ฝนตั้งเค้าตั้งแต่เช้า บ่ายแก่วันอาทิตย์คือเวลาที่เรานัดหมายไปเยี่ยมบ้านหลังใหม่ของ Craft Bread

ราวกับกำลังนั่งอยู่ในความฝันของใครสักคน ได้เปิดร้านขายขนมปังเล็กๆ ตื่นเช้ามาอบขนมปังด้วยความสุขอยู่ในบ้านขนาดอบอุ่นกำลังดี ที่มีทั้งคนรัก แมวที่รัก แถมยังได้ทำสิ่งที่รัก…

“พี่เคยเป็นแอร์โฮสเตส แล้วป่วยกะทันหัน ตรวจเจอว่าเป็นโรคพุ่มพวง (โรคแพ้ภูมิตัวเอง) การเป็นแอร์มา 10 ปี ทำให้นาฬิกาชีวิตรวน อาการหนักจนทำไม่ไหวเลยลาออก ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะทำไรเลยนะ

“พี่ไม่เคยมีความฝันอยากจะมีร้านของตัวเองอยู่ในหัวเลย คือเป็นคนรักงานประจำ เพราะเราต้องดูแลพ่อ ดูแลที่บ้านเรา มีรายได้ที่มั่นคง ช่วงนั้นค่อนข้างเครียด อายุก็เยอะประมาณหนึ่งและเป็นวัยที่เรากำลังสร้างเนื้อสร้างตัว เลยคิดว่าถ้าจะเปลี่ยนอาชีพมันก็ช้า”

ฝนที่ตั้งเค้าเตรียมตกเต็มแก่ มวลเมฆอึมครึมลอยลงต่ำ ตัดสลับกับปลายเสียงที่เอ่ยยิ้มๆ

ตูเช่–อังสุมารินทร์ เหล่าเรืองธนา และ เบียร์-นิกร ศรีพงศ์วรกุล

ผู้หญิงตรงหน้าเราคือ ตูเช่–อังสุมารินทร์ เหล่าเรืองธนา ผู้อยู่เบื้องหลังขนมปังโฮลวีตแสนอร่อยและ เบียร์-นิกร ศรีพงศ์วรกุล เจ้าของบ้านพ่วงตำแหน่งผู้กำกับภาพเป็นอาชีพ

เธอค่อยๆ บรรจงหั่นขนมปังแถวสุดท้ายใส่ถุงกระดาษยื่นให้ ก่อนเดินมาจัดแจงเก้าอี้ แล้วนั่งลงเล่าเรื่องราวที่เธอไม่เคยคิดฝันว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของ Craft Bread และบ้านหลังใหม่เอี่ยมนี้ให้ฟัง

01

ทำขนม 101

ฝนเทอีกระลอก ลมเย็นเคล้ากลิ่นขนมปังในร้านเริ่มชวนผ่อนคลาย

ก่อนเคลิ้มไปมากกว่านี้ ชายหนุ่มลุกไปหรี่เสียงเพลงแล้วตรงกลับมานั่ง เป็นครั้งแรกที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นสนทนาอย่างไร

สารภาพตามตรง เพราะเราเตรียมใจมาฟังเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว เมื่อฟังเธอย้อนเล่าก็อดชื่นชมความใจสู้ของทั้งคู่ไม่ได้

ตอนนั้นตูเช่ไม่รู้ว่าชีวิตต้องเดินต่อไปทางไหน เมื่อลาออกมาอยู่บ้านเฉยๆ ก็เริ่มฟุ้งซ่าน ประจวบเหมาะกับเธอลองไปเรียนทำขนมปังกับ ครูแป้น-พัชรบูรณ์ ด่านโพธิวัฒน์ แห่งห้องเรียนขนมปังทำเอง

อันที่จริงตูเช่เล็งๆ เรื่องเรียนขนมปังมานานแล้วแต่ตอนเป็นแอร์ไม่มีเวลาเท่าไร

“โมเมนต์ตอนนั้นคือป่วยอยู่ แต่อยากทำอะไรบ้างที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าชีวิตมันมีคุณค่าขึ้นมาสักนิด พี่ชอบร้านขนมปัง ชอบความเป็นขนมปัง ชอบความหอมๆ ของมัน แต่พี่ไม่ได้เป็นคนทำอาหารเก่งอะไรนะ มีครั้งหนึ่งพี่ไปแล้วเจอร้านขนมปังที่ทำจากยีสต์ธรรมชาติในญี่ปุ่น ร้านเล็กๆ แบบ Takeaway คนขายคนเดียว อันนั้นก็ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจพี่เหมือนกันนะ”

ใจเรียกร้องให้เธอสู้ แม้อาการทางกายยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าไหร่นัก แรงฮึดบวกกับความสนุกที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ตูเช่หัดทำขนมปัง ทดลองนู่น ปรับนี่ จนได้สูตรโฮลวีต 100 เปอร์เซ็นต์ที่เธอภาคภูมิใจ แถมยังคลีนสุดๆ ดีต่อสุขภาพคนป่วยเช่นเธอ เพราะใช้แค่น้ำผึ้งกับน้ำมันมะกอก โดยไม่ใส่เนย นม ไข่ ใดๆ เลย

“เริ่มจากเตาเล็กๆ ทำแบบเตาอบขนมในบ้านเลย ออเดอร์มีแค่ 4 โลฟ แต่ก็เหนื่อยมาก เพราะเราทำแบบโฮมเมด นวดแป้งเอง ค่อยๆ ปั้นเป็นก้อน รอจนขึ้นแป้ง แล้วค่อยนำไปอบ” เธอเล่า

“เตามันทำได้ทีละ 2 แถว เห็นเขาตื่นมาทำตั้งแต่เช้า ทำเสร็จก็แอบหนีไปนอนพัก ก็คิดว่าเหนื่อยไปไหมนะ” เบียร์เสริม

เหนื่อยแต่สนุก!

จากที่ทำแค่พอให้คลายเหงา ตูเช่เริ่มเปิดขายในอินสตาแกรม ออกไปส่งของเองบ้าง จากที่ขายเฉพาะในออนไลน์ เริ่มไปออกงานบ้างตามสุขภาพจะอนุญาตให้เธอทำงานหนัก ช่วงกราฟชีวิตขยับพุ่ง ตูเช่เช่าห้องเล็กๆ ในหมู่บ้านสัมมากรเป็นครัวอบขนมพร้อมเปิดเป็นหน้าร้าน ไม่ไกลจากละแวกบ้านที่พวกเขาอยู่ โดยมีเบียร์คอยเป็นลูกมือให้เสมอ

ชีวิตบทจะเป็นขาลง โชคชะตาก็ไม่เคยปรานี เธอป่วยหนักอีกครั้ง ไฟในเตาเธอเริ่มมอด แต่แล้วยาชูกำลังใจจากมวลมิตรกลายร่างเป็นเชื้อไฟให้เธอกลับมาจุดเตาอีกครั้ง

02

ทำร้าน

นับเวลาได้ 5 ปี หน้าร้านเก่าก็ถึงคราวที่ต้องซ่อมแซม จังหวะเดียวกับบ้านเก่ามือสองที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกันมา 8 ปี ก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา รวมถึงปัญหาสุขภาพ ทำให้ชีวิตส่วนใหญ่ของตูเช่เลยต้องอยู่บ้านเป็นหลัก ทั้งคู่จึงตัดสินใจรีโนเวตบ้านเก่า และต่อเติมให้มีหน้าร้านเล็กๆ เพื่อจะได้ทำขนมที่บ้านไปด้วยในตัว

โจทย์แรกในใจคืออยากให้บ้านดูเรียบ โล่ง โปร่ง สว่าง อยู่สบายแต่อบอุ่น

“เราอยากได้เพดานสูง หน้าต่างเยอะ ไม้ๆ คุยกับสถาปนิกว่าจะต่อเติม คุยไปคุยมา มันต้องมีไอ้โน่น ต้องมีไอ้นี่ สุดท้ายทุบสร้างใหม่เลย (หัวเราะ) อีกอย่างเราคุยกันว่าต้องมีหน้าร้าน มีครัว ซึ่งต้องแยกกับบ้าน เพราะว่ามันเหมือนเป็นที่ทำงานของเช่ เราก็ต้องแบ่งโซน บ้านก็คือบ้าน” เบียร์พยักหน้าบุ้ยใบ้ว่าผู้หญิงข้างๆ เขาคือเจ้าของความชอบที่ว่ามา

ตูเช่เก็บแบบบ้านมาจากหน้านิตยสารญี่ปุ่นที่เธอซื้ออ่านเป็นประจำ ชอบแบบไหนก็จะถ่ายรูปเก็บไว้ แล้วส่งต่อให้สถาปนิกเป็นผู้ร่างแบบบ้านในฝัน

Craft Bread

เมื่อจับความชอบปรุงผสมกับตัวตน ผลที่ได้คือบ้านทรงกล่องสีครีมหน้าตาโมเดิร์น ทอดตัวยาวขนานไปกับถนนหน้าบ้าน

พื้นที่ 50 ตารางวาถูกจัดสรรให้เป็นทั้งร้านและบ้านอย่างเป็นสัดส่วน ด้วยความที่เป็นบ้านหลังหัวมุมในซอย เลยมีด้านติดถนน 2 ด้าน ฝั่งหนึ่งออกแบบให้เป็นหน้าร้านขนาดน่ารัก ประดับหน้าต่างไม้ทรงกลมบานเขื่อง ไม้สีเข้มตัดกับสีนวลๆ ของผนังอย่างเป็นมิตร อีกด้านเป็นหน้าบ้านของโซนอยู่อาศัย

Craft Bread
Craft Bread

ร้านไซส์เล็กแต่ใหญ่พอต้อนรับลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาเลือกซื้อขนมปังแบบไม่ขาดสาย ที่นั่งริมหน้าต่างจัดวางไว้เผื่อใครอยากนั่งคุยเล่น ผนังอีกด้านกรุกระจกทำหน้าที่ดึงแสงธรรมชาติเข้ามา และเป็นช่องสำหรับรับออร์เดอร์

Craft Bread
Craft Bread

ส่วนห้องทำงานของนักอบขนมปังอยู่ถัดจากตัวร้าน ติดกับโถงทางเดินเข้าบ้าน เมื่ออบขนมปังทีกลิ่นหอมก็อบอวลไปทั่วบ้าน

กลิ่นขนมปังทำให้บ้านรู้สึกน่าอยู่ขึ้น พวกเขาว่าอย่างนั้น

ไปๆ มาๆ การได้อยู่บ้านทุกวันกลายเป็นความพอเหมาะพอเจาะสำหรับเธอไปเสียแล้ว

“พี่โอเคกับการที่มีคนมาบ้าน อาจเป็นที่เราโตมาจากครอบครัวใหญ่ เลยชินกับคนเยอะๆ มีคนมาที่ร้านอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่เหงา มีน้องๆ มาช่วยอบขนมปัง มันรู้สึกอบอุ่น แถมยังเดินจากบ้านเข้าไปทำขนมในครัวเชื่อมต่อกันได้เลย

“อีกอย่าง แต่ก่อนเป็นแอร์ ไม่ค่อยได้เจอกับพี่เบียร์เลย นี่กลับมา นี่ไปบิน สวนทางกันตลอดเวลา เป็นแนวอย่างนี้ แต่พอออกมาแล้วมีเวลาอยู่ด้วยกันเยอะ เออ มันก็ดีนะ” ตูเช่เริ่มเล่า

“มีเวลาทะเลาะกันมากขึ้น” เบียร์รีบสมทบด้วยเสียงกลั้วหัวเราะ

03

ทำบ้าน

ความเรียบง่ายจากวิธีคิด การตกแต่งน้อยนิ่งแต่เน้นฟังก์ชัน สะท้อนกลิ่นอายความมินิมอลอยู่ทุกอณูบ้าน

โซนที่อยู่อาศัยถูกแบ่งพื้นที่ให้แยกออกจากหน้าร้านและครัวทำขนม

ชั้นล่างออกแบบพื้นที่ให้มีลักษณะเปิดโล่งแบบโอเพ่นสเปซ ควบรวมฟังก์ชันห้องนั่งเล่น ครัว และมุมรับประทานอาหาร ให้ลื่นไหลเป็นพื้นที่เดียวกัน พวกเขาไม่กั้นห้องแต่ใช้วิธีจัดวางเฟอร์นิเจอร์ กั้นตำแหน่งของแต่ละมุมให้เป็นสัดส่วนเท่านั้น 

เพดานดับเบิลสเปซสูงโปร่งช่วยให้บ้านดูกว้าง โคมไฟห้อยสลับสูงต่ำอย่างรู้จังหวะ บันไดโครงเหล็กสีดำประกอบกับลูกนอนไม้สักเพิ่มความเบาบางทางสายตา เพื่อไม่ให้บ้านเรียบเกินไปนัก จึงเผยผนังด้านหนึ่งให้เห็นเทกซ์เจอร์อิฐพอละมุน

ช่องเปิดเหนือผนังและการกรุกระจกแทนผนังฝั่งหน้าบ้าน ทำหน้าที่ดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านอย่างทั่วถึง

“เราแพลนว่าอาจจะไม่มีลูก ก็เลยคิดว่าบ้านประมาณนี้แหละที่รู้สึกว่ามันพอดี พออยู่ไปจนถึงแก่เฒ่า (หัวเราะ) เราไม่ได้ชอบบ้านใหญ่มากมาย มีคนถามว่าทำโอเพ่นสเปซแล้วไม่เสียดายพื้นที่ข้างบนเหรอ เราบอกว่าไม่เสียดาย เพราะไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เรารู้สึกว่าเราแฮปปี้กับการมีห้องแค่นี้ก็พอแล้ว” 

ทั้งคู่ตั้งใจให้บ้านเรียบโล่งมากที่สุด เฟอร์นิเจอร์เลยเน้นฟังก์ชันที่เพียงพอต่อการใช้งานเป็นหลัก ห้องนั่งเล่นมีเพียงโซฟาขนาดพอดีที่สองคนนั่งดูหนังด้วยกันได้ในยามว่าง เข้าคู่กับโต๊ะไม้ขนาดเตี้ยและชุดชั้นวางทีวี โดยไม่ลืมแบ่งพื้นที่บนโซฟาให้เป็นที่ประจำการของเจ้าม้าลาย แมวจอมซนที่เข้ามาเติมชีวิตชีวาให้บ้านไม่เงียบเหงา นอกจากเจ้าม้าลาย อีกหนึ่งสมาชิกในครอบครัว ยังมีเจ้าพลูโต หมาแสบคู่ปรับ ที่เจอหน้ากันเมื่อไหร่ ทั้งคู่เป็นต้องรับบทกรรมการห้ามมวยประจำ

“เราเอาของที่ชอบจริงๆ มาไว้ในบ้าน อะไรที่อยู่จากบ้านเก่าแล้วยังใช้ได้ก็เอากลับมาใช้ ในบ้านแทบไม่มีของใหม่

“พอมีของเยอะยิ่งเหนื่อย ตอนย้ายบ้านมา เห็นของบ้านเก่าตัวเองเยอะมาก พี่บริจาคแหลกเลย ให้น้องบ้างอะไรบ้าง ตอนเป็นแอร์เราซื้อเยอะมาก บินที่ไหน เจออะไรที่ชอบก็ซื้อ จนไม่มีที่ให้เก็บ ไม่ไหวอะ ซื้อไรมาเยอะแยะ เรียกว่าอนาถตัวเองอย่างนี้เลย” (หัวเราะ)

ถัดจากส่วนนั่งเล่น เป็นครัวขนาดเล็กสำหรับทำอาหารง่ายๆ เคาน์เตอร์รูปตัวแอลแบ่งโซนทำอาหารและโซนล้างไว้ชัดเจน เหนือเตาเจาะช่องเรียกแสงธรรมชาติยามทำอาหาร และมีมุมกาแฟของเบียร์อยู่ข้างๆ กระซิบไว้ก่อนว่า หากสัปดาห์ไหนว่างจากการออกกอง เบียร์จะดริปกาแฟไว้ให้ทานคู่กับขนมปังในร้าน ส่วนตูเช่ก็กำลังทดลองทำเมนูสมูทตี้ด้วย เร็วๆ นี้จะได้ชิมกัน

บนชั้นสองประกอบด้วยห้องทำงาน ห้องนอนใหญ่ ห้องนอนแขก

ห้องทำงานเป็นพื้นที่ที่สองคนภูมิใจนำเสนอมาก เพราะอยู่ฝั่งทิศตะวันออก เปิดรับแสงยามเช้าผ่านบานกระจกที่แบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เมื่อแสงส่องเกิดเป็นเส้นสายกระทบกำแพงบ้าง พื้นบ้าง จางบ้าง เข้มบ้าง ตามช่วงเวลาของแสง เบียร์ ผู้กำกับภาพผู้หลงใหลในเรื่องราวของแสงบอกอย่างนั้น

ส่วนระเบียงในห้องทำงานตั้งใจให้เป็นที่ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง

“พื้นที่เห็นนี้เป็นไม้จากแบ็กดร็อปที่ร้านเก่า เรางัดไม้เก่ามาใช้กันหมด อย่างรถเข็นขนมปังในร้านก็ด้วย เบียร์เขาไม่ยอมให้ทิ้ง เขาบอกว่า เฮ้ย มันเอามาทำอะไรได้ เขาก็เลยตอกเอาเองเลย” ตูเช่เล่าสิ่งที่เธอเองก็แอบภูมิใจในตัวเบียร์

ถัดจากห้องทำงาน ระหว่างทางเดินไปสู่ห้องนอนแขกและห้องนอนใหญ่ มีมุมหนังสือที่เจาะช่องเข้าไปเป็นระนาบเดียวกับกำแพง ไอเดียนี้น่ารัก นอกจากช่วยให้ใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า ยังช่วยให้ดูเรียบร้อย เพราะไม่มีส่วนยื่นใดๆ มาเกะกะสายตา

ส่วนห้องนอนของทั้งคู่เป็นอีกห้องที่ตกแต่งให้มีบรรยากาศแบบมินิมอล แฝงด้วยกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น ทั้งจากเฟอร์นิเจอร์ไม้และของตกแต่งน้อยชิ้น รวมถึงการแยกห้องแต่งตัวและห้องน้ำออกจากห้องนอน ก็ทำให้พื้นที่เหมาะกับการพักผ่อนอย่างแท้จริง

Craft Bread

และถ้าไม่ถามถึงคอร์ตยาร์ดหน้าบ้านเห็นจะไม่ได้ นอกจากโจทย์บ้านเรียบโล่งแล้ว พวกเขาคุยกันว่า อยากให้มองออกไปแล้วเห็นต้นไม้ได้จากทุกห้อง สนฉัตรต้นนี้เลยได้รับบทบาทเป็นหัวใจของบ้านไปโดยปริยาย

“คิดไว้ในใจคือต้องเป็นสนฉัตรเลยตั้งแต่แรกเพราะว่าชอบ เป็นคนชอบต้นสน” ตูเช่รีบบอก

“ตอนแรกก็กลัวว่ากรุงเทพฯ จะไม่เหมาะ ต้นสนฉัตรชอบความชื้นและแสงแดด แต่พอเอาจริงๆ มันก็อยู่ได้นานเลย” เบียร์อธิบายต่อถึงการดูแลเมื่อเห็นสีหน้าสงสัยของเรา

ใช่-นั่นแหละที่กำลังจะถาม

 04

ทำวันนี้ให้ดีที่สุด

บ้านธรรมดาเป็นพิเศษหลังนี้ใช้เวลาสร้างร่วมปีกว่า นานกว่าที่ทั้งคู่กะไว้ แต่การรอคอยนั้นคุ้มค่าเสมอ ภาพแรกของบ้านตรงใจแบบที่คิดไว้ทุกอย่าง

“พอเริ่มเป็นรูปเป็นร่างก็น้ำตาซึม คือเราไม่ได้อยากได้อะไรยิ่งใหญ่ คนอื่นอาจจะเห็นไม่ได้มีอะไร บ้านเรียบๆ แต่เรารู้สึกว่ามันโอเค ชอบแบบนี้ และรู้สึกดีเพราะตอบโจทย์ชีวิตได้หมด ได้ทำขนมปัง เดินเข้าบ้านไปปั่นน้ำผลไม้ แล้วออกมายืนขายขนมปัง

“ถามว่าเราโชคดีมั้ย เราก็ว่าเราโชคดีนะที่ปัจจุบันมันยังโอเคอยู่ ได้เจออาชีพใหม่ที่ตอบโจทย์เรื่องร่างกายเราพอดี

“ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นยังไง ไม่กล้าคิด

“พี่ไม่เคยอยากจะทำร้านขนมปังเลย ไม่ได้เป็นสาย Café Hopping อะไรอย่างนั้น พี่แค่ได้โอกาสนั้นมาจากกัลยาณมิตรคอยหยิบยื่นให้ ทั้งจากเพื่อน จากลูกค้ามาซัพพอร์ต พี่มองว่าชีวิตมันพาเราไปทางไหนก็ทำให้มันดีที่สุด

Craft Bread

“ไม่ค่อยอยากจะมีคอนเซปต์มาก (หัวเราะ) เพราะบางคนเขาจะมองว่า เฮ้ย ​Slow Life เหรอ แต่พี่ว่าไม่ใช่ ทำงานเบเกอรี่มันหนักนะ แล้วมันเหนื่อยเหมือนกัน มันมีเรื่องบริการธุรกิจ สร้างคน มันต้องคิดตลอด หรือบางคนก็เข้ามาถามว่าทำไมไม่ขยายร้าน ไม่เปิดทุกวันเลย บอกตามตรง เราแทบไม่หวังให้มันไปไกลกว่านี้แล้ว เราคิดว่าจะตั้งใจรักษาลูกค้าที่เรามี อย่างน้อยถ้าขนมปังออกมาดี เขาก็อยู่กับเราต่อ และไม่เป็นไร วันหนึ่งถ้ามันจะมีอะไรขึ้นมาก็ถือว่าทำดีที่สุดแล้ว เราทำได้เท่าที่ไหวจริงๆ เพราะถ้าพี่ทำงานหนักไปโรคก็จะกำเริบ

“เมื่อก่อนเคยเป็นคนที่อะไรที่ทำงานได้เงินเราก็ทำหมด เพราอยากเก็บเงินด้วยอยู่แล้ว แต่พอป่วยชีวิตมันเลยพลิกไง ถ้าทำมากไปได้เงินก็ต้องเอามารักษาตัวเอง

“ไม่ได้พูดแบบคลิเช (Cliche) เลยนะ มันเป็นเรื่องจริง เราทำหนักไป แล้วก็เอาเงินมารักษาตัวเอง ไปนอนซมอยู่ในโรงพยาบาล ไม่เอาอีกแล้ว พี่เลยต้องจัดตารางว่าทำเท่านี้แหละ เท่าที่เราแฮปปี้และทำไหว” ตูเช่ทิ้งท้าย

ตูเช่–อังสุมารินทร์ เหล่าเรืองธนา และ เบียร์-นิกร ศรีพงศ์วรกุล

ฝนหยุดตกแล้ว

บทสนทนาจบลง ความเงียบทิ้งระยะให้จมอยู่กับความคิด

กิ่งสนฉัตรไหวตามแรงลม แสงแดดรำไร ลามไล้ปลายยอดใบไม้ เงาจางทอทาบกำแพงขาวตระหง่าน ผ่านฝีมือจิตรกรธรรมชาติ หยดน้ำค้างสะท้อนเล่นแสง

วูบหนึ่ง แสงสว่างวาบที่ทอประกายให้เห็นหาใช่จากอีกฝั่งของฟากฟ้า แต่มองเห็นจากสายตาของคนที่นั่งอยู่ตรงข้าม

นี่แหละมั้ง ฟ้าหลังฝนที่ใครเขาพูดกัน

Facebook : Craft bread

ที่อยู่ : 185 ซอยเมนอี หมู่บ้านสัมมากร ถนนรามคำแหง 112

เบอร์โทร : 0896918242

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล