guild Exhibitions ซึ่งจัดขึ้นที่ Design Museum Denmark ใน ค.ศ. 1949 นี่เอง เป็นจุดสําคัญที่ทําให้งานออกแบบจากเดนมาร์กเป็นที่นิยมมากขึ้น ตัวแปรสําคัญคือนักข่าวจากประเทศสหรัฐอเมริกามาทําข่าว และออร์เดอร์จากพลเมืองอเมริกาก็ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน จากนั้นกระแสของงานจากเดนมาร์กและแถบสแกนดิเนเวียก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก 

ปัจจัยที่สําคัญอีกเรื่อง คือความต้องการสิ่งของในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป งานจากอุตสาหกรรมถูกเชื่อมโยงเข้ากับภาพความโหดร้ายของสงคราม คนโหยหาอดีตที่สวยงามและความจริงใจจากงานหัตถกรรม วัสดุธรรมชาติ และงานคราฟต์มากขึ้น ประจวบเหมาะกับเดนมาร์กซึ่งยังไม่ได้เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเต็มที่ ยังมีเวิร์กช็อปเล็กๆ ที่ใช้การผลิตแบบคราฟต์หลงเหลืออยู่ ทักษะฝีมือต่างๆ ยังคงสืบทอดและพัฒนา พร้อมต่อยอดการผลิตงานตอบสนองความต้องการเหล่านี้ เป็นจังหวะที่พอเหมาะเจาะพอดี ดั่งดวงดาวเรียงตัวกันเลยทีเดียว 

แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล

หมุดหมายหนึ่งที่แสดงความสําเร็จของ Round Chair คือภาพถ่ายใน ค.ศ. 1960 ที่ จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) นั่งเก้าอี้ตัวนี้ในวันที่ดีเบตกับ ริชาร์ด นิกสัน ( Richard Nixon) ซึ่งเป็นการถ่ายทอดสดการดีเบตของผู้สมัครชิงตําแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ภาพของเคนเนดีและ Round Chair ส่งเสริมกันทั้งในด้านบุคลิกที่สุขุม น่าเคารพ และอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ทั้งคนและเก้าอี้ต่างนําเสนอ 

แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล

ย้อนกลับไปในวันหนาวเหน็บในเมืองโคเปนเฮเกน ฟ้ามืดแล้ว ก่อนจะออกจากมิวเซียม ผมนั่งพักที่คาเฟ่สุดน่ารักในตัวอาคาร พยายามจัดการนํากองหนังสือและโปสเตอร์มากมายที่เพิ่งซื้อใน Museum Shop ลงในกระเป๋า ในใจก็เฝ้าคิดถึงเรื่องราวที่ได้เรียนรู้ว่า วัฒนธรรมที่ดูยิ่งใหญ่และยาวนานก็มีจุดเริ่มต้นที่ใดสักแห่ง 

เดนมาร์กในวันนี้พัฒนาในมากมายในทุกด้านจากเมื่อร้อยปีก่อน นักออกแบบรุ่นใหม่ก็สร้างงานที่ดีและแตกต่างไม่แพ้รุ่นพี่ สิ่งสําคัญสิ่งหนึ่งในการพัฒนาคือการเข้าใจประวัติศาสตร์ของตน การศึกษาเรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมา ส่งผ่านความรู้ความเข้าใจ รู้จุดแข็งของตนเอง และขับเน้นพัฒนามันให้ถึงขีดสุดตามความสามารถ 

ประวัติศาสตร์การออกแบบอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ในแง่ของระยะเวลาอาจเรียกว่ายังไม่สามารถเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์ของชาติตะวันตก ในแง่ของอัตลักษณ์ก็ยังอยู่ในช่วงพัฒนา แต่เรื่องราวของ Danish Design ได้บอกกับเราว่า แม้จะเป็นผู้ตาม แต่หากเราร่วมมือกัน แบ่งปันความรู้และสร้างการเรียนรู้ที่เป็นระบบ ต่างคนต่างฝึกฝนตนเองในวิธีที่ถนัด สักวันหนึ่งปัจจัยต่างๆ จะส่งเสริมกัน เกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้ 

ขอเพียงเราหันกลับไปมองสิ่งที่ผ่านมาให้กระจ่างชัด มองไปข้างหน้าด้วยความหวังแห่งการสร้างสรรค์ เพื่อที่เราจะได้จดจ่อกับการทําปัจจุบันให้เต็มที่ 

แกะรอย โคเปนเฮเกน สืบเบื้องหลังการออกแบบเก้าอี้สแกนดิเนเวียที่คนทั้งโลกหลงใหล

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์

นักออกแบบที่พยายามเรียนรู้การทำธุรกิจ หลงใหลในการไปมิวเซียมและร้านหนังสือ ชอบเล่นดนตรีมากกว่าชอบฟัง ทำแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อ Flo