The Cloud x British Council
For English Version,  Click Here

เมื่อพูดถึงงานจักสาน ภาพที่เราคิดไว้คงไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าการสานปลาตะเพียน กระด้ง ตะกร้า หรือสารพัดข้าวของเครื่องใช้ ที่มีแต่ญาติผู้ใหญ่เท่านั้นที่เป็นคนคอยซื้อหามาให้เราใช้งาน แทบไม่มีงานจักสานชิ้นไหนเลยที่เราเป็นคนซื้อ หรือคิดจะซื้อด้วยตัวเอง

แต่เมื่อได้มาพบกับ  รองศาสตราจารย์วาสนา สายมา อาจารย์สอนหลักสูตรออกแบบอุตสาหกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เจ้าของแบรนด์ Vassana ก็ทำให้เราได้เห็นงานจักสานไม้ไผ่ในมุมมองใหม่ ที่สนุกทั้งดีไซน์และใหม่ด้วยฟังก์ชันการใช้งาน

รศ.วาสนา สายมา, งานจักสาน

ภายในห้องทำงานของอาจารย์วาสนามีชิ้นงานจักสานน้อยใหญ่ทั้งวางและแขวนอยู่จนแน่นขนัดไปทั้งห้อง มีตั้งแต่งานจักสานชิ้นเล็กจิ๋วอย่างปลาตะเพียน กบ ดอกไม้หลากหลายขนาดและหลากรูปทรง ที่ทำไว้รอประกอบรูปร่างเป็นชิ้นงานอื่น

มีพวงมาลัยที่ดูอ่อนช้อยราวกับว่าไม่ได้ทำมาจากไม้ มีเครื่องแขวนไทยโบราณรูปทรงต่างๆ สำหรับใช้ตกแต่งในงานมงคล ไปจนถึงกระเป๋าถือรูปทรงทันสมัยที่เราอยากหิ้วติดมือกลับบ้านไปด้วย

รศ.วาสนา สายมา, งานจักสาน

และเมื่อแหงนหน้าขึ้นไปข้างบน เรายังเจอโคมไฟแขวนเพดานขนาดใหญ่ที่ห่อหุ้มแสงไฟด้วยชิ้นงานจักสาน และประกอบรวมร่างออกมาเป็นรูปทรงธรรมชาติอย่างรังผึ้ง รังนก ปลาหมึก ปะการัง และอีกหลายรูปทรงที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของนักออกแบบคนเดียวกัน

เป็นงานจักสานที่สร้างสรรค์และแปลกตาจนเราลืมภาพตะกร้าที่บ้านไปอย่างสิ้นเชิง

รศ.วาสนา สายมา, งานจักสาน

จากวิจัยสู่งานจริง

Vassana เป็นแบรนด์ที่ไม่ได้เริ่มต้นจากความอยากขาย แต่เกิดขึ้นได้จากงานวิจัยของวาสนา เพื่อวัตถุประสงค์ ให้ชุมชนในภาคเหนือตอนบนที่มีวัสดุไม้ไผ่ ได้มีการพัฒนารูปแบบงานจักสานดั้งเดิม พร้อมกับสร้างอาชีพเสริม ให้มีรายได้ให้กับช่างฝีมือในชุมชนได้มากกว่านี้

“เชียงใหม่มีช่างฝีมือเยอะมาก แค่โยนเม็ดหินไปที่ชุมชนที่รวมตัวกันอยู่  ก็เจอช่างเป็นร้อยแล้ว” นี่คือคำบอกเล่าของวาสนา ถึงแม้จะไม่ได้เป็นคนท้องถิ่นโดยกำเนิด แต่จากการทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่มานาน ก็ทำให้เห็นว่าพื้นเพของคนที่นี่เป็นอย่างไร

ด้วยลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือไม้ไผ่ เป็นพืชที่เหมาะสมในทำให้ทางเหนือมีไม้ไผ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากและหาไม้ไผ่ได้ง่ายกว่าที่อื่น ที่สำคัญคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ภาคเหนือก็ยังเป็นช่างฝีมือที่ถนัดงานจักสาน เพราะได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ

“ช่วงที่ทำวิจัยเรื่องลวดลายงานจักสานดั้งเดิมและต้องลงพื้นที่หลายชุมชน เราเห็นงานจักสาน  เป็นกบ เต่า กุ้ง ปู ปลาตะเพียน เพื่อให้ลูกหลานเล่น ไม่ได้สานเพื่อการจำหน่าย และสิ่งที่พบกับงานสานดังกล่าวได้ถูกทิ้งเป็นเศษขยะ  ส่วนลวดลายง่ายๆ สานไปขายในช่วงเทศกาลประเพณีที่มีการประดับตกแต่งกันง่ายๆ สานเสร็จเอาไปย้อมสีแล้วก็จบ แต่งานแบบนี้มันขายได้ไม่กี่บาท เขาสานหมวก สานกระเป๋าทั้งใบก็ยังได้แค่ 10-25 บาท แถมยังขายไม่หมดอีกด้วย ด้วยสิ่งที่พบเห็นกับงานจักสาน  จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เอางานที่มันมีอยู่แล้วมาสร้างเรื่องราวใหม่ มาทำให้มันเกิดประโยชน์มากขึ้น เพราะคิดว่างานฝีมือมันน่าจะให้อะไรกับคนทำได้มากกว่านี้”

Vassana จึงเริ่มต้นขึ้นได้ด้วยแรงใจของวาสนาที่อยากรักษางานจักสานเหล่านี้เอาไว้

รศ.วาสนา สายมา, งานจักสาน รศ.วาสนา สายมา, งานจักสาน

เส้นสายที่เป็นลายเซ็น

จากการได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เพื่อศึกษาลวดลายดั้งเดิมมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ใช้สอยได้จริง ทำให้วาสนาพบว่าไม้ไผ่ที่จังหวัดพะเยามีความยาวมากกว่าที่อื่น

ไม้ไผ่โดยทั่วไปที่พบใน เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน จะมีความยาวประมาณ 80 -90 ซม. แต่ที่พะเยาจะมีความยาวประมาณ 100 -120 ซม. ทำให้เมื่อนำไปทำงานจักสาน จะสานตอกได้เร็วกว่าและไม่ต้องต่อความยาวเพิ่ม ทำให้ได้ลวดสายที่สวยงาม

การค้นพบครั้งนี้ทำให้วาสนาได้ต่อยอดการศึกษามาคิดค้นวิธีสานแบบใหม่ จนเกิดเป็น ‘ลายริ้ว’ ซึ่งประยุกต์การสานได้อีกหลายแบบ และเป็นลวดลายที่สร้างเอกลักษณ์ให้แบรนด์ Vassana มาจนทุกวันนี้

รศ.วาสนา สายมา, งานจักสาน รศ.วาสนา สายมา, งานจักสาน

“ตอนนั้นเราได้แรงบันดาลใจมาจากกล้วยไม้ชื่อไอยเรศ หรือที่คนรู้จักในชื่องวงช้าง เราคิดว่าถ้าเราสานตรงนี้เสร็จแล้ว ถ้ามันเหลือเศษเราจะเอามาทำอะไรดี เราก็เลยเอามาตีเป็นเกลียวให้มันสามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และเอามาทำเป็นไส้แกนข้างใน หรือก้านดอก ส่วนที่เป็นไส้ข้างในตรงนี้แหละที่ทำให้เราได้รางวัลแรกในชีวิต เพราะมันเป็น Eco-design ที่เราเอาเศษที่เหลือใช้ มาใช้ประโยชน์ต่อจนไม่มีขยะเหลือทิ้งเลย”

การค้นพบลายเส้นที่เป็นลายเซ็นของตัวเองในวันนั้น ทำให้งานจักสานตอกไม้ไผ่ “โคมไฟรังนก” ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทงานจักสาน Innovative Craft Award 2012 ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) ในประเภทประชาชนทั่วไป

นี่จึงเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่ทำให้แบรนด์ Vassana เติบโตขึ้นมาแบบไม่ต้องพึ่งโชคช่วย

“สิ่งที่คนไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับงานจักสานไม้ไผ่คืองานพวกนี้ผ่านไป 3-5 ปีมันก็ยังไม่ขึ้นรานะ เพราะก่อนที่เราจะเอามาสาน นำมาผ่าเป็นซีกๆ  แล้วค่อยเอาไปต้ม ต้มเสร็จแล้วก็เอาไปตากแดด ตากจนแห้งแล้วเขาก็เก็บไว้ ก่อนที่จะเอามาจับเป็นเส้นเราเอาตอกไปแช่น้ำไว้ก่อน 3 วันแล้วนำมาจักเป็นเส้นบางๆ เป็นวิธีการนำภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม เราจะบอกลูกค้าเสมอว่างานพวกนี้มันมีระยะเวลาของมัน แต่มันไม่ได้ดูแลยากอย่างที่คิด”

วาสนาของชุมชน

การจะทำ Vassana ให้สำเร็จได้ไม่ได้มาจากแรงกายแรงใจของวาสนาคนเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือในการทำชิ้นส่วนงานจักสานต่างๆ จากชาวบ้านด้วย

ชิ้นส่วนชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ประกอบกันออกมาเป็นงานของ Vassana จึงเป็นชิ้นงานที่มาจากกลุ่มชาวบ้านที่ทำงานฝีมือมากกว่า 20 พื้นที่ทั่วภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นพะเยา เชียงราย ลำพูน หรือเชียงใหม่ ที่ อ.แม่ริม อ.สารภี อ.แม่แตง อ.สันป่าตอง อ.ชัยปราการ อ. เชียงดาว และอีกหลายชุมชนที่วาสนาพยายามขยายเครือข่ายออกไปเพื่อให้มีช่างฝีมือเพียงพอในการผลิตสินค้าออกสู่ตลาด

“อย่างที่บอกว่าที่ภาคเหนือมีช่างฝีมือจำนวนมาก และมีทักษะในการทำงานจักสานกันอยู่แล้ว แต่งานจักสานที่เขาเคยทำมามันไม่สร้างรายได้เท่าไร เราก็เลยเอาความรู้ที่เรามีอยู่แล้วจากการทำงานวิจัยไปอบรมให้เขา ไปให้ความรู้เขาอย่างเต็มที่ แล้วให้เขาผลิตชิ้นงานส่งขายให้เราอีกที ถ้าที่ไหนทำงานดีเราก็ซื้อใจด้วยการให้จักรเขาไปเลย 1 ตัว เขาจะได้มีเครื่องมือทำงานให้เรา แต่โดยปกติแล้วคนภาคเหนือเขาไม่ได้มีอาชีพเดียว เขาจะต้องทำมาหากินอย่างอื่นเลี้ยงปากท้องด้วย บางช่วงที่ไม่ได้ทำเกษตรกรรมเขาก็ทำงานให้เราเป็นรายได้เสริม ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนได้”

รศ.วาสนา สายมา, งานจักสาน รศ.วาสนา สายมา, งานจักสาน

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่อยากสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านและชุมชน แต่เมื่อแบรนด์เป็นที่รู้จักและสินค้าของ Vassana เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น งานจักสานชิ้นส่วนของ Vassana จึงกลายเป็นรายได้หลักของทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ในภาคเหนือที่เกษียณอายุจากการทำงาน สร้างรายได้ให้กลุ่มแม่บ้าน ไปจนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยที่อยากหารายได้พิเศษในช่วงว่างจากการเรียน

“ทุกวันนี้ในหลายพื้นที่ที่ทำกับเราเขาไม่ได้ทำเป็นรายได้เสริมแล้ว แต่เขาทำเป็นรายหลักกันทั้งครอบครัว และมีการส่งต่องานให้ลูกหลานช่วยกันทำโดยมีคนเฒ่าคนแก่เป็นคนช่วยเราควบคุมมาตรฐานอีกที เมื่อก่อนบางคนเขาสานกระเป๋าไม่เป็นเลย แต่ทุกวันนี้เราทำให้เขามีรายได้วันละ 500 บาท ส่วนผู้สูงอายุที่เขาไม่เคยมีรายได้เลย อย่างน้อยๆ วันหนึ่งเขาได้วันละ 250 บาท ขึ้นอยู่กับกำลังของเขาเองว่าทำให้เราได้มากน้อยแค่ไหน ทุกวันนี้บางคนไม่ออกไปทำการเกษตรแล้ว ปล่อยให้สามีออกไปทำคนเดียว ส่วนตัวภรรยานั่งทำงานจักสานอยู่ที่บ้านก็หารายได้เลี้ยงปากท้องได้เช่นกัน”

จากงานจักสานที่เคยหมดคุณค่าในสายตาของชาวบ้าน ทุกวันนี้งานของวาสนาได้ชุบชีวิตให้กับงานจักสานดั้งเดิมในภาคเหนือให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง ด้วยการเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ นำไปประกอบกับงานใหม่ๆ และออกแบบฟังก์ชันใหม่ให้ไปไกลกว่าแค่ข้าวของเครื่องใช้ธรรมดา

รศ.วาสนา สายมา, งานจักสาน

งานเก่าในโลกใหม่

จากงานจักสานปลาตะเพียนของชาวบ้านที่มูลค่าชิ้นละไม่ถึง 10 บาท ปัจจุบันงานของวาสนาได้ถูกนำเสนอสู่สายตาของชาวโลกด้วยการสนับสนุนของ British Council และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ยังทำให้วาสนาได้มีโอกาสร่วมงานกับศิลปินรุ่นใหม่ ได้นำมุมมองใหม่ๆ มาพัฒนาผลงาน และเปิดโลกงานออกแบบด้วยการไปร่วมแสดงผลงานในต่างประเทศ

วาสนาได้พาปลาตะเพียนนับพันที่เกิดจากฝีมือของชาวบ้านและเด็กๆ ในชุมชนไปแหวกว่ายใน Craft Pavilion ซึ่งเป็นผลงานศิลปะจัดวางหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของเทศกาล Wonderfruit 2017 งานเทศกาลดนตรีที่มีทั้งคนไทยและต่างชาติมาร่วมกันอย่างคับคั่ง

งานศิลปะชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘วาฬ (Whale)’ เป็นงานศิลปะจัดวางที่เกิดจากการสนับสนุนความร่วมมือทางด้านศิลปะจาก British Council โดยมีนักออกแบบชาวไทยและอังกฤษทั้งหมด 4 คนในการออกแบบงานชิ้นนี้ ได้แก่ นาโอมิ แมคอินทอช, ปิ่น ศรุตา เกียรติภาคภูมิ, พิบูลย์ อมรจิรพร และวาสนาที่ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานจากเศษเหล็กเหลือใช้ ให้กลายเป็นท้องปลาวาฬขนาดใหญ่ที่ที่มีปลาตะเพียนจักสานจากไม้ไผ่นับพันแหวกว่ายอยู่ในนั้น

ซึ่งการร่วมงานกันในครั้งนี้ก็ทำให้งานจักสานดั้งเดิมอย่างปลาตะเพียนได้เข้าไปโลดแล่นในโลกใหม่อย่างศิลปะการจัดวาง และทำให้วาสนายืนยันกับชาวบ้านได้อย่างภูมิใจว่างานจักสานของพวกเขา ไม่ใช่งานที่ไร้ค่าไร้ราคาอีกต่อไปแล้ว

รศ.วาสนา สายมา, งานจักสาน

และยังได้พางานจักสาน “โคมไฟปะการัง” ของเธอไปสู่สายตาชาวโลกที่งาน Exhibition on Scottish – Thai Craft & Design Exchange ที่เมืองเอดินเบอระ ประเทศสก็อตแลนด์ และใน Clerkenwell Design Week ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นอกจากจะได้ร่วมแสดงผลงานแล้ว เธอได้รับโอกาสจัดเวิร์คช็อปเล็กๆ ให้กับผู้เข้าร่วมชมงานได้ทดลองทำงานจักสานอีกด้วย

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ต่อไปนี้เราอาจจะได้เห็นเทรนด์งานจักสานไทยถูกหยิบจับมาใช้ในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่มากขึ้น

เพราะวาสนาเป็นหนึ่งในคนอนุรักษ์หัตถกรรมไทยที่ทำให้เราเห็นว่า การทำให้งานจักสานให้เป็นที่รู้จักและน่าสนใจในสายตาของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่ทำให้เห็น และยึดติดอยู่กับรูปแบบดั้งเดิมที่เคยทำมาเท่านั้น แต่การพัฒนาดีไซน์ให้เข้ากับยุคสมัย และการสร้างคุณค่าให้กับผลงาน จะทำให้งานจักสานของเธอมีชีวิตอยู่ต่อได้ และเป็นได้มากกว่าแค่ปลาตะเพียน

รศ.วาสนา สายมา, งานจักสาน

Crafting Futures เป็นโครงการของ British Council ที่สนับสนุนงานคราฟต์ทั่วโลก โดยสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือดีไซเนอร์และชุมชนให้ทำงานคราฟต์ที่ดีขึ้น ขายได้มากขึ้น และทำให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของงานฝีมือมากขึ้น ถ้าสนใจกระบวนการพัฒนางานคราฟต์ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer

Avatar

ธนาวดี แทนเพชร

ครีเอทีฟประจำ The Cloud ชอบใช้หลายทักษะในเวลาเดียวกัน จึงพ่วงตำแหน่งนักเขียนมาด้วยเป็นบางครั้ง ออกกองตามฤดูกาล จัดทริปและเดินทางเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ลักษิกา จิรดารากุล

ช่างภาพที่ชอบกินบะหมี่ ถูกชะตากับอาหารสีส้ม และรักกะเพราไก่ใส่แครอท