หนึ่งในความต้องการพื้นฐานของมนุษย์คือ การครอบครองพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง แต่เราต่างก็รู้ว่าเราไม่อาจอยู่ในพื้นที่นั้นได้ตลอดเวลา วิธีการที่พอจะทำได้ก็คือ ขยายพื้นที่ปลอดภัยของเราให้กว้างขึ้น หรือสร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกับคนอื่นในสังคม

ที่น่าสนใจคือ เราพบว่าเมื่อใดก็ตามที่พูดถึงการทำเพื่อสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นมักจะเป็นโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ในพื้นที่ขนาดใหญ่ และการใช้ทรัพยากรใหญ่ๆ อีกจำนวนมาก น้อยคนนักที่จะคิดถึงการร่วมมือเล็กๆ ในพื้นที่เล็กๆ

และในมุมเล็กๆ มุมหนึ่งในพื้นที่นั้น มีคนกลุ่มหนึ่งตระหนักความสำคัญของชีวิตจากภาวะโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งและอุบัติเหตุ คิดเป็น 54,000 คนต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างทันที ซึ่งเกิดได้กับทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหัวใจหรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ และไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า โดยเฉพาะช่วงนี้ที่คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้นซึ่งสวนทางกับตัวเลขทางสถิติ

โปรเจกต์ The Smallest Space to Save Lives #ขอพื้นที่เล็กๆให้หัวใจได้เต้นต่อ เป็นโปรเจกต์ของบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ที่สร้างการตระหนักให้กับสังคมว่าพื้นที่ที่สำคัญต่อชีวิต อาจมีขนาดเพียง 0.1 ตร.ม.

แม้เล็กเกินกว่าจะก่อร่างสร้างสิ่งใดๆ แต่ใหญ่พอที่จะบรรจุอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยรักษาชีวิต

เรานัดคุยกับทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์นี้ ในพื้นที่ที่ใหญ่กว่า ‘0.1 ตร.ม.’ ตามคอนเซปต์อยู่หลายสิบเท่า

และนี่คือเบื้องหลังความคิดของโปรเจกต์ที่เรายกให้เป็นโปรเจกต์ CSR ในอุดมคติ

AED, หัวใจ, ช่วยชีวิต,

AED, หัวใจ, ช่วยชีวิต, AED, หัวใจ, ช่วยชีวิต,

1 เริ่มต้นอย่างเฉียบพลัน

เริ่มต้นจากเอพี ต้องการต่อยอดความชำนาญในการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาสเปซที่ให้ความสำคัญไปมากกว่าการสร้าง สเปซเพื่ออยู่อาศัย แต่คือการสร้างพื้นที่ชีวิตที่พร้อมดูแลและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมเอพี ประกอบกระแสการเสียชีวิต ที่เกิดจากความไม่รู้ในขั้นตอนการกู้ชีพผู้ที่ประสบกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ตลอดจนอุปกรณ์ในการกู้ชีพที่หลายหน่วยงาน ก็ยังไม่ตื่นตัว ด้วยเหตุนี้จะกระตุ้นให้เอพีสนใจที่จะลงทุนติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของลูกบ้าน ในคอนโดเอพี

2   สร้างความรู้สึกร่วมกันว่าเรื่องพื้นฐานต้องอยู่ในทุกพื้นที่

เมื่อรวมกับข้อมูลจาก มิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป พันธมิตรทางธุรกิจของเอพี พบว่าในประเทศญี่ปุ่นเครื่อง AED ถือเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตพื้นฐานที่ติดตั้งในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น ทั้งพื้นที่สาธารณะและพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเครื่อง AED ติดตั้งมากที่สุดในโลก นั่นคือประมาณ 6 แสนกว่าเครื่อง ในขณะที่ประเทศไทยคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญ บางคนไม่รู้จักด้วยซ้ำ

ดังนั้น วิธีลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่สำคัญ คือส่งต่อความรู้ให้คนทั่วไปสามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เมื่อเกิดเหตุ และควรมีอุปกรณ์เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED ติดตั้งอยู่ในจุดที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ทันที

AED, หัวใจ, ช่วยชีวิต,AED, หัวใจ, ช่วยชีวิต,

3   มองหาสิ่งที่ทำได้

จากโจทย์ที่คิดถึงความปลอดภัยของลูกบ้าน AP จึงเริ่มจากติดตั้งเครื่อง AED ในทุกพื้นที่เปิดของคอนโดจำนวน 40 โครงการ พร้อมสอนวิธีการช่วยชีวิตให้กับบุคลากร โดยทำงานร่วมกับคณะกรรมการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท รักษาความปลอดภัยไทยซีคอม จำกัด  เกิดเป็นโปรเจกต์ The Smallest Space to Save Lives #ขอพื้นที่เล็กๆให้หัวใจได้เต้นต่อ

AED, หัวใจ, ช่วยชีวิต, AED, หัวใจ, ช่วยชีวิต,

4 พานักสร้างบ้านไปไกลถึงเรื่องการรักษาชีวิต

จากข้อมูลของแพทย์ในสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ พบว่า ในประเทศไทยนอกจากท่าอากาศยานแล้ว สถานที่สำคัญใหญ่ๆ ที่ติดตั้งเครื่อง AED มีอยู่จำนวนไม่เกินนิ้วนับ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของคน แทนที่จะทำการสื่อสารส่งข่าวประชาสัมพันธ์ในวิธีการปกติ ทีมงานเปลี่ยนให้สิ่งนี้มีพลังมากขึ้น พาแบรนด์ที่มีบทบาทเป็นผู้สร้างบ้านไปไกลกว่าการสร้างคอนโดขาย ด้วยการพูดเรื่องการรักษาชีวิต ใช้ความคิดสร้างสรรค์ส่งต่อแรงบันดาลใจ ทำให้มีเครื่อง AED ติดตั้งในหลายๆ พื้นที่ทั้งสาธารณะและไม่สาธารณะ

5 สร้างกระแส vs สร้างผลกระทบ

ก่อนจะเป็นโปรเจกต์ The Smallest Space to Save Lives #ขอพื้นที่เล็กๆให้หัวใจได้เต้นต่อ

หลังจากได้รับโจทย์และข้อมูลจากคุณหมอ ทีมงานในส่วนความคิดสร้างสรรค์กลับมาพร้อมวิธีการนำเสนอใน 2 แนวทาง แนวทางแรกสื่อสารว่า ‘เรื่องนี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ในเวลาที่คุณไม่ทันตั้งตัว’ ด้วยการทำ LIVE TVC จำลองเหตุการณ์ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันให้เกิดขึ้นในรายการสดที่มียอดผู้ชมสูงๆ โดยซื้อช่วงเวลาต่อจากการออกอากาศปกติ เป็น fear approach ให้เห็นความสำคัญของความรวดเร็วในการช่วยชีวิตคน ฟังแล้วเป็นแนวทางที่ได้ผลดีในเชิงสร้างการรับรู้และการพูดถึงในสังคมวงกว้าง แต่ไอเดียนี้กลับต้องพ่ายให้กับแนวทางที่สอง ‘โปรเจกต์พื้นที่เล็กๆ ที่ช่วยชีวิตได้มากกว่า’ อย่างเป็นเอกฉันท์ เพราะไม่เพียงสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนกว่า โปรเจกต์พื้นที่ 0.1 ตร.ม. ยังพากลับมาหาแบรนด์ที่พูดเรื่องการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่

6 ไกลแค่ไหนคือใกล้

การนำเสนอเรื่องความสำคัญของการติดตั้งเครื่อง AED เพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้คนจะรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องของฉัน ฝั่งครีเอทีฟจึงคิดถึงการสื่อสารเรื่อง CPR ไปพร้อมกัน ดังนั้นนอกจากวิดีโอโปรโมต The Smallest Space to Save Lives ที่พูดถึงพื้นที่ 0.1 ตร.ม. โปรเจกต์นี้ยังประกอบด้วยคลิปสั้นสอนวิธีการทำ CPR ที่เข้าใจง่ายผ่านโซเชียลมีเดียของแฟนเพจต่างๆ ในสไตล์ตัวเอง และโครงการรณรงค์ใน change.org เรื่องการบรรจุชั่วโมงเรียนวิธีปั๊มหัวใจช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรือ CPR ในหลักสูตรการเรียนการสอน (ร่วมลงชื่อสนับสนุนได้ที่นี่)

7 จริงจังแค่ไหน แค่ไหนเรียกจริงจัง

จากภาพรวมอันแสนจริงจังของโปรเจกต์ The Smallest Space to Save Lives ทีมครีเอทีฟเล่าให้ฟังว่า เหตุผลที่ไม่ทำให้ mood & tone ออกมาสนุกสนานอย่างโปรเจกต์เกี่ยวกับการช่วยชีวิตขององค์กรในต่างประเทศ เป็นเพราะเรื่องการช่วยชีวิตเป็นเรื่องใหม่ในสังคม จึงเลือกสื่อสารในแนวทาง emotional ก่อน และหากในอนาคตที่สังคมมองว่าเรื่อง CPR นี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราก็อาจจะเห็นอะไรสนุกๆ อย่างที่ทีมครีเอทีฟคิดไว้ เช่น สร้างการจดจำจังหวะหรือ beat ของการปั้มหัวใจเพื่อช่วยชีวิตอย่างถูกต้องผ่านเพลง ทำเว็บไซต์ให้คนใส่เพลงอะไรก็ได้ลงไปแล้วโปรแกรมจะ render ออกมาเป็นมิวสิกวิดีโอสอนทำ CPR ในจังหวะที่ถูกต้อง

AED, หัวใจ, ช่วยชีวิต, AED, หัวใจ, ช่วยชีวิต, AED, หัวใจ, ช่วยชีวิต,

8 0.1 ตร.ม. เป็นอะไรได้บ้าง

ไอเดียแรกๆ ครีเอทีฟตีความพื้นที่ 0.1 ตร.ม. ไว้หลายแนวทาง ทั้งทำ media ทุกชิ้นในขนาด 0.1 ตร.ม. ไม่ว่าจะเป็นบิลบอร์ดใหญ่ๆ หรือหน้าโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ทุกอย่างจะมีขนาด 0.1 ตร.ม. เพื่อให้คนรู้ว่าขนาดแค่นี้ช่วยชีวิตคนได้ แต่สุดท้ายทีมงานเลือกที่จะกลับมาโฟกัสที่ของและขนาดจริงๆ ของพื้นที่ ซึ่งได้แก่ พื้นที่กรอบฐานตัวเครื่อง AED ในขนาด 0.1 ตร.ม.

9 ติดตั้งตามตอนต่อไป

ขั้นตอนต่อมา คือการนำเครื่องไปติดตั้งในพื้นที่จริง โดยเลือกจากจำนวนคนที่ใช้พื้นที่นั้นและความต้องการใช้งาน จึงลงตัวใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ท่าเรือสาทร ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค และศูนย์ประสานงานอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เขตธนบุรี ซึ่งในวันรุ่งขึ้นก็มีเหตุการณ์ให้ใช้เครื่อง AED นี้จริงที่ อปพร.

ทีมงานเล่าความยากของการติดตั้งในพื้นที่จริงให้ฟังว่า นอกจากกระบวนการขออนุญาตติดตั้ง และสอนวิธีใช้อุปกรณ์ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามที่เสียงบรรยายของเครื่อง AED ยังมีเรื่องความกังวลของคนในพื้นที่ว่าใครจะดูแลเครื่องนี้ และความเข้าใจด้วยกลัวว่าเด็กจะเล่นซนจนเกิดอันตราย ซึ่งหลักการทำงานของเครื่อง AED นี้ จะวินิจฉัยและรักษาด้วยการปล่อยกระแสไฟกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นปกติอีกครั้ง ในภาวะที่หัวใจของผู้ป่วยเต้นอ่อนแรงเท่านั้นเท่านั้น ดังนั้นถ้าร่างกายเป็นปกติเครื่องจะไม่ทำงานปล่อยกระแสไฟฟ้าจนเกิดอันตราย

AED, หัวใจ, ช่วยชีวิต, AED, หัวใจ, ช่วยชีวิต, AED, หัวใจ, ช่วยชีวิต,

10 #ขอพื้นที่เล็กๆให้หัวใจได้เต้นต่อ

อ่านมาถึงตรงนี้ เราเชื่อว่าใครหลายคนคงกำลังเอาใจช่วยให้เกิดการติดตั้งเครื่อง AED นี้ในที่ต่างๆ มากขึ้น

สำหรับใครที่สนใจร่วมรณรงค์เรื่องการบรรจุชั่วโมงเรียนวิธีปั๊มหัวใจช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรือ CPR ในหลักสูตรการเรียนการสอน สามารถร่วมลงชื่อได้ที่นี่ และสำหรับหน่วยงานทั่วไปและพื้นที่สาธารณะที่สนใจติดตั้งเครื่อง AED สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ www.SmallestSpaceToSaveLives.com

ทีมงาน

Client : บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

Agency : บริษัท ซีเจ เวิร์ค จำกัด

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ