14 พฤศจิกายน 2020
5 K

กว่าทริปพักผ่อนครั้งแรกของ ค.ศ. 2020 จะเริ่มต้นขึ้นก็ปาไปเกือบค่อนปีแล้ว ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในยุโรป ผมได้เลื่อนแผนการเดินทางเป็นจำนวนหลายครั้ง ก่อนที่จะตัดสินใจออกเดินไปยังปิเอตราซานตา (Pietrasanta) เมืองทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ตามคำชักชวนของเพื่อนชาวอิตาลีที่อาสาจะนำเที่ยว 

ภาพแรกที่จดจำได้อย่างแม่นยำคือภาพของโบสถ์ Sant’Agostino และความขัดแย้งของหินอ่อนสีขาวเมฆและตัวอิฐเปลือยสีส้มของหอระฆัง ที่มีความสูงกว่า 36 เมตรที่อยู่ถัดออกไป พร้อมกับพื้นหลังสีเขียวของภูเขาและบ้านเรือนที่คุมโทนสีพาสเทล โดยทันที ผมรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่ได้เห็น ราวกับว่าเมืองนี้กล่าวทักทายผมว่า “ยินดีต้อนรับ นี่คือเมืองปิเอตราซานตา” ผ่านตัวสถาปัตยกรรม 

‘รอยสักอาชญากร’ ที่สร้างบุคลิกใหม่ให้ประติมากรรมศักดิ์สิทธิ์รอบจัตุรัสเมือง Pietrasanta

ในขณะที่ผมกำลังซึมซับบรรยากาศรอบๆ ของเมืองนั้น จุดสนใจของผมก็จับจ้องไปที่รอยสักอาชญากรบนประติมากรรมหินอ่อน ที่ตั้งอยู่บนบล็อกหินขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เหมือนเพิ่งตัดออกมาจากเหมือง เรียงรายอยู่รอบๆ จัตุรัสกลางใจเมือง 

Fabio Viale ประติมากรชาวอิตาลี เป็นศิลปินเจ้าของผลงานประติมากรรมรอยสักในงานนิทรรศการครั้งนี้ ภายใต้ชื่องานว่า ‘TRULY’ หรือ ‘อย่างแท้จริง’ เขานำผลงานกว่า 20 ชิ้นมาจัดแสดงในพื้นที่และอาคารสาธารณะ เริ่มต้นจากจัตุรัสใจกลางเมือง เข้าไปที่มหาวิหาร San Martino ต่อไปที่ห้องสมุดเทศบาลและจัตุรัสท่าเรือที่อยู่ห่างออกไป นิทรรศการนี้ได้เปลี่ยนเมืองปีตราซานต้าให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์หินอ่อนที่แทรกซึมไปกับพื้นที่สาธารณะและบริบทรอบๆ อย่างกลมกลืน

ในงานจัดแสดงนี้ ลายสักของกลุ่ม แก๊ง ผู้มีอิทธิพล และอาชญากร ที่เรามักพบเห็นในฉากภาพยนตร์อาชญากรรมของญี่ปุ่น รัฐเซีย สหรัฐอเมริกา และอื่นๆ ถูกนำมาใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวใหม่ผ่านมุมมองของ Viale การเผชิญหน้ากันระหว่างรอยสักอาชญากรและประติมากรรมโบราณ

ภาพจำของประติมากรรมโบราณเหล่านี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ด้วยรอยสักที่สร้างตัวตนและบุคลิกใหม่ให้กับประติมากรรม จะเป็นอย่างไรเมื่อรูปปั้น David จากยุคเรเนสซองส์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ การต่อสู้ และความเข้มแข็งนั้น ถูกแทนด้วยรอยสักนกพิราบที่แสดงถึงสันติภาพ และรอยสักหยดน้ำตาบนใบหน้าที่มักพบในหมู่นักโทษ อะไรคือสิ่งที่เราสัมผัสได้ถึงความหมายที่เปลี่ยนไปนี้ 

จะเป็นอย่างไรเมื่อรูปปั้นกรีกโบราณที่อายุกว่า 2,000 ปีอย่าง Venus de Milo ซึ่งเป็นตัวแทนของ Aphrodite เทพีแห่งความรักและความงาม ถูกทำให้กลายเป็นสมาชิกของแก๊งยากูซ่าญี่ปุ่น แล้วจะเป็นอย่างไร เมื่อหนึ่งในรูปปั้นกรีกที่เก่าแก่ที่สุดอย่าง Laocoön and His Sons ถูกดัดแปลงโดยการลบองค์ประกอบบางอย่างออกไป มากไปกว่านั้นยังเพิ่มรอยสักเสือโคร่งบนแผ่นหลังของนักบวช Laocoön อีก 

คำถามคือ รอยสักเหล่านั้นทำให้ความหมายเดิมของต้นฉบับ ที่สื่อถึงสัญลักษณ์ของความทุกข์ทรมานของมนุษย์เปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร

‘รอยสักอาชญากร’ ที่สร้างบุคลิกใหม่ให้ประติมากรรมศักดิ์สิทธิ์รอบจัตุรัสเมือง Pietrasanta, Fabio Viale

1

สักลายบนหินอ่อนให้เหมือนผิวหนังมนุษย์ที่สุด

Viale ถือได้ว่าเป็นประติมากรนักอนุรักษ์คนหนึ่ง ที่ฝึกฝนเทคนิคและความประณีตตามแบบฉบับดั้งเดิมของประติมากรรมโบราณ ด้วยการคัดลอกและทำซ้ำๆ การคัดลอกงานแกะสลักช่วยให้เขาเข้าใจถึงทัศนคติของศิลปินต้นฉบับ และช่วยในการวิเคราะห์ถึงสิ่งที่รูปปั้นเหล่านั้นต้องการสื่อสาร ผ่านส่วนเว้าส่วนโค้ง องค์ประกอบ และการจัดวาง ในหลายครั้งที่เขามักจะนำสัญญะของรูปแกะสลักโบราณมาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน 

อีกหนึ่งจุดเด่นในงานของ Viale คือการตั้งคำถามกับลักษณะทางกายภาพของบล็อกหินอ่อนที่ใหญ่ หนัก หยาบ และเปราะบาง โดยการแกะสลักให้หินอ่อนเหล่านี้ เบาเหมือนกระดาษ บางเหมือนแผ่นไม้ นิ่มนวลเหมือนผืนผ้า หรือ กลายเป็นผิวหนังของมนุษย์ด้วยการสักรอยสักบนหินอ่อน 

เพื่อให้ผลงานของเขาออกมาเหมือนรอยสักบนผิวหนังมากที่สุด เขาวิจัย ทดลองเทคนิค สร้างเครื่องมือเฉพาะ และพัฒนาหมึกสีร่วมกับนักเคมี เพื่อให้สีนั้นแทรกซึมเข้าไปในชั้นหิน การคัดสรรหินอ่อนที่มีความพรุนที่เหมาะสม จะทำให้หินดูดซับหมึกได้ดีขึ้น เขาใช้ปืนสเปรย์แทนเข็มในการสัก ตะไบเพชรและขนเหล็กในการขูดและขัดพื้นผิวของหิน เพื่อให้เม็ดสีแทรกจมลงไปในชั้นหินอ่อนประมาณ 1 มิลลิเมตร การสักผลงานแต่ละชิ้นนั้นใช้เวลาประมาณ 4 วัน และใช้เวลาทั้งหมด 6 เดือนในการเตรียมงานสำหรับนิทรรศการนี้

‘รอยสักอาชญากร’ ที่สร้างบุคลิกใหม่ให้ประติมากรรมศักดิ์สิทธิ์รอบจัตุรัสเมือง Pietrasanta, Fabio Viale

2

แปดเปื้อนสีขาวบริสุทธิ์ด้วยลวดลายอาชญากรที่ตรงกับความเป็นจริงของโลกมากขึ้น

รูปปั้นในแต่ละยุคสมัยคือสัญลักษณ์แห่งกาลเวลาและจิตวิญญาณของผู้คนในสังคมนั้นๆ อีกนัยหนึ่ง รูปปั้นเหล่านี้เปรียบดังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Sacred) ที่เป็นสัญญะของการคงอยู่เหนือกาลเวลา ในปัจจุบันรูปปั้นต้นฉบับจึงกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในพิพิธภัณฑ์ วิหาร หรืออาคารสำคัญ

การสักลวดลายอาชญากรบนรูปปั้นหินอ่อนเหล่านี้เป็นการทำให้ความขาวของหินอ่อนซึ่งเป็นของลักษณ์ของความบริสุทธิ์และความดีแปดเปื้อน กลายเป็นสิ่งที่ดูหมิ่น (Profane) ทำลายความหมายเดิมของงานต้นฉบับ 

แต่ในอีกมุมมอง รอยสักคือศิลปะร่วมสมัยที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตที่เต็มไปด้วยความหมายลึกซึ้ง และเป็นสัญลักษณ์ของการดำรงชีวิตอยู่ ได้สร้างตัวตนและเรื่องราวใหม่ให้กับประติมากรรมโบราณเหล่านี้ 

การผสมผสนานระหว่างวัฒนธรรม ศิลปะร่วมสมัย และความงามแบบคลาสสิก เข้าด้วยกัน กระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามและเกิดความสงสัย ในความขัดแย้งที่ลงตัวระหว่างเรื่องราวดั้งเดิมและเสริมแต่ง ระหว่างความคลาสสิกและความร่วมสมัย ระหว่างหินอ่อนและหมึกสี

3

David สัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งและความงามที่อ่อนเยาว์

David สัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งและความงามที่อ่อนเยาว์, มีเกลันเจโล, Michelangelo
ภาพ : en.wikipedia.org

รูปปั้นเดวิดของ มีเกลันเจโล (Michelangelo) เป็นหนึ่งในประติมากรรมชิ้นเอกแห่งยุคเรเนสซองส์ สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1501 – 1504 ด้วยบล็อกหินอ่อนคาราร่าชิ้นเดียว หินอ่อนคาราร่าคือหินที่ใช้โดยประติกรมาตั้งแต่สมัยโรมัน เป็นหินที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยลายและสีขาวเมฆของมัน 

ในปัจจุบันรูปปั้นเดวิดกลายเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง เป็นเรื่องราวของชายผู้กล้าหาญที่ต่อสู้กับ Goliath (ยักษ์) ตามพระคัมภีร์ไบเบิล ภาพวาดจำนวนมากของเดวิดในยุคเรเนสซองส์มักจะปรากฏภาพของชายหนุ่มที่ตัดหัวและถือศีรษะของ Goliath ไว้ หรือยืนประกาศชัยชนะเหนือศีรษะของ Goliath 

ส่วนในเวอร์ชันของมีเกลันเจโล เขาเลือกถ่ายทอดเรื่องราวก่อนการต่อสู้ของเดวิดจะเริ่มขึ้น สีหน้าที่แสดงความตึงเครียดและมุ่งมั่นหลังจากการตัดสินใจต่อสู้ เขายืนอย่างผ่อนคลายด้วยความมั่นใจด้วยการโพสท่า Contrapposto ซึ่งเป็นลักษณะเด่นทางประติมากรรมโบราณที่สร้างสมดุลและความงามให้กับรูปปั้น ด้วยการกำหนดสรีระของร่างกายและกล้ามเนื้อ 

‘รอยสักอาชญากร’ ที่สร้างบุคลิกใหม่ให้ประติมากรรมศักดิ์สิทธิ์รอบจัตุรัสเมือง Pietrasanta

Viale นั้นเลือกที่จะแกะสลักและจัดแสดงเฉพาะศีรษะของเดวิดที่เงยหน้ามองขึ้นฟ้าวางอยู่บนบล็อกหิน เขาสักลายนกพิราบและคำว่า Peace หรือสันติ ที่ต้นคอของรูปปั้น ใบหน้าของเดวิคปรากฏรอยสักคล้ายสัญลักษณ์ไม้กางเขน หรืออาจเป็นสัญลักษณ์ของหยดน้ำตาที่ใต้หางตาด้านขวา ซึ่งเป็นที่รู้ในวงกว้างว่ารอยสักหยดน้ำตาเป็นเครื่องหมายของการถูกจองจำ การติดคุก ที่มักจะพบเห็นในหมู่นักโทษ แต่ในปัจจุบันมีศิลปินแรปเปอร์หลายคนที่นิยมสักรอยหยดน้ำตา เพื่อรำลึกถึงความสูญเสียบุคคลสำคัญในชีวิต 

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ความหมายของรูปปั้นได้เปลี่ยนไปจากเนื้อหาของต้นฉบับ ด้วยการจัดแสดงเฉพาะศีรษะของเดวิด วิธีการจัดวางรูปปั้นและสัญลักษณ์ของรอยสัก จากวีรบุรุษที่เป็นไอคอนของความแข็งแกร่ง การต่อสู้ และชัยชนะ ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องหมายของการถูกจองจำ การสงบศึก สันติภาพ และความพ่ายแพ้ ด้วยตำแหน่งของศีรษะที่วางกองอยู่ที่พื้น เหมือนกับหัวของ Goliath ที่ถูกตัดออกมา

4

Venus de Milo สัญลักษณ์ของความอมตะ

‘รอยสักอาชญากร’ ที่สร้างบุคลิกใหม่ให้ประติมากรรมศักดิ์สิทธิ์รอบจัตุรัสเมือง Pietrasanta, Fabio Viale, Venus de Milo
ภาพ : en.wikipedia.org

ประติมากรรมกรีกโบราณ Venus de Milo สร้างขึ้นราว 130 ถึง 100 ปีก่อนคริสตกาลของ Alexandros of Antioch เป็นสัญลักษณ์ของ Aphrodite เทพธิดาแห่งความรักและความงามของชาวกรีก เป็นรูปปั้นมีความสูงกว่า 2 เมตร ค้นพบที่เกาะ Milos ในกรีกเมื่อ ค.ศ. 1820 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในกรุงปารีส 

รูปปั้น Venus คือตัวอย่างของประติมากรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของความอมตะ การเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และการเสื่อมสลายของธรรมชาติ ใน ค.ศ. 1870 ซึ่งเป็นช่วงปฏิวัติการปกครองในปารีส อาคารสาธารณะหลายแห่งถูกเผา และเพื่อความปลอดภัยของรูปปั้นจึงมีการขน Venus de Milo ใส่ลังไม้เพื่อเคลื่อนย้ายไปซ่อนในห้องใต้ดินของสำนักงานตำรวจ ต่อมาใน ค.ศ. 1939 รูปปั้นได้ถูกขนย้ายออกจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์อีกครั้ง เพื่อไปซ่อนในที่ปลอดภัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

‘รอยสักอาชญากร’ ที่สร้างบุคลิกใหม่ให้ประติมากรรมศักดิ์สิทธิ์รอบจัตุรัสเมือง Pietrasanta, Fabio Viale, Venus de Milo

ภาพจำของหินอ่อนสีขาวล้วนของเทพีแห่งความงาม Venus ตามแบบต้นฉบับรูปปั้นกรีกโบราณถูกปกคลุมด้วยรอยสักแบบเต็มตัวของยากูซ่าญี่ปุ่น รอยสักนั้นไล่จากแผ่นหลังไปจนถึงไหล่ด้านหน้าทั้งสองข้างของตัวรูปปั้น ด้วยลวดลายของดอกซากุระสีชมพูที่ร่วงหล่นจากต้นและลอยไปตามลำธารที่หมุนวน 

ดอกซากุระนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่น มันคือสัญลักษณ์ของชีวิตและความงาม ทุกๆ ปี ในฤดูใบไม้ผลิคนญี่ปุ่นจะฉลองเทศกาลฮานามิเพื่อชมความงามของดอกซากุระ ดังนั้น รอยสักซากุระแสดงถึงพลังของชีวิตที่ร่วงโรย แต่ยังก็เต็มไปด้วยสีสันและความสวยงาม 

ผลงาน Venus de Milo ในแบบฉบับของ Viale จึงเป็นการการประสานกันระหว่างสัญลักษณ์ของความงาม ในมุมหนึ่งรูปปั้น Venus คือสัญลักษณ์ของความงามที่เป็นอมตะ ในขณะที่รอยสักดอกซากุระที่ร่วงหล่นสื่อถึงความงามที่ไม่จีรัง ประหนึ่งชีวิตที่มีเกิดขึ้นและดับไปตามกระแสน้ำ

5

 Laocoön and His Sons

 ‘รอยสักอาชญากร’ ที่สร้างบุคลิกใหม่ให้ประติมากรรมศักดิ์สิทธิ์รอบจัตุรัสเมือง Pietrasanta, Fabio Viale, Laocoön and His Sons
ภาพ : en.wikipedia.org

รูปแกะสลัก Laocoön and His Sons ถูกสร้างขึ้นระหว่าง 29 ถึง 19 ก่อนคริสตกาล เป็นรูปปั้นสัญลักษณ์ของความทุกข์ทรมานของมนุษย์ เรื่องราวจากกลอนโบราณของชาวกรีกเกี่ยวกับ Laocoön นักบวชที่ถูกเทพเจ้าลงโทษ เพราะความที่รู้มากไปหรือความไม่รู้ ได้ทำการเปิดโปง ลบหลู่ หรือทำผิดกฎของนักบวช ซึ่งเทพเจ้าได้ส่งงูทะเลมาสังหาร 

ตัวประติมากรรมเผยให้เห็นภาพของงูพิษสองตัวโจมตี Laocoön และบุตรชายทั้งสองของเขาด้วยการกัดและรัด การเคลื่อนไหวของร่างทั้งสามแสดงให้เห็นถึงการที่ทั้งสามคนพยายามต่อสู้และเอาตัวรอด แต่ก็ไม่สามารถต่อกรกับชะตากรรมนี้ 

สังเกตจากสีหน้า การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และขดตัวของร่างกาย สื่อให้เห็นถึงความหวาดกลัว ความทรมาน และความตาย ในบางตำราได้เล่าว่า งูพิษสังหารแค่บุตรทั้งสองเขาเท่านั้น และทิ้งให้ Laocoön รับโทษด้วยการมีชีวิตอยู่กับความโศกเศร้าและทุกข์ทรมานเพียงลำพัง

‘รอยสักอาชญากร’ ที่สร้างบุคลิกใหม่ให้ประติมากรรมศักดิ์สิทธิ์รอบจัตุรัสเมือง Pietrasanta, Fabio Viale, Laocoön and His Sons
‘รอยสักอาชญากร’ ที่สร้างบุคลิกใหม่ให้ประติมากรรมศักดิ์สิทธิ์รอบจัตุรัสเมือง Pietrasanta, Fabio Viale, Laocoön and His Sons

เราพบว่าประติมากรรม Laocoön ของ Fabio Viale เป็นการเลือกแกะสลักเฉพาะตัวนักบวช Laocoön ที่กำลังต่อสู้กับงูทะเล โดยดัดแปลงเนื้อหาจากรูปปั้นต้นฉบับ ด้วยการลบร่างบุตรทั้งสองของเขาออกไปจากองค์ประกอบของรูปปั้น จุดนี้อาจอุปมัยได้ถึงความโดดเดี่ยวที่ Laocoön ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความทรมานจากการสูญเสียเพียงลำพัง 

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่น่าสนใจคือ ร่างของงูทะเลที่ขาดเป็นท่อนๆ พร้อมกับรอยสักรูปเสือโคร่งขี่เมฆแบบยากูซ่าญี่ปุ่นบนหลังของ Laocoön ที่กำลังหันหน้าคำครามใส่งูทะล ราวกับว่าตัวศิลปินกำลังบอกเล่าเหตุการณ์ใหม่ที่ Laocoön นั้นมีชัยชนะเหนืองูพิษ 

ในวัฒนธรรมการสักของญี่ปุ่น รอยสักเสือโคร่งเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องรางที่สามารถป้องกันทูตผีปีศาจ ความเจ็บป่วยและโชคร้าย เสือในตำนานของญี่ปุ่นเป็นตัวแทนของฤดูใบไม้ร่วงที่ควบคุมลมได้ หากลองสังเกตที่พื้นหลังของรอยสัก เราจะพบกลุ่มก้อนเมฆและดอกซากุระรอบๆ ตัวเสือ นอกจากนี้ รอยสักเสือยังแสดงถึงความกล้าหาญและความเข้มแข็งอีกด้วย

สิ่งที่สะท้อนออกมาจากงานนิทรรศการครั้งนี้ คือการที่เมืองปิเอตราซานตาสามารถดึงเอกสัญลักษณ์ของเมืองอย่างหินอ่อนและประติกรรมหินอ่อนออกมาช่วยฟื้นฟูสภาพสังคมและการท่องเที่ยวหลังจากวิกฤตการระบาดของโรค COVID-19 ส่งเสริมให้ผู้คนกล้ากลับมาใช้พื้นที่สาธารณะอีกครั้ง รวมถึงช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวในประเทศ และเพิ่มโอกาสในการขายให้กับร้านค้าในละแวกงานจัดแสดง 

อีกสิ่งหนึ่งเราควรทบทวนเกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปะโบราณ คือการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงศิลปะและประวัติศาสตร์ในอดีตได้มากขึ้น การผสมผสานศิลปะร่วมสมัยเข้าไปเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยดึงดูดความสนใจและสร้างความสนุกให้กับศิลปะโบราณ 

สำคัญไปกว่านั้น ก็คือวิธีการจัดแสดงวัตถุโบราณเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเข้าจัดแสดงใส่ตู้กระจกที่มีป้ายกำกับความสำคัญของมันในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่การทำให้พื้นที่สาธารณะคล้ายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แทรกซึมเข้าไปการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน จะช่วยนำศิลปะเข้าไปหาผู้คนได้มากขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม

รอยสักสร้างลักษณะนิสัย บุคลิก และตัวตนใหม่ ให้กับรูปปั้นโบราณ ลวดลายของรอยสักเปลี่ยนเรื่องราวต้นฉบับของประติมากรรม โดยเพิ่มเนื้อหาที่ตัวศิลปินต้องการจะถ่ายทอด และสร้างพื้นที่ว่างให้กับผู้ชมได้ใส่จินตนาการกับความรู้สึกของตนเข้าไป 

แต่ในขณะเดียวกัน รอยสักก็อาจถูกมองว่าเป็นการสร้างความแปดเปื้อนเลอะเทอะให้กับความบริสุทธิ์ของหินอ่อน บางส่วนมักมองการมีรอยสักเหมือนเป็นสิ่งที่ต้องห้าม และผู้คนมักถูกผู้ตีตราว่าเป็นอันธพาล คนเกเร หรือเป็นอาชญากร รอยสักจึงถูกนำไปผูกอยู่กับความชั่วและความไม่ดี แต่ด้วยสังคมที่เปิดรับมากขึ้น รอยสักกลายเป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและปณิธานของชีวิตของใครหลายๆ คน เป็นสัญลักษณ์ส่วนบุคคลที่อาจบ่งบอกถึง ความสุข ความหวัง คำมั่นสัญญา ความทุกข์ บาดแผล ความผิดหวัง หรือการสูญเสีย

ด้วยตรรกะเดียวกันนี้ ขอตั้งคำถามกับสังคมไทยว่า สังคมไทยพร้อมมากแค่ไหนที่จะเปิดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกร่วมสมัย สังคมไทยพร้อมหรือยังที่ก้าวออกมาจากกรอบความเชื่อเดิมๆ และเปิดรับการผสมผสานความคิดของคนรุ่นใหม่กับหลักเกณฑ์และกฎกติกาที่มีความเท่าเทียมในการแสดงออก

ขอบคุณเพื่อนเดินทาง

Fernando Silva, Giovanni Gentili และ Sara Di Lallo


อ้างอิง

Writer & Photographer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ