“มาเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ก่อนผ่าตัดใหญ่”

ผู้ร่วมทริป Walk with The Cloud 25 : The Custom House คนหนึ่งเล่าความรู้สึก ก่อนเราทั้งหมดเข้าไปสำรวจโรงภาษีร้อยชักสามเป็นครั้งสุดท้าย ช่างเป็นประโยคที่แทนใจผู้คนที่ร่ำลาอาลัย ‘ศุลกสถาน’ ได้เป็นอย่างดี

โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึก ศุลกสถาน อายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง

ไม่ว่ามาเยี่ยมชมงานแสดงนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ของท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เทศกาล Bangkok Design Week 2020 หรือมาอำลาสถาปัตยกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยืนหยัดมากว่า 130 ปี เราต่างประทับใจอาคารโบราณแสนสวยเปี่ยมมนต์ขลัง แต่ก็รู้ว่าญาติผู้ใหญ่ของเราสุขภาพร่อแร่เต็มที 

Walk with The Cloud 25 : The Custom House

เพื่อให้พื้นที่ประวัติศาสตร์ยังคงอยู่ต่อไป การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้น โดยศุลกสถานจะรีโนเวตใหม่เป็นเวลา 6 ปีเต็ม 

ก่อนเปิดตัวสู่สายตาสาธารณชนในอนาคต ลองมาทำความรู้จักคุณย่าทวดคนงามนามโรงภาษีร้อยชักสาม โดยผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาคารโบราณ และ ลีนวัตร ธีระพงษ์รามกุล ผู้เชี่ยวชาญและทำงานอนุรักษ์อาคารโรงภาษีร้อยชักสาม จากบานาน่า สตูดิโอ ผู้เป็นวิทยากรถ่ายทอดเรื่องราวดังนี้

โรงภาษีแห่งเจริญกรุง

ศุลกสถานเป็นหนึ่งในไม่กี่อาคารในย่านเจริญกรุงที่ยังคงสภาพเหมือนร้อยกว่าปีที่แล้ว ในอดีตสถานที่นี้มีทำเลงดงามริมน้ำเจ้าพระยา ทางใต้เป็นสถานทูตฝรั่งเศส ทางเหนือเป็นกงสุลอังกฤษ นับเป็นอาคารสำคัญในย่านบางรัก ย่านเศรษฐกิจปากแม่น้ำที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาค้าขายและอยู่อาศัย

ก่อนทำความเข้าใจความสำคัญของโรงภาษี ขอเท้าความถึงระบบภาษีไทยแบบคร่าวๆ 

ตั้งแต่สมัยอยุธยา ระบบการเก็บภาษีของสยามเป็นการเก็บ ‘จังกอบ’ และ ‘อากร’ โดยจังกอบมีลักษณะเหมือนภาษีศุลกากร เก็บภาษีปากเรือ ส่วนอากรเป็นภาษีการผลิต เช่น อากรจับปลา อากรพืชสวน

เมื่อมีการค้าขายกับต่างชาติ รัฐตั้งกรมพระคลังสินค้า เพื่อควบคุมไม่ให้ค้าขายกับคนในประเทศโดยตรง พระคลังสินค้ารวมสินค้าไทยมาขายต่อให้กับพ่อค้าต่างชาติ และเก็บส่วนต่างไว้เป็นผลประโยชน์เข้าแผ่นดิน ระบบนี้ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะการซื้อขายทั้งหมดต้องผ่านเข้าส่วนกลาง

เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 การค้ากับต่างชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศจีน จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีและการควบคุมระบบการผลิต เพื่อนำเงินมาเข้าพระคลังและเตรียมทำสงครามกับเวียดนาม และเพื่อให้รู้กำลังการผลิต เกิดระบบเจ้าภาษีนายอากร มีนายอากรเป็นผู้ตรวจสอบธุรกิจ และเป็นผู้เก็บภาษีส่งหลวง

ยุคสมัยนี้เองที่ เฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) (ชาวสยามเคยเรียกเขาว่า หันตรีบารนี) นักเดินทางและนักการทูตจากอังกฤษเข้ามาทำสนธิสัญญาเบอร์นี เป็นสัมพันธไมตรีและการค้า โดยสัญญาหลักๆ ระบุว่าการซื้อขายต้องเสียภาษีตามระบบของแต่ละประเทศ เช่น พ่อค้าอังกฤษมาบางกอก ย่อมต้องเสียภาษีตามระบบที่บางกอกจัดเก็บ หากชาวสยามไปค้าขายในดินแดนอื่น ย่อมต้องจ่ายภาษีตามที่ดินแดนนั้นกำหนด

เซอร์ จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) หรือ พระยาสยามมานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ เข้ามาเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สิ่งที่นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ทำมีมากมาย หนึ่งในนั้นคือการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ว่าด้วยเรื่องภาษี 100 ส่วน เก็บภาษี 3 ส่วน (ภาษีร้อยชักสาม) หรือชำระเงินเท่ากับราคาของสามส่วนนั้น ในสนธิสัญญาระบุว่าชาวสยามต้องตั้งโรงภาษีเป็นเรื่องเป็นราวตามจุดสำคัญอย่างปากน้ำ

โรงภาษีของหลวงแห่งแรกในกรุงเทพฯ อยู่ที่ปากคลองผดุงกรุงเกษม (บริเวณอาคาร River City ในปัจจุบัน) ในยุคที่ จอห์น บุช (John Bush) หรือ พระวิสูตรสาครดิฐ ชาวอังกฤษ เป็นเจ้าท่ายุโรปคนแรกของกรมเจ้าท่า 

ต่อมาได้ย้ายมาที่อยู่ปัจจุบัน เนื่องจากเจริญกรุงเป็นย่านการค้า พื้นที่ริมน้ำนี้จึงได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางด้านภาษี ทั้งขาเข้าและส่งออก 

โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง

ตึกคลาสสิกของกราซซี

โรงภาษีร้อยชักสามออกแบบโดย โยอาคิม กราซซี (Joachim Grassi) สถาปนิกชาวอิตาเลียน ผู้เกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 และเข้ามาทำงานในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 

กราซซี มีชีวิตโลดโผนน่าสนใจ แต่ไม่ค่อยมีคนรู้จักประวัติเขามากนัก เขาเกิดที่ Capodistria เมืองในอิตาลีซึ่งขณะนั้นอยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิออสเตรียฮังการี และปัจจุบันเป็นเมืองท่าของสโลวีเนีย เมื่อกราซซีอายุได้ 20 ปีก็ออกเดินทางทางทะเล เริ่มผจญภัยที่เซี่ยงไฮ้ ทำงานในบริษัทค้าไม้สัก แล้วมาบางกอกใน พ.ศ. 2413 ต้นรัชกาลที่ 5 ใช้ชีวิตจนถึงช่วงเหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เริ่มจากการเป็นใครก็ไม่รู้ในแผ่นดินของคนแปลกหน้า จนเป็นหนึ่งในชาวต่างชาติที่ร่ำรวยที่สุดในสยาม

ช่วงเวลานั้น รัชกาลที่ 5 เสด็จทอดพระเนตรความเจริญจากสิงคโปร์ ชวา อินเดีย จึงมีพระราชดำริอยากให้พระนครมีความทันสมัย ประจวบเหมาะกับการเข้ามาของกราซซี เขาเปิดบริษัทกับน้องชายอีก 2 คน เป็นทั้งวิศวกร สถาปนิก และผู้รับเหมา ครบอยู่ในเจ้าเดียว ใช้รูปแบบการก่อสร้างเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ผลงานช่วงแรกคือพระราชวังต่างๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์ และผลงานที่โดดเด่นที่สุดคือพระที่นั่งในพระราชวังบางปะอิน จุดเด่นของผลงานกราซซีคือรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก ใช้เสากลม ประตูและหน้าต่างโค้ง นอกจากนี้กราซซียังออกแบบวัด โบสถ์ ทั้งแบบคลาสสิกและโกธิก ไปจนถึงตึกเรียนของโรงเรียนอัสสัมชัญ คุกมหันตโทษ ฯลฯ ต่อมากราซซียังไปลงทุนทำเหมือง และร่วมทำโครงการขุดคลองรังสิตอีกด้วย

โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง
โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง
โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง
โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง

เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ความขัดแย้งระหว่างไทยและฝรั่งเศสส่งผลกระทบต่องานและทรัพย์สินชาวต่างชาติ กราซซีขายบริษัทของเขาและกลับไปเป็นผู้รับเหมายัง Capodistria บ้านเกิด และไม่เคยกลับมาเมืองไทยอีกเลย

แต่ชื่อของเขายังอยู่ยืนยง ผลงานบางส่วนของเขาผุพัง บ้างถูกทุบทิ้ง บ้างได้รับการต่อเติมปรับปรุงใหม่ 

เพียงตึกเดียวที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงแรกที่ก่อสร้างคือศุลกสถาน ซึ่งสร้างในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือ พ.ศ. 2429 – 2433 รูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิคแบบพัลลาเดียน (Palladianism) มีลักษะเด่นคือความสมมาตรของอาคาร เน้นความสำคัญของส่วนโถงหลักในอาคารให้มีความโอ่โถงยิ่งใหญ่ และใช้องค์ประกอบการตกแต่งแบบกรีก-โรมันในสัดส่วนที่งดงามลงตัว 

บ้านจีนในศุลกสถาน

บุคคลสำคัญอีกคนที่ผลักดันให้ศุลกสถานกำเนิดขึ้น คือ พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) บุตรของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) พระยาภาสกรวงศ์เป็นข้าราชการคนสำคัญ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรด และเรียกตัวเข้ามาใช้ในกิจการงานต่างๆ ตั้งแต่ต้นรัชกาล 

ใน พ.ศ. 2416 รัชกาลที่ 5 ทรงก่อตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ สร้างระบบเก็บภาษี รวมท้งภาษีศุลกากร ให้ส่งเงินเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยให้พระยาภาสกรวงศ์เป็นผู้ดูแลการปฏิรูปภาษี พระยาภาสกรวงศ์นี่เองที่เป็นผู้เขียนจดหมายถึงรัชกาลที่ 5 ว่า

“โรงภาษีที่จะทำขึ้นใหม่นี้เปนการจำเปนจะต้องมีโดยแท้…เพราะโรงภาษีขาเข้าขาออกนี้ เปนที่ต้องตาของคนยุโรปที่จะดูเมื่อแรกเข้ามาถึง อย่างหนึ่งผลประโยชน์แผ่นดินก็เกิดจากที่นี้มาก ทั้งเปนการรักษาบ้านเมืองด้วย”

โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง

ใจความของจดหมายชี้แจงว่าควรสร้างตึกที่สวยงามให้เป็นหน้าบ้านของกรุงเทพฯ สำหรับคนที่เดินทางมาทางเรือ ช่วงเวลานั้นพื้นที่ตึกหลักของศุลกสถานปัจจุบัน แต่เดิมมีบ้านจีนอยู่สองหลัง เจ้าของเดิมคือ เจ้าพระยาพลเทพ ต้นสกุลบุญ-หลง ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยให้พบเห็น นอกจากแนวโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ใต้ดินซึ่งทีมสถาปนิกนักอนุรักษ์และทีมนักโบราณคดีเอกชนร่วมกับกรมศิลปากรร่วมสืบประวัติและขุดค้น ดูจากฐานอาคารจีนยุคเก่าแล้วอนุมานหน้าตาได้ว่าคงคล้ายบ้านโซว เฮง ไถ่ ย่านตลาดน้อย 

โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง

อาคารเหล่านี้ตกเป็นสมบัติของหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) ซึ่งตัดสินใจยกอาคารและที่ดินให้เป็นของหลวงใน พ.ศ. 2426 พระยาภาสกรวงษ์จึงให้กราซซีออกแบบโรงภาษีใหม่ โดยใช้บ้านจีนเป็นที่ทำการชั่วคราว สร้างตึกใหม่ขึ้น 2 หลัง คือ ตึกเหนือ เป็นออฟฟิศสำหรับภาษีขาเข้า-ขาออก และตึกใต้ เป็นออฟฟิศภาษีเข้า และต่อมากลายเป็นที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขแห่งที่สองของไทย (แห่งแรกคือไปรษณียาคารข้างสะพานพุทธ) 

ภายหลังจึงรื้อบ้านจีนลง สร้างตึกใหญ่ขนาด 4 ชั้นขึ้นแทน มีสะพานไม้เชื่อมต่อตึกเหนือ ตึกใต้ กับตึกหลัก ที่ชั้นสอง

อดีตอันเรืองรอง 

โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึก ศุลกสถาน อายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง

จุดเด่นของอาคารโรงภาษีร้อยชักสามในปัจจุบัน คือรูปทรงเรียบง่าย คล้ายกระทรวงกลาโหมที่ไม่มีกันสาด หลังคาแบบกระเบื้องจีน ด้านตะวันตกเป็นทางเดิน แดดส่องไม่ถึงห้องด้านใน ส่วนตรงกลางขึ้นไปถึงชั้นสี่ ห้องภายในแบ่งเป็นห้องเล็ก-ใหญ่-เล็ก สลับไปเรื่อยๆ 

สภาพปัจจุบันของอาคาร อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปลือยให้เห็นเนื้อแท้ของสภาพอาคารมากที่สุดแต่ยังคงร่องรอยการใช้งานของแต่ละยุคสมัย ทีมสถาปนิกนักอนุรักษ์เปิดพื้นผิวแสดงให้เห็นส่วนฐานของผนังรับน้ำหนักที่มีความหนาก่อด้วยอิฐ (Wall Bearing System) ไม้ตงขนาดใหญ่รับน้ำหนักแผ่นไม้พื้นหนาที่สภาพโดยรวมยังค่อนข้างดีมากทุกชั้น

โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึก ศุลกสถาน อายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง
โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึก ศุลกสถาน อายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง
โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึก ศุลกสถาน อายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง

แต่สิ่งที่เลือนหายไป คือการเซาะร่องในปูนปั้นฉาบผนัง โดยปกติอาคารอื่นๆ จะทำแต่ชั้นล่าง แต่ที่นี่ กราซซีเลือกทำตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงชั้นขอบหลังคา รูปถ่ายสำคัญโด่งดังของศุลกสถาน คือภาพการตกแต่งพลับพลาท่าเรือรับเสด็จริมน้ำอย่างสวยงามดูเอิกเกริก เป็นสถานที่ที่ข้าราชการ พ่อค้า และราษฎรเฝ้ารับเสด็จ เมื่อคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินกลับจากการประพาสทวีปยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2450

โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง

บนยอดสุดของหลังคาจั่วมุขหน้าอาคารศุลกสถาน ยังคงปรากฏตราแผ่นดินของสยามที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปแบบยุโรปและเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้องค์ประกอบจะผุกร่อนทรุดโทรมไปบ้าง แต่พอเห็นได้ว่าเป็นรูปราชสีห์ คชสีห์ เชิญฉัตร 7 ชั้น และยังมีเสาธงซึ่งในอดีตคงต้องมีคนทำหน้าที่เปิดประตูจากห้องใต้หลังคาขึ้นเชิญธงช้างเผือกประดับยอดเสาทุกวัน 

โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง

ย้ายออก ย้ายเข้า

มีการพบแปลนโรงภาษีใหม่ริมถนนเจริญกรุง ซึ่งกราซซีออกแบบและวางแผนจะสร้างในช่วง พ.ศ. 2427 – 2429 ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่คล้ายกับอาคารโรงภาษีร้อยชักสาม แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้สร้าง

โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง

หลังสงครามโลกครั้งที่สองช่วงประมาณ พ.ศ. 2492 กรมศุลกากรย้ายไปที่ตั้งแห่งใหม่บริเวณท่าเรือคลองเตย ซึ่งก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ของการค้าและขนส่งทางเรือ ศุลกสถานเปลี่ยนการใช้งานเป็นที่ทำการกองบังคับการตำรวจน้ำ และสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก อีกทั้งเป็นที่พักอาศัยแบบดัดแปลงให้กับครอบครัวตำรวจดับเพลิงต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ ก่อนโยกย้ายกันออกไป และยังไม่ได้มีการพัฒนาหรือดำเนินการใดอีกเลย

 อาคารกลุ่มนี้ร้างการใช้งานมานานถึงสิบกว่าปี ก่อน ยู ซิตี้ จัดหาทีมสถาปนิกนักอนุรักษ์เข้ามาดำเนินการสำรวจและปรับสภาพอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งพบว่าบนผนังปูนภายในหลายจุดยังคงมีร่องรอยขีดเขียนตัวหนังสือจากกลุ่มคนที่เคยอยู่อาศัยใช้ชีวิต สะท้อนภาพความเป็นอยู่ผู้คนที่ได้เข้ามาใช้งานอาคารประวัติศาสตร์ที่ทรุดโทรมลง มรดกความทรงจำหลายทศวรรษในช่วงเวลานี้ ก็คงจะเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าอันหลากหลายของศุลกสถานในอนาคตต่อไป 

อนาคตอาคาร

อีก 6 ปีข้างหน้า อาคารแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม แต่ไม่ได้เป็นห้องพัก มีห้องจัดเลี้ยง และพื้นที่จัดแสดงประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัย และสถาปัตยกรรมโบราณฝีมือกราซซี

โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง

แนวทางการทำงานของทีมสถาปนิกนักอนุรักษ์และทีมนักโบราณคดี ใช้วิธีการหลากหลายและมีวิธีคิดแบบเต็มที่กับงานที่ผ่านมา ทั้งการสำรวจตามมาตรฐาน ไปจนถึงใช้เทคโนโลยีร่วมสมัย เช่น การสแกนแบบสามมิติในทุกซอกมุมของอาคารด้วยการใช้เครื่องแสกนแบบตั้งพื้นและโดรน กล่าวเฉพาะงานด้านอนุรักษ์อาคารทางทีมสถาปนิกนักอนุรักษ์ยังได้เชิญกลุ่มเวอร์นาด็อก (Vernadoc) ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับบริษัท ยู ซิตี้ ผู้ได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่เช่าจากกรมธนารักษ์ มาจัดเวิร์กช็อปและนิทรรศการ เก็บข้อมูลสำรวจอาคารในรูปแบบวาดเขียนลายเส้นขาวดำด้วยมือแบบเสมือนจริง เพื่อบันทึกร่องรอยอาคารที่ผ่านการใช้งาน ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีทั้งในด้านเนื้องานจัดแสดงในสถานที่จริงที่มีความเป็นศิลปะ และด้านกระบวนการที่เข้าถึงชุมชนโดยรอบกับสังคมผู้สนใจอาคารประวัติศาสตร์ในวงกว้าง ให้มีโอกาสเข้าถึงและทำความเข้าใจสถานการณ์ พร้อมกับเปิดมุมมองคุณค่าของอาคารที่ดูเสื่อมสภาพ แต่เปี่ยมคุณค่าและความทรงจำผ่านช่วงเวลาหลายยุคสมัย

โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง
โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง

ในช่วงปิดปรับปรุง ทีมนักออกแบบปรับการใช้สอยต้องประสานกับทีมสถาปนิกนักอนุรักษ์และทีมนักโบราณคดีต่อไปอีกอย่างน้อย 2 -3 ปี ความท้าทายในอนาคตที่รออยู่ยังมีอีกมาก เช่น การปรับปรุงอาคารเพื่อการใช้งานรูปแบบใหม่ (Adaptive Reuse) การออกแบบภูมิทัศน์ใหม่ การจัดทำส่วนจัดแสดงที่แสดงร่องรอยทางสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างในอาคารรูปแบบใหม่ และการประสานไปยังกรมศิลปากรเพื่อขอยืมโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในสถานที่เพื่อนำกลับมาจัดแสดง 

โรงภาษีร้อยชักสาม : ตึกอายุ 130 ปีที่เคยเป็นออฟฟิศศุลกากร ที่ทำการตำรวจน้ำ และสถานีดับเพลิง

ทางยู ซิตี้ จ้างทีมสำรวจและอนุรักษ์ศุลกสถานเพื่อนำไปสู่การต่อยอดเป็นกิจการโรงแรมในอนาคต ได้ติดต่อช่างซ่อมนาฬิกาชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีผลงานอนุรักษ์นาฬิกาที่วัดนิเวศธรรมประวัติฯ ซึ่งน่าจะเป็นนาฬิการุ่นเดียวกันกับที่ด้านหน้ามุขของศุลกสถาน และสืบหาร่องรอยโคมไฟจากฐานแชนเดอเลียร์บางส่วนบนฝ้าเพดานในห้องเต้นรำชั้นสามที่ยังเก็บไว้ดูเป็นหลักฐาน ทั้งยังตรวจสอบโครงสร้างไม้ โครงสร้างหน้าต่าง ขนาดและวัสดุเนื้ออิฐเพื่อหาที่มาและวิธีการผลิต วัสดุปูนฉาบ สีและลวดลายผนังดั้งเดิม กระเบื้องจีนที่ใช้มุงหลังคา ฯลฯ เพื่ออนุรักษ์อาคารเก่าให้สมบูรณ์ที่สุด และสอดคล้องกับการใช้งานในอนาคต

Walk with The Cloud 25 : The Custom House

ขอบคุณข้อมูลจาก

ผศ. ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทีมสถาปนิกอนุรักษ์ ทีมงานขุดค้นโบราณคดี 

คุณปิยพร พรรณเชษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน)

Writers

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน

Avatar

จาตุรงค์ โพคะรัตน์ศิริ

ผศ.ดร.จาตุรงค์ โพคะรัตน์ศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปฏิบัติวิชาชีพเป็นนักผังเมือง ชอบศึกษาและวิจัยด้านมรดกวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

Photographer

Avatar

ปรีชญา จงศรีสวัสดิ์

ช่างภาพที่เชื่อว่าการตายอย่างมีคุณภาพคือการตายด้วยของกินที่ดีและอร่อย