เวลาเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ ระหว่างทางที่ทิวทัศน์เคลื่อนผ่านสายตาของเรา สิ่งหนึ่งที่มักพบเห็นข้างทาง คือป้ายบอกชื่อสถานที่ ซอย ถนน หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ บางชื่ออาจชวนขำ บางชื่อแสนแปลกประหลาด แต่บางทีก็แสนไพเราะจนติดอยู่ในใจ แต่เคยสงสัยไหมว่าชื่อเหล่านั้นมีที่มาอย่างไร เขตบางรักที่คนแห่ไปจดทะเบียนสมรสกัน เพราะคนในพื้นที่เชิดชูความรักเช่นนั้นหรือ หรือบางกะปิ เคยมีร้านค้าขายกะปิเจ้าดังอยู่ที่นั่นใช่หรือไม่

คำตอบของคำถามเหล่านี้หลายครั้งก็หาคำอธิบายไม่ได้ เพราะไม่มีการจดบันทึกไว้ ต้องยอมรับว่าเราเป็นประเทศที่มีการบันทึกเรื่องราวในประวัติศาสตร์ค่อนข้างน้อย และสืบย้อนกลับไปได้ไม่ยาวนานนัก ที่จำได้เป็นความทรงจำ ซึ่งเจ้าของความทรงจำนั้นอาจหมดลมหายใจจากไปพร้อมกับความทรงจำแล้ว หลายเรื่องราวในแต่ละสถานที่จึงหายไปตามกาลเวลา เมื่อไม่มีหลักฐานการมีอยู่ ก็ราวกับว่ามันไม่เคยมีอยู่จริงในยุคสมัยถัดมา

แล้วเราจะหาความทรงจำที่ไม่ถูกบันทึกไว้ได้จากที่ไหนได้บ้าง หนึ่งในนั้น คือ ‘แผนที่’

แผนที่ ไม่ได้มีหน้าที่แค่แสดงหนทาง บอกลักษณะ ขนาด และที่ตั้งของสถานที่เท่านั้น แต่เป็นสิ่งเก็บความทรงจำของพื้นที่ เมือง ประเทศ จนถึงโลก เมื่อนำแผนที่เก่ามาเรียงเปรียบเทียบกันในแต่ละช่วงปี ก็บอกความเปลี่ยนแปลงของเมืองได้ หลายพื้นที่หน้าตาเปลี่ยนไปจนไม่เหลือเค้าเดิมเหมือนชื่อ หรือบางพื้นที่อาจเหลือไว้แค่เพียงชื่อ แต่อาจปรากฏตำแหน่งอยู่บนแผนที่เก่าสักปี แผนที่จึงเป็นหนึ่งในหลักฐานที่ยืนยันว่าเรื่องราวในอดีตนั้นเป็นจริง

แผนที่จึงไม่ได้บอกแค่ที่ไป แต่ยังบอกที่มาของสถานที่ต่าง ๆ ได้

หน่วยวิจัยแผนที่ฯ เพจแกะประวัติศาสตร์จากแผนที่เก่า ให้สนุกกับการรู้จักเมืองผ่านอดีต

นี่คือสิ่งที่ ‘หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ พยายามสื่อสารกับคนทั่วไปมาตลอด 3 ปี และกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเรื่องราวน่าสนใจในอดีตของแผนที่เก่าที่ทางหน่วยวิจัยแผนที่ฯ คัดมานำเสนอบนเพจ หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม เป็นประจำ

หน่วยวิจัยแผนที่ฯ ทำงานอย่างไร และมีวิธีดูแผนที่อย่างไรให้เห็นเรื่องราวจากอดีต ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมเมืองและชุมชน หยิบแว่นขยาย กางแผนที่ แล้วตามเราไปทำความรู้จักกับพวกเขากัน

หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่การทำงานของพวกเขาเริ่มต้นมาก่อนหน้านั้นหลายสิบปี โดยเริ่มต้นจาก ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย สถาปนิก อาจารย์ และอดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาฯ

“แผนที่มีความสำคัญอย่างมาก นี่เป็นสิ่งที่ผมรับรู้ได้ชัดเจนตอนเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ฝรั่งเศส ที่ปารีสมีพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง ชื่อ The Musée des Plans-Reliefs มีการเก็บรวบรวมแผนที่โบราณไว้ แต่ที่ทำให้ผมตื่นเต้นมาก คือ มีการแสดงหุ่นจำลองของเมืองต่าง ๆ ในฝรั่งเศส ทำขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชาวตะวันตกเริ่มต้นทำแผนที่อย่างเป็นระบบมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สั่งให้คนสำรวจเมืองต่าง ๆ ไปวัดว่าถนนยาวเท่าไหร่ บ้านกว้างเท่าไหร่ เวลาเขาสร้างป้อมในฝรั่งเศส มันไม่ใช่แค่ป้อมเฉย ๆ ป้อมเขาจะคุมเมือง เป็นป้อมกลางเมือง ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ก็วาดแบบส่ง แต่สมัยนั้นไม่มีเครื่องมือเขียนแบบ แล้วจะทำยังไง ก็เลยสร้างหุ่นจำลองขึ้นมา

หน่วยวิจัยแผนที่ฯ เพจแกะประวัติศาสตร์จากแผนที่เก่า ให้สนุกกับการรู้จักเมืองผ่านอดีต
หน่วยวิจัยแผนที่ฯ เพจแกะประวัติศาสตร์จากแผนที่เก่า ให้สนุกกับการรู้จักเมืองผ่านอดีต

“ถึงวันนี้เอกสารแบบสำรวจนั้นก็ยังถูกเก็บไว้ แล้วเขาก็เอามาทำเป็นหุ่นจำลอง บางเมืองมีขนาดใหญ่เท่ากับห้องหน่วยวิจัยแผนที่ฯ นี้เลยด้วยซ้ำ นี่คือเครื่องมือที่พระเจ้าหลุยส์ใช้ สมมติว่าจะทำโบสถ์ เขาก็รู้ว่าจะต้องสร้างตรงไหน อย่างไร ขนาดเท่าไหร่ เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการอสังหาริมทรัพย์สมัยใหม่ และทำให้ฝรั่งเศสยิ่งใหญ่ขึ้นมา

“ประวัติการทำแผนที่และแบบจำลองนั้น ทำให้ผมเข้าใจที่มาของหน่วยวัดแบบ Foot ที่แปลว่าเท้า เพราะมันคือการวัดจากก้าวเดินจริง ๆ ในยุคที่ยังไม่มีระบบเมตร สมัยนั้นเขายังใช้หน่วยถนนกว้าง 3 ก้าว 4 ก้าวกันอยู่

“พอเรียนจบกลับมา สิ่งที่ได้ไปเห็นมันทำให้ผมแปลกใจว่า เราสอนเรื่องผังเมือง แต่เราไม่เคยสนใจแผนที่เลย ในสมัยนั้นเราพอมีแผนที่เก่าอยู่บ้าง เขาใช้แผนที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 มาสอน เรามีความสนใจเกี่ยวกับแผนที่น้อยมาก สิ่งแรกที่ผมทำ จึงเป็นการพยายามค้นหาและเก็บรวบรวมข้อมูลแผนที่เกี่ยวกับประเทศไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เหตุผลที่ทำให้แผนที่ต่าง ๆ ในไทยไม่ถูกนำเสนอ เพราะว่าถูกเก็บไว้ที่กรมแผนที่ทหาร มันเป็นความลับทางราชการ แม้จะเป็นแผนที่ในอดีตไปแล้ว แต่เราลองเข้าไปขอข้อมูลเหล่านี้ออกมาเพื่อการศึกษาและขอทำเผยแพร่ โชคดีที่เขายอม เราก็เริ่มขอทุนมาพิมพ์แผนที่ต่าง ๆ แจกให้กับผู้ที่สนใจ ประกอบกับทีมของเราเริ่มค้นเอกสารต่าง ๆ จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ค้นพบเอกสารจำนวนมากที่นำมาบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของเมือง นำมาเล่าประกอบกับแผนที่เก่าต่าง ๆ ที่เราสะสมไว้ได้ พอจุฬาฯ เห็นถึงประโยชน์ในสิ่งที่เราทำ จึงให้ทุนจัดตั้งเป็นหน่วยวิจัยแผนที่ฯ ขึ้นมา” อ.บัณฑิต เล่าที่มาให้ฟัง แล้วจึงหันไปหยิบแผนที่ฉบับหนึ่งขึ้นมาวางบนโต๊ะ 

หน่วยวิจัยแผนที่ฯ เพจแกะประวัติศาสตร์จากแผนที่เก่า ให้สนุกกับการรู้จักเมืองผ่านอดีต

แผนที่ที่อาจารย์หยิบขึ้นมาให้ดูมีที่มาน่าสนใจ ถือเป็นแผนที่เก่าที่มีความละเอียดที่สุดอันหนึ่งของประเทศ

“แผนที่กรุงเทพฯ อันนี้ เป็นแผนที่ที่มีที่มาประหลาด เพราะตำรวจเป็นคนจัดทำขึ้นมา แทนที่จะเป็น กทม. หรือกรมแผนที่ทหาร ผมเจอแผนที่นี้หลังจากไปเจอกองตำรวจหนึ่ง ชื่อว่ากองแผนที่ ความดีของแผนที่นี้ คือ มีการจัดเก็บข้อมูลที่ละเอียดมาก ๆ ระบุชื่อ บ้านเลขที่ ถนน ซอกซอย ไว้เกือบครบถ้วน ที่ต้องละเอียดเช่นนี้ เพราะในอดีตตำรวจใช้ในการตามจับผู้ร้าย ซึ่งแผนที่แผ่นนี้ผมเขียนไว้ว่า พ.ศ. 2517 แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าตำรวจทำแผนที่นี้อยู่ตลอด แก้ไปเขียนไป มีข้อมูลใหม่ก็แก้ ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง แต่ผมบังเอิญไปได้มาตอนปีนั้น ก็เลยเขียนว่าปี 2517 

“ตัวแผนที่มีการจัดทำมาก่อน เช่น เราเห็นปีที่เขียนบนแผนที่ว่า 2475 ความจริงเริ่มทำตั้งแต่ พ.ศ. 2460 จัดพิมพ์เผยแพร่ตอน พ.ศ. 2475 และสมัยก่อนเขาจะเขียนแผนที่ลงบนกระดาษไข การที่จะเผยแพร่ ต้องมีการคัดลอกใหม่ ผมขอทุนจากจุฬาฯ เพื่อคัดลอกแผนที่ฉบับนี้ใหม่ให้เป็นไฟล์ ใช้แรงทั้งหมด 300 กว่าคน เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อปีนี้เอง”

หนึ่งในการงานของหน่วยวิจัยแผนที่ฯ คือการค้นหาแผนที่เก่ามาจัดทำให้เป็นระบบระเบียบ และนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ให้คนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ แต่คนทั่วไปจะได้ใช้ประโยชน์อะไรจากแผนที่เก่า เป็นคำถามที่เรายังสงสัย

“วัฒนธรรมของคนต่างชาติที่มีการบันทึก มีการจัดเก็บข้อมูลที่ดี แต่เราไม่ค่อยได้ทำหรือให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ทั้งที่มันสำคัญ เราก็เลยเริ่มต้นทำ เพราะแผนที่ไม่ได้เป็นแค่ลายแทง แต่ใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบข้อมูล เช่น ครั้งหนึ่งผมเคยไปเจอคนที่บอกว่า อาคารของเขาเป็นอาคารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เราจะรู้ว่าจริงหรือไม่ ก็ต้องกลับไปดูแผนที่ ผมพบว่าแผนที่ พ.ศ. 2475 ยังไม่มีการเกิดขึ้นของตัวอาคารนี้เลย ผมก็เอาไปให้เขาดูว่าความจริงเป็นเช่นไร 

“สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับให้ได้คือ เราเป็นชาติที่ไม่บันทึก ไม่พูดด้วยหลักฐาน เน้นอารมณ์ความรู้สึกเป็นหลัก ซึ่งทำให้หลายอย่างของเราขาดความเป็นมาและสร้างอะไรใหม่ขึ้นมาทับ เช่น บางรัก ทำไมถึงเรียกตรงนี้ว่าบางรัก เพราะเกี่ยวข้องกับความรัก เวลาใครจะแต่งงานก็ต้องมาจดทะเบียนที่นี่เพื่อให้รักยืนยาว

“ถ้าเรารู้ประวัติศาสตร์ที่มาของบางรัก ก็จะทราบว่ามันไม่ใช่เลย มันไม่จริง เพราะคำว่า รัก ตรงนี้ไม่ได้แปลว่าความรัก แต่มาจาก ต้นรัก ซึ่งเขาเอายางจากต้นรักที่เรียกว่ายางรักไปใช้เคลือบเครื่องเขิน เคลือบอุดเรือไม่ให้รั่ว เพราะฉะนั้น คุณสมบัติของรักในที่นี่จึงเป็นความทนทาน ทนมือทนตีน แต่ถ้าแต่งงานแล้วอยากให้แฟนรักเรา ซื่อสัตย์ตลอดไป ควรจะไปจดกันที่บางซื่อ”

หน่วยวิจัยแผนที่ฯ เพจแกะประวัติศาสตร์จากแผนที่เก่า ให้สนุกกับการรู้จักเมืองผ่านอดีต

“การรู้ที่มา รู้ประวัติศาสตร์ของตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในแง่วิชาการและการวางแผนต่อไปในอนาคตของประเทศ และแผนที่สามารถบอกที่มาได้ นี่คือประโยชน์ของแผนที่” อ.บัณฑิต เล่าด้วยน้ำเสียงสนุก 

ตลอด 3 ปีที่หน่วยวิจัยแผนที่ฯ ก่อตั้งขึ้นมา นอกจากการเก็บรวบรวมข้อมูลและสะสมแผนที่เก่าให้เป็นระบบ การนำเสนอคุณค่าแง่งามของแผนที่เก่าก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทางหน่วยวิจัยฯ แผนที่เห็น พวกเขาจึงเปิดเพจเฟซบุ๊กขึ้นมา เพื่อนำเสนอข้อมูลที่หยิบใช้จากแผนที่เก่าต่าง ๆ ได้ เป็นตัวอย่างให้คนเห็นคุณค่าและการใช้งานของแผนที่เก่า ซึ่งมี กอล์ฟ-รัชดา โชติพานิช และ ปุยปุย-จตุพร จันทร์เทศ นักวิจัย หน่วยปฏิบัติการวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและเมือง เป็นคนคอยดูแลเนื้อหาบนเพจเฟซบุ๊ก

“บางทีพื้นที่ในปัจจุบันกับอดีตอาจเปลี่ยนไปคนละทาง หรือบางชื่อในอดีตเคยมีชื่อนี้ แต่เราไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน ซึ่งเราไปพบว่ามันอยู่ในแผนที่เก่า ทำให้เราอ๋อ อดีตเป็นอย่างนี้ มีที่มาที่ไปแบบนี้ พอเห็นจากแผนที่เก่า เรื่องราวต่าง ๆ จะค่อย ๆ ตามมา จากการค้นเอกสารจากหอจดหมายเหตุเพิ่มเติม และนำมาโพสต์ลงเพจให้คนทั่วไปรับรู้

“มีช่วงหนึ่งเรานำเสนอเรื่องราวของถนนสายต่าง ๆ เช่น ถนนในพระราชวังสวนดุสิต ในแผนที่สมัยรัชกาลที่ 5 มีถนนชื่อถนนดวงดาว ถนนดวงเดือน ถนนฮกลกซิ่ว ถนนคอเสื้อ ถนนเบญจมาศ ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว ทำให้เราสงสัยว่าปัจจุบันถนนเหล่านี้มีชื่อว่าอะไร เปลี่ยนไปตอนไหน ทำไมตอนนั้นถึงตั้งชื่อถนนแบบนี้ มันน่าสนใจว่าเกิดอะไรขึ้น ตั้งชื่อนี้เพราะอะไร เราไปค้นและพบว่ารัชกาลที่ 5 ช่วงที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริให้สร้างสวนดุสิต พระองค์ท่านกำลังทรงเล่นเครื่องกระเบื้องจีน 

“ชื่อของถนนในวังสวนดุสิต มาจากชื่อลายของเครื่องกระเบื้องจีน เพราะลายที่ปรากฏบนเครื่องกระเบื้อง เกิดจากการที่นักปราชญ์จีนประชุมกันเพื่อคิดลายขึ้นมา และสื่อถึงความเป็นมงคล ถนนคอเสื้อ คือชื่อของลายเครื่องกระเบื้อง อยู่บริเวณคอขวด เป็นเหมือนใบไม้ยาว ๆ คล้ายใบกล้วย เขาเรียกบริเวณนั้นว่าคอเสื้อ 

“พระองค์ท่านทรงนำความสนใจในตอนนั้นมาตั้งชื่อถนน เพื่อพระราชทานความมงคลให้กับพื้นที่ พอเปลี่ยนมาเป็นสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ท่านอยากให้ทุกคนภาคภูมิใจในความเป็นไทย เลยเปลี่ยนชื่อถนนเหล่านั้น ถนนคอเสื้อเปลี่ยนเป็นถนนพิษณุโลก จากแผนที่เราพบว่า หากตรงไปตามถนนพิษณุโลกจะมีวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นของ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ประทับอยู่ นำมาตั้งเป็นชื่อถนน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเป็นเส้นทางไปสู่จังหวัดพิษณุโลกแต่อย่างใด 

“ความสงสัยและการค้นหาคำตอบทำให้เราสนุก ยิ่งค้นพบคำตอบ ยิ่งสนุก เหมือนการสืบสวนเลย คนอ่านก็น่าจะได้รับความเพลิดเพลินจากข้อมูลเหล่านี้ และได้ประโยชน์จากข้อมูลของแผนที่ต่าง ๆ ด้วย

หน่วยวิจัยแผนที่ฯ เพจแกะประวัติศาสตร์จากแผนที่เก่า ให้สนุกกับการรู้จักเมืองผ่านอดีต
สนทนากับหน่วยวิจัยแผนที่ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการทำงานกับแผนที่และวิธีดูแผนที่อย่างรู้ที่ไป-ที่มา
สนทนากับหน่วยวิจัยแผนที่ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการทำงานกับแผนที่และวิธีดูแผนที่อย่างรู้ที่ไป-ที่มา

“มีครั้งหนึ่งเราไปพบถนนชื่อ ถนนหับเผย อยู่แถวสนามหลวง ปัจจุบันยังมีชื่อนี้อยู่ เราตั้งคำถามว่ามันคืออะไร ทำไมถึงเป็นชื่อนี้ ก็เลยค้นคำว่า หับเผย จนพบคำนี้ในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน ว่ามันคือคุก ในวรรณคดีมีใครสักคนโดนจับเอาไปไว้ที่หับเผย และค้นคว้าต่อจนเจอว่า หับเผยมีที่มาจากบริเวณนั้นในอดีตเคยมีโรงเรือนที่เปิดหน้าต่างขึ้นมาได้ ชาวบ้านแถวนั้นเลยเรียกชื่อตามลักษณะของเรือนบริเวณนั้นว่า หับเผย 

“การค้นพบแบบนี้น่าสนุกตรงที่เราได้ชื่อสถานที่ ไปรู้ที่มา และเชื่อมมันลงไปกับเรื่องวรรณกรรมหรือพงศาวดารได้ ทุกอย่างของคนโบราณเขามีความหมาย เขาไม่มีการตั้งชื่ออะไรขึ้นมาเล่น ๆ หรอก” กอล์ฟอธิบายการทำงานของเธออย่างอารมณ์ดี

นอกจากตัวอย่างที่เรายกมาเล่า เพจหน่วยวิจัยแผนที่ฯ ยังนำเสนอประวัติของสถานที่ต่าง ๆ อีกมากมาย โดยทุกโพสต์จะมีหลักการนำเสนออยู่ว่า ต้องเป็นข้อมูลที่มีหลักฐานว่าเป็นเรื่องจริง มีแผนที่ มีรูปเก่า หรือมีหน้าตาของบุคคลที่เกี่ยวข้องประกอบเสมอ ตัวอย่างของเนื้อหาที่ทางเพจเคยนำเสนอและเราอยากเล่าสู่คุณฟัง เช่น 

“มีตอนหนึ่งเรานำเสนอเรื่องถนนปั้น เราก็นึกว่ามันคือปั้นอะไร เป็นชื่อของเจ้าองค์ไหน หรือว่ามีชุมชนช่างปั้นอยู่บริเวณนี้เยอะ พอไปค้นเอกสาร พบว่ามาจากชื่อของนางปั้น เป็นเศรษฐีใจบุญเจ้าของที่ดิน และเป็นคนสร้างโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ซึ่งบางข้อมูลในแผนที่ยังแสดงให้เราเห็นถึงความน่าสนใจ แสดงให้เห็นว่าเราเป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันหลายวัฒนธรรม ตรงบริเวณนี้ของแผนที่นี้จะมีการมีระบุว่ามีป่าช้าเดิมอยู่เยอะมาก และเป็นป่าช้าของแต่ละศาสนาอยู่ร่วมกัน เราเห็นแล้วคิดตามก็สนุกดี ผีแต่ละศาสนาเขาจะไม่ตีกันเหรอเนี่ย มีป่าช้าบาทหลวง ป่าช้าจีนแคะ ป่าช้าฮกเกี้ยน ป่าช้าจีนไหหลำ มันเป็นการอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งของตึกมหานครในปัจจุบัน” กอล์ฟเล่าด้วยความสนุก 

สนทนากับหน่วยวิจัยแผนที่ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการทำงานกับแผนที่และวิธีดูแผนที่อย่างรู้ที่ไป-ที่มา
สนทนากับหน่วยวิจัยแผนที่ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการทำงานกับแผนที่และวิธีดูแผนที่อย่างรู้ที่ไป-ที่มา

หลาย ๆ ข้อมูลที่ทีมหน่วยวิจัยแผนที่ฯ พยายามนำเสนอ บางคราก็สืบย้อนข้อมูลไปหาที่มาไม่ได้

“ข้อมูลของพื้นที่ต่าง ๆ แค่ภายในกรุงเทพฯ นำเสนอได้เยอะมาก จนเราอาจตายไปก่อนด้วยซ้ำ” กอล์ฟหัวเราะก่อนเล่าต่อ “แต่หลายเรื่องเราก็หาคำตอบไม่ได้ว่ามีที่มาอย่างไร อาจด้วยความจำกัดของข้อมูลที่มี คงต้องเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ด้านอื่น ๆ เราอาจจะไปเจอว่ามันถูกพูดถึงในวรรณกรรมยุคสมัยก่อนก็เป็นไปได้ เช่น คลองราษฎร์บูรณะ สมัยนี้เราสะกดคำว่า ราษฎร์ คือ ราษฎรเป็นผู้บูรณะ แต่พอค้นในแผนที่เก่า เราเจอการใช้คำว่า ราช ที่หมายถึงพระราชาเป็นผู้บูรณะ ผิดจากกันเลย แล้วมันเปลี่ยนตอนไหน เราก็ค้นต่อจนเจอว่าเริ่มเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ราษฎร ในแผนที่สมัย ร.6 แต่เหตุผลของการเปลี่ยนเราไม่ยังไม่เจอหลักฐาน คงเกิดจากการเขียนผิดก็ได้ แล้วก็ผิดต่อ ๆ กันมา หลายเรื่องราวมักเจอทางตันแบบนี้ เรายังไม่พบเอกสารที่จะมาช่วยสนับสนุนข้อมูลตรงนี้ว่ามันคืออะไร หรือเกิดจากอะไร

สนทนากับหน่วยวิจัยแผนที่ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการทำงานกับแผนที่และวิธีดูแผนที่อย่างรู้ที่ไป-ที่มา

“การหาข้อมูลมานำเสนอบนเพจทำให้ค้นพบว่าเรากำลังมีปัญหา ถ้าค้นข้อมูลย้อนกลับไปสัก 60 ปีที่แล้วขึ้นไป แทบไม่มีข้อมูลเลย เพราะคนไทยไม่บันทึก ไม่ได้ช่างจด กลับกันกับต่างประเทศ อย่างเรื่องโรงละคร เขามีข้อมูลเก็บไว้หมดเลยว่ามีกี่โรง แต่ละโรงมีละครอะไรแสดงในแต่ละวันบ้าง ละครแต่ละเรื่องนักแสดงมีใครบ้าง หน้าตาเป็นยังไง ถ้าย้อนไปแค่ไม่กี่ปี เราไม่มี ไม่รู้จักเลย ยิ่งเป็นพวกศิลปินร้องรำทำเพลง ยิ่งแทบไม่มีข้อมูล เป็นเรื่องน่าเสียดายนะที่หลาย ๆ ข้อมูลหายไป เพราะเราไม่บันทึกไว้ ราวกับมันไม่เคยมีอยู่จริงอย่างนั้นแหละ” กอล์ฟพูดด้วยแววตาเสียดาย

“เราอยากให้ทุกคนเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เก็บอะไรก็ได้ที่อยู่แถวบ้านตัวเอง บันทึกเรื่องราวของซอยตัวเองหรือละแวกบ้าน เพื่อเป็นประวัติของประชาชน เผื่อเป็นข้อมูลให้คนที่สนใจ และสิ่งที่เราพยายามนำเสนอผ่านเพจ เราหวังว่าจะทำให้คนหันมาสนใจประวัติศาสตร์ของตัวเอง สนใจถิ่นฐานบ้านเรือนของตัวเอง เพราะมันช่วยหาคำตอบของบางสิ่งบางอย่างได้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ในเวลานี้ แต่จะเป็นคำตอบให้กับลูกหลานได้ในอนาคต”

ปัจจุบันหน่วยวิจัยแผนที่ฯ ยังคงนำเสนอข้อมูลน่าสนใจจากแผนที่ลงเพจอย่างต่อเนื่อง มีการจัดพิมพ์แผนที่ในยุคสมัยต่าง ๆ แจกเป็นประโยชน์ให้กับผู้คนทั่วไป มีการจัดนิทรรศการ ทำหนังสือ เพื่อให้คนเห็นความสำคัญของแผนที่ ไม่ใช่แค่ในบทบาทของการเป็นเครื่องมือบอกที่ไป แต่ยังบอกที่มา ของเรื่องราวที่ทำให้เกิดปัจจุบัน และนำไปสู่อนาคต

สนทนากับหน่วยวิจัยแผนที่ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการทำงานกับแผนที่และวิธีดูแผนที่อย่างรู้ที่ไป-ที่มา

ติดตามได้ที่ Facebook : หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ