จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ นักออกแบบ นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เจ้าของแบรนด์ Craftroom 

คุณอาจไม่คุ้นหู แต่ถ้าลองนึกภาพเทศกาลคราฟต์ที่มีร้านค้านับร้อยไปร่วมออกร้าน ‘Craftroom’ เป็นหนึ่งในนั้น และหน้าร้านของเขามักมีกระเป๋าย่ามใบยักษ์ทอมือสีเรียบง่ายแขวนประดับเรียกลูกค้า คุณอาจเคยคุ้นตา

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

ย่ามใหญ่ฝีมือชาวปกาเกอะญอ บนดอยแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่จีเข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับ ครูช่างสมศรี ปรีชาอุดมการณ์ ที่ถูกยกเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม (ทอผ้า) พ.ศ. 2556 ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จุดร่วมของเขาและเธอคือการอนุรักษ์และสืบทอดหัตถกรรมดั้งเดิมให้คงอยู่ 

นอกจากชุมชนแม่แจ่ม จีมีโอกาสเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ ด้วยความรู้ที่เขาสั่งสมมานานกว่า 20 ปี จากการเปิดบริษัทสิ่งพิมพ์ จนวันนี้ วันที่ความชอบของเขาสุกงอม 

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

ถ้าคุณคงกำลังหาความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าของสิ่งพิมพ์สู่นักพัฒนางานคราฟต์ เราอาสาขยายความให้ฟัง

ความจริงเรื่องราวของเขาเรียบง่ายและเป็นตัวเขาเองแบบสุดๆ มีทั้งธรรมชาติ ภูมิปัญญา และความยั่งยืน

Smaller and Better

Smaller and Better เป็นบริษัทสิ่งพิมพ์ของเขา นับตั้งแต่เรียนจบสาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นับนิ้วก็ราว 20 กว่าปีก่อน เป็นยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ฮอตฮิตติดลมบน ไม่ว่าองค์กรหรือห้างสรรพสินค้าต่างใช้สิ่งพิมพ์เป็นอุปกรณ์ประชาสัมพันธ์ ตอนนั้นจีรับหน้าที่เป็นกราฟิกดีไซน์ บริษัทของเขามักถูกเลือกให้ทำรายงานประจำปี หนังสือที่ระลึก และปฏิทิน ซึ่งข้อมูลที่องค์กรเลือกบรรจุลงไปล้วนเกี่ยวข้องกับหัตถกรรมของไทย

“หลายองค์กรจะยกงานหัตถกรรมมาเป็นเรื่องแรก เพราะมีคุณค่าและควรอนุรักษ์ เราทำปฏิทิน หนังสือเกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรมไทยเยอะมาก ทำให้เราได้เห็นว่าที่ไหนมีอะไร ใครทำอะไรได้ และมีอะไรที่เริ่มจะสูญหายไป”

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

เราถามเขาด้วยความสงสัยว่า ถ้าสิ่งพิมพ์ยุคนั้นบูมมาก แล้วงานคราฟต์สมัยนั้น (พ.ศ. 2540) เป็นอย่างไร

“สมัยนั้นงานหัตถกรรมมีอยู่ แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาและยังไม่ค่อยเป็นแฟชั่น ด้วยความที่เป็นรูปแบบเดิม คนยังนึกไม่ถึงว่ากระเป๋าสานจะเอามาใช้ในวิถีเมืองได้ยังไง ย่ามชาวเขาเอามาใช้ในวิถีเมืองได้ยังไง คนรู้สึกว่ามันเป็นของที่ชาวบ้านใช้ อย่างจักสานก็เอาไว้นึ่งข้าวเหนียว เน้นการใช้งานมากกว่า ไม่ได้มีการประยุกต์ฟังก์ชันเหมือนปัจจุบัน

“งานหัตถกรรมไทยมาบูมช่วง OTOP นะ ทำให้เกิดการตื่นตัวและสร้างสรรค์รูปแบบงานขึ้นมา เริ่มมีคำว่า การพัฒนาหัตถกรรม เข้ามาในวิถีของชาวบ้าน แต่ OTOP จะถูกมองว่าเป็นการพัฒนาระดับหนึ่ง มันมีเพดานของมัน ตอนหลังเขาพยายามเปิดเพดานด้วย OTOP ห้าดาวและ OTOP ส่งออก และมันมาพร้อมกระแสนิยมที่คนเริ่มสนใจสิ่งแวดล้อม

“คนเลยมีความรู้สึกว่าต้องอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ทานอาหารปลอดภัย และควรใช้ของที่มาจากธรรมชาติ ถ้าเขาจะสะพายตะกร้าก็ไม่เชยแล้ว กลายเป็นเทรนด์ จากยุคนั้นทำให้คนกล้าหยิบงานหัตถกรรมมาใช้ในวิถีชีวิต เกิดกระแสนิยมไทยตามมา คนเข้าไปเล่นในกระแสนี้ทุกภาคส่วนเลย รวมถึงผู้ผลิตที่ได้รับประโยชน์สูงสุด แต่กระบวนการสำคัญคือต้องมีคนซื้อไปใช้ ให้มีเงินไปหล่อเลี้ยงคนทำ เราว่าตรงนี้แหละที่ทำให้งานคราฟต์เติบโตงอกงามมาถึงทุกวันนี้” 

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ
Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

นักพัฒนาย้อนความและเรียงลำดับการผลิดอกออกผลของภูมิปัญญาไทยให้เราฟังด้วยสีหน้าภูมิใจ 

หลังจากจีสะสมข้อมูลจนสุกงอม ทั้งความชอบ เรื่องราว และสิ่งที่ได้เห็นตลอด 23 ปีของการทำงาน ถ้าเป็นคน ก็เปรียบได้กับขวบปีสุดท้ายของการศึกษาเล่าเรียนและพร้อมกระโจนเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง โลกแห่งการทำงาน เป็นงานหมายเลขสองที่เขาหลงรักมาตลอด Craftroom เกิดขึ้นในยุคขาลงของสิ่งพิมพ์ แต่นั้นกลับทำให้จีมีเวลาที่จะทุ่มให้กับสิ่งที่เขาเฝ้าประคบประหงมมาค่อนชีวิต เขาว่าเป็นช่วงเวลาที่กำลังพอดี จีถือคำว่า ‘Smaller and Better’ เป็นสำคัญ

Craftroom

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

ยุคแรกของ Craftroom เปิดตัวด้วยสมุดทำมือ หน้าปกทำจากผ้าทอของชุมชน เข้าเล่มด้วยการเย็บมือ และมีคนชักชวนให้จีเป็นสมาชิกของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เขาเลยมีโอกาสเขาอบรบเกี่ยวกับผู้ประกอบการคราฟต์ ได้เรียนรู้กระบวนการคิด การพัฒนางาน การจัดวางสินค้า ตลอดจนการทำการตลาดออนไลน์

“เราเห็นแนวทางพัฒนาต่อยอดจากสมุดทำมือ และเป็นจังหวะที่เจอครูช่างสมศรีพอดีจากการอบรบ ครูช่างเป็นตัวแทนของชุมชน เอาผลิตภัณฑ์มาให้คนเมืองได้เห็น เราคุยกันถูกคอ เลยได้เห็นงานผ้าทอด้วยกี่เอว เห็นรูปทรงที่มีคุณค่า และเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นจุดเริ่มต้นให้เราหยิบงานของชาวปกาเกอะญามาพัฒนาอย่างจริงจัง

“แนวทางหลักของเราคือการรักษาภูมิปัญญาเดิมไว้ให้มากที่สุด อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและดูแลโลกให้ดีที่สุด”

เอกลักษณ์ของภูมิปัญญาดั้งเดิมที่จีเลือกรักษาและพัฒนาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ Craftroom คือย่าม 

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

ย่ามฉบับชาวปาเกอะญอมีสองแบบ หนึ่ง ย่ามใหญ่ สอง ย่ามหางยาว 

ย่ามใหญ่ เป็นย่ามที่ทอด้วยกี่เอวแบบดั้งเดิม ใช้ฝ้ายเส้นหน้าและใหญ่ เป็นเอกลักษณ์ของชาวปกาเกอะญอที่ดอยแม่แจ่ม ความสนุกของการทอด้วยกี่เอวคือการคะเนรูปร่างของช่างทอได้จากขนาดความแคบ-กว้างของหน้าผ้า ย่ามใหญ่เป็นย่ามที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สมัยก่อนชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อว่า ถ้าผู้นำชุมชนเสียชีวิตจะต้องย้ายถิ่นฐาน ย่ามใหญ่เลยมีประโยชน์เพื่อการขนย้ายสิ่งของ ซึ่งวิธีสะพายที่ถูกต้อง คือสะพายซ้ายใบ ขวาใบ และคาดศีรษะหนึ่งใบ

แม้ปัจจุบันจะไม่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานแล้ว แต่ย่ามใหญ่ยังคงทำหน้าที่เก็บฟืนและผลผลิตทางเกษตร

“การทำย่ามก็เกิดจากการต่อผ้าสองผืน เย็บด้วยมือ แข็งแรงมาก กลายเป็นทรงที่เรียบง่าย Minimal และ Functional มาก เราสนใจและชอบ คิดว่ามันน่าจะพัฒนาให้เข้ากับชีวิตคนเมืองได้” ซึ่งจีคิดถูกอย่างไม่มีผิดเพี้ยน

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ
Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

ส่วนย่ามหางยาว เป็นย่ามใบเล็ก มีหางยาว มักสะพายในวันที่มีพิธีสำคัญ งานบุญ งานปีใหม่ เพราะมีความเชื่อว่าหางยาว จะช่วยกวาดโชค กวาดลาภเข้าหาตัวผู้ใช้ จุดเด่นของย่ามหางยาวคือการปักมือเป็นภาพคนยืนแถวจับมือกัน บ้างก็เป็นภาพปลา ภาพสัตว์ เสมือนบันทึกเรื่องราววิถีชีวิตที่ต้องอยู่กันอย่างสามัคคีและดูแลธรรมชาติรอบตัว

ในวันที่ Craftroom พาย่ามใหญ่และย่ามหางยาวมาทำความรู้จักกับคนเมือง คนเข้าใจสิ่งนี้ไหม เราถาม

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ
Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

“ลูกค้าเขาสนใจ อะไรจะใหญ่ขนาดนี้ ทำไมหางยาวขนาดนั้น มันเป็นเสน่ห์ที่ดึงคนเข้ามาด้วยตัวของมันเอง พอลูกค้าเข้ามา หน้าที่ของเราคือบอกเล่าเรื่องราวที่ได้รับรู้มาจากชุมชน ทำไมต้องใหญ่ ทำไมต้องเป็นรูปทรงนี้ ภาพบนย่ามบอกอะไรบ้าง พอเล่าเรื่องพวกนี้ทุกคนจะซาบซึ้ง แอบชอบและรู้สึกรับได้ ประกอบกับมีคนกลุ่มหนึ่งที่เราว่าเขามีใจให้กับเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว พอมาทราบเรื่องราวมากขึ้นก็ยิ่งหลงรัก จนถึงขั้นตัดสินใจที่จะเลือกใช้ เพราะมีประโยชน์จริงๆ 

“อย่างย่ามใหญ่มีคนเอาไปจ่ายตลาด ไปเดินสวนจตุจักร นักศึกษาเอาไปใส่กระดานวาดรูป แล้วมันทำหน้าที่อันดับแรกเลยคือ ใครสะพายปุ๊บ โดดเด่นทันที บ่งบอกตัวตนของคนคนนั้นได้ด้วยว่าเขามีแนวคิดแบบไหน” จีเล่า

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

เจ้าของแบรนด์บอกว่า บางทีเขาก็ออกงานขายพร้อมครูช่างสมศรี ทว่ามีสัญญาใจกันว่า ย่ามใหญ่อันเป็นเอกลักษณ์ ขอ Craftroom เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว จีกระซิบว่าคนรู้จักย่ามใหญ่มากกว่าตัวเขาเสียอีก

ถ้าเห็นจีจะเห็นย่ามใหญ่ ถ้าเห็น Craftroom จะเห็นย่ามใหญ่ แต่เขาบอกลูกค้าเสมอว่าย่ามใหญ่ที่เห็น ครูช่างสมศรีและชาวปกาเกอะญอบนดอยแม่แจ่มเป็นคนทอมันขึ้นมาด้วยสองมือและภูมิปัญญาของพวกเขา

พัฒนา

การพัฒนางานของจียังคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาดั้งเดิม เขาเปลี่ยนเพียงแพตเทิร์นการทอผ้าให้เป็นแบบสมัยใหม่ ถูกใจคนเมือง สีเรียบไม่ฉูดฉาด ถ้าใครเป็นแฟนคลับและแวะเวียนไปเยือนหน้าร้านจะเห็นผลิตภัณฑ์ของเขามีเพียงไม่กี่สี สีคราม สีขาวนวลเผยธรรมชาติของเส้นฝ้าย และถ้าต้องเป็นสี เขาเน้นการย้อมสีธรรมชาติเป็นหลัก รูปทรงเรียบง่าย ส่วนวิธีการทอ จียกให้ครูช่างสมศรีเป็นคนดูแล ของเดิมดีงามอยู่แล้วและมั่นใจในฝีมือพี่น้องปกาเกอะญอ เขาไม่คิดเปลี่ยน

“อีกหนึ่งกระบวนการที่จะเข้าไปพัฒนาชุมชนไหนก็ตาม เขาต้องขายของได้ แม้ไม่รู้จะขายใครเราก็ต้องรับซื้อเอาไว้ พอเรามีของอยู่จำนวนหนึ่ง ก็เริ่มออกแบบรูปทรง หลักการออกแบบของเราคือรักษาความเป็นปกาเกอะญอเอาไว้ เช่น ย่ามบางใบที่พัฒนาแล้วยังมีสายห้อยยาว หรือบางใบเราทำขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าปกติ เพื่อคงเสน่ห์ของเดิม

“การพัฒนาเราก็เป็นกระบวนการมาตรฐาน ศึกษากลุ่มเป้าหมาย ถ้าเราจะทำสินค้าให้ตอบการใช้งานวิถีเมือง ก็มานั่งไล่เลยว่าตั้งแต่อยู่บ้านจนกระทั่งไปที่ทำงานคนดำรงชีวิตอย่างไร เราต้องเข้าใจว่าคนต้องการอะไร แล้วนำเสนอสิ่งนั้นให้เขา” จีนิ่งคิดก่อนเสริมว่า “ความจริงเราใช้วิธีเอาตัวเองเป็นหลัก” เขาสารภาพพร้อมเสียงหัวเราะ

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

“เราเชื่อว่ามีคนชอบเหมือนเรา เราไม่ค่อยได้บอกใครนะ ว่าทุกอย่างที่เราทำมา เราอยากได้เอง”

แล้วบอกคนอ่านได้ใช่มั้ย เราถามด้วยความเกรงใจ

“ได้ จริงๆ ของที่เราทำมันมีคนชอบที่สุดอยู่แล้วหนึ่งคน ก็คือตัวเรา” เขายิ้ม “แล้วเราจะมีเพื่อนที่ชอบเหมือนเรา ลูกค้าที่ชอบเหมือนเรา เรามองว่ากระบวนการนี้เป็นวิธียั่งยืนในการทำตลาดอย่างหนึ่งนะ เอาแบบที่เราชอบเป็นหลัก แล้วยืดหยุ่นให้คนเด็กกว่าเราชอบด้วย และผู้ใหญ่กว่าเราหน่อยหนึ่งชอบด้วย แต่แกนที่เราเลือกเดินก็ยังเป็นตัวเรา” 

นอกจากชุมชนผ้าทอ จียังลองเลือกหัตถกรรมจักสานจากอีกชุมชนมาผสานเข้าด้วยกัน เกิดเป็นการใช้งานใหม่ที่สร้างความโดดเด่นจนน่าเป็นเจ้าของ เป็นการนำย่ามมาต่อก้นย่ามด้วยจักสาน จากย่ามที่ตั้งไม่ได้ก็ตั้งได้ขึ้นมาทันที

“ใบนั้นเป็นตัวเปิดตลาดที่เอางานสองวัสดุมาผสมเข้าด้วยกัน เอาสองภูมิปัญญามาผสมเข้าด้วยกัน พอเราเล่าแนวคิดนี้ลูกค้าก็แทบไม่ถามอะไรอีกเลย เขาซื้อทันที และมันเป็นแนวคิดที่ว่า ถ้าแต่ละชุมชนเห็นคุณค่าในตัวเอง แล้วเขาหันมาจับมือกัน ความยั่งยืนและทางรอดของคราฟต์มันจะยิ่งชัดเจนมากขึ้น” นักพัฒนาเล่าแนวคิดที่ซ่อนเอาไว้

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

Craftroom ยังมีกระเป๋าผ้าทอที่จับคู่กับหูหิ้วที่ทำจากจักสานหูหิ้วของตะกร้าเก็บชา มีสายกระเป๋าที่ทอด้วยกี่การ์ดทำมือ ลายชัดและแน่นละเอียด จะซื้อไปแมตช์กับการแต่งตัวหลายแบบหรือปรับเป็นสายกระเป๋าก็ได้ เขายังได้รับโอกาสเข้าไปพัฒนาวัสดุธรรมชาติจากชุมชนอย่างต้นไผ่ คล้า และไหล ให้กับชาวบ้านในจังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ

อย่างต้นไหล ที่ชาวบ้านเอามาสานเป็นกระติ๊บข้าวเหนียว ที่สำคัญในหมู่บ้านเหลือคนสานได้แค่ 3 คน เขาเกิดไอเดียต่อยอดเป็นตะกร้าใบกลม 5 ขนาดเล็กถึงใหญ่ วางซ้อนทับกันได้ หรือจะใช้ชิ้นใหญ่ครอบชิ้นเล็กเป็นฝาปิดก็ทำได้ ด้วยสีธรรมชาติของต้นไหลที่เหลือบสีเหลืองสีเขียวกลับเพิ่มเสน่ห์ให้งานชิ้นนี้เพียงแรกเห็น (บอกเลยว่าขายดีมาก) 

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

การพัฒนาจักสานที่ชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี เขาต่อยอดมาเป็นผลิตภัณฑ์ของ Craftroom ด้วยย่ามผ้าทอสีชมพูสดใส เสริมก้นย่ามด้วยจักสานลายโบราณที่ต้องให้คุณปู่ในชุมชนขึ้นต้นแบบให้ เพราะทั้งหมู่บ้านทำเป็นอยู่ท่านเดียว ส่วนเด็กรุ่นใหม่ตะลึงในภูมิปัญญาโบราณ ต่างยกมือถือมาไลฟ์สดอวดความเก๋าของคุณปู่ให้โลกโซเชียลรับรู้ทั่วกัน

“ตอนนั้นเราถือว่าเป็นความสำเร็จของชุมชนนั้นเลยนะ คนรุ่นใหม่กลับมาสนใจและเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่เดิม แล้วเขาทำหน้าที่ที่ตัวเขาเองทำได้ อนาคตเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชนได้เลย และมันจะเกิดการร่วมมือกันในชุมชนอย่างชัดเจน”

เทรนด์ แฟชั่น และวิถีใหม่

งานหัตถกรรมเป็นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ทำให้น้อย แต่ใช้งานได้มาก

จีสนใจเรื่องฟังก์ชัน เพราะเป็นโจทย์ให้เขาคิดงานต่อ เช่น เรามีโทรศัพท์มือถือ เราพก iPad มีกระบอกน้ำส่วนตัว ฉะนั้นสินค้าของ Craftroom จะเป็นกระเป๋าที่มีช่องสำหรับใส่ความต้องการของสิ่งของเหล่านั้นได้ด้วย

“กระแสแฟชั่นสำหรับเราเป็นแค่สีสันเท่านั้นเอง มันเป็นความชอบของแต่ละบุคคลนะ แล้วเราไม่ได้ยึดเทรนด์สีที่ถูกกำหนดมา เราคิดว่าทุกสีเป็นไปได้หมด เทรนด์สีถูกกำหนดตามระบบอุตสาหกรรม เรารู้จุดนั้นเลยไม่ใช่สีเป็นตัวตั้ง มันเป็นจุดดีเสียอีกที่จะสร้างความแตกต่างด้วยการสวนกระแส กลายเป็นจุดเด่นเล็กๆ ภายใต้ผืนผ้าใบใหญ่ที่เขาปูกัน

“เราอยากให้คนเข้าใจด้วยเหมือนกันว่า เขาสร้างความแตกต่างโดดเด่นได้ เขาสวนกระแสได้ ด้วยงานของเขาเอง เหมือนจะยากนะ แต่จริงๆ เขาแค่ทำของเขาให้ดีนั่นแหละ งานมันเด่นด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ถ้าจะตามกระแสบ้างก็ไม่เสียหายอะไร แต่จุดของเขาเองต้องชัด และมันจะเป็นจุดที่ทำให้เขาอยู่ได้ตลอดไปด้วย”

จีอธิบายเราในนามของนักพัฒนาว่า เขาใช้ความมินิมอล น้อยแต่มาก เป็นกฎในการออกแบบและพัฒนางานของเขา และยังทำหลักการ 8 ข้อ ในยุควิถีใหม่ เพื่อเป็นเส้นนำทางให้คนที่สนใจงานหัตถกรรมเหมือนกับเขา ได้แก่ 1) Natural กับ Cricular Design 2) Simple กับ Different 3) Form กับ Function 4) Culture กับ Function 5) Minimal กับ Emotional 6) Composition กับ Combination 7) Handicraft กับ Identity และ 8) Local กับ Global สุดท้ายเขามองว่า ภูมิปัญญาไทยกับความคิดสร้างสรรค์จะเป็นแนวทางในปีนี้ของ Craftroom

เจ้าของแบรนด์เดินไปหยิบสินค้าใหม่ที่เขาตั้งใจทำ เพื่อแสดงถึงการปรับตัวของกิจการงานคราฟต์ในยุควิถีใหม่ เป็นกระเป๋าสะพายใบกะทัดรัดจากผ้าทอชาวเขา มาพร้อมช่องใส่สเปรย์แอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัย ความดีงามคือช่องใส่ของถักจากวัสดุธรรมชาติอย่างเถาวัลย์แทนตาข่ายพลาสติก ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

“โจทย์ใหญ่ของพวกเรานักออกแบบคือ เรามักคิดว่าไม่มีอะไรใหม่แล้ว โลกนี้สร้างขึ้นมาเกือบหมดทุกอย่าง มีคนสร้างมันอยู่ทุกวัน แต่ความเป็นจริงยังมีสิ่งที่เรายังเข้าไปสร้างสรรค์ได้ บางเรื่องก็อยู่ใกล้ตัว อย่างเอาย่ามกับจักสานมารวมเข้าด้วยกันกลายเป็นของใหม่ แต่แนวคิดการเอาของสองอย่างมารวมกันมันไม่ได้ใหม่ มีคนทำเยอะแยะ

“มันเป็นวิธีคิดงานอย่างหนึ่ง เป็นการดึงเอาสำนึกที่มีอยู่มาทำให้จับต้องได้ คนจะเข้าถึงได้ง่ายมาก เขาจะไม่รู้สึกแปลกแยก แต่จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและพร้อมกลมกลืนไปด้วยกัน ทุกอย่างเคยมีอยู่แล้ว มันเป็นของมันดีอยู่แล้ว เราแค่หยิบมาให้เขาดู เหมือนตอนนี้มีคำว่า Circular Design งานออกแบบที่ครบวงจร มันมีมาแต่โบราณแล้วนะ”

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ
Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

การทำงานออกแบบที่ครบวงจรกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่คนกำลังจับตามอง เป็นการออกแบบที่เริ่มต้นคิดมาอย่างดี คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดให้น้อยที่สุด คิดถึงกระบวนการที่ไม่เป็นพิษและภัยกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แม้แต่คิดถึงเศษและชิ้นส่วนที่เหลือจากการทำงานว่าจะต่อยอดเป็นอะไรได้อีก วิ่งวนเป็นวงจรที่สมบูรณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด

“กระบวนการนี้มีมาแต่โบราณแล้วนะ อาจไม่ได้แต่งแต้มด้วยคำที่สวยหรู อย่างมะพร้าวหนึ่งต้น ใช้ทุกส่วน ก็เป็น Circular Design มันเกิดขึ้นในวิถีมนุษย์อยู่แล้ว ถ้าเราเข้าใจ ก็จะใช้มันได้อย่างไม่ต้องมีทฤษฎีหรือใครมาบอก

“แต่เราใช้กระบวนการเพื่อดึงบางอย่างกลับมา ไม่ได้สร้างอะไรใหม่ เราแค่กระตุ้นและชี้ให้เห็นว่า เคยทำได้ทำไมไม่ทำ เช่นกัน เราก็ทำหน้าที่นั้นในจุดเล็กๆ ไปบอกชาวบ้านที่เขาลืมว่ารอบบ้านเขามีอะไร ไปบอกเขาว่ามันเป็นไปได้ไกลแค่ไหน ไปช่วยเขาฉุกคิด เขามีอยู่นี่นา เขาทำได้ ช่วยให้เขาได้เห็นมุมมองใหม่จากภูมิปัญญาเดิม มันเป็นเรื่องดีงามและน่าเสียดายถ้าเราจะปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลย” เจ้าของแบรนด์อธิบายหน้าที่สำคัญของ Craftroom

คราฟต์คือความจริง

จากวันที่อยู่เบื้องหลังสะสมความรู้มาค่อนชีวิตจนถึงวันที่เป็นของคุณ ความรู้สึกมันต่างกันยังไง

“รู้สึกอิ่มขึ้น เมื่อก่อนเราโหยหาอยากจะทำ แต่ด้วยหน้าที่เรามีแค่เอางานเขามาถ่ายภาพ บรรยาย พิมพ์แจกให้คนเห็นมากขึ้น ตอนนั้นมองว่ามันยังไม่ใช่เวทีของเรา ทำในส่วนของเราให้เต็มที่ก่อน ได้แต่เก็บความรู้สึกนั้นไว้ อยากทำอย่างนี้นะ งานชิ้นนั้นจะต่อยอดเป็นแบบนั้นนะ พอได้ลงไปสัมผัสชุมชนมากขึ้น มันได้ประโยชน์นะ

“การก้าวเข้าไปใกล้ชิดชุมชนโดยไม่มีกรอบของกระบวนการ ดูสอดคล้องกับวิถีที่จะเข้าไปพัฒนางาน เรานั่งคุยกับเขาเหมือนเป็นชาวบ้าน บางเรื่องที่เขาไม่เคยเห็นเราก็เล่าให้ฟัง และบางเรื่องเราได้รับจากเขามากกว่าอีก”

หัวใจของ Craftroom คือการสานต่อและขยายวงกว้างออกไปให้คราฟต์ไทยเป็นที่รู้จักของคราฟต์โลก ชาวบ้านมีรายได้ คนไทยภูมิใจที่ใช้สินค้าหัตถกรรมจากช่างฝีมือไทย สุดท้ายทุกคนจะร่วมด้วยช่วยกันรักษาภูมิปัญญา

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ
Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

“คราฟต์มันคือทางรอด” จีบอก

“คุณเชื่ออะไรในงานคราฟต์” เราถาม

“เชื่ออะไรในงานคราฟต์หรอ” เขาทวนคำถาม “เราเชื่อว่ามันคือชีวิตจริง มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่ออยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนเรา เราไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก เพียงแต่เราต้องเข้าใจและมันจะยั่งยืนด้วยตัวของมันเอง” เขาตอบ

ในฐานะนักพัฒนา คุณมองภาพ Craftroom เป็นอย่างไร

“อยากเห็นเป็นผู้ช่วย ช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยบอกเล่า ช่วยขาย ช่วยสืบสานต่อ ช่วยเอาคนทำกับคนใช้มาเจอกัน ช่วยเอาวัตถุดิบดีๆ มาเจอกับกระบวนการดีๆ ช่วยให้เรื่องราวมันชัดเจนมากขึ้นและช่วยให้ชุมชนมีความสุข 

“ส่วนเรามีความสุขอยู่ในทุกช่วงขณะของการทำงานคราฟต์อยู่แล้ว ตั้งแต่เริ่มคิดจะทำด้วยซ้ำ ถึงงานสื่อสิ่งพิมพ์จะน้อยลงไปแล้ว แต่เราเจอเส้นทางใหม่ที่เราชอบและรัก เหลือแต่ทำให้มันอยู่รอด เป็นโจทย์ใหญ่ที่จะทำให้สิ่งที่เรารักกลายเป็นรายได้ เลี้ยงเราได้ เลี้ยงผู้ที่เราร่วมงานอยู่ด้วยได้ เลี้ยงชุมชนที่เราไปทำงานกับเขาได้ ตรงนี้มันจะกลายเป็นภารกิจและหน้าที่ที่เราต้องทำต่อ” น้ำเสียงหนักแน่นของเขาถือเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้เอาไว้กับเรา

Craftroom แบรนด์ของนักพัฒนางานคราฟต์ที่อยากเป็นผู้ช่วยที่ดีให้ชุมชนหัตถกรรมทั่วไทย, จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ

จีบอกกับเราว่างานคราฟต์สำหรับเขา คืองานที่ตั้งต้นจากความสุขของคนทำ

ส่วนความสุขของจี คือการเห็นหัวใจของงานคราฟต์ไทยพองโตขึ้นทุกวัน ทุกวัน

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล