ช่วงฤดูร้อนในแต่ละปีมีการแข่งขันจักรยานทางไกลอยู่มากมายหลากหลายรายการ

การแข่งขันระดับโลกที่เรารู้จักกันดีอย่าง Tour de France (ตูร์เดอฟรองซ์) ก็จัดในช่วงนี้เช่นกัน แต่ผมไม่ได้มาเล่าเรื่องนี้ ผมจะเล่าเรื่องการแข่งขันจักรยานเส้นทางที่ยาวไกลยิ่งกว่าตูร์เดอฟรองซ์ ไกลจนการแข่งจักรยานอื่นๆ กลายเป็นการแข่งขันแบบเด็กๆ ไปเลย

ผมกำลังพูดถึงการแข่งขันจักรยาน The Red Bull Trans-Siberian Extreme ถือเป็นการแข่งขันจักรยานทางไกลแสนไกล เพราะเริ่มต้นจากเมืองมอสโก ไปสิ้นสุดที่ เมืองวลาดิวอสต็อกในรัสเซีย มีระยะทางรวม 9,000 กิโลเมตร ระยะทางนี้ไกลกว่าการปั่นจักรยานไปกลับกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 6 รอบ หรือไกลกว่า ปั่นจากเชียงใหม่ไปกลับสุไหงโกลก 4 รอบ อย่าว่าแต่ขี่จักรยานเลย แค่คิดว่าจะขับรถก็รู้สึกเมื่อยก้นปวดหลังขึ้นมาแล้ว

ปีที่แล้วมีชายคนหนึ่งเข้าร่วมการแข่งขันนี้

เป็นการแข่งขันทางไกลมากครั้งแรกของเขา และปาฏิหาริย์ไม่ได้เกิดขึ้น เขาขี่ไปได้แค่เพียง 1 ใน 3 ของระยะทางทั้งหมดแล้วเกิดอาการบาดเจ็บทั้งเท้า ทั้งก้น และอีกหลายๆ ส่วนของร่างกาย จนต้องถอนตัวออกจากการแข่งขัน แทนที่จะเข็ดหลาบกับความเจ็บปวดและทรมานจากการขี่จักรยาน เขากลับตั้งเป้าว่าจะกลับมาขี่เส้นทางการแข่งนี้ให้จบให้ได้ในปีหน้า

ผมอยากรู้ว่า อะไรทำให้ชายคนหนึ่งหลงรักการขี่จักรยานที่มากับความเจ็บปวดและทรมานขนาดนั้น

ชายคนทื่ผมเล่าถึงคือ กิ้ว-ปวิณ รุจิเกียรติกำจร อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เขาไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ และเขาเพิ่งขี่จักรยานมาได้ไม่กี่ปีเท่านั้น ก่อนหน้านี้เขาคืออาจารย์ที่มีชีวิตหลังเลิกงานเป็นเจ้าของร้านอาหารและบาร์ในย่านแจ่มจันทร์ ด้วยวิถีชีวิตแบบนี้การออกกำลังกายก็เลยเป็นเรื่องที่เขาไม่รู้จัก

กิ้ว-ปวิณ รุจิเกียรติกำจร

ช่วงปี 2553 น้ำหนักตัวของอาจารย์กิ้วพุ่งสูงถึง 93 กิโลกรัม ทำให้เขาไม่สบายใจและกลัวโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา บังเอิญที่อาจารย์ในภาควิชาเดียวกันมีโครงการสอนเด็กเกี่ยวกับการออกแบบเรื่องสังคมและความยั่งยืน เลยเชิญกลุ่ม Bangkok Bicycle Campaign มาเวิร์กช็อปและพูดเรื่องการขี่จักรยานในเมือง เลยเกิดไอเดียการ bike to work หรือขี่จักรยานมาทำงานขึ้นมาเพื่อการลดความอ้วนเป็นหลัก อาจารย์กิ้วเริ่มต้นเข้าสู่วงการจักรยานด้วยรถจักรยานพับ 1 คัน

เพื่อปั่นจากคอนโดย่านบางรักไปทำงานที่ลาดกระบัง (ระยะทางไปกลับ 64 กิโลเมตร)

“ช่วงแรกๆ นี่โคตรเหนื่อย ปั่นไปถึงคณะ อาบน้ำแล้วมาสอนต่อ พอสอนเสร็จก็ปั่นกลับ เหนื่อยมาก จนกระทั่งเริ่มมีเพื่อนมีก๊วนที่มาชวนเราไปปั่นที่อื่นต่อ ชวนไปปั่นที่ถนนเลียบรันเวย์ ผมก็ เออ เอาสิ สรุปกลายเป็นว่าผมปั่นมาสอน สอนเสร็จก่อนกลับบ้านก็แวะไปปั่นเลียบรันเวย์สัก 2 รอบ แล้วค่อยปั่นกลับบ้าน วันนึงผมปั่นจักรยานเกือบ 100 กิโลฯ เลยนะ โดยปกติที่ถนนเลียบรันเวย์ มีพวกจักรยานเสือหมอบขี่กันเยอะ เราขี่รถพับก็ตามคนอื่นไม่ทัน เลยอยากเปลี่ยนเป็นเสือหมอบ”

หลังจากขี่รถพับไปทำงานเกือบปี อาจารย์กิ้วตัดสินใจเปลี่ยนจักรยานเป็นรถเสือหมอบมือสองราคาหมื่นหน่อยๆ ที่ขายในเว็บไซต์

“วันนึงพบว่าผมใช้จักรยานทั้งพับทั้งหมอบขี่ไปทุกที่โดยไม่ใช้รถยนต์เลย รถยนต์จอดทิ้งไว้เฉยๆ เลยคิดว่าจะผ่อนทำไมวะ รถผมทะเบียนขอนแก่น ผมก็เลยเอารถพับใส่ท้ายรถแล้วขับกลับขอนแก่น พอขายรถเสร็จก็กางรถพับแล้วขี่กลับกรุงเทพฯ ทุกคนที่ได้ข่าวก็เป็นห่วงมาก เพราะเป็นการขี่จักรยานทางไกลคนเดียวครั้งแรกของผม”

การขี่จักรยานครั้งนั้นใช้เวลา 3 วัน และผ่านไปด้วยดี ถือเป็นการเปิดโลกการขี่จักรยานทางไกลให้กับอาจารย์กิ้ว

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งเกิดขึ้นเมื่อเพื่อนสมัยเรียนมัธยมของอาจารย์กิ้วเป็นมะเร็งในตับอ่อนและเสียชีวิต ทั้งที่เป็นคนไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เป็นคนเรียบร้อย เรียนจบเกียรตินิยม เพิ่งแต่งงานและมีลูก ตอนเดินทางไปงานศพเพื่อนที่นั่งรถไปด้วยกันทักขึ้นมาว่า จะรู้สึกยังไงถ้าต้องจากไปกะทันหันแบบนี้โดยที่ยังไม่เคยขี่จักรยานดีๆ ช่วงนั้นทีมจักรยาน Sky ของอังกฤษออกแบบเสื้อผ้านักแข่งและจักรยานใหม่ทั้งหมด เป็นสีดำฟ้าที่เราคุ้นตากัน อาจารย์กิ้วชอบมาก พอเจอเพื่อนทักก็เลยโทรไปสั่งซื้อจักรยานรุ่นเดียวกับนักแข่งกับที่ร้านมาใช้เลย

กิ้ว-ปวิณ รุจิเกียรติกำจร

“เราก็เริ่มสนุกกับการขี่เร็วๆ มากขึ้น แต่เวลาไปขี่กับกลุ่มเพื่อนตามสนามบินก็ยังช้าจนหลุดกลุ่มอยู่ดี” ด้วยความสงสัยและอยากรู้ว่าทำยังไงถึงจะขี่ตามทันเพื่อน อาจารย์กิ้วเลยไปเข้าค่ายเก็บตัวของปีเตอร์ พูลี่ (แชมป์จักรยานภูเขาระดับโลกที่อาศัยอยู่ในไทย) ที่เชียงราย วันแรกปีเตอร์ให้ทุกคนปั่นขึ้นดอยตุง แล้วมาดูกราฟหัวใจหลังจากปั่นเสร็จ อาจารย์กิ้วใช้เวลาสั้นๆ ในค่ายเรียนรู้การทำงานของร่างกายเวลาเหนื่อยจากการขี่จักรยาน เรียนรู้การพักฟื้นและการพัฒนาการขี่จักรยานด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์

อาจารย์กิ้วนำความรู้ใหม่มาทดลองใช้ในการแข่งขันจักรยานเส้นทางพุทธมณฑล-หัวหิน และได้รางวัลแรกในชีวิต เลยเริ่มเข้าใจกลไกการทำงานของร่างกายอย่างจริงจัง หลังจากวันนั้นก็เริ่มลงแข่งมากขึ้นและได้รับรางวัลมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยความที่ อาจารย์กิ้วชอบทีมจักรยาน Sky ก็เลยชื่นชอบแบรนด์เสื้อผ้าจักรยาน Rapha ซึ่งทำชุดแข่งให้กับทีม Sky ตามไปด้วย ทาง Rapha จัดกิจกรรมแข่งจักรยานเสมอๆ อยู่แล้ว รูปแบบก็แตกต่างกันไป จุดเปลี่ยนสำคัญคืองาน Rapha Gentleman Race ที่ฮ่องกงเมื่อปี 2013 เป็นการแข่งแบบทีม ทีมละ 4 คน นับเวลาเข้าเส้นชัยของทุกคนในทีม จะทิ้งกันไว้กลางทางไม่ได้ อาจารย์กิ้วจึงต้องตามหาสมาชิกในทีมให้ครบ 4 คน ซึ่งควรมีทักษะการขี่จักรยานใกล้เคียงกัน เขาจึงได้มารวมทีมกับโป้ง โมเดิร์นด็อก

กิ้ว-ปวิณ รุจิเกียรติกำจร

ด้วยความที่ฮ่องกงมีภูมิประเทศเป็นภูเขาล้วนๆ ทีมของอาจารย์กิ้วจึงตกรอบ เพราะใช้เวลาเกินกว่าที่กำหนด ทำให้เหล่าสมาชิกตั้งใจฝึกซ้อมอย่างจริงจัง ทั้งทางราบและขึ้นเขา  1 ปีถัดมา การแข่งขันรายการเดิมที่ประเทศไต้หวัน ทีมของอาจารย์กิ้วเข้าเส้นชัยเป็นทีมแรก หลังจากวันนั้น อาจารย์กิ้วและเพื่อนๆ ก็เริ่มเดินทางไปแข่งจักรยานตามรายการต่างๆ นอกประเทศบ่อยขึ้น

มีสุภาษิตจีนบอกไว้ว่า ‘ไปคนเดียวไปได้เร็ว แต่ไปหลายคนไปได้ไกล’ กรณีของอาจารย์กิ้ว คงต้องบอกว่า ‘ไปหลายคนไปได้ทั้งไกลทั้งเร็ว’

“วันนึงผมนั่งเล่นโทรศัพท์อยู่ มีข่าวการแข่งขันจักรยานทางไกลที่สุดในโลกโผล่ขึ้นมา เฮ้ย มันเป็นยังไงวะ ก็เลยเข้าไปดู มันคือการแข่งจักรยาน The Red Bull Trans-Siberian Extreme  พออ่านรายละเอียดผมยกหูโทรชวนพี่โป้ง เพราะมีแบบแข่ง 2 คนด้วย ตอนแรกเข้าใจว่าขี่คู่กัน แต่ความจริงคือขี่สลับกันทีละคน แล้วแต่การวางแผนของทีม พี่โป้งสนใจก็เลยสมัครเข้าร่วมงานนี้”

กิ้ว-ปวิณ รุจิเกียรติกำจร

ค่าสมัครรายการนี้แพงมาก 2 คน 25,000 ยูโร หรือ  1 ล้านบาท อาจารย์กิ้วและพี่โป้งจึงต้องหาคนมาช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย ผ่านไป 9 เดือนก็ยังไม่มีสปอนเซอร์รายใดตอบรับ อาจารย์กิ้วเลยส่งอีเมลไปขอยกเลิกการเข้าร่วมกับผู้จัด แต่ 1 เดือนให้หลัง ผู้จัดงานส่งอีเมลกลับมาแจ้งว่า จะให้สิทธิ์ไปแข่งฟรี แต่ให้คนเดียว หลังการปรึกษากัน อาจารย์กิ้วคือคนได้ที่สิทธิ์นั้น

“ผมหาหนังสืออย่าง ultra long distance มาอ่านเพื่อเตรียมตัว ทำให้ผมรู้ว่าการขี่จักรยานเส้นทางไกลขนาดนี้ไม่ใช่การแข่งความเร็ว แต่เป็นการดำรงชีวิตบนจักรยานมากกว่า ทำยังไงให้ร่างกายไม่เจ็บปวดและคงสภาพอยู่ได้จนจบการแข่งขัน ฝึกอดนอนขี่จักรยานเพื่อให้ขี่ได้ทั้งวันทั้งคืนโดยไม่หลับในพับไปซะก่อน”

กิ้ว-ปวิณ รุจิเกียรติกำจร

การแข่งขั้นครั้งนี้ปั่นตามเส้นทางเลียบเส้นทางสายทรานส์ไซบีเรีย เริ่มจากมอสโกไปยังเมืองวลาดิวอสสต็อก ระยะทาง 9,000 กิโลเมตร ระยะเวลา 24 วัน แบ่งเส้นทางออกเป็น 14 การแข่งย่อยๆ หรือ สเตจ แต่ละสเตจมีทั้งแบบหนึ่งวัน วันครึ่ง สองวัน สามวัน แล้วแต่ระยะทางของสเตจ

จุดสำคัญที่สุดของการแข่งคือ ไม่มีการปิดถนน ไม่มีจุดปล่อยตัว และไม่มีเส้นชัยอะไรทั้งนั้น มีแค่รถตู้ 1 คันที่ทางผู้จัดงานเตรียมไว้ให้ดูแลนักแข่งทุกคนซึ่งขับตามอยู่ด้านหลัง นักแข่งต้องดูแลตัวเอง ด้วยระยะทางที่ไกลเราจึงขี่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยบริหารเวลาพักเวลาขี่เอง แต่ละสเตจมี check point กระจายตลอดเส้นทางให้เข้าไปแสตมป์ ถ้าไปที่จุด check point เกินเวลาก็จะถูกตัดสิทธิ์จากสเตจนั้นๆ ถือว่าเป็นการแข่งที่คล้ายกับ Audax Randonneurs มากๆ

การขี่ทั้งวันทั้งคืนแบบนี้ หลายคนคงสงสัยเรื่องอาหารการกิน ได้คำตอบว่าทีมงานทุกคนเคลื่อนที่ด้วยกันตลอดระยะ 9,000 กิโลเมตร ผู้จัดจึงมีทีมเตรียมอาหารเป็นครัวเคลื่อนที่อยู่หน้าสุดของขบวน มีพ่อครัวทำอาหารรอให้เราไปรับ ถ้าเราไปช้าก็จะเรียกรถตู้ของนักแข่งไปรับแทน รถพ่อครัวจะได้เคลื่อนที่ไปยังจุดเตรียมอาหารต่อไป อาหารที่ได้รับมามีทั้งอาหาร ผลไม้ น้ำผลไม้ เกลือแร่ ส่วนห้องน้ำ อยากจะปลดปล่อยตรงไหนก็ทำได้เลย เพราะตลอดทั้งเส้นทางแทบจะไม่เห็นคนเดินอยู่ข้างทางเลย รถยนต์ก็นานๆ จะมีมาสักคันนึง

กิ้ว-ปวิณ รุจิเกียรติกำจร

กิ้ว-ปวิณ รุจิเกียรติกำจร

“พอไปถึงก็เตรียมตัวเข้าสู่การแข่งเลย สเตจแรกระยะทาง 380 กิโลเมตร ผมขี่จบโดยที่ร่างกายยังโอเคทุกอย่าง มันเป็นเส้นทางที่อ้างว้าง เดียวดาย ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ ข้างทางเลย วันที่สองระยะทางขยับมาเป็น 420 กิโลเมตร เริ่มส่งผลให้เราบาดเจ็บ ก้นเป็นแผล ใต้ฝ่าเท้าบวม แต่ก็ยังพอประคองเข้าเส้นชัยได้อยู่

“สเตจที่สามก็ยังเข้าเส้นชัยได้ แต่อาการเจ็บมันเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

“จนไปถึงสเตจที่ห้า เราเจออากาศหนาวมากๆ ของรัสเซียแบบต้องเอาเสื้อกันหนาวมาใส่ ผมเตรียมมาดีเกินไป มันอุ่นจนเหงื่อเราออกด้านใน พอเสียเหงื่อมากๆ แล้วไม่ได้กินเกลือแร่ชดเชยให้เหมาะสม ก็เริ่มเบลอจากการขาดเกลือแร่ ผมก็ปั่นต่อไม่ไหว ต้องเรียกรถตู้ให้ตามหมอมาช่วยดู พอเจอหมอได้กินเกลือแร่และได้พักก็ปั่นต่อไหว มาจนถึงตอนประมาณตี 2 หลังจากปล่อยตัวมาได้ 18 ชั่วโมง ผมก็เจ็บหนักทั้งก้น ทั้งเท้า จนเท้าเริ่มบวม มือก็เริ่มเจ็บ ไม่ไหวแล้ว รู้สึกตัวว่าถ้าลุยต่อก็แย่แน่ๆ ก็ตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งในวันนั้น หมดสิทธิ์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้จบการแข่งขัน แต่วันอื่นๆ ผมก็มาร่วมปั่นต่อนะ พอเจ็บก็หยุดพักขึ้นรถ แล้วมาขี่ต่อในวันถัดไปเรื่อยๆ จนถึงสเตจสุดท้าย”

กิ้ว-ปวิณ รุจิเกียรติกำจร

“จากการขี่ตลอดทั้งรายการทำให้ผมรู้ว่าความน่ากลัวที่สุดของการแข่งทรานส์ไซบีเรียคงเป็นเรื่องความหลากหลายทั้งอากาศ ภูมิประเทศ เส้นทาง นี่แหละ จากการที่ระยะทางมันไกลมากๆ ทำให้เราต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรุนแรงตลอดทั้งเส้นทาง

“อย่างเช่นสมัยเด็กๆ ตอนเรียนภูมิศาสตร์ เราท่องกันว่ารัสเซียเป็นที่ราบกว้างใหญ่ เอาเข้าจริงมันไม่ได้ราบขนาดนั้น เราเจอเส้นทางที่มีความชันน้อยๆ ยาวๆ เป็นระยะทาง 20 – 30 กิโลเมตร แล้วถนนก็มีตั้งแต่เรียบสุดๆ ไปจนถึงเป็นทางวิบาก

“แล้วก็มียุงมีแมลงวันที่ตัวใหญ่มากตามกัดเราตลอด ยิ่งตอนขึ้นเขาที่ความเร็วช้าก็ต้องมาคอยปัดแมลงวัน

“บางเมืองกลางวันก็ร้อนมากๆ พอพระอาทิตย์ตกปุ๊บอากาศก็ร่วงลงไปอยู่ที่ 9 องศา เวลาปั่นลงเขาก็หนาวจนตัวสั่นไปหมด มือชาจับแฮนด์แทบไม่อยู่ พูดได้ว่าเราได้เจอกับความเจ็บปวดอยู่แทบจะตลอดเวลา

“ทำให้เรารู้ว่าเราข้ามขั้นเกินไปจริงๆ”

กิ้ว-ปวิณ รุจิเกียรติกำจร

กิ้ว-ปวิณ รุจิเกียรติกำจร

“ผมคิดว่าจะขอเวลาอีก 2 ปี ขอซ้อมเพื่อเข้าแข่งรายการนี้อีกทีนึง ปกติระยะที่ผมแข่งขันอยู่ในช่วง 100 กิโลเมตรหน่อยๆ ไม่ค่อยมีเกิน 200 กิโลเมตร พอปั่นระยะไปกลับกรุงเทพฯ-หัวหิน 370 กิโลเมตรได้ เราก็มั่นใจ แต่ในโลกของการแข่งระยะทางไกล ระยะ 300 – 500 กิโลเมตรนี่เรียกว่าระยะสั้น 500 – 1,000 กิโลเมตร เป็นระยะกลาง ทำให้เรารู้ว่าศาสตร์การขี่จักรยานระยะทางไกลมากๆ แบบนี้เป็นอีกเรื่องที่ไม่เหมือนขี่แข่งขันความเร็วเลย และน่าสนใจมากๆ ผมก็จะซ้อมปั่นไกลๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ จะได้กลับมาลุยรายการนี้อีกที อาจจะลองปั่นข้ามคืนดูด้วย คราวนี้จะไม่ผิดพลาดแบบเดิมแล้ว”

การแข่งบนเส้นทางในตำนาน แต่เผชิญกับความเจ็บปวดจนต้องถอนตัวออกไป นอกจากเจ็บทางร่างกายแล้วทางใจก็น่าจะหนักไม่แพ้กัน คนส่วนมากรวมทั้งผมก็น่าจะเข็ดขยาดและคงไม่อยากมาร่วมในเส้นทางนี้อีกที ผมถามอาจารย์กิ้วว่าอะไรทำให้แกอยากกลับมาเจอสิ่งเหล่านี้อีก

กิ้ว-ปวิณ รุจิเกียรติกำจร

“ความสนุก จักรยานทางไกลเป็นกีฬาที่แปลกนะ ถ้าเราไม่สนุกก็จะขี่มันไม่ได้เลย แต่ผมสนุกกับมันมากๆ แม้จะขี่คนเดียวก็ยังสนุก วันไหนไม่ได้ขี่ แค่ได้เห็นรถ ได้ลูบได้จับ ได้อ่านเรื่องจักรยานผมก็มีความสุขแล้ว ส่วนความเจ็บปวด ก็เหมือนเวลาคนไปวิ่งมาราธอนที่วิ่งเสร็จก็เจ็บเข่า ปวดขา แต่ถ้าเราทำได้ดีพอก็อาจจะเจ็บไม่มาก พอทนไหว มันเป็นความสุขในชีวิตแบบนึงเหมือนกันนะ พอได้รับแบบนี้เราก็จะรู้ว่าความสุขในชีวิตคืออะไร อย่างในการแข่ง ขี่มาทั้งวันเหนื่อยมาก ทรมานมาก พอจบวัน มานั่งคุยกัน กินข้าวก็มีความสุขดี 

“ผมแค่อยากขี่ให้จบจริงๆ สักครั้งนึงในชีวิต” อาจารย์กิ้วทิ้งท้าย

ตอนที่เรายังเป็นเด็กหัดขี่จักรยานนั้น เราล้มครั้งแล้วครั้งเล่า ความเจ็บปวดจากการล้มหลายต่อหลายครั้งนั้นผลักดันให้เราขี่จักรยานเป็นโดยไม่ล้มอีก เหมือนกับว่าความเจ็บปวดทำให้เราขี่จักรยานเก่งขึ้น

เช่นเดียวกันกับความเจ็บปวดทั้งทางกายและทางใจ ที่อ.กิ้วได้รับเส้นทางนี้เมื่อปีที่แล้ว

ผมเชื่อว่ามันจะผลักดันให้แกได้เข้าสู่เส้นชัยของรายการนี้

ในอีกไม่นาน

กิ้ว-ปวิณ รุจิเกียรติกำจร

ภาพ: The Red Bull Trans-Siberian Extreme 2016

Save

Save

Save

ปีนี้อาจารย์กิ้วขอเก็บตัวไปซ้อมกับเส้นทางอื่นที่มีระยะทางน้อยลงกว่า Trans-Siberian ถ้าไม่ใช่ Trans-continental ที่เป็นอีกเส้นทางในยุโรปก็คงเป้นเส้นทางปั่นวนรอบญี่ปุ่น Japan Odyssey ซึ่งทั้งคู่ต่างก็มีระยะทางใกล้เคียงกัน คือ 5,000 กิโลเมตร เหมือนเป็นการซ้อม เพื่อปีหน้าหรือปีถัดไปจะได้กลับไปแก้มือ Trans-siberian ให้ได้ หวังว่าเราคงจะได้เห็นอาจารย์กิ้วอีกครั้งในรายการนี้

Writer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan