ขณะที่หลายประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างนอร์เวย์และเดนมาร์กต่างประกาศ Lockdown และปิดชายแดนภายหลังจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สวีเดนกลับใช้มาตรการที่สวนกระแส ไม่ Lockdown ปิดเมืองแต่อย่างใด แถมช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เรายังเห็นภาพผู้คนในกรุงสตอกโฮล์มซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของประเทศออกไปใช้ชีวิตอย่างปกติ ที่นั่งในร้านอาหารถูกจับจอง สวนสาธารณะเต็มไปด้วยผู้คนที่ไปออกกำลังกายหรือพาลูกๆ ไปเดินเล่น เสมือนว่าโรคระบาดที่เป็นภัยคุกคามของคนทั้งโลกในขณะนี้อยู่ในจักรวาลคู่ขนานเสียอย่างนั้น ทั้งที่จำนวนผู้ที่ติดเชื้อที่ได้รับการรายงานในตอนนี้พุ่งสูงเกิน 17,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย 

พอเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงที่สุดในกลุ่มสแกนดิเนเวียและอัตราผู้เสียชีวิตต่อประชากรอยู่ในอันดับ 10 ของโลกแบบนี้ หลายคนอาจจะแปลกใจและนึกสงสัยว่าทำไมประเทศที่ยึดถือการใช้ชีวิตแบบสมดุล ไม่มาก ไม่น้อย จนเกินไป ตามปรัชญาลากอม (Lagom) อย่างสวีเดนถึงกล้าเลือกเดินเส้นทางสายนี้แบบฉายเดี่ยวกันนะ 

สู้ COVID-19 สไตล์สวีเดน สวนกระแสชาติตะวันตกด้วยการไม่ประกาศ Lockdown
การสัญจรที่ปกติในเมืองลุนด์

Trust & Collective Responsibility

เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563 สวีเดนพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายแรกของประเทศ ซึ่งเดินทางกลับมาจากจีน หลังจากนั้นกราฟก็คงที่จนถึงช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ครบ 2 อาทิตย์หลังจากวันหยุดยาวที่มีชาวสวีเดนจำนวนมากเดินทางกลับมาจากอิตาลี ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงกว่า 7,000 รายภายในเวลาเพียงเดือนเดียว 

ถึงกระนั้น รัฐบาลสวีเดนก็ยังยืนยันคำเดิมที่จะไม่ประกาศ Lockkdown หรือสั่งปิดร้านอาหาร คาเฟ่ (แต่ห้ามเสิร์ฟแบบบุฟเฟต์และให้เฉพาะการบริการเสิร์ฟที่โต๊ะเท่านั้น) ฟิตเนส ห้างสรรพสินค้า หรือสถานศึกษาระดับมัธยมต้นลงมา เพราะเกรงว่าการปิดโรงเรียนอนุบาลหรือประถมจะทำให้ผู้ปกครองนักเรียนที่ทำงานในแวดวงสาธารณสุขต้องลางานเพื่อดูแลลูกที่บ้าน ซึ่งอาจทำให้ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนโรงเรียนมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยให้ทำการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ได้ และรวมทั้งขอให้บริษัทอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานจากบ้านได้ (ซึ่งก็ไม่ได้บังคับ แต่ส่วนใหญ่ก็ทำตามคำแนะนำของรัฐบาล)

สู้ COVID-19 สไตล์สวีเดน สวนกระแสชาติตะวันตกด้วยการไม่ประกาศ Lockdown
ป้ายในซูเปอร์มาร์เก็ตประกาศเตือนให้ลดการแพร่เชื้อด้วยการรักษาระยะห่าง 1.5 เมตร
สู้ COVID-19 สไตล์สวีเดน สวนกระแสชาติตะวันตกด้วยการไม่ประกาศ Lockdown
ซูเปอร์มาร์เก็ตแปะสติกเกอร์เพื่อให้ลูกค้ารักษาระยะห่างที่จุดชำระเงิน

สวีเดนเป็นสังคมที่มีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือมีความเชื่อมั่นในระดับสูงมากระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง รวมทั้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับนักการเมือง ระหว่างการแถลงข่าวแทบทุกครั้ง นาย Stefan Löfven นายกรัฐมนตรีสวีเดนจะขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกันปฏิบัติตามแนวทางรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing อย่างเคร่งครัด ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นทั้งในประเทศและต่างประเทศ และหากรู้สึกป่วยก็ขอให้อยู่บ้าน แม้จะมีอาการเล็กน้อยก็ตาม เพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น รวมทั้งลดภาระต่อระบบสาธารณสุขของสวีเดน โดยย้ำว่าทุกคนมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งต่อตนเองและต่อสังคมในการปกป้องคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุ รวมถึงพระราชดำรัสสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดนที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกัน 

ดังนั้น ที่นี่จึงไม่ได้มีการบังคับอย่างจริงจัง แต่เป็นไปตามความสมัครใจของประชาชน (Voluntary Social Distancing) เพราะรัฐบาล ‘เชื่อ’ ว่าประชาชนตัวเองมีความรับผิดชอบ รู้ว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร รวมทั้งประชาชนก็ ‘เชื่อ’ ว่ารัฐบาลรู้ว่าจะต้องใช้มาตรการไหนเมื่อไหร่ เช่น เดิมสวีเดนอนุญาตให้รวมกลุ่มในที่สาธารณะได้ไม่เกิน 500 คน แต่ต่อมาลดจำนวนให้รวมกลุ่มได้ไม่เกิน 50 คน อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นมาตรการที่ค่อนข้างผ่อนปรน เมื่อเทียบกับความเข้มงวดของเยอรมันและออสเตรเลีย ที่ห้ามการรวมกลุ่มกันมากกว่า 2 คน 

สู้ COVID-19 สไตล์สวีเดน สวนกระแสชาติตะวันตกด้วยการไม่ประกาศ Lockdown
นาย Stefan Löfven นายกรัฐมนตรีสวีเดนในแถลงการณ์ Address to the Nation เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563
สู้ COVID-19 สไตล์สวีเดน สวนกระแสชาติตะวันตกด้วยการไม่ประกาศ Lockdown
ประกาศห้ามขึ้นรถบัสประตูหน้าเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อของคนขับรถสาธารณะ

Relaxed Approach from Expert Advice

ในโครงสร้างการบริหารระบบในสวีเดน นักการเมืองและรัฐบาลไม่ได้มีอำนาจเหนือผู้เชี่ยวชาญหรือข้าราชการแต่อย่างใด หน่วยงานรัฐหลายแห่งบริหารงานได้อย่างอิสระ การประกาศใช้นโยบายหรือมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลสวีเดนนั้น ต้องมาจากการปรึกษาหารือกับหน่วยงานรัฐ และผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ก่อน การสื่อสารที่ชัดเจนและโปร่งใส รวมถึงมีงานวิจัยมารองรับ ทำให้ประชาชนส่วนมากเชื่อถือประกาศของรัฐบาลที่มาจากคำแนะนำของ Folkhälsomyndigheten หน่วยงานสาธารณสุขของสวีเดน 

สู้ COVID-19 สไตล์สวีเดน สวนกระแสชาติตะวันตกด้วยการไม่ประกาศ Lockdown
นาย Anders Tegnell นักระบาดวิทยาแห่งชาติผู้อยู่เบื้องหลังมาตรการของรัฐบาลสวีเดน

เชื่อว่าถ้าใครที่ติดตามสถานการณ์ COVID-19 ของสวีเดนในขณะนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก นาย Anders Tegnell นักระบาดวิทยา (State Epidemiologist) ของสวีเดน ซึ่งเป็นผู้ออกมาแถลงข่าวและให้คำแนะนำแก่รัฐบาลสวีเดน เพื่อรับมือภัยจากโรคระบาด COVID-19 โดยตรง ซึ่งนาย Tegnell มองว่าการปิดชายแดนและ Lockdown ยังเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น และเป็นการกระทำในเชิงการเมืองมากกว่าใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และเชื่อว่าการปฏิบัติตามแนวทาง Social Distancing จะช่วยชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 หรือที่เรียกว่าการลดความชันของกราฟ (Flatten The Curve) เพื่อปกป้องกลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุจากการติดเชื้อ รวมทั้งไม่ให้สถานพยาบาลรับภาระหนักมาก เนื่องจากสวีเดนมีจำนวนเตียงต่อผู้ป่วยวิกฤตเพียง 5 เตียงต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยเป็นอันดับ 2 ในยุโรปรองจากโปรตุเกส 

Herd Immunity as a (Sustainable) Path?

สื่อต่างชาติหลายสำนักได้ออกมาวิจารณ์ว่า สวีเดนกำลังใช้นโยบาย Herd Immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่แบบอ้อมๆ ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้จะสร้างขึ้นเองหลังจากที่ประชากรอย่างน้อย 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดติดเชื้อ แม้ช่วงแรกสหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ที่ดูเหมือนจะใช้แนวคิด Herd Immunity ด้วย แต่ทั้งสองประเทศก็กลับลำไปเริ่มใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น เหลือเพียงประเทศเดียวที่แทบจะเปิดเมืองปกติ จนกลายเป็น Swedish Model ที่ทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจ

รัฐบาลสวีเดนแถลงว่ามาตรการที่ใช้ในสวีเดน มีวัตถุประสงค์เดียวกับรัฐบาลในหลายประเทศที่ต้องการจะปกป้องประชาชน แต่ก็ไม่ได้ออกมายอมรับตรงๆ โดยมองว่าเป็นผลพลอยได้ที่จะได้จากการดำเนินมาตรการของสวีเดนในระยะยาว สะท้อนค่านิยมของสวีเดนอีกอย่างคือเรื่องความยั่งยืน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า การ Lockdown เป็นเรื่องที่ทำได้เพียงในระยะสั้นๆ เท่านั้น เพราะการห้ามไม่ให้ออกจากบ้านเป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติของคนมากๆ เพราะฉะนั้น หนทางที่จะชนะหรืออยู่ร่วมกับ COVID-19 มีแค่ 2 วิธี ได้แก่ การคิดค้นวัคซีน (ซึ่งคาดว่าอีกเป็นปี) หรือใช้ภูมิคุ้มกันหมู่ 

สู้ COVID-19 สไตล์สวีเดน สวนกระแสชาติตะวันตกด้วยการไม่ประกาศ Lockdown
ร้านอาหารถูกจับจองโดยเฉพาะที่นั่งที่มีแดด หลังจากช่วงฤดูหนาวเพิ่งผ่านพ้นไป

อย่างไรก็ดี มีคนจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกันแนวทางนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีกลุ่มนักวิชาการ แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ กว่า 2,300 คนลงชื่อจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลสวีเดน เพื่อขอให้ทบทวนและประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดกว่านี้ เพราะการปล่อยให้ประชาชนออกไปดำเนินชีวิตตามปกติและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อาจมีความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้คนหมู่มาก รวมทั้งมีการวิจารณ์ว่าเป็นเหมือนการเล่น Russian Roulette เกมพนันที่เอาปืนใส่ลูกกระสุนไม่ครบแล้วเสี่ยงดวงเอาเองว่าใครจะรอดหรือใครจะตาย 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อส่วนใหญ่ที่เป็นพาหะจะไม่แสดงอาการ ไม่มีใครคิดว่าตนเองป่วยหากไม่ได้แสดงอาการหรือรับการตรวจหาเชื้อ ซึ่งในเมือง Linköping ทางตอนกลางของประเทศ บุคลากรกว่าครึ่งหนึ่งในแผนกที่มีผู้ป่วย COVID-19 ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเพิ่งได้รับผลตรวจว่าติดเชื้อทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏอาการ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลสวีเดนก็ประกาศให้มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเน้นไปที่ผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขและผู้ดูแลผู้สูงอายุ ส่วนผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงขอให้พักอาศัยและรักษาตัวที่บ้าน

สู้ COVID-19 สไตล์สวีเดน สวนกระแสชาติตะวันตกด้วยการไม่ประกาศ Lockdown
คนจำนวนมากออกไปนั่งรับแดดที่จัตุรัสกลางเมืองลุนด์ในวันที่อากาศดี

ขนาดคนที่มีชื่อเสียงอย่าง Greta Thunberg นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน ยังโพสต์ในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมส่วนตัวว่า ตนเองกับพ่ออาจจะติดเชื้อ COVID-19 และหายป่วยแล้ว หลังจากเดินทางกลับจากเบลเยียมแล้วมีอาการที่คล้ายจะเป็น COVID-19 แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงและอาการไม่ได้อยู่ในขั้นรุนแรง จึงไม่ได้รับการตรวจเชื้อจากทางการสวีเดน และฝากให้ทุกคนช่วยกันอยู่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ป่วย แต่ก็มีโอกาสติดเชื้อและเป็นพาหะให้แก่กลุ่มเสี่ยงได้เช่นเดียวกัน

ล่าสุด หน่วยงานสาธารณสุขสวีเดนได้ประกาศว่า กรุงสตอกโฮล์มได้ผ่านช่วงพีกที่สุดของการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2563 โดยคำนวณจากโมเดลทางคณิตศาสตร์พบว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อซึ่งไม่ได้รับการรายงานประมาณ 70,500 คนในกรุงสตอกโฮล์ม (โอ้โห!) และคาดการณ์ว่าภายในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จะมีผู้ติดเชื้อถึง 1 ใน 4 ของประชากรในเมืองเลยทีเดียว

Stabilizing the Economy

ความเป็นรัฐสวัสดิการของสวีเดนเป็นที่รู้จักทั่วโลก ภาษีมหาโหดที่จัดเก็บจากประชาชนและบริษัทแต่ละปีถูกจัดสรรกลายเป็นสวัสดิการต่างๆ ของประชาชนในสวีเดน ทั้งสาธารณูปโภค การศึกษา สาธารณสุข เงินบำนาญ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาวิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่มีการประกาศ Lockdown ซึ่งทำให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ก็มีบริษัทแจ้งความประสงค์ที่จะปลดพนักงานแล้วกว่า 60,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะในกรุงสตอกโฮล์ม ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักคือธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร นอกจากนี้ การปิดพรมแดนตามมาตรการของสหภาพยุโรป (EU) ที่ห้ามการเดินทางเข้าสวีเดนจากประเทศนอก EU ทำให้ขาดแคลนแรงงานต่างชาติในภาคเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก

สู้ COVID-19 สไตล์สวีเดน สวนกระแสชาติตะวันตกด้วยการไม่ประกาศ Lockdown
กรุงสตอกโฮล์มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักที่สุดและพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ

รัฐบาลสวีเดนได้ประกาศใช้เงินกว่า 300 ล้านโครนาสวีเดนเพื่อใช้ในมาตรการลดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน พร้อมกับธนาคารแห่งสวีเดน (Riksbank) ที่ให้เงินกว่า 500 ล้านโครนาสวีเดนเลยทีเดียว รวมถึงมีแพ็กเกจช่วยเหลือธุรกิจและผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น ให้สำนักงานประกันสังคม (Försäkringskassan) จ่ายเงินชดเชยลูกจ้างที่ลาป่วยตั้งแต่วันแรกที่ลา โดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ และลาได้สูงสุดไม่เกิน 21 วัน ลดกฎเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยแก่คนที่ตกงาน เพิ่มเงินชดเชยจากการลดชั่วโมงการทำงานของนายจ้าง (ซึ่งเป็นข้อเสนอจากรัฐบาลให้ลดชั่วโมงการทำงานแทนที่จะปลดออก) รับรองการกู้เงินโดยรัฐให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ลดการเก็บภาษีต่างๆ ให้เงินช่วยเหลือแก่ธุรกิจขนาดเล็กที่ประสบปัญหาจาก COVID-19 

นโยบายทั้งหลายนี่ก็ไม่ได้มาจากรัฐบาลอย่างเดียว แต่รวมถึงข้อเสนอและการหารือร่วมกันจากหลายๆ พรรค ทั้งพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน รู้สึกได้ว่าทุกฝ่ายพยายามจะช่วยประเทศตัวเองจริงๆ

The Swedish Way

ตั้งแต่ย้ายมาที่สวีเดน เราสังเกตได้ว่าสังคมสวีเดนเป็นสังคมที่มีความปัจเจกนิยมสูงมาก คนที่นี่ค่อนข้างเคารพความเป็นส่วนตัวของกันและกัน คนสวีเดนเป็นคนที่ขี้อาย เป็นมิตร และรักอิสระมาก อาจจะด้วยอากาศที่หนาวเกือบตลอดทั้งปี ทำให้ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่เก็บตัวอยู่กับบ้านและครอบครัวกับเพื่อนฝูงที่สนิท แต่ช่วงหน้าฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ก็จะเป็นช่วงที่คนจะออกไปใช้ชีวิต ปาร์ตี้ ท่องเที่ยว อยู่กับธรรมชาติกันสุดๆ เพื่อนคนสวีดิชในคณะเราบอกว่า การใช้มาตรการจัดการ COVID ควรปรับไปตามบริบทของสังคมประเทศนั้นๆ 

สู้ COVID-19 สไตล์สวีเดน สวนกระแสชาติตะวันตกด้วยการไม่ประกาศ Lockdown
มุกล้อเลียนว่าที่สวีเดนฝึกปรือ Social Distancing กันมานานแล้วก่อน COVID-19 จะระบาด เพราะนิสัยที่ไม่ค่อยสุงสิงกับคนแปลกหน้าของคนสวีเดนส่วนใหญ่
สู้ COVID-19 สไตล์สวีเดน สวนกระแสชาติตะวันตกด้วยการไม่ประกาศ Lockdown
วัยรุ่นสวีเดนพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะกันเป็นกลุ่มๆ

ทำไมบริบทสังคมที่สวีเดนถึงไม่เหมือนกับชาติยุโรปอื่น ๆ ประการแรกคือ ประชากรค่อนข้างน้อยมาก ประมาณ 10 ล้านคน ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ เมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป ทำให้ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่รั้งท้ายเป็นอันดับ 4 ของยุโรป (รองจากไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ และนอร์เวย์) นอกจากนี้ อายุเฉลี่ยของวัยรุ่นสวีเดนที่ย้ายออกจากบ้านไปอยู่คนเดียวคือ 18 – 19 ปี น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรป คือ 26 ปี อยู่ประมาณ 7 – 8 ปี เลยไม่แปลกที่สวีเดนรั้งอันดับ 1 ของประเทศในยุโรปที่มีครัวเรือนเพียงคนเดียว เพราะฉะนั้น ก็ลดการแพร่เชื้อในครอบครัวไปได้ส่วนหนึ่ง 

สู้ COVID-19 สไตล์สวีเดน สวนกระแสชาติตะวันตกด้วยการไม่ประกาศ Lockdown
สวีเดนมีประชากรที่อาศัยคนเดียวมากเป็นอันดับ 1 ของยุโรป

ชาวสวีเดนอายุยืนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีอายุเฉลี่ยสูงถึง 81 ปี และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด แม้ว่าสวีเดนจะเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่ได้อยู่กับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่คนสวีเดนมั่นใจว่าการเปิดโรงเรียนอนุบาลและประถมจะไม่ทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อ เนื่องจากไม่ได้อยู่ร่วมกัน 

อย่างไรก็ดี การที่ผู้สูงอายุจำนวนมากอยู่ร่วมกันในบ้านพักคนชรา การแพร่เชื้อจึงรวดเร็วมาก และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากเช่นกัน โดยเฉพาะที่บ้านพักคนชราในกรุงสต็อกโฮล์ม ซึ่งตอนนี้ได้มีประกาศห้ามเยี่ยมบ้านพักคนชราทั่วทั้งสวีเดนแล้ว 

อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 คือกลุ่มผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในสวีเดน ซึ่งมีรายงานว่ากลุ่มผู้อพยพจากโซมาเลีย อิรัก ซีเรีย และอัฟกานิสถาน เป็นกลุ่มที่ติดเชื้อ COVID-19 เป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยเฉพาะเขต Rinkeby-Kista ในกรุงสตอกโฮล์มที่มีผู้อพยพอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น มาตรการของรัฐบาลสวีเดนจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเลยคนกลุ่มนี้ไป เพราะมีคนบางกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสวัสดิการเทียบเท่ากับคนสวีเดน อีกทั้งวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่าง อาจส่งผลให้คนเหล่านี้อยู่ในข่ายที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น เช่น ผู้อพยพที่สูงวัยอาจจะอยู่กับลูกหลานที่ยังต้องไปโรงเรียนไม่เหมือนกับชาวสวีดิช รวมทั้งการแถลงข่าวและมาตรการที่ประกาศเป็นภาษาสวีเดน ทำให้ผู้อพยพและชาวต่างชาติบางส่วนไม่เข้าใจ

ภายหลังได้มีกลุ่มอาสาสมัครหลายๆ กลุ่มมาช่วยกันแปลข้อมูลข่าวสารและมาตรการของรัฐบาลในภาษาต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้อพยพและชาวต่างชาติในสวีเดน (รวมทั้งภาษาไทย) อีกอย่างคือวัฒนธรรมการใช้ภาษา คำว่า ‘ควรจะ’ ในความหมายของคนสวีดิชคือ ‘(ควรจะ) ต้องทำ’ ดังนั้น รัฐบาลจะใช้คำนี้บ่อยมากในแถลงการณ์ แต่ในวัฒนธรรมอื่นคำนี้อาจจะแปลว่า ‘ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้’

ยอมรับว่าแรกๆ เรารู้สึกกลัวและไม่ปลอดภัยที่เจอคนมากมายออกไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่หลังๆ พอได้พูดคุยกับเพื่อนชาวสวีดิชและพยายามเข้าใจวัฒนธรรมและบริบทสังคมที่นี่ ก็เลยเข้าใจว่าทุกประเทศก็ต่างวิธีการจัดการ COVID-19 ของตัวเอง รวมทั้งสวีเดนด้วย 

คงต้องระมัดระวังตนเองเวลาออกไปข้างนอก พยายามล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่างเท่าที่ทำได้ ถึงรัฐบาลสวีเดนจะประกาศว่าทุกอย่างยังอยู่ภายใต้การควบคุม จำนวนเคสที่เพิ่มมาต่อก็ค่อนข้างคงที่ ส่วนจำนวนผู้ป่วยใน ICU ก็ลดลง ทำให้โรงพยาบาลสนามที่สร้างมารองรับผู้ป่วยว่างค่อนข้างเยอะ 

อย่างไรก็ดี แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญในสวีเดนเองก็ยังไม่มั่นใจว่าแนวทางของสวีเดนจะได้ผลหรือไม่ และบอกว่ามาตรการต่างๆ ของแต่ละประเทศถือเป็นการทดลองทั้งนั้น เพราะไม่มีใครเคยเจอวิกฤตโรคระบาดทั่วโลกแบบนี้ รัฐบาลสวีเดนเองก็อาจจะปรับเปลี่ยนแนวทางไปตามสถานการณ์และความเหมาะสม ซึ่งตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าแนวทางไหนจะประสบความสำเร็จ 

ก็ต้องมาดูกันหลังสงครามเชื้อโรคนี้จบว่าวิธีไหนจะเวิร์กกว่ากัน ระหว่างนี้ก็ต้องรักษาตัวรักษาสุขภาพกันยาวๆ ต่อไปจนกว่าการคิดค้นวัคซีนจะสำเร็จ!

ขอบคุณข้อมูลจาก

time.com/5817412/sweden-coronavirus/

www.businessinsider.com/how-sweden-and-norway-handled-coronavirus-differently

www.france24.com/en/20200415-swedish-coronavirus-model-under-fire-as-deaths-rise

www.bbc.com/worklife/article/20200328-how-to-self-isolate-what-we-can-learn-from-sweden

www.theguardian.com/world/2020/mar/23/swedish-pm-warned-russian-roulette-covid-19-strategy-herd-immunity

sverigesradio.se/sida/artikel.aspx?programid=2054&artikel=7448444

www.folkhalsomyndigheten.se/nyheter-och-press/nyhetsarkiv/2020/april/uppdaterad-modellering-av-spridningen-av-covid-19-i-stockholms-lan/

www.bbc.com/worklife/article/20190821-why-so-many-young-swedes-live-alone

foreignpolicy.com/2020/04/21/sweden-coronavirus-anti-lockdown-immigrants/

Writer

Avatar

อริสา วิวัฒน์สมวงศ์

นักศึกษาด้านการพัฒนาในเมืองเล็กๆ ที่สวีเดน ชอบอยู่กับธรรมชาติ ออกไปถ่ายรูป และลองทำอะไรใหม่ๆ