“คุณค่างานนวัตศิลป์จากฝีมือดีไซเนอร์และผู้ประกอบการไทยนั้นไม่เป็นรองชาติใด มีคุณค่าและเสน่ห์ในชิ้นงาน พอเราเริ่มใช้และรู้เรื่องราวของการสร้างชิ้นงานแต่ละชิ้นผ่านการใช้ในชีวิตประจำวัน ก็ทำให้หลงรักงานคราฟต์มากขึ้น อยากให้คนอื่นรับรู้เรื่องราวที่กว่าจะมาเป็นสินค้าแต่ละชิ้น และหลงรักไปพร้อมกัน งานคราฟต์ไม่เชยอย่างที่คิด แต่กลับร่วมสมัยและมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป”


คุณปารีสา จาตนิลพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยาม ซีเล็คเต็ด จำกัด เอ่ยในงานเปิดตัว ICONCRAFT รูปโฉมใหม่ พื้นที่ชั้น 4 – 5 ของ ICONSIAM เป็นแหล่งรวมดีไซน์สนุกแบบ Innovative Craft และเป็นเวทีแสดงผลงานของช่างฝีมือและนักออกแบบไทยจาก 77 จังหวัด ซึ่งผสานงานหัตถศิลป์ทั้งหลายกับนวัตกรรมออกมาเป็นสินค้าร่วมสมัยกว่า 500 แบรนด์ โดยแบ่งเป็น 7 หมวดหมู่ ตั้งแต่ของตกแต่งบ้าน จานชามงานเซรามิกต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ ของที่ระลึก เครื่องประดับทั้งเงินและทอง เสื้อผ้าทั้งจากผ้าไทยและจากดีไซน์เนอร์ไทย ผลิตภัณฑ์สปา ชาและเมล็ดกาแฟไทย แถมยังมีมุมสินค้างาน Craft จากผู้พิการ เด็กพิเศษ และผู้ด้อยโอกาส รวมไปถึงงานฝีมือจากฑัณทสถานหญิงทั่งประเทศจากโครงการกำลังใจอีกด้วย
ICONCRAFT ใช้สีสันดีไซน์แต่ละพื้นที่เพื่อแยกหมวดหมู่ แบ่งโซนให้เห็นและเข้าใจว่างานคราฟต์สามารถอยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไรบ้าง

“ICONCRAFT ดึงดูดคนต่างชาติก็จริง แต่เราอยากสื่อสารกับคนไทย อยากให้คนไทยภูมิใจกับการใช้สินค้าไทยที่ร่วมสมัย โดยสื่อสารกับทั้ง Gen X, Y, Z โดยเฉพาะ Gen Y ที่ต้องการหาสิ่งแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร เพราะคนรุ่นใหม่หลายคนก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีรากความเป็นไทย แล้วเราก็อยากให้คนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z กลับมาสนใจองค์ความรู้ต่างๆ ของงานช่างศิลป์ไทย ที่มาที่ไปกว่าจะเป็นสินค้าแต่ละชิ้น รวมถึงงานใหม่ๆ จากดีไซเนอร์ไทยด้วย”

ผู้บริหารเล่าว่าการปรับปรุง ICONCRAFT ครั้งนี้ช่วยให้ตัวตนของทั้งพื้นที่ชัดเจนขึ้น ทั้งยังช่วยพัฒนาผู้ประกอบการให้หากลุ่มลูกค้าของตัวเองเจอ และต่อยอดการค้าต่อไปได้ โดยมีพื้นที่เล่าเรื่องราวของ Craft Hero ช่างฝีมือหัตถกรรมที่นำภูมิปัญญาหรือศิลปวัฒนธรรมไทยมาสร้างผลงานสนุกยอดเยี่ยม ผสมผสานกับนวัตกรรมการออกแบบ ออกมาเป็นงานใหม่ ตัวอย่างคือ 5 แบรนด์เหล่านี้ที่ไอเดียส่องประกาย และทำผลงานได้น่าจับตามองสุดๆ
Angsa Jewelry

Filigree หรือการยัดลายคือใช้เส้นเงินหรือเส้นทองขนาดเท่าเส้นผมมาพันเป็นเกลียว แล้วขดแต่งเป็นลวดลายต่างๆ เป็นเทคนิคเก่าแก่ที่พบตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ เครื่องเงินยัดลายเคยเป็นศิลปะชั้นสูงในเวียง เทคนิคขดเส้นนี้ใช้ตกแต่งของชิ้นใหญ่ๆ เช่น ขาโต๊ะ หัวเตียง ขอบบานกระจกในวัด ไปจนถึงของเล่นเด็กอย่างหมากเก็บ ต่อมาช่างกระจายตัวมาอยู่แถบบ้านกาดและแม่วาง และเทคนิคนี้ก็เสื่อมความนิยมไปตามกระแสอุตสาหกรรม

ปัจจุบันครอบครัวอุปนันท์เป็นครอบครัวเดียวที่ยังทำงานเครื่องประดับเงินยัดลายแบบโบราณ เพราะได้เรียนวิชาจากลุงสร่างป่าน ชาวไทใหญ่ที่อพยพจากเมืองจีนมาอยู่บ้านกาด เชียงใหม่ ครอบครัวนี้อนุรักษ์วิธีทำเครื่องประดับลวดลายล้านนาแบบดั้งเดิมมากว่า 40 ปี ต่อมาทายาทรุ่นที่ 2 อังคาร อุปนันท์ และ หงษ์ศรา จันทรพัฒน์ ได้พัฒนาและสร้างแบรนด์ Angsa โดยนำงานยัดลายแบบโบราณผสมกับเทคนิคสมัยใหม่ ทั้งกลไก การทำสลักแบบบานพับ และงานฉลุ เพื่อให้งานร่วมสมัยและแข็งแรงมากขึ้น

“งานมีสามสิบห้าขั้นตอน เราไม่ทิ้งสักขั้นตอน แต่เปลี่ยนใส่ความนามธรรมลงไป พ่อดึงสิ่งใกล้ตัวมาทำลวดลายดอกไม้ ผีเสื้อ แมลงปอ ส่วนเราเอาประเพณีมาอยู่บนเรือนร่างผู้สวมใส่ เป็นงานที่เรียนรู้ไม่มีวันจบ บางทีก็เพิ่มเป็น สี่สิบกว่าขั้น ทั้งเขียนทอง รมดำ ใช้ทองคำมาผสมเนื้อเงินบ้าง พอคนเห็นงานมือร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาก็ไม่ได้อยากซื้ออย่างเดียว แต่อยากเก็บด้วย บางคนก็เก็บให้ลูกหลาน เพราะที่ผ่านมาหาไม่ได้ อุตสาหกรรมทำให้คนลืมความเป็นช่าง งานหัตถกรรมถูกรวบจนความละเอียดหายไป”
เนื่องจากเป็นงานหัตกรรมในครอบครัว เครื่องไม้เครื่องมือก็ผลิตขึ้นเองโดยไม่ใช้ของสำเร็จรูป การอุดหนุน Angsa จึงต้องสั่งผลิตล่วงหน้า 1 สัปดาห์ถึง 6 เดือน แล้วแต่ความยากของชิ้นงาน แต่ ICONCRAFT มีคอลเลกชันพิเศษที่แบรนด์นี้บรรจงฝากไว้ ทั้งแหวน ต่างหู ปิ่น จี้ สร้อยคอ เข็มขัด กิ๊บ หวีสับ ซึ่งมีแค่อย่างละชิ้นเท่านั้น รีบไปจับจองกันได้
Siamaya Chocolate


สยามมายา ช็อกโกแลต เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในอพาร์ตเมนต์ของ ดร.นีล แรนซัม (Dr.Neil Ransom) ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องวิทยาศาสตร์อาหาร นีลเติบโตที่แอฟริกาใต้และย้ายมาอยู่เชียงใหม่ เขาสนใจเมล็ดโกโก้ไทย แต่ฝังใจกับการใช้แรงงานเก็บโกโก้อย่างไม่เป็นธรรมในแอฟริกา เมื่อจับมือกับนักการตลาดชาวเดนมาร์ก คริสเตียน เลอวินเซนต์ (Kristian Levinsen) และแตงกวา ทีมงานชาวไทย พวกเขาก็เริ่มสร้างรสชาติช็อกโกแลตคราฟต์จากเมล็ดโกโก้ไทยและเกษตรกรไทยทั้งในเชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ จันทบุรี โดยใช้เครื่องจักรน้อยมากในการแปรรูป

ด้วยดินที่แตกต่าง เมล็ดโกโก้ไทยไม่เข้มขมอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย แต่ Aftertaste จะค่อยๆ ซึมขึ้นมาอย่างละมุน สยามมายาเลยแต่งรสใหม่ๆ โดยใช้ความเป็นไทยไปจับได้สนุกสนาน ปัจจุบันมีรสชาติหลัก 13 รส เช่น ดาร์กช็อกโกแลตรสต้มข่า ช็อกโกแลตรสชาไทย รสมะพร้าวทึนทึก รสนมทุเรียน ฯลฯ แถมยังมีรสชาติสนุกตามเทศกาลสำคัญอย่างวาเลนไทน์และคริสต์มาส และรสชาติตามฤดูกาลอย่างมะม่วงอบแห้ง จะซื้อกินเองก็อร่อย หรือจะซื้อไปฝากใครก็เป็นของขวัญที่หวานหอม น่ารัก ผสานความเป็นไทยกับของหวานสากลได้ลงตัว
The Collector Project


เอก ทองประเสริฐ มีแบรนด์เสื้อผ้าหลากหลายของตัวเอง ทั้งแบรนด์เอก ทองประเสริฐ ที่ผลิตเครื่องประดับและชุดราตรีสวยหรูคลาสสิก Sculpture แบรนด์เสื้อผ้าแคชชวลร่วมสมัยสำหรับวัยรุ่น และ The Collector Project โครงการทำเสื้อผ้าไม่ซ้ำกันสักชุด ซึ่งบอกเล่าประสบการณ์เดินทางของดีไซเนอร์นักเดินทางคนนี้

“มันเป็น Personal Passion เราเดินทางไปไหนก็เก็บของมือสอง ผ้าไทยตามจังหวัดต่างๆ และของต่างประเทศ เจออะไรสนุกก็หยิบมา ซื้อผ้าเก็บไว้แล้วต้องทำ ถึงจะละเอียดยุ่งยากกว่าทำแบรนด์อื่นเพราะต้องทำตัวต่อตัว แต่มันสนุกและไม่มีฤดูกาล ของส่วนใหญ่มีแค่ชิ้นเดียว ผ้าทอผืนหนึ่งสี่เมตร ตัดเสื้อได้แค่หนึ่งถึงสองตัว Tea Towel วินเทจหกผืน เอามาต่อใหม่ได้เสื้อหนึ่งตัว นอกจากนั้นก็มีผ้าไหมพิมพ์ลายซิลค์สกรีนเป็นกระเป๋า ล่าสุดคือผ้ายันต์เรียงอักขระบาลีสันสกฤต เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่เราเอามาปรับเป็นเสื้อ”

จุดเริ่มต้นของโครงการสุดมัน มาจากงานออกแบบผ้าไหมที่ทำให้ภาครัฐ นักออกแบบอยากนำเสนอประสบการณ์แปลกใหม่จากวัตถุดิบเดิม ผ้าไหมหรูหราจึงฉีกตัวจากความหรูหรายุคเบบี้บูม มาเป็นบอมเบอร์แจ็กเก็ตสุดเท่ แถมต่อไปวัตถุดิบสนุกอื่นๆ จากอินเดีย ปากีสถาน การ์ดภาพจากซองบุหรี่ และภาพดาราไทยเก่า จะกลายเป็นต้นทุนให้แบรนด์โครงการนักสะสม ซึ่งเจ้าตัวตั้งใจว่าออกแบบให้ใส่ได้ง่ายทุกเพศทุกวัย
“แฟชั่นเหมือนลูกตุ้ม พอเหวี่ยงไปสุดด้านหนึ่ง ก็จะเหวี่ยงไปอีกด้านเพื่อบอกสิ่งที่ไม่ได้พูด ผ้าไทยมีความหลากหลายอยู่แล้ว อีสานเน้นผ้าไหม เหนือมีผ้าฝ้าย ใต้มีผ้าบาติก แต่ของเหล่านี้ไม่มีคุณค่าในเชิงทุนนิยมเท่าของที่ซูเปอร์แบรนด์ เป็นความท้าทายว่าถ้าเราจะหยุดวงจรนี้ ต้องสร้างความตระหนักว่าเสื้อผ้าแพงเพราะอะไร มีคุณค่ายังไง และต้องรีดีไซน์แบบไหนผู้บริโภคถึงสนใจ”
Luck You


ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก และทายาทโรงงานปักผ้า วนัส โชคทวี รับงานออกแบบอินทีเรียมาตลอด และตั้งใจออกแบบสินค้าจากวัฒนธรรมไทย เลยร่วมกันสร้าง Luck You แบรนด์ของแต่งบ้านที่ส่งต่อคำอวยพรดีๆ และพลังบวกให้ชีวิตผ่านกรอบรูปผ้าปักข้อความ เช่น สมหวัง โชคดีมีสุข ไปจนถึงถ้อยคำอวยพรภาษาจีน โดยใช้กราฟิกโมเดิร์น เข้ากับบ้านสมัยใหม่ไม่ขัดเขิน

“เรากับหุ้นส่วนเป็นคนไทยเชื้อสายจีน เจอถ้อยคำเกี่ยวกับเรื่องสิริมงคลมาเยอะ พวก บ้านนี้ดีอยู่แล้วรวย ประเทศเราคุ้นเคยกับเรื่องแบบนี้ ไม่ว่าคนไทยหรือคนไทยเชื้อสายจีน การแก้ชงหรือเชื่อโชคลางเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยม แต่ป้ายหรือยันต์ความเชื่อแบบเดิมไม่เข้ากับบ้านสมัยใหม่เท่าไหร่ ตอนนี้คนคำนึงถึงความสวยงามในการแต่งบ้านมากขึ้น ถ้าของสวยและมีความหมายน่าจะดี เราอยากส่งต่อความรู้สึกดีๆ ผ่านข้อความสั้นๆ เวลามอบให้กันก็มีความหมาย เป็นกำลังใจในชีวิต ส่งต่อความรู้สึกได้ชัดเจน” ณิชภัคเอ่ย

Luck you เชื่อว่าแม้ความเชื่อโชคลางติดบ้านเป็นของที่ชาวไทยและชาวจีนนิยม แต่วัฒนธรรมอวยพรและให้ของขวัญกันมีทั่วโลก บางครั้งก็อยู่ในรูปสัญลักษณ์ เช่น พู่ Endless Knot และยันต์ปากัวแปดเหลี่ยมของจีน ดวงตาปีศาจดูดพลังลบและใบโคลเวอร์สี่แฉกสื่อถึงโชคดีของชาวตะวันตก เลยมีสินค้าพู่มงคลวางขายด้วย จะซื้อใช้เองหรือฝากคนก็สวยเก๋ในทุกวัฒนธรรม
Trimode.C



Trimode.C ของฝาแฝด พิรดา-ภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และ ชินภานุ อธิชาธนบดี เป็น Design Studio ที่ได้ทำงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกับชุมชนต่างๆ ราว 6 – 7 ปีก่อน แล้วพบว่าการสร้างแบรนด์เป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้าน เพราะขาดการพัฒนาด้านการตลาด เลยเปิดแบรนด์ Trimode.C ที่เน้นงานคราฟต์ และ Collaboration กับช่างฝีมือเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนโดยเฉพาะ ผลงานหลากหลายมีทั้งเครื่องประดับ กระเป๋า และรองเท้า เช่น สร้อยคอผ้าครามจากอุดรธานี ทำจากเศษผ้าที่เย็บเป็นรังดุมไส้ไก่ กำไลเขาควายชุบเคลือบโลหะ หมวกปักฝีมือม้งดอยปุย และรองเท้าสลิปเปอร์หนังปักชิ้นส่วนจักสานจากชุมชนทำกระติ๊บข้าวเหนียวในอีสาน ได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ ตามเป้าหมายของ Trimode.C ที่อยากนำเสนอองค์ความรู้หรือวัตถุดิบชุมชนไทยให้คนทั่วไปรู้จัก
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพียง 5 แบรนด์จากอีกหลายร้อยแบรนด์ที่มีอยู่ใน ICONCRAFT ซึ่งรอให้ทุกคนมาค้นหา และมาสัมผัสงานคราฟต์ในสไตล์ของตัวคุณเอง ที่ชั้น 4 และ 5 ของ ICONSIAM และ ที่ชั้น 3 ของ SIAM Discovery