3 พฤศจิกายน 2022
5 K

เราเดินทางมาถึงจังหวัดที่ใฝ่ฝันอยากไปมานานช่วงสาย ๆ

ฤกษ์งามยามดี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ชวนเรามาเข้าร่วมกิจกรรม ‘เทศกาลน่าน’ หรือ ‘น่านเฟส’ ตอน Creative Space โดย CEA สำนักงานจังหวัดน่าน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน มูลนิธิน่านศึกษา และกลุ่มสล่ากึ๊ด จัดต่อเนื่องกันข้ามปี เริ่มตุลาคม พ.ศ. 2565 – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 

แต่ก่อนจะไปเยี่ยมชมงานแรกของเทศกาล ณ ลานหน้าคุ้มเจ้าเทพมาลา สถาปัตยกรรมเก่าแก่ทรงคุณค่า CEA อาสาพาเราไปตระเวนชมของดีเมืองน่าน ไม่ใช่แค่อาหารอร่อยเท่านั้น แต่ยังมีกึ๊ดสเปซใจกลางเมืองอีกมากที่รวบรวมทั้งประวัติศาสตร์ วิถีล้านนา และชีวิตของคนรุ่นเก่า-ใหม่ไว้ด้วยกัน 

ยอมรับตามตรงว่าเรารับรู้เรื่องราวของที่นี่น้อยมาก ความประหลาดใจจึงเกิดขึ้นระหว่างทางหลายต่อหลายครั้ง

ตั้งแต่ได้เห็นว่าน่านเป็นเมืองที่กิจการโชห่วยยังไม่ตาย เนื่องจากไม่มีห้างดังเป็นของตัวเอง รวมถึงการได้รับรู้จากคนเก่าแก่ในพื้นที่ว่า จังหวัดนี้ที่ถูกทำวิจัยเรื่องการศึกษามาโดยตลอด เพราะปราศจากมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่รองรับเยาวชนได้ทั้งหมด ทั้งยังมีหัวกะทิอีกหลายหัว หลบซ่อนตัวอยู่อย่างคนไม่เคยมีแสงส่องถึง

รอคอยวันที่จะทำให้จังหวัดน่านของพวกเขา เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ไม่ใช่น่านเนิบ ๆ อีกต่อไป

จากคาเฟ่ถึงเฟสติวัล Creative Space จ.น่าน เมืองที่ไม่มีทั้งห้างดังและมหาลัยขนาดใหญ่
จากคาเฟ่ถึงเฟสติวัล Creative Space จ.น่าน เมืองที่ไม่มีทั้งห้างดังและมหาลัยขนาดใหญ่

บ้านๆน่านๆ

จากคอลัมน์ The Bookseller เรากลับมาเยี่ยม ‘บ้านๆน่านๆ’ อีกครั้ง และเขียนถึง ครูต้อม-ชโลมใจ ชยพันธนาการ ด้วยตัวเอง 

สถานที่แห่งนี้เป็นมากกว่าร้านหนังสือของคนในหรือเกสต์โฮมของคนนอก แท้จริงแล้วความฝันของครูต้อมยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก

“เราต้องการให้คนทั่วโลกเลยนะ ไม่ใช่แค่คนในชุมชน” อดีตครูเอ่ยทั้งชุดผ้ากันเปื้อนของบาริสต้าจำเป็น 

“สังเกตว่าคนที่มาเยอะคือคนหนุ่มสาว ชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยว นักเดินทาง ครูใช้คำว่าคนหนุ่มสาวเพราะบางทีเขาอายุเยอะนะ แต่เขามีหัวใจหนุ่มสาว 

“ส่วนคนที่แก่ทั้งกาย ใจ และความคิด เข้ามาก็จะบ่นว่าเด็กสมัยนี้ไม่อ่านหนังสือ แต่คนเหล่านั้นไม่เคยซื้อหนังสือของครูเลย”

พ.ศ. 2548 คือปีที่ครูต้อมกลับมาสอนที่โรงเรียนสตรีศรีน่านในวิชาภาษาไทย แม้เธอจะยอมรับว่าตัวเองเป็นครูที่ไม่ค่อยตรงตามระเบียบสังคมสักเท่าไร ถูกเรียกเข้าห้องปกครองมากกว่าเด็กนักเรียนด้วยซ้ำไป ครูต้อมก็คลุกคลีกับการขีด ๆ เขียน ๆ ในระบบอยู่พักใหญ่ กว่าจะได้พบว่าแท้จริงแล้วมีความสุขกับการเขียนหนังสือก็อายุ 40 ปีเข้าไปแล้ว 

เธอเริ่มมีความคิดชวนเด็ก ๆ มาทำหนังสือทำมือ ก่อตั้งเป็นชมรมคนรักตัวอักษร ดำเนินการเรื่อยมาจนนำพาให้ได้รู้จักกับเพื่อนฝูงที่เป็นนักเขียนมากมาย โดยที่ความคิดอยากมีห้องสมุดเป็นของตัวเองยังครุกรุ่นบางเบาในหัวใจเท่านั้น

“กระทั่งวันหนึ่งตัดสินใจว่าเราทำห้องสมุดดีกว่า ไม่ได้บอกเล่าให้ใครฟังเลยนะ กลัวเขาจะเย้ยหยันว่าบ้าที่ทำห้องสมุด”

ถึงจะกลัวคำดูถูก ร้านของเธอก็รายล้อมไปด้วยหนังสือที่คัดสรรมาแล้วเป็นอย่างดี ทั้งนิตยสาร วรรณกรรม ปรัชญา การเมือง เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสเข้าถึงชุดความคิดใหม่ ๆ นอกตำราเรียน ภาพของสมุดยืมหนังสือที่เขียนด้วยปากกา ชวนให้คิดถึงวัยเด็กที่ห้องสมุดหาได้ไม่ยากเท่า 

จากคาเฟ่ถึงเฟสติวัล Creative Space จ.น่าน เมืองที่ไม่มีทั้งห้างดังและมหาลัยขนาดใหญ่
จากคาเฟ่ถึงเฟสติวัล Creative Space จ.น่าน เมืองที่ไม่มีทั้งห้างดังและมหาลัยขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ให้เหล่านักสร้างสรรค์ นักกวี หรือญาติมิตร เข้ามาใช้สอยอย่างเต็มที่ ท่ามกลางบรรยากาศผ่อนคลายเพียงเท้าเปล่าเหยียบลงบนพื้นไม้ หรือจะนอนเหยียดกายข้ามคืนบนเกสต์โฮมก็ยังได้ เพราะหากได้ลองหย่อนตัวนั่งลงพร้อมกับหนังสือดี ๆ สักเล่มแล้ว ก็คงยากจะลุกกลับ

“ครูไม่ชอบห้องสมุดแข็ง ๆ แบบที่เราเคยเจอตอนเด็ก ๆ เหมือนเรามองเห็นอดีต คนมาแล้วอาจจะมองว่าที่นี่มีของเก่า แต่เก่าของเรา มันเป็นเก่าที่มองสู่อนาคต

“ห้องสมุดนี้ไม่ได้เกิดจากครูเพียงคนเดียว จริงอยู่ที่ครูเป็นเจ้าของสถานที่เจ้าของไอเดีย แต่มันขับเคลื่อนได้ด้วยเพื่อน ๆ ที่อยู่ในแวดวงนักเขียน”

เราเชื่อคำครูต้อมสุดใจ ไม่ว่าจะหันมองไปทางไหน พี่หนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ก็จะตามติดคุณไปทุกที่ ทั้งรูปวาดบนผนังชั้นล่างหรือห้องสมุดชั้นบน แสดงให้เห็นว่า น่าน ไดอะล็อก ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่แวะเวียนมาจัดวงเสวนาหลายครั้ง ให้นักอ่านและนักเขียนได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน 

ครูต้อมบอกว่า การได้พูดคุยเรื่องหนังสือเล่มโปรด คลอเสียงดนตรีสดไม่ไกล ถือเป็นความรื่นรมย์หนึ่งของชีวิตที่ควรสัมผัสสักครั้ง

“ครูไม่ชอบคำว่าอาสาสมัคร ไม่ชอบคำว่ารักบ้านเกิด ครูกลับมาบ้านเกิดเพราะบ้านเกิดโอบอุ้มครู กอดรับครู ไม่ได้รู้สึกว่าบ้านเกิดแย่ แล้วครูต้องกลับมาพัฒนา” บาริสต้า บรรณารักษ์ และอดีตข้าราชการครู แต่ยังมีหัวใจของครูผู้ให้เต็มเปี่ยม พูดพร้อมรอยยิ้ม

จากคาเฟ่ถึงเฟสติวัล Creative Space จ.น่าน เมืองที่ไม่มีทั้งห้างดังและมหาลัยขนาดใหญ่
จากคาเฟ่ถึงเฟสติวัล Creative Space จ.น่าน เมืองที่ไม่มีทั้งห้างดังและมหาลัยขนาดใหญ่

Hani Creative Space

ร้านต่อมาที่ล้อรถหยุดหมุน คือกิจการของ อะตอม-ณัฐชนน สมใจ คนกลับบ้านรุ่นใหม่ไฟแรง บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากรผู้จับพลัดจับผลูมาทำร้านจากความไม่ตั้งใจ บนลานกางเต็นท์ริมแม่น้ำของพ่อ

“เราคิดว่าทำไมต้องนั่งรถเมล์เบียดเสียดไปทำงาน รู้สึกว่าเราทำอะไรอยู่ แล้วถ้าต้องทำแบบนี้อีก 10 ปีจะไหวไหม สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมาที่บ้านดีกว่า”

เข้าตำราอยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย เขาเริ่มคิดว่าจะทำอะไรเสริมจากสิ่งที่พ่อมีอยู่เดิม แต่ไม่หนักเกินไปจนต้องกดดันตัวเอง ‘วิธีดริปกาแฟ’ จึงเป็นคำค้นหาของเขาบนยูทูบ 

โดย ฮานิ มาจากคำว่า ฮานิบ่าเฮ้ย เป็นคำเมืองกวน ๆ ตามสไตล์เจ้าของร้านที่คิดไว้เป็นมั่นหมายว่าหลังเรียนจบวิชาออกแบบ จะเป็นดีไซเนอร์ที่ทำอะไรตามใจตัวเอง แม้แต่สัญลักษณ์รูปวงกลมของร้าน ก็เกิดจากการตั้งคำถามว่าทำไมโลโก้ร้านกาแฟจะต้องยาวเสมอ เป็นไปได้ไหมที่จะมีแค่วงกลมสีฟ้าเท่านั้น ไม่ใช่ตราบนธงชาติของประเทศญี่ปุ่นอย่างที่หลายคนคิดกัน

จากคาเฟ่ถึงเฟสติวัล Creative Space จ.น่าน เมืองที่ไม่มีทั้งห้างดังและมหาลัยขนาดใหญ่
จากคาเฟ่ถึงเฟสติวัล Creative Space จ.น่าน เมืองที่ไม่มีทั้งห้างดังและมหาลัยขนาดใหญ่

ร้านของเขามีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่เศษ แบ่งเป็นลานกางเต็นท์ของพ่อ 2 ไร่ และมีมุมกาแฟเล็ก ๆ ปากทางเข้า รายล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ นอกนั้นเป็นส่วนที่อะตอมเปิดกว้างให้ผู้คนจับจองพื้นที่ เข้ามาทำกิจกรรมใต้หลังคามุงจาก

“ผมไม่ได้ระบุว่าพื้นที่กว้าง ๆ นี้จะต้องเป็นคาเฟ่ เราทิ้งท้ายไว้ว่าเป็น Creative Space จะมานั่งวาดรูปเล่น นอนเฉย ๆ ทำการบ้าน ทำงาน หรือจะมาจัด เวิร์กชอปกันเองก็ได้ 

“ความจริงอยากใช้คำว่า Co-working Space แต่เพราะว่าเราไม่ถึงขนาดนั้น ไม่มีแอร์ ไม่มีปลั๊ก อยากให้มันรีแลกซ์มากขึ้น เป็นแค่ Creative Space ก็พอ” 

น่าติดตามต่อไปว่าสมาชิกคนใหม่ล่าสุดของกลุ่มสล่ากึ๊ดจะสร้างสรรค์อะไรให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่อีกบ้าง

จากคาเฟ่ถึงเฟสติวัล Creative Space จ.น่าน เมืองที่ไม่มีทั้งห้างดังและมหาลัยขนาดใหญ่
จากคาเฟ่ถึงเฟสติวัล Creative Space จ.น่าน เมืองที่ไม่มีทั้งห้างดังและมหาลัยขนาดใหญ่

ลานหน้าคุ้มเจ้าเทพมาลา
กิจกรรม ‘น่านเฟส’ 

เมื่อถึงช่วงบ่ายก็เข้าสู่กิจกรรมโหมโรงอย่างเป็นทางการ โดยถือเป็นครั้งแรกที่มีงานเทศกาลเต็มรูปแบบจัดขึ้นหน้าคุ้มเจ้าเทพมาลา 

เราเริ่มต้นจากการเดินชมนิทรรศการ ‘Creative Space ในกำกึ๊ด ของสล่ากึ๊ด’ จัดแสดงในรูปแบบโปสเตอร์ บอกเล่าความฝันของชาวน่านในหลากหลายช่วงอายุ อาชีพ เพศสภาพ ว่าพื้นที่สร้างสรรค์แบบไหนที่พวกเขาอยากเห็น 

ต่อมาที่ชั้นสอง เป็นนิทรรศการ ‘ภาพเก่า เล่าเรื่อง เมืองน่าน’ หยิบยกภาพถ่ายในประวัติศาสตร์มาเล่าใหม่อีกครั้ง เพื่อย้ำเตือนคนรุ่นเก่า และบอกเล่าเรื่องราวให้คนรุ่นใหม่ฟัง มีทั้งภาพวิถีชีวิตผู้คนสมัยที่ยังใช้ผ้าขาวม้าสีเดียวกันหมด สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ภาพทิวทัศน์งดงามในอดีตที่บัดนี้มีสิ่งปลูกสร้างเข้ามาทดแทน ถูกเก็บรวบรวมโดยหออัตลักษณ์นครน่าน (วิทยาลัยชุมชน)

ถัดมาอีกห้อง เราจะได้เห็นน่านในรูปลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น ในนิทรรศการ ‘พื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบคุ้มเจ้าเทพมาลา’ ผลงานการพัฒนาต่อยอดอาคารเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ โดยนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ก่อนจะเดินตามกลิ่นหอมมาจนถึงกิจกรรม ‘Coffee Extraction Experiment Table’ แปลงกึ๊ดสเปซให้เป็น Slow Bar โดยชมรมกาแฟพิเศษแห่งเมืองน่าน เราตื่นตาตื่นใจกว่าที่ไหน คงเพราะได้จิบกาแฟดี ๆ ไปพร้อม ๆ กับการฟังคนรักกาแฟอธิบายที่มาที่ไปของมันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วยความสุข 

พอมีแรงกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาหน่อย เราก็มุ่งหน้าไปร่วมเวิร์กชอปที่เล็งไว้ตั้งแต่งานยังไม่เปิดดี คือการทำตุง โดยชุมชนบ้านมณเฑียณ วัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวล้านนาที่ทำด้วยผ้าหรือกระดาษ ง่ายต่อการที่คนไม่ถนัดงานฝีมือจะทำขาดรุ่งริ่ง ต้องวุ่นวายให้แม่ ๆ ป้า ๆ ช่วยสอนจนแทบจะจับมือทำ ได้ออกมาเป็นตุงรูปร่างอ้วนฉุ เพราะไม่กล้าใช้กรรไกรตัดให้ถี่มากกว่านี้ หากความเชื่อของชาวล้านนาคือการใช้ตุงสืบชะตา สะเดาะเคราะห์ ก็ไม่รู้ว่าตุงของเราจะนำพาความสุขหรือทุกข์กันแน่

ไม่ไกลจากกันมาก และยังไม่เข็ดหลาบ เราเข้าร่วมเวิร์กชอปการทำตาแหลว โดยชุมชนบ้านต้าม เป็นการสานไม้แบบล้านนาที่ว่ากันว่าใช้ไล่ผี ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เห็นรูปร่างคล้ายดอกไม้ดูไม่ยาก กลับยากเหลือเชื่อ จากการสานไม้ไขว้กันไปมาชวนให้งง เรียกเสียงหัวเราะจากแม่ ๆ ป้า ๆ อีกครั้ง เพราะลูกศิษย์ใหม่จากกรุงเทพฯ คนนี้ไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย

ตั้งแต่บ่ายจรดเย็น จะเห็นได้ว่ามีคนเข้าออกคุ้มไม่ขาดสาย พ่อแม่จูงมือลูก ตายายจุงมือหลาน ชาวบ้านพากันแต่งกายสะสวยอย่างคนไม่ได้ออกงานมานาน ราวกับเป็นเทศกาลสำคัญบนปฏิทิน ช่วยเสริมให้เชื่อมั่นว่าคนน่านเองก็พร้อมสนับสนุนทุกความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพียงแต่ขาดแคลนพื้นที่สร้างสรรค์เท่านั้น เพราะนอกจากจะมีกิจกรรมมากมายให้ครอบครัวได้ทำร่วมกันแล้ว ในงานยังมีการแสดงพื้นบ้าน การร้องเพลงประสานเสียง โชว์การทำอาหารวัง (คุ้มหลวง) เมืองน่าน ตลาดสด รวมถึงการเสวนาเรื่องอนาคตน่าน รองรับความสนใจของคนทุกช่วงวัยอีกด้วย 

โรงเรียนสอนภาษาจีน ไคหนำ

นั่งรถมาไม่กี่อึดใจจากตัวเมือง เราเร่งรีบทำเวลากันเนื่องจากนัดคนสำคัญไว้ที่อำเภอเวียงสา ศูนย์รวมชาวไทยเชื้อสายจีนขนาดใหญ่ของ จ.น่าน

สุรชัย พุฒิกุลางกูร หรือ พี่ชัย คือคนนั้น

แต่ช้าก่อน เราไม่ได้มาพูดคุยกับเขาเรื่องการเป็น Illustrator มือหนึ่งของโลก หรือในนามเจ้าของบริษัท Illusion ที่ผลิตชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซให้กับวงการโฆษณามายาวนาน 

เราพบพี่ชัยในฐานะลูกหลานเมืองน่าน ผู้กลับบ้านมาคืนชีพโรงเรียนสอนภาษาจีน ไคหนำ กิจการเก่าของรุ่นปู่นับแต่ พ.ศ. 2485 ให้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะของคนเมือง

“ในอดีต ถ้าพูดถึง Space เรานึกถึงวัด โรงเรียน ห้องสมุด แต่เราว่าในปัจจุบันควรนิยามคำว่า Space ใหม่ ที่นี่จึงกลายเป็น Art Space” 

โดยแนวคิดของพี่ชัย คือการบูรณะโรงเรียนสอนภาษาจีน ไคหนำ ให้เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ 3 ยุคสมัย ตัวแทนของอดีตคือห้องเรียนและห้องสมุดบนชั้นสอง ตัวแทนของปัจจุบันคือโรงน้ำชาด้านล่าง นั่งกินดื่มแบบได้กลิ่นอายชาวจีน ส่วนตัวแทนของอนาคตคือโซนแกลเลอรี่แสดงงานเล็ก ๆ เพื่อคนในชุมชนละแวกนี้ เป็นพื้นที่จัดแสดงงานของศิลปินจากกรุงเทพฯ หรือจัดเวิร์กชอปเพื่อเชื่อมโยงชุมชนกับศิลปะและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนท้องถิ่น

“คำว่าน่านเนิบ ๆ ถ้ามองจากข้างนอกมันอาจจะสวย แต่ขณะเดียวกันมันไปสร้างมายเซ็ตให้คนน่านใช้ชีวิตเนิบนาบเกินไป เราว่าจริง ๆ แล้วคนน่านก็กระฉับกระเฉง ทะเยอทะยานได้ เราจึงพยายามทำสิ่งนั้นที่นี่

“เราไม่ได้แยกตัวเองออกจากชุมชน ตั้งใจว่าโรงเรียนไคหนำจะไม่พูดถึงวัฒนธรรมพื้นเมืองของน่านเลย เพราะว่าเราเป็นสิ่งใหม่ 

“โอเค เราอนุรักษ์โรงเรียนไว้ แต่เราจะไม่ดึงอดีตมาหา เราจะเดินไปข้างหน้า และคิดว่าเราจะไปได้ไกลแค่ไหน”

แม้วันนี้ที่เดินทางมาถึง โรงเรียนของพี่ชัยจะยังสร้างไม่เสร็จดี แต่ทุกก้าวย่างที่ย่ำเดินก็รับรู้ได้ทันทีว่า เจ้าของต้องประกอบอาชีพอะไรสักอย่างที่อาศัยความประณีตระดับมิลลิเมตรเป็นแน่

ความลับก็คงเป็นเพราะเขาจะเกณฑ์พนักงานของบริษัท Illusion มาลงมือขัดเงาเนื้อไม้เองทุกแผ่นนั่นแหละ แอบกระซิบว่าพร้อมเปิดให้เข้าชมปลายปีนี้

ต่อให้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่น่านเพียงไม่กี่วัน เราสัมผัสได้ว่าที่แห่งนี้เต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมทรงคุณค่ามากมาย สงบเงียบ กะทัดรัด ขนาดว่าหลับระหว่างทางยังไม่เต็มอิ่ม แต่ท้องอิ่มอย่าบอกใคร

เรื่องน่าประหลาดใจสุดท้ายคือการได้เห็นว่าคนน่านรุ่นใหม่ไม่มุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลง และคนรุ่นเก่าเองก็เปิดกว้างให้เกิดการต่อยอดเป็นสิ่งใหม่ บางร้านอาจเริ่มต้นได้ไม่นาน บางกิจการอาจยังสร้างไม่เสร็จดี แต่อย่างน้อยแต้มต่อที่ที่นี่มีคือการร่วมมือกันของคนต่างความคิด ต่างวัย ภายใต้ความฝันเดียวกันว่า อยากให้บ้านของพวกเขากลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านในอนาคต

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ไรวินทร์ วันทวีทรัพย์

ช่างภาพผู้หลงรักกล้องเก่าและชอบเสียงชัตเตอร์เป็นชีวิตจิตใจ IG : 551mm