เราขอยืนกรานรับประกันและนอนการันตีเลยว่า นักออกแบบหลายคนต้องเผชิญกับปัญหาว่าด้วยสี ซึ่งเป็นสีในอุดมคติของลูกค้าที่น่ารัก อธิบายออกมาเป็นภาพชัดแจ้งไม่ได้ แต่ขอ ‘สีประมาณนี้นะ’ ขอยกตัวอย่างสักหนึ่งสี 

‘พี่ขอสีโทนอุ่นกว่านี้หน่อย แต่ไม่ร้อนเกินนะ อุ่นที่ไม่แสบตา เวลามองต้องสบายตา เหมือนนั่งอยู่ในสวนช่วงบ่ายแก่ๆ’ 

แน่นอนว่าพอนักออกแบบได้ยิน คงจะเอามือก่ายหน้าผากและตีลังกาสัก 3 ตลบ นอนคอตกอยู่หน้าจอ พูดแล้วก็คงตลกขบขันไม่ออก ว่าสีอะไรกันหนอที่ลูกค้าของฉันต้องการ จะว่าไปก็เหมือนปริศนาที่รอใครสักคนมาไขคำตอบ

Colour is my Life: เพจเรื่องสีที่แก้ปัญหาให้นักออกแบบกับลูกค้า ให้จบที่ #งานนี้พี่ขอ

ปัญหาเรื่องสีจางหายไป ในมือของ ต่อ-ทายาท เตชะสุวรรณ์ ผู้รังสรรค์เพจ ‘Colour is my Life’ ที่เล่าเรื่องราวของ ‘สี’ จนตอบโจทย์บรรดากราฟิกดีไซเนอร์เข้าอย่างจัง และต่อยังเชื่อว่าชีวิตมนุษย์นั้นไม่อาจพรากจากสี เพราะสีอยู่ในชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่อาหาร เสื้อผ้า ตึกรามบ้านช่อง ฯลฯ จนถึงจิตวิทยาของสีที่หยอกล้อกับอารมณ์และความรู้สึกของเรา

ขณะเดียวกันเพจก็ดึงดูดคนที่สนใจความมหัศจรรย์ของสีมาเจอกัน

ฉันนี่แหละ เป็ดตัวจริง 

ต่อ-ทายาท เตชะสุวรรณ์ เป็นเด็กหนุ่มจังหวัดลำปาง ตัวเล็ก และแต่งตัวเนี้ยบตั้งแต่หัวจรดเท้า 

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตเด็กมัธยม เขาได้รับประโยคชี้ทางสว่างจากอาจารย์แนะแนวว่า

“จัดบอร์ดสวยนะ น่าจะไปเรียนศิลปะ” ไม่เพียงแรงใจจากเรือจ้าง คุณแม่ก็เป็นอีกหนึ่งแรงใจสนับสนุนที่เห็นพ้องต้องกัน ต่อจึงตัดสินใจเดินทางสายออกแบบตั้งแต่หลักสูตร ปวช. จนได้รับโควต้าเรียนต่อหลักสูตร ปวส. แผนกออกแบบพาณิชย์ศิลป์ (ปัจจุบัน สาขานิเทศศิลป์) ของวิทยาลัยเพาะช่าง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์)

“ตอนมาเรียนเพาะช่างก็มี Culture Shock อยู่บ้าง เราเป็นเด็กเรียนจากภาคเหนือตัวเล็กๆ มาเรียนแนวช่างๆ ศิลปะๆ แบบเต็มตัว อารมณ์เด็กศิลป์ติสต์ๆ น่ะ เราน่าจะเป็นคนเดียวเลยมั้งที่แต่งตัวถูกระเบียบหัวจรดเท้า เรียบร้อยตั้งแต่ต้นจนเรียนจบเลย ขัดแย้งกับสิ่งแวดล้อมตอนนั้นมากๆ” ต่อเล่าย้อนอดีตปนเสียงหัวเราะ 

Colour is my Life: เพจเรื่องสีที่แก้ปัญหาให้นักออกแบบกับลูกค้า ให้จบที่ #งานนี้พี่ขอ

แม้จะเดินสายด้านศิลปะเรื่อยมา แต่เขาก็ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาตรีในคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ต่อเรียกสิ่งที่เขาเรียนว่า ครูด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ และเจ้าตัวเลือกเรียนต่อปริญญาโท คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การเรียนรู้ทั้งชีวิตกำลังสอนเขาว่า

“เรานี่แหละ เป็ดตัวจริง” ต่อยอมรับด้วยรอยยิ้ม 

“ในมุมมองของผม ความรู้มีอยู่สองแบบ หนึ่ง คือคนที่รู้กว้างหรือรู้รอบ จนกลายเป็นเป็ดนี่แหละ สอง คือคนที่รู้ลึกหรือรู้เฉพาะเจาะจง ซึ่งการเป็นเป็ดไม่ได้แปลว่าเราแย่กว่าหรือดีกว่า มันขึ้นอยู่กับว่าเราเอาสิ่งที่เรารู้ไปพัฒนาตัวเอง พัฒนาสังคมรอบตัวได้อย่างไรมากกว่า

“ถึงเราเป็นเป็ดก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นเป็ดเทพ บางทีเป็ดเทพก็อาจจะบินได้เร็วกว่านก ว่ายน้ำได้ดีกว่าปลา หรืออาจจะวิ่งเร็วกว่าเสือ มันก็เป็นไปได้นะ”

ปัจจุบัน ต่อเป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบให้บริษัท นิทัส เทสซิเล จำกัด และเป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาออกแบบที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ สมแล้วที่เราจะปลดล็อกสกิน เป็ดเทพทองคำ ให้เขาคนนี้

ที่มา ที่ไป

ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 2015 ช่วงเวลาที่ต่อได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร Colour Coordination ให้กับหลายๆ องค์กร จนเกิดคำถามกับตัวเองว่า เอ๊ะ ความรู้ความเข้าใจเรื่องสีในพื้นฐานของการศึกษาไทยยังมีน้อยมาก ยังวนอยู่ในระดับความรู้เดิมเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ถ้าเขาเป็นตัวกลางสื่อสารเรื่องราวของสีผ่านพื้นที่หนึ่งได้ก็คงดีนะ

เขากำลังหยิบสิ่งที่รู้มาพัฒนาตนเองและพัฒนาสังคมรอบตัว นั่นทำให้เพจเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของเฟซบุ๊ก พื้นที่ที่คนยุคสมัยปัจจุบันเข้าถึงง่ายและทันใจที่สุด การเดินทางตลอด 6 ปีของชุมชนคนรักสี ส่งผลให้ต่อเก็บเล็กผสมน้อยทั้งความรู้และประสบการณ์ เพื่อจะแบ่งปันเรื่องราวและความหัศจรรย์ของสี

“มันคงเป็นความสนใจเฉพาะของผม ผมสะสมความรู้จากการศึกษาและหาความรู้ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา จนมากพอที่จะแบ่งปัน โดยผมเลือกใช้เรื่องราวของสี เป็นเนื้อหาหลักของเพจครับ”

Colour is my Life: เพจเรื่องสีที่แก้ปัญหาให้นักออกแบบกับลูกค้า ให้จบที่ #งานนี้พี่ขอ

ต่อเชื่อว่า หากเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการมองสีสันต่างๆ มากขึ้น จะทำให้เรารู้สึกว่า สีสันคือชีวิตของมนุษย์ (Colour Is My Life) เพราะหากไร้ซึ่งสีสัน ชีวิตก็คงเป็นเรื่องน่าเบื่อ และชีวิตต่อก็ผูกพันกับสีตั้งแต่ลืมตาตื่น

ดวงตาของต่อทำหน้าที่สังเกต เขาให้ความสนใจกับเรื่องราวของสีที่รายล้อมรอบตัวเอง

“เวลาเดินทางผมจะชอบมองสีพื้นผิวของวัสดุและสิ่งของต่างๆ ถ้านั่งรถผ่านตึกเก่า ผมจะเห็นผนังปูนสีออกเขียวๆ ฟ้าๆ ซีดๆ ซึ่งเป็นสีที่ผ่านกาลเวลามาหลายสิบปี ตัดกับสีน้ำตาลแดงๆ เทาๆ ของขอบวงกบไม้ที่ผ่านการทาแชล็ค ผมนั่งมองคู่สีพวกนั้น สวยและลงตัวมาก จนคิดกลับไปว่า ตอนทาเสร็จใหม่ๆ คู่สีจะสวยแบบนี้หรือเปล่า”

ไม่เพียงแค่ตึกรามบ้านช่อง ยามกินข้าวก็ไม่พ้นที่จะมองลึกถึงการจัดวางองค์ประกอบและคู่สีในจาน ซึ่งสีสันก็ชักชวนให้เขาสนุกกับการแต่งตัว เพลิดเพลินกับการเลือกเสื้อผ้า พร้อมจับคู่สีของเสื้อตัวนู้น กับกางเกงตัวนี้

Colour is my Life: เพจเรื่องสีที่แก้ปัญหาให้นักออกแบบกับลูกค้า ให้จบที่ #งานนี้พี่ขอ

“ผมชอบซื้อเสื้อผ้าที่มีสีสัน ชอบเวลาอยู่หน้าตู้เสื้อผ้าแล้วจับคู่เสื้อสีนั้น กางเกงสีนี้ สลับกับไปมา และกล้าจับคู่สีแปลกๆ มันสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ ซึ่งไม่ได้รอดทุกวันนะ บางวันก็ไม่รอด แต่เป็นวิธีที่ผมหัดเรียนรู้ที่จะจับคู่สี และผมรู้สึกว่า Stereotype ของนักออกแบบส่วนใหญ่จะอยู่ในชุดสีขาวหรือสีดำ ผมมองว่ามันดูดีนะ แต่มันง่าย และอยู่ในเซฟโซนมากๆ ผมอยากให้นักออกแบบรุ่นใหม่หัดใช้สี ไม่ใช่แค่เรื่องงานอย่างเดียว อยากให้เริ่มต้นในทุกๆ วัน โดยเริ่มจากตอนเช้า คุณอาจจะมองเห็นสีสันต่างๆ มากขึ้น จนสีเหล่านั้นมันกลายเป็นชีวิตของคุณ Colour is my Life” 

งานนี้ผมขอ…

‘งานนี้ผมขอสีทองๆ ที่ดูเป็นคนทำดี โดยไม่หวังให้ใครเห็น ไม่หวังสิ่งตอบแทน นะ’

‘งานนี้ผมขอลายแบบเชือกๆ เงื่อนๆ แต่ไม่เอาแบบเงื่อนลูกเสือ นะ’

‘งานนี้ผมขอสีดำ ที่ดำไม่สุด นะ’

ทำความรู้จักชีวิตจิตใจของสี ผ่านเพจผู้เชื่อเหลือเกินว่า สีสันเหล่านี้คือชีวิตของคุณ

นักออกแบบหลายคนคงพบกับความฉงนงงงวย ว่าสี วัสดุ หรือลวดลาย ที่ลูกค้าต้องการหน้าตาเป็นแบบไหนกันแน่ ช้าก่อน คุณไม่ต้องหัวร้อนอีกต่อไป เพราะเพจเกิดมาเพื่อตอบคำถามสับสนอลหม่านเหล่านั้น

“Colour is my Life แน่นอนว่าคอนเทนต์หลักคือเรื่องสี แต่ผมได้เห็น Pain Point บางอย่างในการสื่อสารระหว่างคนทำงานออกแบบกับลูกค้า เพราะพวกเขาไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน สื่อสารกันไม่ได้ และรูปแบบงานบางอย่างที่ลูกค้าต้องการ แต่ไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไร ขนาดจะเสิร์ชกูเกิลยังลำบาก ส่วนตัวผมก็เคยเจอประสบการณ์คุยงานที่ลูกค้าต้องการอะไรบางอย่าง แต่เขาอธิบายไม่ถูก เช่น งานนี้ผมขอสีวืบๆ วาวๆ รุ้งๆ จึงเกิดไอเดียสนุกจากคำว่า “งานนี้ผมขอ…นะ” เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องสี วัสดุ ลวดลาย และเทคนิคต่างๆ ให้ง่ายขึ้น ว่ามันคืออะไรหรือเรียกว่าอะไรกันแน่ 

“งาน วืบๆ วาวๆ รุ้งๆ มันเรียกว่า Iridescent Colour & Goniochromism (สีเหลือบ สีเหลือบรุ้ง) ผมจะมีรูปตัวอย่างให้ดู พร้อมคำอธิบายนิดหน่อย และคอนเทนต์ก็ค่อนข้างได้รับความนิยม ผมว่ามันคงไปตอบโจทย์เรื่องปัญหาการสื่อสารของคนธรรมดาที่กลายเป็นลูกค้า และเป็นจุดที่ทำให้นักออกแบบโดนใจ คนทั่วไปก็ได้สาระประโยชน์” 

ทำความรู้จักชีวิตจิตใจของสี ผ่านเพจผู้เชื่อเหลือเกินว่า สีสันเหล่านี้คือชีวิตของคุณ
ทำความรู้จักชีวิตจิตใจของสี ผ่านเพจผู้เชื่อเหลือเกินว่า สีสันเหล่านี้คือชีวิตของคุณ

เนื้อหาในเพจมีทั้งออริจินัลคอนเทนต์ที่ต่อเล่าเรื่องสี วัสดุ ลวดลาย และสารพัดเทคนิคการออกแบบ รวมถึงแบ่งปันเนื้อหาจากเพจเพื่อนบ้านด้วยการแชร์คอนเทนต์มาไว้บนเพจ คล้ายว่าพื้นที่นี้เป็นสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ ของต่อ

บางครั้งเขาก็จับกระแสมาผูกกับสี มีทั้งสาระ อารมณ์ขัน แถมเสพง่าย ย่อยง่าย เหมาะกับทุกคน

ด้วยความรัก

เพจนี้เดินทางผ่านกาลเวลากว่า 6 ปี ต่อไม่นึกคิดว่าจะเติบโตได้ขนาดนี้ เขาเพียงแค่คิดว่าพื้นที่ตรงนี้จะทำให้ได้ทดลองทำอะไรสนุกๆ กับความรู้เรื่องสีที่เขาหลงใหลและร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็ก ทั้งจับสีนู้นคู่กับสีนี้ หลายครั้งก็รอด หลายครั้งก็ไม่รอด แต่ต่อเชื่อว่านั่นคือกลวิธีที่ทำให้เขารู้จักเรื่องราวของสีดีมากยิ่งขึ้น 

“จริงๆ แล้วสาระความรู้เรื่องสีก็มีอยู่ทั่วไป จะมากจะน้อย จะตื้นจะลึกก็ว่ากันไป แต่นำมันมาเล่าใหม่อย่างไรให้สนุก สร้างสรรค์ พลิกแพลง ผมว่าความสนุกของการทำเพจนี้อยู่ตรงที่ตัวผมเป็นอาจารย์ ปกติสอนหนังสือนักศึกษาประมาณสามสิบถึงสี่สิบคน การสอนเด็กในห้องให้สนใจเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าผมจะพูดเรื่องเดียวกันให้โลกออนไลน์หันมาใส่ใจ จะทำได้อย่างไร โดยมาจากเสียงตะโกนเล็กๆ ของผมเอง หมายถึงว่า ผมไม่เสียเงินโปรโมตนะครับ 

“เพจนี้จึงเป็นห้องทดลองที่ผมทำด้วยความรัก สุขและสนุกไปกับมัน ผมดีใจทุกครั้งที่เพจเล็กๆ ได้รับความสนใจ และเรื่องราวน่าตื่นเต้นสำหรับคนทำเพจแบบออร์แกนิก ในยุคที่เฟซบุ๊กปรับอัลกอริทึมให้แสดงผลโฆษณามากขึ้น คอนเทนต์ของผมก็ยังมีคนสนใจเพิ่มมากขึ้นด้วยเหมือนกัน จริงๆ ผมก็ไม่คิดว่าเพจจะเติบโตมาถึงจุดนี้” 

พื้นที่ของต่อเชื่อมโยงนักออกแบบ ลูกศิษย์ลูกหา และคนทุกเพศทุกวัยด้วย ‘สี’ ผสมผสานกันเป็นมิตรภาพ พร้อมทั้งได้รับประโยชน์ร่วมกันผ่านเนื้อหาสาระของเพจ ก่อนจากกัน ต่อทิ้งท้ายกับลูกเพจพร้อมรอยยิ้มว่า 

“เรามาคุยและมองสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยสีกันดีกว่า สีมีทั้งความสนุก สาระ แง่มุมที่น่าสนใจ ผมเชื่อว่าสีจะทำให้ชีวิตคุณสนุกขึ้น” เรามั่นใจว่าถ้าคุณได้ลองอย่างที่ต่อว่า ชีวิตคุณจะขาดสีไม่ได้ เพราะ Colour is my Life

ติดตามเรื่องราวสีๆ ได้ที่

Facebook : @Colourismylife 

Instagram : colour_ismylife 

ภาพ : ต่อ-ทายาท เตชะสุวรรณ์ และ @Colourismylife 

Writer

Avatar

ปภาวิน พุทธวรรณะ

เพิ่งเรียบจบอยู่ในช่วง Gap Year พยายามจะทดลองใช้ชีวิตคราวละวันทีละวันดำเนินชีวิตปกติสามัญธรรมดา แฟนคลับคนเหงาลุง Haruki Murakami