The Cloud X สารคดีสัญชาติไทย

 

จุดมุ่งหมายของชีวิตของเราคืออะไร ผมเชื่อว่าทุกคนมีคำตอบที่ดีสำหรับตนเอง มีคนมากมายที่มีความฝัน แต่ผมเชื่อว่ามีคนไม่มากนักที่จะทำความฝันของตนเองให้เป็นจริงได้ทุกวัน

คุณอิโตะ โยชิทากะ (Ito Yoshitaka) เป็นชาวนาคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในกลางท้องทุ่งในชนบทอันห่างไกลของเกาะฮอกไกโด เขาไม่ได้เป็นคนที่มีชื่อเสียงอะไร เมื่อเทียบกับดาราหรือว่านักร้องในยุคสมัยนี้ที่มี Follower นับแสนนับล้าน แต่เมื่อผมได้อ่านประวัติของเขาแล้วผมเชื่อว่าเขาเป็นคนที่น่าจะมีความสุขที่สุดคนหนึ่งในโลก

นกกระเรียน, ฮอกไกโด

ทุกวันนี้แม้ว่าคุณอิโตะ โยชิทากะ จะจากโลกนี้ไปเกือบ 20 ปีแล้ว แต่เขาก็ได้ทำสัญญาให้ Wild Bird Society of Japan เข้ามาดูแลพื้นที่บางส่วนในบ้านของเขาและ Tsurui-Ito Tancho Sanctury ต่อไป

ในบริเวณรอบๆหมู่บ้านสึรุอิ (Tsurui) ใกล้ๆ กับเมืองคุชิโร (Kushiro) ทางตะวันออกของเกาะฮอกไกโดนั้น พื้นที่ในบริเวณรอบๆ หมู่บ้านนั้นเป็นท้องทุ่ง พื้นที่ชุ่มน้ำ สลับไปกับพื้นที่ทำการเกษตรของผู้คนมาช้านาน ในบริเวณนี้เป็นถิ่นอาศัยของสรรพชีวิตมากมาย รวมไปถึงนกกระเรียนมงกุฎแดง หรือ Red-crowned crane : Grus japonensis นกน้ำขนาดใหญ่ที่มีสีขาวราวกับหิมะ ที่เป็นต้นกำเนิดของนิทานพื้นบ้านและนิยายปรัมปราในหลากหลายวัฒนธรรม

ในญี่ปุ่น นกกระเรียนมงกุฎแดงเรียกว่า Tancho เป็นสัตว์ที่เชื่อกันว่ามีอายุยืนยาวนับพันปี เป็นสัตว์ที่เป็นตัวแทนของโชคลาภ ความรัก และความจงรักภักดี ส่วนในประเทศจีน นกกระเรียนมงกุฎแดงมักจะปรากฏตัวพร้อมกับทวยเทพหรือเหล่าเซียนที่มาจากสรวงสวรรค์ เป็นสัญลักษณ์ของอายุที่ยืนยาว มีความรู้ และเกียรติอันสูงส่ง เราจึงมักจะพบว่าภาพเขียนโบราณทั้งในวัฒนธรรมของจีนและญี่ปุ่นนั้นมีนกกระเรียนมงกุฎแดงอยู่เสมอๆ  และในแทบทุกวัฒนธรรมจะถือว่านกกระเรียนเป็นนกศักดิ์สิทธิ์

นกกระเรียน, ฮอกไกโด

อากาศในยามเช้ามืดในแสงแรกของยามเช้าที่อุณหภูมิลดต่ำลงกว่า -20 องศาในฤดูหนาว ในมุมมองจากสะพาน Otowa นอกหมู่บ้านสึรุอิที่นกกระเรียนมงกุฎแดงฝูงใหญ่นับร้อยไปจับกลุ่มพักนอนกันในยามค่ำคืน นกกระเรียน, ฮอกไกโด
นกกระเรียนมงกุฎแดงเป็นนกที่มักจะปรากฏอยู่ในภาพเขียนและอารยธรรมของเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือ ญี่ปุ่น มาตั้งแต่โบราณ ในฐานะสัตว์แห่งทวยเทพและสรวงสวรรค์ สัญลักษณ์ของอายุที่ยืนยาว และเกียรติอันสูงส่ง และความรักที่เป็นนิรันดร์ เมื่อดูจากสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมศิลปินถึงได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากนกกระเรียนในธรรมชาติ

แต่ในโลกของความเป็นจริงนั้นนกกระเรียนทั่วโลกต่างประสบปัญหาคล้ายๆ กัน เนื่องจากนกกระเรียนนั้นเป็นนกที่กินอาหารหลากหลายชนิด ตั้งแต่ปลาชนิดต่างๆ สัตว์เลี้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ รวมไปถึงแมลง และพืชพันธุ์นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด และธัญญาหารชนิดต่างๆ ในมุมหนึ่ง เมื่อมนุษย์ขยายพื้นที่เข้าไปในธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ของเราจึงเริ่มทับซ้อนกัน เมื่อเราต้องการผลผลิตเพิ่มมากขึ้น นกกระเรียนที่เข้ามารบกวนพืชผลก็กลายเป็นศัตรูของชาวไร่ชาวนา

ในยุคก่อนปี 1900 นกกระเรียนมงกุฎแดงพบได้ทั่วไปทั้งทางตอนเหนือของเกาะฮอนชู (Honshu) และฮอกไกโด (Hokkaido) รวมไปถึงทางตอนเหนือของจีนแผ่นดินใหญ่ และแมนจูเรีย แต่พื้นที่ในการทำรังของมันบนเกาะฮอนชูก็ลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดนกกระเรียนมงกุฎแดงที่เคยอพยพไปมาระหว่างสองเกาะก็ย้ายไปอยู่ทางตะวันออกอันห่างไกลของเกาะฮอกไกโด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากมนุษย์มากที่สุด

นกกระเรียน, ฮอกไกโด

ทุกเช้าในช่วงฤดูหนาว เมื่อนกกระเรียนที่ไปพักนอนในบริเวณในแม่น้ำใกล้กับสะพานตื่นนอนก็จะบินออกไปหากิน และบางส่วนก็จะแวะเวียนเข้ามาที่ Tsurui-Ito Tancho Sanctuary ในช่วงประมาณ 9 โมงเช้า และตอนบ่ายในราวบ่าย 2 โมง ก่อนที่จะกลับไปนอนในบริเวณริมแม่น้ำในตอนเย็น

การเพาะปลูกในยุคที่เริ่มมีการใช้ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จำนวนของนกกระเรียนหลากหลายสายพันธุ์ในหลายๆ พื้นที่ในโลกเริ่มลดจำนวนลง โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ใน ค.ศ. 1952 เป็นปีที่คลื่นความหนาวเย็นเข้าปกคลุมเหนือท้องทุ่งของฮอกไกโดเป็นเวลายาวนาน นกกระเรียนมงกุฎแดงในธรรมชาติทางตอนเหนือของฮอกไกโดที่หลงเหลือในตอนนั้นมีจำนวนลดลงเหลือเพียงแค่ 33 ตัวเท่านั้น ส่วนในแผ่นดินใหญ่ของจีนที่เคยมีนกกระเรียนอาศัยอยู่นั้นก็ไม่มีรายงานการพบอย่างเป็นทางการ (อาจจะเป็นด้วยในยุคนั้นจีนก็ปิดประเทศกับฝ่ายโลกเสรีจึงไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในช่วงนั้น)

ชาวนาที่ใจดีแห่งหมู่บ้านสึรุอิรวมทั้งคุณอิโตะ โยชิทากะ ต่างก็นำข้าวโพดและธัญพืชที่ได้จากช่วงฤดูเก็บเกี่ยวไว้ มาเลี้ยงนกกระเรียนที่กำลังจะอดตายในช่วงฤดูหนาวอันยาวนาน   

และนั่นคือบทเริ่มต้นของมิตรภาพอันยาวนานระหว่างชาวนาในหมู่บ้านแห่งนี้กับนกกระเรียน

นกกระเรียน, ฮอกไกโด

นกกระเรียนเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและจงรักภักดี นกกระเรียนส่วนใหญ่จะเลือกคู่และรักกันไปตลอดทั้งชีวิต ในช่วงเวลาที่นกกระเรียนตัวผู้จะทำหน้าที่ปกป้องรังของมันและจะอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวจนกระทั่งลูกนกโตเต็มวัยก็จะแยกจากไป (จากการวิจัยในยุคหลังพบว่ามีนกกระเรียนบางตัวที่มีการเปลี่ยนคู่ครองบ้างแต่เป็นจำนวนน้อย เช่นเดียวกับนกเงือก)

นับตั้งแต่นั้นมาทุกฤดูหนาว คุณอิโตะจะนำเอาข้าวโพดมาโปรยให้กับนกกระเรียนกินในช่วงฤดูหนาวแทบทุกวันต่อเนื่องกันมานานหลายสิบปี จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Tancho Guardian ในปี 1981 จนกระทั่งในปี 1987 เขาได้ยกพื้นที่บางส่วนในฟาร์มของเขาให้กับ Wild Bird Society of Japan เพื่อจัดตั้งเป็นเขตอนุรักษ์นกกระเรียนที่ใช้ชื่อว่า Tsurui-ito Tancho Sanctuary และเขาก็ทำหน้าที่ในการนำอาหารออกมาให้นกกระเรียนทุกวันในช่วงฤดูหนาว ก่อนที่เขาจะจากไปในปี 2000 เมื่อมีอายุได้ 81 ปี กว่า 30 ปีที่เขาเริ่มต้นให้อาหารนกกระเรียนเพียงคู่เดียวในที่ดินของเขา ทุกวันนี้มีนกกระเรียนมาหาเขาที่บ้านโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 300 ตัว

และจากนกกระเรียนที่เหลืออยู่เพียง 33 ตัวในบริเวณรอบๆ หมู่บ้านแห่งนี้ก็เพิ่มขึ้นจนมีจำนวน 1,200 ตัวในญี่ปุ่น และหลงเหลืออีกเพียงไม่กี่ร้อยตัวในจีน เกาหลี และไซบีเรีย ประมาณการว่ามีนกกระเรียนมงกุฎแดงหลงเหลืออยู่ในธรรมชาติทั้งโลกในราว 1,700 – 2,000 ตัว

ทุกวันนี้หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นหมู่บ้านที่สวยงามที่สุดในญี่ปุ่น  

ในช่วงฤดูหนาวในแต่ละปีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต่างก็เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อชมนกกระเรียนมงกุฎแดง เต้นรำกลางหิมะเพื่อจับคู่ ก่อนที่นกจะแยกย้ายกระจายกันออกไปทำรัง และเลี้ยงลูกในท้องทุ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำในช่วงฤดูร้อน ก่อนที่จะกลับมารวมกันในบริเวณนี้อีกครั้งในช่วงฤดูหนาว

และจุดที่ทุกคนจะต้องแวะมาก็คือในบริเวณ Tsurui-ito Tancho Sanctuary หรือบ้านของคุณอิโตะ โยชิทากะ ผู้ล่วงลับนั่นเอง

นกกระเรียน, ฮอกไกโด

ฝูงนกกระเรียนนับร้อยที่มารวมตัวกันในบริเวณ Tsurui-Ito Tancho Sanctuary ที่เริ่มมาจากคุณอิโตะ โยชิทากะ ชาวนาใจดีนำข้าวโพดที่เขาเก็บไว้ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวบางส่วนมาโปรยให้นกกระเรียนที่กำลังจะอดตายคู่หนึ่งที่มาเกาะในบริเวณบ้านของเขาเมื่อหลายสิบปีก่อน จากนกกระเรียนที่เหลือเพียง 33 ตัวสุดท้าย ปัจจุบันนี้มีนกกระเรียนมงกุฎแดงในธรรมชาติเพิ่มขึ้นนับพันตัวในญี่ปุ่น

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม