คอสตาริกาเป็นประเทศเล็กๆ ในอเมริกากลาง
ที่นี่ประกาศเขตป่าสงวนมากถึงร้อยละ 25 ของประเทศ เป็นผู้นำเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco Tourism) และกฎหมายห้ามล่าสัตว์ทุกชนิด และจะเป็นประเทศที่ Plastic-free รวมถึง Carbon-free ภายในปี 2021
เรามีโอกาสไปเยือนคอสตาริกาเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนหัวข้อ Power Sustainability ในมุมมองภูมิสถาปนิกไทย
เราต่างอยู่ในเขตร้อนเหมือนกัน พืชพรรณและทรัพยากรคล้ายคลึงกัน จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้ ‘คอสตาริกาโมเดล’
คอสตาริกามีกาแฟชั้นยอด งอกงามด้วยดินภูเขาไฟ มีการเกษตรและการท่องเที่ยวเป็นหัวใจหลักในการสร้างรายได้ คล้ายประเทศไทย แม้จะขยายการท่องเที่ยวจนรายได้เพิ่มพูน แต่การพัฒนาของเขาไม่สร้างปัญหาให้ทรัพยากร กลับยิ่งทำให้ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์
คอสตาริกาเป็นประเทศที่เล็กกว่าไทย 10 เท่า และมีประชากรเพียง 5,000,000 คน ที่นี่เน้นความพอดีและการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพระดับพรีเมียม สวนกระแสหลายประเทศที่เร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดเวลา
เบื้องหลังความเขียว…เขาแลกมาด้วยอะไร
โมเดลพัฒนาประเทศที่ไร้กองกำลังทหารกว่า 70 ปี
คอสตาริกาไม่มีกองกำลังทหาร หลายคนคงคิดว่ามาจากการแพ้สงครามหรือด้วยเหตุผลทางการเมืองที่บีบคั้น แต่แท้จริงแล้ว เกิดจากความคิดง่ายๆ ที่กระหายสันติภาพ ไม่อยากทำสงคราม เพราะเป็นเรื่องสิ้นเปลือง ซึ่งเป็นความคิดที่ถือว่าสวนกระแสอย่างมากในยุคสงครามเย็น
ในยุคที่เป็นอาณานิคมของสเปน คอสตาริกาเป็นเพียงเมืองทางผ่าน มีขนาดเล็ก และไม่มีจุดเด่นด้านการเมือง น่าจะเป็นช่วงที่ทำให้คอสตาริกาได้ก่อร่างสร้างความคิดที่หลุดกรอบเรื่องการทหาร อำนาจ หรือหลักคิดทางการเมือง ต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน
ในยุคสงครามเย็น เหล่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัวเตมาลา ฮอนดูรัส เอลซัลวาดอร์ และนิการากัว เน้นการพัฒนากองกำลังทหาร แต่กลับเต็มไปด้วยปัญหาสงครามกลางเมือง ความขัดแย้ง ความยากจน ความรุนแรง ผู้คนลี้ภัยออกนอกประเทศ และปัญหาทุจริตของผู้นำ
ส่วนคอสตาริกาภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีโอสการ์ อาเรียส (Óscar Arias Sánchez) มองว่าคอสตาริกาเป็นประเทศเล็กที่มีงบประมาณจำกัด ควรนำงบประมาณมาใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ น่าจะเหมาะสมกว่าลงทุนในกองกำลังทหาร ที่นำมาซึ่งความทุกข์และปัญหาไม่รู้จบเหมือนเพื่อนบ้าน
คอสตาริกาจึงไม่มีกองกำลังทหารมาตั้งแต่ พ.ศ. 2492 หรือ 70 ปีก่อน แล้วนำงบประมาณมามุ่งพัฒนาประเทศด้านการศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อมแทน
แล้วคอสตาริกาได้อะไรกลับมา
คอสตาริกาเป็นประเทศแรกในแถบอเมริกากลางที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีอันดับต้นๆ ของประเทศละแวกนั้น เป็นประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Care) และมีระบบการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดในแถบประเทศอเมริกากลาง
เมื่อประเทศเล็กๆ ไร้ทหาร การทูตและการเจรจาจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องทำให้ดีและแนบเนียน คอสตาริกาผูกปิ่นโตความปลอดภัยทางทหารกับประเทศสหรัฐอเมริกา และถ่วงดุลอำนาจกับหลากหลายประเทศ การเป็นมิตรกับมหาอำนาจหลากฝ่ายเป็นการป้องกันประเทศที่ดีที่สุดและสันติที่สุด
การตัดสินใจของผู้นำจึงต้องอยู่บนหลักคิดเพื่ออนาคตของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงอนาคตของตน โอสการ์ อาเรียส เชื่อว่าประวัติศาสตร์จะถูกเขียนขึ้นใหม่ได้ก็ต่อเมื่อ ‘Leave us in peace’ หรือ ‘ปล่อยให้เราอยู่ในความสงบด้วยสันติภาพ’ เท่านั้น และท่านก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแบบไร้ข้อกังขาจากความพยายามยุติวิกฤตการณ์อเมริกากลาง

ไกด์ท้องถิ่นภูมิใจในสิ่งนี้มาก ถึงกับขับรถมาจอดหน้าโรงเรียนท้องถิ่นเพื่อยืนยันว่าการศึกษาที่นี่ดี และฟรี เพราะไม่ต้องเสียงบประมาณไปกับการพัฒนากองกำลังทหาร นี่คือสิ่งที่ประเทศเล็กๆ พิสูจน์ให้คนทั้งโลกเห็นว่าทำได้จริง
จากป่าเมฆ สู่ชายหาด
คอสตาริกามีระบบนิเวศที่หลากหลาย ตั้งแต่ป่าเมฆ ภูเขาไฟ พื้นที่ชุ่มน้ำ และชายหาดที่สวยงาม
พื้นที่ 1 ใน 4 ของประเทศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งครอบครองโดยรัฐ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนพื้นที่อนุรักษ์มากที่สุดในโลก สิ่งนี้เกิดจากการเรียกร้องของประชาชนใน พ.ศ. 2513 ให้เก็บมรดกทางธรรมชาติเพื่อคนรุ่นต่อไป บ่งชี้ได้ถึงความตั้งใจในการผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของประเทศ อุทยานแห่งชาติเหล่านี้ยังเป็นสถานที่วิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและสัตว์ป่าหายากของนักวิจัยทั่วโลก


คอสตาริกาขนาบด้วยมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลแคริบเบียน จึงประสบปัญหาขยะทะเล ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก ที่นี่จึงมีการออกกฎระเบียบเพื่อรักษาความสะอาด และบังคับใช้อย่างเข้มงวด เพื่อดูแลทะเลซึ่งเปรียบเสมือนสมบัติส่วนกลางของชาติ

ในการเดินทางครั้งนี้ เราตั้งใจไปเยือน Manuel Antonio National Park อุทยานแห่งชาติที่เล็กที่สุดของคอสตาริกา แต่มีจำนวนผู้เข้าชมเยอะที่สุด เพราะความสมบูรณ์และความหลากหลายของสัตว์ป่า
อีกเหตุผลที่ยอมนั่งรถทัวร์ไป-กลับ 8 ชั่วโมง จากเมืองหลวงซันโฮเซ เพราะอยากเห็นน้องสลอธที่มีความตาห้อย อมยิ้มหน้าง่วง และความชิลล์ขั้นสุด เพราะเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ความน่ารักทำให้มันกลายเป็นมาสคอตอันดับหนึ่งของประเทศ เหนือน้องลิง น้องเสือ และนกเงือก ในสายตานักท่องเที่ยวอย่างเรา


อีกน้องที่สร้างความประทับใจคือ น้องฮัมมิงเบิร์ด น้องคือนกที่เหมือนแมลง มีอัตราเมแทบอลิซึมระหว่างช่วงที่ตื่นและหลับต่างกันสูงมาก เวลาน้องนอนจึงเหมือนจำศีล ไม่ใช่แค่นอนธรรมดา แต่หลับเป็นตาย สิ่งที่เราเห็นตามโฆษณาน้ำดื่มอาจจะไม่ถูกนัก เพราะน้องชอบน้ำหวานไม่ใช่น้ำจืด เนื่องจากต้องตีปีกถึง 70 ครั้งต่อวินาที จึงต้องอาศัยน้ำหวานมาช่วยสร้างพลังงาน ฮัมมิงเบิร์ดเป็นนกที่มีอายุเพียง 3 ปี อาจเพราะการใช้พลัง และหัวใจที่เต้นแรงขนาด 250 ครั้งต่อนาที เหมือนน้องตื่นเต้นตลอดเวลา

ก่อนเข้าไปในอุทยานแห่งนี้ นักท่องเที่ยวต้องถูกตรวจกระเป๋าอย่างละเอียด ห้ามนำอาหาร ขยะ และขยะที่มากับอาหาร เข้ามาในพื้นที่ การนำอาหารไปป้อนสัตว์ และการนำขวดน้ำพลาสติกเข้าไปจึงเป็นสิ่งต้องห้าม ที่นี่มีบริการเติมน้ำ แต่ไม่มีน้ำขายเป็นขวด
ประสบการณ์ในอุทยานนั้นเขียวจริง เหมือนยังไม่ถูกรบกวนโดยมนุษย์ ได้เพลิดเพลินกับสัตว์น้อยใหญ่ เห็นแล้วก็แอบคิดไม่ได้ว่าทำไมบ้านเขามีป่าฝน ป่าชายหาด แต่ทำไมจึงสร้างภาพจำว่าเต็มไปด้วยสัตว์ป่าได้ ไม่ได้สร้างภาพจำว่าเต็มไปด้วยรีสอร์ต
ปลูกกาแฟชั้นดี จนสร้างสถาปัตยกรรมระดับชาติ
แม้กาแฟจะถูกค้นพบที่ประเทศเอธิโอเปีย ทวีปแอฟริกา แต่วัฒนธรรมกาแฟได้เข้ามาในประเทศคอสตาริกานับร้อยปี ปัจจุบัน คอสตาริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตเมล็ดกาแฟที่ดีที่สุดในโลก ด้วยภูมิประเทศแบบภูเขาสูงและภูมิอากาศแบบป่าฝน บวกกับดินภูเขาไฟที่ปักอะไรก็งอกงาม ตามสูตรดิน น้ำ ฟ้า อากาศ ที่พอเหมาะต่อกาแฟอาราบิก้า

คอสตาริกามีกฎหมายว่าต้องปลูกเฉพาะกาแฟอาราบิก้า 100 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เป็นการเล่นของดี เน้นตลาดบน เน้นคุณภาพที่ดีที่สุด และราคาที่ดีที่สุด กาแฟจากเขต Tarrazu ในคอสตาริกา จึงขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในกาแฟที่ดีที่สุดและแพงที่สุดในโลก เพราะเมล็ดมีรสที่กลมกล่อม มีความเป็นกรดที่พอเหมาะ มีกลิ่นหอมหวน นับเป็น 1 ใน 8 รสชาติ จาก 8 ภูมิภาคที่ปลูกกาแฟชั้นเลิศของคอสตาริกา
การไปเที่ยวไร่กาแฟจึงเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยว ถ้าไม่ไป ถือว่ามาไม่ถึง
ความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมกาแฟและความภูมิใจในชาติยังทำให้เกิดโรงมหรสพแห่งชาติ (National Theatre of Costa Rica) ที่งดงาม หรูหราอลังการงานสร้าง เป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกที่ยืนตระหง่านกลางเมืองซันโฮเซ
ในสมัยนั้น เมืองซันโฮเซเป็นเพียงเมืองเล็กที่ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง นักแสดงทั้งหลายจึงปฏิเสธที่จะมาแสดงที่นี่ เพราะคิดว่าถ้ามาเล่นที่เมืองเล็กๆ ในโรงละครเล็กๆ คงเสียชื่อเสียง การถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าสร้างความน้อยใจให้ชาวคอสตาริกามาก เมื่อไม่มีมหรสพ ชาวสเปนและนักท่องเที่ยวก็มองข้าม ไม่มาเยือน แม้ว่าจะมีกาแฟดีเพียงใดก็ตาม
ในพ.ศ. 2440 กลุ่มพ่อค้ากาแฟจึงจับมือกันระดมเงิน สร้างระบบจัดเก็บภาษีกาแฟของตัวเอง เพื่อระดมทุนสร้างโรงมหรสพอันคู่ควรที่เราเห็นความงดงามมากับตา แต่สิ่งที่เราอมยิ้มให้กับชาวคอสตาริกาคือ การพลิกมุมริเริ่มทำอะไรดีๆ ทุ่มเทสุดตัว จนเรื่องการสร้างชาติและการปลูกกาแฟกลายเป็นเรื่องเดียวกัน

เมื่อมีน้อยและมีสิ่งเดียว จึงหวงแหนดั่งชีวิต
คอสตาริกาเป็นประเทศเล็ก แต่เล็กพริกขี้หนู ในด้านการสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างเอกลักษณ์ พัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์อย่างกลมกลืน ครั้งหนึ่งเคยยืนกรานสวนกระแส พัฒนาประเทศด้วยสันติภาพ แทนที่จะเป็นสงคราม ครั้งนี้พวกเขายืนหยัดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และประกาศเรื่องการปลอดขยะพลาสติก
โจทย์ขยะพลาสติกช่างดูท้าทาย แต่ขอให้ความเล็ก ความรู้คุณธรรมชาติ และความเป็นผู้นำในการทำสิ่งดีๆ แบบทำจริง ทำก่อน ทำไว ของคอสตาริกา จุดประกายให้อีกหลายประเทศ ก่อนที่ธรรมชาติจะสูญไปแบบไม่หวนคืน
Write on The Cloud
Trevlogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ