01

โรงเรียนของหนู 

เสียงโทรศัพท์จากพี่คนหนึ่งโทรมาหาเราบอกว่า “มาทำหลักสูตรชุมชนด้วยกันหน่อยสิ” 

เราจำไม่ได้แล้วว่าพี่เขารู้จักเราได้อย่างไร แต่จำได้ว่าเรารู้จักพี่เขาจากโครงการชื่อว่า ‘โรงเรียนของหนู’ 

เราเรียกพี่คนนั้นว่า พี่หน่อง เมื่อ 20 ปีก่อน พี่หน่องช่วยเพื่อนๆ ทำโครงการโรงเรียนของหนู เป็นที่รู้จักกันว่า เขาจะขับรถโฟวิลเข้าไปในป่า ไปสร้างโรงเรียน และเอาของไปแจกโรงเรียน 

แต่ประสบการณ์การทำโรงเรียนของหนูของพี่เขามาถึง 7 ปี เขาสรุปกับตัวเองว่า โครงการโรงเรียนของหนูอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของวิถีชุมชนที่แท้จริงในชนบทห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไปแจกยูนิฟอร์ม ชุดนักเรียน เครื่องแต่งกาย เสื้อผ้าจากในเมือง ของเล่น ข้าวของเหล่านี้ เอาเข้าจริงไม่ได้สำคัญกับสาระการเรียนรู้และวิถีที่พวกเขามีเท่าที่ควร 

ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์

บทเรียนสำคัญที่พี่ได้หน่องได้เรียนรู้จากโครงการโรงเรียนของหนู ทำให้พี่หน่องได้สนใจเรียนรู้จากชุมชน 

และชวนเราทำเรื่อง ‘หลักสูตรชุมชน’ ใน 20 ปีก่อน ในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร นั่นเป็นสิ่งที่ซื้อใจให้เราเข้าไปทำเรื่องหลักสูตรชุมชนกับพี่เขาได้ แม้ว่าหนทางจะห่างไกลเหลือเกิน 

ตอนนั้น พี่หน่อง-วิลิต เติมผลบุญ ได้เริ่มก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน หรือชื่อย่อว่า มูลนิธิซี วาย เอฟ

สิ่งที่เราต้องทำในการสร้างหลักสูตรชุมชน คือเข้าถึงและเข้าใจชุมชน เข้าไปอยู่เรียนรู้จากชุมชนนั้นก่อน 

สมัยนั้น แม้แต่รถโฟวิลก็ยังไม่สามารถขึ้นไปถึงหมู่บ้านที่มีโรงเรียนในเขตทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งหมด ในฤดูฝน บางหมู่บ้านเราต้องเดินเท้าข้ามน้ำข้ามเขาขึ้นไป ระยะทางเป็นวันๆ 

ในระยะเวลาไม่กี่เดือน เราได้โครงหลักสูตรชุมชนของทุ่งใหญ่นเรศวรมาจากการเข้าไปอยู่กับชุมชน

แต่โครงการหลักสูตรนั้นสุดท้ายล้มไม่เป็นท่า เพราะว่าในที่สุด ข้าราชการครูบางคนก็บอกว่า เรียนไปแล้ว ‘ไม่ได้วุฒิการศึกษา’ จะเรียนไปทำไม 

ตอนนั้นเราเองขอถอยออกมาก่อน เพราะไม่มีอะไรจะไปโต้แย้งให้ชนะ 

แต่พี่หน่องไม่ถอย เขาขอสู้ต่อ ถ้าหลักสูตรชุมชนนี้ไม่ได้รับได้รับการยอมรับ เขาจึงทำเรื่องศูนย์วัฒนธรรมเรื่องชาติพันธุ์แทน 

ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์

02

ความฝันที่เป็นจริงของการจัดการศึกษาของชุมชนที่มีวุฒิรับรองในชื่อ ศูนย์การเรียน 

เสียงโทรศัพท์จากพี่หน่องที่เคารพรักคนเดิมโทรมาหาเราปีก่อน บอกว่าเขาพาเด็กๆ จากศูนย์การเรียนสะเน่พ่อง จังหวัดกาญจนบุรี และศูนย์การเรียนรู้ห้วยพ่าน จังหวัดน่าน เดินทางทั่วภาคเหนือเป็นเวลาหนึ่งเดือน และกำลังจะจบการเดินทางภายในอีกหนึ่งสัปดาห์ พี่เขาอยากขอใช้บ้านเรา สวนศิลป์บินสิ เป็นสถานที่ให้เด็กได้มาสรุปการเดินทาง 3 – 4 วัน และให้เราช่วยจัดกระบวนการสรุปการเรียนรู้ 

ในหนึ่งสัปดาห์สุดท้ายของการเดินทางนั้น เราจึงขอกระโดดขึ้นตามขึ้นรถบัสของเด็กๆ แบบไปไหนไปด้วย เพื่อสังเกตการณ์ ก่อนที่จะต้องจัดกระบวนการให้เด็กๆ

ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์

เรื่องน่าตื่นเต้นที่สุดที่เราได้รับรู้จากโครงการนี้ และเราแทบไม่เชื่อหูตัวเอง คือการจัดการเรียนแบบนี้พาเด็กๆ จากสองศูนย์การเรียนออกเดินทางเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน รวมอยู่ในหลักสูตรของศูนย์การเรียนที่ออกวุฒิการศึกษาได้

ใช่แล้ว! เราไม่ได้ฟังผิดไป ศูนย์การเรียนนี้ออกวุฒิการศึกษาเองได้ ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้เองได้ เรียนจากที่ไหนก็ได้ตามอัธยาศัย และครูผู้สอนไม่ต้องมีประกาศนียบัตรวุฒิครูรับรอง แต่ใช้ประสบการณ์ชีวิตในการถ่ายทอดการเรียนรู้ นับเป็นศูนย์การเรียนภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ระบุไว้ 

ตามที่เราได้คุยกับพี่หน่อง เรามีกฎหมายนี้และค่อยๆ มีกฎกระทรวงที่ร่างออกมา เพื่อ ‘คืนอำนาจและสิทธิการจัดการศึกษาให้กับชุมชน’ เป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้ว 

แต่ว่ายังมีหน่วยงานภาครัฐในกระทรวงศึกษาธิการที่รับลูกและมีคณะทำงานและงบประมาณด้านนี้อย่างครอบคลุมทั้ง 6 รูปแบบของการจัดการศึกษาภายใต้มาตรา 12 นี้ที่แบ่งออกเป็น 6 ประเภท นั่นคือ 

  1. รูปแบบโฮมสคูล ซึ่งมีผู้จดทะเบียนกว่า 900 ครอบครัว ที่ลงทะเบียนใน พ.ศ. 2562 
  2. รูปแบบสถานประกอบการ จำนวนกว่า 10 สถานประกอบการ เช่น ปัญญาภิวัฒน์ โรงแรมเชอราตัน
  3. รูปแบบบุคคล ศูนย์การเรียนมาบเอื้อง อาจารย์ยักษ์ 
  4. รูปแบบองค์กรเอกชนและองค์กรชุมชน จำนวนกว่า 80 ศูนย์การเรียนทั่วประเทศ ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นแห่งแรกในระดับการจัดการเรียนรู้ระดับประถมศึกษา คือศูนย์การเรียนห้วยพ่าน จังหวัดน่าน และศูนย์การเรียนชุมชนศรีวรรณสะเน่พ่อง (วิถีทุ่งใหญ่นเรศวร) จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้รับการจดทะเบียนในการจัดการเรียนรู้ระดับมัธยมศึกษาเป็นแห่งแรก 
  5. รูปแบบองค์กรวิชาชีพ 
  6. รูปแบบองค์กรทางศาสนาพุทธ 
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์

03

การออกเดินทางของศุนย์การเรียนชุมชนต้นแบบ

ทริปเดินทางของสองศูนย์การเรียนนี้เรียนรู้ร่วมกันได้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการทัวร์เรียนตามอัธยาศัยของผู้จัดการเรียนรู้และผู้เรียนรู้ 

เด็กๆ จากสองศูนย์การเรียนเดินทางร่วมกันหนึ่งเดือน เพื่อ ‘ทัวร์เรียน’ เรียนรู้ไปตามศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ภายใต้มาตรา 12 ทั่วประเทศ

ศูนย์การเรียนห้วยพ่าน จากจังหวัดน่าน ที่มีปรัชญาการเรียนรู้ว่า การศึกษาเป็นเรื่องของการเข้าใจชุมชน ปลูกต้นกล้าอะไรก็ได้อย่างนั้น การกำหนดอนาคตของชุมชนอีกสิบปี ร้อยปีข้างหน้า ขึ้นอยู่กับการให้การศึกษากับเยาวชนในวันนี้

จะกินปลาต้องสร้างวงปลา จะกินของป่าต้องสร้างป่า 

อยากทำการศึกษาต้องเข้าใจชุมชน หลักสูตรของที่นี่ จึงมีเพียง 3 สิ่งคือ การรักษา ดิน น้ำ และคน

ศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุุวรรณสะเน่พ่อง (วิถีทุ่งใหญ่นเรศวร) โดยองค์กรชุมชนสะเนพ่อง จังหวัดกาญจนบุรี สิ่งที่ศูนย์การเรียนวิถีทุ่งใหญ่แห่งนี้พยายามสร้างให้เกิดขึ้นมา คือการสร้างเด็กให้กลับมาดูแลชุมชนและวิถี สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดว่าศูนย์การเรียนได้พัฒนาและมีคุณภาพหนึ่งอยู่ที่ เด็กที่จบการศึกษาแล้วพบว่าสิ่งที่พวกเขาสัญญาไว้ คือการคืนโอกาสให้กับคนรุ่นต่อไป กลับมาพัฒนาชุมชนและใช้ชีวิตในหมู่บ้าน รวมถึงรักษาผืนป่าของพวกเขาได้

วันที่เราทำกระบวนการสังเคราะห์การเรียนรู้ให้เด็กๆ กลุ่มนี้ เด็กๆ บอกกับเราว่า สิ่งที่เคยคิดว่าตัวเองเป็น คือเป็นเด็กชาติพันธุ์นั้นช่างแตกต่างและเป็นชนส่วนน้อย เป็นเสียงน้อยในประเทศนี้เสียเหลือเกิน แต่การได้เดินทางเรียนรู้แบบนี้ เขาได้เห็นความแตกต่างหลากหลายและยิ่งใหญ่ เขาไม่รู้สึกว่าความเป็นชาติพันธุ์ของตัวเองเป็นปมด้อยอีกต่อไป 

และสิ่งที่เด็กๆ บอกกันเป็นเสียงเดียวว่า ทุกก้าวที่กล้าเดินออกจากบ้าน จากป่า จากผืนแผ่นดินต้นน้ำที่พวกเขาดูแลและคุ้นเคย จากพื้นที่ปลอดภัย ทำให้ตัวตนเขาใหญ่ขึ้น โลกที่เคยรู้สึกเหมือนกว้างใหญ่ใบนี้เล็กลง และเข้าถึงได้มากขึ้น 

การเดินทางเรียนของพวกเขา ทีละภูมิภาค ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ บนรถบัสคันย่อมๆ เปิดความหมายของห้องเรียนและการเรียนรู้ของพวกเขาให้กว้างเท่ากับโลกใบใหญ่นี้ เข้าถึง เข้าใจได้ มากกว่าเรียนรู้จากหลักสูตรในตำราเรียนของห้องเรียนทั่วไป และที่สำคัญ พวกเขาได้วุฒิการศึกษาแบบมีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับวุฒิของโรงเรียนที่จบในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วไป 

ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์

04

แม้แต่ในที่ไร้อิสรภาพ ‘สิทธิ’ ของการได้รับการศึกษาต้องเข้าถึง

เสียงโทรศัพท์จากพี่หน่องคนเดิมโทรมาหาเราอีกกลางปีนี้ เขาบอกว่ากำลังทำศูนย์การเรียนของมูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน (ซี วาย เอฟ) เองแล้วนะ อยู่ที่จังหวัดนครพนม มาเยี่ยมกันหน่อย เมื่อได้จังหวะและโอกาสเหมาะ ที่เราจะเริ่มทำรายการใหม่ ชื่อว่า โรงเรียนทำเอง (Homemade School) เราก็คิดว่าเรื่องมาตรา 12 การทวงคืนอำนาจและสิทธิในการจัดการศึกษาให้กับชุมชนและสังคมเป็นสิ่งที่สังคมยังไม่รับรู้ และทางภาครัฐยังไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร สถานที่แรกที่เราคิดว่าต้องไปศึกษาและบอกเล่า คือที่ที่พยายามผลักดันแบบกัดไม่ปล่อย แบบเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ก็คือศูนย์การเรียนซี วาย เอฟ ที่กัดไม่ปล่อยมาเป็นระยะเวลา 20 กว่าปีเป็นที่แรก ทั้งทำงานในแง่ของการขับเคลื่อนนโยบายและการปฏิบัติให้เกิดขึ้นในส่วนของภาครัฐ และทำงานในส่วนฐานรากหญ้า คือเป็นผู้สนับสนุนผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนชุมชนทั้งในระดับประถม และมัธยม ทั้งห้วยพ่านและสะเน่พ่อง 

ขับรถจากลำพูนข้ามคืนมาถึงนครพนมเกือบเที่ยงวัน สิ่งที่พี่หน่องบอกเราก็คือ สิ่งที่ศูนย์การเรียนซี วาย เอฟ ที่นครพนมทำในวันนี้ คือทำงานกับเด็กกลุ่มที่สังคมเรียกว่า Drop Out (เด็กที่หลุดจากการเรียนในระบบ) ที่ไปอยู่ในสถานพินิจเด็กและเยาวชนของจังหวัดนครพนม ครูของศูนย์การเรียนซี วาย เอฟ จะเข้าไปสอนในสถานพินิจฯ เราได้รับอนุญาตตามเข้าไปถ่ายทำด้วยในทันที ในนั้นมีเด็กประมาณ 180 คน และมีเด็ก Drop Out ไปอยู่ในเรือนจำกลางถึง 400 กว่าคน 

ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์

เราได้คุยกับผู้อำนวยการของสถานพินิจฯ ถึงความท้าทายของการทำการศึกษาเพื่อคืนกลับเยาวชนเหล่านี้ให้กับสังคม 

ท่าน ผอ. บอกว่า สิ่งที่ท้าทายคือระบบการศึกษาที่ทางสถานพินิจฯ ใช้ คือระบบการศึกษาแบบ กศน. ซึ่งมีความแข็งตัวในเรื่องของปีการศึกษา เวลาเข้าสอบ แต่สภาพความเป็นจริงของเด็กที่เข้าๆ ออกๆ ในสถานพินิจฯ นี้ เด็กๆ จะเข้าๆ ออกๆ กันไม่เป็นเวลา บางคนมาแล้วออกไป ไม่ทันจะได้เข้าสอบหรือเข้าเรียน 

แต่เมื่อการศึกษาแบบ ‘ศูนย์การเรียน’ ที่มูลนิธิซี วาย เอฟ ทำนั้น มีความยืดหยุ่นในแง่ของการออกแบบหลักสูตร เวลาเรียน ครูผู้สอน สถานที่เรียน ที่จะทำจากที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรก็ได้ 

เมื่อเราได้คุยกับเด็กๆ บางคนในที่นั่น สิ่งที่เขาบอกกับเราคือ หลักสูตรที่ศูนย์การเรียนซี วาย เอฟ มาสอนนำไปใช้กับชีวิตจริงได้เลยเมื่อได้กลับออกไป เช่น หลักสูตรการทำร้านกาแฟ การทำโซดาคราฟต์ หลักสูตรการทำโปสการ์ด งานไม้ หรือคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษที่นำไปใช้งานได้เลย และทั้งนี้ ‘ประสบการณ์ชีวิต’ ที่เด็กๆ เหล่านี้มี กรมฝึกแรงงานจากในสถานพินิจฯ 

“การเรียนเดิมๆ ที่หยุดมา เช่น เรียนอยู่มอสองแล้วมาเข้าสถานพินิจฯ นำมาเทียบโอนกับวุฒิการศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียนนี้ได้เลย โดยไม่ต้องทิ้งไปหรือเริ่มใหม่เหมือนระบบการศึกษาแบบ กศน.”

เด็กอีกคนหนึ่งบอกกับเราว่า สิ่งที่เขากลัวที่สุดไม่ใช่การกลับไปแล้วสังคมไม่ยอมรับ แต่เขากลัวว่า ‘ใจ’ ของเขาต่างหากที่จะไม่เข้มแข็งพอต้านทานกับกระแสสังคมที่ยั่วยุอยู่ตลอดเวลา ถ้าทำงานทางลัดบางอย่างมันได้เงินง่าย แต่ถ้าต้องทนเรียนในสิ่งที่ไม่ได้สนใจ และไม่รู้ว่าจะหาเงินได้เมื่อไหร่ ก็ไม่รู้จะอดทนไปทำไม 

04

อย่ารอให้เด็ก Drop Out ไปถึงปลายน้ำ

ประสบการณ์การได้ไปทำงานกับเด็ก Drop Out ในสถานพินิจฯ จังหวัดนครพนม ของศูนย์การเรียนซี วาย เอฟ เขาสรุปออกมาว่า 

ถ้ารอให้เราไปเจอตัวเด็ก Drop Out พวกนี้ในสถานพินิจฯ นั่นคือเราไปทำงานกันที่ ‘ปลายน้ำ’ แล้ว ทำไมเราไม่ไปทำงานที่ ‘ต้นน้ำ’ ตามต้นทาง ตามหาเด็กกลุ่มนี้ก่อนที่เขาจะไปอยู่ในสถานพินิจฯ แล้วศูนย์การเรียนก็พบว่า ก่อนที่เราจะพบพวกเขาในสถานพินิจไม่ใช่เรื่องง่าย เด็กกลุ่มนี้อาจเรียกว่าเด็กแขวนลอย คือหยุดเรียนไป หายไปจากสารระบบบ มีชื่ออยู่ในโรงเรียน แต่ตัวไม่ปรากฎ กว่าจะตามตัวกันได้ ก็มีชื่อไปอยู่ในสถานพินิจฯ หรือว่าอายุเกิน 15 ต้องแทงออกจากชื่อโรงเรียนในสำนักเขตการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว เพราะอายุเกิน

ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์

เพราะฉะนั้น เราจึงมีแต่ ‘ตัวเลขผี’ ตัวเลขที่ไม่แท้จริงของเด็กที่แขวนลอยอยู่ในระบบการศึกษาไม่รู้เท่าไหร่ 

หากฐานข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกเปิดเผยออกมาและติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็สายเกินไปที่เราจะไปพบพวกเขา ที่ถูกเรียกว่าเป็นเด็ก Drop Out ในสถานพินิจเด็กและเยาวชน 

เราไม่อาจโยนบาปและชี้ไปแค่ที่ตัวเด็กแต่ละคนว่า เขาเป็นเด็ก Drop Out เพราะเขาไม่สนใจเรียน เขาขี้คร้าน เขายากจน เขาเกเร หากเราทั้งสังคมพูดได้เต็มปากแล้วว่าระบบการศึกษาและสังคมที่เป็นอยู่ในบ้านเราไม่มีปัญหา หากระบบการศึกษาและโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่มีอยู่ในทุกวันนี้ดีจริง เด็กๆ ของเราจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และจะไม่มีเด็กๆ เข้าๆ ออกๆ ในสถานพินิจฯ หรือเรือนจำใช่หรือไม่ 

มีคำกล่าวว่า “คุกเป็นแบบไหน ก็สะท้อนสังคมแบบนั้้น” 

05

เรียนรู้ตามอัธยาสัย รูปแบบ สไตล์ ที่ใช่ 

ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์

รูปแบบของการจัดการศึกษาแบบศูนย์การเรียนชุมชน ไม่อาจครอบเหมารวมได้เหมือนกับระบบการศึกษาหลักแห่งชาติที่เราใช้ในโรงเรียนกันทั่วไป 

แต่การคืนอำนาจการจัดการศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียนชุมชน ทำให้เกิดการจัดการศึกษาโดยชุมชนที่หลากหลาย เฉพาะทาง และเฉพาะกลุ่ม 

เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ เฉพาะกลุ่มวิถีป่าต้นน้ำ เฉพาะกลุ่มปรัชญาการเรียนรู้ เฉพาะทางเศรษฐกิจการประกอบวิชาชีพ 

เฉพาะปัญหาและศักยภาพของกลุ่มนั้นๆ 

ฯลฯ

เด็กได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเรียน ออกแบบสิ่งที่ต้องเรียนเรียนรู้เองได้ วัดประเมินผลสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ได้ เรียนจากที่ไหนก็ได้ เมื่อใดก็ได้ และเรียนกับใครก็ได้ผ่านประสบการณ์

ห้องเรียนเขาคือโลกกว้างและชีวิตที่ทำให้ความฝันเขาจับต้องได้ในทุกขณะของการเติบโต 

นั่นคือการเรียนรู้ตามอัธยาศัย แบบที่เป็นหัวใจของการจัดการเรียนรู้ในแบบมาตรา 12 

“คืนการจัดการศึกษาให้กับชุมชน” ที่เป็น ‘อำนาจ’ และ ‘สิทธิ’ ไม่ใช่แค่ ‘ทางเลือก’ 

ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์
ทัวร์เรียน : หลักสูตรเดินทางเรียนตามอัธยาศัยของน่านกับกาญจน์ที่คืนโอกาสเด็กชาติพันธุ์

สนใจเรื่องราวการเดินทางเกี่ยวกับการคืนอำนาจและสิทธิการจัดการศึกษาให้กับชุมชน ภายใต้มาตรา 12 

ได้ทางเพจ Homemade School โรงเรียนทำเอง 

Writer & Photographer

Avatar

เสาวนีย์ สังขาระ

Film Maker, Farmer, Facilitator ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีอิสระ บินสิ! โปรดักส์ชั่นเฮาส์ และรายการบินสิ! ผู้ก่อตั้งและอำนวยการเรียนการสอน ที่สวนศิลป์บินสิ Films Farm School