4 กุมภาพันธ์ 2022
44 K

ร้านกาแฟแห่งนี้จะให้บริการเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อม ๆ กับสายลมเย็นระลอกสุดท้ายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ อันเป็นวันเริ่มต้นเทศกาล Bangkok Design Week 2022 และเมื่อสายลมเย็นระลอกใหม่กลับมาเยือนอีกครั้งตอนปลายปี ร้านกาแฟแห่งนี้ก็จะทิ้งไว้เพียงความทรงจำของเราทุกคน

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
คุณแววและทีมบาริสต้าแห่ง Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café 

“สำหรับแวว การได้มีโอกาสเข้ามาทำป๊อปอัพคาเฟ่ระยะสั้นในอาคารโบราณหลังนี้ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุดในชีวิต แววต้องรวบรวมประสบการณ์การทำร้านกาแฟ Craftsman Roastery ที่ผ่านมาตลอด 6 ปี มาขมวดแล้วสกัดออกมาเพื่อทำให้ดีที่สุด” คุณแวว-เนตรนภา นราธัศจรรย์ ผู้ก่อตั้งร้านกล่าวสรุปง่าย ๆ แต่ได้อารมณ์

“ในวันที่เราตัดสินใจเลือกทำป๊อปอัพคาเฟ่ที่นี่ มันก็เหมือนกับการกลัดกระดุมเม็ดแรก เราไม่มีเวลาที่จะกลัดกระดุมเม็ดต่อไปผิด ดังนั้นเราต้องคิดให้ดีว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้จะสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า เราต้องทำร้านกาแฟในอาคารที่เป็นโบราณสถาน โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ และยังรักษาสภาพเดิมทุกประการ ในขณะเดียวกันเราเองก็ต้องอยู่รอดได้ในเชิงธุรกิจด้วย” คุณแววกล่าวถึงข้อท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่

“เราหลงรักอาคารเก่า โดยเฉพาะอาคารนี้ อยากจะร่วมอนุรักษ์และสร้างความทรงจำที่ดี ประสบการณ์ครั้งนี้จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิต และจะไม่มีอีกแล้ว แววรู้สึกว่าโชคดีมาก ๆ ที่ได้ทำคาเฟ่ในสถานที่อันเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ” 

การเปิดร้านกาแฟชั่วคราวหรือ Pop-up Café ครั้งนี้ เป็นการหลอมรวมบุคคลหลากหลายวงการเข้ามาร่วมกันผลักดันทุกอย่างให้เกิดขึ้นได้ในเวลาอันสั้น

“ด้วยสภาวะโรคระบาด เราเลยมีเวลาเตรียมตัวประมาณ 5 เดือน แต่เราได้พบคนเก่งมากมาย จากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี สถาปนิกอนุรักษ์ มัณฑนากร ช่างฝีมือ เชฟ มิกโซโลจิสต์ ศิลปิน นักออกแบบแสง ฯลฯ รวมทั้งเจ้าของพื้นที่ ทุกคนคือมิตรแท้ที่มาช่วยเราทำโปรเจกต์นี้โดยไม่หวังสิ่งใด เพราะทุกคนมีความรักต่ออาคารเก่าเหมือนกัน”

แม้ระยะเวลาจะสั้น แต่คุณแววและ คุณหนุ่ม-รังสรรค์ นราธัศจรรย์ นักออกแบบภายใน Craftsman Roastery  ได้ทุ่มเทศึกษาประวัติศาสตร์ของอาคารโบราณหลังนี้อย่างละเอียด รวมทั้งถนนบำรุงเมืองทั้งสาย เพื่อนำมาตีความและสร้างสรรค์ประสบการณ์ผ่านบรรยากาศ แสงเงา เมนูขนมและเครื่องดื่ม รวมทั้งเพลงที่เปิดในร้าน ฯลฯ หรือแม้กระทั่งเครื่องแต่งกายและทรงผมของบาริสต้า ด้วยความตั้งใจที่มอบความทรงจำสุดพิเศษให้กับลูกค้าผู้มาเยือนทุกคน

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
คุณแววและคุณหนุ่มแห่ง Craftsman Roastery 

“Craftsman Roastery เป็นเหมือน Soft Launch ของสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ ก่อนที่เจ้าของพื้นที่จะปิดเพื่อดำเนินการบูรณะและปรับปรุงทั้งอาคารและพื้นที่อย่างเป็นทางการ โดยคาดหวังว่าในอนาคตจะเปิดเป็นโรงแรม ร้านอาหาร แกลเลอรี่ สถานที่จัดแสดงงานศิลป์ รวมทั้งคาเฟ่ ซึ่งแผนการปรับปรุงดังกล่าวจะเริ่มขึ้นปลายปีนี้เมื่อทุกอย่างลงตัว ระหว่างนี้เราจึงอาสาเข้ามาลองใช้พื้นที่ในสภาพที่เป็นอยู่ตามเดิม ปกติ Craftsman Roastery ก็เลือกเปิดร้านกาแฟในอาคารเก่าอยู่แล้ว เช่น ที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง ที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง (บ้านศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี) ดังนั้นการเปิดป๊อปอัพคาเฟ่ในโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจจึงตรงกับคอนเซ็ปต์ดั้งเดิม” คุณหนุ่มกล่าว

เรามาร่วมกันศึกษาประวัติอาคารและพื้นที่แห่งนี้ไปพร้อม ๆ กับคุณแววและคุณหนุ่ม แล้วมาลุ้นกันว่าเธอและเขาจะตีความออกมาอย่างไร เพื่อจะให้พวกเราได้รับประสบการณ์แบบไหน 

ประสบการณ์ที่ทั้งสองมั่นใจว่าจะเป็นความทรงจำล้ำค่าตลอดไป

โรงพิมพ์ของสยามประเทศ

“อาคารหลังนี้เดิมชื่อโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ผู้ก่อตั้งคือ หลวงดำรงธรรมสาร (มี ธรรมาชีวะ) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2438 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือได้ว่าเป็นโรงพิมพ์ที่ดำเนินกิจการการนานที่สุดของไทย นอกจากนี้ยังเป็นโรงพิมพ์ที่ใหญ่และทันสมัยมาก เพราะมีเครื่องพิมพ์ระบบน้ำมัน มีจำนวนคนงานถึง 70 – 80 คน ทำหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น ช่างหล่อตัวพิมพ์ ช่างแท่น ช่างเรียง ช่างพับ ฯลฯ นอกจากโรงพิมพ์แล้วก็ยังมีร้านขายหนังสือ ห้องสมุด และสำนักงานติดต่อลูกค้าตั้งอยู่ที่ตึกแถวสองชั้น ริมถนนบำรุงเมืองด้านหน้าโรงพิมพ์” คุณแววเล่าถึงอาคารประวัติศาสตร์หลังนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เธอได้รับทราบมาจากสถาปนิกอนุรักษ์

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจรับพิมพ์หนังสือต่าง ๆ เช่น หนังสือแบบเรียน หนังสือธรรมะ รวมทั้งหนังสือทางราชการ อย่างเช่นหนังสือราชกิจจานุเบกษา ซึ่งโรงพิมพ์แห่งนี้ได้รับผิดชอบการพิมพ์เผยแพร่อยู่หลายปี ก่อนยุติลงใน พ.ศ 2504 เมื่อรัฐบาลได้จัดตั้งสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษาขึ้นเอง

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café

“ชั้นล่างเป็นโรงพิมพ์ มีแท่นพิมพ์หนังสือ เครื่องจักรและอุปกรณ์การพิมพ์ต่าง ๆ ส่วนชั้นบนจะเป็นที่อาศัยของคนงาน หลวงดำรงธรรมสารถึงแก่กรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2460 ต่อมาหลวงศรีบัญชา (ทวน ธรรมาชีวะ – ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีบัญชา) บุตรชาย ได้เข้ามาบริหารกิจการโรงพิมพ์สืบต่อจากบิดา”

“ในช่วงที่ท่านบริหารโรงพิมพ์นั้น ได้มีการสร้างอาคารโรงพิมพ์ขึ้นเป็นอาคารที่สองในพื้นที่ ต่อมาในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 ราว พ.ศ. 2494 ได้เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่บริเวณเสาชิงช้า และลุกลามมายังพื้นที่โรงพิมพ์ด้วย ส่งผลให้ตึกโรงพิมพ์หลังที่สองและอาคารบางส่วนสูญสิ้นไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น รวมทั้งแท่นพิมพ์รุ่นแรกและตัวพิมพ์ตะกั่วเป็นจำนวนมาก แต่อาคารนี้ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด” คุณแววเล่าต่อ

หลังเหตุการณ์เพลิงไหม้ ผู้รับช่วงดูแลกิจการโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจก็คือ นายทุน ธรรมาชีวะ บุตรชายคนโต ท่านได้ปรับปรุงกิจการโรงพิมพ์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น มีแท่นพิมพ์และเครื่องจักรสมัยใหม่หลายเครื่อง และได้ก่อสร้างอาคารโรงพิมพ์หลังใหม่ด้วยอะลูมิเนียมเพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้

ปัจจุบันโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจได้ย้ายออกจากที่ตั้งดั้งเดิมและเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพิมพ์ธรรมสาร เพื่อเป็นเกียรติแด่หลวงดำรงธรรมสาร ผู้บุกเบิกและก่อตั้งโรงพิมพ์เป็นคนแรก

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café

เมื่อโรงพิมพ์เป็นคาเฟ่

“เมื่อย้ายกิจการโรงพิมพ์ออกไป ก็ได้มีการปล่อยพื้นที่ให้เช่าเก็บพระพุทธรูปของร้านสังฆภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ละแวกนี้ ตอนที่เราเข้ามาสำรวจพื้นที่ก็จะพบร่องรอยหลายอย่าง ถ้าสังเกตดี ๆ บนผนังเราจะยังมองเห็นร่องรอยของการใช้สีทองพ่นองค์พระพุทธรูป สีที่หลุดจากองค์พระก็ปรากฏเป็นลายบนผนัง หรือตามเสา” คุณหนุ่มชวนสังเกต

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café

“ปัจจุบันพื้นที่และอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจอยู่ในความดูแลของบริษัท รัจนาการ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งมีแผนการที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลาย พ.ศ. 2565 ระหว่างนี้จึงเปิดพื้นที่ให้ Craftsman Roastery เข้ามาเช่าและเปิดบริการเป็นร้านกาแฟชั่วคราวขึ้น”

ขณะนั้น Craftsman Roastery กำลังจะหมดสัญญาเช่าที่บ้านอาจารย์ฝรั่งลงพอดี ประกอบกับบ้านอาจารย์ฝรั่งมีกำหนดปิดซ่อมในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 คุณแววและคุณหนุ่มจึงเริ่มมองหาพื้นที่ทดแทน 

“ราว ๆ เดือนพฤษภาคมเราก็ได้รับข้อมูลจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งท่านเป็นลูกค้าขาประจำอยู่พอดี ท่านได้แนะนำเราว่าให้ลองมาดูที่นี่ เราก็เลยแอบมาดูกัน พอเข้ามาก็พบว่า โอ้โห ใหญ่จัง (หัวเราะ) มีสองชั้นอีกด้วย ตัวอาคารเป็นอาคารเก่าตามสภาพที่เห็นอยู่ พอขึ้นไปดูบนชั้นสองก็พบว่าพื้นอาคารโครงสร้างไม้บางจุดอยู่ในสภาพผุกร่อน แต่เราสนใจอาคารหลังนี้มาก ๆ จึงรีบแจ้งอาจารย์ไปว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอนัดพบเจ้าของพื้นที่นี้” คุณหนุ่มเล่าต่อ

“พอมีโอกาสได้พบกัน ทางเจ้าของก็ไปเยี่ยมเราที่คราฟส์แมนด้วย เพื่อไปดูว่าเรามีวิธีทำคาเฟ่อย่างไร เราดูแลอาคารเก่าอย่างไร ซึ่งคิดว่าวิธีการของเราคงจะตรงกับสิ่งที่ทางรัจนาการตั้งใจไว้ คือการรักษาสภาพอาคารไว้ดังเดิม เพื่อรักษามิติของเวลาที่ฝังตัวอยู่กับอาคารมาอย่างยาวนานให้คงอยู่ตลอดไป ซึ่งเป็นสิ่งที่คาเฟ่นี้ให้คุณค่าและความสำคัญมาก ๆ” 

ในที่สุด Craftsman Roastery ก็ได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาทำธุรกิจป๊อปอัพ คาเฟ่ ณ สถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
พื้นที่ด้านล่าง 300 ตารางเมตร

อาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจมีพื้นที่ทั้งสิ้น 600 ตารางเมตร แบ่งเป็นชั้นบนและชั้นล่างอย่างละ 300 ตารางเมตรเท่ากัน

“เราตัดสินใจใช้เฉพาะพื้นที่ชั้นล่างเท่านั้น เพราะสภาพพื้นไม้ชั้นบนยังไม่พร้อมสำหรับการใช้งาน เราแบ่งพื้นที่ขนาด 300 ตารางเมตรเป็น 2 ส่วน คือ คาเฟ่จะมีพื้นที่ประมาณ 100 ตารางเมตร ส่วนอีก 200 ตารางเมตรที่เหลือ เราจัดสรรเป็น Exhibition Space สำหรับแสดงงานต่าง ๆ หรือพื้นที่จัดกิจกรรมทางศิลปะ” คุณหนุ่มสรุป

สถาปัตยกรรมล้ำเลอค่า

ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมได้เข้ามาศึกษาและวิเคราะห์อาคารบำรุงนุกูลกิจอย่างละเอียดทันที หลังจากนั้นได้สรุปลักษณะทางสถาปัตยกรรมไว้ว่า อาคารอายุ 127 ปีหลังนี้มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบผสมผสาน (Eclectic Style) ระหว่างสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน โครงสร้างอาคารเป็นแบบผนังรับน้ำหนักผสมโครงสร้างเหล็กและไม้ หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว คาดว่าอาคารสร้างอยู่บนเสาเข็มไม้ที่ก่อขึ้นจากซุงท่อนใหญ่ ๆ ตามวิธีการก่อสร้างในสมัยนั้น

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
สถาปัตยกรรมเป็นแบบผสมผสานระหว่างคลาสสิกและวิกตอเรียน

“ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยสถาปนิกชาวยุโรป แต่ใช้ช่างชาวจีนเป็นแรงงานก่อสร้าง ด้านหน้าอาคารประดับด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นลายแบบฝรั่ง ถือเป็นงานแฮนด์เมดนะคะ เพราะปั้นด้วยมือทั้งหมด งานไม้ฉลุลายที่ใช้ประดับตกแต่งอาคารก็เป็นงานฝีมือเช่นกัน อีกสิ่งที่ควรสังเกตก็คือลายที่เกิดจากการฉาบปูนผสมสีฝุ่นเพื่อทำเลียนแบบหินอ่อน ซึ่งยังเห็นประดับอยู่ด้านหน้าอาคารจนถึงปัจจุบัน” คุณแววชวนให้ผมสังเกตลายละเอียดอันงดงามที่ประดับอยู่ด้านหน้าอาคาร

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
ลายฝรั่ง ปั้นมือโดยช่างจีน 
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
การฉาบปูนเลียนแบบลายหินอ่อนปรากฏอยู่ภายในช่องเหลี่ยม

“นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังบอกเราว่า อาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจนั้นฉาบผนังอาคารทั้งภายในและภายนอกด้วยเทคนิค ‘การขัดปูนตำผสมฝุ่นสีเหลือง’ ซึ่งถือว่ามีความพิเศษ เนื่องด้วยการฉาบลักษณะนี้มักจะพบเฉพาะอาคารที่มีฐานานุศักดิ์สูงและมีความสำคัญเท่านั้น เพราะใช้เวลานานและงบประมาณสูงกว่าวิธีอื่น ๆ”

ฉาบอาคารด้วยเทคนิคการขัดปูนตำผสมสีเหลือง

จากภายนอก คราวนี้เราลองเข้าไปชมโครงสร้างและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมภายในกันบ้าง

“ตัวอาคารชั้นล่างเป็นพื้นปูน มีผนังรับน้ำหนักหนา ใช้อิฐก้อนใหญ่ แต่สิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ก็คือเสากลมเหล็กหล่อและคานเหล็กรูปเป็นตัวไอ (I) ซึ่งนำเข้ามาจากบริษัท Dorman Long & Co. เมือง Middleborough ประเทศอังกฤษ สำหรับใช้เพื่อรับน้ำหนักพื้นชั้นบนของอาคาร ซึ่งโครงสร้างเหล็กเช่นนี้แสดงถึงความทันสมัย” คุณหนุ่มชวนผมชม

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
เสากลมเหล็กหล่อและคานเหล็กจากบริษัท Dorman Long & Co. ประเทศอังกฤษ
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
บันไดไม้ทอดขึ้นสู่ชั้นบน สังเกตผนังรับน้ำหนักหนา ใช้อิฐก้อนใหญ่

“ส่วนอาคารชั้นบน การจัดสรรพื้นที่เป็นลักษณะเดียวกับชั้นล่าง แต่พื้นเป็นพื้นไม้ เสาและคานก็เป็นไม้ ไม่ใช่เหล็กหล่อ เพียงแต่ผลิตเสาไม้ให้มีรูปลักษณ์เลียนแบบเสาเหล็กหล่อชั้นล่าง และตั้งอยู่ตรงจุดเดียวกัน เพื่อถ่ายน้ำหนักอาคารจากบนลงล่าง สิ่งที่น่าสนใจคือฝ้าเพดานจะตีซ้อนเกล็ดตามสมัยนิยม ความพิเศษของอาคารนี้คือรอบ ๆ ฝ้าเพดาน จะมีการใส่ตะแกรงระบายอากาศ (Ventilation Grill) ซึ่งทำจากไม้ฉลุเป็นลายงดงาม ตะแกรงระบายอากาศจะช่วยระบายความร้อนจากหลังคาให้กระจายลงมาและออกผ่านหน้าต่างไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อยู่สบาย ไม่ร้อน” 

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
เพดานตีซ้อนเกล็ด เสาและคานเป็นไม้แต่ทำเลียนแบบเสาเหล็กหล่อด้านล่าง
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
อีกมุมหนึ่งของอาคารชั้นบน
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
ตะแกรงระบายอากาศ (Ventilation Grill) ทำจากไม้ฉลุลายงดงาม 

ด้วยคุณค่าและความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมทั้งหมดที่กล่าวมา กรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียนตึกโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2542

“สิ่งที่ตามมากับโอกาสครั้งนี้ก็คือความรับผิดชอบที่จะต้องดูและรักษาโบราณสถานแห่งนี้ให้ดีที่สุด ซึ่งหลักการของเรามี 3 ข้อ นั่นคือ Preserve หมายถึงการรักษาอาคารให้คงสภาพเดิมมากที่สุด Protect คือการป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียใด ๆ และ Stabilize คือการสร้างความมั่นคงแข็งแรง เช่น ช่วยพยุงโครงสร้างเดิมเพื่อให้รองรับการใช้งานตามวัตถุประสงค์ใหม่ได้ จะเป็นวิธีค้ำหรือยันหรืออะไรก็ตามที่ช่วยทำให้อาคารแข็งแรงมั่นคงขึ้น แบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้สอยได้ตามต้องการ เราจะไม่เจาะหรือสร้างร่องรอยถาวรใด ๆ โดยเด็ดขาด แววขอใช้คำว่าเราทะนุถนอมอาคารนี้มาก ๆ” คุณแววกล่าวถึงความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับโอกาส

คุณหนุ่มและคุณแววพาผมไปศึกษาวิธีการถนอมอาคารตามจุดต่าง ๆ อันเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

“ความที่เราแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนคาเฟ่และส่วนจัดแสดง เราเลยต้องมีการกั้นพื้นที่แยกจากกัน เพราะส่วนที่เป็นคาเฟ่จะเป็นบริเวณที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ จำเป็นต้องกั้นกระจก ซึ่งการกั้นกระจกนั้น ปกติต้องใส่กรอบไม้หรือกรอบอะลูมิเนียม และต้องยึดกรอบเหล่านี้กับพื้นและเพดาน พื้นปูนนี่เราไม่ค่อยกังวล เพราะอยู่ในสภาพที่เจ้าของพื้นที่ตั้งใจจะรื้อและบูรณะอยู่แล้วในอนาคต ดังนั้นเราจึงได้รับอนุญาตให้เจาะยึดกับพื้นปูนได้ แต่ที่กังวลคือตงไม้บนเพดาน ซึ่งเป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่อยู่คู่อาคารหลังนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเจาะ เราจึงใช้วิธีหนีบ (Clamp) เสาเหล็กเข้ากับตงไม้แทน ซึ่งตัวหนีบมีลักษณะคล้ายตัวซี (C) จึงเรียกว่าซีแคลมป์ (C Clamp) และยังมีแผ่นยางรองไว้อีกชั้นเพื่อซับแรงหนีบหรือแรงกด ป้องกันไม่ให้ตัวหนีบสัมผัสกับพื้นผิวไม้โดยตรง เพราะมีแผ่นยางช่วยซับไว้อีกชั้น (Buffer) และในวันที่เรารื้อออก เราก็จะไม่ทิ้งร่องรอยใด ๆ ไว้กับสถานที่นี้เลย”

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือส่วนคาเฟ่และส่วนจัดแสดงงานศิลปะ
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
C Clamp ใช้การหนีบเสาเหล็กเข้ากับตงไม้แทนการเจาะ และมีแผ่นรองไว้อีกชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวหนีบสัมผัสกับพื้นผิวไม้โดยตรง

“สำหรับการตกแต่งอื่น ๆ อย่างโคมไฟ ไฟราว (Track Light) เราก็ใช้ซีแคลมป์ในการยึดกับอาคาร สายไฟที่ต้องเดินใหม่ เราก็ใช้วิธีการโยงสายไฟผ่านซีแคลมป์ทั้งหมด ซึ่งช่างจะทำงานยากขึ้น ใช้เวลาเยอะขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เรายินดีที่จะทำ” คุณหนุ่มกับคุณแววช่วยกันอธิบาย

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café

“สิ่งที่จะดูแปลกปลอมสุดในอาคารนี้น่าจะเป็นบาร์กาแฟ แต่เราต้องใช้จริง ๆ ไม่เช่นนั้นเราก็ทำกาแฟไม่ได้ (หัวเราะ) แต่บาร์กาแฟของเราจะใช้อย่างระมัดระวังที่สุด คือมีแต่เครื่องทำกาแฟและมีเตาอบสำหรับอุ่นร้อนเบเกอรี่เท่านั้น อุปกรณ์อย่างแก๊สหุงต้มที่ใช้ความร้อนสูง เราจะไม่นำเข้ามาในอาคารโดยเด็ดขาด ในกรณีที่มีผู้มาเช่าพื้นที่สำหรับจัดงานฟังก์ชันอื่น ๆ และต้องการจะประกอบอาหารด้วยความร้อนสูง เราจะทำที่อาคารอื่น แล้วจึงนำเข้ามาเสิร์ฟในนี้ ซึ่งเราเตรียมอาคารสำรองไว้สำหรับกรณีเช่นนี้เรียบร้อยแล้ว อาคารดังกล่าวจะเป็นสถานที่เก็บวัตถุดิบสำหรับนำไปปรุงเป็นค็อกเทลหรือม็อกเทล เช่น เก็บผลไม้สด ผักสด น้ำเชื่อม น้ำแข็ง หรือเหล้าต่าง ๆ เราจะเก็บในอาคารอื่น เพื่อให้อาคารโรงพิมพ์รับภาระน้อยที่สุด” 

เป็นอย่างไรครับ ผมว่าคุณแววและคุณหนุ่มวางมาตรฐานการถนอมอาคารนี้ไว้รัดกุมจริง ๆ

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จากโรงพิมพ์แรกของสยาม สู่ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café

ตีความอดีต เพื่อสร้างประสบการณ์คาเฟ่-บาร์ในวันนี้

เมื่อทั้งสองค้นหาวิธีอนุรักษ์อาคารสำเร็จแล้ว โจทย์ต่อมาก็คือป๊อปอัพคาเฟ่แห่งนี้ จะมอบประสบการณ์ให้ผู้มาเยือนอย่างไร

“เราศึกษาอดีตของย่านนี้ค่ะ คือถนนบำรุงมืองทั้งสาย แล้วเราก็พบว่าถนนสายนี้เป็นถนนสายช้อปปิ้ง (หัวเราะ) มีห้างฝรั่งเกิดขึ้นเป็นห้างแรก ๆ ของเมืองไทย ความเจริญในรูปแบบวัฒนธรรมตะวันตกมีอิทธิพลต่อผู้คนที่อาศัยอยู่รอบบริเวณนี้ แล้วในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ได้เริ่มมีการส่งนักเรียนไปเรียนต่อที่ยุโรปมาก โดยเฉพาะอังกฤษ จึงมีสังคมนักเรียนนอกเกิดขึ้น อย่างบุตรชายของหลวงดำรงธรรมสาร คือพระยาศรีบัญชา ท่านก็เป็นนักเรียนอังกฤษ ท่านก็มีไลฟ์สไตล์แบบตะวันตก เช่น ท่านชอบดื่มกาแฟดำ ทานไข่ดาวไส้กรอกและขนมปังทาเนยเป็นอาหารเช้า ซึ่งสังคมคนกรุงเทพฯ ในย่านนี้จึงเป็นลักษณะผสมผสานไทยปนฝรั่งที่มีความเก๋อยู่ในตัว” คุณแววเล่าอย่างสนุก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเจริญกรุงขึ้น เพื่อความสะดวกในการแล่นรถม้าของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย นับเป็นถนนสายแรกที่ก่อสร้างแบบตะวันตก ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงถนนเสาชิงช้า ซึ่งเป็นถนนเก่าแก่มาแต่ครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์จ้างชาวจีนมาสร้างเป็นถนนสมัยใหม่ สองฟากถนนได้สร้างอาคารแบบตะวันตกขึ้น โดยทรงส่งนายช่างชาวไทยไปศึกษาดูแบบการก่อสร้างจากสิงคโปร์และปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย) พระราชทานนามถนนสายนี้ว่าถนนบำรุงเมือง

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หนังสือราชกิจจานุเบกษาปีที่ 4 ฉบับปี พ.ศ 2420 ได้บันทึกความเอาไว้ว่า

“…นายแบดแมน เช่าพื้นที่ทำห้างแบดแมน เพื่อขายสินค้านานาชนิด ห้างแขกเปอร์เซีย ขายสินค้าจากต่างประเทศ ห้างเอส.ทิสแมน ขายนาฬิกา อำแดงทรัพย์ขายหมากพลูและบุหรี่ จีนหงีทำบ่อนเบี้ย จีนฮวดหลีตั้งโรงจำนำ จีนยิดขายเหล้าและหมี่ จีนหนูขายผ้า…” 

อ่านข้อความที่ปรากฏนี้แล้วผมถึงกับรำพึงออกมาว่า โอย… ช้อปกันสนั่นถนนเลย

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน
ถนนบำรุงเมืองในอดีต 
ภาพ : www.nextsteptv.com/khongdee

“คือเรารู้สึกว่าย่านนี้เป็นย่านทันสมัย เป็นย่านนักเรียนนอก มีความเป็นฝรั่งผสมไทย แล้วอาคารนี้ก็เป็นโรงพิมพ์มาก่อน เป็นแหล่งผลิตหนังสือ มีร้านหนังสือและห้องสมุด นับว่าเป็นแหล่งพัฒนาความรู้ของคน ช่วยหล่อหลอมให้คนกลายเป็นมนุษย์และเป็นสุภาพชน ผมนึกถึงคำว่า Grooming กับ Gentlemanliness คือมีความสำอางแล้วก็เป็นสุภาพบุรุษ” คุณหนุ่มเริ่มเห็นภาพอะไรบางอย่าง แล้วคุณแววล่ะ

“พอดีแววได้มีโอกาสดูซีรีส์ใน Netflix เรื่อง Peaky Blinders ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 1900 ขณะนั้นในไทยก็จะประมาณช่วง พ.ศ. 2443 สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ซีรีส์เรื่องนี้ที่สะท้อนภาพมาเฟียในเมืองเบอร์มิงกัม (Birmingham) ดูแล้วแววรู้สึกชอบมาก ๆ คือมาเฟียในเรื่องทุกคนมีความ Grooming และมีความเป็น Gentlemanliness คือมาเฟียยุคนั้นตัดผมเนี้ยบ แต่งตัวเท่นะคะ แต่ก็มีความซ่าแบบมาเฟีย (หัวเราะ) คือมันมีความสนุกขึ้นอีกมิติ ภาพที่เห็นในซีรีส์เรื่องนี้ตรงกับภาพในจินตนาการของเรา สิ่งนี้จึงเป็นการจุดประกายให้แววอยากสร้างคาเฟ่ผสมบาร์ มีเสิร์ฟทั้งกาแฟ ทั้งเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์อย่างค็อกเทล แล้วก็มีม็อกเทลด้วย ถ้าให้แววสรุปว่าประสบการณ์ของที่นี่เป็นอย่างไร แววขอสรุปว่าเป็น Grooming Mafia ค่ะ (หัวเราะ)” คุณแววหัวเราะร่วนในขณะที่ผมกำลังสรรหาคำแปลของ Grooming Mafia เป็นภาษาไทยจนคิ้วแทบจะขมวดเข้าหากัน 

“มาเฟียสำอางดีไหมคะ” ข้อเสนอของคุณแววทำให้ผมขำก๊ากออกมา แต่ผมคิดว่าคำคำนี้ไม่เลวเลย

“แววคิดว่าคนเราก็มีทั้ง Bright Side และ Dark Side ไม่มีใครเจนเทิลเมนเนี้ยบตลอดเวลา ก็ต้องมีดื่มมีฮากันบ้าง ต่อให้เป็นนักเรียนอังกฤษจ๋าแค่ไหนก็เถอะ เราต้องการปรุงรสทั้งยุคเก่าและยุคใหม่เข้ากันอย่างกลมกล่อม มีเนี้ยบแล้วก็มีซนด้วย เราไม่อยากให้แขกเข้ามาแล้วเหมือนหลุดมิติมาสู่อดีตจนกลับไปไม่ถูก หรือมาแล้วรู้สึกเกร็ง จนทำตัวไม่ถูก ตึกอาจจะเก่า แต่เราก็เปิดเพลงฮิปฮอปได้ ซึ่งประสบการณ์ทั้งหมดไม่ได้มาจากอาคารและบรรยากาศเท่านั้น ต้องมาจากการดูแลและปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าของบาริสต้าด้วย ซึ่งเราจำเป็นต้องใส่ใจประเด็นนี้” 

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน

หากมาที่นี่อย่าลืมสังเกตเครื่องแบบของทีมบาริสต้านะครับ คุณแววลงมือคัดสรรด้วยตัวเองให้ออกมาเป็นแนวมาเฟียสำอางได้อย่างใจ “แม้แต่ผม แววก็พาน้อง ๆ ไปตัดที่ร้านแบบบาร์เบอร์เองนะคะ เลือกร้านเลือกทรงผมให้ทุกคน”

ป๊อปอัพพคาเฟ่แห่งนี้คือความผสมผสานของตะวันตกและไทย มีทั้งความเนี้ยบและความสนุกที่ทั้งสองเชื่อว่าทุกคนจะชอบ

กาแฟและเบเกอรี่ก็มีทีเด็ด

เมื่อตอนคิดเรื่องเมนูขนมสำหรับลูกค้านั้น คุณแววตั้งต้นจากความเข้าใจเรื่องขนมในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 เสียก่อน

“แววเริ่มจากการศึกษาเกี่ยวกับคาเฟ่ยุคแรก ๆ ซึ่งก็มักจะเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่านักเรียนนอก ซึ่งเคยสัมผัสประสบการณ์เช่นนี้จากยุโรป เพราะตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีคาเฟ่ ร้านกาแฟร้านแรกก็คือร้านกาแฟนรสิงห์ ที่สร้างขึ้นช่วงปลายรัชกาลที่ 6 แต่เดิมตั้งอยู่ภายในรั้วสนามเสือป่า ซึ่งเป็นร้านยอดนิยมของบรรดาพ่อค้า ชาวต่างชาติ ผู้รับราชการเสือป่ารักษาพระองค์ แล้วก็นักเรียนนอก ในสมัยนั้นก็มีบริการอาหารคาวหวาน ซึ่งส่งตรงมาจากครัวบ้านนรสิงห์ของเจ้าพระยารามราฆพ แล้วก็มีขนมไว้บริการ เป็นขนมแบบตะวันตกด้วยนะคะ”

เธอเริ่มตั้งคำถามว่ามีใครเป็น ‘ต้นแบบ’ ขนมฝรั่งที่แพร่หลายในยุคนั้น และมีการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างไร

“มีพี่ที่น่ารักคนหนึ่งกรุณาแนะนำตำราขนมเล่มหนึ่งของหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล แววอ่านแล้วชอบมาก ปิ๊งเลย ท่านหญิงสิบพันทรงมีพระชนมายุอยู่ในช่วงนั้นด้วย ที่แววว่าน่าสนใจคือสูตรขนมนั้นเป็นสูตรฝรั่งแต่นำมาปรับปรุงหรือพัฒนาอย่างไทย ก็เลยศึกษาตำราขนมของพระองค์ท่านอย่างจริงจัง คัดเมนูที่เรารู้สึกชอบ นำมาปรึกษากับเชฟ คือเชฟเช้า-คุณต่อจันทน์ แคทริน บุณยสิงห์ แล้วก็สไตลิสต์คือคุณหนูนา-มัทนา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เพื่อลองช่วยกันแกะสูตร ตีความ และหาวิธีการนำเสนอ”

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน

 “ตอนที่อ่านนี่แววมีความสุขมาก ศัพท์แสงที่ใช้ในหนังสือน่ารักมาก (หัวเราะ) อย่างเช่น คำว่ามันฮ่อ เราก็พยายามคิดว่ามันอะไร พออ่านไปเรื่อย ๆ อ๋อ… มันฮ่อคือวอลนัทค่ะ (หัวเราะ) หรืออย่างพาย (Pie) ท่านก็ทรงเขียนว่าปาย ปายมันฮ่อก็คือวอลนัทพาย (หัวเราะ)” 

“แล้วอย่างที่แววบอกว่าเป็นขนมฝรั่งที่พัฒนาอย่างไทย ก็เพราะว่าขนมฝรั่งสมัยนั้นวัตถุดิบบางอย่างมีราคาสูง ต้องนำเข้าเท่านั้น ซึ่งทำให้ท่านพยายามหาวิตถุดิบทดแทน เช่น ปายแอปเปิ้ล ซึ่งต้องใช้แอปเปิ้ลเขียว ท่านก็ทรงใช้มะม่วงดิบฝานแทน เพราะมีรสชาติอมเปรี้ยวใกล้เคียงกัน หรืออย่างเค้ก ก็จะไม่ใช่เค้กที่ฟูมาก ๆ เพราะผงฟูไม่ใช่วัตถุดิบที่แพร่หลายขณะนั้น อุปกรณ์ก็ยังไม่ครบครัน เค้กสมัยนั้นก็จะมีลักษณะเป็นแบบสปอนจ์เค้ก (Sponge Cake) ที่เนื้อจะแน่น ๆ ไม่เบาโปร่งแบบสมัยนี้ นอกจากนี้จะมีการใช้เครื่องเทศในขนมเยอะมาก เรียกว่าเป็นจุดเด่นเลยค่ะ คือทุกสูตรจะมีพวกซินนามอน โป๊ยกั๊ก กานพลู ลูกจันทน์เทศอยู่เสมอ (หัวเราะ) สำหรับแวว นี่ก็คือมาเฟียสำอาง ฝรั่งจ๋ามาเจอการตีความและพัฒนาแบบไทย ๆ มันคือความเนี้ยบบ้าง สนุกและซ่าบ้าง ที่ถ่ายทอดจากคอนเซ็ปต์ร้านสู่ขนมด้วย”

ในที่สุดคุณแวว เชฟเช้า และคุณหนูนาก็ได้ทดลองทำตามตำรา และนำมาปรับรสชาติให้ร่วมสมัยมากขึ้น พร้อมกับคัดเลือกเมนูเบเกอรี่มา 7 เมนูที่มั่นใจว่าจะสร้างความประทับใจให้ลูกค้า ที่สำคัญก็คือเป็นเมนูที่สามารถปรุงได้ในอาคารครัว ซึ่งมีอุปกรณ์และพื้นที่จำกัด นอกจากนี้ยังพลิกแพลงเพื่อสร้างสรรค์ร่วมกับผลไม้ตามฤดูกาลได้ โดยยังคงคอนเซ็ปต์ขนมฝรั่งที่ปรับปรุงแบบไทย ๆ ตามสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 

เรามาลองฟังเมนูแนะนำเรียกน้ำย่อยกันสักชิ้นสองชิ้นดีกว่า

Devil Cake with Dark Rum Sauce คำว่า Devil Cake นั้นเป็นคำที่เรียกตามหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ เนื้อเค้กช็อกโกแล็ตแบบสปอนจ์เนื้อแน่น ๆ แช่เย็นทานยิ่งอร่อย หรือจะอุ่นร้อนสักหน่อยก็จะนุ่มเบาชวนเคลิ้ม เสริมด้วยดาร์กรัมซอสสูตรเฉพาะที่นำดาร์กช็อกโกแลตคุณภาพดี มาเคี่ยวกับผลไม้อย่างเชอร์รี่พร้อมสมุนไพรนานาชนิดให้หอมกรุ่น ก่อนตบด้วยรัม เวลาทานก็จะวูบ ๆ ร้อน ๆ ได้กลิ่นรัมขึ้นจมูกหอม ๆ แอบมีอารมณ์กรึ่ม ๆ อยู่ในบาร์

“แววว่าเค้กเมนูนี้มีความเป็นเค้กของผู้ใหญ่เท่ ๆ ไม่ใช่เค้กหวาน ๆ แบบเด็ก ๆ (หัวเราะ) ถ้าให้เปรียบเทียบอารมณ์ก็คงเหมือนการทานพวกช็อกโกแลตที่ใส่ลิเคอร์หรือรัมไว้ข้างใน ซึ่งมันจะให้อารมณ์ที่ต่างจากการทานช็อกโกแลตนม (หัวเราะ)”

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน

Banana Turnover หรือ เค้กกล้วยหน้าคว่ำ ที่ตอนทำก็คว่ำกล้วยลงด้านล่างเพื่อให้คลุกเคล้ากับคาราเมล เวลาอบออกมาซอสคาราเมลจะเคลือบอย่างทั่วถึง ดึงกลิ่นน้ำตาลไหม้จาง ๆ น่าซาบซ่านอร่อยลิ้น แถมยังเข้ากันได้ดีกับเค้กเนื้อแน่นที่หอมกลิ่นเนยเตะจมูก

“กลิ่นและรสสัมผัสหลักของเค้กเมนูนี้คือ เค้กที่ Buttery และกล้วยเป็นชิ้น ๆ ที่ Caramelized ค่ะ”

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน

Walnut Pie หรือปายมันฮ่อ มันฮ่อชิ้นอวบดาหน้ามาเต็มทุกอณู พร้อมกลิ่นเครื่องเทศละมุน กระตุ้นให้อยากเคี้ยว

“ชอบชื่อนี้ปายมันฮ่อ มาจากหนังสือของท่านหญิงสิบพัน เลยอยากให้ทุกคนได้ลองเพื่อเป็นความทรงจำต่อร้านของเรา”

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน

“ส่วนเมนูกาแฟนั้น เราไม่ได้สร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ขึ้นมาเพราะเราเล่นความแฟนซีไปกับขนมเยอะแล้ว แววเลยอยากให้เมนูกาแฟที่คลาสสิก ซึ่งทุกคนชื่นชอบและคุ้นเคยดี ให้กาแฟเป็นแบบ Everyday Drink มากกว่า”

แต่เมื่อให้เลือกเมนูกาแฟที่เธออยากแนะนำ เธอจึงเลือกมา 2 ตัว คือ 

Mocha Yuzu กาแฟคุณภาพผสมช็อกโกแลตระดับ Artisan ที่เจือรสชาติของมอลต์และเฮเซลนัท นำมาผสมน้ำส้มยูสุ ก่อนท็อปอัพด้วยผิวส้มยูสุและน้ำตาลไหม้ที่ทำให้ใคร ๆ ก็สดชื่น 

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน

Spiced Thai Latte ลาเต้แบบไทย ๆ ที่อวลไปด้วยกลิ่นอายของเครื่องเทศ ผสมน้ำเชื่อมสูตรเด็ดที่หมักกับอบเชย และมีกลิ่นโป๊ยกั๊กอ่อน ๆ หอมรัญจวนใจไทยปนเทศ

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน

ค็อกเทล ม็อกเทล มีเซอร์ไพรส์

เมนูค็อกเทลเสริมความเป็นบาร์ให้กับคาเฟ่ ซึ่งคุณแววได้ชวน คุณกานต์-กานต์ เลียงศรีสุข ครีเอทีฟ มิกโซโลจิสต์ จากร้าน Dag Bkk มาร่วมสร้างสรรค์และสร้างเซอร์ไพรส์

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน
คุณกานต์ ครีเอทีฟ มิกโซโลจิสต์ จากร้าน Dag Bkk

“เรามีค็อกเทล 6 เมนู และแปลงเป็นม็อกเทลได้ 4 เมนู ดื่มแล้วสดชื่น ที่ผมเลือกนำเสนอในวันนี้คือ Sabini ซึ่งนำฝรั่งสดไปสกัดเย็น (Cold Pressed) ผสมด้วยน้ำผึ้งที่นำไปแช่กับผิวเลม่อนและมะนาวนานหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้ได้กลิ่นหอมและเกิดรสที่ต้องการ ถ้าเป็นค็อกเทลเราก็เติมจินลงไปครับ” คุณกานต์เล่า

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน

“ส่วนค็อกเทลที่ผมแนะนำ อันนี้เป็นเมนูเซอร์ไพรส์จากบาร์ของเรา นั่นคือ Coffee Milk Punch Cocktail ที่ผมได้แรงบันดาลใจมาจากค็อกเทลในยุค 70 และ 80 การทำค็อกเทลสไตล์มิลค์พันช์ คือการนำนมมาผสมเครื่องเทศแล้วอุ่นให้ร้อน พร้อมควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ประมาณ 60 – 70 องศาเซลเซียส ก่อนนำมาใส่กาแฟที่คั่วพิเศษของ Craftsman Roastery กับเหล้าตระกูลสปิริต ทิ้งไว้สักระยะจนส่วนผสมแยกชั้นเหมือนชีส จากนั้นนำไปกรองด้วยฟิลเตอร์ เพื่อสกัดไขมันออกให้หมด เราจะได้ส่วนผสมที่ใสมาก ๆ ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า Clarify คือทำให้ใส เวลาทานจะมีรสสัมผัสของทั้งกาแฟ เหล้า และทิ้งรสนมไว้ที่ลำคอ ค็อกเทลตัวนี้ตั้งใจใช้กาแฟเพราะเราเป็นคาเฟ่” คุณกานต์อธิบายจนผมเคลิ้มไปหมด เมื่อลองชิมแล้วยิ่งเคลิ้มหนักกว่าเดิมอีกหลายเท่า

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน

พร้อมเปิดตัวในงาน Bangkok Design Week

  และแล้วความพยายามและความทุ่มเททั้งหมดตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมาก็ถึงวาระสำคัญ นั่นคือการเปิดตัว Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้พร้อม ๆ กับเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2565 หรือ Bangkok Design Week 2022

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน

“เราตั้งใจว่าจะเปิดตัวในงาน Bangkok Design Week ซึ่งจัดขึ้นพอดีกับที่คาเฟ่เสร็จสมบูรณ์ ผมได้เคยร่วมงานกับ Design & Object Association หรือ D&O และ D&O เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่เข้ามาร่วมงาน Bangkok Design Week ในปีก่อน ๆ ทางเราเลยชวนเขามาจัดแสดงงานที่นี่ ซึ่งทางสมาชิกของกลุ่มก็ตอบรับด้วยความยินดีมาก ๆ” คุณหนุ่มกล่าว

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน

“โจทย์ที่ D&O กำหนดขึ้นคือ Future Paradise ซึ่งแนวคิดมาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อเรากำลังเผชิญอยู่กับโรคระบาดและสภาวะเศรษฐกิจถดถอย D&O อยากชวนดีไซเนอร์ให้ร่วมกันคิดว่างานดีไซน์นั้นจะไปต่ออย่างไร ไม่ต้องมองไปไกล เอาแค่ในอีก 5 ปี หรือ 10 ปี ข้างหน้า ดังนั้นคำว่า Future จึงไม่ได้หมายถึงการมองไกลไปยังโลกอนาคต แต่ระยะ 5 ปี 10 ปี จะมีอะไรที่สร้างอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของเราบ้าง และงานดีไซน์ควรเป็นอย่างไร ซึ่งดีไซเนอร์ของแต่ละแบรนด์ก็จะไปตีความ และนำผลงานมาแสดงกันที่นี่” คุณหนุ่มเล่าจนผมอยากดูเสียแล้ว

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน

งาน Bangkok Design Week จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 – 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่งานจะขยายพื้นที่มายังถนนบำรุงเมือง รวมทั้งย่านใกล้เคียงอย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) และห้างนิวเวิลด์ (บางลำพู) ด้วย

“ส่วนทางคาเฟ่ของเราจะนำหนังสือที่เคยตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจจำนวนหนึ่ง ซึ่งคัดมาจากหอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำมาจัดแสดง รวมทั้งภาพถ่ายของโรงพิมพ์ในอดีตที่สืบค้นมาได้ พร้อมกับภาพถ่ายโรงพิมพ์ที่เพิ่งถ่ายใหม่โดยกลุ่มสังเคราะห์แสง ทั้งหมดเป็นนิทรรศการที่เราตั้งใจนำเสนอเพื่อให้ผู้ที่มาชมงานได้ร่วมภาคภูมิใจกับโรงพิมพ์แห่งแรกของสยาม และเราตั้งใจว่าจะมีนิทรรศการชุดใหม่ ๆ เผยแพร่ออกมาเรื่อย ๆ ในอนาคต”

นอกจากนิทรรศการแล้ว คุณหนุ่มยังบอกข่าวดีว่าจะมีการนำเสนอ Lighting Design โดยทีม FOS Lighting Design Studio ซึ่งได้เข้ามาศึกษาประวัติและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมของอาคารแห่งนี้ เพื่อนำกลับไปตีความและสร้างเป็นผลงาน Lighting Design สำหรับอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจโดยเฉพาะ 

“ทางดีไซเนอร์ตีโจทย์ว่าอาคารนี้มีลายละเอียดที่งดงาม ไม่ว่าลายฉลุ ลายปูนปั้น หรือร่องรอยบนผนังของอาคารที่แสดงมิติเวลาแห่งอดีต จึงต้องการสื่อออกมาให้เราได้ชมกันทั้งภายนอกและภายในอาคาร ผมก็ขอเชิญชวนทุกท่านมาชมด้วยกันนะครับ” คุณหนุ่มทิ้งท้าย

สำหรับผม Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café เป็นดั่งพรหมลิขิตที่บันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น แม้ว่าคาเฟ่แห่งนี้จะเปิดบริการแค่เพียงไม่กี่เดือน แต่ผมเชื่อมั่นว่าเราจะได้รับสุนทรียครบทุกประสาทสัมผัส ไม่ว่ารูป รส กลิ่น เสียง ได้ชื่นชมสถาปัตยกรรมอันงดงามที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจ

“เราโชคดีมาก ๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากทุก ๆ คนในทุก ๆ ด้าน ที่ช่วยทำให้ป๊อปอัพคาเฟ่แห่งนี้เป็นจริง เราจะใช้โอกาสและความช่วยเหลือที่ได้รับจากรัจนาการ พร็อพเพอร์ตี้ ในครั้งนี้ สร้างประสบการณ์ที่จะเป็นความทรงจำของทุกคนตลอดไป” คุณแววกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ตอนนี้ผมพร้อมจะไปสัมผัสประสบการณ์มาเฟียสำอางเต็มรูปแบบแล้วครับ

ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน

ขอขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์

คุณแวว-เนตรนภา นราธัศจรรย์ ผู้ก่อตั้งคราฟส์แมน โรสเตอรี่

คุณหนุ่ม-รังสรรค์ นราธัศจรรย์ นักออกแบบภายใน คราฟส์แมน โรสเตอรี่

คุณกานต์-กานต์ เลียงศรีสุข Creative and Mixologist ของ Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café

ข้อมูลเชิงประวัติพื้นที่ สถาปัตยกรรม และโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม

คุณวทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกอนุรักษ์ บริษัทกุฎาคาร จำกัด

ภาพโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจในอดีต และหลวงดำรงธรรมสาร จากหนังสือ ตำนานห้างร้านสยาม โดย อเนก นาวิกมูล

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน