เสียงหัวเราะของเด็กๆ ดังแว่วมาจากทาวน์เฮาส์ขนาดกะทัดรัดเบื้องหน้า รอบรั้วบ้านเขียวขจีไปด้วยต้นอัญชัน เตยหอม มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว และอีกสารพัดพืชผักสวนครัวที่ถูกปลูกอย่างเป็นระเบียบ ทำให้รู้ได้ทันทีว่านี่คือจุดหมายปลายทางที่เราตั้งใจมาไม่ผิดแน่

ที่นี่คือ Courageous Kitchen หรือโครงการครัวภูมิใจ มูลนิธิเล็กๆ ที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะกินดีมีสุข โดยไม่แบ่งแยกสถานภาพหรือเชื้อชาติ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ควรจะได้รับความสนุกของวัยเยาว์ และการเรียนรู้ที่เป็นอิสระจากความกังวล ความยากจน และความทุกข์ทรมาน

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าเด็กคนหนึ่งจะมีเรื่องอะไรมากมายให้ต้องกังวล

เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวปกติ ความกังวลตามประสาเด็กคงหนีไม่พ้นเรื่องราวรอบรั้วโรงเรียน แต่สำหรับเด็กๆ ผู้ลี้ภัยที่พลัดถิ่นฐานบ้านเกิดมาไกลแสนไกล ความวิตกกังวลที่พวกเขาแบกไว้นั้นยิ่งใหญ่เกินตัว เพราะมันเป็นเรื่องของปากท้องและการเอาชีวิตรอด

สิ่งที่ Courageous Kitchen ทำมาตลอดระยะเวลาหลายปี คือการมอบอาวุธลับที่ทรงพลังที่สุดในโลก นั่นคือ ‘ความรู้’ แก่เด็กๆ ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ให้พวกเขามีทักษะในการใช้ชีวิตและการทำงานเพื่อหล่อเลี้ยงตัวเองในอนาคต

โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับโภชนาการและการปรุงอาหารอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้เด็กๆ และครอบครัวผู้ลี้ภัยที่ไม่มีเงินมาก สามารถกินเพื่อสุขภาพที่ดีได้อย่างไม่ยากเย็น

เราจิบน้ำอัญชันโฮมเมดที่ปรุงโดยเด็กๆ ผู้ลี้ภัยชาวม้งจากประเทศเวียดนาม แล้วนั่งลงสนทนากับ ดไวท์ เทอร์เนอร์ (Dwight Turner) และ​ ปาณิศา จันทร์วิไล​ ผู้ก่อตั้ง​ Courageous Kitchen ถึงการกินดีมีสุขของเด็กๆ ผู้ลี้ภัย​ พัฒนาการความเป็นผู้นำ ความนับถือในตนเอง และความสนุกสนานของพวกเขาที่เกิดขึ้นในครัวภูมิใจแห่งนี้

01
The Refugee
ผู้ลี้ภัยไม่ใช่แรงงานต่างด้าว

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ลี้ภัยต่างจากแรงงานต่างด้าวที่สมัครใจเดินทางออกจากประเทศตัวเองเพราะมาหาโอกาสในการทำงาน

ผู้ลี้ภัยถูกบังคับโดยสถานการณ์ให้ต้องหนีออกจากประเทศตัวเอง ไม่ว่าด้วยความหวาดกลัวหรือถูกคุกคาม แต่หลักๆ คือพวกเขาไม่สามารถพึ่งพาความคุ้มครองจากรัฐบาลประเทศตัวเองได้ เลยต้องหนีออกมาขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ

จริงๆ แล้วผู้ลี้ภัยในกรุงเทพฯ อาศัยเมืองไทยเป็นประเทศที่พำนักชั่วคราวเท่านั้น แต่บางครั้งขั้นตอนดำเนินการย้ายกลุ่มผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศของ UNHCR (United Nations Refugee Agency) ใช้เวลานานหลักปี ทำให้วีซ่าพำนักอาศัยชั่วคราวในประเทศไทยของผู้ลี้ภัยหมดอายุ และไม่สามารถรับจ้างทำงานใดๆ เพื่อสร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัวได้

02
The Problem
ชีวิตจากป่าเขาเข้าสู่เมืองใหญ่

ผมอยู่เมืองไทยมานานกว่า 11 ปี เคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและเคยทำงานในแวดวงอาหาร อาหารไทยคือสิ่งที่ผมประทับใจที่สุด เพราะเมืองไทยมีอาหารอร่อยๆ ให้ไปลองชิมทุกซอกมุม  

จนมีครั้งหนึ่งผมได้ไปเยี่ยมครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวม้ง ตอนไปถึงบ้านพวกเขา ผมตกใจกับภาพที่ได้เห็นว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก มีกินแค่ข้าวกับน้ำปลา ไม่มีผักผลไม้ชนิดอื่น มันช่างแตกต่างจากชีวิตประจำวันของคนทั่วไปในกรุงเทพฯ และผมเอง ที่คิดอยากจะกินของอร่อยอะไรก็กินได้

ครอบครัวชาวม้งครอบครัวนี้มีแค่แม่และลูกสาว 5 คน ใช้ชีวิตตามลำพัง พวกเขาลี้ภัยมาจากภูเขาทางตอนเหนือของเวียดนาม ห่างไกลความเจริญ หล่อเลี้ยงชีวิตด้วยการทำเกษตรกรรม เมื่อต้องลี้ภัยมาอยู่ในเมืองใหญ่แบบนี้ เขาต้องเรียนรู้วิธีหาเลี้ยงชีพและการเอาตัวรอด

สำหรับเด็กๆ ผู้ลี้ภัยที่ติดตามครอบครัวมาจากประเทศต่างๆ กฎหมายทางการศึกษาของเมืองไทยอนุญาตให้เด็กทุกสัญชาติสามารถเรียนในโรงเรียนไทยได้ ซึ่งก็นับว่าดีแล้ว แต่เด็กๆ ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่แน่นอนว่ามีปัญหาเรื่องภาษาที่ใช้สื่อสารและการปรับตัว

พวกเขาสื่อสารกันด้วยภาษาท้องถิ่น ไม่รู้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ทำให้เขากลัวที่จะพูดคุยกับผู้คน เขาจะใช้ชีวิตต่อไปได้ยังไงในเมื่อเขาสื่อสารไม่ได้และแทบจะไม่มีอะไรประทังชีวิต

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมก้าวเข้ามาทำงานด้านนี้เต็มตัว (ยิ้ม)

03
The Solution
จับปลาเป็น ก็ไม่อดตาย

ครั้งแรกๆ ที่ผมเข้าไปเห็นสภาพความเป็นอยู่ เห็นว่าเขาไม่มีอาหาร ความคิดแรกแบบง่ายๆ ของผมคือต้องซื้อข้าวของให้เขา ตอนนั้นผมเลยสร้างโครงการชื่อ In Search of Sanuk เพื่อจัดหาอาหารและที่พักให้เด็กๆ ผู้ลี้ภัยและครอบครัวที่ลำบากยากจน

ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ผมทำงานกับผู้ลี้ภัยจากหลากหลายประเทศทั้งปากีสถาน ศรีลังกา ซีเรีย และเวียดนาม ไปพร้อมๆ กับเป็นที่ปรึกษาให้กับร้านอาหาร จัดอีเวนต์เล็กๆ ด้านอาหาร รวมถึงสร้างเครือข่ายกับกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย (Expat) เรื่องการกิน จนถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเพื่อนของผมคนหนึ่งมาช่วยเป็นอาสาสมัครในโครงการ เธอเป็นลูกครึ่งไทย-ลาวที่ย้ายไปเติบโตที่สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ลี้ภัย

เธอกับเด็กๆ ช่วยกันปรุงอาหารขึ้นที่ชุมชนผู้ลี้ภัย และเมื่อเราโพสต์ภาพนั้นลงบนโซเชียลมีเดียก็พบว่าคนเริ่มให้ความสนใจสิ่งที่เราทำมากขึ้น เพราะมันช่วยให้เขาเข้าใจปัญหาและทางแก้ไขที่พอจะช่วยได้

และนั่นเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตระหนักได้ 2 สิ่ง

อย่างที่หนึ่งคือ เราต้องสื่อสารปัญหาพร้อมทั้งทางแก้ไขที่เราจะทำ ออกไปอย่างเรียบง่ายและตรงประเด็น ปัญหามันคือทั้งหมดที่ว่ามานี้ ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาของเราก็คือสอนทำอาหาร สอนภาษาอังกฤษ และสอนทักษะการใช้ชีวิตให้เด็กๆ ผู้ลี้ภัย

อย่างที่สองที่ผมตระหนักคือ วิธีแก้ปัญหาของเราคือต้องสอนพวกเขาจับปลา ไม่ใช่หาซื้อปลาไปให้เขา

จาก In Search of Sanuk พอปี 2015 ผมจึงได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ ภายใต้การกำกับดูแลของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ และใช้ชื่อว่า Courageous Kitchen

อีกปัญหาใหญ่ของเหล่าผู้ลี้ภัยคือ พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่กับการพยายามปรับตัวให้คุ้นเคยกับประเทศแปลกหน้าอยู่เสมอ จากประเทศพำนักชั่วคราวไปสู่ประเทศที่ 3 บางคนย้ายมาพำนักที่ไทยตอนอายุราว 25 หลายปีต่อมาพอเริ่มพูดภาษาไทยได้ก็ได้รับการย้ายไปยังสหรัฐอเมริกา ต้องเริ่มเรียนภาษาอังกฤษใหม่อีก ชีวิตพวกเขาวนเวียนอยู่กับการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอด

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราสอนภาษาอังกฤษและทักษะชีวิตอื่นๆ เพราะเราอยากให้เขามีความมั่นใจในตัวเอง สามารถเอาตัวรอดได้ ทักษะเหล่านั้นจะติดตัวพวกเขาไปจนตายและนำไปปรับใช้ได้กับทุกสิ่งในชีวิต

04
The Kitchen
ความรู้รอบครัว​
อาหารรอบรั้ว

บางคนถามผมว่า เราพยายามหางานให้เด็กๆ โดยการสอนให้พวกเขาเป็นเชฟใช่ไหม คำตอบคือไม่ใช่ Courageous Kitchen สอนทำอาหารเพราะอยากให้เด็กๆ ผู้ลี้ภัยเรียนรู้ที่จะพลิกแพลงวัตถุดิบเพื่อปรุงอาหารที่มีประโยชน์ กินแล้วสุขภาพดีได้แม้จะขัดสนก็ตาม เราไม่ได้ต้องการจะสร้างกองทัพเชฟเด็กเพื่อส่งไปแข่งขันรายการ MasterChef Junior Thailand หรอกครับ (ยิ้ม)

เราดูแลทั้งเล็กและเด็กโต เด็กเล็กๆ ก็สามารถเรียนทำอาหารที่ไม่ใช้ความร้อนได้ด้วยตัวเอง อย่างซูชิ ลาบ หรือส้มตำ เมื่อเขาได้เรียนรู้เรื่องรสชาติ ได้ปรุงอาหารด้วยตัวเอง มันทำให้เขากล้าชิมสิ่งใหม่ๆ และเรียนรู้ว่าของกินประเภทไหนดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย เด็กหลายคนเริ่มต้นจากการไม่กินผัก ฉันไม่อยากกินสิ่งเขียวๆ นี้ และเปลี่ยนไปเป็นคนชอบกินผัก​ (ยิ้ม)​

Courageous Kitchen ปลูกผักสวนครัวสำหรับใช้ปรุงอาหารเองอย่างที่เห็นหน้าบ้าน เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้วิธีผลิตวัตถุดิบเองเพื่อให้เขามีกินในราคาไม่แพงได้ 

เราปลูกฝังให้เด็กๆ เรียนรู้ความสำคัญของความยั่งยืน เราไม่ใช้ถุงหรือภาชนะพลาสติก แต่ทำให้พวกเขาดูว่ามันดีอย่างไรกับการใช้ภาชนะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ ถ้าจะห่ออาหารกลับบ้านก็ใช้ปิ่นโตแทน

บางครั้ง Courageous Kitchen ก็ไปจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปสอนเรื่องความยั่งยืนให้เด็กๆ ในโรงเรียนนานาชาติด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นภูมิปัญญาแบบไทยๆ อย่างเช่น การทำกระทงห่ออาหารจากใบตอง หลอดดูดน้ำจากผักบุ้ง

ช่วงปิดเทอมเราจัดแคมป์ที่เด็กๆ จะได้มาใช้เวลาร่วมกันแบบนี้ ส่วนช่วงเปิดเทอมที่พวกเขาต้องไปโรงเรียน เราจะมีห้องเรียนกันทุกวันอาทิตย์ เรามีเชฟและอาสาสมัครแวะเวียนกันมาทำเวิร์กช็อปสนุกๆ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะต่างๆ

หรืออย่างที่เห็นวันนี้ เราเพิ่งได้รับบริจาคไอแพดมาเพื่อใช้เป็นสื่อการสอน เราเลยให้เด็กๆ ลองถ่ายคลิปวิดีโอ Tutorial การทำเครื่องดื่มสมุนไพร เขาจะได้ทักษะการใช้โปรแกรมต่างๆ บนแท็บเล็ต ฝึกพูดภาษาอังกฤษ หัดทำงานเป็นทีมและกล้าแสดงออกมากขึ้น

หลายปีที่ผ่านมากับการทำงานในจุดนี้ แรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ผมยังไปต่อคือการได้เห็นเด็กๆ แต่ละคนพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

เด็กบางคนมาเรียนกับเราวันแรกๆ ขยุกขยิกทั้งวัน ไม่มีสมาธิ อยากจะเล่นสนุกอย่างเดียว แต่หลังจากที่เขามาเรียนกับเราสม่ำเสมอ ได้เข้ากลุ่มกับเด็กที่ตั้งใจเรียน (ยิ้ม) เขาเรียนรู้ที่จะปรับตัวในการตั้งใจเรียนมากขึ้น มีสมาธิและจดจ่อมากขึ้น

เด็กๆ ผู้ลี้ภัยที่ผมพบเจอมาทั้งหมดล้วนเป็นเด็กดีที่มีความเพียรพยายาม (ยิ้ม)

05
The Courage
งอกงามและผลิบานอย่างภาคภูมิ

องค์กรของเราอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคและทำกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ควบคู่ไปด้วย เราจัดทัวร์ชิมอาหารไทย เปิดคอร์สสอนทำอาหารไทยให้ชาวต่างชาติ ตั้งแต่พาไปเลือกวัตถุดิบที่ตลาดสด และกลับมาปรุงกันในครัวที่บ้านของเรา โดยมีเด็กฝึกงานผู้ลี้ภัยเป็นลูกมือ

ผู้ที่มาเข้าคอร์สจะได้รับทั้งประสบการณ์ ความสนุก และตระหนักถึงสิ่งที่เราพยายามผลักดันเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย

เด็กฝึกงานผู้ลี้ภัยที่ช่วยงานเรา เขาก็เติบโตมาพร้อมกับเรา จากวันแรกๆ ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้และขี้อาย ทุกวันนี้กลายเป็นคนฉะฉาน กล้าแสดงความคิดเห็น และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว น้องๆ เหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการเชื่อมต่อเราเข้าหาผู้ลี้ภัยวัยอื่นๆ ในชุมชนของเขา แถมยังเก่งกาจถึงขนาดเป็นล่ามแปลภาษาท้องถิ่นของเขาให้เราด้วย

ความยากของการทำงานเชิงสังคมก็คือ ถ้ามันง่ายคงมีคนแก้ไขปัญหานี้สำเร็จไปนานแล้ว หลายครั้งที่ผมรู้สึกสิ้นหวัง ที่เห็นการมีอยู่ของหลากหลายองค์กรเพื่อสังคม ที่ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่แท้จริงให้ดีขึ้น ผมเลยเลือกที่จะสื่อสารปัญหาอย่างตรงไปตรงมาที่สุดอย่างที่บอกไปตอนต้น​ (ยิ้ม)​

คนทำงานภาคสังคม บางครั้งจะมีปัญหากับการจัดการเรื่องความรู้สึกของตัวเอง เพราะเราได้ไปเห็นปัญหาจากสถานที่จริง ได้ไปพูดคุยกับคนที่มีปัญหาจริงๆ ทำให้บางครั้งเราอินกับเรื่องราวเหล่านั้นมากจนเกินไป ยิ่งถ้าปัญหามันไม่ได้ถูกทำให้ดีขึ้น มันจะกลายเป็นความท้อแท้​ และทำให้คนทำงานภาคสังคมหลายๆ คนหมดไฟ  

จากกระบวนการยุ่งยากซับซ้อนมากมาย เราควรมีเส้นแบ่งความรู้สึกและการทำงานไม่ให้มาพันกันยุ่งเหยิง และต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถช่วยเหลือเขาได้ทุกอย่าง หรือแก้ไขทุกปัญหาให้ดีขึ้นได้ มนุษย์ทุกคนเป็นปัจเจก ดังนั้น แม้จะทำงานเพื่อสังคม แต่เราก็ต้องดูแลตัวเองไปพร้อมๆ กับการดูแลคนอื่นด้วย (ยิ้ม)

Facebook: Courageous Kitchen
Instagram: Courageous Kitchen
Website: www.courageouskitchen.org

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล