สถานที่ในฝันของแต่ละคนนั้นคงแตกต่างกันไป หลายคนคงเลือกสถานที่แสนหรูหราไฮโซในยุโรป หรือเมืองเก่าแก่เลียบแม่น้ำแสนโรแมนติก

แต่ก็มีบางคนที่มีสถานที่ในฝันเป็นถนนไฮเวย์กลางสภาพแวดล้อมเหมือนอยู่บนโลกพระจันทร์ แห้งแล้งไร้ต้นไม้ใบหญ้า และยังไม่นับว่าดูอันตรายจนเกินกว่าจะมีใครเอาตัวมาเข้าใกล้ถนนสายนี้ เบ๊นซ์-ชัชวาลย์ สมบัติสถิตย์ คือชายคนนั้น และเส้นทางที่ว่านั้นก็คือคาราโครัมไฮเวย์ ที่มีดีกรีเป็นถนนที่มีความสูงที่สุดในโลกด้วยความสูงกว่า 4,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และยังเป็นเส้นทางสายไหมในยุคโบราณอีกด้วย ตอนนี้ถนนสายนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ขนส่งผ้าไหมแล้ว แต่ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศจีนและปากีสถานแทน ด้วยภาพลักษณ์และข่าวที่มีออกมาจากทางปากีสถานก็ทำให้เส้นทางนี้ดูน่าหวาดกลัวขึ้นมาไม่ใช่น้อย

อะไรที่ทำให้ชายคนหนึ่งมีเส้นทางในฝันที่อยากมาขี่จักรยานเป็นถนนที่มีเรื่องราวขนาดนี้กัน

เบ็นซ์เริ่มต้นขี่จักรยานมานานแล้ว แต่เมื่อ 5 ปีก่อนก็มาถึงจุดอิ่มตัวของคนขี่จักรยาน เขาเลยเริ่มลงแข่งขันวิ่ง ทวิกีฬา และเลยมาจนถึงไตรกีฬา จากการที่ต้องเก็บตัวฝึกซ้อมเพื่อเตรียมไปแข่งไตรกีฬา ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ได้ยินคำว่า ทัวริ่งหรือการขี่จักรยานท่องเที่ยว เพราะพี่ๆ ในกลุ่มที่เบ็นซ์ไปขี่จักรยานด้วยมักจะแนะนำให้ไปลองอยู่เสมอๆ ซึ่งเบ็นซ์ก็แบ่งรับแบ่งสู้มาตลอด

พอมาช่วงสงกรานต์ของปีถัดมา เบ็นซ์ที่ว่างๆ ไม่ได้ทำอะไรจึงคิดถึงเรื่องการปั่นทัวริ่ง เขาเจอเส้นทางปั่นหาดใหญ่ ลังกาวี ปีนัง เลยเกิดสนใจและตัดสินใจว่าจะลองไปปั่นทัวริ่งตามที่ได้รับการแนะนำ

การปั่นทัวริ่งครั้งแรกซึ่งเป็นการไปคนเดียวทำให้เขาได้เจอเหตุไม่คาดคิดคาดฝันทุกวัน อย่างการที่เอาจักรยานขึ้นเรือข้ามฟากไปไม่ได้ ที่เกิดจากการเปลี่ยนกฎล่วงหน้าไม่กี่วันก่อนเดินทาง หรือขี่จักรยานแล้วไปถึงที่หมายช้ากว่ากำหนดจนตกเรือ ต้องเหมารถแท็กซี่แทน ซึ่งแทนที่จะมองว่ามันคือปัญหาและอุปสรรค เบ็นซ์กลับมองมันเป็นความสนุกและตื่นเต้น พอกลับมาจากการปั่นทัวริ่งและเริ่มมาฝึกซ้อมเพื่อแข่งไตรกีฬาจนแข่งจบ เบ็นซ์ก็รู้แล้วว่าไตรกีฬามันไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบ การปั่นทัวริ่งต่างหากที่เขาหลงรัก

จากการที่ผมได้รู้จักคนจากทั้งฝั่งไตรกีฬาและฝั่งขี่จักรยานท่องเที่ยว ผมรู้ว่ามันแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ผมเลยอยากรู้ว่าอะไรคือเสน่ห์ที่ทำให้เบ็นซ์หลงใหลในการขี่ทัวริ่ง และเหตุผลในการขี่ทัวริ่งคนเดียวของเขา

“เสน่ห์ของการขี่ทัวริ่งก็คือการได้พบเจออีกโลกหนึ่ง จริงๆ ก็เป็นโลกใบเดิมเนี่ยแหละที่เราจะได้รู้จักมันมากขึ้น คือในยุคเมื่อสี่ห้าปีก่อน ไตรกีฬาเป็นของที่ค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา เวลาเราจะหาข้อมูลอะไรก็จะไม่ค่อยมีภาษาไทย โลกของนักไตรกีฬาก็เลยจะเล็กมาก อุปกรณ์อย่างนาฬิกาสักเรือนกว่าจะหามาได้ก็หายากมาก แพงมาก เวลาซ้อมก็ซ้อมอยู่คนเดียว แต่พอได้ไปทัวริ่งมาทริปหนึ่งเราก็มารู้ตัวเองว่าเราชอบคุยกับคนอื่น ได้เจอคนแปลกหน้า ได้เจอนักเดินทาง ได้เจอความคิดของคนจากดินแดนอื่นๆ แม้เราจะเดินทางคนเดียวก็ตาม”

 

“เมื่อก่อนเราก็ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ แต่พอโตขึ้นเวลาว่างของเราก็ไม่ตรงกัน การจะนัดกันไปมันก็ลำบาก แล้วเราชอบขี่จักรยาน แต่เพื่อนสนิทรอบตัวไม่มีใครชอบขี่จักรยานเลยสักคน ก็เลยตัดสินใจไปคนเดียวดีกว่า ถ้ารอไปรอมาก็คงจะไมไ่ด้ไปสักที พี่คนที่ผมไปสอบถามเรื่องการปั่นในทริปแรกเนี่ย แกก็เตือนมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แกบอกว่า ปั่นทัวริ่งคนเดียว ระวังนะ ระวังติดใจนะเบ็นซ์

หลังจากที่ได้ลองไปขี่ถึงปีนังมาคนเดียว หลังจากนั้นผมไปปั่นคนเดียวมาตลอด ถึงตอนออกจากบ้านผมไปคนเดียว แต่ขากลับผมก็ได้เพื่อนกลับมาหลายคนในทุกครั้งนะ”

ผมสงสัยว่า แล้วเส้นทางในฝันอย่างคาราโครัมนั้นมีที่มาจากไหน

“ก่อนที่จะไปปีนัง ผมถามเส้นทางกับพี่คนหนึ่งในกลุ่ม บอกว่าผมจะไปทัวริ่งครั้งแรก แกก็ถามผมกลับมาว่า รู้จักคาราโครัมไฮเวย์มั้ย ผมก็ไม่รู้จัก แกก็ให้กลับไปหาข้อมูลดู มันคือเส้นทางของนักปั่นนักผจญภัยจริงๆ ผมเลยกลับมาเสิร์ชรูป พอเห็นรูปเท่านั้นแหละ ผมก็รู้เลยว่าผมต้องไปให้ได้

“ความรู้สึกที่เจอภาพครั้งแรกนี้มันดูเวิ้งว้าง เงียบเหงา ด้วยงานที่ผมทำเกี่ยวกับอุปกรณ์กีฬา สถานที่ทำงานผมค่อนข้างจะวุ่นวายและเสียงดังมากๆ ผมเลยชอบที่จะไปอยู่ที่เงียบและสงบ ได้อยู่กับตัวเองคุยกับตัวเองเป็นหลัก ผสมกับความที่ผมเองอยากปั่นในเส้นทางสายไหม แต่เส้นทางสายไหมมันใหญ่มากเกินกว่าจะเก็บได้หมด พอมาเห็นว่าคาราโครัมซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมนี้ มันมีระยะทาง 300 กิโลเมตรอยู่ในจีนด้วย จากการสอบถามเพื่อนคนจีนที่รู้จักก็เห็นว่าปลอดภัยและเป็นเส้นทางที่คนจีนนิยมปั่นกันมากขึ้นเรื่อยๆ ผมเลยมีความคิดว่าวันหนึ่งจะต้องไปปั่นในเส้นทางคาราโครัมนี้ให้ได้”

“แต่ผมก็รู้ว่าถ้าอยู่ดีๆ ไปปั่นที่นั่นเลยเนี่ยก็ไม่รอดแน่ๆ เพราะฉะนั้น ผมก็ต้องเก็บเลเวลก่อน อย่างน้อยๆ สัก 10 ทริปก่อนถึงจะไปไหว จะกี่ปีก็ไม่รู้แหละ เพราะยังไงเส้นทางมันก็รอเราอยู่ตรงนั้น แต่ต้องมีประสบการณ์และความพร้อมมากกว่านี้ เวลาเราไปขี่จักรยานทางไกลๆ แบบนี้คนที่ไปก็สนุกดี แต่คนที่รอเราอยู่ที่บ้านเค้าอาจจะไม่ได้แฮปปี้ไปกับเราด้วยถ้าเกิดอะไรขึ้นมา จึงทำให้พอมีเวลาว่างผมก็มักจะไปปั่นเก็บประสบการณ์อยู่เสมอๆ”

แม้ร่างกายและประสบการณ์จะพร้อมมากขึ้น แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดของการเดินทางไปขี่จักรยานที่คาราโครัมคือไม่สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางปั่นได้เลย เพราะนักปั่นส่วนมากที่ใช้เส้นทางนี้จะเดินทางมาจากยุโรป ผ่านปากีสถาน ทาจิกิสถาน แต่พอเข้าจีนมาแล้ว ด้วยระยะทางที่เหลือน้อย และใกล้จะจบเส้นทางแล้ว นักเดินทางเหล่านี้มักไม่ใส่รายละเอียดและข้อมูลอะไรไว้เลย ส่วนมากจะเขียนเกี่ยวกับปากีสถานกันมากกว่า

พอหาข้อมูลไม่ได้หลายคนคงจะถอดใจ แต่นั่นไม่ใช่เบ็นซ์ เพราะแทนที่จะล้มเลิก เขากลับตัดสินใจว่าไปหาข้อมูลเอาหน้างานแทนแล้วกัน!

“ผมชอบตั้งชื่อทริปตัวเองไว้เรียกเล่นๆ ว่า โลนลี่โนแพลน LONELY NO PLAN (ฮา) เพราะผมเป็นผู้ชาย แถมไปคนเดียว ทุกทริปที่ไปมาก็เลยไม่เคยจองโรงแรมอะไรไว้ก่อนเลย ถามคนแถวๆ นั้นก็หาที่พักได้ตลอด หรืออย่างเวลาผมปั่น ก็ไม่เคยดูแผนที่ในโทรศัพท์เลย ใช้ถามทางคนท้องที่เอา เพราะผมชอบที่จะคุยกับคนท้องที่มากกว่า แล้วเราได้อะไรมากกว่าก้มหน้าดูโทรศัพท์ปั่นแน่นอน อย่างเส้นทางคาราโครัมนี้ก็เหมือนกันกับคนในต่างจังหวัดทั่วโลกหรือในบ้านเรา คือเป็นคนมีน้ำใจ เวลาผมปั่นไปหลายครั้งที่ผมแทบไม่ต้องเตรียมหาเสบียงอะไรเลยด้วยซ้ำเพราะได้รับน้ำขนม อาหาร มาเต็มไปหมด”

ก่อนเริ่มเดินทางไปยังที่หมายที่ดูไกลปืนเที่ยงแถมยังห่างไกลจากความเจริญ ผมก็เลยสงสัยว่าคนทางบ้านของเจ้าตัวจะรู้สึกยังไงกันบ้าง

“ไม่ค่อยกังวลนะครับ เพราะทางบ้านไม่รู้ (ฮา) จริงๆ ผมก็บอกเส้นทาง เอารูปให้ดู ที่บ้านก็โอเค ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนหนึ่งคือเค้านึกว่าผมไปปั่นกับเพื่อน เพราะมีรูปตัวผมกับจักรยานให้เค้าดูตลอด แต่จริงๆ ผมตั้งกล้องถ่ายเองนะ (หัวเราะ)”

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมแปลกใจมากๆ ก็คือ จักรยานที่เบ็นซ์ใช้เวลาที่ไปขี่จักรยานทางไกลๆ โหดๆ เราก็คงจะคิดถึงการใช้จักรยานที่มีประสิทธิภาพที่ดี ทนทาน อย่างรถเสือภูเขาหรือรถทัวริ่งจริงจัง แต่เบ็นซ์กลับเลือกใช้จักรยานพับอย่าง Brompton ในทริปนี้และก่อนหน้านี้ทั้งหมด ผมยอมรับว่านึกภาพจักรยานล้อเล็กจิ๋วปั่นบนเส้นทางที่ทั้งชันและแสนยาวไกลไม่ออกเลย แต่เบ็นซ์ก็ตอบมาสั้นๆ ง่ายๆ ว่า บรอมตันนั้นมันพับได้เล็กมากๆ ยิ่งเวลามาเจอเส้นทางที่ปั่นไม่ไหวต้องโบกรถ บรอมตันก็ถือว่าช่วยชีวิตได้เลยทีเดียว เพราะรถแบบไหนก็เอาขึ้นไปได้

หลังจากที่รถพร้อม คนพร้อม ก็ได้เวลาเริ่มต้นทริปนี้แล้ว

 

“ผมเริ่มจากจองตั๋วเครื่องบินไปซีอานในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา พอถึงวันเดินทางก็ขึ้นเครื่องไปลงซีอานแล้วก็ต่อเครื่องไปยังแคชการ์ เมืองชายแดนจีน-ปากีสถานในแคว้นซินเจียง บรรยากาศในเมืองก็ไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่ เพราะคนในเมืองนั้นเป็นคนจีนเชื้อชาติอุยกูร์ ไม่ใช่คนจีนแบบที่เราเคยรู้จัก บ้านเมืองก็หน้าตาที่ไม่คุ้นเคยเช่นเดียวกัน

“พอถึงแคชการ์ อย่างแรกที่ต้องทำคือไปหาที่พักก่อน เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปั่นทัวริ่งที่จองที่พักล่วงหน้า ผมนั่งรถเข้าเมืองไปโรงแรมที่จองไว้ด้วยความช่วยเหลือของนักศึกษาบนรถเมล์ ปรากฏว่าพอไปถึงโรงแรมก็พบว่าโรงแรมถูกสั่งให้ปิดเพราะเหตุขัดข้องบางอย่าง ผมเลยต้องไปหาที่พักอันอื่นแทน ซึ่งเพื่อนคนสิงคโปร์ก็บอกผมไว้ตั้งแต่ก่อนมาแล้วว่า มืองนี้มีสถานการณ์การเมืองที่ค่อนข้างอ่อนไหว อาจทำให้การเดินทางของเรานั้นมีส่วนที่ไม่สะดวกอยู่บ้าง”

นอกจากเรื่องโรงแรมแล้ว เบ็นซ์เล่าว่า เวลาที่จะเข้าอาคารยามด้านหน้าจะเรียกดูพาสปอร์ตอยู่ตลอดเวลา และอาจจะมีตำรวจเข้ามาพูดคุยสอบถามเสมอๆ นักปั่นที่นี่ต้องมีสติและจิตใจที่แข็งพอสมควร หลังจากที่ได้ที่พักและกินข้าวแล้ว ก็เป็นช่วงเวลาของการหาข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางนี้ที่หาไม่ได้ตอนที่อยู่ไทย โชคดีที่เบ็นซ์บังเอิญเจอนักปั่นชาวจีนที่เพิ่งปั่นกลับจากเส้นทางนี้พอดี เขาเลยได้สอบถามรายละเอียดของเส้นทาง จุดพัก และการพักแรม

เส้นทางคาราโครัมในส่วนของจีนนี้มีระยะทาง 300 กิโลเมตร โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ใช้เวลาในการปั่น 3 วันจะลงตัวที่สุด

วันแรก ระยะทาง 120 กิโลเมตรจากตัวเมืองแคชการ์ไปสิ้นสุดที่สถานีตำรวจ

วันที่สอง ระยะทาง 80 กิโลเมตรจากสถานีตำรวจไปสิ้นสุดที่ทะเลสาบคาราคู 

วันที่สาม ระยะทาง 100 กิโลเมตรจากทะเลสาบคาราคูไปสิ้นสุดที่ทัชคูกาน หรือชายแดนปากีสถาน ถ้าปั่นเลยเข้าไปต่อก็จะเป็นคาราโครัมไฮเวย์ยาวๆ ต่อไปอีกพันกิโลเมตร ซึ่งการจะเข้าไปต้องทำวีซ่าปากีสถานมาก่อน

นักปั่นชาวจีนที่เจอยังเตือนให้เขารีบออกเดินทาง เพราะพายุหิมะพึ่งผ่านพ้นไป สภาพภูมิอากาศของแถบนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้ารอนานเกินไปพายุหิมะลูกใหม่อาจจะพัดเข้ามาเลยก็ได้ จากความคิดแรกที่ว่าจะอยู่ปรับสภาพร่างกายสักวันสองวันในเมืองแคชการ์ก่อนจะปั่นก็ถูกเปลี่ยนมาให้ออกเดินทางในวันรุ่งขึ้นเลย

“เช้าวันถัดมาผมก็ได้ออกเดินทางเข้าสู่เส้นทางในฝัน เมื่อเริ่มต้นปั่นบรรยากาศของเส้นทางจะเป็นถนนไฮเวย์ยาวไกลสุดลูกหูลูกตา และจะมีต้นหลิวสูงๆ อยู่ข้างทางไปตลอด จนเมื่อผ่านครึ่งทางของวันแรกไปแล้ว เราจะเริ่มเห็นภูเขาหิมะขนาดใหญ่มหึมาอยู่ด้านหน้าของเรา ยิ่งเราปั่นเข้าไปภูเขาตรงหน้าก็ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ราวกับไม่มีวันหมดสิ้น และตลอดเส้นทางนี้ก็มีด่านตรวจอยู่มากมาย ถ้าตำรวจที่ด่านที่คุ้นเคยกับนักปั่นก็ผ่านไปได้ด้วยดี แต่ถ้าเป็นตำรวจที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับนักปั่นก็ต้องอธิบายกันยืดยาวหน่อย แต่ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี”

เส้นทางดูไปได้สวย แต่พอเร่ิ่มเข้าสู่ครึ่งหลัง เส้นทางในฝันของเบ็นซ์ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นฝันร้ายไปซะแล้ว ทางที่ปั่นก็เริ่มไม่ใช่ทางราบอีกต่อไป ทางชันค่อยๆ ชันเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ แม้สภาพถนนจะเรียบและมีสภาพดีมากๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้ความชันเหล่านี้ทุเลาเบาบางลงแต่อย่างใด จากตอนแรกที่ปั่นด้วยความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ค่อยๆ ลดลงมาจนเหลือเลขตัวเดียว จนเมื่อเข้าสู่ช่วงค่ำๆ เส้นทางชันต่อเนื่องมาตลอดก็ทำให้เบ็นซ์เริ่มปวดเข่า ในขณะนั้น เขาก็มาหยุดที่ด่านตรวจพอดี ตำรวจที่ด่านตรวจบอกกับเบ็นซ์ว่า คุณไม่น่าไปที่สถานีตำรวจได้ทัน หาที่พักแถวนี้ไม่ก็ติดรถคนกลับเข้าเมืองแคชการ์ดีกว่า

“ตอนนั้นเป็นเวลา 2 ทุ่มที่ฟ้ายังไม่มืด ยังพอมีเวลาเหลืออีก 2 ชั่วโมงกว่าจะมืด ผมก็เลยถามตำรวจกลับไปว่าเหลืออีกกี่กิโล ตัวเลขที่ได้ยินกลับมาว่า 40 กิโลเมตรทำให้ใจชื้นขึ้นและคิดว่าน่าจะไปสถานีตำรวจซึ่งเป็นจุดพักของวันนี้ไหว ตำรวจคนนั้นก็บอกมาว่าให้หาทางโบกรถไปด้วย ถ้าฟ้ามืดแล้วห้ามปั่นต่ออย่างเด็ดขาดเพราะมันอันตรายมาก ผมก็เลยปั่นต่อไปโดยที่ไม่ลืมหันกลับมามองด้านหลังอยู่เป็นพักๆ เพื่อมองหารถคันที่เราสามารถโบกขึ้นไปให้ได้ด้วย 

“จนเวลาล่วงเลยมาจนถึง 3 ทุ่ม ในใจตอนนั้นผมคิดเลยว่าไม่ถึงจุดหมายแน่นอน เพราะทางก็ยังชันต่อเนื่อง เข่าก็ปวด ผมปั่นด้วยความเร็วที่ช้าลงเรื่อยๆ โชคดีที่ผมได้มาเจอตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกปรับให้กลายมาเป็นร้านอาหารเล็กๆ ที่ขายอาหารให้กับคนขับรถบรรทุกพอดี ก็เลยมาหยุดรออยู่ตรงนี้เพื่อโบกรถเข้าไปยังสถานีตำรวจ เจอรถพ่วงคันหนึ่งจอดอยู่ พอคุยถามไถ่กันก็ปรากฏว่ารถคันนี้จะวิ่งกลับไปยังแคชการ์ คนละทางกับที่จะไป คนขับก็บอกว่ารอไปสักพักแหละเดี๋ยวก็มีรถมา

“ผมก็คิดว่าถ้ารออยู่ที่นี่ก็เหมือนเป็นการรอให้ฟ้ามืดลงอย่างเดียว เลยตัดสินใจปั่นต่อโดยคราวนี้หันหลังมามองรถด้านหลังบ่อยมากขึ้น จนเจอรถด้านหลังคันหนึ่งที่ยอมจอด เป็นรถปิกอัพ มีคนขับเหมือนเป็นคนงานนั่งด้านหน้า 2 คน อีกคนเป็นเหมือนเจ้านายนั่งที่เบาะหลัง ผมก็เดินเข้าไปคุยกับคนในรถโดยบอกว่าจะขอติดรถไปที่สถานีตำรวจด้วย ทางคนขับรถก็ขอดูพาสปอร์ตของเราก่อน นาทีนั้นก็กลัวที่จะยื่นพาสปอร์ตให้กับเค้าเหมือนกัน แต่ความมืดด้านหลังที่ไม่เห็นแสงไฟจากรถสักคันก็เป็นการบังคับกลายๆ ให้ผมยื่นพาสปอร์ตเข้าไปให้เค้าดู โดยผมก็เอามือข้างหนึ่งจับที่เปิดประตูแล้วเอาตัวยื่นเข้าทางกระจกพร้อมกับพาสปอร์ตด้วยเลย ถ้าคนขับเกิดขับรถออกไปผมก็จะโดดเข้าไปในห้องโดยสารเลยล่ะ (หัวเราะ)”

หลังจากคนขับรถดูเสร็จก็ยอมให้เบ็นซ์ขึ้นบนรถ เบ็นซ์ก็รีบพับจักรยานใส่ในกระบะหลังแล้วก็เอาตัวขึ้นไปบนรถทันที รถค่อยๆ เคลื่อนตัวออกไป บรรยากาศด้านนอกนั้นมืดสนิทเป็นเวลากลางคืนอย่างแท้จริง วิวข้างทางจากที่เป็นภูเขาหินก็เริ่มกลายเป็นภูเขาน้ำแข็ง พร้อมๆ กับความหนาวเย็นที่เข้ามาปกคลุมบริเวณนั้นทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ภายในห้องโดยสารที่ตอนนี้เริ่มกลายสภาพเป็นช่องฟรีซในตู้เย็นแล้ว หลังจากขึ้นรถมาได้เกือบๆ ชั่วโมงก็มาจนถึงสถานีตำรวจ ซึ่งสถานีตำรวจที่เป็นจุดหมายของวันแรกนั้นไม่ใช่โรงแรม หรือที่สำหรับนอนค้าง และรอบๆ สถานีก็ไม่ได้มีโรงแรมใดๆ

เบ็นซ์ต้องไปสถานีตำรวจเพื่อให้ตำรวจไปถามชาวบ้านในบริเวณนั้นว่ามีใครจะอนุญาตให้ไปพักในบ้านเขาหรือเปล่าอีกที ถ้ามีชาวบ้านยินยอมก็จะได้ไปพักฟรี พร้อมทั้งดูแลข้าวปลาอาหารให้ด้วย ซึ่งแม้จะบอกว่าพักฟรี แต่ก็เป็นธรรมเนียมที่คนแนะนำกันมาว่าผู้มาพักจะแสดงน้ำใจอันดีด้วยการจ่ายเงินให้เขาในตอนเช้าก่อนจะเดินทางไปต่อ

“ตอนนั้นเวลา 4 ทุ่ม ผมก็ไปพูดคุยกับตำรวจที่นั่น จุดหมายปลายทางที่ดั้นด้นมาถึงก็พังทลายลงต่อหน้า เพราะตำรวจที่นั่นพูดคำแรกกลับมาว่า ‘ไม่มีที่พักแล้ว ดึกแล้ว ผมไม่สามารถหาที่พักให้คุณได้ ขอโทษด้วย’

“แล้วเราไม่สามารถขอพักในสถานีตำรวจได้แบบบ้านเรา คนขับรถที่ผมขอนั่งมาด้วยก็บอกกับผมที่ก็อึ้งๆ ช็อกๆ อยู่ว่า

‘ไม่เป็นไร เดี๋ยวนั่งรถไปด้วยกันต่อ ไปหาที่พักด้านหน้า’

“เพราะเขาต้องเดินทางไปยังโรงงานที่อยู่ตรงชายแดนปากีสถาน หลังจากที่ออกจากจุดตรวจผมก็พยายามมองหาที่พักมาตลอด เรานั่งรถผ่านกระโจมแบบมองโกลอยู่หลายหลัง แต่แทบทุกหลังนั้นไม่มีคนอยู่ ส่วนหนึ่งเพราะหน้าไฮซีซั่นของเส้นนี้คือหน้าร้อนไม่ใช่หน้าสงกรานต์ ผมก็เลยต้องนั่งอยู่บนรถต่อไปเรื่อยๆ

“สุดท้ายผมก็นั่งรถไปเรื่อยๆ จนถึงเที่ยงคืน รอบๆ ตัวมีแต่ความมืดมิดไร้ร่องรอยของที่พักหรือบ้านใดๆ ทั้งสิ้น รถที่นั่งมาก็หยุดจอดที่ข้างทาง คนที่นั่งอยู่ข้างผมก็ขอหยิบโทรศัพท์มาโทรหาเจ้านายเขาว่าจะไปถึงโรงงานช้าหน่อย เพราะมีคนไทยติดมากับรถด้วยคนหนึ่ง ต้องหาโรงแรมให้ก่อน แล้วก็ถามว่าแถวนี้มีโรงแรมที่ไหนอีกบ้าง ปลายสายตอบกลับมาว่าไม่มีโรงแรม แล้วก็ให้ทิ้งผมไว้ตรงนั้นแหละ รีบกลับมาเร็วๆ อากาศภายนอกว่าหนาวแล้ว แต่พอฟังเขาคุยกันแล้วก็ยิ่งรู้สึกหนาวขึ้นไปอีก หลังจากวางสาย คนที่นั่งข้างๆ ผมก็หันมาพูดกับผมว่า แถวนี้ไม่มีโรงแรมแล้วจริงๆ ผมก็ต้องรีบกลับไปแล้ว ซึ่งผมพาคุณไปโรงงานไม่ได้ ผมคงพาคุณไปส่งได้ที่ป้ายรถเมล์ด้านหน้า ได้เท่านี้จริงๆ 

“ป้ายรถเมล์ที่เขาว่าไม่ได้มีโครงสร้างหลังคาอะไรทั้งนั้น จริงๆ มันคือมีแค่แท่งเสา และที่นั่งเล็กๆ แค่นั้นเอง ผมพยายามต่อรองขอไปโรงงานด้วย หรืออย่างแย่ที่สุดของนอนในรถหน้าโรงงานก็ยังดี แต่ก็ไม่เป็นผล”

ในขณะที่คนขับรถกำลังจะสตาร์ทรถเพื่อไปส่งเบ็นซ์ที่ป้ายรถเมล์ ความหนาวเย็นภายนอกและการจอดดับเครื่องอยู่สักพักก็ทำให้รถสตาร์ทไม่ติด คนขับรถพยายามสตาร์ทอยู่นานมากแต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะติดสักที จังหวะนั้นเองที่เบ็นซ์เหลือบไปเห็นแสงสว่างเรืองออกมาจากด้านข้างรถ ปรากฏว่ามีบ้านพักอยู่ตรงนั้นพอดี เจ้าของบ้านที่นอนไปแล้วได้ยินเสียงสตาร์ทรถอยู่หลายทีก็เลยตื่นมาดู

เบ็นซ์เลยออกปากขอพักค้างคืนที่บ้านเขา ซึ่งเขาก็ยินดี ชายหนุ่มเลยได้ร่ำลากับคนที่ขับรถมาส่งที่หน้าบ้าน สรุปว่าคืนนั้นเบ็นซ์ก็ได้ที่พักพร้อมกับผัดหมี่หนึ่งจานและชานมร้อนๆ ที่เจ้าของบ้านทำให้ในกลางดึกนั้น จากการพูดคุยกันบ้านหลังนี้เป็นเพียงที่พักไม่กี่หลังที่อยู่นอกบริเวณสถานีตำรวจในทั้งเส้นทาง 300 กิโลเมตรที่เปิดให้บริการในฤดูกาลนี้

คงเรียกได้ว่าความโชคดีเป็นสิ่งที่นักปั่นจักรยานทัวริ่งควรจะพกติดตัวมาด้วยเสมอ

“หลังจากนอนหลับไปด้วยความหนาวเย็น ผมตื่นมาเพราะแสงที่ลอดหน้าต่างช่องเดียวของบ้านหลังนี้เข้ามา เมื่อมองผ่านช่องนี้กลับออกไป สิ่งที่เห็นคือภูเขาหิมะใหญ่โตและทะเลสาบคาราคูซึ่งเป็นจุดพักที่สองนั่นเอง เป็นวิวที่มหัศจรรย์และสวยมากๆ คุ้มแล้วกับการที่ได้เดินทางมาที่นี่ ในขณะเดียวกันก็หนาวมากๆ ด้วยแรงลมที่พัดเข้ามาตลอดเวลา วันที่ 2 ของการเดินทางผมก็ได้ใช้เวลาไปในการปั่นรอบๆ ทะเลสาบ และปั่นขึ้นไปถึงยอดเขาด้านบนทะเลสาบด้วย รวมไปถึงได้มีโอกาสใช้ห้องน้ำที่มีวิวสวยที่สุดเท่าที่เคยเจอมาในชีวิตในบริเวณทะเลสาบนี้นี่เอง”

หลังจากปั่นชมวิวในละแวกทะเลสาบคาราคูครบแล้ว หัวเข่าก็ยังคงแสดงอาการเจ็บปวดของมันอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เบ็นซ์พิจารณาอาการหัวเข่ากับระยะทาง 100 กิโลเมตรจากทะเลสาบแห่งนี้ไปถึงเมืองชายแดนแทชคูคานแล้วก็พบว่า ไม่มีทางจะปั่นไปได้แน่ก็เลยตัดสินใจไปแทชคูคานด้วยวิธีการโบกรถไปต่อ และก็มีรถรับไปอย่างไม่ลำบากอะไร เพราะเหมือนเป็นธรรมเนียมของละแวกแถวนี้ที่รถใหญ่จะจอดรับคนให้ติดไปด้วยเสมอ ซึ่งคนที่นั่งรถไปก็จะต้องจ่ายเงินค่าโดยสารให้คนขับเหมือนกันกับที่พัก

“ผมมาถึงเมืองแทชคูคาน จุดหมายสุดท้ายของเส้นทางคาราโครัมในส่วนของจีน สภาพแวดล้อมรอบข้างผมตอนนี้เป็นเหมือนโลกพระจันทร์ รอบตัวมีแต่ทรายแห้งๆ พื้นผิวเป็นหลุมเป็นบ่อ ไร้ต้นไม้ แดดร้อนจนไหม้ แต่อากาศก็หนาวระดับติดลบ ลมก็แรงพัดจักรยานที่ขี่ลงเนินให้หยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ ผมก็เดินตามหาที่พักในเมืองตามที่ถามคนจีนในแคชการ์มา และก็ได้อาบน้ำสักทีหลังจากไม่ได้อาบมาหลายวัน ตัวเมืองชายแดนแห่งนี้มันไม่ค่อยมีอะไรมาก นอกจากเป็นร้านค้าที่ขายของจากจีนให้กับรถบรรทุกขนไปขายในปากีสถานเท่านั้นเอง แล้วก็มีเส้นทางเทรคกิ้งขึ้นเขาแต่ก็ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ซึ่งผมไม่มีเวลามากพอ หลังจากพักอยู่หนึ่งวันก็บังเอิญเจอรถที่จะกลับเข้าแคชการ์ผ่านมาพอดีก็เลยตัดสินใจติดรถคันนั้นกลับเข้าแคชการ์เลย”

หลังจากผมฟังวิบากกรรมเส้นทางในฝันของเบ็นซ์อยู่นาน ก็เลยถามเบ็นซ์ไปว่า หลังจากกลับมาจากการปั่นที่เส้นทางในฝันแล้วรู้สึกยังไงบ้าง

“ทุกอย่างมันยิ่งใหญ่กว่าทุกภาพที่เราเคยเห็นมาทั้งหมด มันเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตา ภูเขาทุกลูกที่เราปั่นไปเห็นนั้นใหญ่โตมากๆ จนเหมือนเราเป็นมดตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง ผมไม่รู้จะหาคำไหนมาอธิบายความรู้สึกที่ได้ไปยืนอยู่ตรงนั้นได้เลย แต่ลึกๆ ในใจก็คือความคิดที่ว่าเรารอดมาได้ยังไงนี่แหละ คือผมคงประมาทเส้นทางนี้มากเกินไป ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่าเราพูดจีนได้ด้วยก็เลยไม่ได้เตรียมตัวไปให้ดี หลังจากนี้ถ้าเราจะไปที่ไหนก็แล้วแต่เราคงต้องมีข้อมูลและเตรียมตัวให้พร้อมกว่านี้แหละครับ เส้นทางในฝันมันไมไ่ด้มีแต่เรื่องที่ดีและสวยงามเพียงอย่างเดียว บางทีมันก็มีอันตรายแฝงอยู่ด้วย ถ้าเราเตรียมตัวไปไม่พร้อมและโชคไม่ดีก็มีโอกาสเจอฝันร้ายแน่ๆ”

 

ภาพ: ชัชวาลย์ สมบัติสถิตย์

ทริกในการขี่จักรยานท่องเที่ยวคนเดียว

  • ถ้าคิดจะเริ่มเดินทางคนเดียว จงลืมคำว่า ‘กลัว’ เพราะถ้ากลัวมากไปก็จะต้องอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ไปไหนเลย
  • สิ่งสำคัญที่สุดในการเดินทางคนเดียวคือ เปิดใจพร้อมรับกับสิ่งใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต
  • การปั่นทัวริ่งคนเดียวนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่เราควรเลือกเส้นทางที่ค่อนข้างปลอดภัยโดยถามจากคนที่เคยไปมา รือคนในท้องที่ก็จะดีที่สุด และการออกเดินทางคนเดียวบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องสุดกับชีวิต แค่ขอให้สนุกกับมันก็พอ อย่างถ้าปั่นไม่ไหวก็โบกรถเลย ไม่ต้องอายหรือรู้สึกเสียหน้าที่ปั่นไม่จบเส้นทาง
  • จริงๆ แล้วเส้นคาราโครัมนั้นไม่เหมาะกับนักปั่นมือใหม่เลย อย่างน้อยควรจะมีประสบการณ์ในการปั่นทัวริ่งในไทยและต่างประเทศมาพอสมควร เพื่อให้คุ้นชินกับสภาพอากาศและวัฒนธรรมที่ต่างจากบ้านเรา
  • ควรเตรียมตัวซ้อมให้ร่างกายแข็งแรงก่อนออกเดินทาง เพราะนอกจากจะต้องไปเจอสภาพเส้นทางสูงชันแล้ว อากาศที่บางเบาจากความสูงก็อาจจะทำให้เราป่วยเป็นโรคแพ้ความสูงได้ง่าย
  • อุปกรณ์กันหนาวควรมีไปให้พร้อมที่สุด โดยเฉพาะถุงมือและหมวก รวมไปถึงผ้าปิดหน้าปิดจมูก
  • ในบางพื้นที่ที่เปราะบาง การไปขี่จักรยานคนเดียวก็อาจจะเจอเรื่องที่ชวนให้วิตกจริต อย่างการที่ถูกคนท้องที่เข้ามาถามถึงวัตถุประสงค์การมาของเรา ก็ต้องมีสติ ยิ้ม และค่อยๆ อธิบายให้ฟัง โดยมากก็มักจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

Writer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan