ภาพจำโดยทั่วไปเมื่อเราพูดถึงชาวอียิปต์ก็คงเป็นเรื่องของฟาโรห์ พีระมิด สฟิงซ์ หรือแม่น้ำไนล์ แต่ถ้าถามต่อไปว่า ชาวอียิปต์ในปัจจุบันนับถือศาสนาอะไร คงจะตอบได้ทันทีว่า ก็น่าจะเป็นศาสนาอิสลามตามแบบฉบับของราชวงศ์ฟาติมียะฮฺที่เคยปกครองอียิปต์มานานช้า
แต่ถ้าถามต่อไปถึงศาสนาคริสต์ในอียิปต์ เรามีภาพจำอะไรบ้าง อียิปต์มีคริสต์ศาสนิกชนด้วยหรือ หรืออาจจะสงสัยต่อไปว่า แล้วในกรุงเทพฯ มีชุมชนชาวอียิปต์ด้วยหรือ วันนี้จะพาไปเยี่ยมชนชุมชนน้อย ๆ ของ ‘ชาวคอปติก’ (Coptic) คริสต์ศาสนานิกายโบราณที่ยังคงยืนหยัดอยู่ท่ามกลางวิถีชีวิตแบบมุสลิม และเมื่อบางคนเดินทางย้ายสำมะโนครัวมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ พวกเขาก็นำศรัทธาในแบบฉบับของตนเข้ามาปฏิบัติต่อไป ท่ามกลางความหลากหลายของเมืองใหญ่แห่งนี้
คอปติกคืออะไร
อียิปต์ แม้ว่าจะมีประชากรชาวมุสลิมเป็นกลุ่มหลัก แต่ก่อนหน้าที่พวกเขาจะหันมานับถือศาสนาอิสลาม พวกเขาเคยนับถือศาสนาหลากหลายมาก่อน เริ่มแรกสุดก็คือ ‘ศาสนาอียิปต์โบราณ’ ซึ่งประกอบด้วยการบูชาทวยเทพ อย่างไอซิส โอซิริส รา ฯลฯ และด้วยความที่มีเขตแดนติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้เมื่อโรมันเรืองอำนาจ พวกเขาก็จัดการยึดอียิปต์เป็นเมืองขึ้นเสีย
วัฒนธรรมโรมันผสมกลมกลืนกับศาสนาอียิปต์สร้างสรรค์เทพเจ้าใหม่ ๆ ขึ้น และเมื่อศาสนาคริสต์เข้ามามีบทบาทกลายเป็นศาสนาหลักในอาณาจักรโรมัน ศาสนาใหม่นี้ก็แผ่ขยายเข้ามายังดินแดนอาณานิคมด้วย โดยเฉพาะในบริเวณเมืองท่า อย่างเช่นเมืองอเล็กซานเดรีย เกิดการล้มล้างศาสนาโรมันผสมอียิปต์ดั้งเดิมออกไป
อียิปต์และแอฟริกาเหนือจึงกลายเป็นเมืองคริสต์ศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองภายใต้อิทธิพลจากโรมันตะวันออก บ่มเพาะนักปราชญ์ทางศาสนาและนักบุญในคริสต์ศาสนาจำนวนมากมาย ในยุคต้น ๆ เกิดนักบุญจำนวนมาก ที่มักจะลงชื่อท้ายด้วยคำว่า ‘แห่งอเล็กซานเดรีย’ หรือ ‘แห่งอียิปต์’ เช่น เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย หรือ มารีย์แห่งอียิปต์ ฯลฯ
ทว่าคริสต์ศาสนาในอียิปต์ก็มีลักษณะเฉพาะตัวและแยกตัวออกจากศูนย์กลางที่กรุงโรมอย่างชัดเจน จนเกิดเป็นนิกายใหม่ที่เรียกว่า คอปติก ปัจจุบันอาจจัดเป็นหนึ่งในสาขาของนิกายออร์โธดอกซ์ พวกเขาสืบทอดประเพณีที่ว่า นักบุญมาระโก หรือ เซนต์มาร์ก (St.Mark) หนึ่งในผู้นิพนธ์พระวรสาร (หนังสือเรื่องราวชีวิตพระเยซู) เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่นี่ และมีการดัดแปลงศาสนสถานอียิปต์-โรมันดั้งเดิมให้เป็นโบสถ์คริสต์
ในปัจจุบัน พวกเขายังรักษาความเชื่อดั้งเดิมเอาไว้อย่างกลมกลืนท่ามกลางประชากรกลุ่มใหญ่ที่เป็นมุสลิม ชุมชนคอปติกจึงเป็นแหล่งเดียวที่บริโภคเนื้อหมูได้ในอียิปต์ และยังคงใช้ภาษาคอปติกซึ่งเป็นภาษาที่สืบต่อมาจากภาษาอียิปต์โบราณ ยังรักษาไว้ได้ในพิธีกรรมทางศาสนา (เพราะปัจจุบัน ชาวอียิปต์หันไปพูดภาษาอาหรับตามแบบชาวมุสลิม) ปัจจุบันมีประชากรที่ยังสำรวจไม่แน่นอนระหว่าง 4 – 10 ล้านคน คิดเป็น 10 เปอร์เซนต์ของชาวอียิปต์ทั้งหมด ยังไม่รวมชาวคอปติกโพ้นทะเลที่อพยพออกไปตั้งรกรากในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย รวมทั้งบางส่วนของประเทศไทยด้วย
พวกเราได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมเยือนชุมชนคอปติกในกรุงเทพฯ ณ โบสถ์เซนต์มาร์กและเซนต์จอร์จ ห้องนมัสการของโบสถ์นั้นเป็นบ้านเช่าหลังใหญ่ในโซนลาดพร้าว นิกายคอปติกได้รับการจัดตั้งในรูปแบบมูลนิธิตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และมีการประกอบพิธีกรรมสม่ำเสมอ โดยเชิญบาทหลวงที่เรียกกันว่า อบูน่า เดินทางมาจากออสเตรเลีย
ก่อนเข้าโบสถ์ เราแตะที่พระรูปพระเยซูคริสต์และคุกเข่าลงกราบตามธรรมเนียมของชาวคอปติก
“พวกเราไม่ได้ประกอบพิธีกรรมทุกสัปดาห์ตามแบบคริสตชนทั่วไป เพราะนักบวชต้องเดินทางมาจากออสเตรเลียครับ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงทีเดียว” ศาสนิกท่านหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามบอกเรา
โบสถ์แห่งนี้จึงมีศาสนิกผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลในยามที่ไม่มีบาทหลวง และแลกเปลี่ยนข่าวสารการนัดหมายกันทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งก็ได้ข่าวว่ามีโครงการที่จะเชิญนักบวชสักท่านมาพำนักถาวรที่นี่
“ส่วนมากพวกเราทำงานในกรุงเทพฯ บางคนก็มีภรรยาเป็นคนไทย และเป็นข้อกำหนดว่าเมื่อจะแต่งงาน ทั้งคู่ต้องนับถือศาสนาคริสต์นิกายคอปติกเหมือนกัน ดังนั้น การมีโบสถ์ในไทยส่วนหนึ่งนอกจากเป็นการประกอบพิธีกรรมแล้ว ยังอำนวยความสะดวกให้กับคู่รักที่ต้องการประกอบพิธีแต่งงานด้วย”
ในวันนี้ เราได้สังเกตพิธีรับบัพติศมา (พิธีศีลล้างบาปเพื่อเข้าสู่คริสต์ศาสนา) ของ คุณซี สาวไทยผู้กำลังจะเข้าพิธีแต่งงานกับหนุ่มอียิปต์ การรับบัพติศมาของคุณซีนั้นต้องจุ่มตัวลงในน้ำทั้งตัวในอ่างใหญ่ เธอต้องคอยเอาน้ำร้อนผสมลงไปเพื่อไม่ให้น้ำในอ่างเย็นจนชวนหนาว บาทหลวงเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์บริเวณมือและเท้า รวมทั้งปากและหลังใบหูของเธอด้วย ทั้งหมดเพื่อป้องกันตัวเธอจากความชั่วร้ายของปีศาจ
เมื่อพิธีบัพติศมาจบแล้ว สาวอียิปต์ผู้หนึ่งที่นั่งข้าง ๆ บอกเราว่า ต่อไปไม่ต้องตกใจนะ แล้วเธอก็เป่าปากรัวลิ้นเสียงดังลั่น ก่อนหันมายิ้มให้เราอย่างอาย ๆ บอกว่านี่คือวิธีการแสดงความยินดีของสาวอียิปต์ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานหรือพิธีรับศีลล้างบาปก็ต้องรัวลิ้นแบบนี้ ไม่น่าเชื่อว่าแม้จะจากบ้านมาไกล พวกเขาก็ยังรักษาความศรัทธาได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งยังเอ่อล้นด้วยสีสันของวัฒนธรรม
“หลายคนที่นี่ไม่ได้มาจากอียิปต์โดยตรง แม้ว่าจะมีปู่ย่าตายายเกิดที่อียิปต์ แต่บางคนก็ทำงานในยุโรปก่อนย้ายมาไทย เด็กหนุ่มชาวคอปติกส่วนมากเติบโตแบบใกล้ชิดศาสนา มักจะถูกฝึกหัดให้เป็น Altar Boy หรือผู้ช่วยพิธีกรรมตั้งแต่เล็กแต่น้อย พวกเราจึงจำขั้นตอนต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าพิธีจะยาวกว่า 2 ชั่วโมงก็ตาม”
เมื่อโลกเปลี่ยนไป สมาร์ตโฟนถูกใช้ในการบันทึกคำสวดต่าง ๆ แทนหนังสือเล่มหนาหนัก แต่ก็ทำหน้าที่ทดแทนกันได้ไม่เคอะเขิน ภาพของพ่อที่กำลังหัดให้ลูกชายตัวน้อยช่วยประกอบพิธีอย่างคล่องแคล่วนั้น ทำให้มองเห็นถึงอนาคตของเด็กชายที่จะเป็นผู้รักษาความเชื่อของชุมชนต่อไป
‘อบูน่า’ หรือบาทหลวงในชุดจารีตสีขาว ใส่หมวกทรงสูง ซึ่งในนิกายคอปติกนี้ บาทหลวงทั่วไปใส่หมวกทรงสูงได้ แตกต่างจากบิชอป (หรือสังฆราช) ของคาทอลิก พิธีกรรมเริ่มขึ้นจากการสวดทำวัตร แล้วจึงตามด้วยการนมัสการที่คล้ายกับพิธีของนิกายออร์โธดอกซ์ ควันกำยานหอมตลบอบอวล ขับย้อมบรรยากาศให้ห้องนมัสการดูเปี่ยมมนต์ขลัง ท่ามกลางควันสีขาวหนาแน่น เสียงสวดด้วยสำเนียงรัวเร็วประกอบเสียงฉาบ ให้ความรู้สึกเป็น ‘ตะวันออก’ นอกจากการร้องเพลงด้วยเสียงมนุษย์แล้ว ฉาบดูเหมือนจะเป็นเครื่องดนตรีชนิดเดียวที่ใช้ในพิธีกรรม ไม่มีออร์แกนหรือวงดนตรีป๊อปแบบนิกายอื่น ๆ แม้ว่าจะฟังภาษาคอปติกโบราณไม่เข้าใจ แต่เราก็ยังมีส่วนร่วมในการภาวนาได้
หลังจบพิธี ผมถามศาสนิกท่านหนึ่งถึงความแตกต่างทางความเชื่อระหว่างคอปติกกับนิกายอื่น ๆ คำตอบมีเพียงการยักไหล่และตอบว่า “เป็นเรื่องทางการเมืองของคนโบราณ” พวกเรามีพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางไม่ต่างจากนิกายใด ๆ ทัศนะที่ค่อนข้างเปิดกว้างเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะเชิญชวนให้เราเข้าร่วมพิธี ‘มหาสนิท’ ด้วย เมื่อบาทหลวงเชิญขนมปังที่เสกแล้วออกจากห้อง Holy of Holy (อาจจะแปลว่า วิสุทธิสถาน) ซึ่งเป็นห้องประกอบพิธีกรรมชั้นในสุด อบูน่าก็กวักมือให้พวกเราไปรับกินขนมปังก้อนเดียวกันโดยไม่เคอะเขิน ความเปิดกว้างอย่างนี้อาจจะไม่คุ้นชินนักสำหรับโลกที่แตกออกเป็นนิกายต่าง ๆ ในปัจจุบัน แต่ก็น่าจะเก็บคำถามไว้ในชั้นลึกที่สุดของความคิดดีกว่า