จากประสบการณ์การเคยไปเยือนเมืองจักรยานของโลกมาหลากหลายเมือง ไม่ว่าจะอัมสเตอร์ดัม โคเปนเฮเกน เมลเบิร์น ไทเป พอร์ตแลนด์ สิงคโปร์ แทบทุกเมืองที่เป็นเมืองจักรยานนั้นมักจะมีกิจการอย่างหนึ่งเปิดให้บริการอยู่เสมอๆ นั่นก็คือ ร้านจักรยานแฮนด์เมด หรือร้านจักรยานทำมือ อาจเพราะผู้คนต่างใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเยอะจนรู้ความต้องการของตัวเองว่าต้องการจักรยานแบบไหน และเมื่อหาจักรยานที่ต้องการจากในท้องตลาดไม่ได้จึงมีการทำจักรยานแฮนด์เมดไว้รองรับ พูดไปใครจะเชื่อ กรุงเทพฯ นั้นก็มีร้านจักรยานแฮนด์เมดไว้รองรับแล้วเช่นกัน ถึงเราจะไม่ได้เป็นเมืองจักรยานแบบเดียวกับบรรดาเมืองที่ผมเอ่ยชื่อมาก่อนหน้านี้ก็ตาม

ไม่ใช่ร้านจักรยานแฮนด์เมดธรรมดาไร้หลักสูตรหรือประกาศนียบัตร เจ้าของร้านนี้นั้นเคยไปเรียนหลักสูตรการต่อเฟรมจักรยานมาจากสถาบันสอนทำจักรยานชื่อ United Bicycle Institute ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน เมืองจักรยานไม่กี่แห่งของประเทศสหรัฐอเมริกา

จากที่ว่ามาทั้งหมดมันก็แปลก เพราะตำแหน่ง GPS ในโทรศัพท์มือถือบอกว่าผมมาถึงจุดหมายแล้ว ก่อนจะมาถึง ผมจินตนาการวาดฝันถึงโรงงานเล็กๆ ที่น่าจะต้องดูฮิปๆ คูลๆ อะไรแบบนั้น แต่ภาพตรงหน้าที่ปรากฏคือป้ายโลโก้เขียนว่า Handmade Bicycles หรือจักรยานทำมือ ที่ติดอยู่บนประตูทางเข้าห้องเล็กๆ ขนาด 4 x 4 เมตรในตึกแถวย่านปิ่นเกล้า ถ้าไม่บอกก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าด้านในนั้นมันมีร้านรับทำจักรยานแฮนด์เมดอยู่

บุคคลที่กำลังเปิดประตูออกมาหาผมคือ ตง-พัณณกร วงศ์วิทูรวัฒนา เจ้าของร้านและช่างมือหนึ่งและมือเดียวของร้าน Breton Bicycles ที่จะพาผมและทุกท่านเข้าสู่ร้านและโลกของจักรยานทำมือ ถ้าพร้อมกันแล้วก็เดินผ่านประตูเข้ามาได้เลยนะครับ

Breton Bicycles

Breton Bicycles ร้านจักรยานทำด้วยมือและทำด้วยใจของช่างคนไทย

ผมถามตงเรื่องที่มาที่ไปของการเริ่มหลงรักจักรยานและเหตุผลที่มาประกอบอาชีพคนทำจักรยาน ก่อนจะพบว่าเขากลายเป็นเจ้าของร้านจักรยานทำมือเพราะความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเกาะเสม็ดเท่านั้นเอง

เรื่องมันเริ่มหลังจากตงเรียนจบ เขาทำอาชีพเซลส์ขายเครื่องดื่มของบริษัทชั้นนำของโลก ในตอนแรกก็ประจำอยู่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะถูกย้ายไปประจำพื้นที่แถบระยอง ด้วยความที่เกาะเสม็ดนั้นก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังมานาน พอตงได้มาดูแลพื้นที่แถวนี้พอดีก็เกิดไอเดียว่าอยากลองขายของบนเกาะเสม็ดดู แต่เกาะเสม็ดห้ามเอารถข้ามไป ตงเลยนั่งคิดหาวิธีการเดินทางในเกาะเสม็ด ก่อนจะได้คำตอบในใจมาว่าจักรยานนี่ล่ะคือคำตอบสุดท้าย ตงเลยไปวรจักรและซื้อจักรยาน 1 คันแล้วเอาลงเรือข้ามฟาก เพื่อใช้เดินทางไปทำงานบนเกาะเสม็ด

“ผมก็ขี่จักรยานจากคอนโดแถวบ้านเพมาที่ท่าเรือ มาถึงก็ยกจักรยานขึ้นบนเรือ ตอนที่อยู่บนนั้นคนก็มองผมกับจักรยานกับเต็มไปหมด ผมก็นึกยิ้มว่ามันดูเท่แน่ๆ พอเรือมาถึงเกาะเสม็ดผมก็จูงจักรยานลงจากเรือเตรียมจะปั่นเลย อย่างแรกที่ผมเห็นก็คือรถสองแถวจอดเรียงกันเป็นสิบๆ คันเลย โอ้ย! กูจะเอาจักรยานมาทำไม ไอ้ที่คนมองๆ กันคือมองกันว่ามึงจะเอาจักรยานมาทำไม มีรถสองแถวให้นั่งจ้า แต่ไหนๆ ก็เอามาแล้ว ผมก็เลยขี่จักรยานไปขายของรอบๆ เกาะ ก็เลยทำให้มารู้อีกอย่างนึงว่าเกาะเสม็ดแทบไม่มีที่ราบเลย มีแต่เขาและเนินเต็มไปหมด ผมขี่ๆ เข็นๆ ไปทำงานได้ไม่เท่าไหร่ก็หมดแรงขาสั่น ต้องกลับมาพักที่บังกะโล”

สุดท้ายการขี่จักรยานไปทำงานบนเกาะเสม็ดทริปนั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จในด้านยอดขาย แต่ประสบความสำเร็จในด้านการเปลี่ยนเขาเป็นคนรักจักรยาน พอซื้อจักรยานมาแล้ว เจ้าตัวได้โอกาสขี่จักรยานในตอนเย็นหลังเลิกงานทุกวัน หลังขี่ไปได้สักพักตงก็เริ่มรู้สึกว่าจักรยานที่ขี่นั้นไม่ดี ไม่เร็ว แน่นอนว่าไม่มีใครโทษว่าตัวเองอ่อนแอหรอก ความผิดทั้งหมดจึงไปลงอยู่กับอะไหล่จักรยานแทน

ตงเลยเริ่มทำการอัพเกรดจักรยานเพื่อให้ขี่ได้ดีขึ้นแทน (ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้ขี่เร็วขึ้นได้สักเท่าไหร่) การดูอะไหล่อัพเกรดจักรยานทำให้เขาได้เห็นจักรยานประเภทอื่นๆ อย่างฟิกซ์เกียร์ ทัวริ่ง เสือหมอบ ไปจนถึงรถจักรยานเก่าวินเทจทั้งจากฟากญี่ปุ่นและยุโรป งานนี้จึงพาตัวเขาเข้าสู่โลกของจักรยานอย่างแท้จริง

Handmade Bicycles

ในขณะที่กำลังสนุกอยู่กับโลกของจักรยาน ตงนึกถึงคำพูดของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนดัง ที่เคยบอกไว้ว่า ผู้ชายอายุ 30 ถ้ายังไม่มีบ้านก็จะไม่มีตลอดไป ตงก็อยากจะมีบ้าน มีความมั่นคง แบบที่ใครๆ ก็ต้องการ เลยลองไปดูๆ บ้านจากหลายโครงการ และลองกู้เงินธนาคารด้วย แต่พอเห็นยอดรายจ่ายหนี้ที่ต้องผ่อนจ่ายรายเดือนยาวนานไปจนถึงเกษียณอายุ เจ้าตัวก็นึกไปถึงสิ่งที่อยากทำในชีวิต เพราะถ้าตกลงซื้อบ้านและเริ่มผ่อนแล้วก็จะไม่มีทางได้ทำอะไรที่อยากทำอีกเลย

Handmade Bicycles

ในช่วงเดียวกันนั้นเอง เพื่อนฝูงหลายคนของเขาเริ่มกลับบ้านหลังจากเรียนเมืองนอกแล้วพูดถึงประสบการณ์การได้มีชีวิตอยู่ในประเทศเจริญแล้วเหล่านั้น ทำให้ตงเกิดความรู้สึกอยากไปใช้ชีวิตแบบนั้นบ้าง ประกอบกับการที่ชอบจักรยานหลายๆ คันที่ทั้งหายากและราคาแพงเกินจะเอื้อมถึง บางคันถึงมีเงินซื้อก็ไม่มีคนขายอยู่ดี เขาเกิดความคิดขึ้นมาว่า ทำไมเราถึงไม่ไปเรียนทำจักรยานแบบที่เราชอบขึ้นมาเองซะเลยล่ะ แล้วเวลาเจอคนอื่นๆ ก็พูดได้เต็มปากเลยว่า จักรยานคันนี้ผมทำเอง

ตงตัดสินใจว่า งั้นไม่ซื้อบ้านแล้ว แต่เอาเงินไปเรียนทำจักรยานที่เมืองนอกแทน และเพราะเพื่อนหลายคนจบจากอังกฤษ นิสัยการรักความแตกต่างของตงจึงทำให้เขาอยากไปเรียนทำจักรยานที่อเมริกาแทน พอได้ลองหาข้อมูลก็เจอว่ามีโรงเรียนหลายแห่งที่สอนทำจักรยาน แต่มีอยู่แค่แห่งเดียวที่สามารถออกใบประกาศนียบัตรรับรองให้ได้ นั่นก็คือ United Bicycle Institute เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน เมื่อได้จุดหมายแล้ว ตงตัดสินใจลาออกจากงาน ขายรถ และขอวีซ่าเพื่อไปเรียนทำจักรยาน

ผมฟังแล้วก็นึกสงสัยว่าคนอายุ 28 ที่ทำงานมีรายได้ดี มีเงินเก็บ มีรถ มีความมั่นคง ทำไมอยู่ดีๆ ถึงกระโดดหนีออกจากความสบายเหล่านี้เพื่อไปเริ่มต้นเรียนทำอะไรก็ไม่รู้

“ผมว่าจริงๆ มันก็เป็นเหมือนสัจธรรมแบบหนึ่ง คือเราเจอความทุกข์มากๆ เราก็พยายามอยากหาความสุข คนที่มีความสุขมากๆ ก็วิ่งตามหาความทุกข์มาใส่ชีวิต ลองดูอย่างพวกคนรวยๆ เห็นมั้ยว่าเล่นไตรกีฬากันเยอะแยะ ว่ายน้ำก็เหนื่อยแล้วยังต้องไปปั่นจักรยานกับวิ่งต่ออีก เหนื่อยไม่รู้จะเหนื่อยยังไง ชีวิตปกติมันดีอยู่แล้วเลยต้องหาอะไรลำบากมาใส่ลงไปในชีวิตมั่ง ไม่มีใครอยู่กับชีวิตเดิมๆ ซ้ำๆ ได้นานหรอก ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ก็แล้วแต่ ชีวิตผมก็เหมือนกัน มีงานที่มั่นคง สบาย ไม่ลำบาก แต่ใจลึกๆ มันอยากทำจักรยานของตัวเองเลยตัดสินใจได้ง่าย”

จักรยาน

จักรยาน

หลังจากวันนั้น ตงเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียนภาษาที่บอสตันเป็นเวลา 9 เดือน แล้วค่อยย้ายไปเรียนทำจักรยานที่พอร์ตแลนด์

“ความรู้สึกแรกคือฟินมาก เพราะตอนที่ไปเป็นหน้าหนาว เวลาที่พูดแล้วมีไอออกมาจากปากนี่คือความฝันสูงสุดเลย แต่หลังจากฟินกับอากาศเย็น ก็เจอความจริงที่ว่าเราพูดและฟังภาษาอังกฤษไม่ได้ อาหารมื้อแรกยังจำได้เลยว่าไปกินแมค เพราะว่าไม่ต้องสื่อสารอะไร ใช้ชี้ๆ เอาก็รอดแล้ว ทำให้เราต้องตั้งใจเรียนมากๆ แล้วก็เริ่มพูดได้คุยได้ภายในเวลา 2 – 3 เดือน”

จักรยาน

หลังจากเรียนภาษาเสร็จ ก็ถึงเวลาที่ต้องไปเรียนทำจักรยานสักที แม้จะสมัครเรียนทำจักรยานที่พอร์ตแลนด์ แต่เจ้าตัวก็ไม่ได้รู้มาก่อนว่านี่คือเมืองจักรยานเพียงไม่กี่แห่งของอเมริกา และยังเป็นเมืองคนเพี้ยนและเมืองฮิปสเตอร์ของอเมริกาด้วยเช่นกัน เพราะความไม่รู้แบบนี้ทำให้ตงเลือกไปเรียนช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เมืองมีสภาพอากาศแย่ที่สุด ทั้งหนาว ทั้งเปียกปอนจากฝนที่ตกโปรยปรายลงมาแทบตลอดเวลา แต่สภาพแวดล้อมก็ไม่ได้ทำให้คอร์ส Chromoly Brazing Frame Building หรือการทำจักรยานเหล็กแบบดั้งเดิมที่ตงเลือกเรียนนั้นน่าเบื่อลงไปแต่อย่างใด (โรงเรียนที่ตงไปเรียนแห่งนี้มีคอร์สทำจักรยานหลากหลายมาก ทั้งสอนทำจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอะไรก็ตาม ไทเทเนียม อะลูมิเนียม ไปจนถึงการซ่อมบำรุง การบริหารจัดการร้านจักรยาน เป็นสถาบันที่สอนทุกอย่างเกี่ยวกับธุรกิจร้านจักรยานจริงๆ)

หลักสูตรการเรียนการสอน Chromoly Brazing Frame Building ที่ตงเลือกเรียนนั้นมีระยะเวลา 1 เดือน ผมถามไปว่าคนที่ไปเรียนทำจักรยานวันๆ หนึ่งต้องทำอะไรบ้าง

จักรยาน

“ก็เหมือนเป็นการไปโรงเรียนทั่วๆ ไปนี่ล่ะครับ แปดโมงเข้าเรียน เที่ยงพักกินข้าว ห้าโมงแยกย้าย เพราะช่วงอากาศเลวร้ายมากทำให้ผมเรียนอยู่คนเดียวเหมือนไม่มีเพื่อนเลย ทุกคนในห้องเป็นคนอเมริกันที่อาศัยอยู่ในเมืองพอร์ตแลนด์ ผมเป็นคนเอเชียคนเดียว พอสภาพอากาศมันแย่ เรียนเสร็จทุกคนก็แยกย้ายกลับบ้าน พอครบหลักสูตร 1 เดือนทุกคนจะได้จักรยานกลับบ้านคนละ 1 คัน นักเรียนแต่ละคนไม่ได้เรียนเพื่อจะมาเปิดร้านจักรยานทำมือหรือเป็นคนทำเฟรมจักรยานอะไรหรอก หลายๆ คนในนั้นมาเรียนเป็นงานอดิเรก ไม่ก็มาทำจักรยานเพื่อให้ได้จักรยานเฉพาะของตัวเองเท่านั้น ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะที่อเมริกาการเรียนทำจักรยานมันถูกกว่าไปสั่งตัดจักรยาน 1 คันนะ มันอาจจะไม่เนี้ยบเหมือนที่มือโปรทำ แต่การได้ทำเองมันก็น่าตื่นเต้นและน่าภูมิใจมากกว่า

จักรยาน

จักรยาน

ในวันแรกที่มาเรียนมีการสอนเรื่องวัสดุที่ใช้ทำจักรยานว่ามันมีคุณภาพและการใช้งานต่างกัน และสอนการเขียนแบบ รวมไปถึงเรื่ององศาแต่ละจุดของจักรยาน องศาที่แตกต่างกันทำให้การขี่ต่างไป วันที่สองเป็นการสอนใช้เครื่องจักรและเครื่องมือ วันที่สามก็ฝึกซ้อมการตัดและเชื่อมท่อเหล็ก หลังจากนั้นก็เป็นการทำจักรยานตามแบบที่เราเขียนแบบไปจนกระทั่งเสร็จออกมาเป็นคัน”

หลังจากผมรู้ขั้นตอนการเรียนการสอน ก็ทำให้สงสัยขึ้นมาว่าจักรยานทรง Diamond Frame หรือทรงสามเหลี่ยม 2 อันติดกันที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนี้มีอายุเกือบๆ 200 ปีแล้ว แล้วเรายังสามารถออกแบบจักรยานอะไรใหม่ๆ ได้อีกเหรอ? และคนอื่นๆ ในคลาสเดียวกันทำจักรยานอะไรออกมากันบ้าง?

จักรยาน

“รูปทรงก็คงจะไม่แตกต่างมากนัก แต่เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์และรสนิยมแตกต่างกัน สิ่งที่เราเป็นจะสะท้อนออกมาผ่านทางข้าวของเครื่องใช้ มีวัยรุ่นคนหนึ่งในคลาสทำฟิกซ์เกียร์ อีกคนนึงก็ทำรถทัวริ่งที่ปั่นไปได้ทั่วโลกด้วยหน้าตาที่เขาอยากจะขี่ จักรยานควรจะมีหน้าตาแบบไหนไม่ใช่เรื่องตายตัว ความเหมาะสมกับการใช้งานของเราต่างหากที่สำคัญกว่า แล้วความสวยงามมันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เลยทำให้จักรยานแฮนด์เมดแบบนี้ยังคงอยู่ได้ ไม่งั้นทุกคนคงไปซื้อจักรยานโรงงานกันหมด ส่วนตัวผม ในคลาสเรียนนั้นก็ทำจักรยานขนของแบบ Porter หรือจักรยานส่งหนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศส มีเอกลักษณ์เป็นตะกร้าหน้าใหญ่ๆเพื่อใส่หนังสือพิมพ์ได้เยอะๆ แบบที่เราเคยเห็นในหนังที่มีเด็กขี่จักรยานแล้วหยิบหนังสือพิมพ์โยนใส่หน้าบ้าน มีเกียร์เดียวเพื่อความทนทานและไม่ต้องบำรุงรักษามาก เพราะต้องบรรทุกของหนัก องศารถก็ต้องมีศูนย์ถ่วงต่ำๆ เพื่อให้การควบคุมได้และมีสมดุลที่ดี การมาเรียนคลาสทำจักรยานแบบนี้มีข้อดีว่าความสนใจของเพื่อนร่วมคลาสทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ทำให้เราสามารถสร้างรถหลายๆ ประเภทให้ดีได้”

ผมก็เลยถามตงไปอีกว่า ในฐานะนักทำจักรยาน รถที่ดีของนักทำจักรยานเป็นยังไง

“จริงๆแล้วรถที่ดีไม่ได้หมายความว่าจะต้องดีสำหรับทุกคน รถดีของคุณอาจจะไม่ดีสำหรับผมก็ได้ ดีของผมก็คือสิ่งที่ผมชอบ แล้วมันไม่ได้มีอุปกรณ์อะไรที่จะสามารถมาวัดความดีได้ ดังนั้น จักรยานที่ดีของเราคือจักรยานที่เราขี่แล้วชอบ ซึ่งก็อยู่ที่ว่าเราใช้จักรยานไปทำอะไรมั่ง ถ้าเราเอาจักรยานเสือหมอบที่มีไว้ทำความเร็วไปขนของก็คงจะต้องล้มคว่ำแน่ๆ ถ้าชอบขี่ทัวริ่งหรือขี่ทางไกล รถมันก็จะถูกออกแบบมาเพื่อบรรทุกของหนักแล้วไม่เสียหาย ไม่บิดงอ ขี่แล้วเสถียร แต่ถ้าเอาของที่บรรทุกออกแล้วพยายามจะขี่ให้เร็วมันก็จะเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีจักรยานคันไหนที่สมบูรณ์พร้อมไปหมดทุกด้าน ก็คงเหมือนกับมนุษย์ไม่มีใครคนไหนสมบูรณ์พร้อมไปหมดทุกด้านหรอก”

จักรยาน

หลังจากเรียนจบตงได้จักรยานขนหนังสือพิมพ์ 1 คันที่ทำเองและใบประกาศนียบัตร 1 ใบกลับมายังกรุงเทพฯ และได้เริ่มเปิดกิจการ แต่ไม่ใช่เปิดกิจการจักรยานทำมือหรอกนะครับ เป็นการเปิดเพจขายจักรยานที่เจ้าตัวสะสมไว้ต่างหาก เพื่อจะเอาเงินที่ได้จากการขายจักรยานสะสมชื่อดังหายากทั้งหลาย เช่น Nagasawa, 3Rensho, Colnago และอื่นๆ อีกมากมาย มาซื้อเครื่องมือทำจักรยานอีกที และจะได้ประกอบอาชีพเป็นคนทำจักรยานแฮนด์เมดสักที แต่เงินจากการขายจักรยานที่สะสมไว้ก็ไม่เพียงพอต่อการเปิดร้าน ตงเลยต้องกลับไปทำงานประจำอีกทีเพื่อหาเงินมาซื้อเครื่องมือต่อ เงินเดือนทุกเดือนที่ได้มาก็เอามาซื้อเครื่องมือไว้เกือบทั้งหมด จนเพื่อนสนิท 2 – 3 คนที่รู้ว่ากำลังจะเปิดร้านจักรยานชื่นชมในความบ้าไม่คิดหน้าคิดหลังของตง แล้วก็โอนเงินมาให้เฉยๆ หลายหมื่นบาทเพื่อเป็นทุนในการซื้อเครื่องมือเข้าร้าน โดยที่ตงก็ไม่ได้ขอ หนักไปกว่านั้นคือคนที่โอนเงินมาให้นั้นไม่ได้ขี่จักรยานด้วยซ้ำ แค่อยากเห็นกิจการร้านจักรยานทำมือนั้นเกิดขึ้นในบ้านเรา

จักรยาน

จักรยาน

พอรวบรวมเงินซื้อเครื่องมือทำจักรยานได้ครบแล้ว ตงก็ลาออกจากการทำงานประจำและเปิดร้านจักรยานทำมือในที่สุด ช่วงที่หาทำเลเปิดร้านนั้นก็พอดีว่ามีรุ่นพี่คนนึงเสนอตึกแถวย่านปิ่นเกล้าที่ว่างอยู่สามารถใช้เป็นที่ทำงานได้ Breton Bicycles ก็เลยได้เปิดกิจการขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้

จักรยาน

จากคนที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน มีเงินใช้ทุกเดือนมาตลอด อยู่ดีๆ ก็ไปเรียนทำจักรยาน และคิดจะเอาการทำจักรยานทำมือมาประกอบเป็นอาชีพ ยิ่งในบ้านเราก็ไม่ได้มีคนขี่จักรยานเยอะแยะมากมายอะไรขนาดนั้น คิดดูยังไงก็ไม่น่าจะใช่การตัดสินใจที่ฉลาดเลย แล้วอะไรทำให้คนคนหนึ่งตัดสินใจประกอบอาชีพนี้กัน?

“มันเท่ เวลามีคนมาถามว่าทำอาชีพอะไรแล้วเราตอบไปว่าผมเป็นคนตัดจักรยานครับ โคตรเท่เลยนะ (หัวเราะ) เอาจริงๆ คือผมเป็นคนทำงานกับคนอื่นๆ ยาก เพราะว่าคนมีความไม่แน่นอน แต่ผมเป็นคนชอบความแน่นอน บางอย่างเราทำถูก อีกคนทำผิด แต่คนที่ทำผิดมันอาจจะพูดอะไรบางอย่างทำให้มันกลับมาเป็นฝ่ายถูกแล้วเราผิดได้แทน หรือเจ้านายสั่งงานเราแล้วลืมว่าสั่งอะไรเราไว้ พอมาดูก็โกรธทั้งที่เราก็ทำตามที่เขาบอก อะไรแบบนี้ แต่พอมาทำจักรยาน อย่างการตัดท่อเหล็ก ถ้าเราตัดสั้นหรือเกินไปจากแบบ เราไม่มีทางโทษใครได้เลยนอกจากตัวเอง ตัวเลขมันไม่เคยโกหกใคร ผมเลยชอบอาชีพนี้เพราะมันตรงไปตรงมามากๆ”

จักรยาน

จักรยาน

ผมตั้งคำถามกับตงว่า ในยุคที่ร้านจักรยานกระจายอยู่แทบทุกจุดของเมือง เรามีจักรยานมากมายหลายแบบ หลายสี หลายประเภท ในราคาตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนให้เลือกกันไม่หวาดไม่ไหว ทำไมเรายังต้องมาสั่งตัดจักรยานกันด้วย?

“หลักๆ เลยคือเรื่องขนาด คนที่ตัวเล็กมากๆ คนที่ตัวสูงมากๆ ไปหารถที่ไหนๆ ก็ไม่มีขนาดที่พอดีกับตัว เพราะรถที่ผลิตในระบบโรงงานมันทำมาเพื่อรองรับคนส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่เพื่อทุกคน อีกส่วนก็คือเรื่องของรูปร่างหน้าตาที่พอมาสั่งตัดจักรยานเราก็จะไม่เหมือนกับของคนอื่นๆ แล้วก็มีพวกนักสะสมที่เก็บจักรยานมามากมายหลายแบบ พอมาเห็นจักรยานทำมือของคนไทยก็เลยสนใจมาสั่งทำ ลูกค้าคนแรกที่เข้ามาตัดจักรยานเป็นคนที่ไม่เคยขี่จักรยานมาก่อนด้วย แต่เขาอยากเริ่มต้นขี่จักรยานไปทำงาน บ้านเขากับที่ทำงานห่างกันประมาณ 4 กิโลเมตร และคงจะดีถ้าเขามีจักรยานที่พอดีกับสรีระ ขี่ได้เร็ว และไม่เหมือนใคร ผมเลยออกแบบเป็นจักรยานแฮนด์ตรง องศาช่วยให้สามารถขี่ซอกแซกบนถนนได้ดี ตะเกียบหน้าและล้อเป็นคาร์บอนเพื่อให้ขี่ได้เร็วและนุ่มนวล ผลออกมาลูกค้าก็ชอบมาก เราในฐานะคนทำก็มีความสุขมากๆ เหมือนกัน หลังจากนั้นก็มีลูกค้ามาอีก ส่วนมากก็มาจากการพูดกันปากต่อปากกันเรื่อยๆ น่ะครับ

“อีกแบบคือคนที่ใช้จักรยานจริงๆ รู้ว่าตัวเองต้องการจักรยานแบบไหน อย่างเช่นต้องการรถทัวริ่งที่จะไปแข่งในงานขี่จักรยานทางไกลแบบ Audax แต่ต้องการอยากได้รถที่หน้าตาวินเทจแบบรถฝรั่งเศส ซึ่งในท้องตลาดมันจะไม่มีจักรยานอะไรเลยที่ตอบสนองความต้องการนี้ได้ เช่น รถทัวริ่งที่มีเกียร์เพียงพอกับการขี่ทางไกลก็ไม่มีหน้าตาแบบที่ถูกใจ หรือถ้าไปหาจักรยานรุ่นเก่าๆ ที่หน้าตาที่ถูกใจก็จะมีเกียร์น้อยลงแค่ 6 – 7 เกียร์จนขี่ไม่สนุก แต่เราสามารถทำให้ตามที่ต้องการได้ทุกความต้องการ แต่ส่วนสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของความสวยงาม ลูกค้าหลายคนที่สั่งทำจักรยานไม่ได้เอาไปขี่แต่เอาไปวางโชว์ไว้ในบ้านแทน เพราะกลัวเป็นรอย เวลาขี่ไปไหนก็ขี่รถถูกๆ ไปแทน”

ตงส่งรูปจักรยานที่มีลูกค้าเคยตัดมาให้ผมดู ผมมองดูรูปรถคันแล้วคันเล่า แทบทุกคันเป็นรถที่ทำจากท่อเหล็ก ตัดต่อเชื่อมเข้าด้วยกันเป็นหลากหลายรูปทรง เป็นผลลัพธ์จากสิ่งที่ตงเรียนมาจากพอร์ตแลนด์โดยตรง

จักรยาน จักรยาน จักรยาน จักรยาน จักรยาน จักรยาน

แต่ในวันที่คนขี่จักรยานทุกคนสนใจน้ำหนักของจักรยานให้มันเบาลงๆ จนยกได้ด้วยมือข้างเดียวกันแบบนี้ มีผลกระทบกับจักรยานที่ทำจากเหล็กของตงบ้างรึเปล่า

“ผมไม่มีปัญหากับรถจักรยานคาร์บอน ไทเทเนียม หรืออะไรทั้งนั้น รถคาร์บอนก็มีดีในแบบของเขา รถเหล็กก็มีดีในแบบของตัวเอง ผมเคยดูหนัง Conan the Barbarian พ่อของโคแนนสอนโคแนนว่า ลูกเอ๋ย เมื่อลูกออกไปเผชิญโลกภายนอกไม่ว่าอะไรก็ตามแต่อย่าไปเชื่อ จะผู้หญิงหรืออะไรก็ตาม มีสิ่งเดียวที่ลูกควรเชื่อนั่นคือเหล็ก only steel you can trust ในหนังมันหมายถึงดาบแหละ แต่ผมก็แถให้มันมาเป็นรถจักรยานด้วย (หัวเราะ)

“มันเป็นความจริงนะ คือเหล็กเป็นของที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ แล้วเราก็เอามาหลอมจนกลายเป็นชิ้นๆ ที่เราจับต้องได้ ไม่ได้เกิดจากการสังเคราะห์หรือถักทอสร้างมันขึ้นมา เหล็กคือการเริ่มต้น จักรยานที่เป็นรูปทรงมาตรฐานในวันนี้มันก็ทำมาจากเหล็ก ผ่านมา 200 ปีมันก็ยังมีจักรยานเหล็กอยู่ โอเค มันก็มีผุพังไปตามกาลเวลา แต่มันก็ยังคงมีอยู่ การที่มันยังอยู่ในเวลายาวนานแบบนี้ แปลว่ามันก็คงมีดีอะไรบางอย่างอยู่เหมือนกัน ผมคงพูดไม่ได้หรอกว่าเหล็กมันดีกว่าคาร์บอนหรืออะลูมิเนียม ความชอบของคนเรามันไม่เหมือนกันและผมคงไปยัดเยียดความชอบให้คนอื่นไม่ได้ เอาเป็นว่าชอบรถแบบไหนก็ขี่รถแบบนั้นก็พอครับ”

ผมถามต่อว่า ความยากในการทำจักรยานหนึ่งคันนั้นคืออะไร

“ความยากในการทำจักรยานมีความยากอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกคือ การออกแบบ ลูกค้าหลายคนมาบอกเราว่า ตงครับ อยากได้จักรยานสวยๆ อันนี้นี่ยากเลย เพราะสวยคุณกับสวยผมมันไม่รู้ว่าสวยเดียวกันหรือเปล่า ผมก็ต้องมาถามให้ลูกค้าลิสต์มาก่อนว่าสวยที่คุณว่ามีอะไรบ้าง หลังจากที่ลูกค้าบอกเรามาเราก็เริ่มออกแบบในหัวได้แล้วว่ามันจะออกมาประมาณไหน

“ความยากที่สองก็คือ การขัดและการเก็บรายละเอียดของงาน ซึ่งต้องทำให้เนี้ยบที่สุดก่อนส่งไปทำสี เพราะถ้าทำไม่เรียบร้อย ตอนทำสีเสร็จออกมาเราจะเห็นสิ่งนี้ไปตลอด ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่พอร์ตแลนด์ วันที่ 2 กับวันที่ 3 จะเป็นวันที่อาจารย์จะให้เราฝึกตะไบเหล็ก เหล็กทำจักรยานมันแข็งมากๆ แข็งกว่าเหล็กทั่วไป แค่ตัดก็ยากแล้ว พอมาถึงขั้นตะไบมันยิ่งกว่าตัดอีก คือเราแทบจะตะไบไม่เข้าเลย แต่ตัวอาจารย์ที่สอนผม คือ โจเซฟ เอเฮิร์น (Joseph Ahearne เจ้าของร้านและคนตัดเฟรมจักรยานแฮนด์เมดแบรนด์ Vanilla ที่ได้รับการยอมรับและได้รับรางวัลการประกวดจักรยานแฮนด์เมด รวมไปถึงเคยถูกแนะนำในนิตยสาร Monocle ด้วย) เขาทำแป๊บเดียวเสร็จทั้งตัดและตะไบ แถมออกมาเนี้ยบกริบเลย

“ผมกับเพื่อนในห้องก็คุยกันตอนเลิกเรียนว่า โจเซฟต้องมีทริกในการตัดและตะไบท่อเหล็ก แต่ไม่ยอมสอนเราแน่นอน ผมเก็บความสงสัยเอาไว้ไปเรื่อยๆ จนวันสุดท้ายที่จบคอร์สก็มีการร่ำลากัน ผมไปถามโจเซฟว่าคุณมีทริกอะไรในการตัดและตะไบท่อเหล็กเหรอ ทำไมคุณทำได้เร็วขนาดนั้น โจเซฟตอบว่า ผมก็ทำเหมือนพวกคุณนั่นแหละ แต่แค่ผมทำมามากกว่าพวกคุณมากๆ วันก่อนยังเห็นรูปใน IG ของโจเซฟ แกถ่ายรูปมือแกหยิบกุญแจขึ้นมา แกเพิ่งจะมีบ้านหลังเล็กๆ สภาพโทรมๆ เป็นของตัวเองจากการทำอาชีพคนทำจักรยาน

“ผมเลยนึกขึ้นมาได้ว่าสิ่งที่แกแตกต่างจากผมคือแกทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปเรื่อยๆ ถ้าเรายังไม่ประสบความสำเร็จในวันนี้ไม่ได้แปลว่าเรามันไม่ได้เรื่องหรือห่วย แต่แปลว่าเรายังฝึกและทำไม่มากพอ ก็ต้องทำให้มันเยอะขึ้นอีก ทำไปเรื่อยๆ

“ส่วนความยากที่สามคือ ในระหว่างการทำเฟรม ธรรมชาติของเหล็กจะมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติในตัวเองเมื่อเจอความร้อน แม้ว่าเราจะใช้เครื่องมือที่ดีแค่ไหน ตัวจับงานที่วิเศษยังไง เวลาเราเชื่อมเฟรมเข้าด้วยกันมันจะบิดตัวเสมอ เราก็ต้องมาดัดให้มันกลับเข้าที่ ผมเลยลงทุนเรื่องเครื่องมือเพื่อกันความผิดพลาดค่อนข้างเยอะ อย่างโต๊ะวัดระดับ เพื่อให้เรารู้ว่าจักรยานที่เราทำมันบิดหรือเบี้ยวไปแค่ไหน จักรยานที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปมีค่าความบิดเบี้ยวที่ในวงการยอมรับกันได้อยู่ที่ 3 มิลลิเมตร แต่สำหรับรถแฮนด์เมดค่าความ error ของการบิดเบี้ยวเนี่ยต้องต่ำกว่า 0.99 มิลลิเมตร เรียกว่าประณีตกว่ารถแมส 3 เท่าก็ได้ นี่ก็เป็นอีกจุดที่มันแตกต่างจากรถที่ผลิตจากโรงงานทั่วๆ ไปซึ่งคนส่วนมากไม่รู้กัน อาจจะเพราะการทำทีละคัน ผสมกับการที่คนหนึ่งคนเป็นคนดูแล ทำตั้งแต่เป็นท่อเหล็ก ค่อยๆ ตัด ตะไบ เชื่อมติดกันจนกลายเป็นจักรยาน มันทำให้ผูกพัน รู้สึกเป็นเจ้าของงานนั้น และอยากจะดูแลมันให้ดีที่สุดน่ะครับ”

การสนทนากันของผมและตงก็ถือว่าใกล้จะจบแล้ว ผมถามเป็นคำถามสุดท้ายว่า จุดมุ่งหมายของ Breton Bicycles ในอนาคตคืออะไร

“เอาแบบจริงๆ หรือเอาแบบหล่อๆ ล่ะ ถ้าเอาแบบหล่อๆ ผมพยายามตั้งใจทำจักรยานที่ละเอียดและมีคุณภาพที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นการยกระดับจักรยานแฮนด์เมดของบ้านเราให้มีคุณภาพสูงขึ้น แบบที่วันหลังคนต่างชาติจะต้องยอมรับในฝีมือการทำจักรยานของเรา และต้องอยากได้จักรยานของเราไปไว้ในครอบครอง แต่ถ้าเอาแบบความเป็นจริงก็คือ อยากให้มีลูกค้ามาเรียนหรือมาตัดจักรยานให้เยอะกว่านี้ก่อนก็พอครับ (หัวเราะ)”

หลังจากคุยกับตงมาทั้งวัน ผมก็รู้สึกว่าโลกของจักรยานแฮนด์เมดมันยิ่งใหญ่และมีรายละเอียดมากมายเยอะกว่าที่ผมเคยคิดเอาไว้ โดยเฉพาะเรื่องความละเอียดและความเนี้ยบในการผลิต

การส่งต่อความตั้งใจในการทำจักรยานเริ่มตั้งแต่ยังเป็นท่อเหล็กจนกลายเป็นจักรยาน 1 คันด้วยฝีมือคนคนเดียว เพื่อให้เราได้ขี่ออกไปเจอโลกเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ช่างเป็นสิ่งที่น่ารักและมีเสน่ห์ จนผมอยากจะไปช่วยเติมข้อความที่ป้ายหน้าห้องเล็กๆ ในตึกแถวตรงปิ่นเกล้านั้นสักนิดนึงว่า Hand and Heart Made Bicycle ร้านจักรยานที่ทำด้วยมือและทำด้วยใจ

จักรยาน

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

นอกจากจะรับทำจักรยานแล้ว Breton Bicycles ยังเปิดสอนให้ผู้สนใจได้มาเรียนทำจักรยานของตัวเองด้วยนะ คนที่มาเรียนจะได้จักรยานกลับบ้านไป 1 คันเช่นเดียวกัน ถ้าสนใจลองติดต่อดูที่นี่เลย

Facebook: Breton Bicyclettes

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan