ย้อนกลับไปในช่วง พ.ศ. 2540 ในยุคที่ซีรีส์อนิเมะ เครยอน ชินจัง (Crayon Shin-chan) หรือ ชินจังจอมแก่น ถูกนำเข้ามาฉายและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ในฐานะวัยรุ่น Gen Y คนหนึ่ง จำได้ว่าเราขำในความป่วน มุกตลกโบ๊ะบ๊ะ และความทะลึ่งตึงตังของ เจ้าชินโนะสุเกะ หรือ ‘ชินจัง’ ที่คอยต่อปากต่อคำ ล้อเลียนพ่อแม่และพวกผู้ใหญ่ ซึ่งในขณะนั้น เราเองก็ไม่แน่ใจว่าที่จริงแล้วเราเข้าใจเรื่องราวหรือมุกตลกเหล่านั้นมากแค่ไหน แต่เหมือนกับว่าในขณะนั้น เราแอบเลือกอยู่ฝ่ายชินจังไปโดยปริยาย 

แต่ใครจะคิดว่าการ์ตูนวัยเด็กในวันนั้น จะไล่ตามทันในวันที่สถานะและอายุของเราเทียบเท่าตัวละครพ่อแม่อย่าง มิซาเอะ อายุ 29 ปี และ ฮิโรชิ อายุ 35 ปี และเริ่มกลับมามองอีกด้านหนึ่งของชีวิตพ่อแม่ ความกลับตาลปัตรของกาลเวลานี้หรือไม่ที่ยังทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ครองใจเหล่าแฟนคลับได้จนถึงปัจจุบัน

มองดีไซน์บ้านโนะฮาร่าของชินจัง ผ่านบริบทสังคมยุค 90 และวิถีครอบครัวชนชั้นกลางคาซึคาเบะ

เรื่องราวสุดแสนจะธรรมดาของครอบครัว ‘โนะฮาร่า’ (Nohara) ที่ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน พ่อฮิโรชิ แม่มิซาเอะ ชินโนะสุเกะ ลูกชายวัย 5 ขวบ ฮิมาวาริ ลูกสาววัยแบเบาะ และ ชิโระ สุนัขตัวขาว คือหัวใจสำคัญของท้องเรื่อง ในความธรรมดาของการใช้ชีวิตประจำวัน พวกเขาต้องเผชิญกับแรงกดดันที่ถูกขับเคลื่อนไปตามบริบทแวดล้อมของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมในแต่ละตอน

วิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เร่งรีบของครอบครัวชนชั้นกลางถ่ายทอดออกมาผ่านกิจวัตรประจำวันของสมาชิกในบ้านโนะฮาร่า การทำลายกรอบมายาคติของสังคมผ่านพฤติกรรมของตัวละครถูกนำมาใช้สร้างเสียงหัวเราะ ตีแผ่ชีวิตโมเดิร์นไลฟ์ของครอบครัวมนุษย์เงินเดือนที่กำลังต่อกรกับเทคโนโลยี เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน การครอบครองสินค้าลดราคาและสินค้าร่วมรายการจากซูเปอร์มาร์เก็ต การทำงานตามบริบทหน้าที่ของผู้นำครอบครัว วิถีของมนุษย์แม่ที่ใช้ชีวิตแข่งขันกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด และท้ายที่สุด คือการจัดสรรปันส่วนรายรับ-รายจ่ายในบ้าน

แน่นอนว่าดราม่าของความกวนประสาทและการเล่นพิเรนทร์ของชินจังถูกเพ่งเล็งถึงความเหมาะสมในการออกอากาศในสมัยนั้น แต่ทว่านั่นไม่ได้ทำให้กระแสความนิยมของการ์ตูนเรื่องนี้ลดลงแต่อย่างไร ในทางกลับกัน เมื่อลองวิเคราะห์ถึงมุกตลกที่เกิดในเรื่องนั้น ล้วนต้องการเสียดสีสังคมในอุดมคติซึ่งทุกคนมีบทบาทหน้าที่ที่ตนพึงปฏิบัติ แต่ตัวละครในเรื่องกลับไม่ได้สมบูรณ์แบบตามมายาคติที่สังคมโดยรวมประดิษฐ์ขึ้น ไม่ว่าจะบทบาทของพ่อแม่ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือบทบาทของครูประจำชั้นที่ในบางครั้งก็เหนื่อยล้าจากการทำงาน เป็นการนำความบกพร่องของตัวละครมาขายขำและล้อเลียน

มองดีไซน์บ้านโนะฮาร่าของชินจัง ผ่านบริบทสังคมยุค 90 และวิถีครอบครัวชนชั้นกลางคาซึคาเบะ
มองดีไซน์บ้านโนะฮาร่าของชินจัง ผ่านบริบทสังคมยุค 90 และวิถีครอบครัวชนชั้นกลางคาซึคาเบะ

โยชิโตะ อูซูอิ (Yoshito Usui) คือนักเขียนในตำนานผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ เครยอน ชินจัง ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารมังงะรายสัปดาห์ในปี 1990 ก่อนดัดแปลงเป็นอนิเมะ เปิดตัวในปี 1992 จนกลายมาเป็นหนึ่งในซีรีส์อนิเมะที่ออกอากาศยาวนานที่สุดในญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้ รวมแล้วมากกว่า 1,000 ตอน 

จุดเริ่มต้นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตัวละคร ‘โนะฮาร่า ชินโนะสุเกะ’ อ้างอิงมาจากรูปแบบชีวิตวัยเด็กที่เขาอยากเป็นหากย้อนเวลากลับไปได้ เหนือสิ่งอื่นใด ผู้เขียนยังนำ ‘เมืองคาซึคาเบะ’ (Kasukabe) ในจังหวัดไซตามะ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขามาใส่ในพื้นหลังของการ์ตูนอีกด้วย 

เมืองนี้อยู่ห่างจากโตเกียวประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า หลาย ๆ สถานที่ในเมืองถูกนำไปใช้และปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่อง เช่น สถานีรถไฟคาซึคาเบะ ในทุก ๆ เช้าวันทำงาน พ่อของชินจังจะเดินทางมาที่สถานีเพื่อนั่งรถไฟเข้าโตเกียว ด้วยความฮิตของการ์ตูนเรื่องนี้ ในทุกครั้งเมื่อมีรถไฟเข้ามาเทียบชานชาลา ก็จะมีเสียงเพลงประกอบการ์ตูนชินจังดังขึ้น จนเพื่อน ๆ อดใจไม่ได้ที่จะร้องเวอร์ชันไทยภาษาไทยคลอตามไปว่า “…ฮั้นโหล สวัสดี กระผมนี่จะบอกว่าวันนี้ผมมีความสุข…” 

ต่อมาอีกหนึ่งสถานที่คือ ห้างอิโต-โยคะโด (Ito Yokado) ซึ่งมีจุดเด่นคือโลโก้ค้างคาว เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตจำลองที่แม่กับชินจังมาด้วยกันบ่อย ๆ และมีเรื่องป่วน ๆ มากมาย ท้ายที่สุดคือ ห้าง LaLa garden เป็นห้างสรรพสินค้าที่มิซาเอะชอบแวะไปโฉบ ๆ เพื่อซื้อเสื้อผ้า ครีมอาบน้ำ หรือแชมพูแพง ๆ ที่ชินจังชอบเอามาเล่นนั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตัวผู้เขียนจะจากไปในปี 2009 ขณะที่เขาออกไปเดินป่าเพียงลำพัง แต่สิ่งที่เขาสร้างขึ้นในโลกของการ์ตูน กลับกลายมาเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของเมืองคาซึคาเบะในโลกของความเป็นจริง มันช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและแฟนคลับของมังงะ ทุกคนภูมิใจที่เมืองนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ชินจัง

เครยอน ชินจัง กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แฝงเข้ากับเมืองนี้ ราวกับว่าชินจังเป็นคนดังที่อาศัยอยู่และมีตัวตนจริง ๆ

บ้านโนะฮาร่า

มองดีไซน์บ้านโนะฮาร่าของชินจัง ผ่านบริบทสังคมยุค 90 และวิถีครอบครัวชนชั้นกลางคาซึคาเบะ
มองดีไซน์บ้านโนะฮาร่าของชินจัง ผ่านบริบทสังคมยุค 90 และวิถีครอบครัวชนชั้นกลางคาซึคาเบะ

อีกหนึ่ง Set Design ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการ์ตูนเรื่องนี้ คือ บ้านโนะฮาร่า บ้านเดี่ยวหัวมุม หลังคาสีแดง ทรงปั้นหยา มี 2 ชั้น ขนาดที่ดินประมาณ 112 ตารางเมตร และมีพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านประมาณ 94 ตารางเมตร จัดว่าเป็นบ้านที่กว้างขวางเลยทีเดียว พื้นที่รอบบ้านล้อมไปด้วยสนามหญ้า มีที่จอดรถพร้อมกันสาดที่ดูเหมือนต่อเติมในภายหลัง บ้านของเจ้าตูบชิโระ และสวนหลังบ้านซึ่งใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนและตากผ้า 

ลักษณะและหน้าตาของตัวบ้านนั้นออกแบบโดยมีเค้าโครงจากบ้านในแถบตัวเมืองคาซึคาเบะ หากใครมีโอกาสได้มาเยือนแล้วล่ะก็ อาจสังเกตเห็นถึงลักษณะรั้วอิฐทรงเตี้ย ตัดแบ่งช่องเปิดปิดสลับกับรั้วไม้พุ่ม ตามฟังก์ชันความเป็นส่วนตัวของห้องต่าง ๆ ในบ้าน

แม้ว่าการออกแบบรั้วของแต่ละบ้านจะใช้วัสดุและสีแตกต่างกัน แต่มีโคมไฟถนนที่กระจายตัวอยู่เป็นระยะ ๆ ทรงรั้วไม่สูงกว่าระดับสายตา รวมถึงเปิดให้เห็นพื้นที่บางส่วนภายในบ้านสลับกับรั้วต้นไม้ ก็ช่วยทำให้ทัศนียภาพและบรรยากาศในตรอกซอกซอยดูเป็นมิตรและเชื่อมต่อกับถนนที่ผู้คนสัญจรไปมามากขึ้น 

มองดีไซน์บ้านโนะฮาร่าของชินจัง ผ่านบริบทสังคมยุค 90 และวิถีครอบครัวชนชั้นกลางคาซึคาเบะ

การย้อนกลับมาดูการ์ตูนเรื่องนี้อีกครั้งในวัยผู้ใหญ่ สะท้อนให้เห็นอีกแง่มุมในบริบทของพ่อแม่ชินจัง ในจังหวะที่ชีวิตกำลังก้าวผ่านวัยแห่งการเติบโตซึ่งมาพร้อมกับภาระหน้าที่ มิซาเอะและฮิโรชิย้ายถิ่นฐานมาจากภูมิลำเนาเดิมของตน แล้วตัดสินใจลงหลักปักฐานด้วยการซื้อบ้านในเมืองคาซึคาเบะ ย่านชานเมืองของโตเกียว มีระยะเวลาผ่อนธนาคารอยู่ที่ 32 ปี ประเมินค่าผ่อนบ้านอยู่ที่ 45,000 เยนต่อเดือน ทั้งนี้ยังไม่รวมรายจ่ายอื่น ๆ ที่เรียกได้ว่าแต่ละเดือนแทบหมุนไม่ทันกันเลยทีเดียว

ด้วยสภาพสังคมญี่ปุ่นในสมัยหนึ่งที่สถานภาพของผู้ชายถูกยกให้เป็นผู้นำครอบครัวและถูกคาดหวังให้ทำงานหาเงินให้ได้มากพอกับรายจ่ายของครอบครัว ส่วนผู้หญิงมีสถานะเป็นมนุษย์แม่ที่ไม่เพียงแค่ต้องเลี้ยงลูก แต่ต้องรับผิดชอบต่องานบ้านและความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวด้วย 

ความตลกในเรื่อง คือชอบหยิบความล้มเหลวในความพยายามของตัวละครมาจิกกัด คุณพ่อวัย 35 ปี และคุณแม่วัย 29 ปีต่างพยายามเติมเต็มบทบาทหน้าที่ของตน เหมือนฟันเฟืองที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน

มองดีไซน์บ้านโนะฮาร่าของชินจัง ผ่านบริบทสังคมยุค 90 และวิถีครอบครัวชนชั้นกลางคาซึคาเบะ

ในช่วงเช้าของทุก ๆ วัน ความวุ่นวายจะเกิดขึ้นเป็นประจำในชั้นล่างของบ้านโนะฮาร่า มิซาเอะเป็นผู้ยึดครองห้องครัวเพื่อเตรียมอาหารเช้าให้สามีและลูกทั้งสองอย่างเร่งรีบ ซึ่งแน่นอนว่าเพื่อให้ได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ เธอต้องทำหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ทั้งหุงข้าว ต้มผัด หรืออุ่นอาหาร ในขณะที่มีเวลาว่างระหว่างรอ เธอก็จะรีบเข้าไปปลุกชินจังที่นอนไม่ยอมตื่น ซึ่งแน่นอนว่าการปลุกครั้งแรกนั้นไม่ได้ผลแต่เธอก็ต้องรีบกลับออกมาทำอาหารต่อ 

ส่วนฮิโรชินั้นเข้ายึดครองห้องน้ำเป็นคนแรก เพื่อเตรียมตัวไปทำงานหลังจากกินข้าวเช้า ก่อนต้องรีบออกเดินทางไปให้ทันรอบรถไฟ

ตัดมาที่ชินจัง ผู้ที่ยังคงอยู่ในห้องนอนอย่างไม่ทุกข์ร้อนกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้น แล้วเข้าไปใช้ห้องน้ำโดยไม่ได้สนใจเวลาที่กำลังผ่านไป นั่นมักทำให้เขาตกรถโรงเรียนจนเป็นที่รู้กันในหมู่คุณครู ผลพวงตกไปสู่ผู้เป็นแม่ที่ต้องขี่จักรยานขึ้นเขาไปส่งที่โรงเรียน และยิ่งทำให้เวลาใน 1 วันของมิซาเอะน้อยลงไปอีก ไหนเธอจะต้องแบ่งเวลามาดูแลให้อาหารชิโระ ทำความสะอาดบ้าน ออกไปจ่ายตลาด แวะไปซูเปอร์มาร์เก็ต กลับมาเตรียมอาหารเย็น และเตรียมน้ำร้อนไว้ในอ่างอาบน้ำให้สามี

เมื่อมองแปลนชั้นล่างผ่านความวุ่นวายในช่วงเช้าของบ้าน เราอาจจินตนาการสมาชิกในบ้านเป็นจุดสีดำจุดหนึ่งวิ่งไปมาในแต่ละห้อง บางจุดหยุดอยู่กับที่ บางจุดก็เคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำ 

แน่นอนว่าสถาปัตยกรรมในบ้านชินจังนั้นเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมายที่ทำให้เราได้เห็นชีวิตประจำวันของพวกเขา จากชั้นวางของระเกะระกะที่เต็มไปด้วยของกระจุกกระจิกและหนังสือ ไปจนถึงกองผ้าและจานชามที่กระจัดกระจาย เห็นได้ชัดว่านี่คือบ้านเพื่อการอยู่อาศัยจริงของครอบครัว ซึ่งตัวบ้านไม่ได้ออกแบบมาเพื่ออวดโฉมแขกผู้มาเยือน แต่เน้นไปที่การใช้งานอย่างเหมาะสมกับความกะทัดรัดและจำกัดของพื้นที่

จุดเด่นอย่างหนึ่งของบ้าน คือการที่แต่ละห้องจำแนกตามสัญลักษณ์สี แบ่งออกตามฟังก์ชันและวัสดุ ห้องสุขาและโซนซักล้างใช้วัสดุพื้นสีม่วงคราม สื่อถึงกระเบื้องที่ทนเปียก ทนน้ำ ห้องครัวและห้องทานอาหารใช้สีชมพูแดง อาจสื่อถึงไฟในการทำอาหารก็เป็นได้ ท้ายที่สุด ห้องนั่งเล่นและห้องนอนมีพื้นสีเขียว อาจเป็นสีของเสื่อทาทามิที่นิยมใช้ในบ้านญี่ปุ่น ซึ่งเสื่อทาทามิมีขนาดมาตรฐาน จึงใช้สำหรับกำหนดขนาดของห้องได้ 

แน่นอนว่าขนาดและสัดส่วนเป็นเรื่องสำคัญในงานสถาปัตยกรรม การมีจำนวนห้องมากไป ขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไป ล้วนมีผลกับการดำเนินชีวิตและปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในบ้าน 

ตัวห้องนั่งเล่นหันหน้าเข้าหาแดดทางทิศใต้ ส่วนห้องนอนหันหน้าไปทางทิศตะวันตก จะได้รับแสงในช่วงบ่ายแก่ ๆ ไปจนถึงตอนเย็น ทั้ง 2 ห้องมีกระจกเต็มบานเพื่อรับแสงแดดเข้ามา อีกทั้งช่วยเชื่อมต่อวิสัยทัศน์กับเฉลียงไม้ที่ยื่นออกไปยังสวนหลังบ้าน เมื่อนั่งบนพื้น มองออกไปนอกกระจก จะพบว่าแนวรั้วและพุ่มไม้พอดีกับระดับสายตาของผู้อยู่อาศัย ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัว อีกทั้งยังสร้างพื้นที่ผ่อนคลายในวันที่เหนื่อยล้าได้ด้วย 

ส่วนแปลนชั้น 2 แบ่งเป็นห้องทำงาน ห้องนอนแขก และห้องเก็บของใต้หลังคา แม้ว่าฉากในส่วนนี้มักไม่ค่อยปรากฏอยู่ในการ์ตูน เพราะทุกคนในครอบครัวนอนในห้องเดียวกัน แต่ก็สันนิษฐานได้ว่า ห้องชั้น 2 จะกลายเป็นห้องของลูก ๆ ในอนาคต ตามแบบฉบับการ์ตูนญี่ปุ่นหรือห้องนอนของโนบิตะในการ์ตูนเรื่องโดราเอมอนนั่นเอง 

ในมุมของการลงทุนระยะยาว จะสังเกตได้ถึงวิสัยทัศน์ของครอบครัวโนะฮาร่า ถ้าหากเวลาในการ์ตูนไม่ได้แช่แข็งให้ชินจังอายุ 5 ขวบไปตลอดกาล หากนับตั้งแต่วันที่การ์ตูนออกฉายครั้งแรกในปี 1992 มาจนถึงปัจจุบัน ต้องขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับครอบครัวโนะฮาร่า ในโอกาสที่พวกเขากำลังจะชำระหนี้ผ่อนบ้านสำเร็จในปี 2024 ที่จะถึงนี้ หวังว่าพวกเขาจะก้าวไปสู่วัยเกษียณได้อย่างสำราญเสียที

ต้องยอมรับว่าการกลับมาดู ชินจัง อีกครั้ง สะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่างในช่วงเวลาที่อายุเข้าสู่เลข 3 ความเร่งรีบของวิถีชีวิตที่วิ่งสวนทางระหว่างคนต่างเจเนอเรชัน ความเร็วในการใช้ชีวิต Pace of Living ที่ไม่เท่ากัน ในขณะที่จังหวะชีวิตของเราเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานเพื่อเพิ่มเวลาใน 1 วันของตัวเอง เราอาจต้องตื่นเช้าขึ้น ทำงานตอนกลางคืน ซื้อเครื่องล้างจาน หาเครื่องดูดฝุ่นมาทุ่นแรง หรือแม้แต่ต้องลงมือทำทุกอย่างให้เร็วขึ้น จากฟันเฟืองของชีวิตที่หมุนไปตามระบบสังคมในอุดมคติ ซึ่งเป็นเหมือนแนวทางปฏิบัติสู่วีถีชีวิตที่มีความสุข 

วิถีในสังคมจำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไปหรือไม่ ในยุคที่หลายคนต้องการความยืดหยุ่นในชีวิต โดยไม่ผูกมัดกับโลเคชันใดโลเคชันหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ ในกรณีของครอบครัวชินจังนั้นยาวนานกว่า 30 ปีจึงจะผ่อนบ้านสำเร็จ หรือแม้แต่บทบาทความเป็นแม่บ้านของมิซาเอะ ที่อาจต้องแลกมากับความฝันหรือเป้าหมายอื่น ๆ ของเธอ 

อดคิดไม่ได้ว่ารูปแบบวีถีชีวิตใหม่ในอนาคตจะเป็นอย่างไร หากเราไม่ต้องการหมุนไปตามฟันเฟือง เราอาจแค่อยากเดินช้า ๆ อย่างมีความสุขก็ได้

อะไรกันที่จะเป็นโจทย์สำคัญต่อคำว่าหน้าที่และบทบาทของพ่อแม่ลูกในสังคมยุคใหม่ ยังจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีใครคนใดคนหนึ่งแบกรับความรับผิดชอบต่อความสุขหรือความฝันของสมาชิกในครอบครัว ถึงแม้คุณจะรักพวกเขามากแค่ไหนก็ตาม

ท้ายที่สุดนี้ อยากขอแจ้งข่าวว่าในเดือนสิงหาคมที่กำลังจะถึงนี้ เครยอน ชินจัง ได้กำหนดฉายภาพยนตร์เดอะมูฟวี่เรื่องที่ 31 ในชื่อตอน Psychokinetic Battle! Leaping Handmade Sushi ในรูปแบบ 3DCG เป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้เหล่าแฟนคลับได้สัมผัสบ้านโนะฮาร่าและชุมชนในเมืองคาซึคาเบะได้อย่างครบรสและละเอียดมากขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง
  • ข้อมูลที่ดินและราคาประเมินบ้านชินจังจาก HowMa Magazine
  • พรหมรัตน์, มนวัธน์. “กระแสนิยมเครยอน ชินจัง กับ โลกทัศน์ของไทย ในทศวรรษที่ 2530-2540*.” Edited by สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. 2015.
  • so04.tci-thaijo.org/index.php/jsn/article/view/42433/35074.
  • thematter.co/entertainment/watching-shinchane-when-grow-up
  • themomentum.co/theories-of-manga-crayon-shinchan/
  • thestandard.co/yoshito-usui-crayon-shin-chan/
  • www.online-station.net/anime/633709/
  • crayonshinchan.fandom.com/wiki/House_of_Nohara
  • ภาพประกอบจากภาพยนตร์ เดอะมูฟวี่
  • Crayon Shin-chan: Fierceness That Invites Storm! Yakiniku Road of Honor
  • www.tv-asahi.co.jp/shinchan/story/

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ