ร้องนำ | วัชระ ณ ระนอง, วัชระ (80 ปี)
กีต้าร์ | ฐิติชัย สวัสดิ์เวช, ตุ้ม (64 ปี)
เบส | ศิริ ดีลัน, หริ (69 ปี)
เม้าท์ออร์แกน | บุญเสริม ชูช่วย, บุญเสริม (86 ปี)
คีย์บอร์ด | เทพ เก็งวินิจ, เทพ (74 ปี) และ
กลอง | ธนกร เจียสิริ, ชาติ (65 ปี)

Bennetty

ชื่อเสียงเรียงนามและอายุ ของสมาชิกทั้งหกคนจากวง Bennetty อินดี้ร็อกซาวนด์เท่แห่งค่าย Choojai Record กำลังบอกอะไรพวกเรา

ไม่เลย ไม่สำคัญสักนิด

เพราะทันทีที่เสียงเมาท์ออร์แกนขึ้นในช่วงอินโทร สอดรับกันพอดีกับเครื่องดนตรีอีก 4 ชิ้นที่เหลือ ก่อนจะเข้าสู่คำร้องท่อนแรก ของเพลง จุดเดิม ซิงเกิลเดบิวท์ของวง เราก็เผลอพูดออกมาว่า “ล้ำชะมัด 60 เมื่อไหร่จะขอเท่อย่างนี้ได้บ้าง”

ไหนจะคำร้องที่จริงใจ เสื้อผ้าหน้าผมในมิวสิกวิดีโอ และอีกหลากหลายเหตุผลที่ทำให้เรากดฟังเพลงนี้วนไปซ้ำๆ แล้วส่งต่อให้กลุ่มเพื่อนที่นิยมฟังเพลง alternative เหมือนกัน โดยไม่ลืมที่จะส่งเพลงนี้เข้าไปในกลุ่ม Line ครอบครัว เผื่อว่าป๊าและม๊าที่บ้านจะคันไม้คันมือ ไม่รู้สึกเขินที่กลับมาทำอะไรวัยรุ่นๆ

ยิ่งเมื่อรู้ว่านอกจากเพลงและมิวสิกวิดีโอแล้ว เร็วๆ นี้จะมีภาพยนตร์สารคดีของวงด้วยแล้ว The Cloud ไม่ขอรอช้า ชวน กิ๊บ-คมสัน วัฒนวาณิชกร จากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จำกัด ครีเอทีฟที่เป็นต้นเรื่องของโปรเจกต์นี้ ตามด้วย คงเดช จาตุรันต์รัศมี ผู้กำกับภาพยนตร์ จากภาพยนตร์เรื่อง Snap, ตั้งวง, แต่เพียงผู้เดียว และ เจ-เจตมนต์ มละโยธา โปรดิวเซอร์จากค่าย smallroom มาพูดคุยกันถึงเบื้องหลังโปรเจกต์นี้ทั้งหมด

ก่อนจะไปฟังเรื่องราวเบื้องหลังของวงดนตรีกลุ่มนี้ เรามาฟังเพลงและดู MV พร้อมกันอีกสักรอบ

และ Please mind the gap… โปรดระวังช่องว่างระหว่างชายชรา

จากโจทย์ที่ทุ้มอยู่ในใจ

โจทย์เรื่องผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่อยู่ในความคิดของกิ๊บมานานแล้ว ย้อนกลับไปช่วงที่เขาและเพื่อนๆ ก่อตั้งชูใจ กะ กัลยาณมิตร ขึ้นมาใหม่ๆ พวกเขาก็ได้รับโจทย์ผู้สูงวัยจาก สสส. จึงออกมาเป็นโปรเจกต์พลังสูงวัย ที่ตั้งพรรคการเมืองที่มีแต่ผู้สูงวัยขึ้นมาช่วงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ มีนโยบายที่จุดขายอยู่ที่ประสบการณ์ของลูกพรรค แล้วจัดแถลงข่าวเปิดตัวพรรคที่สวนลุมพินี

ซึ่งแม้โปรเจกต์นี้จะจบไปนานแล้ว แต่ความคิดที่จะทำแคมเปญเรื่องผู้สูงวัยไม่เคยจากกิ๊บไปไหน

“สิ่งที่แตกต่างระหว่างโปรเจกต์นี้กับงานที่ชูใจเคยร่วมกับ สสส. ก็คือ บทบาทที่เปลี่ยนจากเอเจนซี่รับโจทย์จากลูกค้า มาเป็นคนที่ดูแลโจทย์และโปรเจกต์นี้โดยตรง”

และเพราะมองว่าดนตรีเป็นสื่อกลางที่เข้าถึงคนได้กับทุกเพศและทุกวัย

สิ่งที่ชูใจทำก็คือ การตั้งวงดนตรีที่มีสมาชิกเป็นผู้สูงวัย กับแนวเพลงคนรุ่นใหม่ ภายใต้ การดูแลของ Choojai Record

Bennetty Bennetty

“หนึ่ง เราต้องการเปลี่ยนภาพจำเดิมของวงดนตรีผู้สูงวัย ที่มักจะเป็นเพลงสุนทราภรณ์หรือเพลงเพื่อชีวิต เราอยากให้เขาลองทำสิ่งที่เป็นรสชาติ เป็นแนวทาง เป็นเคมี ของคนรุ่นใหม่ เพื่อจะบอกว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ จึงเป็นที่มาของแนวเพลงวัยรุ่น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อพิสูจน์และสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมเห็นว่า ยังคงมีสิ่งที่ไม่อาจแยกเราออกจากกัน หรือยังมีสิ่งที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ ไม่ถูกทอดทิ้งให้แยกจากกัน

“สอง ในโปรเจกต์นี้คนจะเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างคน 2 รุ่น ทั้งพี่เจที่มาช่วยทำเพลง พี่คงเดชมาช่วยทำหนังสารคดี หรือแม้แต่ศิลปินที่แต่งเพลงให้และผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ที่มาทำงานร่วมกับวงผู้สูงวัย ซึ่งเราตั้งใจใช้ช่องทางสื่อสารตรง ให้วงเดินสายเล่นดนตรีในกิจกรรมที่เกี่ยวกับผู้สูงวัยและฉายภาพยนตร์สารคดี”

ตั้งวง โดยผู้กำกับ ตั้งวง

หลายคนรู้จักคงเดชในฐานะผู้กำกับ น้อยคนจะรู้ว่าเขาเป็นนักดนตรีด้วย

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่กิ๊บชวนเขามาร่วมงานนี้ด้วยกัน เพราะนอกจากประสบการณ์ รู้ขั้นตอนและเข้าใจธรรมชาติของดนตรีและการทำเพลงแล้ว ผู้กำกับรุ่นใหญ่คนนี้ยังมีรสนิยมในการฟังเพลงที่น่าสนใจ

โปรเจกต์คนแก่ให้ดูไม่แก่” คือใจความหลักที่กิ๊บใช้ชวนคงเดชมาร่วมงานในโปรเจกต์นี้

“โดยทั่วไปของโปรเจกต์ผู้สูงวัย เรามักจะเห็นคนแก่ลุกขึ้นมาสลัดคราบคนแก่จนหมดสิ้น ให้เขาแต่งตัวเป็นวัยรุ่น เรารู้สึกว่ามันดูสนุกสนานมากกว่าจะทำให้คนดูรู้สึกนับถือ เมื่อมาทำโปรเจกต์นี้ สิ่งแรกที่เราบอกพี่คงเดชก็คือ เราจะทำโปรเจกต์นี้ให้ออกมาเท่” กิ๊บเล่า

Bennetty Bennetty

คงเดชเล่าว่าหลังจากที่ได้รับโจทย์ เขาตั้งใจจะทำสารคดีตามติดชีวิตที่ออกมาธรรมชาติและผ่านการปรุงแต่งน้อยสุด เพราะอยากรู้ความรู้สึกจริงๆ ที่พวกเขามีต่อชีวิต

ในแง่ของการเริ่มทำงานหนังสารคดี คงเดชและทีมเริ่มต้นจากการหาคนต้นเรื่อง ซึ่งก็คือเหล่าคุณลุงนักดนตรี ก่อนจะเริ่มติดตามชีวิตพวกเขาระหว่างที่ทำเพลง แน่นอนว่าตัวละครทั้งหมดต้องมีอะไรที่มากกว่าแค่เล่นดนตรีได้ เพราะมันคือการหาครอบครัวให้เขา ไม่ใช่แค่จับพวกเขามาเล่นดนตรีด้วยกัน

รอบออดิชัน

ในกระบวนการออดิชัน นอกจากความสามารถทางดนตรี ทีมงานสนใจเรื่องราวเบื้องหลังและเส้นทางชีวิตของแต่ละคน ทัศนคติและเคมีของการอยู่ร่วมกัน

“สิ่งที่พบระหว่างออดิชันคือ เหล่านักดนตรีผู้สูงอายุมีการรวมตัวที่เหนียวแน่นมาก ในยุคนั้นถ้าใครเล่นดนตรีเป็นอาชีพ ส่วนหนึ่งจะเล่นดนตรีร็อก ฟังก์ โซล ยุค 70 อยู่ในค่ายทหาร G.I. ที่อุดรธานี ขอนแก่น เป็นต้น ขณะที่อีกสายหนึ่งจะเล่นตามไนต์คลับ ซึ่งระหว่างที่ทำไปเราก็ค่อยๆ เห็นภาพแวดวงดนตรียุคนู้น ขณะเดียวกันเราก็ค้นพบว่าคนแก่ทุกคนก็เคยเฟี้ยวมาก่อนทั้งนั้น ทุกคนเคยวัยรุ่นมาก่อน ทุกคนเคยมีแววตาอีกแบบหนึ่งกับชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสนใจ ยิ่งทำให้เราอยากดูชีวิตเขา อยากคุยกับเขา” คงเดชเล่า

Bennetty Bennetty

จนกระทั่งได้สมาชิกทั้งหกคน และทุกคนล้วนมีชีวิตและฐานะที่แตกต่างกัน มีการเตรียมความพร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุต่างกัน ทำให้เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการติดตามกระบวนการทำเพลงของวงดนตรี

Indie Rock Band and I

จากโจทย์วงดนตรีผู้สูงอายุที่อายุ 60 ขึ้นไป ซึ่งสมาชิกในวงมาจากการคัดเลือกของทีมงาน โดยแต่ละคนมีทิศทาง ความถนัด และเส้นทางสายดนตรี ที่ต่างกัน

เจ โปรดิวเซอร์หนุ่มบอกเราว่า ความยากก็คือ เขาจะทำอะไรกับสิ่งที่มีอยู่ได้บ้าง

คมสัน วัฒนวาณิชกร, คงเดช จาตุรันต์รัศมี, เจตมนต์ มละโยธา

เขาเริ่มจากศึกษาแนวเพลงที่แต่ละคนชอบฟังและเล่นผ่านวิดีโอออดิชัน จึงได้เห็นว่าทุกคนมีพื้นฐานที่ดี เช่น คุณลุงกีตาร์และเบสชอบเล่น Hard Rock ขณะคุณลุงนักร้องนำนั้นมีเสียงร้องที่มีคาแรกเตอร์และลูกคอที่น่าสนใจ หรือคุณลุงคีย์บอร์ดที่มาจากดนตรีคลาสสิกสายแข็ง

แม้ตอนแรกเจคิดจะทำเพลงในแนว Indie Pop แต่เขาก็รู้สึกว่าไม่แปลกใหม่เท่าไหร่ ประกอบกับเขาอยากให้เพลงออกมามีความเท่แบบคนยุคนี้ด้วย จึงอยากทำเพลงในแนว Indie Rock ให้มีกลิ่นอายของญี่ปุ่นหน่อยๆ เป็นแนวเพลงที่สาย alternative น่าจะชอบ

เจเริ่มจากอธิบายแนวเพลงและสร้างความคุ้นเคยให้วงด้วยการเปิดเพลงของ Greasy Cafe ให้คุณลุงทั้ง 6 คนฟัง ความนุ่มลึกที่ไม่ดูประดักประเดิดมากเปลี่ยนบรรยากาศการทำเพลงให้ดีขึ้นถนัดตา เพราะทุกคนต่างก็ออกความเห็นและนำเสนอแนวทางที่แต่ละคนชอบ เป็นส่วนผสมการทำงานที่ลงตัวระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ จนออกมาเป็น Indie Rock ซาวนด์เท่ ด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์ของคุณลุงและทีมงาน

นอกจากจะมีส่วนร่วมในแนวเพลงแล้ว เรารู้มาว่าชื่อวง Bennetty เท่ๆ ชื่อนี้ ไม่ได้มาจากนัท มีเรีย อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มาจากการตั้งชื่อและเลือกกันเองของสมาชิกในวง

Music and Lyrics

หลังจากทุกฝ่ายยินยอมพร้อมใจ ก็ถึงเวลาของเนื้อร้องและทำนอง เจจึงชวน ดุ่ย-วิษณุ ลิขิตสถาพร จาก Youth Brush มาร่วมแต่งเนื้อร้องโดยให้โจทย์ดุ่ยว่า เพลงรักในมุมมองของคนรุ่นลุง

ดุ่ยจึงกลับมาพร้อมเดโม่ทั้งหมด 8 เพลง ซึ่งเพลงที่คุณลุงและทีมงานทุกคนเห็นตรงกันก็คือ เพลง จุดเดิม ที่เล่าถึงการจากลาว่าเป็นเพียงแค่การกลับไปที่จุดเดิม จุดที่เราไม่เคยลืม จุดที่ไม่เคยมีสิ่งใดเกิดขึ้น เป็นเพลงรักที่ไม่ได้พูดถึงการตามหารักแท้ ไม่ได้พาไปค้นพบ แต่พาไปสำรวจจุดจากลา “เพียงคนหนึ่งย้อนคืนไปยังจุดเดิม…”

คมสัน วัฒนวาณิชกร, คงเดช จาตุรันต์รัศมี, เจตมนต์ มละโยธา

นอกจากเพลงจุดเดิมที่ใช้เป็นเพลงเปิดตัววง Bennetty ยังมีอีกเพลงที่จะอยู่ในหนังสารคดี เป็นเพลงที่พูดถึงการเดินทางแสนไกลเพื่อรับรู้สิ่งที่เป็นอยู่ พบว่าที่ค้นเจอนั้นอยู่ภายใน ได้แรงบันดาลใจจากประโยค “จิตใจสวยงามมองอะไรก็สวยงาม แต่ถ้าจิตใจเลวร้ายแม้มองดอกไม้ก็เห็นเพียงขวากหนาม”

ปล่อยแสง

“ในกระบวนการคิดเรียบเรียงเพลง ผมเรียกว่าทำให้มันปล่อยแสงหน่อยๆ อย่างทางกีตาร์ในท่อนเปิดที่จะมีความเก่าๆ หน่อย พอมารวมเป็นวง เราเลือกใช้คอร์ด 5 ของคีย์ที่ทำให้เพลงโดยรวมออกมาดูเท่ขึ้น ส่วนเรื่องร้อง เราอยากให้คนฟังรู้สึกเหวอนิดๆ ทั้งจากคาแรกเตอร์และวิธีการร้อง ส่วนท่อนโซโล่ ผมคิดภาพในหัวไว้เปรี้ยงปร้างมาก อยากให้ลุงกระโดด อยากเห็นภาพนี้” เจเล่าพร้อมทำเสียงดนตรีประกอบให้เราฟัง

บันทึกเสียง

หลังจากเข้าใจโจทย์และเพลงเริ่มลงตัว แต่ละคนก็แยกย้ายกันไปฝึกซ้อม ซึ่งเพราะเป็นแนวทางเพลงแบบใหม่ ทำให้เหล่าสมาชิกต้องพยายามกันเป็นพิเศษ เช่น พี่บุญเสริม เม้าท์ออแกนที่กลับบ้านไปซ้อมทุกวัน ส่วนพี่เทพ คีย์บอร์ด ที่ไม่มีเปียโนที่บ้าน ซึ่งปกติจะใช้เปียโนของร้านเครื่องดนตรีในห้องสรรพสินค้าที่ไปประจำจนสนิทกับพนักงาน ก็ใช้วิธีไปร้านให้บ่อยขึ้นเพื่อซ้อมให้มากที่สุด ก่อนจะกลับมาเข้าห้องบันทึกเสียงพร้อมกัน

เพราะสมาชิกในวงไม่มีใครมีประสบการณ์ในห้องอัดเสียงมาก่อน จึงเป็นธรรมดาที่ทุกคนจะรู้สึกเกร็งและประหม่า เช่น พี่เทพ คีย์บอร์ด ที่เล่นดนตรีสายคลาสสิกมาก่อน เขาก็จะรู้สึกไม่คุ้นเท่าไหร่เมื่อต้องเล่นเพลงที่มีจังหวะ Funk เล็กๆ 

หรือปัญหาเรื่องสุขภาพร่างกายของพี่บุญเสริม เม้าท์ออแกน เพราะตอนแรกโน้ตของเม้าธ์ออแกนจะต้องใช้การดูดลม ซึ่งยากกว่าการเป่าและทำให้เหนื่อย แต่พี่บุญเสริมก็ยังสู้จนทำได้ แต่ท้ายที่สุดเจก็ต้องปรับให้เป็นการเป่า เพื่อไม่ให้พี่บุญเสริมเหนื่อยเกินไป

และเพราะความแตกต่างของยุค ทำให้พี่วัชระ นักร้องนำ ต้องใช้เวลาช่วงแรกในการปรับจังหวะการร้องจากสมัยก่อนมาเป็นสมัยใหม่ จนในที่สุดก็ได้เสียงร้องที่ถ่ายทอดความหมายและความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความหวังออกมา

หลังจากผ่านกระบวนการมาทั้งหมด ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าออกมาเป็นที่เท่กว่าที่คิด

เจตมนต์ มละโยธา Bennetty

คืนพื้นที่แสดงออก

นอกจากเส้นเรื่องที่ติดตามกระบวนการทำเพลงแล้ว ในส่วนของหนังสารคดี คงเดชพาเราไปพบบั้นปลายชีวิตที่แตกต่างกันของคน 6 คน บางคนบ้านรวย บางคนห้อมล้อมด้วยลูกหลาน บางคนมีบั้นปลายชีวิตที่ไม่เหลือใคร บางคนใช้ชีวิตประจำวันที่ห้างใหญ่ใกล้คอนโด เดินออกจากบ้านไปกินข้าวที่ฟู้ดคอร์ต แล้วไปเล่นดนตรีที่ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าจนมีพนักงานเป็นเพื่อนสนิท หรือบางคนเป็นเพลย์บอยมาทั้งชีวิต

“เราว่าต้นทุนที่ดีที่สุดสำหรับสารคดีเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการเล่นดนตรี แต่เป็นชีวิตของแต่ละคน สำหรับเราเนื้อเรื่องส่วนนี้สำคัญมากนะ เราอยากรู้ว่าแต่ละคนมองชีวิตที่ผ่านมาและที่เหลืออยู่ยังไง มองความตายยังไง โดยที่ไม่ยัดเยียดจนเกินไป อยากให้มองกันเหมือนมนุษย์คนหนึ่งที่ผ่านชีวิตมามากมาย อาจจะมีเรื่องที่ทำพลาด

“เราคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนดูมากๆ ไม่ว่าจะวัยไหนก็ตาม อย่างพวกน้องๆ ดูแล้ว จะได้ไอเดียว่าจัดการกับชีวิตยังไง เพราะบางทีชีวิตมันไม่ค่อยปรานีเรา” ผู้กำกับรุ่นใหญ่บอกเรา

Bennetty

ในที่สุดก็ออกมาเป็นหนังสารคดีที่มีความยาว 70 นาที

“มันสะท้อนถึงการวางแผนชีวิตก่อนเกษียณ ซึ่งก็ขึ้นกับเงื่อนไขการดำเนินชีวิตและเส้นทางของแต่ละคน อีกด้านหนึ่งที่อยากให้เกิดขึ้นกับสังคมคือ การรองรับหน้าที่ของเขาซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการจ่ายเงินเกษียณ มันควรจะวางเขาไว้ในที่ที่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ เหมือนผู้อายุในแวดวงวิชาการที่แม้เกษียณอายุแล้วก็ยังนั่งอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาได้” กิ๊บชวนเราตั้งคำถาม ก่อนจะเสริมว่าความคิดของผู้สูงวัยกับวัยรุ่นไม่แตกต่างกันมากนัก ดังเช่นที่ตอนเป็นวัยรุ่น เราก็มักจะบอกว่าสังคมนี้ไม่มีพื้นที่ให้วัยรุ่นแสดงออก

Young at Heart

ภาพของคนแก่ที่ไม่ได้ดูน่าเลื่อมใสอย่างเดียวแต่ยังดูเท่ด้วยที่เขาลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง

“จริงๆ ผมแอบคิดเล็กๆ ว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ได้ทำงานกับเฉพาะคนสูงวัยเท่านั้น ลองคิดดูว่าคำว่าแก่มันมาสู่เราตอนอายุเท่าไหร่ 30 จริงมั้ย ง่ายๆ เลย เราเจอเพื่อนเราก็บ่นว่าเราแก่แล้ว ทั้งๆ ที่ อายุ 30 เองนะ นั่นหมายความว่าคำว่า ‘แก่’ เข้าไปทัชทุกคนแล้ว โดยเฉพาะในมิวสิกวิดีโอจะพูดว่าความฝันไม่มีวันแก่ เพราะฉะนั้นทุกคนแก่ และทิ้งอะไรสักอย่างไว้ข้างหลังอยู่แล้ว สิ่งที่อยากทำก็ไม่ได้ทำ หนังเรื่องนี้จะทำงานตรงนี้ด้วย”

คมสัน วัฒนวาณิชกร, คงเดช จาตุรันต์รัศมี, เจตมนต์ มละโยธา

“โดยเฉพาะคอนเซปต์รวมของมิวสิกวิดีโอที่เล่นกับวัด กับโรงพยาบาล แม้จะมีเสียงท้วงติงว่าคนจะอ่อนไหวกับการนำภาพที่เกี่ยวกับความตายมาใช้ คล้ายกำลังสาปแช่ง แต่จริงๆ เรามองว่าความตายมันเป็นเรื่องธรรมดา เราหนีมันไม่ได้ ชีวิตที่เหลืออยู่ต่างหากที่สำคัญกว่า”

กิ๊บยังเล่าอีกว่าถ้าสังเกตจะเห็นว่าในมิวสิกวิดีโอทุกคนใส่เสื้อผ้าแบบที่ใส่จริงในชีวิตประจำวัน เพราะตั้งใจจะบอกว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือสิ่งที่อยู่ข้างในตัวตนพวกเขา ความมั่นใจที่อยู่ข้างใน ความรู้สึกว่าความฝันยังอยู่ ยังมีหน้าที่ และยังมีประโยชน์อยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก

“สิ่งที่เราระวังที่สุดคือ นำคนแก่มาทำแล้วมันออกมาตลก การที่เราเลือกเสื้อผ้าให้เป็นแบบนั้น เพราะเราไม่อยากเอาเขามาแต่งตัวแบบพยายามวัยรุ่น ที่ผ่านมา คนจะตีโจทย์แบบนี้ว่าต้องทำให้เขาดูทันสมัย แต่เราว่ามันไม่ใช่ มันตลก เราว่าทันสมัยมันอยู่ที่แนวคิด ทัศนคติ เราอยากให้เขาเป็นธรรมชาติตามอายุ ตามแบบที่เขาเป็นอยู่ทำให้เท่ เราว่าของดีมันอยู่ข้างใน นอกจากนี้เราต้องการให้มันเชื่อมโยงกับพ่อๆ แม่ๆ ตา ยาย ที่อยู่ที่บ้าน พวกเขาก็แต่งตัวกันแบบนี้ เราดูแล้วเราจะนึกถึงคนที่บ้าน

“ในมิวสิกวิดีโอ ที่ลืมพูดถึงไม่ได้คือ ครูอุ๋ย-พรรัตน์ ดำรุง นางเอกในเรื่องที่เราเพิ่มเข้ามา เพราะเราคิดว่ามันต้องมีตัวดำเนินเรื่อง เราบรีฟครูอุ๋ยว่าให้เต้นแบบท้าทายอายุขัย ท้าทายโรคภัย เต้นแบบไม่กลัวความตาย เต้นอะไรก็ได้ ให้เต้นออกมา

“นอกจากนี้ ในมิวสิกวิดีโอยังซ่อนสัญลักษณ์ไว้ในเรื่องอีกไม่น้อย เช่น สถานที่เก่าๆ สิ่งของที่ทำให้นึกถึงช่องระหว่างวัย หรือสิ่งเกี่ยวกับอายุ เช่น ลูกอม ฟันปลอม สเก็ตบอร์ด เต่า รอยสัก เราเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้คนรุ่นใหม่ชอบและยอมรับกับวิธีคิดที่เราต้องการสื่อสาร” ครีเอทีฟหนุ่มเล่าด้วยตาเป็นประกาย

กลับมาที่…จุดเดิม

กิ๊บเล่าปลายทางของโปรเจกต์นี้ว่า เขาอยากให้ผู้สูงวัยค้นหาหน้าที่ของตัวเอง

“มีคนเคยบอกว่าทุกอย่างมีหน้าที่ การไม่มีหน้าที่ก็เท่ากับเราตายไปแล้ว ที่คนแก่รู้สึกว่าตัวเองแก่ลงเรื่อยๆ เป็นเพราะว่าหน้าที่ที่เคยมีมันหายไป

“ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง หนังสารคดีเรื่องนี้และวิธีการที่เราใช้ เราไม่ได้หวังผลในแง่จำนวนคนดูที่มหาศาล เรารู้สึกว่าถ้าจัดรอบฉายตรงแก่ผู้สูงวัย มันจะทำงานกับตัวเขาแน่ๆ และนี่คือสิ่งที่เราเชื่อ คือต่อให้มีคนดูแค่ 10 คน หนังสารคดีเรื่องนี้ก็จะทำงานกับทั้งสิบคนนั้น มันคือการทำงานที่ไม่ได้วัดผลเชิงจำนวน แต่วัดผลในเชิงคุณภาพ” กิ๊บเล่า ก่อนจะทิ้งท้ายแผนการสนุกๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

“ตอนแรกพวกเรามองไปถึงการประกวดวงดนตรี โดยให้ผู้สูงอายุนำเพลงอินดี้มาทำใหม่ในสไตล์ตัวเอง วงไหนที่เข้ารอบเราจะเลือกวงดนตรีอินดี้มาเป็นโปรดิวเซอร์ และถ่ายทำหนังสารคดีเรื่องการทำงานร่วมกัน แบ่งปันประสบการณ์ออกมาเป็นอัลบั้มและคอนเสิร์ต มองใหญ่ขนาดนั้นเลย (หัวเราะ)”

Bennetty

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ