การที่เทศกาลโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Cannes Lions เพิ่งเปิดรางวัลหมวดใหม่อย่าง Entertainment Lions น่าจะอธิบายปรากฏการณ์ ‘ขาขึ้น’ ของงาน Branded Entertainment ได้อย่างชัดเจน

งาน Viral คือวิดีโอออนไลน์ที่ทำแล้วฮิต จะเกี่ยวกับอะไรก็ได้

Branded Content ก็คือการเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านเนื้อหาอะไรสักอย่างอย่างน่าสนใจ และไม่ใช่ขายของแบบโต้งๆ

ส่วน Branded Entertainment คือรูปแบบงานโฆษณาที่กำลังมาแรงที่สุดในขณะนี้ เป็นการเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านความบันเทิงต่างๆ ทำให้คนดูหัวเราะตาม ร้องไห้ตาม แล้วค่อยๆ ซับซึมกับเนื้อหาของแบรนด์นั้น ซึ่งโดยรวมแล้วสามารถสื่อสารวัตถุประสงค์ของแบรนด์ได้มากกว่าหนังโฆษณาแบบเดิมๆ

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นงาน Branded Entertainment ที่จัดว่าแปลกใหม่และใจกล้ามาก นั่นก็คือ ซีรีส์ออนไลน์เรื่อง CAN ของแบรนด์ KTC ทำโดยเอเจนซี่ Ogilvy & Mather เล่าเรื่อง ‘ประสบการณ์’ ผ่านซีรีส์แนวไซไฟ 4 ตอน

หลายคนตั้งคำถามว่า ทำแบบนีี้แล้วดีกว่าหนังไวรัลคลิปเดียวยังไง ทำหลายตอนแล้วคนจะตามดูเหรอ ทำไมถึงเลือกแนวไซไฟ และสุดท้ายก็คือ การที่ไม่มีเรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับบัตรเครดิตเลย มีแค่โลโก้แปะตอนท้าย KTC จะได้อะไร

เราเลยนัดพูดคุยกับ นพดล ศรีเกียรติขจร Vice-chairman และ Chief Creative Officer รวมทั้งหัวหน้าทีม Ogilvy Branded Content แห่งโอกิลวี่ และ อั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร ผู้กำกับซีรีส์เรื่องนี้ จาก Factory 01 (บริษัทในเครือ Film Factory)

ที่ไปที่มาและความแปลกใหม่ของงาน CAN เป็นเช่นนี้

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

01 ขายประสบการณ์ ไม่ได้ขายของ

KTC เป็นบัตรเครดิตที่ไม่ได้เน้นสื่อสารเรื่องการจับจ่ายใช้สอย แต่สนับสนุนให้คนมี ‘ประสบการณ์’ อยากชวนให้คนออกไปมีประสบการณ์จริง ซึ่งแตกต่างจากการฟังหรือดูจากคนอื่น จึงอยากทำแคมเปญเพื่อสื่อสารและตอกย้ำให้คนจดจำว่า KTC ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ เป็นแคมเปญอะไร ผ่านสื่อไหนก็ได้

02 เปลี่ยนโฆษณาเป็น Branded Entertainment

เมื่อทีมโอกิลวี่ได้โจทย์นี้จึงส่งเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของทีม Ogilvy Branded Entertainment ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ การสื่อสารในโลกตอนนี้ขับเคลื่อนไปด้วย 2 แนวทางหลัก คือใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ผู้บริโภคแล้วเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมให้ เช่น แบนเนอร์ที่เลือกโฆษณาตามความสนใจของผู้ชม อีกทางคือ การสื่อสารผ่านพล็อตและการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ จากข้อมูลพบว่า คนไทยชอบดูวิดีโอมากจนติดอันดับโลก ดังนั้น การเลือกเล่าผ่านสื่อวิดีโอจึงเป็นช่องทางมหาชน และคนไทยก็ชอบความสนุกสนาน เพราะฉะนั้น การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านความบันเทิงจึงดึงดูดความสนใจของคนไทยได้ง่ายที่สุด

03 หนังโฆษณาทางโทรทัศน์กับโฆษณาออนไลน์ใช้คนละศาสตร์

ถึงคนยุคนี้จะดูโทรทัศน์น้อยลง แต่โฆษณาในโทรทัศน์ก็ยังทรงพลัง หนังโปรโมชันทำให้ยอดขายขึ้นจริง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือฟีดแบ็ก ถ้าทำหนังโฆษณาไม่ดี คนดูสัก 2 รอบก็อาจจะลุกขึ้นมาตะโกนว่า หยุดได้แล้ว เพราะเขาต้องเห็นหนังตัวนี้ฉายซ้ำหลายรอบ แต่โฆษณาออนไลน์ คนไม่ได้ดูเพราะมีคนบังคับให้ดู ผู้ชมเลือกดูเอง เนื่องจากมีคนบอกว่าดี ถ้าเริ่มขายของเขาเมื่อไหร่ก็จะปิดทันที เทรนด์ของวัยรุ่นในโลกยุคนี้คือเกลียดโฆษณา เห็นเป็นต้องกดข้าม เมืองไทยอาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่วัยรุ่นไทยก็มีวิดีโออะไรต่อมิอะไรให้ดูมากมายในแต่ละวัน โฆษณาจึงต้องแย่งเวลาจากคลิปเหล่านี้มาให้ได้ ทำให้เขาดูให้ได้ แล้วเนื้อหาของแบรนด์ก็จะค่อยๆ ซึมเข้าไปในใจผู้ชม (ตราบใดที่ยังไม่มีฉากขายของ)

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

04 เปลี่ยนจากหนังยาวให้เป็นซีรีส์

เมื่อโอกิลวี่เลือกทำโปรเจกต์น้ีเป็น Branded Entertainment ทีมก็พยายามพางานนี้ไปในทิศทางใหม่ๆ ที่ไม่ค่อยมีคนกล้าทำ คือเปลี่ยนจากการทำหนังยาวเรื่องเดียว ให้กลายเป็นซีรีส์ 4 ตอน ความยาวราวๆ ตอนละ 20 นาที สิ่งที่ทำให้เหล่าครีเอทีฟมั่นใจว่าจะดึงคนให้อยู่กับหน้าจอได้ยาวนานและต่อเนื่องขนาดนั้นก็คือ ความนิยมของ Netflix ความบันเทิงรูปแบบใหม่แห่งยุคสมัยนี้ โอกิลวี่จึงไม่ได้ทำหนังออนไลน์เหมือนเคย แต่กำลังทำซีรีส์แบบ Netflix ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์ ซึ่งเป็นหัวใจของแบรนด์ KTC และซีรีส์ชุดนี้ไม่มีการพูดถึงบัตรเครดิตใดๆ โลโก้ของ KTC จะปรากฏขึ้นมาแค่ตอนจบเท่านั้น ส่วนเรื่องความยาว ทางทีมมั่นใจว่า ถ้าทำออกมาดียังไงคนก็ดู แต่ถ้าทำออกมาไม่ดี ต่อให้สั้นแค่ไหนคนก็ไม่ดู

05 เอาประสบการณ์อัดกระป๋องให้เป็นหนังไซไฟ

ทีมครีเอทีฟวางโครงของซีรีส์นี้ให้เกี่ยวกับ กระป๋องบรรจุประสบการณ์ เราสามารถสัมผัสประสบการณ์ของคนอื่นได้ด้วยการเปิดกระป๋องประสบการณ์ของเขา ไอเดียแรกสุดที่คิดกันคือ ขายกระป๋องผ่านตู้กด เหรียญที่ใช้ซื้อได้จากการเอาประสบการณ์ของเราไปอัพโหลดลงกระป๋อง พล็อตรอบแรกที่ร่างกันคือ มีตัวละคร 4 ตัว เป็นตัวแทนคน 4 กลุ่ม แต่ละตอนเล่าเรื่องของแต่ละคน ได้แก่ พนักงานบริษัท ร็อกสตาร์ นักวิ่งมาราธอน และแม่ เมื่อพล็อตมาทางนี้ เรื่องจึงมุ่งไปแนวไซไฟเต็มตัว ซึ่งเป็นประเภทความบันเทิงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงนี้

ซีรีส์เรื่องนี้มองกระป๋องนี้ในฐานะของผู้ร้ายมากกว่าพระเอก เพราะตรงกับอินไซต์ของคนปัจจุบันที่มักตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรจากประสบการณ์ของคนอื่น เช่น ไม่อยากไปกินร้านอาหารที่ได้คะแนนรีวิวน้อย เราเลือกเชื่อประสบการณ์ของคนอื่นจนทำให้อาจจะพลาดประสบการณ์หลายอย่างไป โดยลืมไปว่าการได้เจอประสบการณ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็จะทำให้เราเติบโตขึ้น

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

06 ทำยังไงให้คนดูครบ 4 ตอน

ความยากของงานนี้คือ การเลี้ยงคนให้ดูจนจบตอนหนึ่ง เพื่อทำให้เขาอยากดูตอนสอง และเป็นอย่างนี้ไปจนจบตอนที่สี่ ถ้าเป็นซีรีส์จริงๆ ตอนแรกๆ จะเป็นช่วงปูพื้นตัวละคร จึงไม่ค่อยสนุก กว่าจะสนุกก็ท้ายซีซั่นแรก แต่งานนี้ไม่ได้มีเวลาขนาดนั้น ผู้กำกับและครีเอทีฟเลยเปลี่ยนการเล่าเรื่องใหม่ แทนที่จะเล่าชีวิต 4 คน แบบตอนละคน ก็เล่าทั้งหมดพร้อมกัน และเปลี่ยนคาแรกเตอร์ตัวละครใหม่ เปลี่ยนพนักงานออฟฟิศเป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งเป็นตัวแทนคนทั่วไปในยุคนี้ ตัวละครแม่ก็ไปสวมกับตัวละครที่ไม่ได้ทำงานประจำ ร็อกสตาร์กับนักวิ่งก็ลดบทบาทลง ลองเขย่าเรื่องใหม่ให้ดำเนินเรื่องบนคาแรกเตอร์น้อยลง จากนั้นก็ให้ตอนแรกทำหน้าที่เซ็ตอัพพล็อตให้คนเข้าใจ หาจุดตัดจบของแต่ละตอนที่น่าสนใจซึ่งทำให้คนอยากดูตอนต่อไป

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

07 ทำทุกอย่างให้เหมือนซีรีส์

พอคิดว่านี่คือการทำซีรีส์ ท่วงท่าในการโปรโมตจึงต่างจากหนังออนไลน์ทั่วไป มีการนับถอยหลัง มีตัวอย่าง มีโปสเตอร์ แบบซีรีส์จริงๆ เช่นเดียวกัน มีการขึ้นชื่อนักแสดงตอนต้นแบบเดียวกับซีรีส์ เมื่อคนรู้สึกว่าเป็นซีรีส์ ก็จะมีความคาดหวังกับหนังแบบซีรีส์

08 ทำซีรีส์ แต่ต้องใช้ผู้กำกับโฆษณา

ยุคนี้มีผู้กำกับที่ทำงานออนไลน์ดังๆ มากมาย แต่จะคิดแค่ทำให้หนังดังอย่างเดียวไม่ได้ เพราะคลิปดังๆ อาจจะกลับมาที่แบรนด์ยาก และการสื่อสารเนื้อหาที่แบรนด์จะบอกก็ไม่พอ งานนี้ต้องพูดในน้ำเสียงที่เข้ากับแบรนด์ มันเป็นความชำนาญเฉพาะที่ไม่ใช่ว่าผู้กำกับทุกคนจะถนัด ดังนั้น ถึงจะทำเป็นซีรีส์ก็ยังต้องใช้ผู้กำกับโฆษณาทำ

09 คาแรกเตอร์ของพระเอกในเรื่องมาจากชีวิตจริงของผู้กำกับภาพในกองถ่าย

พระเอกในเรื่องเป็นคนที่น่ารัก เป็นที่พึ่งได้ และมีเหตุผลหนักแน่นมากที่จะไม่ได้อยู่กับนางเอกอย่างที่เธออยากให้อยู่ ทีมจึงวางคาแรกเตอร์ให้เป็นคนที่ออกไปทำงานอาสาสมัครตลอดเวลา ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์จริงของ แดง- ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ Director of Photography แห่ง Film Factory ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Thaiwhales.org และหัวหน้าทีมงานวาฬไทย แดงใช้เวลาว่างเป็นอาสาสมัครเดินทางไปถ่ายภาพปลาวาฬเกยตื้นตามที่ต่างๆ เพื่อรณรงค์เรื่องนี้ตลอดเวลา ส่วนผู้ที่จะมารับบทนักอนุรักษ์ที่มีคาแรกเตอร์ไม่น่าเบื่อ มีความกวนตีน และความจริงจัง ก็คือ นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต พระเอกโฆษณามาดเซอร์ที่กำลังมาแรงมากในตอนนี้ (ทำความรู้จักเขาเพิ่มเติมได้ที่นี่)

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

10 สวยเกินไปก็เป็นปัญหา

ตอนแรก พระแพง-จินตนัดดา อัตถวิบูลย์ มาแคสต์เป็นแพรี่ (เน็ตไอดอลในเรื่อง) ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ที่ใกล้กับชีวิตจริงของพระแพงมาก เธอทำให้แพรี่กลายเป็นตัวละครที่สวยและมีเสน่ห์มากจนไม่รู้ว่าจะหาใครมารับบทม่อน (นางเอก) เพื่อให้คนดูรักม่อนมากกว่า ทีมงานก็เลยโยกให้พระแพงมารับบทม่่อนแทน และเลือก เล็ก-วสุ ปลื้มสกุลไทย (นักแสดงและเพื่อนซี้ของพระแพง) มารับบทแพรี่แทน

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

11 เซ็ตฉากให้เหมือนโลกอนาคต

การลงรายละเอียดส่วนต่างๆ ของซีรีส์เรื่องนี้ก็น่าสนใจ อย่างเช่นกระป๋องคือประสบการณ์สำเร็จรูป มันคือการอยากเป็นคนอื่น เป็นสิ่งตรงข้ามกับคำสอนของศาสนาที่ให้เราละวาง ไม่อยากเป็นอย่างคนอื่น ทีมงานเลยมองว่า ถ้าใช้ตู้หยอดกระป๋องเหมือนเดิมจะเล่าเรื่องยาก ใช้เวลาเล่าเยอะ การปรับให้เป็นร้านที่มีคนขายจะช่วยตอบคำถามมากมายได้ในเวลาอันสั้น ร้านนี้เป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของคนแบบหนึ่ง เป็นสัญลักษณ์ที่คล้ายโบสถ์ เพลงที่ใช้ในร้านและการตกแต่งจึงตามมาในแนวทางนี้

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

12 ไม่ได้เน้นเพลง

เหตุผลที่ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจทำเพลงขึ้นมาประกอบอย่างจริงจังก็เพราะ KTC ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพลงนัก และด้วยความที่หนังเป็นแนวไซไฟ การเลือกเพลงมาใช้เพื่อให้ฮิตด้วยและเข้ากับเรื่องได้ด้วยจึงไม่ง่าย

13 สร้างตัวอย่างใหม่ๆ ให้วงการซีรีส์ไทย

ตลาดซีรีส์ของไทยเกือบทั้งหมดมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ผู้ผลิตจึงเลือกลงทุนในแนวที่ค่อนข้างมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ พล็อตจึงอยู่ในแนวทางเดิมๆ งานนี้จึงเป็นการพาซีรีส์ไทยไปไกลกว่าที่เคย ทั้งแนว ทั้งพล็อต และการถ่ายทำที่ใช้วิธีถ่ายทีละกล้องแบบหนัง ต้องยกเครดิตให้ผู้บริหาร KTC ซึ่งย้ำตลอดว่าไม่ต้องการหนังป๊อปคอร์นที่คนดูจบแล้วไม่ได้อะไร แต่ต้องการหนังที่ให้อะไรใหม่ๆ และทำให้คนได้ตั้งคำถามใหม่ๆ กับชีวิต

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

14 KTC ได้อะไรจากซีรีส์เรื่องนี้

ด้วยความที่หนังเรื่องนี้ไม่เห็นสินค้า ไม่เห็นบัตรเครดิต โลโก้ก็ขึ้นเพียงแค่ตอนจบ เพื่อบอกว่า KTC สนับสนุนความคิดเรื่องนี้ แน่นอนว่า งานนี้ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อขายของ สิ่งที่ KTC ได้จากการดูซีรีส์เรื่องนี้จึงเป็นการที่แบรนด์ของ KTC ค่อยๆ ซึมเข้าไปสู่ผู้ชม จนทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า ประสบการณ์ = KTC

15 ยังมีประสบการณ์ใหม่ๆ รอให้เราสัมผัส

แคมเปญนี้ไม่ได้จบลงแค่ซีรีส์ 4 ตอน แต่ช่วงต่อไป KTC จะขยับจากจินตนาการเรื่องประสบการณ์อัดกระป๋อง ไปสู่การนำเสนอเรื่องประสบการณ์จริงๆ ส่วนจะเป็นยังไง และพิเศษแค่ไหน ต้องติดตาม

CAN The Series : การเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านซีรีส์ไซไฟ

ทีมงาน

Agency : Ogilvy & Mather Advertising, Bangkok
Creative Team : Ogilvy Branded Entertainment
Social Planning Team : Social @ Ogilvy
Production House : Factory 01

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป