หากพูดถึงสิ่งของที่สาวๆ ต้านทานแรงดึงดูดไม่ไหว เครื่องเขียนน่าจะอยู่อันดับต้นๆ เราเองเป็นหนึ่งในนั้น จะปล่อยอยู่ในร้านเครื่องเขียนทั้งวันก็ยังไหว 

เพราะมีนัดกับเจ้าของร้านขายดินสอในวันรุ่งขึ้น เราจึงใช้เวลาคืนก่อนหน้าจัดแจงกระเป๋าดินสอของตัวเองใหม่ โดยไม่พลาดหยิบดินสอแท่งโปรดไปนั่งคุยเก๋ๆ กับเจ้าของร้าน

เรายืนอยู่ที่ร้าน CW Pencil Enterprise ในย่านไชน่าทาวน์ของเมืองแมนฮัตตัน ในกระเป๋ามีไอแพดและแอปเปิ้ลเพนซิล 

CW Pencil Enterprise ร้านดินสอร้านแรกและร้านเดียวในนิวยอร์กที่คนรักดินสอทั่วโลกไม่ควรพลาด

ในร้านขนาด 1 คูหาเล็กๆ บ่ายนี้เต็มไปด้วยลูกค้าแน่นร้าน บางคนกำลังยืนเลือกดินสอ บางคนกำลังทดลองกบเหลา บางคนถือตะกร้าที่มีดินสออยู่แน่น แล้วสายตาเราหยุดอยู่ที่ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีรอยสักรูปดินสออยู่ที่แขนด้านใน 

เรายิ้มให้และกล่าวทักทายกัน หญิงสาวเจ้าของรอยสักนั้นคือ Caroline Weaver ผู้ก่อตั้งร้าน CW Pencil Enterprise นั่นเอง 

Caroline Weaver ผู้ก่อตั้งร้าน

ดินสอแท่งที่หนึ่ง 

แคโรไลน์เติบโตที่เมืองเล็กๆ ในรัฐโอไฮโอ ครอบครัวของเธอทำงานสายความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เธอเติบโตมากับอุปกรณ์ศิลปะเเละเครื่องเขียน เธอได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของดินสอตั้งแต่เด็ก ค่อยๆ สะสมความชอบจนกลายมาเป็นความหลงใหล พอเข้ามหาลัย เธอเริ่มคิดถึงชีวิตทำงานและชีวิตหลังเกษียณ มุกตลกที่เธอชอบเล่นกับตัวเอง และเพื่อนๆ ชอบล้อเธออยู่บ่อยๆ คือ วันหนึ่งเธอจะเป็นคุณป้านั่งอยู่ในร้านขายดินสอหลังเกษียณ 

หลังเรียนจบ เธอย้ายมาอยู่นิวยอร์ก โดยไม่คาดคิดว่ามุกตลกภาพคุณป้าในร้านขายดินสอกำลังจะกลายเป็นความจริง 

ปี 2014 แคโรไลน์เริ่มจากเปิดเว็บไซต์ขายดินสอออนไลน์เป็นงานอดิเรก เธอพบว่าความยุ่งยากของระบบออนไลน์คือการจัดการข้อมูล อธิบายที่มารายละเอียดของดินสอ แถมยังไม่มีที่ให้ลองจับหรือลองเขียน บวกกับในช่วงนั้นนิวยอร์กยังไม่มีร้านที่ขายเฉพาะดินสออย่างเดียว ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีร้านอื่นนอกจากร้านของเธอนะ

จากความชอบและความเชื่อว่าน่าจะมีคนที่ชอบอะไรแบบนี้เหมือนกัน เธอจึงตัดสินใจเปิดร้านขายดินสอ โดยร้านแรกเป็นร้านเล็กๆ ขนาด 200 ตารางฟุตในย่านบรู๊กลิน 

CW Pencil Enterprise ร้านดินสอร้านแรกและร้านเดียวในนิวยอร์กที่คนรักดินสอทั่วโลกไม่ควรพลาด

ร้านดินสอจากความชอบและความกล้า ที่เจ้าตัวนิยามว่าความบ้า

ตอนนั้นเธออายุ 24 เรียนจบด้านการออกแบบ ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเลย เธอเริ่มต้นด้วยความชอบในดินสอและคิดว่านิวยอร์กน่าจะต้องการร้านที่ขายเฉพาะดินสอบ้างสิ เธอลุยเลยโดยไม่มีการสำรวจตลาดใดๆ มีเพียงความรักในดินสอเป็นเข็มทิศนำทาง ด้วยความที่ไม่ได้มีพื้นฐานด้านการทำธุรกิจมาก่อน ความท้าทายในช่วงแรกๆ จึงเป็นการเรียนรู้ระบบธุรกิจและการพยายามเพิ่มยอดขาย 

เธอเล่าว่าช่วงแรกเธอส่งอีเมลจำนวนมากไปหาบริษัทดินสอ เพื่อจะซื้อสินค้ามาขาย ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็ยังแปลกใจว่าเธอจะเปิดร้านจริงเหรอ การจัดระบบสต็อก ทำเรื่องจ้างพนักงาน เสียภาษี ล้วนเป็นเรื่องที่เธอต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด แต่หลังจากนั้น เธอก็สนุกและทำมันมาเรื่อยๆ 

ปัจจุบันร้านของเธอขยับขยายมาเป็นห้องแถวขนาดใหญ่ขึ้น มีพื้นที่สำหรับห้องทำงาน โชว์รูมสติกเกอร์ และสต็อก และปัจจุบันมีพนักงาน 6 คนแล้ว

เธอกล่าวว่า ถ้าเป็นตอนนี้ซึ่งเธอเริ่มเรียนรู้อะไรมากขึ้นแล้ว คงยากเกินไปที่จะกล้าหาญทำอะไรแบบนั้นอีก แต่เธอก็ดีใจที่ตอนนั้นตัดสินใจเปิดร้านนี้ 

CW Pencil Enterprise ร้านดินสอร้านแรกและร้านเดียวในนิวยอร์กที่คนรักดินสอทั่วโลกไม่ควรพลาด
CW Pencil Enterprise ร้านดินสอร้านแรกและร้านเดียวในนิวยอร์กที่คนรักดินสอทั่วโลกไม่ควรพลาด

ดินสอของนักดนตรี ช่างไม้ คนรักครอสเวิร์ด และอื่นๆ

“ความนิยมของดินสอในปัจจุบันแตกต่างกับตอนที่คุณเริ่มเปิดร้านอย่างไรบ้าง” เราถาม

“ความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะ ที่นิยมใช้ดินสออยู่เพราะเขาคุ้นเคย บางคนชอบเพื่อเขียนบันทึก วาดรูป เป็นกิจกรรมที่ทำให้ได้พักจากหน้าจอโทรศัพท์ บางคนรู้สึกว่ามันให้ความรู้สึกนึกถึงความหลัง ซึ่งกลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะดินสอเป็นสิ่งที่นำความสุขเล็กๆ มาให้ เป็นของแอนะล็อกที่คนกำลังฮิตและโหยหา” แคโรไลน์เล่า

เราตื่นเต้นเมื่อได้รู้ว่ากลุ่มลูกค้าหลักของ CW Pencil Enterprise คือ นักดนตรี เพราะพวกเขาชอบเขียนเพลงและโน้ตบนกระดาษด้วยดินสอ 

“กลุ่มใหญ่สุดคือ Orchestral Librarian กลุ่มนี้เขาใช้ดินสอทุกวัน นอกนั้นก็มีช่างไม้ ศิลปิน ครอบครัว นักท่องเที่ยว นักเรียน คนที่ชอบเล่นครอสเวิร์ดก็มาตามหาดินสอที่เหมาะกับการเขียน ลูกค้าหลากหลายมาก สิ่งที่ฉันชอบคือลูกค้าทุกคนมักจะน่ารัก จะไม่มีแนวคุณพ่อขี้โมโหเดินเข้าร้านมาซื้อดินสอแน่ๆ” 

CW Pencil Enterprise ร้านดินสอร้านแรกและร้านเดียวในนิวยอร์กที่คนรักดินสอทั่วโลกไม่ควรพลาด

การออกเดินทางเพื่อเสาะหาดินสอคุณภาพดีจากทั่วโลก

แคโรไลน์เล่าเกณฑ์การเลือกดินสอเข้ามาขายที่ร้านให้ฟังว่า เธอเลือกจากความน่าสนใจของตัวดินสอและคุณภาพ ไม่ใช่แค่เพียงสินค้าที่เธอชอบ แต่คิดถึงคุณภาพและสรรหาความหลากหลายมาให้ลูกค้า

“ฉันเริ่มจากแบรนด์ที่รู้จัก ตอนแรกคนก็งงว่าฉันพยายามจะทำอะไร ฉันส่งอีเมลไปตามแบรนด์ต่างๆ เยอะมาก ปัจจุบันใช้วิธีเดินทางและสำรวจมากขึ้น ตอนนี้มันง่ายขึ้นมาก เพราะร้านกลายเป็นที่รู้จัก มักมีคนมาบอกฉันถ้ามีสินค้าอันไหนที่น่าสนใจ หรือแบรนด์มีของใหม่ก็จะอีเมลมาบอกหรือส่งมาให้ มีบางอันที่ไม่ใช่แบบที่ฉันชอบ แต่เลือกมาเพราะลูกค้าถามหาบ่อย เราไม่มีพื้นที่พอจะขายดินสอทุกแบบที่ดีบนโลกนี้ได้ มันขึ้นอยู่กับลูกค้าของเรา เราต้องรู้จักลูกค้าของเราว่าเขาต้องการอะไร และเราคิดว่าเขาน่าจะต้องการอะไร เลือกอะไรที่จะเหมาะกับเขา” แคโรไลน์เล่า

“ดินสอของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันยังไงบ้าง” เราถาม

CW Pencil Enterprise ร้านดินสอร้านแรกและร้านเดียวในนิวยอร์กที่คนรักดินสอทั่วโลกไม่ควรพลาด

“ดินสอจากเยอรมันจะเป็นแบบดั้งเดิม เพราะเยอรมันเป็นประเทศแรกที่ผลิตดินสอแบบอุตสาหกรรมเพื่อการค้า แล้ววิธีผลิตของเขาก็ไม่เคยเปลี่ยนเลยจากตอนนั้น ขณะที่ดินสอจากญี่ปุ่นจะมีคุณภาพสูงมากและมักมีลูกเล่นแปลกๆ อยู่ข้างใน เช่น ใส่แว็กซ์ มีความซับซ้อนและละเอียดในการออกแบบมากๆ 

“มีความแตกต่างระหว่างแบรนด์ที่เป็นโรงงานผลิตดินสอ กับแบรนด์ดีไซเนอร์เล็กๆ ที่หยิบดินสอมาเป็นงานออกแบบ ถ้าเป็นแบรนด์ดีไซเนอร์เล็กๆ เขาจะคำนึงถึงดีไซน์หรือรูปร่างหน้าตามากกว่า แล้วค่อยไปสั่งให้โรงงานผลิตตามแบบนั้น แบรนด์ที่เป็นโรงงานจะผลิตแบบหน้าตาเหมือนเดิม แต่รักษาคุณภาพมาตรฐานได้ดี ทุกยี่ห้อมีคาแรกเตอร์เฉพาะของตัวเอง บางอัน Butterly บางอันสีอ่อน บางอันสีเข้ม มีรายละเอียดเล็กๆ ต่างกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ ดินสอและขั้นตอนการผลิตดินสอแทบไม่เปลี่ยนเลยตั้งแต่มันเกิดขึ้นมานานหลายร้อยปีแล้ว” 

นอกจากดินสอ ที่นี่ยังมีสินค้าอื่นๆ อีกด้วย เช่น กระดาษ สมุด กบเหลาดินสอ ยางลบ 

CW Pencil Enterprise ร้านดินสอร้านแรกและร้านเดียวในนิวยอร์กที่คนรักดินสอทั่วโลกไม่ควรพลาด
CW Pencil Enterprise ร้านดินสอร้านแรกและร้านเดียวในนิวยอร์กที่คนรักดินสอทั่วโลกไม่ควรพลาด

“เริ่มจากดินสอต้องการกระดาษ เราก็เอาเข้ามาที่ร้าน แล้วก็มีของเพิ่มมาเรื่อยๆ สมุด กบเหลาดินสอ ยางลบ ตอนนี้มีห้องสติกเกอร์เพราะเป็นความชอบของฉันเอง ฉันฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากมีที่ที่เดินเข้าไปแล้วมีสติกเกอร์ให้เลือกเต็มไปหมด แล้วที่นิวยอร์กไม่ค่อยมีที่แบบนั้น ฉันว่านี่แหละคือสิ่งที่นิวยอร์กต้องการ พอย้ายมาร้านนี้ มีพื้นที่มากขึ้นเลยทำห้องสติกเกอร์ ซึ่งผลตอบรับดีมาก ไม่เคยมีใครแปลกใจเลยที่เจอห้องสติกเกอร์ในร้านดินสอ อาจเพราะสติกเกอร์เป็นอีกอย่างที่ให้ความรู้สึกนึกถึงวัยเด็กสำหรับผู้ใหญ่ ทุกคนชอบ” 

ใช่! เราพยักหน้าเห็นด้วยเป็นที่สุด

“ไม้กายสิทธิ์เป็นผู้เลือกพ่อมดนะ คุณพอตเตอร์”

ก่อนมาที่นี่ มีคนบอกว่าที่นี่เหมือนร้านไม้กายสิทธิ์ของโอลลิแวนเดอร์ ในหนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เลือกดินสอให้ลูกค้าตรงตามการใช้งานสุดๆ เราจึงไม่พลาดที่จะถามเคล็ดลับจากเธอ 

“เราเพียงแนะนำตามการใช้งาน ส่วนมากลูกค้ามีความต้องการในใจมาอยู่แล้ว เช่น ชอบแบบนิ่ม แบบเขียนลื่น ดินสอสำหรับเด็กหัดเขียน หรือเขียนบ่อยแค่ไหน ถ้าต้องเขียนอะไรนานๆ ดินสอแท่งใหญ่ทำให้สบายมือในการเขียนมากกว่า ฉันจะเลือกอันนี้ให้ รายละเอียดที่สำคัญคือ ความถนัด ซ้าย-ขวา เพราะสำหรับลูกค้าที่ถนัดซ้าย เวลาเขียนมือเขาจะลากผ่านสิ่งที่เขียนไปแล้ว ฉันจะแนะนำดินสอที่ไส้มีความแข็งกว่า เพื่อลดรอยเปื้อนเวลามือไถไปโดน มีคนเชื่อว่า คนถนัดซ้ายไม่ใช้ดินสอ นั่นเป็นความเชื่อผิดๆ เขาแค่ต้องการดินสอที่เหมาะกับเขาเท่านั้นเอง” แค่ได้ฟังก็ทำให้เราอยากลุกขึ้นไปลองดินสอทั้งหมดในร้านทันที

CW Pencil Enterprise ร้านดินสอร้านแรกและร้านเดียวในนิวยอร์กที่คนรักดินสอทั่วโลกไม่ควรพลาด

“ฟังดูใช้ความเชี่ยวชาญเรื่องดินสอไม่น้อย แล้วคุณมีวิธีการเลือกลูกทีมอย่างไร” เราถาม

“ฉันไม่ค่อยสนใจว่าคนนั้นมีประสบการณ์ด้านการขายหรือไม่ ฉันเลือกคนที่คุยด้วยแล้วรู้สึกว่าจะทำงานร่วมกันได้ อาจไม่มีแพสชันที่ตรงกัน แต่มีใจที่อยากทำงาน แล้วรู้สึกเคมีเข้ากัน ที่สำคัญคือมีความสนใจในเครื่องเขียนและประวัติศาสตร์ของสิ่งต่างๆ ฉันเชื่อว่าเรื่องอื่นสอนกันได้ ฉันสอนพนักงานทุกคนให้รู้ทุกอย่างในร้านเท่าที่ฉันรู้” แคโรไลน์ตอบ

ร้านเครื่องเขียนและประวัติศาสตร์ของสิ่งต่างๆ

“ในวันนี้ อะไรคือความท้าทายของการเปิดร้าน” เราถาม

“การรักษายอดขายและการจัดการกับความคาดหวัง หาสินค้าและเรื่องราวใหม่ๆ มาเพิ่มในร้าน รวมทั้งแบ่งเวลาจากการทำสต็อกมาพัฒนาร้าน” แคโรไลน์ตอบ ก่อนเสริมว่าเธอชอบร้านนี้มากจนไม่คิดอยากขยายสาขา

“ฉันไม่คิดขยายสาขาเลย ฉันชอบร้านนี้ อยากเดินเข้ามาในร้านแล้วได้ดูแลลูกค้าทุกคนด้วยตัวเอง ได้คุย ได้รู้จักความชอบของลูกค้า และมีเวลาทำอย่างอื่น ถ้าอยากจะขยายก็อาจจะขยายร้านนี้ให้มีส่วนขายเครื่องเขียนอื่นๆ มากขึ้น สิ่งที่ฉันสนใจคือ กาว ถ้าคุณสังเกตดีๆ กาวแต่ละประเทศมีลักษณะเฉพาะตัวต่างกัน เหมาะแก่การใช้งานต่างกัน มีรายละเอียดที่สนุก นอกจากนั้นฉันอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ร้าน ออกแบบดินสอหรือร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ มากขึ้น” เธอแนะนำ กาวกินได้ (ปลอดสารเคมี) กลิ่นอัลมอนด์ที่นำเข้ามาจากอิตาลี 

ก่อนจากกัน เราถามเธอว่าถ้าให้พูดถึง 1 สิ่ง อะไรคือสิ่งที่น่าหลงใหลที่สุดของดินสอ

ร้านดินสอร้านแรกและร้านเดียวในนิวยอร์กที่คนรักดินสอทั่วโลกไม่ควรพลาด

“ความคลาสสิกของดินสอ คือมันมีประวัติมายาวนาน แต่ดีไซน์ของมันแทบไม่เปลี่ยนเลย เหมือนเป็นอุปกรณ์ที่มนุษย์ค้นพบจุดสูงสุดในการออกแบบเพื่อตอบสนองฟังก์ชันที่ต้องการแล้ว”

เราฟังเธอแล้วยิ้ม นึกถึงแอปเปิ้ลเพนซิลในกระเป๋า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไป หรือเทคโนโลยีจะก้าวไปแค่ไหน เราต่างยังคงหลงรักในฟังก์ชันของการได้จับดินสอเพื่อขีดเขียนมากกว่าการสไลด์นิ้ว

ปัจจุบัน CW Pencil Enterprise กลายเป็นร้านดินสอร้านแรกและร้านเดียวในนิวยอร์กที่บริษัทดินสอต่างส่งอีเมลมาเพื่อขอวางผลิตภัณฑ์ในร้านของเธอ และเป็นจุดหมายของคนรักดินสอจากทั่วโลก

CW Pencil Enterprise

cwpencils.com

คำว่า Pencil มีรากมาจากภาษาละติน ว่า Penicillus แปลว่า หางเล็กๆ ใช้เรียกพู่กันขนอูฐซึ่งเป็นอุปกรณ์วาดเขียนของชาวโรมันโบราณ (ยุคแรกเลยก่อน Stylus) และ แร่แกรไฟต์ ตั้งชื่อตามคำภาษากรีก แปลว่า สำหรับเขียน 

ดินสอไส้แกรไฟต์คิดขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1564 หลังมีการค้นพบเหมืองแกรไฟต์ขนาดใหญ่ที่ประเทศอังกฤษ โดยตอนนั้นคนเข้าใจว่าแกรไฟต์คือตะกั่ว คนอังกฤษนำแกรไฟต์มาทำเป็นเส้นเล็กๆ แล้วใส่ลงไปตรงกลางของแท่งไม้ที่เหลาด้วยมือ อังกฤษเป็นผู้ผลิตรายเดียวในอุตสาหกรรมในช่วงนั้นเพราะไม่มีใครมีเหมืองและรู้วิธีทำ 

ต่อมาโรงงานเยอรมันเริ่มคิดวิธีทำแท่งแกรไฟต์ได้โดยใช้ผงแกรไฟต์ กำมะถัน และพลวง ความนิยมเริ่มแพร่หลาย แต่ด้วยการเมืองสมัยสงครามนโปเลียน ดินสอจากอังกฤษและเยอรมันไม่สามารถเผยแพร่ในประเทศฝรั่งเศสได้ ค.ศ. 1795 ทหารผู้ช่วยในกองทัพของนโปเลียน ค้นพบวิธีเผาผงแกรไฟต์ร่วมกับดิน ทำให้เกิดเป็นแท่งแกรไฟต์สำหรับใส่ในดินสอ และสัดส่วนของแกรไฟต์กับดินที่ต่างกันทำให้เกิดความอ่อนนิ่มที่ต่างกัน ซึ่งเป็นสูตรความอ่อนเข้มของดินสอในปัจจุบัน

Writer & Photographer

Avatar

ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

บัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังศึกษาต่อสาขา design for social innovation ที่สถาบัน School of Visual Art ในนิวยอร์ก สนใจงานศิลปะ และการออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องงานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสังคม