หลาย ๆ เหตุการณ์ในช่วงนี้ทำให้อยากเขียนถึงสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จริง ไม่เชี่ยวชาญอีกครั้ง

นั่นคือเมือง Curon (คูรอน)

ที่มาที่ไปก็คือ ดูหนังทาง Netflix อยู่ดี ๆ นี่ล่ะ ก็หาหนังอิตาเลียน ก็ให้มาเจอเรื่องนึงชื่อ Curon

Curon เป็นหนังระทึกขวัญ (Thriller) ที่สนุก ฉลาด ในหนังไม่ได้พูดอะไรถึงเมืองนี้มากนัก เพียงแต่ใช้เป็นฉากหลัง คนดูที่ไม่ใช่อิตาเลียนอาจจะมีงง ๆ ด้วยซ้ำว่าทำไมตัวละครบางตัวพูดเยอรมัน

หนังพูดถึงแต่เรื่องเมืองจมน้ำ และเหมือนคลับคล้ายคลับคลาว่า ถูกจมเพราะครอบครัวหนึ่งทำให้จม ผู้คนก็เลยชิงชังมาจนถึงวันนี้

Curon Venosta หมู่บ้านใต้น้ำในอิตาลีที่กลายเป็นต้นกำเนิดซีรีส์ Netflix

แต่หนังก็คือหนัง ถ้าไม่ใช่สารคดี ก็ต้องฟังหูไว้หู ดูตาไว้ตา ตกลงเรื่องราวมันเป็นยังไงกันแน่หนอ ก็เลยเริ่มหาอ่านตามเว็บต่าง ๆ เผื่อจะได้เอามาเล่าให้ลูกเพจ ‘ครูก้า’ อ่าน แล้วในช่วงนั้นเองก็มีลูกศิษย์ที่เรียนอิตาเลียนออนไลน์จากอิตาลีมาแนะนำตัวว่าตอนนี้อยู่แถว ๆ นั้น อ้ะ มีเรื่องบังเอิญเข้ามาอีกเรื่อง

และท้ายที่สุด ลูกศิษย์ที่เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ‘อ่านอิตาลี’ ก็มาถามว่า ครูขา จะช่วยแปลหนังสือเล่มหนึ่งให้หนูหน่อยได้มั้ยคะ พอส่งรูปหน้าปกหนังสือมา ผ่าง หอระฆังกลางน้ำที่คุ้นตาก็โผล่มาให้เห็นอีกครั้ง คราวนี้ถึงกับปักหมุดเลย หากเดินทางออกนอกประเทศได้โดยไม่ติดขัดอีกครั้ง จะต้องไปที่นี่แน่ ๆ

และนี่คือข้อมูลที่จะขอเอามาเล่าสู่กันฟัง ทั้งที่ได้จากการอ่านและการแปลนวนิยาย

Curon Venosta หมู่บ้านใต้น้ำในอิตาลีที่กลายเป็นต้นกำเนิดซีรีส์ Netflix
ภาพ : www.flickr.com/photos/fabianfranke-fotos/7190357668

เมื่อพูดถึงคูรอน ‘ในปัจจุบัน’ ก็คือเมืองที่มีชื่อเต็มว่า คูรอน เวนอสตา (Curon Venosta) เป็นเมืองหรือหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ริมทะเลสาบเรเซีย (Lago di Resia) อยู่ตรงที่ปัจจุบันเรียกว่าแคว้น Trentino – Alto Adige (เตรนตีโน อัลโต อาดีเจ) อันเป็นแคว้นที่มีการปกครองพิเศษ หลายคนรู้จักกันในนาม ซุดตีโรล (Sudtirol) เป็นภาษาเยอรมันอันแปลว่า ทีรอลตอนใต้

แล้วทำไมพื้นที่ในอิตาลีจึงมีชื่อเป็นเยอรมัน คำตอบคือแคว้นนี้แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรีย (ซึ่งพูดภาษาเยอรมัน) เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ดินแดนส่วนนี้ก็ถูกยกให้เป็นของอิตาลี ซึ่งก็มีความประดักประเดิดมาก ด้วยว่าสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ประชากรแทบจะทั้งหมดพูดภาษาเยอรมัน วัฒนธรรมอะไรก็ไม่เหมือน คนที่นั่นไม่คิดแม้แต่น้อยว่าตัวเองเป็นชาวอิตาเลียน และรอวันจะไม่เป็นอิตาเลียนอยู่ทุกลมหายใจ

เมื่อพูดถึงคูรอนในปัจจุบัน ก็ต้องมีคูรอน ‘ในอดีต’ ซึ่งเรามองไม่เห็นด้วยว่ามันได้จมอยู่ใต้น้ำไปแล้ว

ไม่ได้เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติใด ๆ เกิดจากฝีมือมนุษย์นี่ล่ะ

จะเริ่มต้นเล่าอย่างไรดี เล่าจากที่เห็นก่อนแล้วกัน

หอระฆังที่เห็นเด่นเป็นสง่านั้นไม่ได้สร้างให้อยู่กลางน้ำ หากแต่มันคือหอระฆังของโบสถ์แห่งหนึ่ง ชื่อโบสถ์ซานตา คาเตรีนา ดิ อะเลซซานเดรีย (Santa Caterina di Alessandria) อันเป็นโบสถ์ประจำเมืองคูรอน

Curon Venosta หมู่บ้านใต้น้ำในอิตาลีที่กลายเป็นต้นกำเนิดซีรีส์ Netflix
ภาพ : www.flickr.com/photos/pacioz/7682473278

โบสถ์อะไรที่ไหน ไม่เห็นมีโบสถ์ คุณไม่เห็นหรอก เพราะมันอยู่ใต้น้ำ ลึกลงไปราว 22 เมตร และทั้งโบสถ์ทั้งหมู่บ้านก็ถูกระเบิด ก่อนที่ทางการจะปล่อยน้ำจมทุกอย่างเพื่อหวังจะสร้างเขื่อนนั่นเอง

อันที่จริง ความคิดที่จะสร้างเขื่อนใหญ่นั้นมีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1910 แล้ว แต่ด้วยมีสงครามโลกครั้งที่ 1 แผนนั้นก็ยับยั้งไว้ แล้วหยิบมาปัดฝุ่นอีกทีตอนสงครามเลิก

แผนเดิมที่ว่านั้น คือการรวมทะเลสาบทั้ง 3 แห่งที่อยู่ใกล้ ๆ กันนั้นให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างแหล่งผลิตพลังงานขนาดใหญ่มหึมา ในแผนนั้นระดับน้ำจะขึ้นมาอีก 5 เมตรเท่านั้น ซึ่งชาวคูรอนก็รับทราบดีและดูไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากมาย แต่แน่นอน ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากให้มี

Curon Venosta หมู่บ้านใต้น้ำในอิตาลีที่กลายเป็นต้นกำเนิดซีรีส์ Netflix
ภาพ : www.schoeneben.it
Curon Venosta หมู่บ้านใต้น้ำในอิตาลีที่กลายเป็นต้นกำเนิดซีรีส์ Netflix
ภาพ : scribol.com

สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิด แผนการสร้างเขื่อนระงับ ชาวคูรอนคิดว่าคงไม่มีการสร้างเขื่อนแล้ว นอนใจอยู่ได้ไม่นาน แต่พอสงครามเลิกและไม่มีมุสโสลินีแล้ว การสร้างเขื่อนก็ยังกลับมาอีก คราวนี้นายทุนใหญ่ประกาศเพิ่มระดับน้ำในเขื่อนเป็น 22 เมตร

ชาวคูรอนกลุ่มหนึ่งพยายามต่อสู้ แต่ผลก็เป็นอย่างที่รู้ ๆ กัน ส่วนที่บอกว่ากลุ่มหนึ่งนั้น เพราะใน ค.ศ. 1939 ได้มีประกาศให้ชาวคูรอนเลือกได้ว่าจะอยู่ ณ ที่ตรงนี้ต่อ หรือจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่เยอรมันกับฮิตเลอร์ ประชากรที่คูรอนก็เบาบางลงไปบ้างแล้วนับแต่ตอนนั้น ส่วนประชากรที่เหลือ บางคนก็ไม่เชื่อเอาเสียจริง ๆ ว่าจะมีการจมเมืองสร้างเขื่อนจริง ๆ ประกาศที่ทางการมาติดที่เทศบาลเมืองก็เป็นภาษาอิตาเลียน ซึ่งชาวเมืองแทบจะอ่านไม่ออกสักคำ

ชาวเมืองต่อสู้กันสุดฤทธิ์ ถึงกับเชิญนายกฯ มา ไปหาสันตะปาปาที่โรม แต่แล้วผลก็เป็นอย่างที่รู้กัน

การจมหมู่บ้านในครั้งนั้น มีบ้านจมไปเกือบ 200 หลังคาเรือน (บางแหล่งข่าวบอก 163 บ้างก็บอก 180) ก่อนจะจมมีการระเบิดบ้านทุกหลังก่อน ไม่มีใครตายเพราะการระเบิดหรือการปล่อยน้ำในครั้งนั้น แต่จากการตรอมใจหรืออื่น ๆ ย่อมไม่มีใครรู้

ภาพ : twitter.com/Avventural

วกกลับมาที่หนังนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น การจมคูรอนไม่ได้เป็นการตัดสินใจของชาวบ้านหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเลย แต่เป็นการลงนามอนุมัติของรัฐบาลอิตาลีนี่ล่ะ ส่วนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนั้น มีขึ้นตั้งแต่ตอนที่ประชากรเลือกข้างว่าจะอยู่หรือจะไปแล้ว

คราวนี้มารู้จักกับตัวละครหลักของเมืองนี้กันดีกว่า นั่นก็คือหอระฆังกลางน้ำ ถามว่าตัวละครหลักแค่ไหน เอาเป็นว่าตราประจำเมืองเป็นรูปหอนี้ก็แล้วกัน

ตราประจำเมือง
ภาพ : www.araldicacivica.it/comune/curon-venosta

ตามประวัติ หอระฆังนี้สร้างในศตวรรษที่ 14 แต่ที่หอระฆังยังดูแข็งแรงอยู่นั้น เป็นเพราะได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ใน ค.ศ. 2009 นี้เอง

ภาพ : it.wikipedia.org

เรื่องอัศจรรย์ใจของหอระฆังนี้ก็ย่อมมีแน่นอน เรื่องแรกคือตอนที่รัฐบาลส่งคนมาระเบิดหมู่บ้าน (ระเบิดบ้านทีละหลัง) นั้น ก็ระเบิดโบสถ์ด้วยเช่นกัน ปรากฏว่าโบสถ์ถล่ม แต่หอระฆังยืนนิ่งไม่สะเทือน ข่าวว่าพวกช่างแอบกลัว ต่างพากันถอดใจ ประกอบกับตอนนั้นเริ่มปล่อยน้ำแล้ว ก็เลยปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น

เรื่องเล่าขานอีกเรื่องของหอระฆังก็คงจะไม่พ้นเรื่องเสียงระฆัง ว่ากันว่าวันดีคืนดีในช่วงฤดูหนาว จะมีคนได้ยินเสียงระฆังหง่างเหง่งวังเวงแว่วดังมาจากหอนั้น หลายท่านคงคิดว่าก็คงจะมีคนปีนขึ้นไปตีน่ะสิ คงไม่น่าจะเป็นเรื่องเป็นราวอะไร หากระฆังไม่ได้ถูกปลดออกจากหอตั้งแต่ตอนปล่อยน้ำลงเขื่อนแล้ว

เรื่องต่อไปเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนเล่ากันแต่เป็นเรื่องจริง ก็คือ 1 ปีหลังจากที่คูรอนกลายเป็นทะเลสาบแล้ว ได้มีรถเมล์คันหนึ่งแหกถนนพุ่งลงทะเลสาบ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 22 ราย เหลือรอดชีวิตมาได้เพียงคนเดียวเท่านั้น

ปัจจุบันผู้ที่ไปเยือนคูรอน เวนอสต้า ก็ต้องพุ่งตรงไปถ่ายรูปกับหอระฆังกลางน้ำ หากในหน้าแดดอุ่นก็ออกเรือไปชมใกล้ ๆ ได้ หากไปหน้าหนาว ก็เดินเท้าไปบนทะเลสาบที่เป็นน้ำแข็ง กิจกรรมฤดูร้อน-ฤดูหนาว มีไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวมิได้ขาด

ทะเลสาบเรเซียในฤดูหนาว
ภาพ : www.suedtirolerland.it

ใครอยากสัมผัสกับรายละเอียดว่าชาวเมืองในช่วงเวลานั้น ‘น่าจะ’ รู้สึกนึกคิดอย่างไร ขอแนะนำนวนิยายแปลของสำนักพิมพ์อ่านอิตาลี ที่ใช้ท้องเรื่องเป็นเมืองคูรอนในช่วงนับแต่ ‘บ้านเมืองยังดี’ จนกระทั่งเมืองทุกพังทลายกลายไปอยู่ใต้น้ำ หน้าปกเป็นรูปหอระฆังกลางน้ำนี้ อยู่ใต้ชื่อภาษาไทยว่า ‘หยัดยืน’

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า