29 มิถุนายน 2019
13 K

สุภาษิตโบราณของไทยเคยกล่าวไว้ว่า ‘สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง’ ถึงแม้ว่าเราจะเคยเดินทางโดยเครื่องบินมาเกินกว่า 20 ครั้ง ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าการเดินทางครั้งต่อไปจะไม่มีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้น

แต่การผิดพลาดครั้งนี้ออกจะโหดร้ายเกินไปนิดหนึ่ง

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อเราจองตั๋วเครื่องบินไปอเมริกาผิดวัน

โชคดีคือ เราจะยังได้เงินคืน

โชคร้ายคือ จองใหม่อีกครั้งเราก็ยังจองผิดวันอยู่ดี

เหตุผลทั้งหมดนี้ทำให้เราที่มีเงินในบัญชีเหลือน้อยไม่ต่างจากจำนวนควายป่าในประเทศไทย จนต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบาก

นี่เป็นครั้งแรกที่เราจะเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกไม่กี่วันข้างหน้าเราจะประสบสภาวะขาดที่พักพิง เนื่องจากพอเราจองตั๋วผิดวัน เราเลยไปถึงอเมริกาก่อนเวลาที่อพาร์ตเมนต์เรากำหนดให้เข้า ปัญหาคือ เราหมดเงินไปกับการจองตั๋วเครื่องบินผิดวันแล้ว ตอนนี้เราไม่มีเงินจองที่พัก แถมอเมริกาก็ยังเป็นประเทศที่เราแทบไม่มีคนรู้จักอยู่ที่นั่นเลยด้วย คนที่เคยคุยกันบ้างก็อยู่คนละรัฐ สนามบินที่ไปลงก็มีขนาดเล็กนอนพักไม่ได้ วัดไทยก็ไม่มี นี่สินะการเดินทางสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นที่แท้จริง

ระหว่างที่เรากำลังเครียด ก็นึกได้ว่าเราเคยดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Couchsurfing มันคือแอปพลิเคชันที่เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของนักเดินทางที่มีงบจำกัดจำเขี่ย ซึ่งก็ตรงตามชื่อภาษาอังกฤษ Couch แปลว่า โซฟา ส่วน Surfing ก็คือการเล่นอินเทอร์เน็ต พอเอามารวมกันก็คือ แอปพลิเคชันที่เอาไว้ขอไปนอนค้างโซฟาบ้านชาวท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองที่เราจะเดินทางไป หรือใช้หาเพื่อนร่วมเดินทาง หากิจกรรมทำระหว่างไปเที่ยวก็ได้

Couchsurfing แอปขอนอนโซฟาบ้านคนท้องถิ่น กับทริปของหญิงสาวฉบับเสิร์ชหาในกูเกิลไม่ได้

และทั้งหมดนี้ ฟรี!

ถ้าจินตนาการไม่ออก ลองนึกถึงการใช้ Airbnb แต่เป็นเวอร์ชันที่ไม่ต้องจ่ายเงิน และไม่มีการการันตีว่าเราจะได้นอนบนโซฟา เตียง ฟูก หรือรถบ้าน เรามีความเป็นส่วนตัวน้อยลง และต้องใช้เวลาร่วมกับโฮสต์เจ้าของบ้านด้วย เพราะนั่นเป็นอีกหนึ่งในจุดประสงค์หลักของ Couchsurfing

ไม่ต้องคิดอะไรมาก จังหวะนั้นคงไม่มีทางออกไหนเหมาะสมกับคนกินแกลบอย่างเราเท่าใช้ Couchsurfing อีกแล้ว เราจึงจัดแจงสร้างโปรไฟล์ขึ้นมา แนะนำตัวเองว่าเป็นใคร มาจากไหน สนใจอะไร ไลฟ์สไตล์เป็นยังไง และก็ไม่ลืมที่จะโพสต์เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้นเพื่อหาโฮสต์ผู้ใจดีที่จะบริจาคพื้นที่บนโซฟาให้เราไปนอนค้างสักวันสองวัน

หลังจากที่โพสต์หาโฮสต์และติดต่อกับนักเดินทางหลายคนที่อาศัยอยู่รัฐโอเรกอน เมืองยูจีน มาหลายวัน ในที่สุดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายก็ดลใจให้มีคนใจบุญรับเด็กไทยตาดำๆ ไปอาศัยอยู่ด้วย

โฮสต์คนแรกของเราชื่อแมรี่ เป็นหญิงสาววัย 40 กว่าๆ รักการเดินทาง และมีคติประจำใจว่า ฉันจะทำงานเพื่อให้มีเงินไปเที่ยว แล้วก็จะลาออกซะ เหตุผลที่แมรี่ตัดสินใจรับเราเข้าไปซุกหัวนอนในบ้านนั้นเราก็ไม่แน่ใจ แต่การที่แมรี่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเรา เราถือว่าเป็นพระคุณอย่างสูง เพราะนอกจากเธอจะเสียสละโซฟาให้แล้ว เธอยังอาสามารับที่สนามบินอีก

ด้วยความที่แมรี่มีความเป็นแม่พระเกินไปจนอะไรๆ ดูง่ายไปหมด และนี่เป็นครั้งแรกที่เราใช้ Couchsurfing เลยเกิดความระแวงว่าจะปลอดภัยจริงหรือ ดังนั้น เพื่อความสบายใจเราจึงติดต่อกับทาง Student Worker และสตาฟฟ์ดูแลนักเรียนนานาชาติของคอลเลจ เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าเราจะเดินทางไปถึงเมื่อไหร่ ไปพักที่ไหนกับใคร เผื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด อย่างน้อยก็มีคนรับรู้และอาจส่งความช่วยเหลือมาถึงได้บ้าง

การเจอแมรี่ครั้งแรกให้ความรู้สึกเหมือนการนัดเจอเพื่อนใน MSN สมัยตอน ม.ต้น มันทั้งตื่นเต้น แต่อีกใจหนึ่งก็กังวลและเขินแปลกๆ หลังจากที่เราทักทายกันและเดินทางไปยังที่พักของแมรี่ เธอก็เล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเมืองยูจีนและประสบการณ์การเดินทางของตนเองให้เราฟัง

แมรี่เล่าว่า เธอเคยเดินทางไปประเทศไทยมาก่อน เธอชอบประเทศไทยมาก ถึงจะร้อนจนเหงื่อไหลทุก 5 นาที ก็ตาม แต่ในระหว่างทัวร์ก็เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้น เมื่อมีผู้ชายคนหนึ่งทำตัวท้าทายไกด์คนไทยและไม่เคารพในวัฒนธรรมของไทยเท่าไหร่ เขาเอาแต่ตะโกนถามเรื่องราวที่ไม่ควรพูดถึงและก่อกวนพูดแทรกในเรื่องเดิมๆ ทุกครั้งที่ไกด์พยายามเบี่ยงเบนความสนใจ ท้ายที่สุดทั้งไกด์และลูกทัวร์คนอื่นๆ ก็หมดความอดทนกับตาคนนี้ จนถึงขั้นที่ทุกคนพร้อมใจกันขู่และต่อว่าเขาว่า ถ้าเขายังทำตัวน่ารังเกียจแบบนี้อีกจะถูกเตะออกจากรถทัวร์และไม่สามารถขอเงินคืนจากทัวร์ได้อีกด้วย

ครั้งแรกที่เรารู้จักคนแปลกหน้าผ่าน Couchsurfing จึงเป็นไปได้ค่อนข้างดี เนื่องจากจุดประสงค์ของ Couchsurfing ไม่ใช่แค่การหาที่พักฟรี แต่เป็นการเปิดโอกาสให้นักเดินทางและคนท้องถิ่นได้สร้างมิตรภาพและแลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่กันและกัน เลยทำให้เราซึ่งหลงรักการเดินทางโคจรมาเจอกับคนที่รักการเดินทางเหมือนกัน พอได้จับเข่าคุยกันแล้ว ก็เลยคุยกันง่ายมากๆ ทำให้ความกังวลที่สะสมมาตอนแรกของเราละลายหายไปหลังจากได้พูดคุยกับแมรี่

แมรี่อาศัยในอพาร์ตเมนต์ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่ที่เราพักเท่าไหร่ ห้องพักของแมรี่เป็นห้องพักเล็กๆ สำหรับคนเดียวที่มีทุกอย่างครบครัน พอเราไปถึงแมรี่ก็อาสาปั่นสมูทตี้และทำอาหารเย็นให้กิน เพราะเธอเห็นว่าเราดูเพลียมากๆ เราสองคนแลกเปลี่ยนเรื่องราวการเดินทางกันไปเรื่อยๆ แต่ด้วยความที่ก่อนหน้าเดินทางมาอเมริกา เราเพิ่งออกจากโรงพยาบาลประกอบกับอาการเจ็ตแล็กที่ตามมา เลยส่งผลให้เราเผลอวูบไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ทุกๆ 20 นาที ประสบการณ์ Couchsurfing วันแรกของเราจึงอาจจะยังทำกิจกรรมร่วมกันกับโฮสต์ได้ไม่เต็มที่เท่าไหร่

Couchsurfing แอปขอนอนโซฟาบ้านคนท้องถิ่น กับทริปของหญิงสาวฉบับเสิร์ชหาในกูเกิลไม่ได้
วันแรกที่บ้านแมรี่กับสมูทตี้ที่เธอปั่นให้กิน

แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยความที่เรากับแมรี่ค่อนข้างเข้ากันได้ดี หลังจากใช้ Couchsurfing ในครั้งนั้น เราทั้งสองคนเลยมักหาเวลาว่างไปแฮงเอาต์และเดินทางด้วยกันอยู่เรื่อยๆ การได้รู้จักแมรี่เหมือนเป็นการเปิดโลกกว้างของเราในอีกแบบ โดยปกติแล้วเรามักจะติดภาพวัฒนธรรมของชาวอเมริกันจากในภาพยนตร์ซะส่วนใหญ่ แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็มีวัฒนธรรมอะไรอีกหลายอย่างที่เหมือนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งที่เราไม่อาจรับรู้ได้ถ้าไม่ได้มาใกล้ชิดคนอเมริกัน

เช่นเดียวกัน แมรี่บอกว่า ตั้งแต่เธอรู้จักเรามาเธอรู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศฝั่งเอเชียมากขึ้นเยอะ โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ก่อนรู้จักเราแมรี่มักจะแยกอาหารเอเชียไม่ออกว่าอาหารแบบไหนเป็นของชาติไหน แต่พอรู้จักเรา แมรี่ก็เข้าใจถึงวัฒนธรรมทางด้านอาหารมากขึ้นและได้ลองอะไรใหม่ๆ เรื่อยๆ

งานวันเกิดแมรี่เราก็ทำขนมโตเกียวและสังขยาไปให้ (ซึ่งไม่ได้คล้ายคลึงกับของจริงเลยแม้แต่น้อย) แต่นั่นเป็นสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจอะเมซิ่งไทยแลนด์ของชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก ถึงขั้นเด็กในงานที่กำลังร้องไห้หยุดร้องไห้เพราะได้กินสังขยาของเรา จนแม่เขาต้องเดินมาถามสูตรว่าทำยังไง

หลังจากใช้ Couchsurfing ไปครั้งแรก เรากับแมรี่ก็ไป Road Trip ที่ Crater Lake ด้วยกัน

การได้รู้จักแมรี่ผ่าน Couchsurfing ก็ทำให้เรากล้าและมั่นใจที่จะใช้ Couchsurfing ในการเดินทางครั้งต่อๆ ไป เพราะเรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้รู้จักคนแปลกหน้าที่มีความชอบคล้ายกัน เสน่ห์ของ Couchsurfing ที่หาไม่ได้จากการเดินทางแบบอื่นคือ การเรียนรู้เรื่องของคนท้องถิ่นผ่านปัจจัยรอบตัว และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพวกเขา

การใช้ Couchsurfing มีจุดประสงค์ค่อนข้างชัดเจน คือเรารับรู้ได้ว่าคนที่เราใช้ Couchsurfing ด้วยกัน เปิดใจเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างและชอบเดินทางเหมือนกัน ดังนั้น มันจึงเป็นเหมือนการคัดสรรคนได้ระดับหนึ่งว่าน่าจะเข้ากันได้

แถมบางโอกาสที่เราได้ออกเดินทางด้วยกัน ยังเป็นประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมมากๆ เพราะเราได้เห็น ได้ไปดู สิ่งที่คนท้องถิ่นสนใจ เพราะฉะนั้น เราจะได้มีประสบการณ์ที่ค่อนข้างพิเศษและได้รับรู้เรื่องราวสถานที่ตรงนั้นแบบฉบับที่บางครั้งเราก็เสิร์ชหาในกูเกิลไม่ได้ โดยที่พวกเราทั้งสองต่างฝ่ายไม่ได้คาดหวังเรื่องเงินจากกันและกัน (เว้นซะแต่ว่าตัวโฮสต์จะตั้งกฎขึ้นมาเอง)

ตอนใช้ Couchsurfing ที่รัฐวอชิงตัน เมืองซีแอตเทิล เราเคยเจอโฮสต์นักธุรกิจคนหนึ่งที่งานยุ่งมาก แต่ก็อยากเปิดบ้านรับนักเดินทางหลายคนจากทั่วโลกเพื่อจะได้รู้สึกว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ โฮสต์คนนี้เขาตั้งกฎว่า ถ้าอยากพักบ้านเขา เราต้องมีสิ่งของมาแลกเปลี่ยน เป็นอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แม้แต่ทิชชูม้วนเดียวก็ยังได้

เราอยากให้ของที่ดูแล้วน่าจะเกี่ยวข้องกับประเทศไทยและใช้ได้จริง เราเลยตัดสินใจแบกเอาน้ำจิ้มไก่และโจ๊กกระป๋องที่เอามาจากไทยไปฝากเขา ตอนแรกเราก็คิดว่าเขาอาจจะงงๆ กับของฝากเรา แต่ที่ไหนได้ โฮสต์เราตื่นเต้นกับของที่เราเอาไปฝากมาก ถึงขนาดที่ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก

ตอนเย็นวันนั้นโฮสต์ของเราเลยรีเควสต์เมนูอาหารไทย โดยเขาเป็นคนเตรียมทุกอย่างให้ เราแค่บอกว่าต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง และเขาจะเป็นคนจ่ายเอง ในเมื่อมีคำเรียกร้องมา เราก็จัดให้ เย็นนั้นหลังจากที่เรากลับมาจากการเดินทางแล้ว เราเลยต้องกลับไปทำกะเพราไก่ไข่ดาวให้กับโฮสต์และนักเดินทางจากหลากหลายประเทศ เช่น นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เม็กซิโก และประเทศอื่นๆ ได้ลิ้มรสอาหารไทย (ที่ใส่ผงชูรสไปครึ่งซองและไม่มีใบกะเพราแม้แต่ใบเดียว) กันอย่างเอร็ดอร่อย ถือเป็นการแนะนำครัวไทยสู่ครัวโลกไปในตัว

กะเพราที่ไม่มีอะไรใกล้เคียงความเป็นกะเพราเลยแม้แต่น้อย แต่ทุกคนก็ยังชมว่าอร่อย เพราะไม่มีใครเคยกินกะเพราของจริงมาก่อน รอดตัวไป

สุดท้ายแล้ว การใช้ Couchsurfing ทำให้เราพบความคาดไม่ถึงอย่างหนึ่ง คือข่าวการใช้ Couchsurfing ของเรากลายเป็นที่โจษจันกันในกลุ่ม Student Worker ในคอลเลจที่เราไปเรียน เพราะตั้งแต่คอลเลจเปิดโปรแกรมสำหรับนักเรียนนานาชาติมาหลายปีจนถึงปัจจุบัน เราเป็นนักเรียนนานาชาติคนแรกและคนเดียวที่ใช้ Couchsurfing ในการเดินทางมาอเมริกา (แหงล่ะ! คนอื่นไม่มีใครเด๋อจนจองตั๋วผิดถึง 2 ครั้งติดกันจนหมดตัวนี่)

วันหนึ่งขณะที่เรานั่งเล่นอยู่ที่ Common Room ในอพาร์ตเมนต์ก็มี Student Worker คนที่เป็นคนรับเรื่องประสานงานให้กับทางโรงเรียนอีกทอดเดินมาคุยกับเรา เขาบอกว่า ตอนที่เขาคุยกับเราแล้วรู้ว่าเราใช้ Couchsurfing หาโฮสต์ไปพักด้วยเพราะจองตั๋วเครื่องบินผิด เขารู้สึกว่าเราเท่มาก เพราะถึงแม้เขาจะทำงานเป็น Student Worker ที่คอลเลจนี้มาหลายเทอม แต่เขาก็เพิ่งเคยเจอเคสเราที่เป็นนักเรียนนานาชาติคนแรกและคนเดียวที่กล้าทำอะไรบ้าบอแบบนี้ จนเขารู้สึกว่ายังไงก็ต้องหาโอกาสเดินมาบอกเรารู้ให้ได้ว่า

“Just so you know, you are the coolest international student that I ever met!”

ถึงแม้การใช้ Couchsurfing ครั้งนี้จะเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการจองตั๋วเครื่องบิน แต่มันกลับเป็นการผิดพลาดที่สวยงามจนกลายเป็นหนึ่งในความทรงจำที่น่าจดจำในอเมริกาสำหรับเรา ทำให้เรารู้จักคนแปลกหน้าที่น่ารักหลายคน ก้าวข้ามเขตแดนของความแตกต่างด้านอายุ ศาสนา เชื้อชาติ จากคนหลากหลายทั่วโลก ได้เรียนรู้มุมมองการเดินทางของคนอื่น ได้เห็นสายตาที่เป็นประกายของพวกเขาเวลาเล่าเรื่องเดินทางที่ตัวเองรัก ได้แชร์ประสบการณ์การเดินทางด้วยกันอย่างออกรส

และเราก็ยังตื่นเต้นกับการได้เห็นสไตล์การตกแต่งบ้านที่สอดแทรกไลฟ์สไตล์และเรื่องราวในชีวิตของพวกเขาด้วย เรารู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนที่ช่วยแง้มโลกใบแคบของเราให้กว้างขึ้น และทำให้เราได้สัมผัสในสิ่งที่เราไม่อาจเรียนรู้ถ้าเราไม่ได้โคจรมาเจอกับพวกเขา

นี่แหละมั้ง เสน่ห์จากการเดินทางผ่าน Couchsurfing ที่ทำให้ประสบการณ์การเดินทางของเรามีความสนุกแบบที่คาดไม่ถึงตลอดเวลา

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

วิศัลลยา เกื้อกูลความสุข

นักเรียนไทยในต่างแดน มีความฝันว่าอยากทำงานด้านท่องเที่ยวและเล่นดนตรีไปรอบโลก