ท่ามกลางทะเลข่าวสารข้อมูลในโซเชียลมีเดียเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มีแคมเปญดีๆ หนึ่งที่เราอยากชวนให้คุณรู้จัก นอกจากหนังโฆษณาสั้นแบบที่คุ้นเคย ความร่วมมือร่วมใจของเหล่าบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ สร้างความอยากรู้อยากเห็นแก่เราเกี่ยวกับแคมเปญนี้

ข้อมูลชุดแรกที่เรามีคือ แคมเปญนี้เรื่องนี้พูดถึงโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันคืออะไร?

เราเชื่อว่าหลายคนคงจะตอบว่าโรคสั่นที่เกิดในผู้สูงอายุเท่านั้น และคงคิดว่าโรคนี้เป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินไป ความจริงก็คืออาการสั่นนี้ไม่ใช่อาการเพียงอย่างเดียวของโรค

จากข้อมูลสถิติพบว่าในประเทศไทยมีผู้สูงอายุเป็นโรคพาร์กินสันถึง 3% และใน 10% ของผู้มีอาการพาร์กินสันเริ่มเป็นโรคนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย

ภายใต้โปรเจกต์ที่เรากำลังจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ประกอบด้วยหนังโฆษณาความยาว 90 วินาทีเรื่องนี้ กำกับโดย เอสคมกฤษ ตรีวิมล มีเนื้อหาเล่าถึงเรื่องของชีวิตประจำวันของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่ต้องการเพียงความเข้าใจและการช่วยเหลือจากทุกคนในการดำเนินชีวิตอย่างปกติ ซึ่งรวมไปถึงการวิดีโอเบื้องหลังที่มีแอฟทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ ร่วมถ่ายทอด และนานาภาพถ่ายเบลอๆ สั่นๆ จากดารานักแสดงมากมายในอินสตาแกรมพร้อมแฮชแท็ก #เข้าใจพาร์กินสัน #อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เข้าใจพาร์กินสัน

“โลกของคนที่มีอาการพาร์กินสัน ก็คือโลกใบเดียวกับคนทั่วไป ถ้าเราอยู่กันด้วยความเข้าใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ติดต่อรับคำปรึกษา : ศูนย์พาร์กินสัน จุฬาฯ สภากาชาดไทย FB: เพื่อน พาร์กินสัน FB: Parkinson Chula Ig: parkinson_chulawww.chulapd.org โทร. 081-107-9999 #เข้าใจพาร์กินสัน

Posted by Parkinson Chula Fanpage on Wednesday, March 28, 2018

เข้าใจพาร์กินสัน เอส คมกฤษ ตรีวิมล

ข้อมูลชุดต่อมาก็คือแคมเปญนี้เป็นการร่วมมือกันของสมาคมนิสิตเก่านิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ และชมรมเพื่อนพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ได้รับการสนับสนุนทางด้านสื่อจากบริษัท ออมนิคอม มีเดีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด และอีกหลายหลายหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรและยินดีช่วยเหลือแบ่งพื้นที่สื่อให้อย่างไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ความน่าสนใจก็คือ หน่วยงานเหล่านี้มาเกี่ยวข้องกันได้ยังไง และอะไรคือไอเดียสำคัญที่อยู่เบื้องหลังแคมเปญนี้ จึงเป็นที่มาขอบทสนทนาระหว่างเราและหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของแคมเปญอย่าง ครูกี้..วิฏราธร จิรประวัติ อดีตนายกสมาคมนิสิตเก่านิเทศศาสตร์ จุฬาฯ, เกียรติ-วีระเกียรติ เอื้อประเสริฐวณิช, จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ, บี๋ปรารถนา จริยวิลาศกุล, อิมจินตกาญ ศรีชลวัฒนา และ ปูนเล็กนลินา ชยสมบัติ ตัวแทนจากสมาคมฯ ที่รับบทบาทเป็นทั้งเอเจนซี่โฆษณาและโปรดักชันเฮาส์ 

คลิปเบื้องหลัง "เข้าใจพาร์กินสัน"

การเป็นนักแสดงจำเป็นต้องก้าวข้ามขีดจำกัดทั้งทางจิตใจและ “ร่างกาย” มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนธรรมดา และไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ “พวกเขา”ติดต่อรับคำปรึกษา: ศูนย์พาร์กินสัน จุฬาฯ สภากาชาดไทย FB: เพื่อน พาร์กินสัน,FB: Parkinson Chula หรือ www.chulapd.org โทร. 081-107-9999#เข้าใจพาร์กินสัน

Posted by Parkinson Chula Fanpage on Tuesday, April 3, 2018

แอฟ ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ

นิเทศฯ จุฬาฯ มาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ได้ยังไง อะไรคือหน้าที่ของสมาคม

ครูกี้เล่าให้ฟังว่าแคมเปญนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งคุณรัชนีวรรณ เปล่งศรี ประธานชมรมเพื่อนพาร์กินสัน ติดต่อสมาคมนิสิตเก่าฯ เข้ามาผ่านทางน้องที่จบนิเทศฯ จุฬาฯ ว่าต้องการทำประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคพาร์กินสันและผู้ป่วยให้กับคนทั่วไปเข้าใจมากขึ้น

ซึ่งตัวครูกี้ในฐานะนายกสมาคมนิสิตเก่านิเทศฯ จุฬาฯ ร่วมกับจินา โอสถศิลป์ ขณะนั้น มีความตั้งใจที่จะจัดงานที่เกี่ยวข้องกับสังคมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเป็ดติดล้องานวิ่งการกุศลที่นำรายได้ไปซื้อรถเข็นให้เด็กผู้พิการหรือเป็ดเปลี่ยนโลกงานทอล์กที่รวมศิษย์เก่านิเทศฯ จุฬาฯ จากหลากหลายวงการมาเล่าว่าวิชาชีพนี้สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไรบ้าง โดยครูกี้มองว่านอกจากเรื่องการเชื่อมโยงสายใยของชาวนิเทศฯ ให้แน่นเฟ้นแล้ว การสร้างสายใยเพื่อสังคมก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สมาคมฯ ควรทำ

เดิมทีกิจกรรมที่เราทำเป็นการรวมชาวนิเทศฯ ให้มาร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อความสนุก และมีปลายทางคือการนำเงินที่ได้ไปบริจาคเฉยๆ แต่คราวนี้หนักข้อขึ้นกว่าเดิม เราคิดว่าในเมื่อนิเทศฯ เรามีพี่ๆ น้องๆ ที่เก่งกาจมากมาย ทำไมเราไม่เอาความเชี่ยวชาญทางด้านนิเทศศาสตร์ของเรามาทำประโยชน์ให้คนอื่น นำทักษะและความสามารถทางด้านการสื่อสารมาสร้างงานที่มีประโยชน์ต่อคนอื่นครูกี้เล่า

ทางสมาคมนิสิตเก่าฯ จึงนำเงิน “กองทุนกิจกรรมสร้างสรรค์” ที่รุ่นพี่นิเทศฯ รุ่นที่ 7 เคยให้ไว้ทำประโยชน์เมื่อนานมาแล้วมาใช้แทน แคมเปญนี้จึงถือกำเนิดเกิดขึ้นมาโดยที่ชมรมไม่ต้องออกสตางค์เลยสักบาทเดียว

เข้าใจพาร์กินสัน เข้าใจพาร์กินสัน

ถ้าความไม่รู้เป็นโรค นิเทศศาสตร์ก็เป็นหมอรักษาโรคไม่รู้

ในตอนแรก บี๋ผู้รับหน้าที่ในการคลี่คลายโจทย์ในเบื้องต้นเห็นว่าต้นตอของปัญหาที่ทำให้ผู้มีอาการพาร์กินสันไม่อยากออกจากบ้าน เป็นเพราะความไม่รู้ของคนในสังคม ส่งผลให้แคมเปญนี้นอกจากจะช่วยเหลือผู้เป็นพาร์กินสันแล้ว ยังแก้ความเข้าใจผิดของคนในสังคมด้วย

เป็นเรื่องสำคัญนะที่จะทำให้คนทั่วไปรู้และเข้าใจมากขึ้น จะได้ไม่กลายเป็นคนใจร้ายโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เพราะบางทีคนที่เป็นพาร์กินสันเขาปัดมือไปโดน คนก็กล่าวโทษว่าเขาลวนลาม หรือบางทีก็นึกรำคาญว่าทำไมป้าคนนี้ช้าจังเลย ถามว่าคนเหล่านี้ผิดมั้ย ก็ไม่นะ เขาแค่ไม่รู้

เมื่อโจทย์คือการแก้ความไม่รู้ แทนที่จะเป็นการนำเสนอแต่ในแง่ดราม่าสะเทือนอารมณ์ วิธีคิดและการเล่าเรื่องจึงนำด้วยเรื่องประสบการณ์และความเป็นจริงที่ผู้เป็นพาร์กินสันต้องเจอในชีวิตประจำวัน และเพราะต้องการให้มีหลักจำง่าย ที่เหมือน 5 ในการสังเกตว่าใครเป็นพาร์กินสันบ้าง บี๋จึงร่วมสรุปกับคุณหมอจนออกมาเป็น 3S ได้แก่ Shake สั่น, Slow ช้า และ Stiff แข็งเกร็ง อย่างที่เห็นในตัวหนังโฆษณา

ตัวหนังถูกออกแบบว่าต้องการให้คนรู้ได้เลยว่า หนึ่ง คนเป็นพาร์กินสันมีเยอะกว่าที่คิด สอง คุณมีโอกาสจะเจอคนเหล่านี้ได้ในสังคมทั่วไป และสาม คนใกล้ตัวคุณมีโอกาสเป็น อันนี้มันสร้างการรับรู้หลายเรื่องไปพร้อมๆ กัน เพราะพอเห็นแบบนี้ก็สังเกตพ่อแม่ได้ว่าเป็นรึเปล่า เราออกแบบทุกจุดให้เกิดผลจริงๆ เพราะเรากำลังสร้างความรู้ทดแทนความไม่รู้อยู่

เข้าใจพาร์กินสัน เข้าใจพาร์กินสัน

 

ทำไมต้องเอาผู้ป่วยจริงมาเป็นนักแสดง

หลังจากได้ไอเดียตั้งต้นแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือการส่งไม้ต่อให้ หม่ามวิโรจน์ จารุสาร ครีเอทีฟ และ เอสคมกฤษ ตรีวิมล ผู้กำกับ ร่วมกันสร้างสรรค์ไอเดียนี้ออกมาเป็นภาพ โดยปูนเล็กผู้รับบทโปรดิวเซอร์เล่าเหตุผลของการเลือกผู้ป่วยจริงมาแสดงแทนการใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียง ซึ่งน่าจะง่ายกว่าทั้งในแง่การทำงานและกระแสตอบรับ ให้ฟังว่า

ตอนแรก เรากับพี่เอสก็ยังคิดที่จะใช้นักแสดงมาแสดงอยู่ เลยไปคุยกับครูบิวอรพรรณ อาจสมรรถ คุยไปคุยมาก็มีความคิดที่อยากจะลองเชิญผู้ป่วยจริงๆ มาลองเล่นดู ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ประธานชมรมเพื่อนพาร์กินสันก็บอกว่าขอไปถามความสมัครใจก่อน เพราะต้องเปิดเผยหน้าตาและข้อมูลส่วนตัว จนได้รายชื่อมาจำนวนหนึ่ง ก่อนจะเข้ากระบวนการแคสติ้งต่อไป ซึ่งมันเปิดโลกเรานะ เพราะมันจริงมาก

ปกติแล้ว การทำงานของปูนเล็กในฐานะโปรดิวเซอร์คือการหาคนที่เล่นเก่งที่สุด หรือหาคนที่หน้าตาดีที่สุด แต่ด้วยเงื่อนไขที่มี ทางทีมงานจึงต้องพลิกกลับมาทำความเข้าใจผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีในการทำโปรดักชันใหม่ เพื่อให้เข้ากับผู้ป่วย เช่น พยายามเข้าใจว่าเขาจะแสดงออกแบบไหน สะดวกแบบไหน ช่วงเวลาที่ถ่ายทำได้คือกี่โมง ต้องยอมทำตามกติกาที่มีทั้งหมด

ผู้ป่วยพาร์กินสัน เข้าใจพาร์กินสัน

 

เบื้องหลังที่ผ่านการคิดมาแล้ว

สำหรับคลิปเบื้องหลังความยาว 6 นาทีที่เป็นฝีมือของผู้กำกับสารคดีรุ่นใหม่อย่าง ไก่ณฐพล บุญประกอบ เปิดเรื่องโดยให้ แอฟทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ มาเล่าเรื่องราว ในความหมายที่ว่าขนาดการแสดงสำหรับนักแสดงมืออาชีพยังถือเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับผู้ป่วยที่ต้องมาแสดงพร้อมด้วยอาการที่มีอยู่ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก โดยเป็นการขยายความต่อจากตัวหนังโฆษณาตัวแรกอีกทีหนึ่ง

อย่างที่บอกว่าการที่เราเอาผู้ป่วยพาร์กินสันมาเล่นมันเป็นเรื่องใหม่ มันมีเรื่องราวมากขึ้น คนทำโปรดักชันก็ต้องเปิดใจด้วยว่าการทำงานจะต่างออกไป ในบางฉากพี่เอสก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนใจร้ายจังเลย แค่การขอให้เข้ามาร์กยังเป็นเรื่องยากสำหรับเขา อย่างการข้ามถนนที่เห็นต้องยกมือไหว้ขออีกเทก เพราะว่ามันยังไม่ได้ปูนเล็กเล่า

ตัวเบื้องหลังไก่เขาก็ไปสัมภาษณ์หมอก่อนตอนเช้าแล้วถ่ายแอฟตอนบ่าย หมอเปรียบเทียบอาการเป็นเหมือนรถไฟ ไอเดียเขาเลยได้มาจากตรงนั้นว่าต้องให้แอฟทำท่ายังไง ให้ลองยกมือหรือท่าทางต่างๆ ที่จริงแล้วตอนที่โทรไปชวนแอฟยังไม่รู้เลยว่าให้มาทำอะไร แต่แอฟก็เชื่อใจ โทรตามวันนี้ เขามาให้เช้าวันรุ่งขึ้นเลยครูกี้เสริม

เข้าใจพาร์กินสัน เข้าใจพาร์กินสัน

 

ช่องทางปล่อยสื่อได้มาได้ยังไงบ้าง

เมื่อจบการถ่ายทำจนได้หนังโฆษณาออกมาแล้ว ขั้นตอนการวางแผนปล่อยสื่อและทำประชาสัมพันธ์จึงเริ่มต้นขึ้น

ตอนแรกเราคิดว่าเรามีเนื้อหาที่ดีอยู่แล้ว จะลงช่องทางไหนก็ค่อยว่ากันเพราะไม่มีปัญญาไปซื้อสื่ออะไรเลย ในที่สุดก็คิดว่า เอาวะ เราใช้วิธีบอกบุญเอาแล้วกันครูกี้เล่าย้อนไปถึงตอนที่ติดต่อกับรุ่นน้องที่บริษัท ออมนิคอม มีเดีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) หรือ OMG ให้ช่วยสำหรับหาทางปล่อยลงสื่อ โดยที่ยังไม่ทันได้ขยายความอะไรเลย ทาง OMG ก็ตกลงที่จะช่วยทันที

ถ้าเป็นเรื่องดีๆ เขาก็อยากจะช่วย เลยออกมาเป็นแผนมีเดียให้เรา อันไหนที่เขาพอจะขอได้ก็ขอให้ คนที่ไม่ใช่นิเทศฯ เลยอย่างคิวแอดทั้งหมด เราได้ Media Value มาทั้งหมดน่าจะหลายสิบล้าน ก็แชร์รายละเอียดต่อไปกับรุ่นพี่ เขาก็แชร์ต่อให้เพื่อนๆ อีกทีหนึ่ง พี่มารุต อรรถไกวัลวที จาก VGI ก็ให้กันตนาให้ช่วงเวลาที่เขาพอจะมีเหลือ เพื่อนครูที่เป็น ผอ. Thai PBS ก็ช่วยส่งสปอตไปให้ เราจึงได้ออกรายการนารีกระจ่างไปครึ่งชั่วโมง ทั้งหมดนี้เป็นความร่วมมืออันเข้มแข็งของชาวนิเทศฯ รวมไปถึงคนอื่นๆ ที่แม้จะไม่ใช่ชาวนิเทศฯ ด้วยที่มาช่วยกัน

 

ใช้บุคลากรที่มีให้เป็นประโยชน์

และแน่นอน ในเมื่อนิเทศฯ จุฬาฯ เป็นสถาบันที่ผลิตดารา นักแสดง และผู้มีชื่อเสียง จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างการรับรู้ให้ขยายไปสู่วงที่กว้างขึ้นและกว้างขึ้น

ตอนแรกครูขอสื่อพวกป้ายริมถนน จะเอารูปภาพนิ่งมาใช้ แต่บี๋ก็บอกว่าภาพนิ่งที่จะเล่าได้ดีที่สุดก็คือการสั่นนี้แหละ ถ่ายให้มันสั่นๆ เราก็ไปหาเรเฟอเรนซ์มาว่าต้องเป็นภาพสั่นแบบไหนยังไง ก็โทรไปขอหม่ามว่าอยากได้แฮชแท็กกับแคปชัน  แล้วก็โทรหา ย้งทรงยศ สุขมากอนันต์ ย้งจึงบอกให้ดารานาดาวทั้งค่ายลงรูปในอินสตาแกรมพร้อมกันตอน 6 โมงเย็นวันที่เราออกสปอต เอสก็ไปบอกดาราที่เขาทำหนังด้วยอยู่ โทรหา ลูกกอล์ฟคณาธิป สุนทรรักษ์ เขาก็ไปบอก โอปอล์ปาณิสรา อารยะสกุล ต่อ ครูบอก แป้งภัทรีดา ประสานทอง เขาก็ไปบอกพวกศิลปินด้วยกัน เพื่อนที่อยู่ Exact เขาก็ไปบอกดาราในค่ายให้ลงให้ครูกี้เล่าให้ฟังถึงไอเดียการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ

เข้าใจพาร์กินสัน

 

จะวิชาชีพไหนก็ช่วยเหลือสังคมได้เหมือนกัน

สิ่งที่เราคุยมาทั้งหมดในวันนี้ ฟังดูเผินๆ คงเหมือนการกล่าวอ้างถึงโครงการทำเพื่อสังคมของชาวนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แต่ทุกคนที่เราคุยด้วยกลับออกตัวไว้ว่านั่นไม่ใช่สาระสำคัญเลย แถมยังบอกว่าขอไม่รับเครดิตความดีความชอบใดๆ

วันนี้ที่เราเล่า เราไม่ได้จะบอกว่านิเทศฯ จุฬาฯ เจ๋ง หรือบอกว่าคนที่นี่รักกันมากขนาดไหน แต่เราอยากจะบอกว่าวิชาชีพไหนก็รับใช้สังคมได้ ต่อให้ทุกวันนี้คุณจะยุ่งแค่ไหน แต่วันหนึ่งที่คุณรวมตัวกันก็ทำอะไรแบบนี้ได้เหมือนกัน

ไม่ว่าคุณจะถนัดอะไร คุณจะมีอาชีพไหน ไม่ว่ามันจะดูห่างไกลจากการช่วยเหลือสังคมแค่ไหนก็ตาม วิชาชีพของคุณมีประโยชน์ อย่างเรา คนทำการสื่อสาร ทำหนัง ทำโฆษณา เราไม่เคยคิดว่าเราจะไปทำให้ความยากจนหายไปได้ เราอาจจะไม่ได้ทำให้คนหายป่วย แต่ถ้าทำให้คนมีกำลังใจ เราทำได้อิมสรุป

เข้าใจพาร์กินสัน

ภาพ :  ศศิดิศ ศศิสกุลพร

Writer

Avatar

ณิชากร เอื้อสุนทรวัฒนา

อดีตนักเรียนโฆษณาที่มาเอาดีทางด้านอาหาร แต่หลงใหลการสัมภาษณ์และงานเขียน