การเป็นผู้ประกอบการที่ตั้งใจคิดดี ทำดี ต้องฝ่าฟันอะไรบ้าง

เคนจิ ซุซุกิ อดีตคุณครูโรงเรียนประถมที่หันมาสมัครงานพนักงานขายรถเข็นผู้ป่วย แต่บริษัทก็ล้มละลาย เขาเป็นคนสุดท้ายที่ไม่ล้มเลิกความฝัน จนในที่สุด ออกมาสร้างบริษัทของตัวเอง 

คุณครูผู้ให้ 

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซุซุกิชื่นชอบนักประพันธ์และกวีท่านหนึ่ง ชื่อ เคนจิ มิยาซาวะ ผู้ช่วยพัฒนาการเกษตรเป็นระยะเวลานาน ซุซุกิตั้งใจจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับ เคนจิ มิยาซาวะ จนวันหนึ่ง เขาพบว่ามีบ้านพักดูแลผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพแห่งหนึ่งในจังหวัด ซึ่งมีแนวคิดตามหลักการของ เคนจิ มิยาซาวะ ซุซุกิจึงรีบไปสมัครทันที

ขณะทำงาน เขาเห็นว่ามีผู้ทุพพลภาพหลายคนต้องทำกายภาพบำบัด เขาจึงสนใจเรียนต่อด้านนี้ แต่ระหว่างเรียน เงินทุนของเขาหมดเสียก่อน จึงต้องลาออก โชคดีที่เขามีใบวิชาชีพครู จึงเริ่มงานเป็นครูโรงเรียนประถมแทน และเก็บพับความฝันที่จะช่วยเหลือผู้พิการไว้ชั่วคราว 

วันหนึ่ง ซุซุกิเห็นข่าวในโทรทัศน์ออกอากาศเกี่ยวกับอาจารย์มหาวิทยาลัยโทโฮคุ กำลังพัฒนารถเข็นที่ให้ผู้พิการนั่ง ผู้พิการที่ขาขยับไม่ได้ แต่กลับถีบล้อจนรถเคลื่อนที่ได้ ภาพนั้นทำให้ซุซุกิรู้สึกตื่นเต้นมาก เขารีบติดต่ออาจารย์ท่านนั้นไป และเข้าไปรับตำแหน่งพนักงานขายในที่สุด

ในตอนนั้น รถเข็นล้อถีบของอาจารย์มีน้ำหนักมากถึง 80 กิโลกรัม ขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อคำนวณต้นทุนและค่าวิจัยต่าง ๆ แล้ว ก็ตั้งราคาขายสูงถึง 3 ล้านเยน ซุซุกิเคยแย้งอาจารย์ไปว่า หากตั้งราคาสูงขนาดนี้ คุณตาคุณยายจะซื้อได้อย่างไร แต่ก็ไม่เป็นผล ซุซุกิพยายามตระเวนขายเท่าใดก็ไม่มีใครยอมซื้อเลย ในที่สุดบริษัทของอาจารย์ใช้เงินทุนมหาวิทยาลัยจนหมดและไม่สามารถหาเงินทุนเพิ่ม จึงต้องปิดตัวลง 

ซุซุกิเสียดายมาก เขาจึงเจรจาขอซื้อแบบรถเข็นจากอาจารย์และออกมาตั้งบริษัทของตนเอง เงินทุนตั้งต้นมาจากเงินบำเหน็จ ซึ่งเขาใช้หมดตั้งแต่เดือนแรกที่เริ่มกิจการ 

ซุซิกิเห็นปัญหาเดิมของบริษัทก่อนหน้า ทางอาจารย์ต้องการผลิตรถเข็นเอง จำหน่ายเอง ซึ่งทำให้ต้นทุนและราคาขายสูงมาก เขาจึงมองหาบริษัทที่จะช่วยผลิตรถเข็นแทนเขา ซุซุกิตระเวนไปคุยกับผู้ผลิตรถเข็น ตลอดจนผู้ผลิตรถยนต์หลายแห่ง แต่ทุกเจ้าปฏิเสธเขาหมด เนื่องจากพวกเขาไม่เชื่อว่า จะมีรถเข็นที่ทำให้คนที่ขาใช้งานไม่ได้ปั่นรถได้

สุดท้าย มีเพียงเจ้าเดียวที่ยอม คือผู้ผลิตรถเข็นสำหรับนักกีฬาพาราลิมปิก ผู้บริหารคงเห็นความตั้งใจดีและตั้งใจจริงของซุซุกิ จึงยอมช่วยเหลือเขา ซุซุกิบอกทางบริษัทว่า แบบรถเข็นที่เขามีดูเหมือนรถถัง ใหญ่ เทอะทะ น่ากลัว อาจทำให้ผู้ป่วยไม่อยากนั่งได้ เขาขอให้ทางบริษัทผู้ผลิตช่วยออกแบบให้รถน่านั่ง และดูเป็นมิตรกับผู้ใช้

COGY รถคนพิการสุดล้ำ ความสำเร็จของลูกน้องที่เจ้านายไม่เชื่อ บริษัทล้มละลายเลยทำเอง
ภาพ : www.daisharin.co.jp

เมื่อแก้ปัญหาด้านการออกแบบได้แล้ว ปัญหาถัดมาที่ซุซุกิต้องคิดต่อคือเรื่องเงินทุน เวลาเขาไปติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็โดนปฏิเสธทุกที่ เนื่องจากกิจการดูมีความเสี่ยงสูง จนเขาไปปรึกษากับหอการค้าจังหวัด มีสมาชิกหอการค้าท่านหนึ่งเห็นความตั้งใจดีของเขา และคิดว่าคงจะดีหากรถเข็นนี้ช่วยคนญี่ปุ่นตลอดจนคนทั่วโลกได้ จึงแนะนำสถาบันการเงินที่ตนรู้จักให้ซุซุกิ ทำให้เขากู้เงินมาสร้างรถเข็นได้ในที่สุด

ล้อรถที่เริ่มหมุน

ซุซุกิตั้งชื่อรถเข็นว่า COGY (โคกี้) พ้องกับคำว่า ‘โคเกรุ’ แปลว่า การปั่น (รถถีบ) ไปข้างหน้า 

รถเข็นนี้มีกลไกคล้ายเรือถีบเป็ดที่เราคุ้นเคย ผู้ใช้จะนั่งบนเบาะรถ เหยียดขาไปด้านหน้าเล็กน้อย ตรงที่วางเท้า จะมีแถบรัดเท้าแน่นหนา เมื่อเริ่มใช้ขาค่อย ๆ ถีบเพียงเล็กน้อย ตัวกลไกของล้อรถก็จะทำให้รถค่อย ๆ เคลื่อนไปได้โดยไม่ต้องใช้แรงเยอะเลย 

เมื่อขาใดขาหนึ่งเริ่มปั่น ระบบประสาทจะส่งสัญญาณไปที่กระดูกสันหลัง และส่งสัญญาณไปที่เส้นประสาทอีกขา ทำให้อีกขาค่อย ๆ เคลื่อนตาม เป็นปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติ เพราะฉะนั้น แม้ขาจะเป็นอัมพฤกษ์ขยับไม่ได้ แต่ก็ยังค่อย ๆ เริ่มปั่นให้ล้อหมุนไปข้างหน้าได้ 

COGY รถคนพิการสุดล้ำ ความสำเร็จของลูกน้องที่เจ้านายไม่เชื่อ บริษัทล้มละลายเลยทำเอง
COGY รถคนพิการสุดล้ำ ความสำเร็จของลูกน้องที่เจ้านายไม่เชื่อ บริษัทล้มละลายเลยทำเอง
COGY รถคนพิการสุดล้ำ ความสำเร็จของลูกน้องที่เจ้านายไม่เชื่อ บริษัทล้มละลายเลยทำเอง

ผู้ใช้รถเข็น COGY นี้มีตั้งแต่ผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน หรือผู้ที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตครึ่งท่อนล่าง ยิ่งปั่น ยิ่งมีกล้ามเนื้อ คนไข้หลายคนค่อย ๆ หาย หรือลุกขึ้นมาเริ่มเดินได้ก็เพราะรถเข็น COGY นี้

หาช่องทางการขาย

ซุซุกิเอง ใช้เวลาในการหาเงินทุนตลอดจนหาผู้ผลิตอย่างยากเข็ญ เมื่อรถเข็นพัฒนาเสร็จ เขาก็ต้องหาช่องทางการขายต่อ ตอนแรกเขาพยายามติดต่อตัวแทนจำหน่ายรถเข็นต่าง ๆ แต่บริษัทเหล่านี้ไม่เชื่อว่าจะมีรถเข็นที่ช่วยฝึกให้คนเป็นอัมพาตกลับมาเดินได้อีกครั้ง 

ขณะที่เงินทุนบริษัทร่อยหรอลงไปทุกที มีช่องโทรทัศน์มาถ่ายทำรถเข็นของซุซุกิ เผอิญคนขับรถของประธานบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุได้ดู จึงเล่าให้ท่านประธานฟัง ท่านประธานก็เกิดสนใจเป็นอย่างยิ่ง และสั่งซื้อรถเข็นจากซุซุกิเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทของเขายังประคับประคองอยู่รอดต่อไปได้ 

COGY รถคนพิการสุดล้ำ ความสำเร็จของลูกน้องที่เจ้านายไม่เชื่อ บริษัทล้มละลายเลยทำเอง
ภาพ : cogycogy.com

ในปี 2011 เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเขตโทโฮคุ ซุซุกิเห็นว่ามีผู้สูงอายุและผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องนั่งนิ่ง ๆ อยู่ที่สถานที่ลี้ภัยหรือที่พำนักชั่วคราว ขาดการออกกำลังกาย เขาจึงส่งรถเข็นไปให้สถานที่ต่าง ๆ ที่ละ 1 – 2 คัน ปรากฏว่าผู้สูงอายุใช้แล้วชอบ ก็เริ่มบอกต่อกัน บ้านพักคนชราหลายแห่ง จึงเริ่มสั่งซื้อรถ COGY มากขึ้น 

สิ่งที่ทำให้ซุซุกิดีใจ คือมีผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุจำนวนมากที่เคลื่อนไหวร่างกายไม่ค่อยสะดวก แต่เมื่อพวกเขาได้นั่งรถเข็น COGY และถีบล้อหมุนจนเดินทางไปที่ต่าง ๆ เองได้ ร่างกายก็แข็งแรงขึ้น และหลายคนกลับมาเดินได้อีกครั้ง ที่สำคัญ ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยกลุ่มเดียวที่ดีใจ ครอบครัวที่ดูแลผู้ป่วยก็ล้วนดีใจที่เห็นผู้ป่วยสดใสขึ้น ยิ้มมากขึ้นไปด้วย 

COGY รถถีบที่ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ท่อนล่างใช้ได้ ของครูผู้ลาออกมาเป็นเซลล์ แล้วเห็นต่างจากนาย พอบริษัทล้มละลายเลยทำเอง
ภาพ : cogycogy.com

ผู้ใช้ผู้หญิงคนหนึ่งเล่าว่า “ฉันเริ่มรู้สึกสนุกตั้งแต่ตอนที่หย่อนก้นนั่งลงบนเบาะแล้ว ตั้งแต่ปี 2011 เส้นเลือดในสมองฉันแตก ทำให้ขาซ้ายฉันขยับไม่ได้เลย ฉันจึงรู้สึกแปลกใจและดีใจมากที่เห็นขาตนเองขยับได้อีกครั้งในรอบ 6 ปี ตอนที่ฉันถีบรถออกไป ฉันรู้สึกเหมือนกำลังเดินขึ้นบันไดเลย ปกติเวลาทำกายภาพบำบัด มันทรมานมาก แต่ครั้งนี้ฉันรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่า การขยับขานั้นก็เป็นเรื่องสนุกมาก ๆ เลย” 

คุณปู่อีกท่านกล่าวว่า “ตอนถีบรถเข็นครั้งแรก รู้สึกเหมือนมีใครมาช่วยเข็นรถเข็นของผม ตอนแรกที่เห็นรถเข็น ผมคิดว่าผมไม่น่าจะถีบรถได้หรอก เพราะแค่ยืนตรง ผมยังเจ็บขาไปหมดเลย ใครจะไปนึกว่าขาตนเองจะขยับได้ขนาดนี้ ผมรู้สึกดีใจคล้าย ๆ กับเวลาที่เด็กหัดเริ่มขี่จักรยานแล้วขี่ได้เลยครับ ภรรยาผมถ่ายภาพผมตอนนั้น เป็นภาพที่ผมยิ้มกว้างมากเลย ถ้ามีใครถามว่า COGY เป็นอย่างไรบ้าง ผมจะรีบบอกให้พวกเขาลองเลยครับ” 

COGY รถถีบที่ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ท่อนล่างใช้ได้ ของครูผู้ลาออกมาเป็นเซลล์ แล้วเห็นต่างจากนาย พอบริษัทล้มละลายเลยทำเอง
ภาพ : cogycogy.com

จากการที่อ่านชีวิตคุณครูโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งที่หันมาทำธุรกิจแบบไม่มีความรู้ด้านนี้ ดิฉันรู้สึกแปลกใจที่คุณซุซุกิเลือกทำธุรกิจที่ยากในการทำกำไร แต่ก็ยังประคับประคองมาถึงทุกวันนี้ ทุกครั้งที่บริษัทกำลังจะเกิดวิกฤต เช่น หาเงินทุนไม่ได้ หาผู้ผลิตรถเข็นไม่ได้ หาแหล่งขายไม่ได้ กลับมีผู้ที่ยืนมือเข้ามาช่วยโอบอุ้มธุรกิจเขาไว้เสมอ ๆ 

อะไรกันที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้… ส่วนหนึ่งคือโมเดลธุรกิจและสินค้าที่ดี แต่จากเรื่องราวของคุณเคนจิ ซุซุกิ ท่านนี้ ดิฉันคิดว่าสิ่งที่เขามี คือความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะช่วยเหลือผู้อื่น และนั่นเป็นพลังที่ทำให้หลาย ๆ คนสัมผัสและอยากยื่นมือเข้าไปช่วยเขา 

“ผมเองไม่ได้มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจเลยครับ ผมคิดในแบบผมว่า อยากตั้งใจทำรถเข็นดี ๆ ให้ผู้ใช้ ตลอดจนครอบครัวของพวกเขามีความสุข คงมีคนหลายคนเห็นว่า อุตส่าห์ทำสินค้าดีขนาดนี้ ถ้าไม่ช่วยคงแย่แน่เลย แล้วก็เข้ามาช่วยเต็มไปหมด เป็นเรื่องที่น่าขอบคุณจริง ๆ ครับ 

“ในอนาคต ผมอยากลดราคารถเข็นให้ถูกลงไปกว่านี้อีก เพื่อทำให้ใครก็ได้ซื้อรถเข็นนี้ไปใช้อย่างมีความสุขครับ” – เคนจิ ซุซุกิ

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย