คุณเคยไปเที่ยวอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ไหมครับ
แก่งคอยในสายตาของคนส่วนใหญ่น่าจะเป็นแค่ทางผ่าน เพื่อท่องเที่ยวไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพราะเวลาพูดถึงแก่งคอย จะนึกว่าไม่มีอะไรน่าสนใจ มีแต่เขม่าควันจากโรงปูนซีเมนต์ โรงงานอุตสาหกรรมหลายสิบแห่ง หากไม่มีธุระ ก็ไม่อยากเข้าไปแวะเวียน
แต่อันที่จริง แก่งคอยในอดีตคือสถานที่มีอากาศบริสุทธิ์สดชื่น ใกล้กรุงเทพมหานครมากที่สุด จนทำให้คนเมืองกรุงหลายคนนิยมมาสร้างบ้านพักตากอากาศไว้เป็นที่พักผ่อนของครอบครัว
บริเวณนี้มีแก่งมากมาย และชื่อ ‘แก่งคอย’ ก็มีที่มาจากการที่คนสมัยก่อนต้องมาคอยเรือ เพื่อเดินทางทวนน้ำขึ้นไปเมืองโคราชหรือเมืองเพชรบูรณ์ตามแก่งเหล่านี้ จึงเรียกว่า แก่งคอย มีธรรมชาติงดงามด้วยป่าใหญ่ ภูเขาหินปูน และแม่น้ำป่าสัก
บรรยากาศงดงาม ถึงขนาด แอ๊ด คาราบาว ได้แต่งเพลง ‘แร้งคอย’ บรรยายสภาพของแก่งคอยว่า
“ณ ที่สายฝนกระทบหน้าผา
แว่วสกุณาบินมาร้องเพลง
ขับกล่อมกันเองชีวิตพงไพร
ใครเล่าเข้าใจชีวิตบรรเลง
ช่างเหมือนสายน้ำทอดยาวสุดตา
เหมือนทิวเทือกผาท้าทายแดดลม
นุ่งห่มผืนฟ้าทุ่งนาแก่งคอย
หัวใจพี่คอยน้องอยู่ที่แก่ง…”


แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่ง เมื่อหลายสิบปีก่อน รัฐบาลได้ประกาศให้แก่งคอยเป็นแหล่งผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศ ด้วยเล็งเห็นแหล่งทรัพยากรสำคัญในพื้นที่คือภูเขาหินปูนที่มีอยู่มากมาย จากนั้นเป็นต้นมา แก่งคอยก็ได้กลายเป็นเมืองหลวงของปูนซีเมนต์ มีการผลิตปูนมากที่สุดในประเทศ ผลิตปูนไปได้อีกร่วมร้อยปีกว่าจะระเบิดภูเขาหมด
ภูเขาหินปูนที่บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งได้สัมปทานไปถูกระเบิดไปลูกแล้วลูกเล่า เพื่อแปรเปลี่ยนเป็นปูนซีเมนต์ปีละมากกว่า 30 ล้านตัน ทำให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตสูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม จากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการก่อสร้าง จึงถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจในประเทศ
เท่านั้นยังไม่พอ แก่งคอยยังได้รับเกียรติจากรัฐบาลให้เป็นแหล่งรองรับการลงทุนจากต่างชาติ ส่งผลให้ทุกวันนี้แก่งคอยมีโรงงานอุตสาหกรรมเกือบ 200 แห่ง แห่ง อาทิ โรงงานปิโตรเคมี โรงงานฆ่าชำแหละสัตว์ปีก โรงงานผลิตน้ำเชื่อม โรงงานผลิตเส้นใยสังเคราะห์ โรงงานผลิตเส้นด้ายไหม โรงงานผลิตสารเคมี โรงงานใยไม้อัด โรงงานผลิตแอลกอฮอล์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ
และของแถมจากการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่ว่า คือมลภาวะอากาศที่เลวร้ายสุดขีด แก่งคอยซึ่งเคยได้ชื่อว่ามีอากาศดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ กลายเป็นดินแดนแห่งมลพิษสารพัด จากฝุ่นผงจากการระเบิดเขาหินปูน เขม่าควันพิษจากโรงงานและโรงไฟฟ้าถ่านหิน มลภาวะทางน้ำจากน้ำเสียที่โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ปล่อยออกมา ยังไม่รวมกลิ่นเหม็นจากบ่อฝังกลบขยะ ฯลฯ จนทำให้ชาวแก่งคอยมีคนเป็นโรคทางเดินหายใจสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ

ทุกวันนี้ภูเขาหินปูนเกือบทั้งหมดในอำเภอแก่งคอย แทบจะเรียกว่าถูกจับจองหรือได้สัมปทานจากโรงงานปูนซีเมนต์ รอวันเวลาที่จะถูกระเบิดให้เป็นผงปูน แต่ไม่น่าเชื่อว่า มีภูเขาหินปูนกลุ่มหนึ่งรอดพ้นจากสัมปทานได้สำเร็จ ชื่อว่าเขาพระพุทธบาทน้อย-เขาขมิ้น
วันที่ฝนตกพรำ ๆ กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้เขียนเห็นภูเขาหินปูนลูกนี้แต่ไกล เป็นทิวเขายาวกลางหมอกราวกับภาพฝัน
เรามีนัดกับชาวบ้านชุมชนเขาพระพุทธบาทน้อย เพื่อปีนขึ้นยอดภูเขาหินปูนลูกนี้
ระบบนิเวศเขาหินปูนมีลักษณะเฉพาะตัวสูงมาก สิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่พบเจอบริเวณนั้น หลายชนิดอาจมีแห่งเดียวในโลก น่าเสียดายว่ามีการระเบิดเขาหินปูนไปมากมาย จนแทบจะไม่เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังเลย
จากการศึกษาพบว่าภูเขาหินปูนมีเพียงร้อยละ 5 ของพื้นที่ภูเขาในประเทศ แต่พบสัตว์และพืชถิ่นเดียว (Endemic Species) ต่อพื้นที่สูงมาก และร้อยละ 25 ของระบบนิเวศเขาหินปูนอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ป่า ที่เหลือร้อยละ 75 อยู่นอกเขตอนุรักษ์ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำลายเป็นอย่างมาก

ที่เขาพระพุทธบาทน้อย เดินขึ้นไปไม่นาน เราได้ยินเสียงและเห็นนกจู๋เต้นเขาหินปูนสระบุรี นกประจำถิ่นที่ทั่วโลกพบเฉพาะในจังหวัดสระบุรีเท่านั้น เป็นนกที่หากินตามพุ่มไม้ ก้อนหิน บินไม่สูง กำลังบินหากินหนอนและแมลง สำหรับหลายคน นกจู๋เต้นฯ อาจมีรูปร่างสีสันไม่สวยงาม สำหรับเราแล้ว ตื่นเต้นมาก เพราะมันเป็นนกที่พบที่เดียวในโลกบริเวณเขาหินปูนแถบนี้เท่านั้น แต่ประชากรลดลงจากการที่ถิ่นอาศัยถูกทำลาย เนื่องจากยังคงมีการสัมปทานระเบิดเขาหินปูนเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ เป็นเหตุให้นกที่มีการกระจายพันธุ์แคบ จัดเป็นชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ยิ่งเดินสูงขึ้นไป ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น นอกจากความลื่น ความชันแล้ว ความคมของหินปูนทำให้ต้องมีสติในการปีนป่ายไปทุกฝีก้าว แต่ก็คุ้มค่ากับสิ่งที่รอคอย เมื่อเดินถึงยอดเขาหินปูน ต้นปรงยักษ์ Cycad พืชดึกดำบรรพ์อายุรุ่นเดียวกับไดโนเสาร์เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน ปรากฏอยู่เบื้องหน้า
เราอาจจะเคยเห็นต้นปรงมาหลายครั้ง มีลำต้นคล้ายมะพร้าวแคระ แต่ใบคล้ายปาล์ม เป็นพืชที่เจริญเติบโตช้ามาก แต่ไม่เคยเห็นต้นปรงขนาดใหญ่ 2 คนโอบมาก่อน ความสูงเกิน 5 เมตร คงมีอายุยาวนานกว่า 300 ปี น่าจะเป็นปรงที่เก่าแก่ที่สุดต้นหนึ่งในประเทศ

บริเวณนี้มีต้นปรงมากมาย และยังมีต้นจันผา จันแดง ต้นชาฤาษี พืชเฉพาะถิ่นออกดอกบานสะพรั่งที่หายากมาก ๆ แต่ปรงยักษ์ต้นนี้หลุดพ้นจากการถูกทำลาย ไม่ว่าจากการสัมปทานเขาหินปูน หรือพวกลักลอบตัดต้นปรงไปขาย ขณะที่ทุกวันนี้ปรงในป่าธรรมชาติของไทยกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก จากขบวนการลักลอบขุดต้นปรงป่าออกมาจำหน่ายเป็นไม้ประดับ โดยพ่อค้าและนายทุนให้ราคาแพง เป็นแรงดึงดูดใจชาวบ้านให้เข้าไปลักลอบขุดออกมาขายมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนประชากรปรงในพื้นที่ป่าธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ภายหลังจึงถูกจัดให้เป็นพืชอนุรักษ์ในบัญชีไซเตส (CITES)
ต้นปรงยักษ์ ต้นไม้หายากบนภูเขานี้ยังอยู่รอดปลอดภัย ไม่ใช่จากโชคช่วยใด ๆ แต่มาจากความต้องการของชาวบ้านเขาพระพุทธบาทน้อยที่รวมตัวป้องกันภูเขาหินปูนและป่าบริเวณนั้นร่วม 6,000 ไร่ มาเป็นเวลา 30 กว่าปี
บนยอดเขาหินปูนนี้ มองออกไปรอบ ๆ ดูคล้ายเกาะขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยชุมชนเขาพระพุทธบาท พวกชาวบ้านคอยปกป้องภูเขาแห่งนี้ ต่างไปจากเขาหินปูนลูกอื่น ๆ ในแก่งคอยที่ถูกระเบิดหายไปทีละลูก ๆ ทั้งหมด

หลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมาในอดีต โรงงานหลายแห่งพยายามที่จะเข้ามาทำสัมปทานเหมืองหินปูนในบริเวณนี้ ด้วยการให้ค่าตอบแทนหลายสิบล้านบาทกับผู้นำชุมชน แต่กำนันและผู้นำชุมชนหลายรุ่นไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ ไม่อยากให้สภาพชุมชนต้องประสบเคราะห์กรรมเหมือนชุมชนอื่นในแก่งคอย จากมลภาวะต่าง ๆ และพวกเขายังร่วมแรงร่วมใจกันจัดตั้งป่าชุมชนเขาพระพุทธบาทน้อย-เขาขมิ้น ขึ้นมา จัดเวรยามดูแลภูเขา เพื่อตั้งรับกับนายทุนที่ทำท่าว่าจะไม่เลิกราจนถึงปัจจุบัน และรวมถึงบรรดาคนที่จะขึ้นมาลักลอบตัดต้นปรง ต้นจันแดง จันผา และพืชหายากชนิดอื่น ๆ ด้วย
คืนนั้น ชาวบ้านพาเราไปส่องไฟตามผนังถ้ำหินปูน ตามหาสัตว์ชนิดเดียวที่มีในโลกบริเวณสระบุรี หลังจากส่องไฟอยู่นาน ก็พบแล้ว คือ ตุ๊กกายถ้ำหางขาว (Saraburi Cave Gecko) สัตว์ถิ่นเดียวที่อาศัยอยู่ตามผนังถ้ำในเขาหินปูนบริเวณนี้ ตุ๊กกาย คนมักเข้าใจผิดว่าคือชนิดเดียวกับตุ๊กแก แต่ไม่ใช่
ตุ๊กกาย มีลักษณะสำคัญคือ มีนิ้วเท้าและเล็บแหลมยาว ไม่มีปุ่มดูด จึงยึดติดเกาะผนังไม่ได้เหมือนจิ้งจกและตุ๊กแก ใช้ได้เพียงแค่ปีนป่ายเหมือนกิ้งก่าเท่านั้น
ตุ๊กกายถ้ำหางขาว มีสีสันสวยงามและหางขาวสนิท ตัวเล็กกว่าตุ๊กแก แต่ดูเหมือนอนาคตค่อนข้างมืดมน เพราะบ้านของพวกเขากำลังถูกระเบิดเพื่อมาทำบ้านของมนุษย์

วันรุ่งขึ้น เราปีนขึ้นมาบนเขาขมิ้น ภูเขาหินปูนอีกลูกบริเวณนั้นเพื่อตามหาเลียงผา และได้พบร่องรอยขี้จำนวนมากของเลียงผา เป็นเครื่องยืนยันว่าบริเวณนี้มีสัตว์ป่าสงวนของไทยอาศัยอยู่หลายสิบตัว ขัดแย้งกับข้อมูลของทางการที่บอกว่า สระบุรีไม่มีเลียงผา สัตว์ป่าสงวนของไทย หรือแม้แต่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ของบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ระบุว่า จังหวัดสระบุรีสำรวจไม่พบเลียงผา ไม่พบพืชหายาก ไม่พบตุ๊กกายถ้ำหางขาว ไม่พบนกจู๋เต้นสระบุรี สิ่งมีชีวิตทั้งหมดนี้ มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
บนยอดเขาขมิ้นแห่งนี้ เห็นความงดงามของภูเขาหินปูนสีขาวขึ้นสลับกับสีเขียวของต้นไม้น้อยใหญ่ เป็นภาพประทับใจ แต่อีกด้านหนึ่ง เราเห็นโรงงานโม่หินประชิดเข้ามา เสียงเครื่องจักรทำงานดังสนั่นตลอด ไกลออกไป เห็นโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่เด่นชัดเจน เดินเครื่องพร้อมปลดปล่อยควันเขม่าออกมาเป็นระยะ
เครื่องจักรทำลายภูเขาหินปูนกำลังคืบคลานเข้ามาเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ยังมีความพยายามจากกลุ่มนายทุนหลายกลุ่มที่ปรารถนาจะครอบครองเป็นเจ้าของสัมปทานภูเขาหินปูนเหล่านี้ เพียงแต่รอคอยเวลา และโอกาสเท่านั้น
