เวลาที่ผมได้เดินทางไปยังพวกประเทศต่างๆ หลายๆ แห่ง ด้วยสายตาที่ชอบจักรยานผมก็มักจะมองดูอยู่เสมอว่าจักรยานที่ประเทศนั้นๆ มันเป็นยังไง หลายครั้งที่เราเห็นนิสัยและการใช้ชีวิตของคนประเทศนั้นๆ สะท้อนออกมาผ่านตัวจักรยาน อย่างเนเธอร์แลนด์ที่จักรยานหายกันเป็นเรื่องปกติ เราก็จะเห็นแต่รถจักรยานสภาพใกล้พังถูกใช้กันทั่วไปในเมือง เพราะรถสภาพแบบนี้ถ้าหายไปก็ไม่เสียดายอะไรมาก

จักรยาน

ซึ่งเท่าที่ผมได้เห็นมานั้นมันมีจักรยานอยู่ประเภทหนึ่งที่เราจะเห็นได้เฉพาะในเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยานจริงๆ เท่านั้น นั่นก็คือ คาร์โก้ไบค์ หรือจักรยานบรรทุกของนั่นเอง ในสายตาของคนในเขตประเทศบ้านเราก็คงจะเคยชินกับรถซาเล้งของอาเฮียอาแปะที่ขี่มาเก็บขวดเก็บของเก่าตามซอย แต่ในแทบทุกเมืองของเนเธอร์แลนด์ ไม่ว่าจะอัมสเตอร์ดัม รอตเตอร์ดัม เมืองโคเปนเฮเกนในเดนมาร์ก หรือแทบทุกเมืองในแถบสแกนดิเนเวีย เราจะพบเห็นเหล่าจักรยานคาร์โก้ไบค์อยู่ทั่วไป (สังเกตดูโฆษณาของอิเกียก็จะเห็นคนมาซื้อของก่อนจะหยิบกล่องแบนๆขนใส่จักรยานคาร์โก้ปั่นกลับบ้านชิลล์ๆ) ไปจนถึงในพอร์ตแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ยังมีให้เห็นอย่างไม่ยากเย็นนัก โดยเหล่าผู้ใช้งานรถคาร์โก้เหล่านี้ก็บรรทุกของหลากหลาย ทั้งเพื่อน ลูก หลาน เจ้าสาว สัตว์เลี้ยง ข้าวของเครื่องใช้ สัมภาระ เฟอร์นิเจอร์ อาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลาย อะไรก็ได้ตราบเท่าที่ขาจะมีแรงกดลูกบันไดไหว

จักรยานซาเล้ง

จักรยาน

รถคาร์โก้ไบค์นั้นจริงๆ มีอยู่มากมายหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น freight bicycle, carrier bicycle, cycletrucks, butcher’s bike ซึ่งที่ว่ามาก็มีรูปร่างที่แตกต่างกันไปทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าวางตำแหน่งของสัมภาระไว้ที่ส่วนไหนของรถ เพราะตำแหน่งการวางสัมภาระนั้นส่งผลต่อการออกแบบรถจักรยานอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ถ้าวางส่วนหน้าก็อาจจะมีการลดขนาดของล้อหน้าให้เล็กลง เพราะการบรรทุกสัมภาระที่มีน้ำหนักมากนั้นอาจทำให้รถเสียศูนย์ง่ายเวลาเลี้ยว การใช้ล้อขนาดเล็กก็เพื่อให้ศูนย์ถ่วงของรถต่ำลง เวลาขี่ก็จะเสถียรมากขึ้นด้วย ในบางยี่ห้อก็มีอุปกรณ์ต่อพ่วงทำเป็นหลังคาขึ้นมาคลุมส่วนบรรทุกเพื่อเวลาเจอฝนตกบรรดาเด็กน้อยหรือสัตว์เลี้ยงที่พามาด้วยนั้นจะได้ไม่เปียกปอนกัน

จุดเริ่มต้นของจักรยานประเภทนี้ก็มีที่มาจากจักรยานส่งพัสดุในยุโรป ของที่ส่งก็มีทั้งหนังสือพิมพ์ พัสดุ ขนมปัง และนมสด ตัวรถก็เป็นรถจักรยานทั่วๆ ไปที่ทนทานและแสนหนัก ภายหลังช่วงสงครามโลกที่รถยนต์เริ่มมีราคาถูกลง รถจักรยานคาร์โก้ก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมไป เหลือการใช้งานแค่ในบางประเทศที่เป็นมิตรกับจักรยานเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โคเปนเฮเกน ซึ่งผมเห็นรถจักรยานคาร์โก้ที่สวยงาม สภาพดีกว่าที่อื่นๆ ทั้งหมดที่เคยไปมา รถคาร์โก้ไบค์ของที่นี่ก็มีหลากหลายประเภท มีทั้งที่เป็นกล่องไม้ หรือโดมครอบห้องโดยสารด้านหน้าก็มี แต่อันที่ทำให้ผมสะดุดตามากที่สุดนั้นคือ รถคาร์โก้ยี่ห้อ Larry & Harry รุ่น Bullitt  ซึ่งทางบริษัทเองก็เคลมว่าจักรยานรุ่นนี้เป็นรถคาร์โก้ที่เร็วและเซ็กซี่ที่สุดในโลกด้วย

ปั่นจักรยาน

คาร์โก้ไบค์

โดยซาเล้งจากโคเปนเฮเกนคันนี้ถือว่าเป็นซาเล้งไฮโซเลยทีเดียว เพราะมาในราคาระดับเริ่มต้นที่หลายหมื่นบาทสำหรับแค่ตัวเฟรม พอรวมชิ้นส่วนต่างๆ เข้าไปทั้งหมดแล้วราคาก็ไต่ขึ้นไปถึงหลักแสนบาทได้อย่างไม่ยากนัก  จริงอยู่ที่คนเดนมาร์กมีรายได้สูง แต่พอมาคิดว่าการเอาเงินแสนมาซื้อรถจักรยานขนของหรือซาเล้งไฮโซแบบนี้มันก็ดูตลกในสายตาเรา พอดีผมมีโอกาสได้นัดเจอกับผู้ก่อตั้งรถจักรยานแบรนด์ Larry & Harry ที่มีรถคาร์โก้ไบค์ที่ทางบริษัทเคลมว่าเป็นรถคาร์โก้ไบค์ที่เร็วที่สุดในโลกที่ออฟฟิศของเขาในโคเปนเฮเกน เพื่อพูดคุยเรื่องของวัฒนธรรมการใช้งานจักรยานคาร์โก้ของคนที่นี่

คาร์โก้ไบค์

 

“ดื่มกาแฟมั้ย?”

Jim Slade ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตรถคาร์โก้ที่เร็วที่สุดในโลกถามเราเมื่อเรามาถึงออฟฟิศของเขาในตอนเช้า คนอื่นๆ ยังมาไม่ถึงออฟฟิศกันมากนัก ผมยิ้มแทนคำตอบและระหว่างที่รอพี่เขาชงกาแฟให้เรา เราก็ได้ยินเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ตั้งอยู่กลางห้องนั่งเล่นของออฟฟิศ บรรยากาศเนิบๆ เฉื่อยๆ ร้างพนักงานในออฟฟิศของเขาตอนช่วงเช้านั้นย้ำเตือนกับเราจริงๆ ว่าประเทศนี้เป็นประเทศที่คนมีชั่วโมงการทำงานต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และดัชนีความสุขของคนในประเทศนี้ก็ถือว่าเป็นชาติที่มีความสุขอันดับต้นๆ ของโลกเช่นเดียวกัน หลังจากที่ได้รับกาแฟมาผมก็ชวนพี่จิมพูดคุยกันถึงเรื่องการเดินทางในโคเปนเฮเกน ลมฟ้าอากาศ สัพเพเหระ จนมาถึงเรื่องของจักรยานที่เป็นหัวข้อซึ่งตั้งใจมาคุยกันในวันนี้

Jim Slade

แผ่นเสียง

“คนเดนมาร์กนั้นใช้จักรยานกลับกันกับที่ประเทศอื่นๆ”

แกเกริ่นให้เราฟังเมื่อเราถามถึงการใช้รถจักรยานคาร์โก้ในโคเปนเฮเกน

“คนประเทศอื่นขับรถไปทำงานในวันธรรมดา แต่เสาร์-อาทิตย์มาขี่จักรยาน ส่วนคนเดนมาร์กขี่จักรยานในวันธรรมดา พอเสาร์-อาทิตย์ก็ขับรถไปเที่ยวที่อื่นแทน สาเหตุที่เราขี่จักรยานไปทำงานหรือไปไหนต่อไหนกันก็คือ มันเป็นการเดินทางที่เร็วที่สุดในเมือง ด้วยระบบผังเมือง ทางจักรยานที่กว้างขวาง รถคาร์โก้ขนาดใหญ่ๆ ก็ไม่ได้กีดขวางทางจักรยานเลย และการจัดการจราจรที่เอื้อให้คนเดินถนนและจักรยานได้ไปก่อนรถยนต์ เราไม่ได้ขี่จักรยานเพราะรักโลก แต่เพราะมันเร็วที่สุดนี่แหละ”

ก่อนที่พี่จิมจะมาก่อตั้ง Larry & Harry แกเคยทำงานเป็นช่างไม้มาก่อน และขนอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างด้วยคาร์โก้ไบค์เช่นเดียวกัน ปัญหาที่แกพบเจอก็คือ รถขนของส่วนมากเวลาขนของเยอะๆ หนักๆ ก็จะทรงตัวยาก ขี่ลำบาก จักรยานคาร์โก้ไบค์หลายๆ ยี่ห้อเลยต้องทำเป็นรถสามล้อเพื่อช่วยบาลานซ์รถ แต่บางทีขนของหนักเกินไปเกียร์ที่มีก็ไม่รองรับทำให้ปั่นแทบจะไม่ไหว แล้วรถคันเดียวกันเนี่ยพอเอาอุปกรณ์ออกแล้วใช้ขี่พาลูกไปส่งโรงเรียนมันก็ขี่ได้ช้าเกินไป ทำความเร็วไม่ได้ พอดีว่าเพื่อนแกที่เป็นวิศวกรมาชวนทำจักรยานคาร์โก้ด้วยกัน แกก็เลยคิดทำจักรยานคาร์โก้ที่มีประสิทธิภาพที่ดี แข็งแรงทนทาน และที่สำคัญ ต้องขี่ได้เร็ว แกเลยเลือกรูปแบบจักรยานขนของแบบสองล้อหรือที่เรียกว่า long john มาใช้ มันอาจจะขี่และทรงตัวยากกว่าแบบที่เป็นสามล้อนิดหน่อยแต่พอปรับตัวกับรูปทรงแบบนี้ได้ก็จะขี่ได้รวดเร็วกว่า ส่วนเรื่ององศาของรถแกก็หยิบมาจากเสือภูเขา เพราะมันขี่และควบคุมรถได้ง่ายกว่าองศาของรถแบบอื่นๆ

Larry & Harry

คาร์โก่ไบค์

ทำไมต้องขี่ได้เร็ว? คือคำถามที่โผล่มาในหัวของผมทันทีที่ได้ยินเรื่องเร็ว รถที่เอาไว้บรรทุกของหน้าที่มันคือการบรรทุก ไม่จำเป็นจะต้องขี่ได้เร็วนี่นา การต้องมาทำให้รถจักรยานขนของขี่ได้เร็วนี่มันเหมือนเราแต่งสิบล้อให้เป็นรถสปอร์ตอะไรแบบนั้นเลยนะ

“ก็เพราะพอขี่ได้เร็วก็ไปถึงที่ทำงานหรือกลับบ้านได้เร็วขึ้น อย่างผมที่ต้องขี่จักรยานไปส่งลูกที่โรงเรียนก่อนมาออฟฟิศ ถ้าเราขี่ได้เร็วขึ้นก็มีเวลาเพิ่ม 20 นาทีในตอนเช้า อีก 20 นาทีในตอนเย็น มานั่งพักกินกาแฟ ฟังเพลง รื่นรมย์ หรือไม่ก็คุยกับคุณนี่ล่ะ” จิมตอบพร้อมรอยยิ้ม

ผมสงสัยถึงเรื่องของราคา การได้เวลาเดินทางกลับมาแต่ต้องจ่ายเงินให้จักรยานในราคาหลักแสนนี่มันคุ้มกันเหรอ

เลโก้

อุปกรณ์จักรยาน

จิมก็อธิบายให้เราฟังด้วยรูปตัวต่อที่แสนโด่งดังของประเทศเดนมาร์กอย่างเลโก้นั่นเอง รถจักรยาน Bullitt นั้นถูกคิดมาให้ตอบสนองต่อความต้องการของคนทุกรูปแบบ เหมือนกับการต่อเลโก้ คุณสามารถจะเลือกรูปแบบและอุปกรณ์ทุกอย่างของตัวรถได้ตามความต้องการและงบประมาณของคุณเองได้ทั้งหมด ถ้าคุณมีงบประมาณไม่มากก็สามารถเลือกชุดเกียร์ที่มีราคาถูกลงมาได้ แต่ถ้าไม่อยากเสียเวลามานั่งดูแลก็เลือกแบบเกียร์ดุมได้เช่นกัน หรือตัวห้องโดยสารก็สามารถเลือกแบบที่ไม่มีหลังคาได้ ถ้าเน้นส่งพัสดุเป็นหลักก็เลือกใส่กล่องพัสดุแบบแข็งแรงพิเศษเพื่อปกป้องของด้านในได้เช่นกัน หรือถ้างบไม่ใช่ปัญหาก็สามารถเลือกเอาไดนาโมไฟฟ้ามาใส่เพื่อช่วยผ่อนแรงได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนั้นเราสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานและชิ้นส่วนต่างๆ ได้ภายหลัง โดยไม่จำเป็นต้องซื้อรถคันใหม่แต่อย่างใด ด้วยการออกแบบตัวเฟรมที่แข็งแรงและทนทานมากๆ (นี่มันช่างเหมือนตัวต่อเลโก้จริงๆ) ซึ่งมันอาจจะมีราคาที่สูงในตอนแรกแต่มันจะอยู่รับใช้เจ้าของไปได้ตลอดจนกว่าจะขี่มันไม่ไหว

อีกเรื่องนึงที่น่าสนใจก็คือ รถจักรยานทุกแบบไม่เฉพาะแค่จักรยานขนของในโคเปนเฮเกนนั้นจะมีสภาพที่ดีและดูสวยงามไปหมด แตกต่างจากในอัมสเตอร์ดัมอย่างมาก พี่จิมก็อธิบายให้เราฟังต่อถึงสาเหตุว่า เพราะตึกอพาร์ทเมนต์ในโคเปนเฮเกนนั้นมีขนาดใหญ่กว่า และมักจะมีพื้นที่จอดจักรยานให้ด้านหลังตัวอาคารอยู่เสมอ ทำให้ไม่จำเป็นต้องจอดจักรยานทิ้งเอาไว้ด้านนอกอาคารบนฟุตบาท พอจอดด้านในได้รถก็ไม่โทรม ขโมยก็มาขโมยยากขึ้น คนก็เลยกล้าซื้อจักรยานที่ราคาสูงมาใช้ในชีวิตประจำวันได้

หลังจากคุยกันจิมก็หันมาถามว่าสนใจจะลองขี่ดูไหม ซึ่งแน่นอนว่าต้องไปลองอยู่แล้ว ผมเคยขี่รถคาร์โก้มาบ้างก่อนหน้านี้ ก็เจอปัญหาเรื่องการทรงตัว โดยเฉพาะเวลาเลี้ยวที่มันเลี้ยวยากขึ้นมาก หรือตอนออกตัวที่ปั่นแทบจะไม่ออก แต่พอได้มาลองขี่ Bullitt ดูทั้งตัวที่เป็นเกียร์ธรรมดาและตัวที่เป็นมอเตอร์ไฟฟ้า ก็ขอยอมรับจากใจจริงว่าสมแล้วที่ความแข็งแรงของจักรยานนั้นเป็นจุดขายที่ทางแบรนด์ชูมาตลอด (ในเว็บไซต์ของบริษัทเองเขียนถึงขั้นว่าถ้าโลกเกิดภัยพิบัติขึ้น สิ่งที่จะเหลืออยู่ในโลกนี้จะมีแค่แมลงสาบและจักรยาน Bullitt ฮา)

ด้วยโครงสร้างจักรยานที่หนาและแน่น ผสมกับวัสดุอย่างอลูมิเนียมเกรดที่แข็งแรงมากๆ ทำให้ตอนกดบันไดเวลาออกตัวนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่ารถเป๋ไปมาหรือย้วยแต่อย่างใด พอปั่นได้สักพักก็รู้สึกถึงความเร็วปราดเปรียวได้เลยทันที แถมพอได้ลองขี่ทั้งแบบรถเปล่าและหยิบของหนักๆ มาวางถ่วง ก็รู้สึกเลยว่าความรู้สึกในการทรงตัวของทั้งสองแบบนั้นแทบจะไม่แตกต่างกันเลย ตัวเฟรมไม่มีการบิดตัวหรือให้ตัวใดๆ แล้วด้วยองศาการขี่ที่หยิบมาจากจักรยานเสือภูเขาก็ทำให้ผมไม่รู้สึกว่ากำลังขี่รถจักรยานคาร์โก้เลยแม้แต่นิดเดียว

 Larry & Harry

Bullitt

นอกจากนี้ทางบริษัทก็มีโปรเจกต์สนุกๆ อยู่เสมอ อย่างการหยิบเอาพาร์ตคาร์บอนต่างๆ มาใช้ในรถ Bullitt เพื่อให้นักแข่งมาสร้างสถิติแข่งขี่คาร์โก้ไบค์ให้เร็วที่สุดเพื่อดุว่าจะเร็วได้ขนาดไหน ซึ่งก็ได้ตัวเลขออกมาคือ 2 นาที 50 วินาทีในระยะทาง 2 กิโลเมตร ด้วยการโหลดน้ำหนักถึง 28 กิโลกรัมลงในส่วนบรรทุก พอรวมๆเข้ากับตัวรถแล้วก็หนักถึง 50 กิโลกรัมเลยนะ และยังมีการทำ hour record หรือการขี่จักรยานให้ได้ระยะทางมากที่สุดใน 1 ชั่วโมง ซึ่งก็ออกมาได้ถึง 35.9 กิโลเมตรเลยทีเดียว (แชมป์โลก hour record ตอนนี้เป็นของท่านเซอร์แบรดลีย์ วิกกินส์ ที่ระยะทาง 54.526 กิโลเมตรบนจักรยานลู่แสนเบา…)

Jim Slade

นอกจากทางจักรยานของโคเปนเฮเกนที่ครอบคลุมไปหมดทุกส่วนของเมืองแล้ว ด้วยการพัฒนาจักรยานที่ตอบสนองการใช้ชีวิตของคนที่นี่ ก็ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่จำนวนคนใช้จักรยานของโคเปนเฮเกนนั้นไม่เคยลดน้อยลงเลย แหม ก็ถ้าเราสามารถใช้จักรยานไปไหนมาไหน ทั้งซื้อข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่ต้นไม้ ทั้งพาลูกหลานหรือเพื่อนไปได้ด้วยพร้อมกันในคันเดียว แล้วยังเป็นการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาที่สุด อีกต่างหาก ก็ไม่แปลกใจที่ในเมืองแบบนี้ทุกคนต่างก็ขี่จักรยานไปไหนมาไหนกันล่ะครับ

สนใจดูหรือเลือกสั่งประกอบซาเล้งไฮโซได้ที่นี่

 

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan