8 กุมภาพันธ์ 2020
7 K

ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ- ธรรมศาสตร์แต่ละปี มีนิสิตนักศึกษาและคนทั่วไปมาร่วมงานกว่า 5,000 คน คิดง่ายๆ ว่าถ้าแต่ละคนกินดื่มด้วยบรรจุภัณฑ์พลาสติกคนละ 3 ชิ้น จะมีขยะเกิดขึ้นมากกว่า 16,000 ชิ้น ภายในวันเดียว

แม้นาทีแห่งการแข่งขันสิ้นสุดลง แต่มิตรภาพและความทรงจำจะคงอยู่ต่อไปอีกแสนนาน เช่นเดียวกับขยะที่เกิดขึ้นในงานที่จะคงอยู่กับโลกไปอีกหลายร้อยปี หากไม่ได้รับการจัดการอย่างเข้าใจและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ความจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในการลดขยะพลาสติกจากงานบอล 74

งานบอลในปีนี้พิเศษกว่าปีไหนๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จับมือกันจัดงานภายใต้ภารกิจในการจัดการขยะ ด้วยคอนเซปต์ ‘ลด เปลี่ยน แยก’ โดยมีเป้าหมายว่าการจับมือกันในครั้งนี้จะเป็นการ ‘เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม’

ตั้งแต่ต้นทางจากวัสดุที่เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ Recylce และ Reuse หลากหลายรูปแบบ เพื่อนำมาใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน ทั้งขบวนพาเหรด สแตนด์เชียร์ และพื้นที่สนาม ไปจนถึงปลายทางการรับผิดชอบขยะทุกชิ้นที่จะเกิดขึ้นในงาน ให้พวกมันมีทางไปต่อและยืดอายุการใช้งานออกไปให้ยาวนานที่สุด

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งวันในหน้าประวัติศาสตร์ของงานฟุตบอลประเพณี ที่นับเป็นจุดหมายสำคัญในการขยับตัวของคนรุ่นใหม่ในเรื่องความตระหนักต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ความจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในการลดขยะพลาสติกจากงานบอล 74

 The Cloud ชวนไปคุยกับ ศิลา รัตนวลีวงศ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานระดับนิสิต ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ -ธรรมศาสตร์ และ เพ็ญพิชชา สถิรปัญญา ประธานชุมนุมเชียร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงภารกิจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้จริง จากความตั้งใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่เรื่องการจัดการขยะ ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ- ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 74 

01 Change

เปลี่ยนอย่างไรให้ไม่เหลือเธอ (ขยะ)

ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีจุดเริ่มต้น แล้วจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันครั้งแรกของจุฬา-ธรรมศาสตร์ คืออะไร 

“เราเริ่มต้นจากการทราบและตระหนักถึงปัญหาเรื่องขยะมาอย่างต่อเนื่อง เลยคิดว่างานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 นี้ คงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองมหาวิทยาลัยจะพร้อมใจกัน แสดงพลังให้สังคมได้เห็นว่าทุกคนเริ่มต้นใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กันได้” เพ็ญพิชชา ประธานชุมนุมเชียร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล่าถึงจุดเริ่มต้น

เมื่อทั้งสองสถาบันเกิดการตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเรื่องขยะแล้ว ทั้งสองจึงเลือกงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยน ที่ผ่านมางานบอลมักได้รับความสนใจจากผู้คนอยู่แล้ว จึงเป็นพื้นที่ที่ดีในการทำให้ภารกิจบรรลุผล เพื่อแสดงออกถึงความตระหนักของคนรุ่นใหม่ในเรื่องการใช้ทรัพยากรและปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงพิสูจน์ให้เห็นว่าทุกส่วนของสังคมร่วมเป็นหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ได้

ความจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในการลดขยะพลาสติกจากงานบอล 74

“ความร่วมมือของเราจึงเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับการใช้คอนเซปต์ ‘Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม’ เป้าหมายคือการทำให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและเริ่มลงมือแก้ไขในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อเราอยากให้สังคมตระหนักถึงปัญหา เราจึงได้นำแนวคิด ‘ลด เปลี่ยน แยก’ มาใช้ตั้งแต่การออกแบบกิจกรรม 

“แต่การจัดงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเราต้องการสอดแทรกแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปให้สังคมได้เห็น ผ่านการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ” ประธานชุมนุมเชียร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงความท้าทายในการจัดงานครั้งนี้ 

“ความยากครั้งนี้คือการทำให้ทุกคนเห็นความเปลี่ยนแปลงแทบทุกส่วนของเรา อย่างปกติแล้วจุฬาฯ มีโครงการ CHULA Zero Waste จัดกิจกรรมเกี่ยวกับขยะอยู่ตลอด แต่เมื่อเราคิดจะเปลี่ยนหรือทำอะไรสักอย่างให้คนทั้งประเทศได้เห็นว่าการแยกขยะมันสำคัญมากนะ มันเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน เมื่อตัดสินใจเริ่มสร้างความตระหนัก ในงานบอลฯ ครั้งนี้จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าเดิม และทำในสิ่งที่คนดูสามารถทำตามได้ 

ความจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในการลดขยะพลาสติกจากงานบอล 74

“แต่ยิ่งเราพยายามหาทางออกให้กับขยะเหล่านี้ มันเหมือนกับว่า Know How ของเราอาจจะยังไม่ดีพอ มันมักมีคำถามอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรให้ลดขยะได้แบบสมบูรณ์ ยกตัวอย่างไม้ ผ้าดิบที่เราใช้ในการเดินพาเหรด เราก็ไม่รู้ว่าเมื่อแยกขยะแล้ว ขยะเหล่านี้จะไปที่ไหน จึงเกิดการร่วมมือกันระหว่างสองสถาบัน และได้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้อย่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด หรือ GC มาช่วยในงานฟุตบอลประเพณีครั้งนี้ เพื่อจัดการกับช่องว่างของปัญหาที่เรากำลังหาคำตอบ” ประธานชุมนุมเชียร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสริม

GC จึงได้มีโอกาสเข้ามาเชื่อมต่อกระบวนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ -ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ผลักดันแนวคิด Circular Living ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพ ปลุกกระแส เยาวชนคนรุ่นใหม่มาร่วมจัดการขยะในงาน ผ่านแคมเปญ “Waste This Way” รักษ์โลกให้ถูกทาง

02 Reduce 

ลดสิ่งที่ไม่จำเป็น

สิ่งที่ทั้งสองสถาบันทำได้และง่ายที่สุด คือการลดการใช้ขยะ Single-use ที่ไม่จำเป็นในการทำกิจกรรม หากสิ่งไหนที่ลดไม่ได้ก็จะนำกลับมาใช้ซ้ำ 

“เราเริ่มต้นจากการลดบรรจุภัณฑ์เป็นอย่างแรก ยกตัวอย่างปีที่ผ่านมาจุฬาฯ ใช้พลาสติกหลายชิ้นในหนึ่งมื้ออาหาร ทั้งถุงซอส ช้อนส้อม แยกกับข้าวและข้าวออกจากกัน ปีนี้เลยปรับให้มื้ออาหารเป็นเมนูที่ไม่ต้องแยกส่วนกัน ตรงนี้ก็จะเป็นการลดขยะได้ตั้งแต่ต้นทางเลย 

“และเรายังพยายามลดขยะแบบ Single-use เท่าที่จะทำได้ เช่นขวดน้ำที่มอบให้น้องๆ ที่นั่งบนสแตนด์มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงเปลี่ยนวิธีการจากปกติแจกน้ำขวดเล็กประมาณสองร้อยห้าสิบมิลลิลิตร เราก็เปลี่ยนมาเป็นการแจกน้ำขวดใหญ่ไปเลย อย่างน้อยก็ลดพลาสติกไปได้อีกหลายชิ้น 

“ส่วนอันนี้ไม่รู้บอกได้ไหมนะ (หัวเราะ) โดยปกติแล้วทางฝั่งจุฬาฯ มีสิ่งที่เรียกว่าบัตรคิว เป็นบัตรที่แจกเวลาคนมางาน ‘BAKA Pink Road’ เพื่อใช้ในงานจับรางวัลตอนจบงาน ปีนี้เราเลยเปลี่ยนบัตรคิวมาอยู่ในโทรศัพท์มือถือแทน” ศิลา ประธานคณะกรรมการดำเนินงานระดับนิสิต ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ -ธรรมศาสตร์กล่าว

ความจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในการลดขยะพลาสติกจากงานบอล 74
ความจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในการลดขยะพลาสติกจากงานบอล 74

“เราพยายามลดขยะที่ไม่จำเป็น เช่น ถุงพลาสติกที่ใช้ใส่ของในงานบอลฯ ทั้งถุงใส่อุปกรณ์ ถุงใส่เสื้อเชียร์ โดยในทุกๆ ปีมีถุงพลาสติกหุ้มเสื้อแต่ละตัว แต่ปีนี้เราจะใส่เสื้อรวมกันไปเลยไม่หุ้มถุงพลาสติกแต่ละตัวเหมือนปีก่อนๆ มันอาจจะไม่ได้ลดทุกอย่างที่ใช้พลาสติกแต่เราจะลดมันให้มากที่สุด 

เพ็ญพิชชาเสริมอย่างกระตือรือร้นว่า “GC เป็นตัวกลางในการช่วยประสานความต้องการของพวกเราเข้ากับแหล่งผลิตวัสดุจากขยะพลาสติกด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเสื้อสตาฟและถุงยังชีพที่แจกบนสแตนด์เชียร์ในปีนี้ ทั้งหมดผลิตจากขยะขวดน้ำพลาสติก

“โดยมีขั้นตอนการผลิต คือนำขยะขวดน้ำพลาสติกไปตัดเป็นพลาสติกชิ้นเล็กๆ จากนั้นหลอมพร้อมยืดจนกลายเป็นเส้นใย ทอเป็นผ้าและตัดเย็บเป็นถุงยังชีพที่เป็นเส้นใยพลาสติกร้อยเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เสื้อสตาฟที่ใช้สวมใส่ เพื่อให้สบายขึ้นจึงผสมเส้นใยพลาสติกเข้ากับเส้นใยโพลีเอสเตอร์ เรยอน (Polyester Rayon) เส้นใยฝ้าย และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ซิงค์ แอนตี้แบคทีเรีย (Polyester Zinc Antibacterial) ที่ป้องกันแบคทีเรียได้” 

ความจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในการลดขยะพลาสติกจากงานบอล 74

ทั้งสองคนบอกเราว่า กระบวนการผลิตเสื้อสตาฟและถุงยังชีพของงานบอลฯ ครั้งนี้ ใช้เส้นใยจากขยะขวดน้ำพลาสติกจำนวน 14 ขวดต่อเสื้อหนึ่งตัว และ 7 ขวดต่อถุงหนึ่งใบเลยทีเดียว

เมื่อการลดใช้พลาสติกจากตัวเราดูจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่หลายคนทำได้ แต่ผลที่ได้รับกลับมานั้นไม่เล็กตาม เพราะงานบอลฯ ในปีนี้ตั้งใจสร้างขยะให้น้อยชิ้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะภาชนะที่ใช้ในงานที่ส่วนใหญ่จะกลายเป็นขยะ ในปีนี้จะใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากพืชและสามารถสลายตัวได้ หรือบรรจุภัณฑ์ GC Compostable มาทดแทน โดยขยะทุกชิ้นที่เกิดขึ้นจะเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ทั้งหมด แถมในงานยังมี Refill Station สถานีมอบเครื่องดื่มฟรีทุกชนิด เพียงแค่นำแก้วน้ำส่วนตัวมาเองเพื่อลดการใช้ภาชนะแบบ Single-use

ความจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในการลดขยะพลาสติกจากงานบอล 74

03 Substitute 

เปลี่ยนนี้เพื่อโลก

“เราเริ่มเปลี่ยนเพราะต้องการสร้างให้ทุกคนรับรู้ถึงสถานการณ์ของปัญหาขยะ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจมากที่สุดแล้วเกิดการ Take Action จุดที่คนให้ความสนใจงานบอลฯ มากที่สุด คงจะเป็นขบวนพาเหรด และการแปรอักษร 

“ปกติแล้วในทุกๆ ปีพาเหรดใช้วัสดุที่ทำมาจากโฟม ไม้ และพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนนี้เราก็พยายามหาสิ่งที่เปลี่ยนหรือทดแทนการใช้พลาสติกได้ ซึ่งงานบอลฯ ใช้อุปกรณ์พวกนี้ค่อนข้างสิ้นเปลือง หรือหากจำเป็นต้องใช้งานจริงๆ เราก็อยากให้สิ่งเหล่านี้สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้ 

ความจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในการลดขยะพลาสติกจากงานบอล 74

“หากพูดถึงการแปรอักษรเรา จะพบว่าคนที่กินอาหารกล่องมากที่สุดเป็นคนที่อยู่บนสแตนด์ ดังนั้นเราจึงเปลี่ยนไปใช้กล่องข้าวไบโอพลาสติกและช้อนจากเปลือกข้าวโพด ที่มีการย่อยสลายหลังการใช้งานในระยะเวลาเพียงสามถึงสี่เดือนแทน

“ไบโอพลาสติก (ฺBio-Compostable Packaging) เป็นพลาสติกที่ผลิตจากพืชและสามารถสลายตัวได้ โดยเมื่อสลายตัวจะกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และสารชีวมวลที่มีประโยชน์กับดินและพืชต่อไป” เพ็ญพิชชาอธิบาย 

ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการควบคุมการสลายตัวของไบโอพลาสติกยังต้องอาศัย 3 ปัจจัย คือ อุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส ความชื้น และจุลินทรีย์ในระดับเสถียร หากมีปัจจัยครบถ้วน กระบวนการย่อยสลายไบโอพลาสติกจะอยู่ที่ 180 วันเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังเรื่องการจัดเก็บหลังใช้งานไม่ให้ปะปนกับพลาสติกทั่วไป เนื่องจากมีกระบวนการจัดการต่างกัน

ความจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในการลดขยะพลาสติกจากงานบอล 74
ความจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในการลดขยะพลาสติกจากงานบอล 74

“ที่เห็นการเปลี่ยนชัดๆ อีกอย่างของจุฬาฯ ก็คงจะเป็นแลนมาร์กบนสแตนด์ที่เป็นคำว่า ‘จุฬาลงกรณ์’ โดยปกติแล้วจะทำมาจากโฟมเพราะเราเน้นทำง่าย ตัดออกมาแล้วสวยงาม แต่ปีนี้เรายอมทิ้งความสวยงามเหล่านั้น ทิ้งความง่ายของมัน แล้วใช้ไม้อัดในการทำแทน แต่ต้องเพิ่มกระบวนการอีกหลายอย่าง เราก็ไปปรึกษากับอาจารย์ที่เป็นวิศวกรว่าจะทำอย่างไรให้มีความปลอดภัยควบคู่กันไปด้วย” ศิลาเสริม

04 Sort

แยกขยะด้วยการเท>ทิ้ง>เท>ทิ้ง 

งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ- ธรรมศาสตร์ในปีนี้ จัดการให้มีการแยกขยะในเกือบทุกจุด โดยกำหนดให้มีจุดวางถังขยะให้เพียงพอและทั่วถึง รวมไปถึงมีสตาฟประจำอยู่ในทุกจุดแยกขยะเพื่อสอนการแยกขยะให้ทุกคนอีกด้วย และยังจัดตั้งจุดพักขยะเพื่อนำขยะเหล่านั้นกลับไปใช้งานได้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ทั้งสองสถาบันพยายามสอดแทรกเข้าไปในทุกๆ กิจกรรม

  ถังขยะภายในงานครั้งนี้มีคอนเซปต์การใช้งานแบบ เท>ทิ้ง>เท>ทิ้ง ภายในงานจะมี ถังขยะอยู่ 5 แบบ คือ 

1. ถังเทเศษอาหาร สำหรับการเทเศษอาหารทุกชนิด 

2. ถังทิ้งขยะ ‘เลอะ’ สำหรับพวกขยะเหลือทิ้ง เช่น ภาชนะเลอะและขยะทั่วไป 

3. ถังเทน้ำแข็งหรือหลอด สำหรับไว้เทน้ำแข็งและหลอดโดยเฉพาะ

4. ถังทิ้งขยะแห้งหรือรีไซเคิล สำหรับทิ้งขยะที่นำไปรีไซเคิลหรือเผาเป็นพลังงานได้

5. ถังทิ้งแยก ภาชนะ Bioplastic

ขยะเหล่านี้เมื่อผ่านการใช้งานแบบ เท>ทิ้ง>เท>ทิ้ง ในบริเวณรอบสนาม และจากสแตนด์เชียร์แล้ว จะถูกแบ่งออกเป็นประเภทและเข้าสู่ประบวนการที่จะทำให้เกิดขยะน้อยที่สุด ดังนี้ 

กระบองลม นำไปรีไซเคิล 

กระดาษแปรอักษร ส่งต่อให้โรงเรียนสอนคนตาบอด เพื่อนำไปทำสมุดอักษรเบรลล์ 

กล่องไบโอพลาสติก นำไปฝังดินเพื่อย่อยสลายเป็นปุ๋ย

ขยะปนเปื้อนทั่วไป ส่งสำนักงานเขตเพื่อไปกำจัดต่อ 

เศษอาหาร ส่งเป็นอาหารสัตว์หรือนำมาทำปุ๋ยของจุฬาฯ 

น้ำหรือน้ำแข็ง นำน้ำไปทิ้งลงท่อระบายน้ำ 

นอกจากการ ลด เปลี่ยน แยก ที่ทั้งสองคนได้แลกเปลี่ยนพูดคุยพูดถึงการเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนในงานครั้งนี้ ทั้งสองมหาวิทยาลัย และ GC ยังได้ร่วมมือกันออกแบบแผนผังการจัดการขยะภายในงานอีกด้วย โดยขยะที่มาจากขบวนพาเหรดจะถูกจำแนกออกส่วนๆ และนำเข้าสู่กระบวนการกำจัดขยะ ดังนี้ 

ความจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมของจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในการลดขยะพลาสติกจากงานบอล 74

ไม้ท่อน/ไม้แผ่น/ไม้ไผ่ จะถูกส่งต่อให้มูลนิธิกระจกเงา นำไปสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาส

ผ้าดิบหรือผ้าต่วน จะนำผ้าเหล่านี้ไปทำถุงใส่ยาให้โรงพยาบาลที่ห่างไกล ร่วมกับ Chula Zero Waste

โฟมหรือโอเอซิส โฟมขาวและเปเปอร์มาเช่ จะส่งโรงงานเผาเป็นพลังงาน

ขยะขวดน้ำพลาสติก PET ในงาน จะนำไปทำเป็นรองเท้ามอบให้น้องๆ ผู้้ด้อยโอกาส

ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ- ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 จะมีการจัดเก็บข้อมูลการจัดการขยะทั้งหมดเพื่อเป็นตัวอย่างของการจัดการขยะในกิจกรรมขนาดใหญ่ ศิลาและเพ็ญพิชชากล่าวทิ้งท้ายยิ้มๆ ว่า “ถึงการจัดการขยะเราจะอยู่ฝั่งเดียวกัน แต่การแข่งขันเรายังอยู่กันคนละฝั่งนะ” 

และเมื่อช่วงเวลาแห่งการแข่งขันสิ้นสุดลง มิตรภาพและความทรงจำจะเป็นสิ่งที่คงอยู่ต่อไป ส่วนขยะทุกชิ้นที่เกิดขึ้นในงานก็มีหนทางไปต่อ เพื่อสร้างประโยชน์ให้โลกและสังคมในอนาคต

Writer

Avatar

พาฝัน หน่อแก้ว

เด็กวารสารศาสตร์ ผู้ใช้ชีวิตไปกับการเดินทางตามจังหวะเสียงเพลงโฟล์คซองและ R&B จุดอ่อนแพ้ทางของเซลล์ทุกชนิด

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล