‘Daddy Finger’ คือแบรนด์กระเป๋าสะพายดีไซน์เก๋ มีทั้งสีสนุกจัดจ้านและสีพื้นเรียบเท่ มองแวบแรกเราไม่คิดว่าเป็นกระเป๋าแม่และเด็ก เพราะติดภาพจำกระเป๋าสีสดใสพร้อมลวดลายสัตว์ชนิดต่าง ๆ จนต้องกลับไปอ่านคำบรรยายสินค้าซ้ำอีกครั้ง
เรากำลังพูดถึงแบรนด์กระเป๋าแม่และเด็กที่ออกแบบจากประสบการณ์ตรงของคุณพ่อ ฉบับละเอียดยิบตั้งแต่ฟังก์ชันไปจนถึงเนื้อผ้า
แม้กระเป๋าสำหรับพ่อแม่ลูกอ่อนจะมีอยู่แล้วมีมากมายในตลาด แต่คุณพ่อคุณแม่ลูกสองอย่าง โย-พุฒิพัฒน์ และ บาย-ภัทรานิษฐ์ กีรติทวีพงศ์ กลับรู้สึกว่ายังไม่มีใบไหนที่ตอบโจทย์พวกเขาได้ครบทุกด้าน โยจึงเริ่มออกแบบกระเป๋าจาก Pain Point ของตัวเอง
2 ปีผ่านไป Daddy Finger มีทั้งลูกค้าเก่ากลับมาซื้อซ้ำและลูกค้าใหม่แวะเวียนเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ทั้งที่เขาไม่เคยจัดโปรโมชันลดราคา ไม่เคยออกบูทงานแม่และเด็ก และหน้าร้านก็เพิ่งจะสร้างเสร็จหมาด ๆ ในวันที่เราเดินทางไปสัมภาษณ์พอดี
“บางคนคิดว่าเป็นสินค้าเถื่อนไหม เป็นบริษัทไม่มีตัวตนหรือเปล่า (หัวเราะ)” โยเล่าจะก่อนเฉลยว่า แท้จริงแล้วพวกเขาแค่ยังไม่มีงบโฆษณา เพราะทุ่มไปกับการพัฒนาสินค้าและอยากทดสอบว่าตัวสินค้าแข็งแรงพอที่จะขายได้ด้วยตัวเองหรือเปล่า
แน่นอนว่าการมีคนตัดสินใจกดสั่งซื้อสินค้าราคาสูงทั้งที่ไม่เคยเห็นของจริงในช่วงแรก ๆ อาจเป็นเรื่องที่ต้องเสี่ยงดวงพอสมควร แต่การกลับมาซื้อซ้ำพร้อมรีวิวดี ๆ และยังคงบอกต่อกันไปตลอด 2 ปีที่ผ่านมาคงพิสูจน์แล้วว่าการเติบโตของ Daddy Finger ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
พ่อแม่นักเผื่อ
เราเดินทางมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากสนามบินสุวรรณภูมิ ตรงหน้าคืออาคารสีน้ำเงินชั้นเดียว มีฟอนต์ตัวหนาสีขาวเขียนชื่อ Daddy Finger บ่งบอกว่าเรามาถึงที่หมาย
ภายในร้านมีกระเป๋าสีสดใสวางเรียงราย แวดล้อมไปด้วยของเล่นเด็กและตุ๊กตา ช่วยให้บรรยากาศเงียบสงบรอบข้างดูสนุกขึ้นไม่น้อย “นี่เป็นช็อปแรกของเราเลย” โยเอ่ย พร้อมกับบอกว่าหน้าร้านยังไม่เสร็จสมบูรณ์นัก การสัมภาษณ์คราวนี้จึงเป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นโฉมหน้าของช็อป Daddy Finger ฉบับจับต้องได้
โยและบายเล่าย้อนไปว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยทำโรงงานรับผลิตกระเป๋ามาก่อน จนกระทั่งแนวคิดทำการแบรนด์ของตัวเองค่อย ๆ เริ่มต้นขึ้นจากการมีสมาชิกใหม่ภายในบ้าน
“เรามีลูกคนแรกเมื่อ 7 ปีก่อน เราพยายามหากระเป๋าทั่วไปมาใส่หรือหาซื้อออนไลน์ที่เขาบอกว่าเป็นกระเป๋าสำหรับคุณพ่อคุณแม่ พอซื้อมาใช้ก็ยังไม่ถูกใจ แต่ยังไม่ได้ทำอะไร จนประมาณ 5 ปีที่แล้วมีลูกคนที่ 2 พอซื้อมาอีก เราเริ่มรู้สึกว่ากระเป๋าแต่ละยี่ห้อก็ดีนะ ไม่ใช่ไม่ดี เพียงแต่ยังไม่ได้ตอบโจทย์ เราเลี้ยงลูกเอง เก็บของเอง ไม่ได้มีพี่เลี้ยง เราจึงรู้ดีว่าต้องใช้อะไร อย่างไรบ้าง”
ทั้งคู่ทยอยไล่รายชื่อสารพัดสิ่งที่ต้องพกสำหรับเด็กอ่อน เรียกว่าเป็นลิสต์ยาวเหยียดยิบย่อย จนหากมีคลิป Unbox ของในกระเป๋า เราเชื่อว่าคงใช้เวลาเล่าหลายนาที
“พ่อแม่หลายคนชอบเผื่อ แพมเพิร์ส ผ้าอ้อม ชุดสำรอง เผื่ออ้วก เผื่ออึเลอะ อย่างน้อยวันหนึ่งควรมี 3 – 4 ชุดเผื่อไว้ อย่างแพมเพิร์สเปลี่ยนทุก 1 – 2 ชั่วโมง ไปข้างนอกก็มีผ้าคลุมเผื่อเขาหนาว มีกรรไกรตัดเล็บ เบตาดีน วาสลีน ก็ต้องพร้อมและลูกผมเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ก็ต้องมีสารพัดยา ช่วงโควิด-19 ยิ่งต้องพกหลายอย่าง แม้แต่ของเล่นเด็ก อย่างน้อยเหลือดีกว่าขาด”
ทว่าเรื่องพื้นที่จัดเก็บคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่าการพกของมากมายแต่จำไม่ได้ว่าเก็บไว้ที่ไหนบ้าง แถมลวดลายกระเป๋าที่น่ารักสดใส ทำให้เมื่อลูกโตขึ้น กระเป๋าใบนี้มักจะถูกทิ้งไว้และไม่มีใครหยิบไปใช้งานต่ออย่างน่าเสียดาย
หลังจากสรรหากระเป๋ามากี่แบรนด์ยังไม่ใช่ ในที่สุดโยจึงตัดสินใจออกแบบและผลิตเองซะเลย
Daddy Finger
โยใช้เวลานับปีไปกับการออกแบบ ผลิต ทดลองใช้เองและให้เพื่อน ๆ ที่มีลูกลองนำไปใช้ เพื่อเก็บความคิดเห็นกลับมาปรับแก้ไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ได้ต้นแบบกระเป๋ารุ่นแรก แต่ยังไม่รู้จะตั้งชื่อแบรนด์ว่าอะไรดี
Daddy finger, Daddy finger
Where are you?
Here I am, here I am
How do you do?
เนื้อเพลง Finger Family ท่อนนี้เล่นวนซ้ำ ๆ เพราะลูกชอบเปิดฟังในระหว่างที่พวกเขากำลังคุยงานกัน โยและบายจึงเรียกโปรเจกต์นี้ว่า ‘Daddy Finger’ เป็นชื่อเล่นไว้ใช้คุยกันเองไปก่อน แต่นานวันเข้า ก็กลายเป็นชื่อแบรนด์อย่างเป็นทางการไปโดยปริยาย เพราะนอกจากจะอยู่ในเนื้อเพลงเด็กแล้ว ยังสื่อถึงกระเป๋าที่คุณพ่อเป็นคนออกแบบ (และมักจะเป็นคนถือให้คุณแม่) ไปในตัว
ออกแบบภายใน
“ถ้ากระเป๋ายิ่งไซซ์ใหญ่ก็อาจจะดี แต่ลองนึกภาพว่าทุกอย่างมาอยู่ในนี้หมด เวลาจะหยิบทีคือปัญหา ยิ่งของชิ้นเล็กที่ต้องใช้ในจังหวะตกใจ เราจะงงไปหมด เราเลยทำออกมาเป็นกระเป๋ารุ่นนี้”
โยเล่าพลางหยิบกระเป๋าสะพายข้างใบใหญ่มาให้เราดู “บางคนชอบเป้เพราะมือเราว่าง แต่เวลาหยิบของจากกระเป๋าสะพายข้าง เราหยิบง่ายกว่า แล้วเป้มีช่องใหญ่ช่องเดียวและสูง อาจจะค้นนาน เวลารื้อของก็ปนกันไปหมด แต่สุดท้ายอยู่ที่ความถนัด เพราะเมื่อก่อนผมก็ใช้เป้ แต่แค่ไม่สะดวกเวลาหยิบของเร็ว ๆ” โยอธิบาย
ภายในกระเป๋าสะพายข้างใบนี้มีทั้งหมด 3 ช่องใหญ่ ช่องแรกคือซิปตรงกลางที่เปิดมาแล้วโล่ง กว้าง เหมาะสำหรับใส่ของชิ้นใหญ่ เช่น ผ้าอ้อม แพมเพิร์ส
ส่วนอีก 2 ช่องขนาบข้าง มีกระดุมแม่เหล็กและช่องย่อย ๆ สำหรับใส่ของชิ้นเล็ก ช่องหนึ่งเอาไว้ใส่ของลูก ส่วนอีกช่องสำหรับใส่ของส่วนตัวพ่อแม่ เพื่อให้ทุกอย่างครบจบในใบเดียว
หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าผ้าด้านในต่างมีสีสันและลวดลายต่างกันชัดเจน เพื่อให้พ่อแม่จดจำได้ง่าย หรือเวลาอุ้มลูกแล้วฝากคนอื่นหยิบของก็บอกได้เลยว่าอยู่ในช่องสีไหน ซึ่งง่ายกว่าการใช้คำว่า ช่องด้านหน้า-ด้านหลัง แถมเนื้อผ้ายังนุ่มสบาย เพราะเป็นผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติจากเชียงใหม่ แม้ต้นทุนจะสูงขึ้น แต่โยมองว่านี่เป็นส่วนที่ต้องสัมผัสกับของใช้ลูกโดยตรง จึงต้องการผ้าที่ปลอดภัยและอ่อนโยนต่อลูกมากที่สุด แถมยังได้สนับสนุนผ้าทอฝีมือคนไทยไปในตัว
ความเก๋ของกระเป๋ายังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะยังมีฟังก์ชันอื่น ๆ เช่น สายคล้องรถเข็นเด็ก หรือถ้าลองพลิกดูหน้า-หลังของกระเป๋า เราจะเห็นสายคาดแนวตั้ง 2 เส้น ซึ่งไม่ได้มีไว้ตกแต่ง แต่ทำหน้าที่เหมือนไม้แขวนพกพาสำหรับพาดและผูกผ้าอ้อมใช้แล้ว จะได้ไม่ต้องเก็บปนกับของชิ้นอื่นที่ยังสะอาดดี แถมไม่ต้องลุ้นว่าถ้าพาดบ่าแล้วผ้าจะปลิวตกพื้นตอนไหน หรือจะใช้สำหรับพาดเสื้อกันหนาวของลูกก็ได้เช่นกัน
อยากให้อยู่ด้วยกันนาน ๆ
“ถ้าลองนึกภาพกระเป๋าสำหรับเก็บของเด็ก ๆ ส่วนใหญ่มักเป็นลายน่ารัก ลายหมีน้อย ลายบับเบิลกลม ๆ เพราะเป็นกระเป๋าสำหรับลูก แต่พอลูกโตก็ไม่รู้จะเอาไปใช้ทำอะไรต่อ”
นั่นคือเหตุผลที่กระเป๋าของ Daddy Finger ออกแบบมาให้ดูเรียบง่ายไร้ลวดลายไว้ก่อน โดยมีทั้งสีทึบอย่างน้ำเงิน เทา ดำ รวมทั้งสีสะดุดตาอย่างเขียว ส้ม ชมพู ฟ้า ที่ใช้ได้หลายโอกาสและใช้งานได้ยาวนานกว่าช่วงที่ลูกยังเล็ก ซึ่งแน่นอนว่ามาคู่กับการตัดเย็บสุดเนี้ยบด้วยฝีมือช่างที่ต้องจับ วัด ตีเส้น แล้วนำแต่ละชิ้นมาเย็บประกอบกันด้วยจักรเย็บผ้า
“เช่น ด้ายซ้อนกัน มันต้องซ้อนแบบนี้” โยชี้ให้ดูรอยเย็บชิดติดแน่น แต่ละใบจึงใช้เวลานานกว่าการผลิตกระเป๋าทั่วไป “โดยเฉพาะข้างใน เราต้องพับริม เพราะผ้าพวกนี้เป็นผ้านิ่ม เวลาจับแล้วย้วย เอียงไปมา จึงนับเป็นงานฝีมืออย่างหนึ่ง”
นอกจากกระเป๋าใบนี้แล้ว Daddy Finger ยังมีกระเป๋ารุ่นใหม่ ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น กระเป๋าเป้สำหรับพ่อแม่ กระเป๋าเป้สำหรับเด็ก กระเป๋าเก็บความเย็นสำหรับใส่ขวดนม กระเป๋าสะพายข้างที่มีฟังก์ชันพิเศษอย่างช่องสำหรับสอดกับกระเป๋าเดินทาง รวมทั้งกระเป๋าแบบเดิมแต่เพิ่มเติมให้มีหลากหลายไซซ์
“ตอนแรกมีแค่แบบเดียว แต่พอลูกโตปุ๊บ ใบใหญ่อาจจะไม่ถนัด จึงมีกระเป๋าที่ลดไซซ์ลงมาสำหรับคุณแม่ที่ลูกโตแล้วหรือคุณแม่ที่ของน้อย ถ้าฉุกเฉินออกไปโรงพยาบาลกะทันหันก็หยิบได้เลย เพราะของอยู่ในนี้หมด ไม่ต้องแยกผ้าอ้อม แพมเพิร์ส และกระเป๋าของเราเอง ทุกอย่างออกแบบมาจากชีวิตประจำวันของเราหมดเลย”
ผลพลอยได้จากความตั้งใจให้ใช้งานได้นานกว่าตอนมีลูก กลับกลายเป็นว่า Daddy Finger เริ่มมีกลุ่มแฟนคลับกว้างกว่าเหล่าคุณพ่อคุณแม่ “ตอนนี้ไม่ได้มีแค่พ่อแม่ ลูกค้าวัยรุ่นก็ชอบ บางทีเขาก็ถามมาว่า ไม่มีลูกใช้ได้ไหมคะ (หัวเราะ)
“แล้วก็มีคนสิงคโปร์ เขาสอนโยคะ พอซื้อไปแล้วส่งคลิปรีวิวมาให้ด้วย เขาเอาสายด้านหน้าสำหรับพาดผ้าอ้อมไปใส่เสื่อโยคะ ซึ่งเราไม่เคยคิดว่าใช้แบบนี้ได้ด้วย แล้วก็มีผ้าเช็ดตัว ชุด ของหลายอย่าง เขาบอกว่าชอบมาก หากระเป๋าที่ใช้ได้แบบนี้มานานแล้ว อย่างคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกโตแล้ว เขาก็เอาไปใช้เอง ส่วนตัว หรือบางคนซื้อแล้วชอบ อยากใช้แบบอื่นอีก เลยซื้อใบเล็กเพิ่มก็มี”
บริหารความเสี่ยง
“เรายึดหลักว่า อย่าทำแค่ให้เสร็จ แต่ต้องทำออกมาให้ดี” โยเอ่ยถึงปรัชญาการทำงานของเขา “ทำยังไงให้มันดีกว่านี้ เราปรับอะไรได้อีกไหม ผมคิดอย่างนี้ตลอด ไม่อย่างนั้นคนอื่นจะมาทันเราเรื่อย ๆ ดังนั้น เราต้องก้าวไปก่อน”
โยจึงปักธงไว้ตั้งแต่วันแรกว่า Daddy Finger จะไม่ใช่แบรนด์ที่เน้นยอดขายหวือหวามาตั้งแต่เปิดตัว แต่จะค่อย ๆ สร้างแบรนด์ที่คนรักและกลับมาซื้อในระยะยาว ซึ่งวิธีนี้ย่อมตามมาด้วยต้นทุนและราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าแบรนด์ทั่วไปในตลาด พร้อมแบกรับความเสี่ยงที่ว่า กว่าจะขายสินค้าได้แต่ละชิ้นและติดตลาด ย่อมใช้เวลานานกว่าสินค้าที่ซื้อง่ายขายคล่อง
โยจึงต้องคิดคำนวณไว้ตั้งแต่วันแรกแล้วว่า หากมีช่วงที่ยากลำบากหรือวันที่ล้ม ก็ต้องมีเงินทุนสำรองหรือมีที่พึ่งพิงอื่น ๆ และระหว่างทำแบรนด์ ต้องประหยัดงบประมาณให้ได้มากที่สุด เพียงแต่ไม่ใช่งบด้านการพัฒนาสินค้า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา Daddy Finger จึงไม่มีหน้าร้าน ไม่เคยออกบูท
“ตั้งแต่ทำมาตอนแรก เราไม่มีงบมากพอที่จะจ้างคนมีชื่อเสียงทีละหลาย ๆ คน เราเลยแก้ปัญหาด้วยการถ่ายเอง ภาพในอินสตาแกรมเป็นครอบครัวผมเองเลย ส่วนในเว็บไซต์ค่อยซื้อรูปคนมาเพิ่ม”
โยเล่าว่าเดิมทีเขาแทบไม่แตะโซเชียลมีเดีย ไม่ได้ชอบถ่ายภาพ แต่ต้องเปลี่ยนมาสวมบทช่างภาพฝึกหัด สลับกันเป็นนายแบบ-นางแบบกับสมาชิกในบ้าน และเริ่มสมัครแอคเคานต์อินสตาแกรม ฝึกโพสต์รูป ยิงแอดบนช่องทางออนไลน์ทั้งที่ไม่เคยเล่นอินสตาแกรมมาก่อน
“อุปสรรคคือของดีและสำคัญต่อการพัฒนา โดยเฉพาะการไม่มีเงิน มันเป็นโจทย์ว่าเราต้องทำยังไงก็ได้ ด้วยเงินแค่นี้ มันทำให้เราต้องคิดคำนวณมากขึ้น”
สู่แบรนด์ที่คนรัก
นอกจากเรื่องการประหยัดงบแล้ว อีกเหตุผลที่ Daddy Finger ยังไม่ทุ่มทุนไปกับการตลาดและเน้นขายออนไลน์ เพราะต้องการพิสูจน์ว่าสินค้าแข็งแรงพอจะไปต่อด้วยตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น กระเป๋าแบรนด์นี้จึงไม่เคยมีโปรโมชันลดแลกแจกแถมแต่อย่างใด
“เราอยากให้ทุกคนรับรู้ภาพลักษณ์ว่า Daddy Finger เป็นแบรนด์ที่ขายกระเป๋าคุณภาพ ไม่ได้ต้องการให้คนมาซื้อเพราะมันลดราคาหรือมีโปรโมชัน ช่วงแรกเลยเหมือนการเสี่ยงดวง แต่เมื่อลูกค้าเชื่อมั่นแล้วก็กลายเป็นลูกค้ากันไปยาว ๆ บางคนทยอยอุดหนุนเป็นสิบใบ บางคนหารกันซื้อเป็นของขวัญวันคลอดลูกของเพื่อนก็มี”
กลยุทธ์เด็ดที่ทำให้หลายคนรักแบรนด์ได้ขนาดนี้ แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่เรื่องคุณภาพ แต่ยังรวมถึง ‘บริการหลังการขาย’ ที่ลูกค้าวางใจได้แบบเต็มสิบไม่มีหัก
เพราะปกติหากกระเป๋าชำรุด หลายคนอาจเจอคำถามยาวเหยียดว่าเกิดจากอะไร ตรงเงื่อนไขรับประกันไหม แบรนด์มีส่วนรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน แต่ Daddy Finger ไม่เคยมีคำถามเหล่านี้และแม้จะเกินระยะเวลารับประกันที่ระบุไว้ แบรนด์ก็พร้อมดูแลอย่างเต็มที่ โดยจะมีกระเป๋าสำรองรุ่นเดียวกันส่งไปให้ใช้จนกว่าจะซ่อมเสร็จดี แต่หากซ่อมไม่ได้ แบรนด์จะชดเชยด้วยกระเป๋าใบใหม่เอี่ยม พร้อมออกค่าส่งให้ทั้งหมด
“มีคนหนึ่งใช้เป้ไป 1 ปีแล้วสายขาด ซ่อมไม่ได้ เราเลยบอกเขาว่าเอาใบใหม่ไปแล้วกัน แต่เขายังอยากได้ใบเดิม เพราะเป็นใบแรกของลูก เป็นความทรงจำ เราเลยบอกว่า งั้นไม่เป็นไร คุณเก็บใบเดิมไว้ และเราขอส่งใบใหม่ไปให้ใช้ด้วย
“ส่วนอีกคนได้กระเป๋าเป็นของขวัญวันครบรอบ แต่เกิดอุบัติเหตุขึ้นจนกระเป๋าขาด เราก็ส่งใบใหม่ไปให้ ส่วนใบเดิมก็ให้เขาเก็บไว้เป็นที่ระลึกแทน ดังนั้น ลูกค้าเราจากที่มีปัญหาแล้วจะตำหนิ เลยกลายเป็นยิ่งรัก Daddy Finger กว่าเดิม เพราะเขารู้ว่าเรามีบริการแบบนี้”
ในมุมธุรกิจ หากวัดด้วยตัวเงิน วิธีนี้คงไม่คุ้มค่านัก แต่โยยืนยันคำเดิมว่าเขามองไกลไปมากกว่าผลกำไรในช่วงสั้น ๆ
“ถ้ามองระยะยาว เรื่องการบอกต่อ การได้อะไรกลับมามันคุ้มนะ เราเสียกระเป๋าให้เขาไป ถ้าเขาไปเจอใครที่อยากได้ ลองนึกภาพว่าเขาจะพูดยังไง พอได้ยินคนไหนเชียร์ เราก็จะยิ่งเชื่อมั่น นี่คือการสร้างแบรนด์
“ผมมองว่าถ้าเราขายแบบทั่วไปและขายได้เยอะ ๆ มันก็ดี แต่เดี๋ยวก็จะมีแบรนด์อื่นเข้ามา ก็ต้องมานั่งทำโปรโมชันลดราคาสู้กันอีก ดังนั้น ถ้าสร้างแบรนด์ให้ได้ดีกว่า ใช้เวลานานกว่าก็จริง แต่เมื่อไหร่ที่แบรนด์เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับว่าดีจริง แม้จะช้า แต่มันยั่งยืน”
ถ้าถามว่าตอนนี้ Daddy Finger สร้างแบรนด์ได้แข็งแรงแค่ไหน คำตอบคงมีมากมายทั้งรีวิวในแพลตฟอร์มต่าง ๆ กลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น และเสียงเรียกร้องให้เปิดหน้าร้าน จนพวกเขาตัดสินใจใช้ที่ดินของตัวเองมาเปิดเป็นร้านเล็ก ๆ แสนน่ารักที่แม้จะอยู่ไกลจากใจกลางเมือง แต่ในฐานะพ่อแม่ เขาเชื่อว่าอย่างไรก็จะต้องมีคนเดินทางมาพบกันอย่างแน่นอน
Daddy Finger จึงนับเป็นธุรกิจที่มีทั้งความตั้งใจและความเข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อแม่ไปพร้อมกับการวางแผนอย่างถี่ถ้วน และเรื่องราวทั้งหมดทำให้เราได้กลับมาย้อนคิดว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้คิดและทำต่างออกไป ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาหรือข้อจำกัดในชีวิต ทั้งปัญหาในฐานะผู้ใช้งานจริงและข้อจำกัดด้านงบประมาณในฐานะคนทำธุรกิจ ซึ่งหากลองพลิกแพลงสักนิดก็เปลี่ยนอุปสรรคตรงหน้าให้กลายเป็นประตูสู่สิ่งใหม่ที่ไม่เหมือนใครได้เช่นกัน
Website : www.daddyfinger.co