ห้างสรรพสินค้าเล็กๆ แห่งหนึ่งถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 2000 

หลังจากนั้น 8 ปี เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น 

ด้วยกระแสช้อปปิ้งออนไลน์ คนเดินห้างลดน้อยลงเรื่อยๆ ห้างใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นต้องควบกิจการเข้าด้วยกัน เช่น ห้างอิเซตันรวมกับห้างมิตสึโคชิ หรือบางแห่งก็ปิดตัวลงเนื่องจากยอดขายไม่ดี เช่น ห้างมารุอิอิไม ห้างสรรพสินค้าใหญ่ในฮอกไกโด

ท่ามกลางความฝืดเคืองของวงการห้างสรรพสินค้าเช่นนี้ ห้างสรรพสินค้าที่ดิฉันกำลังจะเล่าต่อไปนี้ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันห้างสรรพสินค้าแห่งนี้มีสาขาทั้งหมด 10 สาขาในญี่ปุ่น 2 สาขาในต่างประเทศ (จีนและเกาหลี) 

ห้างนี้ชื่อ ‘D & Department’ 

จุดกำเนิด D & Department

เคนเม นากาโอกะ (Kenmei Nagaoka) เคยเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดังมาก่อน เขาตั้งบริษัทของตนเองตั้งแต่อายุ 31 ปี และออกแบบกราฟิกสมัยใหม่มาโดยตลอด 

วันหนึ่งนากาโอกะเดินผ่านร้านมือสองขนาดใหญ่ เขาเห็นเก้าอี้ใหม่เอี่ยมที่ดีไซเนอร์ชื่อดังออกแบบเมื่อปีก่อน ถูกวางขายในราคาต่ำมาก 

“คุณค่าของเก้าอี้ คุณค่าของดีไซน์ หมดเร็วขนาดนี้เลยหรือ” นากาโอกะตกใจ 

ในโลกทุนนิยมที่เราชินกับการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากและบริโภคเป็นจำนวนมาก นากาโอกะต้องการทำสิ่งที่แตกต่าง เขาเรียกแนวคิดนี้ว่า ‘Long Life Design’ 

Long Life Design คือดีไซน์ดีๆ ที่คนสามารถใช้ได้เป็นระยะเวลายาวนาน ในทางกลับกัน สินค้าที่คนใช้มาเป็นระยะเวลานาน เป็นสัญลักษณ์ว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ดี 

หากผู้ผลิตไม่ใส่ใจในการออกแบบสินค้า สินค้าก็จะถูกวางในร้านที่ไม่ได้ใส่ใจที่จะขาย ผู้บริโภคก็ซื้อสินค้าที่ไม่ได้ดีนัก ซึ่งสุดท้ายแล้ว ทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไม่ค่อยดีตามไปด้วย 

แน่นอน หากสินค้าไม่ได้ทำให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อใช้สินค้าไปไม่นานคนก็จะเบื่อ แล้วก็ทิ้งของชิ้นนั้นไปโดยไม่รู้สึกผิดอะไร หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ สิ่งแวดล้อมก็จะแย่ลง คนในสังคมก็จะรู้สึกไม่สบายตัว ไม่สบายใจ กลายเป็นวงจรไม่ดี เช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ซ้ำร้าย สินค้าที่ไม่ได้ถูกดีไซน์มาอย่างดีก็จะถูกเลียนแบบได้ง่าย บริษัทหลายแห่งก็ได้แต่ออกสินค้าคล้ายๆ กันออกมา คนในสังคมก็ต้องทนใช้สินค้าเหมือนๆ กัน คุณภาพกลางๆ 

นากาโอกะต้องการสร้างสถานที่ที่นำเสนอสินค้าที่มีความเป็น Long Life Design เหล่านี้ 

และ D & Department เป็นสถานที่แห่งนั้น

ร้านสรรพสินค้าที่เข้าใจสินค้าดีไซน์ดีๆ…รวบรวม…และนำเสนอให้แก่ผู้คน

D&Department
www.d-department.com

วิธีหาสินค้า

ห้างสรรพสินค้าทั่วไปตระเวนหาสินค้าเก๋ๆ ทั่วโลกมาจำหน่าย

D & Department ไม่ได้เพียงคัดเลือก แต่เดินทางไปพบผู้ผลิตโดยตรง 

ทีมงานจะเดินทางไปถึงโรงงาน ไปพบช่างฝีมือ ไปดูขั้นตอนการทำ ไปดูความยากลำบากในการถัก ทอ สาน ตอก หรือปั้น สินค้านั้นๆ 

พวกเขาดูถึงประวัติบริษัท ช่วงเวลาที่สินค้าถือกำเนิดขึ้นมา ความตั้งใจของบริษัทนั้น ผู้ผลิตใส่ใจแค่ไหน รักและภูมิใจในสินค้าที่ตนเองทำหรือเปล่า พวกเขาตั้งใจปรับปรุงสินค้าตนเองให้ดีขึ้นไหม หรือแค่ทำไปวันๆ 

สินค้าที่ D & Department เลือกต้องเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตใส่ใจในรายละเอียด ทำด้วยความประณีต และหมั่นพัฒนาปรับปรุงสินค้าบริษัทตนเสมอๆ ที่สำคัญ ผู้ผลิตต้องรักงานของตนเอง หากผู้ผลิตรัก พวกเขาก็จะใส่ใจในรายละเอียด และต้องการปรับปรุงสินค้าตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก 

ยกตัวอย่างกระบอกชาจากร้าน Kaikado 

ราคา 23,220 เยน – www.d-department.com

“Kaikado เป็นร้านทำกระป๋องใส่ใบชาเก่าแก่จากเกียวโต ก่อตั้งปี 1875 ด้านในมีช้อนตักใบชา เหมาะกับการเก็บใบชาและเมล็ดกาแฟ ตัวกระป๋องดีบุก เคลือบอย่างดี ไม่เป็นสนิม สามารถใช้ได้ยาวนาน 

“ยิ่งใช้ สีกระป๋องจะยิ่งเข้มขึ้น พื้นผิวสัมผัสก็จะเปลี่ยนไป เมื่อใช้นานเป็นสิบปีกระป๋องจะเป็นสีดำคล้ายสีถ่าน เงางาม สวย ให้ความรู้สึกเหมือนท่านกำลังดูการเติบโตของอุปกรณ์” 

D&Department
store.spiral.co.jp

นี่คือสินค้า Long Life Design ในแบบของ D & Department 

วิธีเลือกสินค้า

ทุกเดือน D & Department จัดการประชุมสินค้าเพื่อคัดเลือกสินค้ามาจำหน่ายในร้าน พนักงานแต่ละคนที่รับผิดชอบสินค้าหมวดของตนเอง จะไปลองใช้สินค้าประมาณ 6 เดือน พวกเขาลองใช้ ลองเป็นลูกค้า พวกเขาดูรายละเอียดแม้แต่ว่าสวิตช์พังหรือเปล่า และที่สำคัญ สังเกตความรู้สึก พวกเขาดูว่าตนเอง ‘รัก’ สินค้านั้นไหม 

หากพนักงานไม่รัก ไม่อิน ในสินค้านั้น พวกเขาคงไม่สามารถนำเสนอสินค้าที่ดีได้ 

เกณฑ์สำคัญอีกเกณฑ์หนึ่งคือ สินค้านั้นสามารถซ่อมแซมได้หรือไม่ 

เมื่อลูกค้าใช้สินค้าไปเป็นระยะเวลานาน สินค้าอาจเสียหรือสกปรกได้ D & Department จะพยายามเลือกสินค้าที่ผู้ผลิตสามารถซ่อมแซมให้ลูกค้าได้ และไม่สนับสนุนให้ลูกค้าซื้อสินค้าใหม่เมื่อสินค้าเดิมพัง 

ตัวอย่างบล็อกรายงานสินค้าที่พนักงานร้านใช้จริง และ “รัก” จริง – www.d-department.com

วิธีขายสินค้า

แทนที่จะตั้งร้านอยู่แถวชินจูกุ ชิบูย่า หรือย่านช้อปปิ้งชื่อดัง ร้าน D & Department ในโตเกียวนั้นเป็นตึก 2 ชั้นเล็กๆ 

D&Department

 สถานีที่ใกล้ที่สุดคือ สถานี Kuhombutsu (สถานีที่คนญี่ปุ่นเองยังอ่านชื่อลำบาก) แต่ก็ต้องเดินจากสถานีไป 8 นาทีอยู่ดี 

ข้างร้าน D & Department เป็นร้านจำหน่ายยางรถยนต์ อีกฝั่งเป็นบ้านคนเล็กๆ ด้านหลังเป็นสวนสาธารณะ ไม่มีร้านช้อปปิ้งร้านอื่น ไม่มีร้านอาหาร ไม่มี…อะไรเลย

“ผมตั้งใจเลือกทำเลร้านที่ไม่ดีครับ หากทำเลดี คนเดินผ่านเยอะ ลูกค้าอาจซื้อสินค้าทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากซื้อนัก หรือซื้อโดยไม่ไตร่ตรองให้ดีก่อนก็ได้ 

“ตัวผมเองก็ชอบเดินช้อปปิ้งนะครับ และมักจะเผลอซื้อของทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะซื้อ แต่ถ้ามีสินค้าอะไรที่ผมอยากได้จริงๆ ผมก็จะตั้งอกตั้งใจเดินทางไปที่ร้านนั้น หากทำเลดี พวกเราอาจไม่ใช้ความพยายามในการขายนักก็ได้” 

…เพราะยังไงลูกค้าก็เดินผ่านเยอะอยู่แล้ว

ด้วยทำเลที่ไม่เป็นใจ พนักงาน D & Department จึงต้องตั้งใจขายมาก 

พวกเขาพยายามจัดร้านให้สวยงาม

สินค้าทุกชิ้นจะมีเรื่องราว เช่น

D&Department
(ป้ายด้านซ้ายสุด) อุด้งอิเสะ เดิมทำขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่เดินทางไปไหว้ศาลเจ้าอิเสะ ศาลเจ้าจะเตรียมอุด้งชนิดนี้ไว้ในหม้ออุ่นๆ ตลอด เผื่อผู้เดินทางที่หิว ตัวเส้นหนา นุ่ม เหมาะทานกับซอสเผ็ดหวาน ใส่ต้นหอม ไข่แดงดิบ เนื้อสับผัด แล้วคลุกให้เข้ากัน – goodthinggoing.net

พนักงานจะเขียนคำอธิบายด้วยลายมือตนเอง ทั้งคุณสมบัติสินค้า และประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยใช้สินค้านั้น แน่นอน หากลูกค้าถาม พวกเขาสามารถอธิบายสตอรี่ได้

สินค้าทุกชิ้นในร้านจะมีเรื่องราวหมด 

“ในร้าน D & Department สินค้าที่ขายไม่ได้ไม่ใช่สินค้าไม่ดี แต่เพราะพวกเรายังพยายามไม่พอ” นากาโอกะกล่าว

อนาคตของ D & Department

ปัจจุบัน D & Department มีทั้งหมด 12 สาขาในญี่ปุ่น ได้แก่ ฮอกไกโด ไซตามะ โตเกียว โทยาม่า ยามานาชิ ชิสึโอกะ เกียวโต คาโกชิม่า และโอกินาวา

D&Department
สาขาเกียวโต – www.d-department.com
D&Department
สาขาไซตามะ – www.d-department.com

แต่ละสาขาจำหน่ายสินค้า Long Life Design และมีสินค้าดีๆ ของท้องถิ่นนั้นๆ 

นากาโอกะตั้งใจจะขยายร้านจนครบ 47 สาขา เท่ากับจำนวนจังหวัดในญี่ปุ่น

“หากมีสินค้าที่ดีไซน์ไม่ดีออกมาในตลาด ผู้บริโภคก็ต้องทน ต้องซื้อสินค้าไม่ดี 

“บริษัทผู้ผลิตก็กลายเป็นบริษัทที่เอาแต่คิดถึงขนาดตลาดกับต้นทุน คอยลอกเลียนสินค้ากัน และผลิตสินค้าเหมือนๆ กันเต็มตลาดไปหมด 

“สุดท้ายลูกค้าจะรู้สึกเบื่อสิ่งของ ทิ้งของ และกลายเป็นขยะจำนวนมากที่เกิดขึ้น 

“เราจึงพยายามสร้างบริษัทที่ ‘ตั้งใจ’ 

“ทั้งดีไซเนอร์ที่ตั้งใจออกแบบสินค้า 

“ห้างร้านที่ตั้งใจขาย

และมีผู้บริโภคที่ตั้งใจซื้อ”

Makoto Lesson

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และพฤติกรรมลูกค้าที่หันไปช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ร้านค้าทั่วไปลำบากในการปรับตัว ปรับราคา หลายร้านต้องปิดตัวไป 

ท่ามกลางอุตสาหกรรมที่กำลังหดตัวเช่นนี้ นากาโอกะและบริษัทของเขากำลังเติบโต 

นั่นเป็นเพราะ ‘แก่นธุรกิจ’ ของเขาแตกต่างจากแก่นของธุรกิจค้าปลีก

แก่นของธุรกิจค้าปลีก คือการคัดสรรสินค้าและนำเสนอให้ลูกค้า

แต่แก่นของ D & Department คือการสร้างและรักษา Long Life Design นั่นเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครนำเสนอมาก่อน

เมื่อแตกต่าง ก็เติบโต

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย