คอมฟอร์ตฟู้ด (Comfort Food) ของคุณผู้อ่าน คือเมนูอะไรคะ

คอมฟอร์ตฟู้ด ซือขอใช้ในความหมายว่า ‘อาหารเยียวยาจิตใจ’ คือเมนูคาวหรือหวานที่เราอยากกินในยามที่อารมณ์แย่ ๆ กระหน่ำซ้ำเติม วิธีแก้ยอดฮิตก็คือเยียวยาด้วยของกินค่ะ

ซือนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะไม่กี่วันก่อนออกจากออฟฟิศค่ำมาก รถติด เหนื่อย หิว เซ็ง มีเรื่องกังวลในใจ ครบทุกองค์ประกอบของความเป็น Bad Day ซือเลี้ยวรถเข้าห้าง พุ่งตรงไปร้านอาหาร สั่งเมนูที่อยากกินที่สุดในตอนนั้น

2 ทุ่มครึ่ง ซือนั่งโซ้ยข้าวราดคะน้าหมูกรอบร้อน ๆ ที่ดีงามมาก เค็มหวานเผ็ดพอดี หมูกรอบอร่อยค่ะ ไม่แข็งชนิดปาหัวหมาแตกแบบบางร้าน เสิร์ฟพร้อมไข่เป็ดดาวใหม่แบบไข่ขาวกรอบ ๆ ไข่แดงเด้งชนิดเอาส้อมจิ้มแล้วค่อย ๆ เยิ้มออกมาเคลือบข้าว มีพริกน้ำปลาอีกถ้วยเล็ก ๆ กับน้ำซุปร้อน ๆ ให้ซดแก้ติดคอ

ความลับของ Comfort Food อาหารธรรมดาที่มีคุณสมบัติพิเศษช่วยเยียวยาจิตใจคนกินได้

โอ้โห คุณผู้อ่านคะ มื้อนั้นมันอร่อยเหลือหลายยยย

กินเสร็จซือรู้สึกดีขึ้นมาก โลกสดใส ปัญหามีอยู่เท่าเดิม แต่มีกำลังใจไปสู้กับมันต่อ

แม้จะราคาแพงกว่าร้านอาหารตามสั่งปกติ (สิริรวมแล้ว 200 กว่าบาท) แต่วันนั้นยอมจ่ายค่ะ

คุณคำพูน บุญทวี ลูกอีสานและนักเขียนซีไรต์คนแรกของประเทศไทย เคยเล่าไว้ว่า เมื่อครั้งท่านเดินทางไปดูงานที่ประเทศเยอรมันตะวันตก (ในสมัยนั้น) พอไปถึง อาหารที่มีให้กินคือขนมปังและไส้กรอก

หลายวันหลังจากนั้นมีคนพาไปร้านอาหารอีสาน ท่านเล่าว่า 

“ฟาดข้าวเหนียวนึ่งร้อน ๆ กับลาบเป็ด ต้มเป็ด และส้มตำมะละกอ จนต้องถอดเสื้อออก 3 ตัวเลยเชียว มิหนำซ้ำมีผักชีลาวกับใบสะระแหน่กินแกล้มลาบเป็ดอีก ทำเอาผมลืมโลกไปพักใหญ่ อีกวันหนึ่งได้ไปล่อลาบเป็ด ตับหวาน ลิ้นหมูย่าง และก้อย กับข้าวเหนียวร้อน ๆ กินจนพุงปลิ้น”

เห็นภาพดีไหมคะ : )

นักเรียนไทยไกลบ้านทั้งหลายน่าจะมีประสบการณ์แบบเดียวกันอยู่บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ ช่วงที่ซือเรียนหนังสืออยู่ต่างประเทศช่วงสั้น ๆ มีโมเมนต์เรียนเหนื่อย เซ็งชีวิต คิดถึงบ้าน อาการแย่ ฯลฯ ก็ได้คอมฟอร์ตฟู้ดนี่แหละค่ะช่วยเยียวยาจิตใจ ซึ่งอาจเป็นเมนูไทย ๆ ที่ทำเองบ้าง ซื้อบ้าง บางทีเป็นซูชิ หรือแกงอินเดียร้านที่ชอบแต่ไม่ได้กินบ่อย สำหรับซือ คอมฟอร์ตฟู้ดจึงไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารไทยเสมอไป แต่เป็นเมนูที่เราต้องการที่สุด ณ ตอนนั้น ให้กินเมนูอื่นก็อาจไม่สุขเท่า

ถามสมาชิกในบ้านว่า ถ้าเพิ่งกลับจากเมืองนอก (และไม่ได้กินอาหารไทยนาน ๆ ) หรือวันนั้นเหนื่อย ๆ เครียด ๆ จะอยากกินอะไรเพื่อเยียวยา แม่ตอบว่าอยากกินข้าวต้มร้อน ๆ ของหวานขอเป็นกล้วยปิ้ง พ่ออยากกินข้าวผัดปู ถ้าเป็นของหวาน อยากกินครัวซองต์อัลมอนด์อร่อย ๆ น้องชายตอบว่าอยากกินข้าวกะเพราหมูสับ ข้าวหน้าเนื้อ ซูชิสายพาน เฟรนช์ฟรายส์ และลอดช่อง

จะเห็นว่าไม่มีเมนูไหนซ้ำกันเลย จึงเกิดคำถามว่า คุณสมบัติอะไรที่ทำให้อาหารจานหนึ่งมีอานุภาพ ‘เยียวยาจิตใจ’ ผู้คนได้ ถ้าคอมฟอร์ตฟู้ดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีอาหารอะไรที่เป็นคอมฟอร์ตฟู้ดของมหาชนไหม และเพราะอะไร

ซือค้นได้ชื่อเมนูที่น่าจะเป็นคอมฟอร์ตฟู้ดของหลากหลายวัฒนธรรมมาดังนี้ค่ะ ข้าวไข่เจียว โจ๊ก อาหารเช้าแบบญี่ปุ่น (ข้าว ปลา ผัก และซุปมิโซะ) แซนด์วิชไส้ชีสย่าง พาสต้าคาร์โบนารา ฟิชแอนด์ชิป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ราเมนญี่ปุ่น ซุปหอมใหญ่ฝรั่งเศส Poutine (เฟรนช์ฟรายส์กับชีส ราดน้ำเกรวี เป็นจานยอดฮิตในแคนาดา) ไส้กรอก Bratwurst ของเยอรมนี Matzo Ball Soup (ซุปไก่ร้อน ๆ ในวัฒนธรรมชาวยิว) สวีดิชมีตบอล พิซซ่า เฝอเวียดนาม ฯลฯ คือราวกับคำถามที่ว่า “คอมฟอร์ตฟู้ดประจำชาติคืออะไร” กับ “เมนูยอดนิยมประจำชาติคืออะไร” น่าจะได้คำตอบเป็นเมนูเดียวกัน

ความลับของ Comfort Food อาหารธรรมดาที่มีคุณสมบัติพิเศษช่วยเยียวยาจิตใจคนกินได้
อาหารเช้าแบบญี่ปุ่น
ภาพ : www.japansubculture.com
ความลับของ Comfort Food อาหารธรรมดาที่มีคุณสมบัติพิเศษช่วยเยียวยาจิตใจคนกินได้
ไส้กรอก Bratwurst
ภาพ : tillmansmeats.com

ดูรายชื่อคอมฟอร์ตฟู้ดเหล่านี้แล้ว จึงขอเสนอว่า ปัจจัยที่ทำให้เมนูหนึ่งกลายเป็นอาหารเยียวยาจิตใจคนไกลบ้าน หรือใครก็ตามที่กำลังเหนื่อยล้า มี 2 ข้อ โดยอาจมีทั้ง 2 ข้อพร้อมกันหรือข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ค่ะ

ข้อแรก เป็นอาหารที่ทำให้เราคิดถึงบ้าน

คอมฟอร์ตฟู้ดอันดับหนึ่งของซือที่อยากกินทุกครั้งเวลาไกลบ้าน คือข้าวหมูกระเทียมฝีมือแม่ค่ะ เป็นอาหารง่ายแสนง่าย แต่ทำกินเองหรือไปกินร้านไหน ๆ ก็ไม่เหมือนแม่ทำ จึงมองเห็นคุณสมบัติที่ชัดเจนของสารพัดเมนูที่กล่าวมาคือ มันเป็นอาหารของรากเหง้าเรา เช่นเดียวกับคุณคำพูน บุญทวี ที่ซือเล่าไปในตอนต้น อาจเป็นอาหารที่เรากินสมัยเด็ก ๆ หรือเราเคยมีประสบการณ์ดี ๆ กับมัน 

เช่น กินเมนูนั้น ๆ ร่วมกับครอบครัว บางชาติมีวัฒนธรรม Sunday Dinner และมักทำเมนูหม้อใหญ่ที่เลี้ยงคนได้ทั้งบ้าน จึงไม่แปลกที่พอเราได้กลิ่นหรือได้ชิมซุปสักถ้วยแล้วคิดถึงวันเก่า ๆ ที่ลุงป้าน้าอามารวมตัวและกินเมนูนี้ด้วยกัน

ความลับของ Comfort Food อาหารธรรมดาที่มีคุณสมบัติพิเศษช่วยเยียวยาจิตใจคนกินได้
ภาพ : clickamericana.com

บทความ Craving comfort: bonding with food across cultures (Fran Barone, 2020) เสนอว่า

ในวัฒนธรรมแอฟริกัน-อเมริกัน คอมฟอร์ตฟู้ดน่าจะเป็นเมนูไก่ทอด แมคแอนด์ชีส ขนมปัง ข้าวโพด กินกับผักใบเขียวชื่อ Collard Green รวมทั้งเมนูหม้อต่าง ๆ ที่นิยมทำกินในครอบครัวใหญ่ เช่น Gumbo และเมนูเหล่านี้แหละ ทำให้ชาวแอฟริกัน-อเมริกันคิดถึงบ้าน คิดถึงรสมือแม่ คิดถึงที่ที่เราจากมา ในยามที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวแปลกหน้าไปหมด ขอมีของกินในมือที่ให้ความรู้สึกของบ้านสักนิดก็ยังดี

ความลับของ Comfort Food อาหารธรรมดาที่มีคุณสมบัติพิเศษช่วยเยียวยาจิตใจคนกินได้
ภาพ : www.youtube.com/watch?v=kxN39AFr6vM

ข้อสอง เป็นอาหารที่มีความหวาน เค็ม และมัน โดยไม่จำเป็นต้องมีรสหวานนำหรือเค็มโดด แต่คอมฟอร์ตฟู้ดมักมี 3 อย่างนี้ปนอยู่ไม่มากก็น้อย

หนังสือ Taste Matters: Why We Like the Foods We Do (2012) ระบุว่า นอกจากรสหวานจะเป็นรสที่มนุษย์ชอบโดยพื้นฐานแล้ว รสหวานในอาหารส่งผลต่อร่างกายในลักษณะเดียวกับสาร Opioid ที่มีในมอร์ฟีน ซึ่งมีคุณสมบัติระงับอาการเจ็บปวด ของหวาน ๆ หรือกลิ่นหวาน ๆ จึงถูกนำมาใช้เมื่อเราต้อง ‘ฮึบ’ เพื่อทนต่อความเจ็บปวดนั่นเองค่ะ

เหตุผลที่ Comfort Food อาหารธรรมดา ๆ ช่วยเยียวยาจิตใจให้พวกเราได้

รสเค็ม ในภาษาอังกฤษมีคำว่า Salting Out ซึ่งซือขอแปลว่า ความเค็มเป็น ‘ตัวขับเน้นรสชาติ’ ในอาหาร (บางท่านใช้คำว่า ‘ช่วยดึงรสชาติออกมา’) และทำให้อาหารโดยรวมอร่อยขึ้น นักอบขนมปังและคนชอบกินขนมปังทุกท่านคงทราบดีว่า ขนมปังไม่ใช่อาหารที่มีรสเค็มนำหรือเค็มโดดเด่น แต่ถ้าลืมใส่เกลือไปสักครึ่งช้อนชา ขนมปังที่อบออกมาอาจไม่อร่อยไปเลย

ไขมัน เป็นสิ่งที่ทำให้อาหารอร่อย ทั้งรสชาติและเนื้อสัมผัส เช่น ความกรอบ ความนุ่มนวล ความ Creamy ความ Rich (เป็น 2 คำที่ซือไม่เคยเห็นภาษาไทยแปลได้ตรงใจสักที) อาหารที่เราอยากกินตอนเครียด ๆ หรือตอนชีวิตแย่ จึงอาจเป็นมันฝรั่งทอดสักถุง ไก่ทอดกรอบ ๆ อร่อย ๆ สักชิ้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปร้อน ๆ รสเข้มข้นสักถ้วย (ใครเถียงว่า ไม่จริง!! เวลาเครียดฉันอยากกินสลัดผักชามโต ๆ กรุณาหลังไมค์มาคุยกันนะคะ ขอเก็บเป็นกรณีศึกษา)

เหตุผลที่มฟอร์ตฟู้ด อาหารธรรมดา ๆ ช่วยเยียวยาจิตใจให้พวกเราได้
ภาพ : www.fastfoodmenuprices.com

แล้วคอมฟอร์ตฟู้ดในดวงใจคุณผู้อ่านล่ะคะ มีลักษณะตามที่ว่าบ้างไหม

เป็นกำลังใจให้ทุก ๆ วันแย่ของชีวิตนะคะ เราเยียวยาหัวใจด้วยของกินได้เสมอค่ะ 🙂

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม