The Cloud x British Council
For English Version,  Click Here

“Touch me! I’ve been washed about 10 times! The more I am washed, the softer I get!”

ข้อความบนป้ายกระดาษที่แขวนคู่กับเสื้อผ้าฝ้ายเรียบๆ อ่อนโยนของ FolkCharm เชิญชวนจนเราอดใจไม่ไหว ต้องเอื้อมมือไปสัมผัสความนุ่มดูสักที นอกจากมั่นใจในคุณภาพว่ายิ่งซักยิ่งนิ่มและไม่หดตัว (เพราะทางแบรนด์ซักให้หดเรียบร้อยก่อนนำมาขาย) ป้ายยังบอกอีกว่าเสื้อผ้าของ FolkCharm มีสรรพคุณดังนี้

  • ทำจากฝ้ายที่ปลูกโดยชุมชน ปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์
  • เป็นฝ้ายทอมือ ทอจากเส้นใยฝ้ายเข็นมือ
  • สามารถซักด้วยเครื่องซักผ้าได้

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

การเล่าเรื่องวัตถุดิบและคุณภาพอย่างประณีตโดดเด่นเหมือนแบรนด์ญี่ปุ่น แต่ FolkCharm เป็นแบรนด์ผ้าฝ้ายชั้นยอดของไทยเราเอง จากเสื้อสวยน่ามอง เราแกะรอยไปพบเจ้าของแบรนด์ ลูกแก้ว-ภัสสร์วี โคะดากะ ที่ห้องทำงานไม้ในสวนข้างบ้านของเธอ เธอใส่เสื้อผ้าของ FolkCharm อย่างเป็นธรรมชาติ เธอดูกลมกลืนไปกับโลกใบย่อยนี้ มันเป็นส่วนหนึ่งของเธอ เช่นเดียวกับที่เธอก็เป็นส่วนหนึ่งของมัน 

ความวิเศษของเสื้อผ้า กระเป๋า และข้าวของ จากฝ้ายธรรมชาติเหล่านี้ไม่ได้จบเพียงแค่เท่าตาเห็นและมือสัมผัส ยังมีเส้นเรื่องทอสายต่อไปถึงผู้คนอีกมากมาย ตั้งแต่คนปลูกฝ้ายในจังหวัดเลยจนถึงลูกค้าชาวญี่ปุ่น เกาหลี และต่อยอดเลยไกลจนกลายเป็นชุมชนงานคราฟต์เพื่อสังคมที่น่าติดตาม 

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

ชาวบ้านชาวเมือง

ภัสสร์วีเริ่มสนใจทำงานเพื่อสังคมอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาโท สาขาการวางแผนพัฒนาภูมิภาคและชนบท ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และทำวิจัยเรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมของสตรีที่ทำงานที่บ้าน ส่งให้เธอได้ไปเห็นปัญหา เมื่อคนที่ทอผ้าซึ่งขายได้ราคาหลักหมื่น กลับมีรายได้ตกมาถึงตนเพียงไม่กี่ร้อยบาท ความห่างจนน่าตกใจนี้ทำให้เธอคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง

เมื่อเรียนจบมา เธอตัดสินใจเข้าทำงานประจำในองค์กรเพื่อสังคมจาก สสส. ในตอนแรก ก่อนจะเปลี่ยนเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ถึงแม้ทั้งสองที่จะสร้างงานที่มีผลกระทบด้านบวกต่อสังคมจริงๆ แต่ตัวเธอเองกลับรู้สึกว่ากำลังนั่งทำงานไปวันๆ และผลาญเงินเดือนไม่น้อยไปกับสิ่งฟุ่มเฟือย เมื่อจบวันก็เหลือเพียงโจทย์ในจิตใจที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็ม

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

ในขณะเดียวกัน ภัสสร์วีเป็นคนชอบงานประดิษฐ์อยู่แล้วตั้งแต่เด็ก โดยความฝันของเธอคือ การได้วาดรูป ทำงานฝีมือ จึงไม่แปลกถ้าเธอเองจะชอบไปเดินงาน OTOP เป็นประจำ แต่สิ่งที่เธอพบคือ เธอเองไม่ค่อยได้ซื้ออะไรเลย เพราะสินค้าส่วนใหญ่มักแพงเกินไป หรือไม่ก็ไม่ค่อยทนทานนัก “เราคิดว่ามันมี Gap อยู่ ทำไมเราจะทำของที่มันดีขายไม่ได้ งานทอ งานย้อม กว่าจะเป็นผ้าได้ มันยากมาก แต่ดันตกม้าตายตอนดีไซน์ หรือตอนตัดเย็บไม่มีคุณภาพ เราเลยคิดว่าอยากจะลองทำอะไรเองดู” เธออธิบายที่มาที่ไปให้เราฟัง

จากจุดนั้น ทำให้หญิงสาวผู้ไม่ชอบงานธุรกิจอย่างเธอศึกษาทดลองมาเรื่อยๆ และทำให้เธอได้พบพานกับโลกอีกใบที่แตกต่างจากชีวิตคนกรุงของตนอย่างสิ้นเชิง นั่นคือชีวิตชุมชนในต่างจังหวัด ที่แม้ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีไฟ ไม่มีน้ำ พวกเขาก็ยังใช้ชีวิตอยู่ได้ “เคยมีคนถามเหมือนกันว่าทำไมเขาอยู่อย่างนี้แล้วมีความสุข เหนื่อยชิบเป๋งเลย เขาก็ตอบว่า มีทุกอย่างที่ต้องการอยู่แล้ว ทำไมจะไม่มีความสุข” ความประทับใจที่ติดมากับคำตอบเรียบง่าย ทำให้ภัสสร์วีอยากเล่าเรื่องของคนกลุ่มนี้อย่างตรงไปตรงมา ให้คนกรุงแบบเธอได้ลองฟัง

ความฝันของเธอเหล่านี้ หลอมรวมกันออกมาเป็นคุณค่าที่บรรจงใส่ไปในแบรนด์ FolkCharm

เรียบง่ายแต่แตกต่าง

“FolkCharm ทำอะไร ทอผ้าเราก็ทอไม่เก่ง แต่มีคนที่ทอเก่ง ปลูกฝ้ายก็ไม่ได้ปลูกเก่ง แต่ได้เกษตรกรที่ทำฝ้ายเก่ง การตัดเย็บที่กรุงเทพฯ เองเราก็ได้ช่างฝีมือที่เก่ง” แบรนด์นี้เป็นเสมือนศูนย์รวมคนหลายความสามารถ ตั้งแต่เกษตรกรในจังหวัดเลย เหล่า ‘ป้าๆ’ มือทอผ้าจากกลุ่มชุมชน รวมถึงช่างตัดเย็บรุ่นเก๋าในย่านบางกะปิ ทุกคนต่างทำงานของตนอย่างชำนาญ สิ่งที่ FolkCharm เข้าไปช่วยเหลือจึงมีเพียงสองอย่างหลักๆ คือการนำคนเหล่านี้มาทำงานต่อกันเป็นระบบ และการทำให้งานเหล่านี้ขายได้ในหมู่คนกรุง

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาเรื่องดีไซน์และคุณภาพ ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นของแบรนด์จึงใส่ใจใน 2 จุดนี้อย่างมาก โดยแม้ภัสสร์วีจะไม่ได้เรียนด้านศิลปะหรือการออกแบบมา แต่ด้วยการคลุกคลีอยู่ในความเป็นญี่ปุ่นอยู่เสมอ ทำให้เธอตัดสินใจใช้สไตล์เรียบง่ายแบบญี่ปุ่นอย่างที่เธอชอบใส่มาเป็นธีมหลักของแบรนด์ ภาพลักษณ์ที่ออกมาจึงเป็นผ้าฝ้ายเนื้อนิ่มสีครีมและน้ำตาล บางส่วนใช้สีของฝ้ายโดยไม่ย้อม บางส่วนย้อมสีธรรมชาติ เมื่อลองจับดูจะพบว่าแม้ผ้าจะนิ่มแต่ทนทาน ตะเข็บทุกส่วนเก็บเรียบร้อย เห็นครั้งแรกก็ตกหลุมรักแล้ว เมื่อหยิบมาลองก็จะยิ่งตัดใจไม่ได้เข้าไปใหญ่

แต่งานดีไซน์ไม่ใช่หน้าที่ของเธอแต่เพียงผู้เดียว เพราะป้าๆ แต่ละคนต่างก็มีความถนัดและความสร้างสรรค์แตกต่างกัน รวมถึงวัตถุดิบธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นสีย้อมผ้าก็มีมากน้อยแล้วแต่ฤดูอีกด้วย ผลงานที่ออกมาจึงเป็นการออกแบบร่วมกัน โดยช่างทอช่างตัดเย็บมีหน้าที่เสนอดีไซน์มา ส่วนภัสสร์วีก็จะส่งข้อชี้แนะจากสายตาคนซื้อกลับไป ทำให้งานที่ออกมาไม่ฝืนธรรมชาติ แต่ดูทันสมัยและเป็นสากล

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

ภัสสร์วีโชว์ฝีมือการออกแบบอันแหวกแนวของเหล่าป้าให้ฉันดูด้วยความภาคภูมิใจ เช่น ป้าคนหนึ่งที่เข็นฝ้าย 3 รอบ ทำให้ฝ้ายมี 3 สีในเส้นเดียว พอทอเป็นผืนเลยเกิดเป็นลายแปลกตาคล้ายลายเสือ หรือป้าที่ตัดเย็บผ้าให้ออกมาเป็นผืนทรงกลม ซึ่งต้องใช้ความอดทนและละเอียดอ่อนอย่างมากเพื่อไม่ให้ชายผ้าลุ่ยออก เป็นต้น

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

“ตอนแรกที่เอาเสื้อผ้าไปให้ป้าๆ ที่เลยดูเขาก็ตื่นเต้นนะ เพราะเขาก็ไม่เห็นภาพว่าจะเย็บออกมาได้สวยเบอร์นี้” น้ำเสียงของเธอทั้งติดตลกและเบิกบาน

จากต้นฝ้ายถึงปลายผ้า

เมื่อให้เล่ากระบวนการตั้งแต่เริ่มผลิตถึงมือผู้ซื้อ ผู้ประกอบการคนเก่งก็พร้อมเล่าด้วยความภูมิใจ โดยบอกว่านี่คือ Ethical Process คือกระบวนการผลิตที่เป็นธรรมชาติในทุกขั้นตอน ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาดีกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

เริ่มจากการปลูกต้นฝ้าย เธอเลือกใช้เป็นพันธุ์ฝ้ายที่ชาวบ้านปลูกกันในพื้นที่นั้นอยู่แล้ว และปล่อยให้ใช้วิธีการของเขาเองในการปลูก นั่นคือปลูกก่อนหน้าฝน เพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอ แล้วเจ้าฝ้ายจะโตพร้อมให้เก็บหลังหน้าฝนพอดี รวมถึงภูมิปัญญาในการไล่แมลง ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมี ไร่ของพวกเขาจึงปลอดภัยกับทั้งธรรมชาติและสุขภาพชาวไร่ ต่างจากไร่ฝ้ายอีกมากทั่วโลกที่ประโคมน้ำและสารเคมีใส่ฝ้ายอย่างหนักหน่วง

ต่อมาที่การแปรรูป ฝ้ายของ FolkCharm เรียกว่าเป็นฝ้ายเข็นมือ โดยปกติโรงงานปั่นฝ้ายทั่วโลกจะทำหน้าที่แปรรูปฝ้ายจากต้นให้กลายเป็นเส้นใยพร้อมทอ แต่ในเมืองไทยมีภูมิปัญญาเก่าแก่เรียกว่า การเข็นมือ ซึ่งเป็นการปั่นฝ้ายด้วยมือ ซึ่งใช้เวลานานแต่ให้เส้นใยที่นุ่มกว่า

เพราะเป็นศาสตร์เก่าแก่ที่แทบจะเลือนหายไปจากหลายชุมชนแล้ว ทำให้ในช่วงแรกงานของป้าหลายคนจึงไม่ผ่านมาตรฐาน ภัสสร์วีไม่ได้ปฏิเสธพวกเขา แต่ให้เหล่าช่างทอหาทางเรียนรู้ศึกษาวิธีการทอจากคนอื่นในกลุ่มที่ชำนาญอยู่แล้ว เพียงให้โอกาสไม่นานผ้ากี่ต่อมาของป้าก็สวยเช้งไม่แพ้ใครแล้ว  

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

ส่วนการตัดเย็บ FolkCharm ก็ใส่ใจไม่น้อยไปกว่าเรื่องการปลูกและการทอ เธอยึดมั่นในความสนใจเรื่องผู้หญิงทำงานที่บ้าน และตามหาช่างตัดเย็บรุ่นเก๋าผ่านเครือข่ายของช่างตัดเสื้อประจำครอบครัวเธอเอง จนรวบรวมได้เป็นกลุ่มช่างที่อยู่บ้านทั่วบางกะปิและลาดพร้าว ทุกคนเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการ และมีความชำนาญแตกต่างกัน โดยเธอก็เลือกให้แต่ละคนทำในสิ่งที่ตนถนัด ผลงานที่ออกมาจึงประณีตสวยงามสมกับประสบการณ์นั่นเอง

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

ดีต่อชุมชนและดีต่อใจ

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

เพราะตั้งใจทำเพื่อชุมชน FolkCharm จึงส่ง 50 เปอร์เซ็นต์ของราคาขายเสื้อผ้าแต่ละชิ้นกลับสู่ชุมชนโดยตรง มีเสียงกระซิบบอกเรามาว่าในปีที่แล้ว แค่เงินที่กลับไปสู่ชุมชนผลิตผ้านั้นรวมแล้วถึงล้านกว่าบาทเลยทีเดียว และด้วยความที่ใครทำมากก็ได้มาก เมื่อหันไปดูสถิติที่จดไว้เกี่ยวกับผ้าที่รับมาแต่ละผืน เธอพบว่ามีป้าคนหนึ่งที่ได้เงินจากการทอผ้าให้ FolkCharm รวมแล้วถึงแสนกว่าบาท เผลอๆ อาจเยอะกว่าคนทำงานในเมืองบางคนอีก

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

แม้อาชีพหลักของคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวนาชาวไร่ และการทอผ้าเป็นรายได้เสริม แต่สำหรับป้าหลายคนที่อายุมากจนไม่อาจทำงานในไร่นาได้ การมาร่วมงานกับ FolkCharm ทำให้เขากลับมามีรายได้อีกครั้ง

นอกจากสิ่งที่วัดได้ในเชิงตัวเลขแล้ว งานนี้ยังส่งผลด้านจิตใจด้วย เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้เหล่าผู้ผลิตได้ ‘เห็น’ ผู้ใช้ ภัสสร์วีมักจะนำสินค้าที่เสร็จแล้วและรูปถ่ายของลูกค้ามาให้เหล่าป้าดู รวมถึงจัดทริปเล็กๆ 2 – 3 วันเพื่อพาคนกรุงและชาวต่างชาติไปดูที่มาของผลิตภัณฑ์ นอกจากจะทำให้เกิดการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่ทำแล้ว ความภูมิใจในตัวเองของชาวบ้านก็สูงขึ้นด้วย ครั้งหนึ่งเธอเคยพาชาวเกาหลีและญี่ปุ่นที่สนใจใน FolkCharm ใส่เสื้อผ้าของแบรนด์เข้าไปที่หมู่บ้าน สร้างความตื่นเต้นให้ป้าๆ เจ้าของผลงานอย่างมาก

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

ค่าทางใจไม่ได้อยู่แค่ที่เหล่าป้าๆ แต่ยังกระจายลงไปถึงหลานๆ ด้วย เด็กในหมู่บ้านที่อาจไม่มีโอกาสได้เห็นการทำฝ้ายเข็นมืออีกแล้ว เมื่อญาติผู้ใหญ่ของตนเริ่มกลับมาทำ หลายคนอาจไม่มีแรงพอทำคนเดียว จึงเรียกลูกให้มาช่วยดู มาช่วยเข็นฝ้าย มาช่วยทอผ้า เป็นการส่งต่อความรู้ไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เพื่อรักษาวิถีฝ้ายเข็นมือให้ไม่เลือนหาย

สู่แฟชั่นที่ยั่งยืน

เมื่อถามถึงหนทางต่อจากนี้ ภัสสร์วีไม่อยากขยาย FolkCharm ให้ใหญ่ไปกว่านี้แล้ว สิ่งที่เธออยากทำคือการขยายแนวคิดของแบรนด์มากกว่า เธอจึงร่วมมือกับ GoWentGone, ภูคราม, Larinn และเพื่อนๆ ธุรกิจแนวเดียวกันในไทย ผนึกกำลังกันเป็น VolksKraft เครือข่ายที่คอยสนับสนุนธุรกิจงานคราฟต์ขนาดเล็กเพื่อสังคม ตั้งขึ้นเพื่อพาผู้ประกอบการมารู้จักกัน มาแบ่งปันความรู้ และช่วยกันผลักดันวงการเล็กๆ ของพวกเธอให้ใหญ่ขึ้น มีกิจกรรมทั้งตลาด เวิร์กช็อป และวงเสวนา เครือข่ายนี้ได้รับการสนับสนุนโดยโครงการ Crafting Futures ของ British Council ทั้งด้านเงินทุน การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการแต่ละราย การช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายให้ใหญ่ขึ้น เช่น วิทยากรบางคนในงานเสวนาก็มาจากเครือข่ายนี้นี่เอง

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

“ข้อดีคือเวลาเราอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เวลาใครจะเข้ามาติดต่อกับเราก็ทำได้ง่ายขึ้น และมองเห็นถึงพลังของธุรกิจเหล่านี้ได้ชัดเจนขึ้น” ภัสสร์วีอธิบายสาเหตุที่มาของ VolksKraft พร้อมบอกเราว่ายิ่ง British Council ซึ่งสนับสนุนงานหัตถกรรมเพื่อสังคมและเชื่อมโยงเครือข่ายหัตถกรรมไทย-อังกฤษเข้ามาหนุนหลัง พวกเธอก็พร้อมจะสร้างการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นไปอีก

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงคือ การเชิญชวนจากองค์การการค้าโลก (WTO) ให้พวกเธอไปเป็นตัวแทนของไทยที่จะประสานงานเกี่ยวกับ Fashion Revolution หรือการปฏิวัติทางแฟชั่น ขบวนการระดับโลกที่มุ่งมั่นทำให้กระบวนการผลิตสินค้าทางแฟชั่นโปร่งใส เป็นธรรมกับผู้ผลิต และดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากมองดูวงการแฟชั่นในปัจจุบัน จะพบเห็นสภาวะ Fast Fashion ในทุกหนแห่ง เพียงเพราะต้องตอบสนองความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดของผู้บริโภค และสร้างกำไรให้ผู้ประกอบการผู้เดียว ทำให้เกิดการผลิตเสื้อผ้าที่เอาเปรียบผู้ผลิต และก่อมลภาวะมหาศาล สุดท้ายแล้วผลที่ออกมาจึงไม่ดีกับใครเลย

ผ้าฝ้าย, คราฟต์, FolkCharm, ชุมชน, ธรรมชาติ

“เราอยากให้มันกลับไปเป็น Slow Fashion อยากให้คนกลับไปถามว่าผ้าฉันมาจากไหน ให้ใส่สิ่งที่มีคุณค่า ไม่ต้องซื้อใหม่บ่อย จะได้ไม่ต้องสร้างขยะเพิ่มให้โลกนี้แล้ว” ในยุคสมัยที่ผู้ผลิตไม่เคยเห็นว่าใครใช้สิ่งที่ตัวเองผลิต และผู้ซื้อก็ไม่เคยรู้เลยว่าคนที่ผลิตสิ่งเหล่านี้มาให้พวกเขาคือใคร ส่วนสำคัญที่ขาดหายไปคือความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและผู้บริโภค นี่คือสิ่งที่กลุ่ม Fashion Revolution ต้องการนำกลับมาอีกครั้ง

อะไรจะสมบูรณ์แบบไปกว่าการมีเสื้อผ้าสวยๆ คุณภาพดีน่าซื้อใช้ ที่ไม่ทำร้ายใครและไม่ทำร้ายโลก

หากใครอยากได้ ตอนนี้แม้ไม่มีหน้าร้าน แต่ FolkCharm ก็ออกร้านตามงานต่างๆ อยู่ตลอด และมีเว็บไซต์ให้สั่งซื้อสินค้าได้ ถ้าสนใจลองเข้าไปดูรายละเอียดที่ shop.folkcharm.com

ภาพ : Folkcharm

Crafting Futures เป็นโครงการของ British Council ที่สนับสนุนงานคราฟต์ทั่วโลก โดยสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือดีไซเนอร์และชุมชนให้ทำงานคราฟต์ที่ดีขึ้น ขายได้มากขึ้น และทำให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของงานฝีมือมากขึ้น ถ้าสนใจกระบวนการพัฒนางานคราฟต์ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

นอกจากนี้ British Council ยังเป็นพันธมิตรระดับสากลร่วมกับ Fashion Revolution ถ้าสนใจแฟชั่นที่รักสิ่งแวดล้อมและเป็นธรรมกับผู้ผลิต อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan