2 กันยายน 2024
2 K

“เวลามีคนถามผมว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคืออะไร มันคือช่วงเริ่มต้น ไม่ใช่การล่องเรือ แต่คือการซื้อเรือ 

“ในหัวเราคิดว่า ‘เราจะทำสิ่งนี้จริงเหรอ บ้าหรือเปล่า ทำไมเราไม่ซื้อบ้าน ไม่ทำสิ่งที่คนทั่วไปเขาทำกัน’ ซื้อเรือต้องใช้เงินเยอะมาก เรามีลูก เราต้องเลี้ยงเขา จะทำยังไง

“สุดท้ายเราก้าวข้ามความกลัวนั้นได้ แล้วบอกกับตัวเองว่า ฉันจะทำมันไม่ว่าอย่างไรก็ตาม” 

ความฝันของ Daniel Monk คือการล่องเรือรอบโลก

และเขาอยากทำมัน พร้อมครอบครัว 

แดเนียลโตมาบนเรือ พ่อของเขาทำงานในพาณิชย์นาวี (Merchant Navy) พาครอบครัวขึ้นเรือเดินทางหลายประเทศทั่วโลก แดเนียลหลงใหลเรื่องราวของนักสำรวจในยุคบุกเบิก ช่วงที่คนยังไม่รู้ว่าโลกนี้มีประเทศไหนอยู่ตำแหน่งใด การล่องเรือแต่ละครั้งคือการผจญภัย เผชิญโลกกว้าง ล้อมรอบด้วยทะเลและธรรมชาติ

14 ปีที่แล้ว แดเนียลพบกับ โบว์-พิชญา สังขโชติ และตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน มีลูกสาวน่ารัก 2 คน คือ Amelia และ Olivia 

ตั้งแต่แรกพบ แดเนียลเล่าความฝันของตัวเองให้ภรรยาในอนาคตฟัง โบว์เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง การล่องเรือไปรอบโลกพร้อมครอบครัวเป็นเรื่องไม่ปกติอยู่แล้ว แต่อีกครึ่งเธอเห็นอยู่แล้วว่าแดเนียลบ้าเรือแค่ไหน ในโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ของแดเนียลเต็มไปด้วยเรือลำใหม่ที่เขาเล็งไว้เหมือนเด็กที่จองของเล่นก่อนได้จริง

“คำถามแรกของเขา คือเราจะไปรอบโลกกับเขามั้ย และเราตอบว่าไป เราไม่รู้หรอกว่าจะทำอะไร แต่เราจะทำด้วยกัน” โบว์เล่า

ความฝัน

ฟังดูประหลาด แต่ความจริงการใช้ชีวิตบนเรือเป็นเรื่องได้รับความนิยมไม่น้อย 

ลองหาคำว่า Sailling Community คุณจะพบว่ากิจกรรมล่องเรือนั้นหลากหลาย เป็นทั้งกีฬา งานอดิเรก และความฝันเปลี่ยนชีวิต ในบ้านเราก็มีโรงเรียนสอนหลายแห่ง ในจังหวัดที่มีท่าเรือและมีชุมชนนักล่องเรือ เช่น พัทยา ภูเก็ต ฯลฯ ตัวเรือก็มีหลายราคา หลายขนาด รองรับความต้องการของผู้ใช้ทั่วโลก

“เราพบคนที่น่าสนใจจากทั่วโลก มีทุกแบบ บางคนมีเรือ 10 ล้านปอนด์ มีลูกเรือที่ทำให้ทุกอย่าง บางคนมีเรือ 5,000 ปอนด์ ทำทุกอย่างเอง ไม่ว่าแบบไหนก็ยากหมด

“ความท้าทายที่สุดคือการเก็บเงิน ในหน้าจอแลปท็อปผมเซฟภาพเรือไว้หลายแบบ ผ่านท่าเรือที่ไหนก็จะขอแวะดู ผมซื้อนิตยสารเรือทุกเดือน ไม่มีเงินเลยนะ บอกตัวเอง วันหนึ่งเราจะมีมัน”

ถ้าเทียบคนที่มีฝันใกล้เคียงกัน แดเนียลเล่าว่ามีนักล่องเรือหลายคนยอมขายบ้าน ทุ่มหมดหน้าตักเพื่อซื้อเรือ เลี้ยงลูกด้วยระบบ Homeschool ใช้ชีวิตบนเรือ 100% 

แต่เขาและโบว์ไม่อยากเริ่มต้นแบบนั้น รู้ตัวว่าไม่เหมาะจะเป็นคนสอนลูกเอง ถ้าเป็นเรื่องวิชาการการส่งเข้าโรงเรียนจะดีกว่า เขาตัดสินใจมีบ้าน ส่งลูกสาวทั้ง 2 คนเข้าเรียนที่โรงเรียนปัญญาเด่น จังหวัดเชียงใหม่ แดเนียลและโบว์ทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง ล่าสุดคือการทำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการของหายากสำหรับนักสะสมทั่วโลก ทั้งคู่ไม่ได้มีเงินเยอะ ธุรกิจขนาดเล็กเริ่มต้นได้ดี แต่ความฝันในการเดินทางยังคงอยู่ 

จุดเปลี่ยนของครอบครัวนี้คือโควิด โบว์เล่าว่าในฐานะแม่ เธออยากให้ลูกเรียนรู้โลกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ต้องอยู่แต่บ้านอย่างเดียว การเดินทางด้วยเรือก็ดูจะตอบโจทย์เรื่องนี้ “มันเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับเราที่จะออกไปสำรวจ สร้างประสบการณ์ให้ลูกเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิต” เธอเล่า

แดเนียลเจอเรือที่ใช่ในช่วงโควิดพอดี แต่กว่าจะได้ออกเดินทางพร้อมภรรยาและลูกสาวต้องรออีก 3 ปีให้หลัง เขาไปลงเรียนวิชาการล่องเรือ 14 วันชื่อคอร์สว่า Zero to Hero ที่โรงเรียนในพัทยา จนกระทั่งได้ใบอนุญาต ส่วนลูกก็เคยเรียนวิชาอยู่บนเรือกับ LGT-YOUTH SAILING CAMP (ค่ายเยาวชนพันธุ์ใหม่แล่นเรือใบตามรอยพ่อหลวง ร.9) หลังจากแดเนียลจัดระบบการทำธุรกิจให้ทำทางไกลได้ รอจังหวะที่ลูกปิดเทอม ครอบครัวถึงได้เริ่มออกเดินทาง

“ความฝันคือล่องเรือรอบโลก อาจจะ 4 – 5 ปี อะไรแบบนั้น ถ้าเราชอบมันทั้งครอบครัว เราสัญญากันในบ้านว่าจะลองทำแบบนี้สัก 3 เดือน เราไม่รู้ว่าจะชอบกันมั้ย แต่ลองดู หลังจากนั้นค่อยมาดูกันว่าเป็นยังไง” แดเนียลเล่า

เรือลำแรกของครอบครัวชื่อว่า ‘Pancakes’ แดเนียลเริ่มจากการพาครอบครัวลงเรือระยะสั้น จอดเรือไว้ตามท่าเรือในต่างประเทศ ให้ภรรยาและลูกสาวเดินทางกลับเชียงใหม่เป็นระยะ เมื่อมีเวลาก็บินมาหา Pancakes เพื่อล่องเรือด้วยกัน วิธีนี้ช่วยให้เขาและโบว์จัดการทุกอย่างได้ดีขึ้น 3 เดือนผ่านไป Pancakes ยังอยู่กับพวกเขาด้วยดี

คุณอาจคิดว่านี่เป็นการสานฝันของคนเป็นพ่อฝ่ายเดียวหรือเปล่า พาครอบครัวมาลำบากหรือเปล่า ความจริงคือทั้งโบว์ อะมีเลีย โอลิเวีย ล้วนอยากลงเรือไปด้วยกัน เวลาอยู่ที่บ้าน ต่างฝ่ายต่างมีธุระของตัวเอง โดยเฉพาะอะมีเลียที่เป็นนักกีฬาว่ายน้ำและไตรกีฬาของชมรมโรงเรียน การล่องเรือจึงเป็นเหมือนการมาพักผ่อน ใช้เวลาร่วมกับครอบครัว

ความจริง

“สิ่งสำคัญไม่ได้เกี่ยวกับการล่องเรือหรอกครับ แต่คือการทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ โดยที่บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรเวลาเรือมีปัญหา เด็ก ๆ ได้เห็นว่าปัญหาคือเรื่องปกติ พ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ ไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่ พ่อแม่ไม่รู้แต่เขากำลังพยายาม บางทีเด็กอย่างเราก็อาจจะหาทางแก้ปัญหาได้เหมือนกัน

“อีกข้อคือเรื่องเวลา พวกเขาโตมาในโลกที่มีโทรศัพท์และโซเชียลมีเดีย เด็กโตเร็วมาก เราจะทำยังไงที่เอาเด็กออกจากโลกอันรวดเร็วนี้บ้าง เราจะใช้เวลาร่วมกันอย่างไร สำหรับเรา คำตอบคือเรื่องธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในการล่องเรือ เดินเขา เดินป่า และกิจกรรมทุกอย่างที่ทำด้วยกัน 

“การล่องเรือสำหรับผมคือสุดยอดการใช้สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ เราได้ฝึกหลักการพื้นฐานของการมีชีวิต เช่น ต้องรู้ว่ามีน้ำเหลือเท่าไหร่ มีพลังงานเท่าไหร่ แสงแดดสำหรับแบตเตอรี่พอมั้ย (Pancakes ใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์) ต้องบริหารอาหารบนเรือ ถ้ามีอะไรพัง เราไม่มีคนให้ขอความช่วยเหลือ ต้องแก้ปัญหาเอง เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ใช้เวลาคุณภาพด้วยกันกับเด็ก ๆ โดยให้เรื่องยาก ๆ ในชีวิตหายไป” แดเนียลเล่า 

ฝั่งคนเป็นแม่ การล่องเรือทำให้โบว์รู้จักลูกในด้านที่ไม่เคยเห็นมากขึ้น เช่น รู้ว่าลูกสาวคนโตทำอาหารได้ ช่วยซ่อมเรือหรือจัดการเวลามีปัญหาได้ ข้อดีอีกอย่างคือการศึกษา แม้จะต้องลาโรงเรียนบ้าง แต่การได้พบคนต่างวัฒนธรรม ได้กินอาหารท้องถิ่น ได้แวะเกาะหน้าตาประหลาด ได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เหล่านี้คือความรู้นอกห้องเรียนที่มีประโยชน์กับลูกทั้งสิ้น

“เราพบพ่อแม่หลายคนที่สอนโฮมสคูลให้ลูกบนเรือ หรือบางคนเคยเป็นครู หยุดสอน แล้วมาสอนลูกตัวเองตามวิถีแบบโฮมสคูลก็มี หนึ่งในความท้าทายของการพาลูกล่องเรือคือการสร้างเพื่อน พวกเราไม่ได้อยากอยู่โดดเดี่ยว เวลาถึงท่าเรือ เราต่างมองหาเด็ก ‘Kids Boat’ หรือเด็กที่อยู่บนเรือเหมือนกัน มันเป็นวิธีที่ดีในการหาเพื่อน เวลาเจอก็แทบจะวิ่งเข้าไปหา อยากเล่นด้วย เราเคยใช้เวลากับครอบครัวหนึ่ง 3 อาทิตย์ ล่องเรืออยู่ใกล้ ๆ เพียงเพราะเขาก็มีลูก 2 คนซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนที่ดีมากของลูกเรา”

ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องราบรื่น ทุกคนต่างต้องหัดใช้ชีวิตที่แคบ ๆ บนเรือ ต้องช่วยกันทำงานเป็นทีม เวลามีปัญหาหรือความขัดแย้งในบ้าน แดเนียลบอกว่าเขาจะเงียบ เผชิญหน้า และพยายามให้ปัญหาจบเร็วที่สุด ให้ทุกคนพร้อมรับมือกับปัญหาบนเรือที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา 

การบริหารเวลาชีวิตบนเรือและบนบกก็ซับซ้อนเช่นกัน อย่างที่บอกว่าแดเนียลไม่ได้ฝืน มีหลายช่วงที่ครอบครัวต้องหยุดพักไม่ได้เดินทางไปกับเขาต่อ อะมีเลียและโอลิเวียกลับมาเรียนเปิดเทอมที่เชียงใหม่อีกครั้ง 

“บางครั้งที่เราเครียด โกรธ ป่วย มีเรื่องเกิดขึ้นบนเรือมากมาย แต่เรายังต้องดูแลกันและกัน เราต้องทำอาหาร เลี้ยงครอบครัว ช่วยแดน ถ้าเขาต้องไปทำธุระตอนเช้าเราก็ต้องตื่นด้วย ให้มั่นใจว่าเราพร้อมที่จะช่วยเขา เราต้องทำงานเป็นทีมรวมถึงลูกสาวด้วย มันคืองานที่ครอบครัวทำด้วยกัน”

ทั้งแดเนียลและโบว์รู้ว่าการล่องเรือสอนลูกเขาได้ แต่ไม่นึกว่าจะสอนได้ขนาดนี้

คนที่เห็นผลชัดเจนที่สุดคืออะมีเลีย ลูกสาวคนโตที่รักสุนัขมาก วันหนึ่งเธอได้พบองค์กร NGO ชื่อ Hand to Paw ช่วยเหลือสุนัขจรจัดในเชียงใหม่ เธออยากทำอะไรสักอย่าง ช่วงนั้นแดเนียลนัดเพื่อนไปปีนเขาที่ Everest Base Camp พอดี อะมีเลียในวัย 8 ขวบตัดสินใจขอไปด้วย พร้อมกับทำแคมเปญออนไลน์เล็ก ๆ บันทึกเรื่องราวการปีนเขาของเธอ พร้อมกับชวนระดมทุนช่วยบริจาคเงินให้ Hand to Paw

ปีต่อมา เธอทำแบบเดียวกัน รอบนี้เป็นการปีนเขาคิลิมันจาโร อะมีเลียทำโปสเตอร์เอง เข้าไปคุยกับร้านค้าในเชียงใหม่เพื่อขอติดโปสเตอร์ ถ่ายคลิป บันทึกเรื่องราวและบริหารจัดการเอง ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากประสบการณ์การเดินทางที่ผ่านมาทั้งสิ้น

“ในมุมพ่อแม่ ฉันคิดว่าลูกยังเป็นเด็กน้อยสำหรับเรา แต่จริง ๆ พวกเขาแข็งแรงขึ้นทั้งกายและใจ” แม่โบว์เล่า 

“เธอทำให้ผมรู้สึกมั่นใจ เมื่อเห็นเขาเอาชนะความท้าทาย” แดเนียลเล่าตอนเดินทางไปเอเวอเรสต์ “ผมจำได้ว่าช่วงที่อะมีเลียกำลังเดินเขา วันแรกเป็นทางลงเขา แต่วันที่ 2 เป็นทางชันมาก ยากมาก อะมีเลียเป็นเด็ก 8 ขวบคนเดียว ในกลุ่มมีผมกับผู้ชายอีก 4 คน เธอหยุด ร้องไห้ ตอนนั้นผมคิดว่ามันจบแล้ว ผมนั่งข้างเขาและบอกว่า โอเค เดี๋ยวเราลงไปล่ะ 

“แต่อะมีเลียไม่อยากลง เธอร้องไห้อยู่ครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นเธอบอกว่าอยากทำสิ่งนี้เพื่อสุนัขและ Hand to Paw ในฐานะพ่อ ผมได้เห็นเด็กน้อยของผมต่อสู้และบรรลุบางสิ่งในใจ เธอก้าวข้ามจากเด็กน้อยที่บอกว่า ฉันไม่อยากทำสิ่งนี้แล้ว ไปสู่เด็กที่คิดว่า เดี๋ยวนะ บางทีฉันน่าจะทำได้ ผมไม่ต้องห่วงเด็กคนนี้อีกแล้วเมื่อเธอโตไป” แดเนียลเล่า 

“เวลาล่องเรือ มันยาก แต่เราก็ไปต่อ สุดท้ายก็พบว่ามันสนุก ตอนที่ขึ้นคิลิมันจาโร ฉันคิดว่าอยากช่วยสุนัขจรจัด นั่นทำให้เรารู้สึกอยากไปข้างหน้าต่อ” อะมีเลียตอบพ่อ

“ตอนอยู่บนเรือ ฉันต้องเก็บน้ำไว้ดี ๆ สำหรับทุกคน พอกลับมาที่บ้านแรก ๆ จะไม่ค่อยอยากใช้น้ำ แต่ก็มารู้ตัวว่า โอ้ ฉันไม่ได้อยู่บนเรือแล้ว ซึ่งนั่นเปลี่ยนฉันเหมือนกันนะ” เธอเล่าติดตลก “การล่องเรือทำให้ฉันใกล้ชิดกับครอบครัวมากขึ้น เมื่อตอนอยู่บ้าน ฉันเล่นกีฬาของโรงเรียน ยุ่งอยู่ตลอดเวลา ตอนไปล่องเรือเหมือนไปแฮงก์เอาต์กับครอบครัว พ่อ แม่ น้อง ฉันรู้สึกผูกพันกันมากขึ้น ตอนนี้กลับมาแล้วก็มีความสุขมาก”

การเดินทาง

แดเนียลรู้สึกว่าการทำกิจกรรมกลางแจ้งช่วยให้ลูกสาวมีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการโดยไม่รู้ตัว

“ตอนอยู่บนเรือ บางทีเราดูท้องฟ้าเป็นชั่วโมงเพื่อหาภาพและรูปทรง ไดโนเสาร์ หมา เป็ด นกฟีนิกซ์ อะไรก็ได้ เราได้เห็นมันบนเมฆแทนที่จะดูบนหน้าจอ 

“เวลาคุณทำธุรกิจ มันต้องการยอดขาย ยอดขายเกิดมาจากความสัมพันธ์ระหว่างคน ต้องหาเพื่อน พบผู้คนต่าง ๆ เด็ก ๆ ไม่ได้เก่งเรื่องล่องเรือ ปีนเขา สกี ขี่ม้า ไตรกีฬา แต่สิ่งที่เธอทำข้างนอกบ้านทำให้เธอเข้าใจโลกมากขึ้น รู้ว่าเรื่องที่คนพูดถึงคืออะไร หาความเชื่อมโยงได้ ลูกเคยมีประสบการณ์ระหว่างล่องเรือในแง่การได้เจอวัฒนธรรมที่แตกต่าง เวลาเข้าร้านอาหารแล้วมีคนให้กินอะไรแปลก ๆ เธอจะไม่อี๋ แต่จะรู้สึกว่า อะไรน่ะ (ทำท่าสนใจ) ผมคิดว่าการเดินทางทำให้ลูกเผชิญหน้ากับคนที่มีความศรัทธา ศาสนา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้ เพราะพวกเธอเคยไปอยู่ตรงนั้นจริง ๆ

“ท้ายที่สุด การทำกิจกรรมกลางแจ้งช่วยคนทำงานวิชาการหรือการทำธุรกิจเหมือนกัน เวลาทำงานที่ยากหรือทำข้อสอบที่โรงเรียน ทุกอย่างยากไปหมด เราจะรู้สึกอยากออกไปจากที่นี่ เหมือนการล่องเรือหรือฝึกซ้อมเพื่อเล่นกีฬา ตอนเหนื่อยเราก็อยากออกตลอดเวลา แต่เราไปต่อจนถึงเส้นชัย คุณจะเข้าที่ 1 หรือที่เท่าไหร่ก็ไม่สำคัญ มันสอนเราว่าเมื่อเริ่มแล้วต้องไปให้ถึง เวลาจ้างคน ผมมักจะถามว่าใครชอบกีฬาบ้าง เพราะคนกลุ่มนี้เวลาเจอสถานการณ์ยาก ๆ เขาจะตั้งใจไปสู่จุดหมายให้สำเร็จ มากกว่าจะยอมแพ้ออกกลางคัน” แดเนียลสรุป

ตอนนี้ครอบครัวนักล่องเรืออยู่ในช่วงหยุดพักการเดินทาง แต่ก็วางแผนกิจกรรมปีหน้าไว้เรียบร้อย หนึ่งในนั้นคือการทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อระดมทุนช่วยสุนัขอีกครั้ง 

รอบนี้อะมีเลียจะขี่ม้าข้ามประเทศมองโกเลีย 

ส่วนโอลิเวีย เห็นเงียบ ๆ แบบนี้ แต่เธอเคยลงแข่งสปาร์ตันสำหรับเด็กมาแล้ว แดเนียลเห็นแววทักษะกีฬาของลูกสาวสุดท้อง และเตรียมกิจกรรมสำหรับทำร่วมกันอีกแน่นอน

จากความฝันที่มีแต่คนตั้งคำถาม ครอบครัวของแดเนียลและโบว์พิสูจน์แล้วว่าทำได้ แต่ควรทำในรูปแบบที่ตัวเองถนัด ใช้ชีวิต เดินทาง เลี้ยงดูครอบครัว และพัฒนาความสัมพันธ์ไปพร้อมกัน 

เรารู้ว่าต่อให้ยังไม่มีแผนลงน้ำ แต่บ้านนี้ไม่ทิ้งเรือไว้เฉย ๆ นาน ๆ แน่นอน

Instagram : sailingpancakes

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก