ไม่ใช่แค่ผ้าผืนเก่าผืนหนึ่ง แต่มีเรื่องราว มีวัฒนธรรม หลายครั้งก็เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง บทสนทนาระหว่างเรากับ ชุติมา โมกขะสมิต นักสะสมผ้าห่มของขวัญอายุกว่าร้อยปีจากสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1600 – 1868) และสมัยเมจิ  (ค.ศ. 1868 – 1912) และผ้านานาชาติ ในวันนี้คล้ายกับการค่อยๆ เปิดหนังสือประวัติศาสตร์ วรรณคดีโบราณ ไม่เพียงเรื่องราวความหมายแต่ได้สัมผัสความอ่อนช้อยในทุกรายละเอียดของผืนผ้า

ชุติมาบอกว่าเหตุผลที่เธอซื้อและสะสมผ้าเก่าพวกนี้มาได้อาจจะเป็นเพราะมีคนไม่เห็นค่า

แต่เธอเห็น เธอเห็นความสวยงาม เห็นความหมาย เห็นเทคนิคหลายอย่างที่น่าชื่นชม

ยุคสมัยที่กระบวนการผลิตผ้าเหลือเพียงขั้นตอนพิมพ์ลายลงบนผืน ทำให้คนไม่ค่อยเห็นคุณค่าของการมีผ้า การมีแพตเทิร์น ต่างจากในอดีต การมีผ้าสักผืนถือเป็นความหรูหราของชีวิตมากๆ

“ทุกครั้งที่ได้ผ้าเก่ามา เราหาข้อมูลเกี่ยวกับผ้าผืนนั้น อย่างน้อยก็ต้องหาซื้อหนังสือเรื่องผ้าชนิดนั้นมาอ่าน ยิ่งอ่านก็ยิ่งชอบ มีความสุขทุกครั้งที่อ่านเจอรายละเอียดความรู้ใหม่ๆ เรื่อยมาจนวันหนึ่งที่เราตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่รัก ผ้าโบราณเป็นสิ่งแรกที่เรานึกถึง ในเมื่อเรามีผ้าที่เก็บไว้มากมายและอยากให้คนที่ชอบเหมือนกันรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ ไม่อยากให้ผ้าเก่ากลายเป็นเพียงผ้าที่ถูกทิ้งหรือเก็บอยู่ในเฉพาะกับกลุ่มคนที่สะสมผ้า”

ผ้าโบราณ

เธอเชื่อในความรักความชอบสิ่งของสวยงามเพราะมันสากลมากๆ

“ถ้าเราได้เล่าให้เขาฟังสักนิด เขาอาจจะรู้สึกประทับใจเหมือนกันกับเรา”

เมื่อช่วง 2 ปีที่แล้ว ชุติมาเริ่มต้นทำแบรนด์ชุดผ้าของแต่งบ้านจากกิโมโนเก่า เช่น ปลอกหมอน ผ้าปูเตียง โต๊ะ และผ้าแขวนตกแต่ง จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ด้วยความตั้งใจให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงชิ้นงานเหล่านี้ และใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังทำหนังสือประกอบแบรนด์ รวบรวมและบอกเล่าที่มาที่ไปของผ้า รวมทั้งเทคนิคที่ใช้ด้วย

อนาคตชุติมามีแผนเปิดเว็บไซต์เล็กๆ เพราะเธอเชื่อว่ามีคนที่ชอบผ้าเก่าและหลงใหลเรื่องราวเหมือนกันกับเธอ ระหว่างนี้หากใครสนใจลองเข้าไปติดตามดูชิ้นงานของเธอในนาม Coral Tree Design ได้ที่เว็บไซต์ etsy.com ตลาดออนไลน์ที่รวมงานฝีมือจากทั่วโลก

ผ้าโบราณ

ผ้าห่อความปรารถนาดี

สมัยก่อนที่ญี่ปุ่นเวลาจะให้ของขวัญเขาจะนำใส่ถาดไม้แล้วคลุมด้วยผ้าพาดของขวัญ หรือ Fukusa คล้ายการห่อกระดาษของขวัญในปัจจุบัน โดยผ้าจะระบุตราประจำตระกูล และหลังจากเปิดรับของขวัญแล้วผู้รับจะคืนผ้ากลับมา นอกจากจะแสดงความรู้สึกของผู้ให้ที่มีต่อผู้รับแล้ว ผ้าผืนนี้ยังแสดงยศถาบรรดาศักดิ์

“บ่งบอกชนชั้นเหลือเกิน” ช่างภาพสาวของเราร้องบอก

“เรื่องลายประจำตระกูลเราอาจจะไม่รู้มาก เราชอบความหมายของคำอวยพรบนผ้า” ชุติมารีบเล่า

นอกจากผ้าผืนลายต้นไผ่ของเจ้าหญิงสมัยเอโดะแล้ว ชุติมายังเก็บสะสมผ้าพาดของขวัญที่มีความหมายดีๆ มากมาย ฟังแล้วก็ไม่แปลกใจว่าทำไมญี่ปุ่นจึงเป็นชาติช่างคิดและช่างส่งต่อปรารถนาที่ดีแบบนี้

“ตอนซื้อมาเก็บเราก็จะถามคนขาย บางครั้งแขาก็ไม่ได้อธิบายละเอียด เราก็ไปหาข้อมูลความหมายหรือตำนานเบื้องหลังความหมายเหล่านั้น หลายลายมาจากละครโน หรือศิลปะการแสดงดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่มีเรื่องราวอิงตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา”

ผ้าโบราณ

ผ้าโบราณ

ลายเหยี่ยวกับต้นสน ราวกับเป็นงานศิลปะเก่าๆ มีรายละเอียดการปักผ้าเล็กๆ ที่คล้ายทำ Spot UV บนผืนผ้า ต้นสน คือสัญลักษณ์ของ Evergreen เป็นพืชที่อดทนอยู่ได้ตลอด เพราะยังเขียวอยู่แม้อยู่ในฤดูหนาว หมายความถึง ความอดทน ความซื่อสัตย์ ขณะที่นกเหยี่ยวเมื่ออยู่รวมกับมะเชือม่วงจะหมายถึงความสำเร็จ มาจากความเชื่อของคนญี่ปุ่นเรื่องฝันแรกในคืนวันปีใหม่ (1 มกราคม) หรือ Hatsuyume หากฝันถึงหนึ่งภูเขาฟูจิ สองเหยี่ยว สามมะเขือม่วง แปลว่าปีนั้นจะโชคดีตลอดปี เพราะคำว่า ‘นะสึบิ’ ของมะเขือม่วงพ้องกับคำว่า ‘นาสึ’ ซึ่งมีความหมายว่าสำเร็จ เหมือนนกกระจิบที่ญี่ปุ่นได้ยินเสียงร้องว่า ‘ชิโยะ’ พ้องเสียงกับคำว่าหมื่นปี

ลายผู้ชาย 3 คนเป็นตัวแทนของความอายุยืน หนึ่งในนั้นคือ อุระชิมะ ทะโร เป็นตัวละครในตำนานญี่ปุ่นที่ช่วยเต่าจากการถูกกลั่นแกล้ง เต่าตอบแทนบุญคุณด้วยการพาลงไปเมืองบาดาล 3 วัน ก่อนกลับขึ้นมาบนโลกเจ้าหญิงของเมืองมอบหีบและสั่งว่าห้ามเปิด ต่อมาพบว่าเวลาบนโลกมนุษย์ผ่านไป 300 ปีแล้ว เขาจึงเปิดหีบและกลายเป็นชายชราอายุ 300 ปีแล้วตาย

ลายดอกบ๊วย ซึ่งเป็นดอกไม้ดอกแรกที่บานในช่วงหิมะตก หมายถึงความเบิกบาน หากผ้าพาดของขวัญมีลายของต้นสน ดอกบ๊วย ต้นไผ่ จะมีความหมายถึง Three friends of winter นั่นคือ ฤดูหนาวทำอะไรฉันไม่ได้และฉันกลับเบิกบานขึ้นมา มีความหมายว่าการมีชีวิตรอดท่ามกลางความยากลำบาก

ลายนกกระเรียนมีความหมายเรื่องความซื่อสัตย์ รักเดียวใจเดียว

ลายก้อนเมฆ คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเป็นเรื่องของปัญญา น้ำฝนที่หล่นมาจากฟ้าเขาเชื่อว่าเป็นปัญญาจากการกลั่นตัวลงมา

ผ้าโบราณ

ผ้าโบราณ

ลายผ้าวาดไม่ใช่แค่การวาดผ้า

การวาดภาพลงผืนผ้าของญี่ปุ่นเป็นที่เรียกว่า การย้อมเทคนิคยูเซน (Yuzen) นั่นคือ การย้อมจากผ้าสีขาว เขียนลายบนกระดาษแล้วจึงลอกลายลงผ้า ลายที่ออกมาจะไม่เท่ากัน จากนั้นลงแป้งแล้วนำผ้าไปย้อมสี นึ่ง อบ ซักล้าง ตากแห้ง แล้วเริ่มวาดและลงสีใหม่อีกครั้ง ทำแบบนี้วนอยู่หลายรอบ

“งานฝีมือของญี่ปุ่นเขาจะแยกความเชี่ยวชาญของแต่ละบ้านแต่ละตระกูลแบ่งกันทำงาน บ้านนี้เก่งสีย้อม บ้านนี้ปักผ้าเก่งก็จะมาปักตอนจบ จะไม่ได้จบกระบวนในคราวเดียวแบบผ้าไทยเรา ทำให้ศิลปะงานฝีมือของญี่ปุ่นพัฒนาในส่วนที่ถนัดอย่างเต็มที่ ทำให้งานแต่ละชิ้นพัฒนายิ่งขึ้น”

ชุติมาเล่าว่า ญี่ปุ่นในสมัยเอโดะและเมจิ เขาจะส่งคนไปเรียนเรื่องทอผ้าที่ยุโรป จึงได้เทคนิคการทอผ้ามาและพัฒนาต่อ

ผ้ามัดย้อมญี่ปุ่น เรียกว่า Shibori เป็นเทคนิคมัดย้อมที่ค่อยๆ ใช้เข็มมัดย้อมทีละจุดเล็กๆ เกิดเป็นลาดลายและทำให้เนื้อผ้าดูเป็นสามมิติ นอกจากนี้ยังมีผ้าที่มีลายคล้ายผ้าบาติกด้วย เพราะญี่ปุ่นเองก็ทำการค้ากับทางอินโดนีเซียเหมือนกันจึงรับวัฒนธรรมนี้เข้าไปด้วย

ผ้ามัดหมี่ญี่ปุ่น เรียกว่า Kasuri ซึ่งแตกต่างจากการมัดหมี่ของไทย ที่เส้นยืนสีพื้นแต่เส้นพุ่งมัดเป็นลายแล้วค่อยๆ ทอทีละเส้น แต่เทคนิคมัดหมี่ญี่ปุ่น เขาจะมัดทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืนลายก่อนทอจึงได้ลวดลายที่ละเอียดกว่ามาก นอกจากยังมีวิธีที่วาดภาพลงบนเส้นยืนที่ขึงอยู่ก่อนทอ

ผ้าโบราณ

แต่เราก็หากันจนเจอ

“ไม่ใช่แค่เราตามหาในร้านของเก่าแล้วจะเจอผ้าแบบที่เราอยากได้นะ ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรว่าผ้าที่ปิ๊ง ใช่เลย นั้นเป็นแบบไหน และเราเชื่อว่าผ้าเองก็ตามหาเราเหมือนกัน”

คำตัดสินของชุติมาจึงได้แก่ ชอบ และราคาที่รับไหว

นอกจากผ้าพาดของขวัญและผ้ากิโมโนญี่ปุ่นโบราณ ชุติมายังหลงใหลการสะสมผ้าโบราณหลากหลายชาติ หลากหลายเทคนิค

ผ้ากลุ่มแรกๆ ที่ทำให้ชุติมาเก็บสะสมผ้าโบราณคือพวกผ้าซิ่น ทั้งๆ ที่เธอเป็นคนไม่ใส่ซิ่นนะ แต่ชอบเก็บมากๆ ก่อนจะชี้ชวนให้เราจับสัมผัสและสังเกตดูลวดลายและสีของผ้าซิ่นจากแม่แจ่ม “ชาวบ้านเขาใส่ให้ลายด้านในโชว์ออกมาด้านนอก เพราะเขาเสียดาย” ไม่น่าแปลกใจ เพราะหากเป็นเราก็คงทำอย่างนั้น

“มีคนถามว่าเก็บผ้าเก่าแล้วไม่กลัวเจ้าของที่ตามมากับผ้าหรอ ไม่กลัวเลย ถ้าเขามาเราจะได้ถามที่มาที่ไปผ้าผืนนั้น ชอบมั้ย สีสันตอนนั้นเป็นอย่างไร จะว่าไปห้องเก็บผ้าเก่าอยู่หน้าห้องพระด้วย บางวันเราก็เปิดเทปเสียงสวดมนต์บ้าง พระเทศน์บ้าง แบ่งกันฟัง”

ผ้าโบราณ

ผ้าโบราณ

ผ้าไม่ว่าจะชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมแบบไหน สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือผ้าทำหน้าที่แสดงตัวตน ความคิด ความเชื่อและวิถีชีวิต ของผู้ใส่ ว่าฉันเป็นคนกล้าหาญหรือฉันเป็นคนอย่างไรจากลวดลาย

จะเห็นว่าการทำลวดลายของบ้านเราและประเทศเพื่อนบ้านจะมีลายนกคู่ ลายแมงมุม ลายขอดาว ลายเถาวัลย์เลื้อย เป็นหน้ากระดาษบันทึกวิถีชีวิต ความเชื่อของพื้นที่นั้นๆ รวมถึงบันทึกเหตุการณ์อย่างช่วงสงครามโลกจะมีการทอผ้าลายเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ในผ้าล้านนาหรือชนเผ่า หรือลวดลายบนกิโมโนของญี่ปุ่น

ถึงอย่างนั้นก็มีลายสากลมากอย่างลายข้าวหลามตัด ที่ไม่ได้มีแต่ในผ้าไทย ญี่ปุ่นก็มี หรือประเทศทางยุโรป เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ก็มีลายข้าวหลามตัดนี้เหมือนกัน

“ทุกครั้งที่หยิบผ้าไทยเก่ามาดูเราจะเห็นร่องรอยความเป็นเจ้าของเดิมอยู่ ผ่านลวดลายและการใช้สี ผ่านความสมบูรณ์ของตัวผ้าที่บอกถึงการใช้งาน ยิ่งทำให้เราอยากเก็บรักษาเขาให้ดี เราคิดแค่นี้จริงๆ”

ผ้าโบราณ ผ้าโบราณ ผ้าโบราณผ้าโบราณ

หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ

ข้อระวังในการดูแลเก็บรักษาผ้าไทย เรื่องความบอบบางของผ้าอายุเกิน 60 ปีที่พร้อมยุ่ยสลายหากจับบ่อยๆ ด้วยเพราะอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ

กฎทั่วไปของการเก็บผ้าเก่า ได้แก่ หนึ่ง อย่าให้โดนแดด สอง ให้ระวังความชื้น สาม การเก็บผ้าบางครั้งจะเก็บเป็นชิ้น ไม่ก็ม้วนเป็นข้อป้องกันการแตกลาย สี่ ห่อด้วยผ้าฝ้าย ห้า ให้ระวังกระดาษห่อผ้า โดยเฉพาะกระดาษสีขาวเพราะมีสารกัดสี

“เราสงสัยเหมือนกันนะว่าคนสมัยก่อนเขาไม่มีซักอบแห้งหรือ Dry Cleaning แล้วเขาซักผ้าเหล่านี้กันอย่างไร ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ได้หาเจ้าที่ถูกใจได้ง่ายกว่าก่อนเลย เพราะการทำ Dry Cleaning จะใช้สารเคมี เราก็ต้องคอยย้ำว่าผ้าเราห้ามใช้เคมีนะ สุดท้ายแล้วซักมือเองดีที่สุด ส่วนขั้นตอนรีดก็ง่ายเหมือนรีดผ้าทั่วไป”

ผ้าโบราณ

ผ้า 5 ผืนที่มีความหมายมากที่สุด

1. ผ้าพาดของขวัญของเจ้าหญิง: เป็นผ้าผืนที่ชอบมากที่สุด เราได้มาจากตลาดในเกียวโต เป็นผ้าในยุคเอโดะ (ค.ศ. 1600 – 1868) หรือก่อนสมัยเมจิแต่เก็บรักษาอย่างดี จะเห็นว่าฝีมือเขาละเอียดมากเป็นลายต้นไผ่ปักลายด้วยดิ้นทอง ลายผ้าด้านล่างเป็นผ้าทอ

2. ผ้าซิ่น Sunset จากลาว: ผ้าผืนนี้อาจจะไม่ใช่ผ้าเก่าหากนับตามเวลา แต่เรารู้สึกมีความหมาย ทุกครั้งที่ใส่จะอธิบายให้คนที่พบเห็นฟังถึงที่มาของชื่อผ้าซิ่นว่า Sunset ผืนนี้ (หัวเราะ) เพราะคนทอเป็นยายแก่ๆ คนหนึ่งนั่งดูพระอาทิตย์ตกดินที่ริมคันนาทุกวัน จะเห็นว่าสีค่อยๆ ไล่เปลี่ยนระดับตามแสงของพระอาทิตย์ที่ค่อยๆ ลับขอบฟ้าจริงๆ

3. เสื้อแจ็กเก็ตชนเผ่า: ผ้าเก่าชิ้นแรกที่ทำให้เริ่มเก็บสะสมผ้า

4. ผ้าพาดของขวัญลายไก่และกลอง: ไก่ กลอง ผืนนี้เป็นผ้าสมัยเมจิอายุร้อยกว่าปีแล้ว จะเห็นว่าสภาพยังดีอยู่ จีนเชื่อว่าไก่เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญเพราะไก่ดูแลลูกเมีย ขณะที่ญี่ปุ่นเชื่อว่าเขาเป็นลูกพระอาทิตย์ และคนที่ปลุกพระอาทิตย์ออกมาได้คือไก่ ไก่จึงมีความหมายที่ดี

5. Dragon Kabuto หมวกซามูไร: เป็นกิโมโนเด็กแรกเกิด Miyamairi มีลวดลายอลังการ ใช้สำหรับเด็กแรกเกิดใส่ให้พระชินโตสวดมนต์ให้พร ผืนนี้ที่ได้มาจากช่างตัดเสื้อเก่า เป็นผ้าผืนที่ตัดไว้เตรียมเย็บแต่คงมีเหตุการณ์ที่ทำให้เย็บไม่สำเร็จ แต่ด้วยลายหมวกซามูไรที่สวยมากเราจึงเย็บเข้าด้วยกันต่อกรอบด้วยผ้าไหมไทยสีดำหายาก

ผ้าเก่าชิ้นที่กำลังตามหา

Fireman เป็นเสื้อแจ็กเก็ตเก่าของนักดับเพลิงญี่ปุ่น เป็นชิ้นที่สวยมากๆ บางทีจะมีลายเทพเจ้าแห่งไฟตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น ตามหายากเพราะว่าเป็นที่ต้องการกลุ่มนักสะสมเหมือนกัน เราก็จะปลอบใจว่าไม่เป็นไร เราอาจจะได้ชิ้นที่ดีกว่า แต่จริงๆ ไม่เคยมีอะไรที่ดีกว่าอะไร มันแค่ว่า ‘ใช่’ ไหม

Writer

Avatar

นภษร ศรีวิลาศ

อดีตนักเรียนเศรษฐศาสตร์ผู้วิ่งเล่นในแวดวงตลาดทุน หน่วยงานสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม และงานสายแบรนดิ้งเพื่อความยั่งยืน หลงรักการลองเสื้อคอลเลกชันใหม่ของ COS MUJI Marimekko BEAMS และมีเพจชื่อ น้องนอนในห้องลองเสื้อ

Photographer

Avatar

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล