ขอยอมรับโดยดุษฎี ว่าก่อนจะได้พบปะสนทนากับนักเรียนไทยในสวีเดนคนนี้ เราไม่มีความรู้อยู่เลยสักกระผีกริ้นว่า อาชญาวิทยา (Criminology) คืออะไร
นภมน สว่างวิบูลย์พงศ์ หรือ นก เป็นอดีตนักจิตวิทยาสาวไทยประจำกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนบทบาทหลักของเธอตอนทำงาน คือการใช้ความรู้ด้านจิตวิทยาประเมินสภาพจิตใจเด็กและเยาวชนผู้ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด และเข้ามาอยู่ในความควบคุมของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน รวมถึงวางแผนร่วมกับสหวิชาชีพอื่นๆ ในการฟื้นฟูดูแลจิตใจก่อนส่งเด็กกลับออกไปใช้ชีวิตในสังคมหลังพ้นผิด

แต่วันนี้นกเป็นนักศึกษาปริญญาโทอยู่ที่เมืองมัลเม่อ (Malmö) ทางตอนใต้ของประเทศสวีเดน เธอตัดสินใจมาเรียนเพื่อหาคำตอบต่อคำถามที่ก่อตัวขึ้นระหว่างทำงานในกรมพินิจฯ
“หากการช่วยเหลือด้านจิตวิทยายังไม่เพียงพอจะการันตีว่าเด็กในความดูแลของเธอจะไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก อะไรล่ะที่ช่วยได้”
คำตอบนั้นซ่อนอยู่ในห้องเรียนวิชาอาชญาวิทยา
ไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า แต่อยากชวนให้มาฟังคำตอบที่เธอได้ค้นพบไปพร้อมๆ กัน

มูลเหตุจูงใจ
เด็กหญิงนกมีฝันที่อยากทำงานกับนักโทษมาตั้งแต่เด็ก
เริ่มจากกการเป็นแฟนคลับภาพยนตร์ หนังสือ หรือซีรีส์แนวสืบสวน ที่ทำให้เธอมีคำถามมากมายเกิดขึ้นในใจ ตั้งแต่อาชญากรคิดอะไรอยู่ ทำไมคนเราถึงทำไม่ดีกับคนอื่นได้
ความสงสัยที่ทับถมกลายเป็นความฝันว่าอยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับจิตใจมนุษย์ การเลือกเรียนจิตวิทยาในระดับปริญญาตรี เพียรพยายามสอบใบอนุญาตนักจิตวิทยาคลินิก และสมัครเข้าทำงานในกรมพินิจฯ เพื่อเข้าไปดูแลสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนผู้กระทำความผิด คือการทำตามความฝันนั้น
ตำแหน่งนักจิตวิทยาประจำศูนย์ฝึกฯ ของกรมพินิจฯ ไม่ได้เป็นจุดหมายสุดท้าย แต่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการขุดค้นพบปัญหาที่อยู่เบื้องหลังอาชญากรรมทั้งหลายที่ซุกอยู่ใต้พรมมาแสนนาน
“เราค้นพบว่าเยาวชนที่กระทำผิดเขาไม่ได้เลวด้วยตัวเอง” นกเล่าเปิดประเด็นปัญหา “เราประจำอยู่ที่ศูนย์ฝึกฯ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งรับเด็กมาดูแลจากทั่วภาคอีสาน เด็กบ้านรวยไม่เคยก้าวเข้ามาเลย เขามีเงินจ้างทนายสู้คดี และมีความจำเป็นน้อยกว่าที่จะก่อคดี เด็กที่เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมพินิจฯ จำนวนมากไม่ใช่เด็กเลว แต่เป็นเด็กที่ขาดโอกาสทางสังคม

“ต่อให้เราแก้ปัจจัยเสี่ยงทางจิตวิทยาตามกระบวนการที่ถูกกำหนดไว้ได้หมด แต่เมื่อเด็กพ้นโทษและออกไปสู่สังคมเดิม เราไม่สามารถมั่นใจเลยว่าเขาจะไม่ทำผิดซ้ำอีก เพราะนอกศูนย์ฝึกฯ มีตัวกระตุ้นมากมาย”
เมื่อนกตระหนักได้ว่า ต้นตอของการเกิดอาชญากรรมแท้จริงไม่สามารถแก้ด้วยทักษะทางจิตวิทยาหรือการจัดการปัจจัยเสี่ยงตามกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียว เธอจึงตัดสินใจยื่นใบลาออกจากกรมพินิจฯ และส่งใบสมัครไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาอาชญาวิทยาในสวีเดน
โดยหวังใจจะเรียนรู้จากประเทศที่จัดการกับอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพจนคุกว่างโล่ง
อาชญาวิทยา : เรียนอะไร
ห้องเรียนอาชญาวิทยาที่สวีเดนได้ยืนยันสมมติฐานที่นกมีอยู่ในใจว่า การเกิดอาชญากรรมไม่ใช่แค่เรื่องของความเป็นคนดีคนเลวหรือระดับของจิตใจเท่านั้น แต่มีปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ผลักดันมนุษย์หนึ่งคนให้ก้าวเข้าสู่วังวนของการกระทำผิด
“ทางอาชญาวิทยา ปัจจัยที่ส่งผลต่อการก่ออาชญากรรมมีสองประเภทใหญ่ๆ” นกปูทางเพื่อให้เราเข้าใจ “หนึ่งคือปัจจัยในระดับบุคคล นิสัยใจคอที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด จุดเปลี่ยนในชีวิต รวมถึงความผิดปกติทางจิตใจ (Psychopathology) เช่น โรคสมาธิสั้น (Attention-deficit Hyperactivity Disorder) ที่พบเยอะในกลุ่มผู้กระทำความผิด หรือ จิตเภท (Schizophrenia) เป็นอีกโรคที่ได้รับความสนใจ เช่น เคสบุกแทงเด็กนักเรียนในไทยที่เคยเป็นข่าวดัง
“ประเภทที่สองก็คือ ปัจจัยแวดล้อมทางสังคม เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งที่พ่อแม่ ครอบครัว เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมชั้นเรียน และสังคมในวงกว้างกระทำนั้น ส่งผลกระทบต่อเราไม่มากก็น้อย หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ที่เป็นใจมากเพียงใดในการก่ออาชญากรรม
“ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีผู้ป่วยจิตเภท จะมีอาการเห็นภาพหลอนหรือหูแว่ว งานวิจัยบ่งชี้ว่า นั่นไม่ได้นำไปสู่การกระทำผิด แต่กลับเป็นความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับการก่ออาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงเสียด้วยซ้ำ สิ่งที่สังคมโดยรอบกระทำต่อเขาต่างหากที่อาจมีผล เพราะภาพหลอนที่ผู้ป่วยเห็น มันขึ้นอยู่กับ Input ที่เขาได้รับจากประสบการณ์ในชีวิตเขา ซึ่งมาจากสังคมแวดล้อม และเขาอาจไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดมากเพียงพอ”

วิชาเรียนตลอดระยะเวลา 2 ปีของนกจึงเป็นการทำความเข้าใจปัจจัย 2 ประเภทนี้ ว่าส่งผลต่อกันและกันอย่างไร ผ่านทั้งวิชาเลกเชอร์และสัมมนา โดยเน้นไปที่การวิพากษ์ร่วมกันกับเพื่อนร่วมชั้นที่มีพื้นเพหลากหลาย ในประเด็นที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกับโครงสร้างทางสังคม
“เราได้เรียนวิชาที่เราไม่เคยได้ยินชื่อเลยในไทย เช่น วิชาที่ว่าด้วยการเป็นเหยื่อโดยเฉพาะ ซึ่งเน้นไปที่กลุ่มเสี่ยงที่อ่อนไหว (Vulnerable Groups) อย่างผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย ผู้ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ คนบางกลุ่มเราอาจลืมไปว่าเขาเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม โดยเฉพาะการถูกมองว่ามีคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้อยกว่าคนอื่น (Dehumanized) วิชานี้เลยถือว่าเปิดหูเปิดตามาก
“เรามาคิดต่อเอาเองว่า กลุ่มอ่อนไหวในที่นี้รวมถึงบุคคลสาธารณะด้วยหรือเปล่า เพราะเราเห็นเคสของดาราหรือเน็ตไอดอลในวัฒนธรรมเอเชียที่ตกเป็นเหยื่อกันอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ Cyberbullying ไปจนถึงถูกคุกคามในชีวิตจริง พวกเขาเหล่านี้อาจไม่มีโอกาสได้ยืนหยัดเพื่อตัวเอง แต่ต้องยอมเงียบไว้เพื่อรักษาความนิยมหรือลดความขัดแย้งกับต้นสังกัด เช่น ทัศนคติทางการเมือง เพราะเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อรายได้ของเขาโดยตรง จนอาจส่งผลกระทบถึงสุขภาพจิตและการดำเนินชีวิต
“ประเด็นนี้เรามองว่าน่าสนใจ เลยเอาไปเสนอเป็นหัวข้อเปเปอร์ ซึ่งทีแรกอาจารย์ไม่เห็นด้วยให้เขียน เราก็ต้องดีเฟนด์ให้เขามองเห็นประเด็นตรงกับเรา เพราะเขาไม่เคยรับรู้ว่าดาราในเอเชียมีข้อจำกัดที่ต่างกับทางตะวันตก
“ล่าสุดเราได้เรียนวิชาที่ว่าด้วยสุขภาพกับทฤษฎีช่วงชีวิตที่ส่งผลต่ออาชญากรรม มีโอกาสหยิบประเด็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในบริบทไทยไปวิพากษ์ และได้พบว่ามีค่านิยมกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming) แฝงอยู่ในวัฒนธรรมไทย รวมถึงการละเมิดสิทธิเหนือร่างกายของเด็ก การไม่สามารถพูดถึงปัญหาภายในครอบครัวเพราะถือว่าเป็นการสาวไส้ให้กากิน ไปจนถึงการบิดเบือนปลายทางของความรุนแรงภายในครอบครัวหรือความสัมพันธ์ผ่านสื่อบันเทิง (Romanticize)” นกเล่าถึงมุมมองของอาชญากรรมที่เลยไปจากขอบเขตที่เราเข้าใจ และไม่คิดว่าจะหมายรวมอยู่ในความสนใจของนักอาชญาวิทยาด้วย
“อาชญาวิทยาเป็นสาขาที่เหมาะกับตำรวจก็จริง แต่มีอีกหลายอาชีพที่นำองค์ความรู้ไปใช้ได้ ไม่ได้เรียนไปเป็นทีมงาน CSI อย่างเดียว” นกตอบคำถามของเราที่ถามว่าอาชญาวิทยาเป็นวิชาสำหรับตำรวจเท่านั้นใช่หรือไม่
“อาจารย์ที่สอนหลายคนเป็นอดีตตำรวจ แต่ก็มีอาจารย์ที่เป็นจิตแพทย์และนักจิตวิทยาด้วย ส่วนเพื่อนร่วมชั้นก็มีนักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ และอีกสารพัดอาชีพรวมอยู่ ซึ่งช่วยให้เราได้เห็นมุมมองที่แตกต่างของคนหลายสาขาอาชีพ”
ที่เอ่ยชื่ออาชีพมาก็พอจะเข้าใจ แต่มีอีกหนึ่งอาชีพที่เราคาดไม่ถึงว่าจะเกี่ยว…
อาชญาวิทยา : เรียนเพื่ออะไร
มีบทสนทนาหนึ่งในห้องเรียน ที่เพื่อนๆ ของนกลงความเห็นกันว่า อีกหนึ่งอาชีพที่ควรมีความรู้เรื่องอาชญาวิทยาคือ นักการเมือง
“เพราะเป้าหมายของการเรียนอาชญาวิทยาในสวีเดน ไม่ใช่แค่การหาตัวคนผิด” นกค่อยๆ คลายความสงสัย “เป้าหมายสูงสุดของการเข้าใจว่าอาชญากรคิดอะไร มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้พวกเขากระทำผิดบ้าง คือการหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีก”
เราฟังแล้วก็ยังเอียงคอ เลยขอตัวอย่างที่เข้าใจง่าย
“ตำรวจต้องออกลาดตระเวนแบบสุ่ม ไม่เป็นเวลาแน่นอน เพราะเขาอิงทฤษฎีทางจิตวิทยาว่า โจรจะคาดเดาช่วงเวลาก่อเหตุได้ง่ายขึ้นถ้าตำรวจออกตรวจในช่วงเวลาเดิมๆ” นกยกตัวอย่าง “และแม้เราจะไม่สามารถป้องกันการกระทำผิดครั้งแรก หากตำรวจมีความเข้าใจที่สอดคล้องกับนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ ก็จะประเมินได้ว่า ผู้ที่มีประวัติอาชญากรรมแต่ละคนมีความเสี่ยงด้านใด และให้ข้อมูลกับจิตแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพจิตของอาชญากรในระหว่างคุมตัว รวมถึงวางแผนการติดตามพฤติกรรมหลังพ้นผิดได้อย่างเหมาะสม ทั้งหมดก็เพื่อป้องกันไม่ให้เขากลับไปทำผิดซ้ำอีก
“หรือแม้แต่ความเชื่อที่ว่า คนไม่ทำผิดเพราะเกรงกลัวต่อบาป หรือกลัวทำให้ใครเดือดร้อน (Guilt) ก็ถูกแค่บางส่วนเท่านั้น งานวิจัยล่าสุดชี้ว่า คนเราไม่ก่ออาชญากรรมถ้ามันสร้างความอับอายให้กับตัวเอง (Shame) มากกว่า การมี CCTV ติดไว้อย่างชัดเจน จึงมีผลให้ความกล้ากระทำผิดลดลง เป็นต้น” นกให้อีกหนึ่งตัวอย่างของการนำองค์ความรู้อาชญาวิทยามาใช้ป้องกันอาชญากรรม
ฟังตัวอย่างแล้วพอจะเข้าใจมากขึ้นอีกนิด และเมื่อถามว่านักการเมืองทำอะไรได้ในกระบวนการนี้ นกจึงเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากสังคมสวีเดนมาให้ลองเปรียบเทียบ
“ตามสถิติแล้ว อาชญากรรมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในสวีเดนเกิดจากผู้อพยพลี้ภัยที่ไม่ได้เติบโตมาหรือเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม (Social Welfare) เดียวกันกับชาวสวีเดน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลูกหลานรุ่นสองถึงสามของผู้อพยพที่มีโอกาสรับการศึกษาในสวีเดนจะไม่ก่ออาชญากรรม หรือมีอัตราการก่ออาชญากรรมน้อยลง
“เมื่อมีการศึกษา การงาน และการเงินที่ดี เข้าถึงสวัสดิการ และมั่นคงในชีวิต ก็ไม่มีเหตุผลจะก่ออาชญากรรม การศึกษาและสวัสดิการทางสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และแก้ปัญหาอาชญากรรมได้ตรงจุดกว่าการโทษตัวบุคคลหรือเชื้อชาติ เราจำเป็นต้องมองเห็นและปฏิบัติต่อมนุษย์ทุกคนเท่ากัน”

มาถึงตรงนี้ก็กระจ่างจนได้ นักการเมืองมีบทบาทในการออกแบบนโยบายและขับเคลื่อนทิศทางของประเทศโดยตรง หากพวกเขามีความรู้ความเข้าใจปัจจัยที่จะก่อให้เกิดอาชญากรรม นโยบายที่ออกมาจะช่วยลดปัญหาในสังคมได้
“น่าเสียดายหลายประเทศไม่เชื่อว่าการกำจัดปัจจัยเสี่ยงทางสังคมเหล่านี้เป็นไปได้ เขาเลยไม่ได้ให้ความสำคัญกับสวัสดิการทางสังคม แต่พุ่งเป้าโทษเป็นความผิดระดับปัจเจกแทน เช่น คนจนเพราะขี้เกียจ
“แต่การมาเรียนที่สวีเดนซึ่งเป็นประเทศที่เข้าใจความสำคัญของการลดปัจจัยเสี่ยงทำให้เราเห็นได้ชัดเลยว่า สวัสดิการทางสังคมมีผลต่อการตัดสินใจก่ออาชญากรรมจริง” นกขมวดปมปิดท้าย

ที่ผลักดันจนทำให้งานแข่งสเก็ตกลายเป็นอีเวนต์สร้างชื่อของเมือง แทนที่จะเป็นแค่แหล่งมั่วสุม
อาชญาวิทยา : เรียนจบแล้วไปไหน
ฟังมาถึงตรงนี้ เราถึงเห็นภาพมากขึ้นว่าห้องเรียนอาชญาวิทยาไม่ได้มีแต่เลือด ไม่ได้จบแค่ขั้นตอนของการสืบสวน และคนที่ควรรู้ก็ไม่ได้มีแค่คนที่ทำงานด่านหน้าอย่างตำรวจ แต่รวมไปถึงคนที่ทำงานผลักดันโครงสร้างทางสังคม
และเป็นการเรียนเพื่อนำทางไปสู่เป้าหมายของกระบวนการยุติธรรมทั่วโลก คือทำอย่างไรก็ได้ ไม่ให้ผู้กระทำผิดที่รับโทษแล้วกลับออกไปเป็นโจรอีก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
สำหรับนกแล้ว นี่คือสิ่งที่เธออยากมาเรียนเพื่อเติมเต็มความรู้ส่วนที่พร่องไป เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างตรงประเด็นในกระบวนการยุติธรรมไทย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนที่เธอคุ้นเคย รวมถึงเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการสื่อสารความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบทางสังคม
“เราคาดหวังว่าเมื่อเราเรียนจบจะมีโอกาสได้ทำงานเรื่องการสร้าง Awareness เพื่อสื่อสารว่า สวัสดิการทางสังคมสำคัญอย่างไรในการสร้างสังคมมนุษย์ให้อยู่ด้วยกันได้อย่างผาสุข บทความนี้เองก็เป็นหนึ่งส่วนหนึ่งในความพยายามสร้าง Awareness ต่อความสำคัญของการแก้ปัญหาที่ระบบนั้น
“เทียบง่ายๆ ว่า เราจับปลาสกปรกขึ้นมาจากบ่อที่สกปรก ต่อให้ขัดเกล็ดให้สะอาดแล้ว สุดท้ายถ้าปล่อยปลาลงบ่อเดิมโดยไม่บำบัดน้ำในบ่อให้สะอาด ปลาก็กลับไปสกปรกเหมือนเดิมอยู่ดี วิธีการที่ยั่งยืนจึงเป็นการบำบัดบ่อน้ำ ไม่ใช่ขัดเกล็ดปลาเพียงอย่างเดียว”
แม้ว่าสาขาอาชญาวิทยาจะเพิ่งเปิดสอนในประเทศไทยมาไม่นานและมีอยู่ในไม่กี่สถาบัน แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และสะท้อนว่าประเทศของเรากำลังมองปัญหาอาชญากรรมเป็นปัญหาเชิงระบบมากขึ้น
ประชาชนคนเดินดินอย่างเราฟังแล้วก็สบายใจ เห็นแสงรำไรที่ปลายทางแล้วว่าสังคมของเราเปลี่ยนไปในทิศทางที่สงบและปลอดภัยมากขึ้นอย่างที่เคยฝัน