27 พฤศจิกายน 2018
5 K

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ บ่อยนัก

ทุกก้าวของจุฬาฯ อยู่บนความระมัดระวังและมั่นคง กว่าจะก้าวได้ครั้งหนึ่งต้องผ่านการศึกษาวิเคราะห์ คิดคำนวณ และปรับปรุงแก้ไขจนเฉียบพร้อมที่สุด จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

เราเลยตื่นเต้นเมื่อทราบข่าวว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังจะทำผังแม่บทใหม่ ภายใต้โครงการ CU Masterplan 2040 ว่าด้วยการปรับปรุงการใช้พื้นที่เขตการศึกษาของจุฬาฯ เพื่อพามหาวิทยาลัยเก่าแก่อายุขึ้นเลข 200 เดินไปข้างหน้าได้อย่างสง่างามและทันโลก

เพราะอยากเข้าใจความพิเศษของผังแม่บทนี้ เราเลยไปคุยกับ อาจารย์แดง-ผศ. ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ แห่งศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบการออกแบบผังแม่บท

เรานัดเจอกันกลางมหาวิทยาลัย แม้จะทำงานหนักจนนอนไม่พอต่อกันมาหลายเดือน แต่อาจารย์ก็ยังพกสีหน้าแจ่มใสเป็นมิตรและความกระตือรือร้นเต็มเปี่ยมมาเจอเพื่อเล่าแผนสุดเจ๋งนี้ให้เราฟัง

ผังแม่บทใหม่ของจุฬาฯ, ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ

ผังแม่บทใหม่ของจุฬาฯ, ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ

01

ผังแม่บทที่เหมาะกับโลกยุคใหม่

คำว่า ‘ผังแม่บท’ อาจถูกเข้าใจในวงกว้างว่าเป็นแนวทางการสร้างและออกแบบบนพื้นที่หนึ่งๆ แต่ความจริงแล้ว พลังของผังแม่บทนั้นไปไกลกว่าการทุบตึกและสร้างสวนมากนัก ผังแม่บทที่ดีอาจมีพลังพอจะพลิกพฤติกรรมผู้ใช้จากหน้ามือเป็นหลังมือได้เลย

ในโลกที่หมุนไปเร็วเกินกว่าจะคาดเดาอนาคตได้ยาว ผังแม่บทควรได้รับการอัพเดตใหม่ทุก 5 ปี เพื่อให้ความเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยสอดคล้องกับความเป็นไปของโลก ไม่ใช่แค่ในแง่รสนิยมการออกแบบ แต่รวมไปถึงในแง่ทัศนคติ แนวคิด และค่านิยมของสังคมด้วย

การปรับปรุงผังแม่บทจึงควรเป็นการปรับทัศนคติของมหาวิทยาลัยไปด้วยในตัว

ทีนี้ ทัศนคติใหม่ที่มหาวิทยาลัยควรมีคืออะไร

หากมองทิศทางของโลก จะเห็นว่าตอนนี้โลกมาถึงยุคหลังอุตสาหกรรมแล้ว หมายความว่าสังคมไม่ได้ต้องการคนพิมพ์เดียวกันที่มีแค่ความรู้พื้นฐานอีกต่อไป สิ่งที่สังคมต้องการคือคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีทักษะทางสังคม ซึ่งระบบการศึกษาก็ต้องผลิตคนให้ได้ตามนั้น หากออกมาไม่ถูกใจ หลายบริษัทก็พร้อมจะตั้งสถาบันเพื่อสร้างคนด้วยตัวเอง ทำให้มหาวิทยาลัยยิ่งต้องรีบปรับตัว

ความหมายของมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่แค่กลุ่มอาคารบนพื้นที่ว่างอีกต่อไป แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนที่เข้ามาอยากฟัง อยากรู้ อยากถกเถียงกันตลอดเวลา

นี่คือสิ่งที่ผังแม่บทจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้

ผังแม่บทใหม่ของจุฬาฯ, ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผังแม่บทใหม่ของจุฬาฯ, ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ

02

ก้าวข้ามความเป็นคณะ

แนวคิดหนึ่งที่จะพามหาวิทยาลัยไปให้ถึงจุดนั้น คือการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ (Cross-disciplinary Learning)

หากสงสัยว่าการเรียนรู้ข้ามศาสตร์มันดีอย่างไร ให้ลองสังเกตเวลาคนคุยกัน จะพบว่าวงสนทนาที่มีคนหลากหลายมักจะคุยสนุกกว่าวงสนทนาที่มีคนแค่ประเภทเดียว นั่นเป็นเพราะเมื่อคนรู้อะไรต่างกัน คิดอะไรต่างกัน มาพบปะเจอกัน ความคิดใหม่จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า ดังที่มักเรียกกันว่า เกิดการปะทะสังสรรค์ทางความคิด นั่นเอง
คงจะดีหากมีพื้นที่ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการปะทะสังสรรค์ดังกล่าวเยอะๆ

เมื่อมองไปทั่วโลก จะพบว่ามีมหาวิทยาลัยมากมายที่พยายามสร้างบรรยากาศแบบนี้ ตั้งแต่ d.school หน่วยงานกลาง Stanford University ที่มีไว้เพื่อให้คนจากทุกคณะมาสร้างสรรค์ร่วมกัน จนถึง EUREF วิทยาเขตของ Technische Universität Berlin ในเยอรมนี ที่เชิญชวนคนนอกเข้ามาทำงานคลุกคลีกับนักศึกษาอย่างเต็มที่

ผังแม่บทของจุฬาฯ ก็จะมุ่งเป้าไปตามทิศทางนั้นเช่นกัน

หากมีพื้นที่ทางกายภาพให้คนออกมาคุยกัน มาเจอกันจริงๆ อย่างอิสระ ก็จะช่วยให้เกิดความเชื่อมต่อใหม่ ทั้งระหว่างคนจากคณะต่างๆ ที่เคยต่างคนต่างอยู่ และระหว่างคนในกับคนนอก ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีช่องทางไหนให้เข้ามาทำงานร่วมกันได้

ในผังแม่บทจึงเต็มไปด้วยเรื่องการเพิ่มพื้นที่เปิด พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ที่เป็นมิตรกับคนนอกมหาวิทยาลัยมากขึ้น

ผังแม่บทใหม่ของจุฬาฯ, ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผังแม่บทใหม่ของจุฬาฯ, ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ

03

พื้นที่เปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน

หนึ่งในเรื่องน่าเสียดายของมหาวิทยาลัยไทย คือแม้จะมีความรู้หลากหลายศาสตร์ ทั้งวิทย์ ทั้งศิลป์ ทั้งวิชาการและธุรกิจ อยู่ร่วมกันในที่เดียวกัน แต่เรากลับแยกกันอยู่เป็นคณะ

ความเป็นคณะทำให้กลุ่มคนแต่ละกลุ่มถูกแบ่งจากกัน คนในคณะหนึ่งก็ไม่กล้าเดินเข้าอีกคณะหนึ่ง เพราะรู้สึกว่ากำลังรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของคณะอื่น กลายเป็นว่ามหาวิทยาลัยที่มีความรู้มากมายพลาดโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้อันมหาศาลไป โดยที่ไม่ได้เป็นความผิดของใครเลย

อ.นิรมล ชี้ว่า วิธีคิดแบบนี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากหน้าตึกของแต่ละคณะที่มีลักษณะล้อมคณะเอาไว้ เป็นเสมือนกำแพงซ่อนความเจ๋งเอาไว้ภายใน ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าใครทำอะไรอยู่บ้าง

การจะทำให้คณะที่แยกกันอยู่อยากหันหน้าเข้าหากัน จึงต้องปรับหน้าตาอาคารเสียใหม่

จากกำแพงปูน เปลี่ยนเป็น Active Ground Floor นั่นคือชั้นหนึ่งที่โล่งโปร่งใส น่านั่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามความต้องการ และมองเห็นได้จากข้างนอก ช่วยให้คนในไม่อยากออก คนนอกก็อยากเข้า โดยที่ในขณะเดียวกัน ภายในตัวอาคารจะแบ่งโซนเพื่อคงความเป็นส่วนตัวของคณะไว้ด้วย

เมื่อบุคลากรแต่ละคณะได้มองเห็นด้วยสายตาว่าทั้งคณะตัวเองและคณะอื่นมีผลงานอะไร ทุกคนก็จะพร้อมเปิดใจหากันมากขึ้นเอง

การทำลายกำแพงเชิงกายภาพทิ้ง จะช่วยสลายกำแพงในใจไปด้วย

ผังแม่บทใหม่ของจุฬาฯ, ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผังแม่บทใหม่ของจุฬาฯ, ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ

04

คนใช้งานพื้นที่ ทำให้มันมีชีวิต

ในทางกลับกัน จุฬาฯ มีอาคารคุณภาพดีมากมาย ที่ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มที่

หากนับจำนวนดู จะพบว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีอาคารเยอะจนไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่แล้ว เพียงแค่ต้องหาวิธีใช้งานอาคารเหล่านี้ให้คุ้มก็พอ

แล้วจะเชื้อเชิญให้คนเข้ามาใช้งานอาคารทั้งหลายได้อย่างไร อ.นิรมล เสนอวิธีการใช้คนดูดคน

“คนมันดูดคน ถ้าไม่มีคน มีแต่นิทรรศการ อาคารมันจะไม่มีชีวิต” อ.นิรมล อธิบาย ก่อนยกตัวอย่างที่ชัดเจน นั่นคือศาลาพระเกี้ยว

ศาลาพระเกี้ยวเป็นอาคาร 2 ชั้นที่มีจุดยุทธศาสตร์ดีเยี่ยม คืออยู่กลางมหาวิทยาลัย และมีโครงสร้างสวยมาก หากมองจากด้านบนจะเห็นเป็นรูปพระเกี้ยวเสียด้วย

แต่ทั้งชีวิตนิสิตจุฬาฯ หลายคน แทบนับจำนวนครั้งที่เข้าไปเหยียบศาลาพระเกี้ยวได้ในสองมือ

ผังแม่บทนี้จึงเสนอให้ปรับปรุงศาลาพระเกี้ยวใหม่ ใช้กระจกกั้นห้องบนชั้นสองของอาคาร และเลือกเอาศูนย์วิจัยเจ๋งๆ ที่แต่ละภาคส่วนของจุฬาฯ มีอยู่แล้วมานั่งทำงานเคียงข้างกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจชวนให้คนอยากทำงานวิจัยข้ามศาสตร์มากขึ้นไปอีก

นึกภาพว่าถ้าเหล่านิสิตนักศึกษาได้มาเดินดู แอบฟัง หรือทดลองทำงานกับศูนย์วิจัยต่างๆ ในอาคารกลางมหาวิทยาลัย แค่นี้ก็ชวนให้เกิดความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้ได้แล้ว

ผังแม่บทใหม่ของจุฬาฯ, ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผังแม่บทใหม่ของจุฬาฯ, ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ

05

จุฬาฯ ใหม่ไฉไลกว่าเดิม

หากเกิดการเปลี่ยนแปลงตามผังแม่บทดังกล่าวจริง จุฬาฯ จะเปลี่ยนไปอย่างไร

สิ่งที่เราเห็นได้ในเชิงกายภาพอาจเปลี่ยนไปไม่มากเท่าไร เพราะการวางผังที่ดี คือการเปลี่ยนให้น้อยที่สุด แต่สร้างผลกระทบสูงสุด

ผลกระทบในที่นี้ หมายถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ข้ามคณะ ที่จะเกิดมากและบ่อยขึ้น เราจะได้เห็นภาพของคนต่างคณะที่มาสุมหัวทำงานด้วยกัน ทั้งในและนอกเวลาทำการ และคนก็จะอยู่ในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่มาเข้าห้องเรียนแล้วก็จากไป

โดยรวมแล้ว ชีวิตมหาวิทยาลัยของจุฬาฯ จะเด่นชัดขึ้นนั่นเอง

เมื่อถามอาจารย์ว่า ผังแม่บทนี้จะมีโอกาสสำเร็จในทางปฏิบัติมากแค่ไหน อาจารย์ตอบกลับมาด้วยความหวัง

“ตอนแรกก็คิดกลัวว่ายากแน่เลย แต่ยิ่งทำก็ยิ่งมั่นใจขึ้นเรื่อยๆ เพราะได้แรงสนับสนุนจากทุกด้าน” อาจารย์บอก ก่อนเสริมว่า ตลอดการทำงาน UddC ได้คำแนะนำดีๆ และความช่วยเหลือจากอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่าน จนงานสำเร็จมาถึงจุดนี้ได้

ความจริงแล้ว จุฬาฯ ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง

ผังแม่บทใหม่ของจุฬาฯ, ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผังแม่บทใหม่ของจุฬาฯ, ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ

06

มหาวิทยาลัยของทุกคน

ผังแม่บทนี้จะไม่มีทางสำเร็จได้เลย หากเกิดมาจากความคิดของ อ.นิรมล เพียงคนเดียว

ความเข้มแข็งของโครงการนี้ไม่ได้มาจากการศึกษาแนวทางของมหาวิทยาลัยอื่นในต่างประเทศเท่านั้น แต่มาจากการฟังเสียงของคนในพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้จริงๆ ด้วย

นั่นคือที่มาของการสำรวจความคิดเห็นกว่า 60 ครั้งตลอดกระบวนการออกแบบ ที่พาผู้บริหารระดับสูงมานั่งโต๊ะเดียวกับเหล่านิสิตและชาวบ้านในชุมชนรอบข้าง เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนอยากเห็นเกี่ยวกับจุฬาฯ อย่างอิสระ โดยไม่มีตำแหน่งหรือสถานะมากั้นขวาง

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อนำบทสัมภาษณ์ความคิดเห็นต่างๆ มาเรียงต่อกันดู ทีมก็พบว่าคนส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการเพิ่มพื้นที่ที่ทุกคนจะใช้ร่วมกันได้นี่เอง

แค่ในขั้นตอนกระบวนการวางผังแม่บทเพื่อสลายกำแพง ก็เริ่มทำให้กำแพงสลายไปแล้ว

ผังแม่บทนี้ทำให้เริ่มเกิดการพูดคุยข้ามคณะ ข้ามกลุ่ม อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การถกเถียงกันทำให้คณบดีหลายคณะพบว่าต่างคนต่างต้องการสิ่งเดียวกัน โดย อ.นิรมล คาดหวังว่าการค้นพบใหม่นี้จะนำไปสู่การวางแผนการเงิน การจัดหลักสูตร และการเปลี่ยนแปลงระบบภายในอื่นๆ อีกมากมาย

ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ก็เมื่อพื้นที่สาธารณะในมหาวิทยาลัยและในหัวใจ ขยับเคลื่อนไปพร้อมกัน

หากคุณอยากฟังผลลัพธ์เต็มๆ ของการออกแบบผังแม่บทนี้ กดเข้าไปดูได้เลย ที่นี่

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook : CU 2040 Masterplan

ผังแม่บทใหม่ของจุฬาฯ, ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ