28 กุมภาพันธ์ 2019
7 K

พวกเรานั่งอยู่ใน PLEARN Space กลางจุฬาฯ ที่นี่คือ Digital Co-learning Space หรือพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน ที่รังสรรค์โดยธนาคารกสิกรไทย

ทำไมสถาบันการเงินอย่างธนาคารต้องมาสร้างพื้นที่แบบนี้ ร่วมกันกับสถาบันการศึกษา นี่ไม่ใช่ขอบเขตของงานธนาคารที่เราคุ้นชินกันเลย แต่เป็นความตั้งใจของกสิกรไทยกับจุฬาฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน

ผู้ที่จะมาเล่าเรื่องการร่วมมือนี้ให้ฟังนั่งอยู่ตรงหน้า เธอคือ ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการแห่งธนาคารกสิกรไทย มาพร้อมทีมผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์เทคโนโลยีให้โปรเจกต์ CU NEX

CU NEX

“ธุรกิจธนาคารเปลี่ยนไปเยอะเลย เดี๋ยวนี้สตาร์ทอัพหรือใครก็เข้ามาทำได้หมด ถ้าเราอยู่เป็นธนาคารแล้วทำเหมือนเดิม ในอนาคตเราคงเหนื่อย เราเลยเปลี่ยนตัวเองด้วยการไปสร้างที่ยืนใหม่ในพื้นที่อื่นๆ” ขัตติยาตอบด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นกับการเล่าเรื่องงานนี้

เพราะเหตุนี้ CU NEX จึงเป็นมากกว่าแค่ธนาคารดูแลเรื่องการเงินให้มหาวิทยาลัย

แล้วจะเป็นมากกว่าได้อย่างไรบ้าง? กสิกรไทยเลือกส่งทีมซึ่งเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการออกแบบเข้ามาช่วยจัดการสร้างสรรค์แอป พวกเขาใช้วิธีการเข้าไปพูดคุยสอบถามกับชาวจุฬาฯ อย่างเจาะลึก จนเข้าใจว่าชาวจุฬาฯ ต้องการอะไร แล้วจึงทำโปรเจกต์ไปตามทิศทางนั้น

“นิสิตเป็นวัยลูกค้าที่เรายังไม่ค่อยมี ยังไม่รู้ใจกัน วิธีการทำแรกๆ เราทำเหมือนเคแบงก์ทำ แต่ปรากฏว่าทั้งนิสิต ทั้งบุคลากร เขาไม่เก็ต เลยต้องเป็นทีมใหม่ที่ไม่ใช่ของเคแบงก์ เพื่อโฟกัสของจุฬาฯ โดยเฉพาะ” เธออธิบาย

นี่คือเรื่องเจ๋งๆ 7 เรื่อง ที่เราไม่เคยคิดว่าธนาคารกับมหาวิทยาลัยจะร่วมกันสร้างได้

CU NEX CU NEX

01

ใช้แอปแทนบัตรนิสิตได้เลย

เพราะบัตรประจำตัวเป็นสิ่งที่นิสิตต้องใช้ทุกวัน ทีมเลยผลักดันให้บัตรนิสิตแบบ Virtual เสร็จเป็นสิ่งแรกๆ ของโปรเจกต์

บัตรนิสิตแบบ Virtual หมายถึง การมีบัตรนิสิตอยู่บนแอป CU NEX ทำให้นิสิตยืนยันตัวตนได้โดยไม่ต้องเปิดกระเป๋าตังค์ ตั้งแต่เข้าสถานที่ต่างๆ ใช้ห้องประชุมที่ตนจองไว้ แม้กระทั่งการเปิดล็อกเกอร์ใน PLEARN Space ก็ใช้มือถือแตะแทนได้ทั้งหมด ต่อให้บัตรทิ้งไว้ที่บ้านก็ยังใช้ชีวิตได้ไม่ติดขัด

ถ้าต้องการขอออกบัตรใหม่แบบที่มีบัตรเดบิตพ่วงด้วย ก็ทำบนแอปนี้ได้เลยโดยไม่ต้องไปถึงธนาคารเหมือนแต่ก่อน

นอกจากนั้น แอปยังช่วยเก็บข้อมูลตำแหน่งแหล่งที่ของผู้ใช้งาน เพื่อดูว่าประชากรจุฬาฯ อยู่ในพื้นที่ไหนเป็นหลัก และเน้นพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกัน นอกจากนี้ ถ้ามีเรื่องด่วน ก็กด SOS ให้ความช่วยเหลือไปหาได้ทันที

สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากความต้องการของนิสิตที่ทีมพบว่า “อยากให้เรื่องจุกจิกที่ทำให้เขาไม่ได้โฟกัสเรื่องเรียนหายไป” ซึ่งการพกบัตรนิสิตก็เป็นหนึ่งในนั้น

02

เปลี่ยนห้องเรียนเมื่อไรก็มีแจ้ง

นอกจากเรื่องบัตรแล้ว ก็มีเรื่องระบบการเช็กข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะตารางสอน ตารางสอบ และที่อยู่ของแต่ละห้องเรียนที่นิสิตหลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าอยากได้ความช่วยเหลือ

“แต่เดิมจะประกาศอะไรก็ใช้กระดาษแปะหน้าห้อง ทุกวันนี้ก็ใช้ไลน์ต่อๆ กัน เราเลยจับมารวมกันอยู่ที่เดียว ซึ่งแอปนี้ทำได้” ขัตติยาอธิบาย

แอป CU NEX มีข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนทุกอย่าง ตั้งแต่วันนี้คุณมีเรียนวิชาอะไรตอนไหนบ้าง จนถึงห้องตัวย่ออะไรอยู่ชั้นไหนของตึกไหน รวมถึงสามารถแจ้งเตือนประกาศเวลาเปลี่ยนห้องเรียนหรืองดคาบเรียน ส่งตรงถึงมือทุกคนที่เกี่ยวข้อง

ขัตติยาย้ำอีกรอบว่า “เรื่องการศึกษาเราไม่ยุ่ง เราแค่ช่วยดูแลเรื่องการกำจัดความวุ่นวายให้”

CU NEX

03

จัดกิจกรรมง่ายเพียงปลายนิ้ว

“เด็กเดี๋ยวนี้เขาชอบแสดงออก และทำได้ดีด้วยนะคะ เราเลยอยากมีเวทีให้เขาได้แสดงออก” ขัตติยากล่าวพร้อมรอยยิ้ม

โจทย์ดังกล่าว กสิกรไทยร่วมครุ่นคิดกับจุฬาฯ จนออกมาเป็น PLEARN Space ที่พวกเรานั่งอยู่ ที่นี่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้นิสิตจองและใช้งานผ่านแอปได้โดยตรง ขนาดทีมละครนิเทศฯ ก็เคยใช้พื้นที่ในการโปรโมตขายบัตรละคร และโชว์ทีมแดนซ์กลางลานมาแล้ว

เสียงตอบรับดีล้นหลามของพื้นที่ ทำให้ธนาคารกับอาจารย์เริ่มคุยกันเพื่อวางแผนขยับขยายพื้นที่อื่นๆ ให้ชาวจุฬาฯ เพิ่มเติม

แต่พื้นที่อย่างเดียวก็อาจไม่มีประโยชน์ ต้องมีระบบที่ช่วยให้นิสิตสร้างและโปรโมตกิจกรรมได้ด้วยตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กๆ ก็ไม่ต้องเหนื่อยเดินเรื่องประชาสัมพันธ์ ส่วนผู้สนใจก็ไม่ต้องเหนื่อยไปขวนขวายหากิจกรรมให้เข้าร่วม

04

พอกันทีกับการวุ่นวายขอเอกสาร

การขอเอกสารน่าจะเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของหลายมหาวิทยาลัย

ทางทีมเล่าให้ฟังถึงเสียงจากนิสิตที่ต่างพูดตรงกันว่า การขอลดขั้นตอนและเวลาขอเอกสาร เป็นสิ่งที่ถ้าทำได้จะดีมาก

กสิกรไทยร่วมมือกับบุคลากรที่ดูแลเรื่องนี้ ออกมาเป็นการแก้ปัญหาด้วยระบบ Blockchain ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลหล่นหายหรือถูกปลอมแปลงได้ยาก การเข้าถึงข้อมูลจะทำได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น หนึ่งในผลลัพธ์ปลายทางที่ออกมาคือ นิสิตจะกดขอเอกสารได้ทันทีในแอปนี้

ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากกสิกรไทยทำงานอยู่กับบริษัทใหญ่หลายที่ เช่น ปตท. นิสิตที่อยากฝึกงานหรือสมัครเข้าทำงานอาจไม่ต้องขอเอกสารเลยก็ได้ เพราะระบบ Blockchain จะช่วยส่งผลการศึกษาไปยังบริษัทต่างๆ โดยตรง

ขัตติยาชวนสังเกตว่า การแก้ปัญหาไม่ได้แตะกับส่วนข้อมูลเลย แต่เป็นการให้เครื่องมือมากกว่า “แอปนี้จะประสบความสำเร็จก็ต้องเป็นความร่วมมือ เนื้อหาข้างในเป็นของจุฬาฯ ทั้งหมด เราเพียงแค่ทำระบบให้”

CU NEX

05

ทุนการศึกษาเป็นของหาไม่ยาก

รู้หรือไม่ จุฬาฯ มีทุนการศึกษาอยู่มากถึง 2,000 ทุนต่อปี

คณาจารย์ต้องการผลักดันให้ทุนเหล่านี้กับนิสิต และมองเห็นว่าหากมีช่องทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพก็จะช่วยได้มาก

พวกเขาจึงนำทุนการศึกษามาเสนอถึงมือนิสิตให้สมัครได้ และรอฟังผลได้ทันทีผ่านทางแอป

ระหว่างการอธิบาย ขัตติยาพูดออกมาว่า “เราเปลี่ยนกระบวนการเพราะคิดว่าถ้าเด็กอยากได้ทุนก็คงอยากรู้ว่าได้หรือยัง อาจารย์ต้องการเอกสารอะไรเพิ่มมั้ย แล้วมีเดดไลน์ชัดเจน อาจารย์เองก็คงอยากให้ทุนอยู่แล้ว คงดีกว่าถ้ามีข้อความเด้งขึ้นมาคอยเตือนคอยบอก ก็ทำเพื่อทุกคนแหละ”

06

มากกว่าเทคโนโลยี คือผู้คน

อีกมุมหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้เกี่ยวกับ CU NEX คือการรวมนิสิตเข้ามาในกระบวนการอย่างแท้จริง

ตัวอย่างเช่นการให้นิสิตนิเทศศาสตร์ทำโฆษณาแนะนำโปรเจกต์นี้ หรือล่าสุด ทีมก็กำลังตามหานิสิตสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่จะเป็นผู้ออกแบบตู้ ATM สำหรับใช้จริงในพื้นที่จุฬาฯ

ข้อดีของการทำเช่นนี้คือ นิสิตได้มีโอกาสทำงานจริง และผลผลิตก็ออกมาตรงใจกลุ่มเป้าหมาย

“ของสิ่งนี้ จุฬาฯ เป็นเจ้าของ นิสิตเป็นเจ้าของ” ขัตติยาพูดพร้อมรอยยิ้ม

โปรเจกต์นี้จึงเป็นมากกว่าแค่ที่เห็นในมือถือมากนัก

07

ต่างมหาวิทยาลัย ต่างฝัน

แม้โปรเจกต์นี้จะดีกับจุฬาฯ ไม่ได้แปลว่าจะเหมาะกับมหาวิทยาลัยอื่นด้วย

“ฝันของแต่ละมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน” ขัตติยากล่าว ก่อนเล่าต่อไปถึงงานที่เธอทำกับแห่งอื่นๆ ทั้งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แต่ละที่มีวิธีคิดที่แตกต่างกัน เพราะมีจุดยืน ตัวตน และเป้าหมาย แตกต่างกัน

เธออธิบายว่า “เราไม่เคยมีเทมเพลต ที่เปลี่ยนแค่โลโก้ เปลี่ยนสี แล้วกลายเป็นอีกมหาวิทยาลัยได้ เราพยายามปรับแต่งให้เหมาะกับนิสิตนักศึกษาและบุคลากรของแต่ละมหาวิทยาลัย”

เมื่อดูเผินๆ แล้ว CU NEX อาจเป็นโปรเจกต์ที่ไม่ซับซ้อนหวือหวามากนัก แต่เบื้องหลังคือการร่วมมือในทุกด้าน ระหว่างกสิกรไทยกับจุฬาฯ จนกลายเป็นต้นแบบการใช้ชีวิตการศึกษาในยุคดิจิทัลได้ในที่สุด

CU NEX

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan