การะเวกสอดสี มักกะโรนี กระเช้าสีดา ขนมเบื้อง เกี๊ยวกรอบ

เราอยู่ในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง แต่ชื่ออาหารต่างๆ คุ้นหูบ้าง ไม่คุ้นหูบ้าง ถูกเอ่ยขึ้นมาชวนให้ความหิวได้เริ่มทำงาน นั่นเพราะเรามีนัดพูดคุยกับ เชฟกร-ฐาปกร เลิศวิริยะวิทย์ เชฟหนุ่มแห่งห้องอาหารประเทศสิงคโปร์ ผู้หลงใหลในการเก็บสะสมตำราอาหารไทยโบราณ

ฐาปกร เลิศวิริยะวิทย์

วันนี้เขามาพร้อมกับกล่องลังบรรจุหนังสือสภาพเก่าแก่หลากหลายสีสันนับสิบเล่ม ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการหยิบจับอย่างมากเพื่อไม่ให้เสียหาย

เรานั่งลงและหยิบหนังสือทีละเล่มมาเปิดไล่ดูเมนูทีละอันอย่างบรรจง จินตนาการไปถึงภาพอาหารในยุคสมัยก่อน พร้อมกับฟังเรื่องราวและความสัมพันธ์ระหว่างเขากับหนังสือเหล่านี้

“เราได้ไปทำงานกับเชฟต่างชาติคนหนึ่ง แล้วเห็นเชฟชอบเปิดตำราอาหารในห้องทำงาน เราก็ลองขอดูตำราของเขา ลองเปิดสูตรหาดู เจอเมนูแปลกๆ ที่น่าสนใจเยอะมาก บางเมนูปัจจุบันก็ไม่น่าจะหาทานได้ง่ายๆ เชฟเล่าว่าบางเมนูในร้านนี่ก็เอาเมนูเก่าในตำราพวกนี้มาประยุกต์ให้ถูกปากคนทานนี่แหละ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มค้นหาและเก็บตำราอาหารเก่าบ้าง ตอนแรกก็ไม่ได้เก็บเยอะนะ ไปๆ มาๆ มันงอกออกมาเอง” เชฟกรอธิบาย

ตำราอาหารไทยโบราณ

ในระยะประมาณ 3 ปีตั้งแต่เริ่มเก็บสะสม เมล็ดพันธุ์ตำราอาหารไทยของเชฟกรงอกเงยมากว่า 600 เล่ม แม้ว่าการเก็บสะสมตำราเหล่านี้อาจมีส่วนที่ยากลำบาก ทั้งราคาที่สูงกว่าหนังสือทั่วไป การต้องตามล่าหาตำราที่ใฝ่ฝัน ต้องส่งหนังสือเก่าขาดไปให้ร้านซ่อมหนังสือชุบชีวิต จนถึงต้องเก็บรักษาอย่างพิถีพิถัน แต่เชฟหนุ่มตรงหน้าเราก็ยังคงไม่หยุดเสาะหาตำราอาหารที่ถูกใจ ไม่ว่าจะจากร้านหนังสือเก่า ร้านค้าออนไลน์ จนถึงการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนคอเดียวกัน (ซึ่งเขาเองก็บอกว่าต้องขอบคุณเจ้าของร้านหนังสือและคนรอบตัวที่ช่วยให้การสะสมนี้ดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่งด้วย)

ตำราอาหารไทยโบราณ

สำหรับคนที่ทำอาหารเป็นอาชีพ การได้ค้นคว้าและลงมือทำอาหารตามตำราเหล่านี้ก็เหมือนการเพิ่มพูนความรู้ของตัวเองให้มากขึ้น ด้วยข้อมูลน่าสนใจหลายส่วนอาจหาไม่ได้จากอินเทอร์เน็ต และช่วยให้หยิบจับเมนูอาหารเก่าๆ มาปรับใช้ให้เข้ากับเมนูปัจจุบันได้ เหมาะกับนิสัยเชฟกรที่ชอบลองผิดลองถูกอยู่เป็นประจำ

“พอเราได้ทดลองตามสูตรในตำรา บางอันก็ออกมาอร่อยมาก แต่บางอันกินแล้วก็รู้สึกว่ามันผิดปกติ คงเป็นเรื่องของยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วย มีรสนิยมต่างกัน อย่างแกงเขียวหวานสมัยนี้บางที่ก็ใสเชียว บางที่ก็ข้นมาก ตำราพวกนี้ก็เป็นบันทึกของคนเฉพาะกลุ่มในช่วงนั้น ไม่ได้เป็นตัวแทนว่าคนทั้งประเทศนิยมชมชอบรสชาตินั้น คล้ายๆ กับข้าวแช่ที่แต่ละบ้านก็จะมีสูตรที่ต่างกันไปด้วย เราก็ลองเอามาเปรียบเทียบแล้วปรับดูให้เหมาะสม” เชฟกรเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้

ตำราอาหารไทยโบราณ

นอกจากเป็นคลังความรู้ชั้นยอดในด้านการประกอบอาหารแล้ว เชฟกรเล่าว่า ตำราอาหารเหล่านี้ยังเปี่ยมด้วยสาระและสุนทรีย์ทางประวัติศาสตร์และภาษา บางเล่มบันทึกวิถีชีวิตคนในสมัยก่อน ช่วยให้คนอ่านสมัยนี้เห็นพัฒนาการของบ้านเมือง ขณะที่หลายเล่มเน้นเล่าถึงวิถีชีวิตชาววัง เนื่องจากชาววังเป็นผู้ที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือและมีฐานะ ทำให้ตีพิมพ์ตำราอาหารออกมาได้ ขณะที่ชาวบ้านอาจมีเพียงบันทึกลายมือที่ส่งต่อกันมา

ตำราอาหารไทยโบราณ

ตำราอาหารไทยโบราณ

ตำราอาหารเหล่านี้ยังเปี่ยมเสน่ห์ในด้านภาษา หลายคำแปลกตา และบางทีก็ช่วยให้รู้ยุคสมัย เช่น ตำราอาหารยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีวิธีเขียนภาษาไทยแบบเฉพาะตัว

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกตำราอาหารที่ได้จะมาอยู่ในคลังส่วนตัว เชฟกรเล่าให้ฟังว่าไม่ได้มีกฎเกณฑ์ซับซ้อน แต่เมื่อแจกแจง เราก็เห็นถึงความหลงใหลในตำราอาหารเก่าของเขาชัดเจน เพราะเชฟเล่าว่าบางทีก็ซื้อตำราเนื้อหาเดิมที่พิมพ์ครั้งใหม่ หรือเปลี่ยนปกใหม่ เช่น แม่ครัวหัวป่าก์ ที่เขามีสะสมอยู่มากกว่า 1 แบบ

 แม่ครัวหัวป่าก์

ท้ายที่สุด การสะสมตำราอาหารของเชฟกรไม่ใช่แค่เรื่องความรักเฉพาะตัว เขายังมองว่านี่จะเป็นคลังความรู้และขุมทรัพย์สำหรับคนรุ่นต่อไป

“มีคำถามเหมือนกันนะว่าเก็บไปเพื่ออะไร ก็ถามมาจากแม่ผมเองนี่แหละ (หัวเราะ) ว่าทำไมไม่ขายทิ้ง ผมบอกว่าขายไม่ได้หรอก เผื่อไว้สำหรับอนาคต เราทำเป็นห้องสมุดได้ ใครมาหาสูตรจะได้หาได้ง่าย ถ้าใครไม่มีเล่มไหนแล้วอยากได้เมนู เราก็ถ่ายรูปส่งให้เขาได้” เชฟหนุ่มผู้สะสมความรู้จากยุคอดีตไว้กล่าว

 

5 ตำราคัดสรรที่อยากรักษาไว้

เข้าขวัญปรุงตามตำรับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท (หนังสือจากงานพระราชทานเพลิงศพของพระองค์เจ้าเยาวภาฯ)

เข้าขวัญปรุงตามตำรับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท

ตำราเล่มนี้เป็นการรวบรวมตำรับอาหารส่วนพระองค์ของพระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ผสมกับความรู้การครัวและการทำอาหารจากบรรดาประยูรญาติในราชสกุลสนิทวงศ์ ที่แต่ละพระองค์เขียนสูตรมาเพื่อตีพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ความพิเศษจึงอยู่ที่การเป็นหนังสือที่เขียนโดยตระกูลที่ชำนาญในเรื่องการทำอาหาร และมีลงรายละเอียดไว้ว่าเป็นสูตรของใครบ้างในราชตระกูล เมนูหลายอย่างมีอิทธิพลจากของต่างชาติและจีนที่ถูกนำมาปรับให้มีความเป็นไทยมากขึ้น

แม่ครัวหัวป่าก์

แม่ครัวหัวป่าก์

ตำราเล่มแรกที่เราเก็บสะสมคือ แม่ครัวหัวป่าก์ เพราะเป็นฉบับเบสิกที่สุด ใช้บ่อย ใช้ได้จริง เรื่องราวของตำราเล่มนี้คือเป็นตำราอาหารยุคบุกเบิกอันขึ้นชื่อของประเทศไทย แต่งโดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงค์ ประกอบไปด้วย 5 เล่ม ผ่านการตีพิมพ์มา 9 ครั้ง มีความละเอียดในเนื้อหา เป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งหมวดหมู่ของอาหารหรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่าบริเฉทอย่างชัดเจน เช่น แบ่งเป็นแกง การจ่ายตลาด การหุงต้ม ฯลฯ มีเมนูบางอย่างที่ยังมีอยู่อย่างฉู่ฉี่ปลาทูสด ซึ่งเรายังเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่ารสชาติอาจจะไม่เหมือนสมัยนั้น หรือบางอย่างก็ไม่มีใครกินกันในปัจจุบันแล้วอย่างแกงเต่าขั้วต้ม บางอันก็มีปลาแซลมอนด้วย

ตำราอาหารที่ไม่มีชื่อเรื่อง

ตำราอาหาร

ตำราเล่มนี้ไม่มีปก สภาพที่เห็นอยู่นี่คือเราไปซ่อมมาเอง เราไม่รู้ว่าใครแต่ง เปิดหนังสือมาก็เป็นสูตรเลย แต่เท่าที่ดูคือมีเมนูอาหารฝรั่งแล้ว น่าจะไม่เก่ามาก สมัยรัชกาลที่ 5 หรือ 6 เมนูแต่ละอันในหนังสือเล่มนี้จะเขียนไว้สั้นๆ ไม่ได้บอกหน่วยในการชั่งตวงด้วย ก็ต้องกะวัตถุดิบแล้วชิมเอา สูตรไม่ชัดเจน แต่เป็นเล่มที่ทำให้เราได้ทดลองดี

 ตำรับปรุงอาหารสำรับรอบปี

ตำรับปรุงอาหารสำรับรอบปี

นี่เป็นตำราอาหารของหลานของแม่ครัวหัวป่าก์ พิมพ์แค่ 3 เล่มแล้วก็เลิกพิมพ์ เราซื้อมาสะสมเพราะมันเล่มหนา มีสูตรให้ลองเยอะ แต่เวลาทำอาหารจากตำราเล่มนี้ เราต้องปรับเปลี่ยนวัตถุดิบบางอย่าง เพราะมีสิ่งที่ผิดกฎหมายในปัจจุบัน เช่น เมนูสัตว์ป่า รวมถึงมีการใช้วัถตุดิบหายาก หรือหาได้แต่ไม่มีใครกินแล้ว เช่น แกงเผ็ดค้างคาวแม่ไก่ และเมนูที่ใช้นกปากส้อม

ตำราอาหารเขียนด้วยลายมือ

ตำราอาหาร

ตำราอาหารเขียนด้วยลายมือ

ตำราเล่มนี้เขียนด้วยลายมือ ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเขียน ที่น่าสนใจคือหนังสือเหล่านี้มักจะมีจดหมายบางอย่างแนบมาด้วย อย่างฉบับนี้เขียนตอน พ.ศ 2486 ก็ได้เห็นว่าชาวบ้านสมัยก่อนเขาคิดอะไร ทำอะไรกันบ้าง เหมือนหลุดออกมาจากบ้านสมัยนั้น แม่หรือยายเขียนไว้แล้วรุ่นลูกหลายเห็นเป็นหนังสือไม่มีค่าเลยขายทิ้ง เล่มนี้เมนูอาหารเยอะเป็นร้อยเมนูเลย

 

ขอบคุณสถานที่: Onedeecafe

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2