สถานีรถไฟในประเทศไทยมีมากกว่า 400 แห่ง และทุกที่ย่อมมีเรื่องราวและภาพพิมพ์แห่งอดีตให้เป็นเรื่องเล่า ตื่นเต้นบ้าง ลึกลับบ้าง อุดมไปด้วยความสุขและรอยยิ้มบ้าง หรือเป็นความยิ่งใหญ่ที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์บ้าง ซึ่งแต่ละแห่งก็ย่อมมีเอกลักษณ์ต่างๆ เป็นของตัวเอง
สถานีที่เรากำลังพูดถึงนี้ เป็นสถานีรถไฟในเส้นทางสายใต้ มีสถานะเป็นสถานีชุมทาง หมายถึงเป็นสถานีที่มีทางแยกไปทางรถไฟอีกเส้นหนึ่ง เป็นสถานีเรือนไม้ชั้นเดียววางตัวยาวขนานไปกับทางรถไฟ มีต้นไม้ใหญ่หลังสถานีให้ความร่มเงา และมีเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่พิมพ์เอาไว้ให้นึกถึงความน่าหดหู่ของสงคราม
ที่นี่ ‘สถานีชุมทางหนองปลาดุก’


ในอดีต ที่นี่คือสถานีด้านยุทธศาสตร์ที่สำคัญในสงครามโลกครั้งที่สอง นับเป็นจุดเริ่มต้นการก่อสร้างทางรถไฟสายสงครามเส้นทางหนองปลาดุก (บ้านโป่ง) มุ่งหน้าไปกาญจนบุรี ทองผาภูมิ ด่านเจดีย์สามองค์ และตันบูซายัตในเขตประเทศเมียนมา รวมถึงที่ตั้งของค่ายเชลยศึกที่เป็นแรงงานในการสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า และภายหลังได้ถูกขนานนามว่าทางรถไฟสายมรณะ
ในปัจจุบัน ที่นี่คือสถานีรถไฟระหว่างทางขนาดกลางที่มีรถไฟจอดไม่กี่รอบต่อวัน สถานะที่สำคัญของหนองปลาดุกคือการเป็นสถานีรถไฟชุมทาง มีเส้นทางแยกออกไป 3 สาย สายหนึ่งคือเส้นทางรถไฟสายใต้ เส้นทางหลักที่เริ่มต้นจากกรุงเทพและธนบุรีมุ่งหน้าไปหาดใหญ่ มาเลเซีย และสิ้นสุดปลายรางที่สิงคโปร์ อีกสายไปสุดปลายทางที่สถานีสุพรรณบุรี และอีกสายหนึ่งคือเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์และสายท่องเที่ยวที่สำคัญนั่นคือสายน้ำตก (สายกาญจนบุรี) นั่นเอง

แม้ว่าสถานีนี้จะไม่ได้เป็นสถานีหลัก รถไฟที่ผ่านจากกรุงเทพและธนบุรีมาถึงสถานีนี้ส่วนใหญ่แล้ววิ่งผ่านไปอย่างไม่ใยดี มีเพียงรถธรรมดาสายสั้นๆ เช่น ธนบุรี-หลังสวน ธนบุรี-น้ำตก กรุงเทพ-หัวหิน ธนบุรี-ราชบุรี ฯลฯ ที่จอดรับส่งผู้โดยสาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเดินทางประจำและมีภูมิลำเนาอยู่ที่หนองปลาดุกนี้ ไม่ใช่ขาจรและนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด
แต่ก็มีสิ่งหนึ่งในหนองปลาดุกที่เย้ายวนและเชื้อเชิญให้ขาจรเดินทางไปหาเหมือนกัน
นั่นคือ ‘ของกิน’
รถไฟไปถึงที่ไหน ความเจริญไปถึงที่นั่น ของกินก็เช่นกัน
ของกินกับรถไฟเป็นของคู่กันมาตั้งแต่เรายังไม่เกิด ธุรกิจการขายของเร่เป็นความมหัศจรรย์ที่คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะบูมขนาดนี้ นั่นเป็นเพราะการนั่งรถไฟต้องใช้เวลา แถมรถไฟที่มีตู้เสบียงก็เป็นแค่รถไฟด่วนที่มีตู้นอนและเดินทางไกล ราคาสูงเกินกว่าชาวบ้านที่ทรัพย์น้อยจะเอื้อมถึง ไม่ใช่แค่ในยุคนั้นแต่รวมถึงยุคนี้ด้วยเช่นกัน อาหารสองข้างทางรถไฟจึงเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับการขยายเส้นทางรถไฟ
อาหารระดับ Signature Dish ของสถานีชุมทางหนองปลาดุก คือข้าวราดแกงใส่กระทงใบตอง ที่คนนั่งรถไฟเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ข้าวแกงกระทงหนองปลาดุก’

กระทงใบตองสีเขียวบรรจุข้าวสวยร้อนๆ สีขาว กับแกงแบบบ้านๆ ให้เลือกถึง 4 อย่าง จัดเรียงในถาดถือชูร่อนตรงหน้าต่างรถไฟในวินาทีที่รถไฟจอดสนิทหน้าสถานี แม่ค้าที่ชำนิชำนาญในการขายส่งเสียงเจื้อยแจ้ว เชื้อเชิญให้คนนั่งรถไฟที่กำลังดูวิวเปลี่ยนใจมาส่งเสียงเรียกเพื่อลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ

ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง Signature Dish ประจำสถานีนี้คือ ‘ป้าน้อย’ ผู้ทำให้กระเพาะของเรานักเดินทางด้วยรถไฟเต็มไปด้วยอาหารรสเลิศในราคากระทงละ 10 บาท ไม่ใช่แค่ผู้โดยสารรถไฟเท่านั้นที่ได้ลองลิ้มชิมรสข้าวกระทง เมนูของป้าน้อยนั้นได้มีโอกาสได้ทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยเช่นกัน

โปรไฟล์ไม่ธรรมดาจริงๆ
เรานั่งรถไฟจากสถานีธนบุรีมาหนองปลาดุกในราคา 14 บาท ด้วยเหตุผลเพียงแค่อยากกินข้าวแกงกระทงอันลือชื่อเท่านั้น
1 ชั่วโมงของการเดินทางด้วยรถไฟในวันที่อากาศเย็นสบายสิ้นสุดลง เมื่อเทียบชานชาลาสถานีหนองปลาดุก ปกติแล้วเรามักจะยืนดูรถไฟเคลื่อนตัวออกจากสถานีจนลับสายตา แต่วันนี้ไม่ใช่ เมื่อความหิวพรากรถไฟออกจากเรา ในทันทีที่เราเห็นข้าวแกงกระทงหลายสิบกระทงในถาดสเตนเลสผ่านหน้าเราไป กลิ่นของแกงเขียวหวาน พะแนง ไข่พะโล้ ดึงเราให้ออกมาจากสถานี พุ่งตรงไปที่ร้านค้าเล็กๆ ด้านหลังสถานีใต้ต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา
ที่นั่นเราเจอหญิงเจ้าเนื้อใส่แว่นท่าทางใจดี เชื้อเชิญให้เรากับเพื่อนผู้แบกความหิวโหยมาจากกรุงเทพฯ สั่งอาหาร
นี่คือป้าน้อยเจ้าของกิจการข้าวแกงกระทงตัวจริงเสียงจริง

เราไม่รอช้า รีบสั่งข้าวแกงกระทงมาครบทุกแกงที่ปรากฏตัวอยู่ในร้าน เมนูที่ร้านป้าน้อย 4 อย่าง คือพะแนงหมู เขียวหวานไก่ เขียวหวานเนื้อ และไข่พะโล้ แกงทุกชนิดทำอย่างพิถีพิถันตามแบบอาหารไทยสูตรโบราณ ถึงเนื้อถึงเครื่องสุดๆ
น้องเบสหลานสาวป้าน้อยเป็นคนรับออร์เดอร์ของผู้หิวโหยในวันนี้ น้องตักอาหารแต่ละอย่างใส่กระทงอย่างคล่องแคล่ว น่าเสียดายที่เขียวหวานเนื้อหมดไปตั้งแต่ช่วงสาย
น้องเบสเล่าว่า ในแต่ละวันต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเจียนใบตองหนึ่งม้วนให้กลายเป็นแผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเท่าๆ กัน ก่อนจับจีบเป็นกระทง วันละ 300 – 400 ใบ ซึ่งคาดเดาไม่ได้ว่าวันนั้นๆ จะขายได้มากน้อยขนาดไหน ถ้ามีออร์เดอร์จากรถไฟนำเที่ยวก็จะต้องทำเผื่อไว้เยอะหน่อย หน้าที่ฉีกใบตองและเย็บกระทงจะเป็นของน้องเบส พอเย็บเสร็จแล้วก็จะเรียงกระทงวนไว้ในตะกร้ารอใส่ข้าวเป็นลำดับต่อไป

“ปกติกระทงใบหนึ่งเย็บนานไหมน้อง”
“ไม่นานค่ะพี่ นาทีหนึ่งก็ได้ประมาณสองถึงสามใบ อยู่ที่มือจะเร็วขนาดไหน”
ป้าน้อยเล่าให้เราฟังว่าเธอเพิ่งเป็นเจ้าของร้านจริงๆ แค่ 15 ปี แต่ก่อนนั้นไม่ได้เช่าที่สถานีรถไฟทำเป็นร้าน
“เมื่อก่อนแม่ป้าน่ะขายมานานแล้ว ป้าก็อยู่กับข้าวกระทงเนี่ยมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่มีร้านรวงอะไรหรอกลูก ก็ได้แค่ใส่หาบไปขายที่สถานีหรือบนรถไฟ” ป้าเล่าความหลังให้ฟัง
“รถไฟสมัยก่อนมันเป็นรถไอน้ำ ต้องมาเติมน้ำเติมฟืนที่บางตาล (สถานีคลองบางตาล) มีที่เติมน้ำรถจักรไอน้ำ มันจอดนาน ป้ากับแม่ก็ขายได้ตอนที่มันจอดนานๆ เนี่ยแหละ

“เวลาเราทำกับข้าวเราก็ต้องพิถีพิถัน เขียวหวานเนื้อก็ต้องเคี่ยวให้นาน ไม่งั้นเนื้อจะเหนียว”
ป้าเล่าไปเย็บกระทงไปด้วยความคล่องแคล่ว เราสังเกตว่าป้าจะเอาใบตองด้านสีอ่อนประกบกันไว้แล้วเอาด้านสีเขียวเข้มออกด้านนอก จากนั้นเธอก็พับมุมและเย็บอย่างคล่องแคล่ว ไม่นานนักกระทง 4 มุมก็ปรากฏตัวขึ้นราวกับเครื่องจักรผลิตกระทง
กระทงใบตองในตะกร้าถูกจัดเรียงบนถาด น้องเบสค่อยๆ บรรจงตักข้าวสวยสีขาวหอมกรุ่นใส่ไปประมาณ 3 ใน 4 ของปริมาตรกระทง เมื่อข้าวสวยถูกใส่จนครบแล้ว ก็ค่อยๆ ตักแกงจากในหม้อใส่ไปทีละกระทง เฉลี่ยให้ทั้งถาดมีอาหารครบทุกอย่าง


เราได้ข้าวแกงกระทงมาครบ 3 อย่าง คือพะแนงหมู เขียวหวานไก่ และไข่พะโล้
“แบบพี่ก็มีเยอะนะ ขับรถมากินถึงร้านแต่ไม่เอาใส่จาน ขอใส่กระทงเอาบรรยากาศ หนูก็ขายนะพี่ มันเป็นเอกลักษณ์ไปแล้วอะ” น้องเบสเล่าให้เราฟัง ปกติแล้วถ้าใครมากินที่ร้านจะใส่จานราดแกงธรรมดา แต่ก็มีไม่น้อยที่รีเควสใส่กระทงใบตอง เพื่อให้อินกับบรรยากาศบนรถไฟ แบบว่าไม่ได้นั่งแต่ขอให้ได้บรรยากาศก็พอ
ถ้าให้รีวิวรสชาติ

พะแนงหมูมีความเผ็ดนิดๆ เนื้อหมูชิ้นใหญ่ รสชาติของเครื่องแกงค่อนข้างจัดจ้านและถึงเครื่องจริงๆ
เขียวหวานไก่ เนื้อไก่นุ่มมาก รสชาติแอบเผ็ดกว่าพะแนง มะเขือของป้าไม่ขมเลย ยิ่งกินกับข้าวสวยร้อนๆ ยิ่งได้ใจ

ส่วนพะโล้นั้นเหมือนเกิดมาเพื่อดับเผ็ดทั้งสองกระทงก่อนหน้า ไข่ต้มครึ่งซีกเข้าเนื้อกับหมูและน้ำแกงที่รสออกหวาน ทำให้อาการเผ็ดลดลง เหมาะกับการกินปิดท้ายเป็นที่สุด

“ป้ามีเมนูพิเศษนะลูก” ป้าน้อยบอกเราพร้อมยื่นกระทงที่มีผัดอะไรสักอย่างสีแดงๆ ดูเผ็ดร้อนอยู่บนนั้น
มันคือผัดเผ็ดนก ป้าน้อยบอกว่านานๆ จะทำสักที ถ้าใครได้กินถือว่าพิเศษมาก เพราะไม่ใช่เมนูปกติ ซึ่งรสชาติดีเลยล่ะ กระดูกไม่เยอะ เครื่องแกงที่ผัดลงไปดับกลิ่นนกกระทา ถ้าไม่บอกว่านี่คือผัดนกคงคิดว่ามันคือผัดเผ็ดไก่ที่สับจนละเอียด
นอกจากนั้นป้าน้อยยังบอกอีกว่า แกงทุกอย่างจะทำวันละหม้อ ถ้าอันไหนหมดก็ทำเพิ่มอีกหม้อได้ ยกเว้นเขียวหวานเนื้อที่ไม่ทำเพิ่ม หมดแล้วหมดเลย เพราะถ้าทำเพิ่มแล้วเคี่ยวเนื้อไม่นาน มันจะเหนียว ไม่อร่อย เรียกได้ว่าป้าน้อยพิถีพิถันทุกขั้นตอนจริงๆ
“ตอนที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จทางรถไฟวันนั้น แล้วข้าวกระทงของป้าได้รับเลือกให้เป็นของถวายด้วย ป้ารู้สึกยังไง”
“ดีใจสิลูก ดีใจมาก ป้าส่งของให้ท่านกับมือเลย”


ป้าน้อยเล่าให้ฟังด้วยแววตาเต็มไปด้วยความทรงจำในวันนั้น ป้าบอกว่าเขาคัดเลือกของดีของบ้านโป่งมาถวาย มีไก่ย่างบางตาล มีข้าวแกงกระทงของป้า ปกติแกงของป้าพิถีพิถันอยู่แล้ว แต่วันนั้นพิถีพิถันยิ่งกว่าเดิมและลดรสชาติให้เผ็ดน้อยลง เพราะพระสหายของพระองค์ท่านเป็นชาวต่างชาติ
ป้าบอกว่าตอนที่รถไฟจอดและมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนที่หน้าต่าง พอถึงคิวป้าถวายของให้ ความดีใจมันท่วมท้นออกมา “ป้าจำวันนั้นได้ดีเลยลูก” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงที่มีความสุข
ข้าวแกงกระทงของป้าน้อยเสิร์ฟให้นักเดินทางทุกวัน แต่ไม่ใช่ผู้โดยสารทุกขบวนที่จะมีโอกาสได้กิน เป็นเพราะว่าสถานีหนองปลาดุกมีรถไฟจอดน้อย ในแต่ละวันจึงมีรถไฟเพียงไม่กี่เที่ยวที่ได้มีโอกาสลองลิ้มชิมรสอาหารชั้นเลิศ หากใครอยากจะพิสูจน์ความอร่อย ก็เดินทางได้กับรถไฟที่มาถึงสถานีในช่วงเช้าจนถึงบ่าย 3 โมงตามโพยนี้เลย
รถธรรมดา 255/254 ธนบุรี-หลังสวน-ธนบุรี
รถธรรมดา 257/258/259/260 ธนบุรี-น้ำตก-ธนบุรี
รถธรรมดา 261 กรุงเทพ-หัวหิน
รถธรรมดา 251/252 ธนบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-ธนบุรี
บางขบวนนั้นข้าวแกงกระทงก็จะไปเสิร์ฟถึงบนตู้รถไฟในระยะสั้นๆ ด้วยเช่นกัน
วันและเวลาผ่านไปแค่ไหน อาหารสองข้างทางรถไฟก็ยังคงเสน่ห์เช่นเดิม เราไม่รู้ว่าเมื่อการพัฒนารถไฟให้เป็นทางคู่ครอบคลุม รถไฟเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า สถานีรถไฟเป็นระบบปิด การขายของที่ชานชาลาซึ่งเป็นเสน่ห์อีกอย่างจะหายไปหรือไม่ แน่นอนว่าการพัฒนามันก็ต้องทำให้บางอย่างสูญหายไป แต่ถ้ามองในแง่ของธุรกิจแล้วนั้น ไม่แน่นะเราอาจจะเห็นข้าวแกงกระทงของป้าน้อยขายในตู้เสบียงของรถด่วนพิเศษ หรือไปปรากฏตัวอยู่บนรถไฟท่องเที่ยวก็ได้
อีกนิดอีกหน่อย
- ป้าน้อยฝากมาบอกว่า 5 ธันวาคม ป้าไม่ขายแต่ป้าแจกฟรี
- ใครอยากไปชิมข้าวแกงป้าน้อย นั่งรถไฟไปที่สถานีชุมทางหนองปลาดุกได้ ป้าขายทุกวัน แนะนำว่าให้ไปกับรถที่ออกจากสถานีธนบุรีจะสะดวกที่สุด เพราะมีรอบเยอะกว่ารถที่ออกจากสถานีกรุงเทพ
- ใครได้กินผัดนกกระทาหรือเมนูพิเศษอื่นๆ อย่าลืมมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะว่าอร่อยแค่ไหน