“เจ้าชายน้อยเป็นนักเดินทาง เราก็พบ เจ้าชายน้อย เพราะการเดินทาง”

สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ นักเขียนอิสระ ล่าม และนักจัดรายการวิทยุ หยิบวรรณกรรมขึ้นมาทีละเล่มจากกล่องไม้ใบใหญ่ เด็กชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งยืนอยู่บนหน้าปกหนังสือเกือบทุกเล่ม ไม่ว่าจะเรียกเขาว่า Le Petit Prince, 小王子, Der Kleine Prinz, 星の王子さま หรืออีกกว่า 270 ภาษาทั่วโลก เราต่างรู้ดีว่าเขาคือตัวละครเดียวกันที่นักอ่านตกหลุมรัก

หลังลาออกจากงานสายการบินสวิสแอร์ที่ทำมาต่อเนื่องกว่า 14 ปี สุพจน์ตัดสินใจไปใช้ชีวิตอยู่ที่ปารีสและหลวงพระบางเมืองละ 1 เดือน เมืองแรกเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียน PARIS, je t’aime พ็อกเก็ตบุ๊กของตัวเอง ส่วนเมืองที่ 2 นักเดินทางพบกับ ท้าวน้อย ในร้านหนังสือโดยบังเอิญ เด็กชายคนนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาสะสมวรรณกรรมฝรั่งเศสที่ได้รับการแปลมากที่สุดในโลก

นักสะสมหนังสือ 'เจ้าชายน้อย' จากทั่วโลก : สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ
เจ้าชายน้อย

“อันที่จริงเรารู้จัก เจ้าชายน้อย มาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะเป็นหนังสือที่เด็กเรียนวิชาเอกภาษาฝรั่งเศสถูกบังคับให้อ่าน ตอนนั้นไม่ได้อินอะไรมากมาย เข้าใจว่าเนื้อเรื่องน่ารัก แต่ก็ไม่ได้เข้าใจในหลักปรัชญาอะไร จนกระทั่งมาเจอ เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาลาวที่หลวงพระบาง รู้สึกเลยว่าแต่ละภาษาก็มีเสน่ห์ของเขานะ ช่วงนั้นเป็นคอลัมนิสต์ หนังสือเดินทาง ได้เดินทางไปที่ใหม่ๆ แทบทุกเดือน เราก็เลยคิดว่า เอาล่ะ ต่อจากนี้ไปเมืองไหนก็จะซื้อหนังสือ เจ้าชายน้อย มาเก็บไว้ เป็นบันทึกการเดินทางอย่างหนึ่ง”

เจ้าชายน้อย

จากการเก็บหนังสือตามประเทศที่ไป นำไปสู่การเดินตลาดหนังสือเก่าทุกครั้งที่ท่องเที่ยว เพื่อนที่รู้จักเริ่มซื้อ เจ้าชายน้อย ภาษาแปลกๆ มาฝาก ลุกลามไปถึงการสั่งซื้อและแลกเปลี่ยน เจ้าชายน้อย ภาษาไทยกับชุมชนนักสะสมทั่วโลก จนปัจจุบันสุพจน์มี เจ้าชายน้อย ในครอบครองกว่า 90 เล่ม รวม 60 กว่าภาษา ตัวอักษรแปลกตาพาเขาไปรู้จักภาษาถิ่นและชนเผ่าต่างๆ นอกเหนือภาษาราชการ

“เราคิดอยู่เสมอว่า เจ้าชายน้อย ที่สะสมมันจะเป็นประโยชน์โภชผลมากกว่าแค่กองหนังสือสะสมที่เราเพียรหามา ฝันว่าสักวันหนังสือเหล่านี้มันจะคืนกลับไปรับใช้สังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว เราได้เป็นตัวแทนสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ไปงานฉลอง 70 ปีครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เมืองโลซานน์ ก่อนเดินทางเราเสิร์ชหาหนังสือ เจ้าชายน้อย ตามปกติ ปรากฏว่าไปเจอเพจของนักสะสม เจ้าชายน้อย คนหนึ่งชื่อ Jean-Marc (ฌ็อง-มาร์ก) คุยกันไปมา เขาบอกว่าเขาอยู่ที่เมืองโลซานน์พอดี

“ฌ็อง-มาร์กเลยชวนเราไปบ้าน พอไปถึงคุยกันถูกคอมาก เขาพาชมห้องสมุดที่สะสมหนังสือ เจ้าชายน้อย กว่า 4,000 เล่ม เต็มกำแพงเลย เขาน่าจะเป็นคนที่มีหนังสือ เจ้าชายน้อย ในครอบครองมากที่สุดในโลก ตอนหลังเราเลยได้รู้ว่าเขาก่อตั้งมูลนิธิฌ็อง-มาร์ก พร็อบสต์ เพื่อเจ้าชายน้อย (Fondation Jean-Marc Probst pour le Petit Prince) เพื่อสนับสนุนและเผยแพร่หนังสือ เจ้าชายน้อย ให้เป็นภาษาต่างๆ และทำให้คนได้เข้าถึงวรรณกรรมดีๆ เรื่องนี้ให้มากที่สุด พอเราเสนอว่าอยากจะแปลภาษาถิ่นของไทยบ้าง เขาก็ตอบตกลงทันที”

เมื่อกลับมาเมืองไทย สุพจน์ร่วมมือกับ จี๋-บุษกร พิชยาทิตย์ อดีตเจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ ที่ถนนพระอาทิตย์เพื่อตามหานักแปล จนในที่สุดก็ได้ ผช.ศ. วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาคำเมืองช่วยแปลสำนวนภาษาไทยของ เอ๋-อริยา ไพฑูรย์ เป็นภาษาล้านนาจนเสร็จเรียบร้อย และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนวางกราฟิกและจัดรูปเล่ม เมื่อหนังสือเสร็จเรียบร้อย เจ้าชายน้อย ผู้อู้กำเมืองจะถูกแจกจ่ายไปทั่วห้องสมุดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วภาคเหนือ

เจ้าชายน้อย

“หลายคนถามว่าแปลมาแล้วจะมีคนอ่านออกเหรอ จะมีประโยชน์อะไร หรือแค่ทำเอาความโก้เก๋ ซึ่งเราว่าเรามองข้ามจุดนั้นมาแล้ว ภาษาถิ่นหลายภาษากำลังจะเป็นภาษาตาย แทบไม่มีคนอ่านหรือเขียน ถ้า เจ้าชายน้อย ฉบับล้านนาเล่มนี้จะทำให้เด็กหันมาเรียนภาษาล้านนาเพิ่มขึ้นสักคนหนึ่ง เราว่าก็คุ้มแล้ว ขนาดประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองอย่างอัฟกานิสถาน หรือชนกลุ่มน้อยอย่างชาวเคิร์ด เขายังเห็นคุณค่าและแปลวรรณกรรมดีๆ อย่างนี้ให้เยาวชนของเขาอ่าน ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เราพยายามที่จะแปล เจ้าชายน้อย เป็นภาษาถิ่นต่างๆ ของไทยเราให้มากที่สุด ภาษาถิ่นต่อไปที่เราวางแผนไว้คือภาษายาวี เพื่อแจกสถานศึกษาทางภาคใต้ต่อไป”

‘What is essential is invisible to the eye — สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา’

สุนัขจิ้งจอกบอกเจ้าชายน้อยเมื่อทั้งคู่ได้ทำความรู้จักกัน Antoine de Saint-Exupéry (อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี) เขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ในสมัยไฟสงครามโลกครั้งที่ 2 ลุกโชน เรื่องราวที่เศร้าและอ่อนโยนของ เจ้าชายน้อย มีความเป็นสากล ไม่มีเชื้อชาติ ศาสนา ปรัชญาชีวิตง่ายๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัวอักษรทำให้ใครต่อใครร่วมเดินทางไปกับเด็กชายจากต่างดาวได้ทุกช่วงวัย และการเดินทางด้วยความรักของนักสะสม เจ้าชายน้อย ช่วยส่งต่อสิ่งสำคัญผ่านตัวอักษรให้นักอ่านท้องถิ่นสัมผัสด้วยใจ

นักสะสมหนังสือ 'เจ้าชายน้อย' จากทั่วโลก : สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ

“โครงการแปล เจ้าชายน้อย เป็นภาษาถิ่นที่เรากำลังทำอยู่นี่ทำให้เราตระหนักว่า ความหอมหวนของการสะสมอะไรสักอย่างคือการที่เราได้มา แต่หากของสะสมของเราได้เป็นตัวต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ไปยังผู้อื่นและสังคมโดยรวมด้วยแล้ว นี่เองที่เป็นความสุขของการสะสมอย่างแท้จริง เราเชื่อว่าของสะสมของทุกคนก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ เพราะการได้มาและการให้ไปเป็นของคู่กันเสมอ”  

 

เจ้าชายน้อย 5 เล่มที่มีความหมายมากที่สุด

ທ້າວນ້ອຍ (ภาษาลาว) : จุดตั้งต้นให้เริ่มสะสม เจ้าชายน้อย คือเล่มนี้ เราเจอ ท้าวน้อย ที่ร้านหนังสือในหลวงพระบาง ดูน่ารักดี มารู้ทีหลังว่าเป็นฉบับพิมพ์ภาษาลาวครั้งแรก ตอนนี้กลายเป็นหนังสือที่มีมูลค่ามากไปแล้ว

เจ้าชายน้อย (ภาษาไทย พิมพ์ พ.ศ. 2522) : อาจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง มอบให้เราตอนที่แปลเรื่องนี้เป็นภาษาล้านนา แรคำ ประโดยคำ (สุพรรณ ทองคล้อย) ศิลปินแห่งชาติให้ท่านมา แล้วเซ็นว่า “แรคำ ให้อาจารย์วิลักษณ์” อาจารย์ก็เซ็นต่อว่า “วิลักษณ์ ให้คุณพจน์” เล่มนี้เป็นฉบับภาษาไทยที่มีค่าที่สุดสำหรับเรา

Malý Princ (ภาษาเช็ก) : เล่มนี้เป็นเล่มต้องจดจำ เพราะระหว่างที่วิ่งไปตามหา เจ้าชายน้อย ในร้านหนังสือในเมือง Prague แม่เราที่นั่งรออยู่โดนล้วงกระเป๋าโดยไม่รู้ตัว เงินสดเรือนแสนที่เพิ่งแลกมาก็ไปหมดเลย จึงถือว่าเล่มนี้แพงที่สุดเท่าที่สุดเท่าที่เคยซื้อมา

Le Petit Prince (ภาษาฝรั่งเศส) : เราโชคดีได้เล่มนี้จากร้านหนังสือเก่าทางใต้ของฝรั่งเศส พิมพ์หลังจากตีพิมพ์ครั้งแรกไม่กี่ปี เขาขายแค่ 7 ยูโรเท่านั้น ตอนได้มานี่มือเย็นเลยเพราะในอินเทอร์เน็ตขายแพงมาก

Les Œuvres complètes d’Antoine de Saint-Exupéry (ภาษาฝรั่งเศส) : เราเข้าร้านหนังสือ La Librairie Ancienne ที่ย่านเมืองเก่าของเจนีวา ไปถามหา เจ้าชายน้อย เขาก็หยิบเล่มนี้มาให้ ปรากฏว่าเป็นหนังสือเก่าเล่มใหญ่ สวยมาก รวมงานเขียนทั้งหมดของแซงเตก-ซูเปรี พร้อมภาพสีน้ำจากตัวแซงเตก-ซูเปรีเอาไว้ ซึ่งแน่นอนว่ารวมเรื่อง เจ้าชายน้อย อยู่ด้วย

เจ้าชายน้อย ที่กำลังตามหา

ตอนนี้เรากำลังสั่ง เจ้าชายน้อย ภาษา T5 ที่เป็นรหัสโค้ด คนขายเป็นนักสะสม เจ้าชายน้อย ชาวบัวโนสไอเรส แต่เล่มที่อยากได้จริงๆ คือ เจ้าชายน้อย ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เป็นภาษาอังกฤษ พิมพ์ที่อเมริกา เมื่ออองตวน แซงเตก-ซูเปรี ไปเป็นทหารประจำการสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีลายเซ็นอองตวน แซงเตก-ซูเปรี กำกับอยู่ด้วย

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan