ในวันที่ไปไหนมาไหนในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ สะดวกสบายขึ้นกว่าแต่ก่อน เรามีรถไฟฟ้าให้ไปถึงปลายทางได้อย่างรวดเร็ว เรามี Grab ที่พาเราไปส่งได้ทุกที่ การพาตัวเองจากบ้านเพื่อไปทำงานหรือไปเรียนกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก (อาจจะขอยกเว้นเรื่องความติดขัดของการจราจร และราคารถไฟฟ้าที่เห็นแล้วต้องปวดหัว) จริงๆ ยังมีการเดินทางด้วยยานพาหนะอีกชนิดหนึ่งที่ยังมีคนเลือกใช้เพื่อเดินทางไปเรียนกันเป็นกิจวัตร ตั้งแต่ยุคที่ถนนหนทางยังไม่สะดวกเท่าทุกวัน
นั่นคือรถไฟ
รถไฟปู๊นๆ เนี่ยแหละ
ทั้งเป็นรถไฟระหว่างเมืองที่มาจากต่างจังหวัด หรือเป็นรถไฟระยะใกล้ที่วิ่งแค่ในแถบชานเมือง ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นอีกทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกพอตัว
เรากำลังจะไปทำความรู้จัก ‘รถไฟชานเมือง’ หรือ Commuter Train
รถไฟประเภทหนึ่งที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อคนที่พักอาศัยอยู่ในย่านรอบนอกของเมือง แล้วต้องเข้ามาสู่ใจกลางเมืองใหญ่ ด้วยการขนคนได้ทีละมากๆ และมีความปลอดภัยสูง จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รถไฟระบบนี้เป็นทางเลือกของใครหลายคน

ระบบรถไฟชานเมืองเน้นการขนส่งจากใจกลางเมืองใหญ่ออกไปรอบนอก ในระยะวิ่งไม่เกิน 200 กิโลเมตร หรือช่วงเวลาเดินทางไม่เกิน 3 – 4 ชั่วโมง มีสถานีที่อยู่ห่างในระยะที่เราเดินไม่ได้ และรถไฟจอดทุกสถานีที่วิ่งผ่าน (ในบางประเทศมีให้บริการเป็นรถชานเมืองด่วนด้วย) มีคนขึ้นลงตลอดการเดินทาง แตกต่างจากรถไฟระหว่างเมืองที่คนเน้นเดินทางไกลมากกว่า รวมถึงรอบเวลาก็มีมากพอให้เราไม่ต้องรอนานเมื่อพลาดขบวนก่อนหน้า
คำนิยามของ รถไฟชานเมือง รฟท. ได้บอกเอาไว้ว่า มันคือรถไฟที่เข้า-ออก สถานีกรุงเทพและสถานีธนบุรี เดินทางไปปลายทางที่ห่างจากต้นทางไม่เกิน 150 กิโลเมตร และจอดรับส่งผู้โดยสารทุกสถานี ไม่เว้นแม้แต่ป้ายหยุดรถที่เป็นจุดขึ้นลงย่อยๆ
สำหรับ รถไฟชานเมือง ของไทยถือว่าได้รับความนิยมพอสมควร ด้วยราคาประหยัด ใช้เวลาเดินทางไม่นานเมื่อเทียบกับถนน รวมถึงการเจาะเข้ามาถึงในกลางเมือง มันจึงพาคนจากแหล่งที่อยู่อาศัยต่างๆ เดินทางเข้าสู่เมืองได้แบบส่งตรงถึงใจกลาง

ทางที่เธอไป
กรุงเทพมหานครมีปทุมธานีอยู่ด้านเหนือ นครปฐมอยู่ตะวันตก และฉะเชิงเทราอยู่ตะวันออก
การขยายตัวของเมืองทำให้จังหวัดรอบๆ ที่มีอาณาเขตติดกับกรุงเทพฯ แทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน พื้นที่อยู่อาศัยที่เคยอยู่ในไข่แดงของกรุงเทพค่อยๆ กระจายออกไปทั่วทุกทิศ แล้วไปประสานกับกลุ่มชุมชนดั้งเดิมซึ่งกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของเมือง ก็ไม่พ้นเส้นทางคมนาคมทางถนนที่ดูเหมือนจะตัดตามสถานที่ต่างๆ ไปหรือแม้แต่การเปิดเส้นทางใหม่ๆ ให้เมืองเข้าไปหา ถ้าตรงไหนป๊อปปูลาร์หน่อย เส้นทางสัญจรก็มีตัวเลือกหลากหลายรูปแบบ
มาดูเส้นทางรถไฟของกรุงเทพฯ และปริมณฑลกันหน่อย ทุกคนคงมีข้อมูลชุดเดียวกันในหัวแล้วว่า สถานีรถไฟหลักของประเทศไทยก็คือสถานีกรุงเทพ หรือที่เราติดปากเรียกกันว่าหัวลำโพง ทางรถไฟที่มุ่งหน้าไปทั่วทุกภาคของไทยนั้นตั้งจุดสตาร์ทที่นี่ ก่อนจะแยกออกไปทิศทางต่างๆ


ทางรถไฟสายเหนือและสายอีสานจับมือไปทางด้านทิศเหนือ ผ่านพื้นที่การค้าแถบโบ๊เบ๊ ยมราช สามเสน บางซื่อ บางเขน หลักสี่ สนามบินดอนเมือง เข้ารังสิต และวิ่งต่อไปอยุธยา
สายตะวันออก วิ่งไปมักกะสัน หัวหมาก ลาดกระบัง หัวตะเข้ และข้ามจังหวัดออกไปฉะเชิงเทรา
สายใต้ วิ่งไปด้านทิศตะวันตก ผ่านบางซ่อน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปบางบำหรุ ตลิ่งชัน เข้าศาลายา และไปนครปฐม
เห็นไหม แต่ละที่ชื่อคุ้นๆ ทั้งนั้น

ในทุกเช้า ภาพที่เห็นจนชินตาคือขบวนรถไฟชานเมืองจากทั้งสามสารทิศมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ
รถไฟขบวนยาวบ้างสั้นบ้าง พาผู้โดยสารมาเต็มขบวนเดินทางเข้าสู่ในเมือง มีคนสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นลงตลอดทาง อยู่ที่ว่าปลายทางของคนคนนั้นอยู่ที่ไหน
รถไฟที่มาจากทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ คนจะเริ่มหนาแน่นที่อยุธยา เมื่อชุดแรกลงที่รังสิตก่อนชุดใหม่จะขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงบางซื่อ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนไป MRT ที่นี่มีคนลงเยอะพอสมควร แล้วรถไฟก็เดินทางต่อผ่านสามเสน โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่เรียกได้ว่าลงรถไฟปั๊บ เข้าโรงพยาบาลปุ๊บ และพาผู้โดยสารชุดสุดท้ายไปแตะปลายทางที่สถานีกรุงเทพ
สายตะวันออกถือว่าลูกค้าก็ไม่น้อยหน้า ด้วยเพราะถนนเข้าเมืองค่อนข้างอ้อม ทำให้รถไฟชานเมืองกลายเป็นขวัญใจคนทำงาน คนส่วนใหญ่เดินทางมาจากฉะเชิงเทรา หัวตะเข้ ลาดกระบัง หัวหมาก ผู้โดยสารชุดใหญ่ก็ลงที่อโศก ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางกับ MRT ส่วนที่เหลือก็มีกระจายลงที่พญาไทบ้าง ยมราชบ้าง และไปจบการเดินทางที่สถานีกรุงเทพเหมือนสายอื่นๆ


สถานีกรุงเทพ คือจุดหมายปลายทางและจุดเริ่มต้นการเดินทางที่อยู่ในใจกลางเมืองมากที่สุด แวดล้อมไปด้วยย่านเศรษฐกิจ การค้า ที่อยู่อาศัยที่สำคัญและหนาแน่น ไม่ต่างกับสถานีรถไฟหลักในต่างประเทศ ซึ่งมุ่งตรงเข้าใจกลางเมืองให้มากที่สุดเช่นกัน นี่คือภารกิจที่สำคัญของรถไฟชานเมือง
พลังที่เธอมี
อย่างที่ว่าไป เจ้ารถไฟชานเมืองแบบดั้งเดิมทำหน้าที่ของมัน ส่งคนตอนเช้า รับคนกลับตอนเย็น วนลูปไปหลายสิบปีจนสิ่งใหม่ๆ เริ่มเข้ามาถึงกรุงเทพมหานครเมืองหลวงของเรา ระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เกิดขึ้นมาอีกมากมายที่เป็นตัวเลือกของการเดินทางที่สะดวกขึ้น
จากคนรอบนอกที่ต้องนั่งรถไฟชานเมืองเข้ามาทำงาน ก็เปลี่ยนเป็นรถตู้บ้าง รถไฟฟ้าบ้าง ทำให้รถไฟชานเมืองที่เคยรุ่งเรืองและครองการเดินทางเข้าเมืองมานานมีคนใช้น้อยลง จนคนแทบนึกไม่ถึงว่ามีวิธีเดินทางแบบนี้อยู่ด้วย ซึ่งถ้าว่ากันตรงๆ มันก็มีจุดแข็งที่ไม่แพ้ใคร

อันดับแรก มีตารางเวลาเป็นของตัวเอง ซึ่งเราคำนวณและวางแผนได้เลยว่าจะไปถึงที่หมายปลายทางของเราตอนกี่โมง แม้จะเกเรบ้าง แต่ก็คาดคะเนได้ไม่ยาก แถมใช้เวลาในการเดินทางใช้เวลาไม่นาน อันนี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะนึกไม่ถึง จากหัวลำโพงใจกลางเมืองมุ่งสู่รังสิต ศาลายา หัวตะเข้ ด้วยเวลาแค่ 60 นาที ไปอยุธยา นครปฐม ฉะเชิงเทรา ภายในเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่งเท่านั้น แถมไม่ต้องมาลุ้นอีกว่าวันนี้รถจะติดไหม
สองคือการเข้าถึงหลายๆ สถานที่ที่ถนนหนทางสายหลักไม่ได้ตัดเข้าไปหา ส่วนใหญ่ก็เป็นเมืองดั้งเมืองเดิมที่อยู่กันมานานแสนนานตามแนวทางรถไฟนั่นแหละ การที่สถานีรถไฟถูกห้อมล้อมด้วยที่อยู่อาศัย ตามคอนเซปต์รถไฟไปที่ไหนเมืองเกิดที่นั่น ทำให้การเข้าถึงรถไฟของคนในละแวกนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องยาก และดูเหมือนว่าจะง่ายกว่าการเดินทางด้วยวิธีอื่นซะอีก
สาม ราคาค่ารถที่ถู้กถูกเสียจนเอามือทาบอก เริ่มต้นแค่เพียง 2 บาท ก็นั่งไปได้ตั้ง 10 กิโลเมตร แถมไปไกลขึ้นค่ารถก็ไม่ได้แพงเลย จะไปดอนเมืองก็จ่ายแค่ 5 บาท ไปอยุธยาก็ 15 บาท ราคาสบายกระเป๋าแบบนี้ จับต้องได้กันทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน คนค้าขาย มนุษย์เงินเดือน หรือแม้แต่ผู้บริหาร หากเดินทางประจำ ใช้ตั๋วเดือนที่มีส่วนลด ก็ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงไปอีก

แม้มีจุดแข็งตามที่บอกไปแล้ว จุดอ่อนของมันก็ยังพอมีอยู่บ้าง หลักๆ เลยคือเรื่องของรอบเวลาที่ไม่ได้มีถี่มากเหมือนรถไฟฟ้า และการใช้รถร้อน ซึ่งความสบายอาจจะสู้กับรถตู้ รถเมล์ หรือรถไฟฟ้าไม่ได้ นี่ก็เป็นปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้คนนิยมใช้รถไฟชานเมืองแบบดั้งเดิมน้อยลง
ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของมันก็ไม่ได้ต่างกับขนส่งมวลชนประเภทอื่นเท่าไหร่ ตามข้อจำกัดของรถไฟที่ไม่ได้สามารถซอกแซกไปทุกที่เหมือนมอเตอร์ไซค์ แต่ก็ยังมีผู้ติดอกติดใจเลือกเดินทางกับมันในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจจะเป็นการเดินทางที่แฝงไว้ด้วยความหวังว่า ในวันหนึ่ง ระบบรถไฟดั้งเดิมแบบนี้จะถูกยกขึ้นมาเป็นนัมเบอร์วันด้วยคุณภาพที่ดีขึ้น เสริมกับศักยภาพที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้น
แล้วอนาคตของรถไฟชานเมืองของไทยจะเป็นยังไง


ตอนต่อไปของเธอ
ปลายปีนี้ จะมีรถไฟสายใหม่เปิดตัว นั่นคือ ‘รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง’
ความตั้งใจของรถไฟสายนี้อัปเลเวลให้รถไฟชานเมืองแบบดั้งเดิมกลายเป็นรถไฟวิ่งด้วยไฟฟ้า แอร์เย็นฉ่ำ แถมรอบถี่ขึ้น ชนิดที่ว่าพลาดขบวนนี้แล้วรออีกไม่กี่นาทีขบวนใหม่ก็มา มีแนวเส้นทางเกาะไปตามทางรถไฟเดิม พร้อมสถานีที่เหมือนกับรถไฟเดิมแบบแทบจะถอดมา โดยมีบ้านใหม่อยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งสร้างมาเพื่อทดแทนบ้านเดิมที่หัวลำโพงซึ่งคับแคบลงทุกวัน

เจ้ารถไฟสายสีแดงถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการเดินทางด้วยรถไฟไปยังพื้นที่ชานเมือง เส้นทางนั้นประกอบด้วยทิศเหนือและทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ ก่อน แล้วจึงสร้างส่วนต่อขยายตามมาด้วยทิศตะวันออกที่ไปสุดสายที่สถานีหัวหมาก และทิศใต้มุ่งหน้าเข้าหัวลำโพง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการพาคนจากทั่วประเทศที่ต้องมาลงรถไฟที่สถานีกลางเข้าสู่หัวลำโพง ใจกลางเมืองที่เคยเป็นอดีตสถานีหลัก
และในอนาคต เมื่อทั้งสี่ทิศทางเสร็จสมบูรณ์นั้น การเดินทางในกรุงเทพฯ และรอบนอกด้วยรถไฟจะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก
น่าเสียดายที่การเกิดขึ้นของระบบรถไฟใหม่ๆ ทำให้ความสนใจมันถูกเทลงไปอย่างเอนเอียง มันอาจจะไม่แปลกหรอกที่ใครๆ ก็ชอบของที่ใหม่กว่า สดกว่า ดีกว่า จนทำให้รถไฟชานเมืองดั้งเดิมถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ไม่ค่อยมีใครสนใจ ทั้งที่มันสามารถยกเครื่องใหม่ให้เทียบเท่ากับรถไฟรุ่นลูกที่เกิดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดได้ ซึ่งถ้ามันถูกอุ้มชูไปควบคู่กัน เราเองก็จะมีตัวเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันให้เดินทางได้มากกว่านี้แน่นอน

แม้ว่าวันนี้รถไฟชานเมืองแบบดั้งเดิมอาจจะยังไม่ใช่การเดินทางที่สะดวกสบายที่สุด ไม่ใช่วิธีแรกๆ ที่นึกถึงในการเดินทาง แต่ก็ยังเป็นเพื่อนเดินทางที่ทำหน้าที่พาหลายชีวิตเดินทางเข้าออกกรุงเทพฯ ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องตามสภาพที่จะทำได้ ทุกวันเมื่อมันเคลื่อนออกจากชานชาลาสถานีต้นทางพร้อมพระอาทิตย์ขึ้น และถึงปลายทางในยามพลบค่ำ วันรุ่งขึ้นมันก็พร้อมทำหน้าที่รับคนกลุ่มเดิมตั้งแต่เช้ามืด เพื่อมาถึงชานชาลาสถานีปลายทางในเช้าวันใหม่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เป็นวัฏจักร
รถไฟสายสีแดงก็คงเป็นความหวังใหม่ที่จะพัฒนาคุณภาพของรถไฟชานเมืองให้กับผู้คนอีกมากมาย มันอาจจะเป็นโมเดลของรถไฟชานเมืองในภูมิภาคที่ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ และในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะได้เห็นภาพคนมหาศาลขึ้นรถไฟไปทำงานกันเป็นกิจวัตรเหมือนที่ญี่ปุ่นก็ได้

เกร็ดท้ายขบวน
- สถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพงนั้น ไม่ได้ปิดตัวลงอย่างที่เป็นข่าว จะเหลือเพียงรถไฟชานเมืองบางขบวนเท่านั้นที่จะทำหน้าที่ส่งผู้โดยสารถึงสามเสน รามาธิบดี ยมราช พญาไท อุรุพงษ์ และหัวลำโพง ซึ่งรถไฟสายสีแดงไปไม่ถึง
- โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เมื่อเต็มรูปแบบแล้วทิศเหนือจะไปถึงบ้านภาชี (อยุธยา) ทิศใต้ไปถึงมหาชัย ทิศตะวันออกไปถึงฉะเชิงเทรา และทิศตะวันตกไปถึงนครปฐม
- ในภูมิภาค รถไฟชานเมืองแบบดั้งเดิมก็มีแต่มันมีชื่อเรียกว่า ‘รถท้องถิ่น’ ซึ่งก็เป็นรถไฟที่ให้บริการสอดคล้องกับช่วงเวลาที่คนเดินทางไปทำงาน เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล
- ปัจจุบันมีคนใช้รถไฟชานเมืองเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เลือกใช้บริการเพราะราคาประหยัดและรถไม่ติด คุณๆ ก็ลองดูได้นะครับ
เช็กรอบเวลารถไฟชานเมืองได้ที่ www.railway.co.th หรือโทรสอบถามตารางที่เบอร์ 1690