ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บนไทม์ไลน์มีกระแสชื่นชมความน่ารักและซาบซึ้งของหนังโฆษณา ‘Girlhattan’ ผลงานของพี่น้องตระกูลพูนพิริยะให้เราเห็นตลอดเวลา หนังโฆษณาของห้าง Emporium เรื่องนี้มี จูนจูน-พัชชา พูนพิริยะ เป็นนักแสดง และกำกับโดย บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ เนื้อหาว่าด้วยความสัมพันธ์ของพี่สาวกับน้องสาวที่อยู่ห่างกันคนละทวีป เล่าชีวิตประจำวันในเมืองนิวยอร์กผ่านภาพสวยๆ เนื้อเรื่องน่ารักกุ๊กกิ๊กสมกับความเป็นพี่น้องที่ตอนจบถึงกับทำให้เราน้ำตาซึมโดยไม่รู้ตัว

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานของ -iSM Branded Entertainment Agency น้องใหม่ที่เชี่ยวชาญเรื่องการนำเสนอแบรนด์ด้วยแนวทางที่แปลกใหม่และโดนใจผู้บริโภคผ่านสื่อ Entertainment

เราเลยชวนบาสและจูนจูน พี่น้องพูนพิริยะ มาเป็นตัวแทนพูดคุยถึงเบื้องหลังการทำงานระหว่างพี่น้อง จนกลายเป็นชิ้นงานที่น่าประทับใจเช่นนี้

ก่อนจะเข้าเรื่อง เรามารับชมหนังเรื่องนี้เพื่อทบทวนกันอีกซักรอบ ติดทิชชู่สักแผ่นไว้ก็ดี เผื่อคุณอาจจะน้ำตาซึมแบบเราก็ได้

หนังโฆษณาแบบเล่าเรื่องราวชิ้นแรกของ Emporium

บาสเล่าถึงจุดเริ่มต้นของงานนี้ให้เราฟังว่า ห้าง Emporium ให้โจทย์มาว่า ต้องการทำเนื้อหาเพื่อเฉลิมฉลองความเป็น Emporium ภายใต้แคมเปญ RelationGifts ที่ห้าง Emporium ให้ความสำคัญและใส่ใจในทุกความสัมพันธ์ เพราะทุกความสัมพันธ์คือของขวัญที่มีค่าและน่าจดจำของชีวิต

โดยปกติแล้ว Emporium ทำแต่หนังแฟชั่นเท่านั้น ไม่เคยทำหนังโฆษณาในเชิงเล่าเรื่องแบบนี้มาก่อน ตอนแรกบาสยังไม่ได้รับปากเพราะช่วงเวลาทำงานบาสต้องเดินทางไปร่วมเทศกาลหนังที่นิวยอร์ก แต่ก็ได้ไอเดียเนื้อเรื่องนี้ขึ้นมาพอดี และโชคดีที่ลูกค้าเปิดกว้างมากให้ถ่ายทำที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ในห้างเท่านั้น

Emporium พี่สาวคนโตของบ้าน

สิ่งที่ลูกค้าเล่าให้ทาง -iSM และบาสฟังแล้วทำให้รู้สึกสะดุดใจคือ ลูกค้าเปรียบเทียบห้างในเครือเป็นพี่น้องกัน “เขามองว่า Emporium เป็นพี่สาวคนโต EmQuartier เป็นน้องสาวคนกลาง แล้วกำลังจะมีน้องสาวคนเล็กมาใหม่ พอเปรียบเทียบเป็นคนแบบนี้แล้ว ก็ทำให้เห็นภาพและเข้าใจความรู้สึกพวกนั้นมากขึ้น ด้วยความที่เป็นพี่สาวคนโตที่เกิดก่อน โตก่อน เปรี้ยวก่อน แต่ทุกวันนี้นิ่งแล้ว มีความเป็นผู้หญิงอายุสามสิบกว่าที่เข้าใจชีวิต มีมาด มีความเป็น Emporium อยู่ ทำให้เราเห็นภาพของหนังแล้วเอามาตีโจทย์ต่อ”

พอลูกค้าเปรียบเทียบเป็นพี่สาวน้องสาว ทำให้ทางทีมเกิดความคิดที่จะเล่าเรื่องผ่านความสัมพันธ์ระหว่างพี่สาวกับน้องสาว และจุดเริ่มต้นนี้เองที่ทำให้บาสนึกถึงน้องสาวของตัวเอง และเห็นจุดร่วมระหว่างความพิเศษในความสัมพันธ์นี้กับความอบอุ่นที่ลูกค้าอยากให้คนรู้สึกกับห้างในแบบเดียวกัน ซึ่งน่านำมาพูดภายใต้โจทย์นี้ได้พอดี บาสเล่าให้ฟังต่ออีกว่า พอดีกับที่จูนจูนเคยไปฝึกงานด้านแฟชั่นเป็นเวลา 2 เดือนที่นิวยอร์ก ประสบการณ์ของจูนจูนในช่วงนั้นจึงน่าจะออกมาพอดีกับเนื้อเรื่องที่คิดเอาไว้

“ตอนนั้นไปส่งเขาที่นู่น เราก็เป็นห่วงเขานะ เลยอยากรู้ว่าในมุมของเขา การต้องอยู่คนเดียวรู้สึกยังไง ขมวดเป็นเรื่องราวคร่าวๆ แล้วส่งต่อให้จูนจูนช่วยดึงความเป็นตัวเองออกมาเพิ่มเติมลงไปในบท”

อีกบทบาทที่จูนจูนได้รับ

นี่คืองานที่บาสและจูนจูนทำงานร่วมกันเยอะมากกว่าปกติ (นอกเหนือจากการเป็นแค่นักแสดงและผู้กำกับ) บาสคิดว่าการให้จูนจูนมีส่วนร่วมในการเขียนบทพูดมากกว่าบทบาทของนักแสดงนำน่าจะทำให้งานออกมาจริงที่สุด และเป็นชีวิตของจูนจูนที่สุด

ฝั่งจูนจูนบอกว่าตอนแรกที่บาสยกหน้าที่นี้ให้ช่วย รู้สึกหนักใจพอสมควรเพราะเป็นเรื่องที่ส่วนตัวมาก แต่ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าเล่าอยู่ พอมานั่งย้อนคิดดูแล้ว ก็พบว่ามันมีตู้ที่เก็บก้อนความรู้สึกอยู่นะ คือความพยายามจะอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง ไม่อยากรบกวนที่บ้าน แต่ภายใต้สิ่งนั้นก็คือ ฉันยังเป็นเด็กอยู่ ฉันต้องการการดูแล ฉันคิดถึงที่บ้านมากๆ แต่ก็แสดงออกมาไม่ได้”

ต้องใส่แบรนด์ลงไปตรงไหนบ้าง แค่ไหน ถึงจะพอดี

มีการปรึกษาลูกค้าอยู่ตลอดว่า อะไรเป็นจุดเด่นหรือว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับแบรนด์ได้บ้าง มีการประชุมกันและเลือกสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นตัวแทนของ Emporium ที่คนนึกถึงจริงๆ มาใส่ในหนัง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาการขึ้นลิฟต์ในห้าง ป้ายลดราคา ถาดและจานชามจากศูนย์อาหาร รวมไปถึงตะกร้าช้อปปิ้งเหล็กสีทองจาก Gourmet Market ที่ขนกันไปจริงๆ (ยกเว้นข้าวขาหมูที่เขาบอกว่าไม่ได้เอาไป ที่นู่นก็มีเหมือนกัน)

การเลือกใส่รายละเอียดให้พอดีและไม่ยัดเยียดแบรนด์จนดูได้เพลินขนาดนี้ บาสบอกว่า “ต้องงัดเอาทักษะในการทำหนังที่ตัวเองมีมาสนับสนุนความคิดหลักของเรื่องให้ได้ เหมือนทำหนังโฆษณา ทุกอย่าง ทุกชั่วขณะ ทุกวินาทีที่เราเล่าในหนัง จะนำมาสู่จุดจบตอนสุดท้ายของหนัง และกลับมาที่แท็กไลน์กับก๊อปปี้ด้วยเช่นกัน”

 

ไม่มองว่าหนังโฆษณาของห้างต้องถ่ายในห้างเท่านั้น

“สุดท้ายแล้วเราทำหนังโฆษณา มันไม่สามารถทำทุกอย่างเป็นหนังแท้ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้อยู่แล้ว ผมว่ามันเป็นการประนีประนอมกันและกันที่กำลังดี ในเวลาเดียวกัน มันมีโปรดักต์ผูกติดอยู่ ผมไม่ถนัดฝั่งแฟชั่น แต่ก็ไม่สามารถทำหนังเล่าเรื่องอย่างเดียว จนเสียเรื่องความเป็นแฟชั่นของทางแบรนด์ได้ ทุกอย่างต้องไม่มีฝั่งใดฝั่งหนึ่งที่ล้ำเส้นกันจนเสียความเป็นตัวเองทั้งสองอย่าง ถือว่ายากแต่ด้วยความเข้าใจกันทุกฝ่ายก็เลยผ่านไปได้ด้วยดี”

การรู้จักพื้นที่ก็ไม่ได้ช่วยให้การถ่ายทำง่ายขึ้น

การที่บาสเคยใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์กถึง 7 ปี ไม่ได้ช่วยทำให้การถ่ายทำที่นั่นง่ายขึ้นแต่อย่างใด เพราะไม่ได้รู้จักใครเป็นพิเศษ รู้แค่ตรงนี้สวยเท่านั้น แต่โชคดีที่ได้รุ่นน้องที่รู้จักเพิ่งย้ายไปใช้ชีวิตที่นั่น เปิดโปรดักชันเฮาส์ชื่อ Whiteline Production House ค่อยสนับสนุนทีมงานไทยที่ไปถ่ายทำ ก่อนนี้ทางโปรดิวซ์เซอร์ของทีม Whiteline ก็เคยทำงานกับ หับ โห้ หิ้น มาก่อน

“เขามีทักษะความเก่งกล้าในการติดต่อกับทุกอย่าง ขอนู่นขอนี่ได้หมด ถ้าที่ไหนถ่ายไม่ได้ เขาก็จะช่วยหาที่คล้ายๆ กันให้แทน ถือว่าโชคดีมาก”

Good moments in a relationship are the gift of life.

กระบวนการทำงานเป็นในรูปแบบของการทำงานโฆษณาปกติ บาสมีโปรดักชันเฮาส์ของตัวเองชื่อ Houseton มารับผิดชอบในการพัฒนาเรื่องราว ส่วนทาง -iSM เป็นฝ่ายตีโจทย์ พัฒนาคอนเซปต์ และถ่ายทอดไอเดีย ให้สามารถสื่อสารได้ง่าย โดยปรึกษากันตลอดในทุกขั้นตอนของการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ

“ก๊อปปี้ในตอนจบ ‘Good moments in a relationship are the gift of life.’ ที่ทีมครีเอทีฟ คุณอู๊ด (นพรัตน์ วัฒนวราภรณ์) คิดมา ก็สามารถช่วยสรุปสิ่งที่หนังต้องการสื่อให้รู้สึกและสิ่งที่แบรนด์ต้องการสื่อสาร ให้ไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี”

หนังเรื่องนี้มีความแตกต่าง

บาสบอกกับเราว่าหนังเรื่องนี้เป็นเเนวเล่าเรื่องที่อยากให้ออกมาดูเรียบง่าย เส้นเรื่องต้องไม่มีความขัดแย้งอะไร เป็นเรื่องอารมณ์และมู้ดแอนด์โทนเล็กๆ ในชีวิตของมนุษย์ธรรมดาคนนึงมากกว่า

“สุดท้ายเราจะประคองช่วงเวลาเล็กๆ เหล่านั้น แล้วค่อยๆ สะสมไปเป็นจิ๊กซอว์ทางความรู้สึกในภาพใหญ่ตอนจบได้ยังไง นี่คือทิศทางในการทำหนังครับ แล้วหนังยังมีความเป็นแฟชั่นด้วย ซึ่งผมเป็นคนไม่ได้เรื่องเรื่องแฟชั่นเลย แต่ก็ได้ความช่วยเหลือจากลูกค้าที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องสไตล์ลิ่งให้ ผมก็เพิ่งเคยลองทำงานแนวนี้เหมือนกัน”

ในขณะที่จูนจูนบอกว่าหนังเรื่องนี้อาจดูเป็นเรื่องที่เฉพาะตัวเกินไป เหมือนเป็นแค่เรื่องความสัมพันธ์ของพี่สาวน้องสาว แต่เชื่อว่าเมื่อได้ดูหนังจนจบ ทุกคนน่าจะต้องมีคนที่เรารักและเคยอยู่ในจุดที่ต้องพึ่งตัวเองให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการคนดูแล ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงได้กับทุกคน

“อันนี้แอบชมเฮียบาส รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นวิธีเล่าเรื่องกึ่งแฟชั่น กึ่งเรื่องราวที่เป็นงานโฆษณาของลูกค้าได้ฉลาดมาก ขนาดตอนที่เฮียบาสมาเล่าคอนเซปต์ทางหนังให้ฟัง เราฟังแล้วก็รู้สึกว่า เออว่ะ ยูไม่จำเป็นจะต้องบอกว่านี่เป็นแบรนด์นี้นะคะ เราเป็นแบบนี้นะคะ มันมีวิธีเล่าเรื่องที่ฉลาดกว่านั้น สื่อเมสเสจได้ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความเป็นแบรนด์ที่เรากำลังนำเสนออยู่พร้อมกันได้ด้วย”

Emporium ได้อะไรจากหนังเรื่องนี้

จูนจูนบอกว่าหนังเรื่องนี้จะช่วยให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูหรูหราและจับต้องได้ยากให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“Emporium มีลุค มีมาดบางอย่าง เป็นพี่สาวมาก หรูหรา เป็นผู้นำ ดูแพง ดูน่าเชื่อถือ แต่พอมาดูงานนี้ที่เฮียบาสกำกับ มันไม่ใช่แค่นั้น พอแทนว่าเป็นพี่สาว มันมีความอบอุ่นมาด้วย เฮียบาสสร้างภาพทั้งหมดจากคำนั้น พอดูแล้วรู้สึกจริงๆ ว่าเราไป Emporium เมื่อไหร่ก็รู้สึกว่านี่คือสถานที่ที่อยู่มานาน มีทุกอย่างพร้อม Emporium คือพี่สาวจริงๆ”

ส่วนบาสได้ให้บทสรุปของงานชิ้นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อเราสามารถทำให้คนดูรู้สึกเหมือนที่เราและแบรนด์เชื่อว่าโมเมนต์เล็กๆ ของความสัมพันธ์อาจกลายเป็นของขวัญที่ดีที่สุด และแบรนด์ Emporium ขอเป็นส่วนหนึ่งที่มอบของขวัญให้กับทุกสายสัมพันธ์ที่มีค่าเหล่านั้น แค่นั้นก็คงเพียงพอแล้ว ที่งานชิ้นนี้จะช่วยสร้าง relationship ระหว่างแบรนด์กับคนดูให้เกิดขึ้นได้ในท้ายสุด

ทีมงาน

Agency: -iSM Branded Entertainment

Creators: Nopparat Wattanawaraporn
Natsa Chitchaitheekul
Watcharapong Dandee
Pakorn Inthachai
Karn Janteerasakul

Account Service: Varunorn Suphannanont

Production: Houseton Film

Director: Nattawut Poonpiriya

Executive Producer: Amorn Nilthep

Co-Producer – Kobrsak Noomnoi, Narissara Thanapreechakul

Assistant Director – Attapol Worrawuttaweekul

DOP – Boonyanuch Kraithong, Warut Snidvongs

Acting C – Romchat Tanalappipat

1st AC – Kingkan Siripiriyakul

2nd AC – Warut Snidvongs

HMU – Praesakow Sangchai

Sound – Prachya Amornratananond

Production Assistant – Aden Nasarat, Joana Maria

Still – Patcha Kitchaicharoen

Behind the scene – Jutharat Pinyodoonyachet, Tanet Kiatniyakrit

Writer

Avatar

ณิชากร เอื้อสุนทรวัฒนา

อดีตนักเรียนโฆษณาที่มาเอาดีทางด้านอาหาร แต่หลงใหลการสัมภาษณ์และงานเขียน

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ