เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่ผม ผู้เขียนคอลัมน์วัตถุปลายตา อยากจะข้ามมันไปให้พ้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงกลางเดือน

ประกอบกับการต้องสรรหาเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในวัตถุใกล้ตัวมาบอกเล่าผู้อ่าน The Cloud ให้น่าสนใจทุกๆ เดือนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งถ้าต้องพยายามหาเรื่องที่ตรงกับเหตุการณ์ของสังคมในแต่ละช่วงเวลาด้วยแล้วล่ะก็

ที่ใดมีรัก ที่นั้นมีทุกข์ – นี่คือคาถาสำคัญในการบอกตัวเองก่อนนอนในเดือนกุมภาพันธ์ เดือนที่ฟีดบนโทรศัพท์มือถือเปรียบเสมือนยาขม

หากต้องสำรวจความรู้สึกของตัวเอง ในฐานะคนโสดและไม่โรแมนติก การต้องเห็นพฤติกรรมของคู่รักที่แลกดอกไม้ ของขวัญ ช็อกโกแลต ในเดือนแห่งความรักนี้ มันน่าจะเต็มไปความอิจฉา ริษยา ตามประสาคนไร้คู่มานานหลายปี

ถึงกระนั้น เดือนนี้ผมตัดสินใจโยนกุหลาบและช็อกโกแลตทิ้ง แต่หยิบเอาความเข้มข้นและความหวานที่อยู่คู่ถ้วยกาแฟโกปี๊และปาท่องโก๋ อย่างนมข้นหวานมาเล่าแทน เพราะในประวัติศาสตร์ของความข้นหวานของมันนั้น จริงๆ แล้วไม่หวานอย่างที่ทุกคนคิด

เรื่องราวขาวข้นหวานมัน ประวัติศาสตร์นมข้นหวานที่เกิดจากความตายบนเรือโดยสาร
นมข้นหวาน เพื่อนซี้ของปาท่องโก๋

เหมาะกับผู้เขียน ชีวิตขมๆ อย่างกระผม ในเดือนที่ต้องปั่นต้นฉบับ พร้อมไปกับหลีกเลี่ยงการดูโซเชียลมีเดียของเพื่อนๆ ที่มีคู่ทุกคนเสียนี่กระไร

แรงบันดาลใจจากความตาย

หากต้องเล่าเรื่องไม่หวานของนมข้นหวาน แน่นอนว่าเราจะไม่กล่าวถึงบิดาผู้ให้กำเนิดนมข้นหวานย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความตาย ซึ่งกลายเป็นจุดชนวนให้เขาลุกขึ้นมาคิดค้นนมข้นหวาน

มนุษย์เราค้นหาวิธีการถนอมอาหารมาตลอดหลายพันปี เพื่อเก็บสะสมอาหารไว้รับประทานในช่วงเวลาที่ยาวขึ้น และไม่มีอาหารให้รับประทานได้ หนึ่งในนวัตกรรมของการถนอมอาหารที่ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 คือนมข้น และใครจะไปเชื่อว่า การคิดค้นครั้งนี้ได้ช่วยชีวิตคน โดยเฉพาะเด็กๆ ได้หลายพันคนเลยทีเดียว

เกล บอร์เดน (Gail Borden) นักประดิษฐ์มือสมัครเล่นชาวนิวยอร์ก คือผู้ช่วยชีวิตคนเป็นพันคนเหล่านั้น ผ่านกระบวนการทำให้นมวัวมันข้น และเก็บรักษาได้นานขึ้น

ชายคนนี้เป็นพหูสูต ชีวิตของเขาทำมาแล้วทุกอย่าง ตั้งแต่การร่างแผนที่ของรัฐ Texas จนไปถึงการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ก็ประสบความสำเร็จแค่กลางๆ หลังจากนั้นเขาผันตัวเองไปเป็นนักการเมืองอยู่พักใหญ่ ก่อนมาอุทิศตัวเองกับการคิดค้นการถนอมอาหารในท้ายที่สุด

เกล บอร์เดน (Gail Borden) ชายพหูสูต ผู้คิดค้นนมข้น
เกล บอร์เดน (Gail Borden) ชายพหูสูต ผู้คิดค้นนมข้น

วัวก็เมาเรือเป็นนะ

ก่อน ค.ศ. 1856 นมวัวนั้นรับประทานสดได้เพียงวิธีการเดียว ซึ่งอาจฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่หากเราลองนึกภาพการขนฝูงวัวตัวเป็นๆ ขึ้นเรือเดินทางข้ามมหาสมุทรแล้ว เราจะรู้เลยว่าการพยายามดื่มนมสดๆ ในช่วงเวลานั้นไม่ใช่เรื่องหมูๆ (หรือเรื่องวัวๆ) เสียด้วยซ้ำ

ถึงกระนั้นนมสดก็ยังจำเป็นต่อมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ และเด็กทารกที่ต้องดื่มนม

วัว สิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อเดินทางข้ามมหาสมุทรไม่สามารถผลิตน้ำนม ขณะที่มันกำลังเมาเรืออยู่ หากจะเปรียบกับความรัก ก็คงคล้ายกับมนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่คิดด้วยตรรกะและสมองไม่ได้ในขณะที่ตัวเองกำลังเมารัก

ในทริปหนึ่ง หลังจากการเดินทางกลับจากลอนดอน และได้รับรางวัลเหรียญทองจากการคิดค้นบิสกิตเนื้ออบแห้ง (ที่จริงๆ แล้วไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไหร่ในท้องตลาด) เกล บอร์เดน ผู้ซึ่งไม่เมาเรือ สังเกตเห็นว่าผู้โดยสารเด็กเล็กบนเรือมีนมให้บริโภคไม่พอ

มิหนำซ้ำเขายังได้เห็นภาพสยอง วัวในเรือโดยสารตายจากการติดเชื้อ เด็กๆ หลายคนที่ดื่มนมเข้าไป ก็ล้มตายหลังจากนั้นไม่นาน ราวกับ Ghost Ship

ความตายนี่เอง ทำให้เกล บอร์เดน ตั้งปณิธานว่า เขาจะต้องหาวิธีเก็บรักษานมให้อยู่ได้นาน และสะอาด ปลอดภัยให้ได้

โปสเตอร์โฆษณานมข้นโบราณ จะเห็นว่ามีความสำคัญต่อเด็กๆ มากนะ
โปสเตอร์โฆษณานมข้นโบราณ จะเห็นว่ามีความสำคัญต่อเด็กๆ มากนะ

ห้องทดลองของความข้นหวาน ที่ประทานมาจากพระเจ้า

เกล บอร์เดน จึงกลับมาขังตัวเองอยู่ในห้องทดลองใต้ถุนบ้านที่นิวยอร์กเพื่อจุดมุ่งหมายเดียว คือการช่วยเด็กๆ (และฝูงวัว)

(ผู้เขียนนึกภาพ เอดดี เรดเมน (Eddie Redmayne) ในหนังเรื่อง Fantastic Beasts ตลอดเวลาในการเขียนบทความนี้ ไม่สามารถอธิบายได้เช่นกันว่าทำไม)

เขาเริ่มต้นจากการต้มนมสดหนึ่งแกลลอนใหญ่ในหม้อ จนน้ำค่อยๆ ระเหยออกไป แต่ผลลัพธ์คือเมือกไหม้ๆ สีดำๆ รับประทานไม่ได้ และเขาเองก็รู้ว่าต้องใช้วิธีอื่น

อยู่มาวันหนึ่ง เกลมีโอกาสได้เดินทางไปในดินแดนของ The Shakers หรือที่แปลอย่างเป็นทางการได้ว่า สหสังคมของผู้เชื่อในการปรากฏกายครั้งที่ 2 ของพระคริสต์ (The United Society of Believers in Christ’s Second Appearing) The Shakers ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1747 ในประเทศอังกฤษ และก่อตั้งในสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1780 สมัยก่อนพวกเขารู้จักกันในชื่อ Shakers Quakers เพราะพวกเขามักแสดงอาการสั่นเทาด้วยความปีติยินดีระหว่างการนมัสการพระเจ้า

ชาว Shakers
ชาว Shakers

อ้อ กลุ่ม Shakers นี้จะรักษาพรหมจรรย์ ละกิจกรรมทางเพศนะจ๊ะ เพราะเชื่อว่าชายหญิงคู่แรกคืออดัมและเอวากระทำผิดจนถูกขับลงมาจากอาณาจักรแห่งสวรรค์ก็เพราะตัณหาและการสมสู่ รากฐานของจริยธรรมชาว Shakers จึงสอนให้สำรวมตัวจากตัณหา อยู่อย่างเรียบง่าย และไม่สมสู่ทางเพศจ้า

ย้อนกลับมาที่ผู้มาเยือนอย่างเกล ที่สังเกตเห็นว่า เหล่า Shakers นั้น ใช้วิธีต้มผลไม้เพื่อเอาน้ำออก และเก็บรักษาน้ำผลไม้ไว้ด้วยหม้อสุญญากาศในการเก็บรักษาอุณหภูมิ เกลจึงตั้งสมมติฐานว่า เขาน่าจะใช้วิธีการเดียวกันกับนมวัวสดๆ ได้

หลักการของเขาคือ ของเหลวเช่นน้ำจะเดือดในจุดเดือดที่ต่ำกว่า ในสภาพที่ถูกลดแรงดันลงของหม้อสุญญากาศ พูดง่ายๆ ว่า เขาสามารถหาวิธีต้มนม ไล่น้ำออก ให้มันไม่ไหม้ และเก็บรักษารสชาติไว้ได้

ความนิยมที่มาพร้อมกับสงคราม

เกลกลับมาต้มนมในหม้อสุญญากาศที่อุณหภูมิ 136 องศาเซลเซียส แทนที่จะเป็น 212 องศาเซลเซียสตามปกติ ซึ่งทำให้นมยังคงความขาวและรสชาติเหมือนเดิม อีกทั้งยังเก็บไว้รับประทานได้นานขึ้น ถึงแม้ว่าในตอนนั้น เขาเองจะยังไม่รู้ว่านมมีแบคทีเรียอยู่ แต่เกลก็เรียกนมของเขาว่า ‘ของเหลวที่มีชีวิต’ หรือ Living Fluid ซึ่งฟังดูน่าหวาดเสียวอย่างไรพิกล

เกล บอร์เดน ยังคงมุ่งหน้าพัฒนาหม้อต้มนมสุญญากาศของเขา และหลังจาก 3 ปีของการขังตัวเองอยู่ในใต้ถุนหน้าหม้อต้มนม ใน ค.ศ. 1856 นั้นเขาก็ได้จดสิทธิบัตรของสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นอย่างสำเร็จจนได้

นวัตกรรมหม้อต้มนมของเกล บอร์เดน
นวัตกรรมหม้อต้มนมของเกล บอร์เดน

และคราวนี้ เขาเองก็ตั้งใจที่จะทำเงินจากมันให้ได้ ไม่เหมือนกับสมัยตอนคิดค้นบิสกิตเนื้ออบแห้ง

ถึงกระนั้น หนทางของความรวยจากนมข้น หรือ Condensed Milk ของเขา ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบหรือความหวานแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับสิ่งใหม่อื่นๆ ในโลก ผู้คนในตอนนั้นยังไม่คุ้นชินกับรสชาติของนมข้น เป็นผลให้โรงงานนมข้นหวาน 2 แห่งแรกของเขาไม่ค่อยฮิตติดตลาดเสียเท่าไหร่ เหล่านักลงทุนของเขาหิวเงิน จึงค่อยๆ ถอนตัวออกจากโรงงานของเขาทีละคนสองคน

โชคยังดีว่าเกลได้พบนักลงทุนใจป๋าจากนิวยอร์กคนหนึ่ง ชื่อว่า เจอร์ไมห์ มิลแบงก์ (Jeremiah Milbank) มหาเศรษฐีซึ่งร่ำรวยจากสัมปทานการทำทางรถไฟ ผู้เล็งเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ของตลาดนมข้น และเลือกที่จะลงทุนกับเกลเกือบแสนเหรียญสหรัฐในเวลานั้นด้วยหัวใจที่เชื่อมั่น จนทั้งสองตั้งโรงงาน New York Condensed Milk Company ได้สำเร็จ

เรื่องราวขาวข้นหวานมัน ประวัติศาสตร์นมข้นหวานที่เกิดจากความตายบนเรือโดยสาร
โปสเตอร์โฆษณานมข้นชิ้นแรกๆ ของบริษัท New York Condensed Milk

เมื่อสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1861 ยอดขายของนมข้นจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพราะนอกจากผู้คนต้องการอาหารที่เก็บไว้ได้นานแล้ว กองทหารเองก็ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่เกลและบริษัทของเขาผูกปิ่นโตไว้สำเร็จ เพราะทหารเองก็ต้องการโปรตีนเข้มข้นที่เก็บไว้ได้นานในสนามรบเช่นเดียวกัน

หลังจากสงครามกลางเมืองจบลง เหล่าทหารที่ทยอยกลับบ้านเริ่มชินกับรสชาติของนมข้น ก็ยิ่งทำหน้าที่โฆษณา บอกต่อ ความนิยมของนมข้นเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ส่วนความหวานของน้ำตาลก็ถูกเติมในเวลาต่อมา เพื่อเหตุผลของการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้นอีกเช่นเดียวกัน

เพียงเวลาไม่กี่ปี เกล บอร์เดน ผู้ชายที่ก่อนหน้านี้ทำทุกสิ่งทุกอย่างประสบความสำเร็จครึ่งๆ กลางๆ ก็เปลี่ยนอุตสาหกรรมนมไปได้อย่างสิ้นเชิง

บทบัญญัติ 10 ข้อของชาวนมวัว

Dairyman’s Ten Commandments

อีกหนี่งเหตุผลที่เกลประสบความสำเร็จในวงการนม ก็เพราะเขาเองจริงจังเรื่องความสะอาดเป็นอย่างมาก และต้องการให้บริษัทและโรงงานของเขารักษามาตรฐานและสุขลักษณะอนามัยระดับสูงตลอดเวลา

เรื่องราวขาวข้นหวานมัน ประวัติศาสตร์นมข้นหวานที่เกิดจากความตายบนเรือโดยสาร
“พวกเขาแก้ปัญหานมๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ” – ถ้อยแถลงที่เขียนไว้ในโปสเตอร์โฆษณา

ก่อนหน้านั้น วงการนมสดแทบไม่มีใครสนใจเรื่องนี้กันเลย รถที่ใช้ขนวัวนมเป็นรถคันเดียวกับรถขนมูลอุจจาระ วัวหลายตัวก็ติดเชื้อ เกลตัดสินใจบุกฟาร์มและเริ่มต้นกระบวนการตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำ ต้นนม เพื่อให้แน่ใจว่าวัวที่ส่งนมมาให้โรงงานของเขาอยู่ในสภาพสะอาด ได้มาตรฐานทุกตัว

เขาเองถึงขั้นเขียน ‘บทบัญญัติ 10 ข้อ’ ให้กับเกษตรกรเลี้ยงวัวนม เพื่อเปรียบเสมือนเช็กลิสต์ในการทำงานกับโรงงานของเขา ยกตัวอย่างที่ผู้เขียนไปเสาะหามา ได้แก่ 

หนึ่ง จงล้างนมวัวก่อนรีดทุกครั้ง 

สอง อุณหภูมิของนมต้องไม่เกิน 52 องศาเซลเซียส 

สาม จงล้างถังเก็บนมก่อนทุกครั้ง 

และกฎอื่นๆ ที่เข้มงวดอีกมากมาย

ตอนแรกเกษตรกรหลายคนลังเลที่จะปฏิบัติตาม แต่เมื่อเห็นประโยชน์ของการได้ทำงานให้กับเกล ทุกคนก็ยอมจำนนแต่โดยดี

เกลสร้างแบรนด์นมข้นของเขาด้วยชื่อ Eagle Brand Sweetened Condensed Milk ซึ่งประสบความสำเร็จมากมาย และถือเป็นการนำร่องการพาสเจอร์ไรซ์ ก่อนการพิสูจน์และข้อกำหนดทางวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา และที่สำคัญ สิ่งที่เขาคิดค้นนั้นช่วยชีวิตคน ชีวิตเด็กๆ ชีวิตวัว ให้ไม่ต้องเมาเรือ และยังเป็นที่มาวัตถุดิบสำคัญในขนมหวานทั่วโลกอีกด้วย 

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะ Ghost Ship หรือการที่เขาได้พบเห็นความตายบนเรือโดยสารลำนั้นแท้ๆ

เรื่องราวขาวข้นหวานมัน ประวัติศาสตร์นมข้นหวานที่เกิดจากความตายบนเรือโดยสาร
นมข้นบรรจุกระป๋องครั้งแรกของโลก

หวานละมุนละไม อยู่ในทุกตอน

หากผู้เขียนจะต้องสรุปบทความเกี่ยวกับนมข้นหวานให้โรแมนติก สมกับเดือนแห่งความรักแล้วละก็ สิ่งที่เป็น ‘บทบัญญัติแห่งความรัก’ ที่เราน่าจะเรียนรู้ได้จากเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเกล บอร์เดน บิดาผู้คิดค้นนมข้นก็คือ

หนึ่ง ‘ความเข้มข้นนั้นสำคัญพอๆ กับความหวาน’ 

เพราะมันช่วยทำให้ยืดอายุไปยาวนานขึ้นได้อีกหลายเท่าตัว

สอง ‘ตื๊อเท่านั้นที่จะครองโลก’ 

เพราะถ้าเกล บอร์เดน ยอมแพ้ไปตั้งแต่ความล้มเหลวของบิสกิตเนื้ออบแห้งและการต้มนมหม้อแรกแล้วล่ะก็ เราคงไม่มีนมข้นหวานให้ได้รับประทานกัน

สาม ‘บางอย่างก็ต้องรอพระเจ้าประทานมานะ’ 

รีบไปก็เท่านั้น

สี่ ‘เงินนั้นสำคัญเสมอ’

 จงหาเจอร์ไมห์ มิลแบงก์ ใจป๋าในชีวิตของท่าน

เอวัง

ข้อมูลอ้างอิง

www.thevintagenews.com

www.igreenstory.co

Writer

Avatar

ศรัณย์ เย็นปัญญา

นักเล่าเรื่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง 56thStudio ที่รักในความเป็นคนชายขอบ หมารองบ่อน และใช้ชีวิตอยู่ตรงตะเข็บชายแดนของรสนิยมที่ดีและไม่ดีอย่างภาคภูมิมาตลอด 35 ปี ชอบสะสมเก้าอี้ ของเล่นพลาสติก และเชื่อในพลังการสื่อสารของงานออกแบบและงานศิลปะ