“เทปคาสเซตต์เหล่านี้จะใช้คำว่าสะสมก็ไม่เชิง”

เราชะงักไปเล็กน้อยเมื่อได้ยินคำพูดนี้ออกมาจากปากของ แจ็ค-พีรภัทร โพธิสารัตนะ เพราะคอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์สำหรับบุคคลผู้สะสมอะไรสักอย่าง ถ้าเราจะสัมภาษณ์คนที่ไม่ได้สะสมอะไรมาลงก็คงจะผิดคอนเซปต์เกินไปสักหน่อย

แต่เมื่อได้รู้ว่าแจ็คคือคนที่มีเทปคาสเซตต์เก็บไว้ที่บ้านมากกว่า 3,000 ม้วน เราเลยตัดสินใจว่าจะลองนั่งคุยกับเขาต่ออีกสักหน่อยดีกว่า เริ่มจากเรื่องง่ายๆ อย่างเทปม้วนแรกก่อนแล้วกัน

“เทปม้วนแรกที่เราขอแม่ซื้อเป็นเพลงประกอบสารคดีเรื่อง Music from The Body ของ Roger Waters กับ Ron Geesin จาก Pink Floyd ตอนนั้นอายุ 12 เองมั้ง” แจ็คย้อนความถึงเทปม้วนแรกที่เค้าเคยซื้อให้เราฟัง

“นี่ถือเป็นม้วนที่ดึงเราสู่การฟังเพลงอย่างจริงจังเลย เพราะก่อนหน้านั้นเราก็ฟังเพลงแค่จากที่พ่อแม่ฟัง จนกระทั่งมาเจอม้วนนี้นี่แหละ ซึ่งหลังจากนั้นจึงถูกถึงเข้าสู่โลกของ Pink Floyd ไป ซึ่งเพื่อนร่วมวงที่เคยเล่นด้วยกันกับเรายังบอกเลยว่าเราเริ่มผิดไปหน่อย”

ด้วยความที่เริ่มต้นจาก Pink Floyd และเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นทำให้แจ็คเลือกที่จะฟังแต่เพลงสายยากเพราะรู้สึกว่ามันแมนและเท่ดี จนกระทั่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยก็เป็นช่วงที่แจ็คเริ่มหันกลับมามองเพลงไทยกับเขาบ้าง ด้วยกระแสเพลงอัลเทอร์เนทีฟที่มาแรงในยุคนั้น

เทปคาสเซตต์

“ช่วงที่อยู่มหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่เริ่มซื้อเพลงไทยบ้างแล้วเพราะว่าเราเล่นดนตรี เราเข้ามหาวิทยาลัยปี 2538 ซึ่งมันเป็นยุครุ่งเรื่องของอัลเทอร์เนทีฟพอดี และวงดนตรีทุกวงในประเทศตอนนั้นก็น่าจะแกะเพลงพวกนี้แหละ ทั้งโมเดิร์น็อก ทั้งพราว เราก็เลยเริ่มฟังเพลงไทย”

และช่วงมหาวิทยาลัยนี่เองที่ทำให้แจ็คเริ่มซื้อเทปมากขึ้นเรื่อยๆ จากเงิน 3,000 บาทที่ทางบ้านส่งมาให้ใช้ในแต่ละเดือน จนเมื่อเรียนจบ 4 ปี แจ็คก็ได้เทปกลับบ้านไปทั้งหมด 4 กระเป๋าเดินทางใหญ่ด้วยกัน

“เวลาตัดสินใจซื้อก็ไม่มีอะไรมากเลย บรรยากาศยุคนั้นด้วยความที่มันยังไม่มีดิจิทัล ยังไม่มีดาวน์โหลด เราก็จะรับรู้เรื่องราวข่าวสารจากนิตยสารและวิทยุเป็นหลัก ถ้าแมกกาซีนพูดถึง ถ้าวิทยุเปิด เราก็จะตามไปซื้อกัน และช่องทางเดียวที่เราจะได้เจอและพูดคุยกับศิลปินก็ไม่ใช่ช่องทางออนไลน์แบบทุกวันนี้ แต่เป็นการไปเจอกันจริงๆ ตามคอนเสิร์ต ไม่ก็ตามแผงเทป เพราะฉะนั้น การที่ศิลปินกลับมาออกอัลบั้มแต่ละครั้ง กลับมาออกเทปแต่ละม้วน กลับมาเล่นคอนเสิร์ต จึงเป็นอะไรที่เราค่อนข้างจะรอคอย”

 แจ็ค-พีรภัทร โพธิสารัตนะ

ด้วยบรรยากาศที่คึกคักในยุคนั้น ทำให้ธุรกิจเพลงกลายเป็นธุรกิจหนึ่งที่แข็งแกร่งมาก การขายได้ล้านตลับคือสิ่งที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ความรุ่งเรืองของยุคนั้นมันขนาดที่ว่าคนทำเทปถูกกฎหมายก็รวย คนทำเทปผีก็รวยด้วย

“สมัยยุคแรกๆ มันยังไม่มีค่ายเพลงที่เอาเทปฝรั่งเข้ามา พวกร้านค้าที่เอาเข้ามาขายเค้าก็จะทำเทปผีของตัวเองด้วย ยี่ห้อที่คุ้นๆ ก็จะมีอย่าง 501 หรือที่ดังที่สุดก็จะเป็น Peacock ในตำนาน คือ Peacock นี่นอกจากทำเทปผีแล้วเขายังเป็นบริษัทจัดจำหน่ายเองด้วยนะ คาราบาวยุคแรกๆ ก็ใช้บริการ Peacock โดยเทปผีสมัยนั้นแทบจะ 99 เปอร์เซ็นต์เป็นเพลงฝรั่ง ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งเวลาเราเข้ากรุงเทพฯ ด้วย”

แจ็คเล่าให้เราฟังว่า ในสมัยนั้นบ้านเกิดที่ชลบุรีมีร้านขายเทปอยู่ไม่มากนัก แถมยังเป็นเพลงไทยซะเยอะ เค้าจึงมักจะหาโอกาสเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อหาซื้อเทปเพลงที่ต้องการ ซึ่งบรรยากาศของร้านเทปสมัยนั้นก็มักจะเป็นแค่คูหาที่ไม่ใหญ่มาก และวางกล่องเทปเรียงเป็นแผงให้เราเลือกดู

“จริงๆ เทปคาสเซตต์มันก็มีการแบ่งประเภทเทคโนโลยีด้วยนะ เท่าที่ผมสัมผัสมามันจะมีอยู่ 2 แบบ นั่นคือเทปคาสเซตต์แบบธรรมดา กับเทปคาสเซตต์แบบเหล็ก สมัยก่อนเค้าพยายามที่จะสร้างนวัตกรรม โฆษณาว่าเสียงดีไฮโซ ผมเคยซื้อมาม้วนหนึ่งแต่ก็ไม่เห็นรู้สึกว่ามันต่างกันยังไง (หัวเราะ)”

และด้วยเทคโนโลยีนี่เองที่ทำให้เทปคาสเซตต์เข้าสู่ช่วงเวลาของการล่มสลายเช่นกัน

“ยุคที่คาสเซตต์ล่มสลายน่าจะเป็นช่วงปี 2000 เราจำได้ว่าเราเขียนรีวิวเพลงจากเทปม้วนสุดท้ายคือ Mr.Team อัลบั้ม BUMP ซึ่งเป็นชุดก่อนที่แกรมมี่จะเปลี่ยนมาให้ซีดีกับสื่อ โดยเรามองว่ามันก็คือกฎแห่งไตรลักษณ์ล่ะเนอะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราคงห้ามการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาทางเทคโนโลยีไม่ได้ใช่มั้ย การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ อุตสาหกรรมต่างหากที่จะต้องปรับตัวว่าจะทำอย่างไรต่อไป ทางแรกคือ รักษาฐานแฟนของนวัตกรรมเดิมให้ได้ ไม่ก็ปรับตัวเข้าสู่นวัตกรรมใหม่ ซึ่งทุกๆ ค่ายเขาก็พยายามปรับกันอยู่ใน 2 ทางนี้ บ้างก็ล้ม บ้างก็ยังอยู่ ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา ทุกวันนี้มันอยู่ในจุดที่รูปแบบของสื่อทุกอย่างมันเริ่มคลายความสำคัญลงแล้ว เนื้อหาต่างหากเป็นส่วนที่สำคัญ อย่างที่เค้าว่า content is king ใช่มั้ย อย่าง The Cloud จะอยู่บนเว็บหรืออยู่ในแมกกาซีนก็เหมือนกันแหละ เพราะมันก็มีความเข้มข้นของมันอยู่”

เทป

 แจ็ค-พีรภัทร โพธิสารัตนะ

แม้ยุคทองของเทปคาสเซตต์จะจากเราไปแล้ว แต่เทปกว่า 3,000 ม้วนที่แจ็คเก็บไว้ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเคยเป็นจริง และแม้เป็นจำนวนที่อาจจะไม่ได้เยอะเป็นสถิติโลก แต่ก็มากพอที่ทำให้เราสงสัยว่าทำไม

“เอาจริงๆ คนยุคนั้นถ้าฟังเพลงมาเรื่อยๆ ก็คงมีประมาณนี้เหมือนกันแหละ มันมาจากการที่เราฟังเรื่อยๆ ซื้อเก็บเรื่อยๆ จนมันมีเยอะเองมากกว่า ซึ่งเรามองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เติบโตมาพร้อมกับเราและได้รับมาระหว่างทางของชีวิตการฟังเพลง เพราะฉะนั้น เราเลยบอกว่าเทปเหล่านี้จะใช้คำว่าสะสมก็ไม่เชิงซะทีเดียว”

คุยกันถึงตรงนี้ เราสงสัยว่าในวันที่เราสามารถหาเพลงฟังได้ทั่วไปในโลกอินเทอร์เน็ตแล้ว ทำไมเขายังคงเก็บเทปคาสเซตต์เหล่านั้นอยู่

กล่องพลาสติกที่มีม้วนฟิล์มอยู่ข้างในยังมีความหมายต่อตัวเขามากแค่ไหนกัน

คาสเซตต์มันก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของยุค 80 เนอะ สำคัญขนาดไหนก็สามารถดูกันได้จากมุกที่เขาชอบล้อกันว่า ปากกากับคาสเซตต์มันมีจุดร่วมกันยังไง มันคือป๊อปคัลเจอร์ของยุคนั้นเลย ซึ่งทุกคนในยุคนั้นก็คงผ่านจุดที่เคยใช้ปากกาหมุนมาแล้ว ผ่านจุดที่ต้องแช่ตู้เย็นเพราะมันยืด หรือผ่านจุดที่ต้องงัดตลับออกมาเพราะเทปโดนกิน ต้องมานั่งร้อยเทปใหม่ ซึ่งถ้าร้อยไม่เป็นก็พังไปเลย ซึ่งมันก็ไม่ใช่เสน่ห์อะไรหรอก มันก็ป็นแค่วิถีที่คนฟังเพลงยุคนั้นต้องผ่านมา แต่สิ่งสำคัญมันอยู่ตรงเรื่องราวที่มันเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังจากที่ได้เทปแต่ละม้วนมาต่างหาก”

หลังจากจบประโยคนี้ แจ็คก็เริ่มร่ายเรื่องราวของเทปแต่ละม้วนที่เค้าคัดมาในวันนี้ให้เราได้ฟัง

เทป

10 อัลบั้มที่ถูกประทับไว้ในความทรงจำ

คนเขียนเพลงบรรเลงชีวิต-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์

เป็นอัลบั้มที่เราไปตามหาซื้อย้อนหลังตอนที่มันออกมาแล้ว 5 ปี หาซื้อยากมาก ไปได้มาตอนไปส่งพี่สาวเพื่อเข้าหอพักที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วไปแวะกินข้าว แล้วก็ไปเจอแผงเทปแผงหนึ่งวางขายอยู่แบบฝุ่นจับทุกม้วน ซึ่งพอเราเดินไปดูก็เจอเทปม้วนนี้ก็วางอยู่ตรงนั้น เราก็ เห้ย มีอันนี้ด้วยว่ะ ดีใจมากตอนนั้น

เทป

 

อะลาดิน – เพลงประกอบละครสถาปัตย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ม้วนนี้ได้มาจากร้านโดเรมี เป็นเพลงประกอบละครของคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ตอนนั้นเราได้ฟังเพลงในอัลบั้มนี้เพลงหนึ่งจากวิทยุแล้วรู้สึกว่ามันโคตรดีเลย ซึ่งก็ไปบังเอิญเจอที่ร้านโดเรมีเลยหยิบกลับบ้านมา ซึ่งตอนหลังได้มีโอกาสรู้จักกับคนแต่งเพลงนี้ก็คือคุณอาร์ต วง 7thSCENE ผมก็จะคอยถามอาร์ตตลอดว่ามีไฟล์มั้ย อยากได้เป็นซีดี ซึ่งอาร์ตนั้นเป็นคนที่ยอมคุยกับผมทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องนี้ที่ไม่เคยตอบกลับมาเลย (หัวเราะ)

เทป เทป

 

ปรากฏการณ์ฝน – เฉลียง

ม้วนนี้ได้มาจากร้านมือสองที่จตุจักร ซึ่งเทปมือสองโดยทั่วไปสมัยนั้นเค้าจะขายกันแค่ประมาณ 20 บาท แต่ม้วนนี้ถูกตั้งราคาไว้ที่ 250 เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่เฉลียงกลับมาเล่นกันใหม่พอดี ไอ้เราก็ยอมกัดฟันซื้อมา วันรุ่งขึ้นได้คุยกับพี่วิภว์ บูรพาเดชะ ก็อวดแกใหญ่เลย ซึ่งแกอึ้งไปแป๊บหนึ่งแล้วก็พูดกลับมาว่าเมื่อวานแกไปคอนเสิร์ตเฉลียงมา แล้วเค้าเอาซีดีมารีมาสเตอร์ใหม่ทั้งห้าอัลบั้ม แล้วขายยกเซ็ตแค่พันเดียว เฉลี่ยแค่แผ่นละ 200 บาท ถูกกว่าเทปของผมอีก ตอนนั้นโกรธพี่วิภว์ไป 3 วัน (หัวเราะ) ก็เป็นม้วนที่ทำให้จำเหตุการณ์เพี้ยนๆ แบบนี้ได้

เทป เทป

 

เก่ง – เก่ง

หลายคนคงรู้จักพี่เก่งในชื่อของ เก่ง ไปโรงเรียน ซึ่งนี่คืออัลบั้มแรกของแกที่ออกเพลงมาเป็นเทปคาสเซตต์ ตอนนั้นพี่เต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ไปได้ม้วนนี้มาจากหน้ารามแล้วชอบมาก แกเลยเอาไปเปิดที่ Hot Wave จนกระทั่งพี่เก่งแกได้ออกซีดี ม้วนนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของพี่เก่ง และเป็นจุดที่เราภูมิใจว่ามันคงมีไม่กี่คนในประเทศหรอกที่มีม้วนนี้ แม้ที่จริงจะฟังไปไม่กี่รอบก็ตาม

เทป เทป

 

a day red label album

ตอนนั้นเราทำเว็บไซต์กับพี่วิภว์ ซึ่งงานท้ายๆ ที่เราทำด้วยกันคือการสัมภาษณ์พี่โหน่ง (วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์) แล้วเราก็ได้ม้วนนี้มา แต่ความเจ๋งคือพี่เป้ง (ทรงพล จั่นลา) ที่เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ของ a day ตอนนั้นแกไรต์แผ่นมาให้ด้วย แล้วแกเขียนชื่อบนปกซีดีแผ่นนั้นเป็นชื่อคนร้องจริงหมดเลย ซึ่งศิลปินหลายคนในอัลบั้มนั้นเขาใช้เป็นชื่อเล่นปิดบังตัวจริงกัน อย่าง Alien D.N.A. ที่ทำเพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์ร็อก พี่เป้งก็เขียนมาเลยว่าเป็นพี่แมว จิรศักดิ์

เทป

 

เทคโนโลยี – ร็อคเคสตร้า

อัลบั้มนี้ผมมาตามซื้อทีหลัง สิ่งที่ทำให้เราเลือกมาเป็นหนึ่งในสิบก็คือปก ศิลปินในยุคนั้นมักจะเลือกภาพตัวเองมาไว้บนปกเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับผู้ฟัง แต่ชุดนี้มาเป็นงานวาดที่เหมือนกับวงโพรเกรสซีฟร็อกเลย ซึ่งก็น่าแปลกใจว่าขนาดปกเปลี่ยนไปขนาดนี้ก็ยังสามารถทำยอดขายได้ดีอยู่ เป็นข้อพิสูจน์ว่าถ้าตัวเพลงมันดีมันก็แข็งแรงพอที่จะพาเพลงไปสู่คนฟังได้

เทป เทป

 

เอกรงค์ – เอกรงค์

อันนี้เหมือนกับเป็นยูนิตย่อยของกลุ่ม บัตเตอร์ฟลาย ที่ถือเป็นต้นทางของคนทำเพลงหลายๆ คนในยุคปัจจุบัน เอกรงค์เป็นยูนิตของคุณจิรพรรณ อังศวานนท์ และคุณสินนภา สารสาส ที่เลือกอันนี้มาเพราะว่าปกสวย เป็นรูปขาวดำ เท่มาก แล้วอีกอย่างที่เราว่ามันไม่น่าจะเหมือนเทปชุดอื่นๆ คือที่กล่องด้านหลังตรงขอบมันมีความเว้าลงไป เป็นลูกเล่นที่ทำให้เรารู้สึกว่านอกจากดนตรีแล้วแพ็กเกจห่อหุ้มมันยังมีความพิเศษด้วยนะ

เทป

 

ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา – เพชร โอสถานุเคราะห์

อันนี้ไม่มีอะไรมากเลย คือมันเป็นอัลบั้มเทคโนป๊อปที่ไม่น่าเชื่อว่าแกรมมี่จะออกมาในยุคสมัยที่มีแต่เพลงบับเบิลกัมได้ และนอกจากความเป็นไฮโซทางด้านดนตรีแล้วแกยังมีการเล่นกับการแบ่งด้านของเทป มีมุก Side 1, Side2 และ Side 3 ที่มันไม่มีออกมา ก็แสดงถึงความเป็นคนครีเอทีฟของแก

เทป เทป

 

เจ้าหญิง / เจ้าชาย – ปฐมพร ปฐมพร

สมัยนั้นประเทศไทยยังไม่ค่อยมีศิลปินที่ออกอัลบั้มคู่เท่าไหร่ ซึ่งอัลบั้มนี้แกแบ่งคอนเซปต์ชัดเจน อัลบั้ม เจ้าหญิงแห่งดอกไม้ ก็จะเป็นเพลงช้างดงาม ส่วนอัลบั้ม เจ้าชายแห่งทะเล ก็จะเป็นทะเลคลั่ง มีความหยาบคายไปเลย ในแง่คอนเซปต์มันดีอยู่แล้ว พอมันออกมาเป็นอัลบั้มก็เลยสวยมาก ซึ่งก็เป็นอีกอัลบั้มที่เราไปตามซื้อมือสองทีหลัง จำได้ว่าตอนนั้นเราได้ม้วนเจ้าหญิงมาก่อน แต่ว่าตามร้านส่วนใหญ่เขาจะ ไม่ยอมขายแยก แต่มาวันหนึ่งเราไปร้านแห่งหนึ่งแล้วเจ้าของไม่อยู่ อยู่แต่แฟนแก แล้วเราไปเห็นอัลบั้มนี้วางไว้เราก็ไปถามว่าขอซื้อได้มั้ย แฟนเจ้าของที่ไม่รู้เรื่องก็ขายมาให้ เราจ่ายเงินปุ๊บก็รีบออกจากร้านเลย ซึ่งหลังจากนั้นเราก็แวะไปร้านนั้นอีก ก็จะเจอเจ้าหญิงที่ถูกวางไว้อย่างเดียวดาย

เทป เทป

 

Polycat

เลือกมาเพราะมันเป็นเทปคาสเซตต์ม้วนแรกที่ซื้อในรอบหลายปี เป็นสิ่งที่บอกกับเราว่าอย่างน้อยที่สุดเทปคาสเซตต์ก็ยังไม่หายไปจากชีวิตเรา

Polycat Polycat

Writer

Avatar

พีรพิชญ์ ฉั่วสมบูรณ์

นักเขียน, แฟนคลับ AKB48 และเจ้าของเพจ AKBanything ผู้คลั่งไคล้วงนี้มากขนาดต้องเขียนหนังสือออกมาในชื่อว่า 12-4-48

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล