ผมกับ เยล-อัญญา โคตรเมือง Biomaterials Designer จากสตูดิโอ Regen Districts จะชวนเอาของเหลือจากธุรกิจต้นน้ำจากกระบวนการผลิตกาแฟ ตั้งแต่เยื่อหุ้ม เปลือก กากกาแฟ และขยะจากในบ้าน มาแปรรูปรวมร่างด้วยตัวประสานหลากหลายเน้นแบบที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติเท่านั้น มาสร้างเป็นวัสดุ Biomaterials ใช้ของรอบตัวอย่างขวดพลาสติก ขวดนม น้ำผลไม้ เอามาทำเป็นแม่พิมพ์ เพื่อนำไปดีไซน์เป็นข้าวของเครื่องใช้บนโต๊ะกาแฟ เครื่องใช้ไม้สอยกระจุกกระจิกแบบได้ประโยชน์

ก่อนจะไปบุกถึงสตูดิโอของเยล ผมเริ่มจากการทำการบ้านว่า ขยะอาหารแบบไหนที่จะเอาไปฝากเยล เลยคิดออกมาคร่าว ๆ จาก 5 ธุรกิจคือร้านกาแฟ ร้านขนมเบเกอรี่ ร้านน้ำปั่นผักผลไม้สกัด ร้านอาหารเล็ก ๆ และบาร์เครื่องดื่ม

ลองคัดตัวอย่างเฉพาะที่สีเจ็บ ๆ และได้มาง่ายก่อน ได้กากข้าวสาลีสีเขียวสวย เปลือกกุ้งวิบวับ เปลือกเกาลัดเปลือกถั่ว ขยะจากเครื่องจัดการอาหารไฟฟ้าที่ทิ้งทิชชูลงไปด้วย และเปลือกหอยต่าง ๆ
ตอนแรกตั้งใจจะรวมขยะให้ได้ 100 ชนิด แต่เท่านี้ก็น่าจะมากเพียงพอแล้ว

หลังจากจบงาน Thailand Coffee Fest 2020 ทางฟาร์มลุงรีย์ได้ทำการขอตัวอย่างกากที่เหลือจาก BlueKoff ตั้งแต่เยื่อหุ้ม เปลือกชั้นใน ชั้นนอก ของกาแฟนอกเหนือจากกากกาแฟที่หลายคนคงพอรู้จักอยู่แล้ว
ศึกษาและทดลองหาวิธีใช้งาน หมักปุ๋ยบ้าง ผสมดินบ้าง จนส่งต่อให้ไปถึงมือ เยล อัญญา ที่เชี่ยวชาญมากกว่าเรา และที่สตูดิโอก็มีเครื่องไม้เครื่องมือค่อนข้างครบครัน ปรากฏว่าได้ผลดีเลย มีกายภาพที่เหมาะสม และสีสันมีความโปร่ง ความทึบ หลายมิติให้ศึกษาก่อนจะออกมาเป็นสูตร

พอไปถึงสตูดิโอผมพบกว่าการทดสอบ การทดลองทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในคอนโดฯ เล็ก ๆ ที่ดัดแปลงเป็นสตูดิโอ
เครื่องมือมีทั้งเครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องปั่น เครื่องรีด เป็นแบบมินิทั้งหมด เหมือนเป็นสวรรค์ส่วนตัวของดีไซเนอร์ย่อม ๆ เลย
วิธีจัดการกับของเหลือจากกาแฟและขยะ

1. นำมาตากแห้ง อบแห้ง ไล่น้ำออกไป และทำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้


2. บดหรือปั่นให้ละเอียด

3. ร่อนให้ได้ผงที่ละเอียด จะทำให้ขึ้นรูปง่าย

ทดลองทำทั้งหมด 3 สูตร
สูตรที่ 1 เปลือกกาแฟ + เปลือกกุ้งบดหยาบ + ปุ๋ยจากถังหมักอาหาร
สูตรที่ 2 เยื่อกาแฟ + กากจากการสกัดข้าวสาลีอ่อนปั่นหยาบ
สูตรที่ 3 กากกาแฟร่อนละเอียด + เปลือกไข่บดละเอียด
เมื่อได้ผงจากขยะเหลือทิ้งเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมีตัวเชื่อมเพื่อผสานผงจากขยะให้จับตัวขึ้นรูปได้
วิธีทำตัวเชื่อมจากธรรมชาติ (Binder)
อุปกรณ์
- เตาแม่เหล็กไฟฟ้า
- กระบะทรงสูง
- ผง Agar (ผงวุ้นสกัดจากสาหร่ายทะเล) สำหรับเป็นตัวเชื่อมธรรมชาติ
- Glycerol หรือ Glycerine หาซื้อได้ที่ร้านขายยาหรือออนไลน์
- ไม้พาย
- ขวดพลาสติก ขวดนม น้ำผลไม้ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่จะใช้เป็นแม่พิมพ์
- ตราชั่งดิจิทัล

ก่อนจะทำตัวเชื่อมให้เตรียมทำความสะอาดขวดพลาสติก ออกแบบชิ้นงาน ตัดและเตรียมพิมพ์ไว้ให้เรียบร้อยวางแผนการทำงานโดยพิมพ์ จะมีรูปแบบการอัดหรือการหล่อตามใจชอบ
ขั้นตอนทำตัวเชื่อม

- ใส่ผง Agar สำหรับเป็นตัวเชื่อมธรรมชาติ 20 g. (โดยประมาณ)

2. ใส่ Glycerol Food Grade 14 g. (โดยประมาณ)

3. กวนส่วนผสมทั้งสองเข้าด้วยกัน

4. ตั้งเตาแม่เหล็กไฟฟ้าให้ร้อน ระหว่างนั้นกวนส่วนผสมทั้งหมดกับน้ำสะอาด 300 ml. ใช้ไม้พายกด คนให้้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ให้ติดกันเป็นก้อน

5. ได้ตัวประสานจากธรรมชาติพร้อมใช้งาน
ข้อระวัง : ตั้งกระทะให้ร้อน และอย่าหยุดคนด้วยไม้พาย ไม่งั้นสารก้นกระทะจะแข็งเสียก่อน
Tips
ถ้าหากใส่ Glycerol มาก ใส่ Agar น้อย วัสดุจะยืดหยุ่น แต่ถ้าใส่สารควบคุมน้อย ใส่ Agar มาก วัสดุจะแข็ง ** ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของตัวสารตั้งต้น
ขั้นตอนต่อจากนี้คือการอัดพิมพ์ หลังจากผมได้ลองเป็นลูกมือให้ได้ระดับหนึ่ง คล้ายตอนสมัยเรียนเซรามิกอยู่เหมือนกัน
แต่ต่างกันที่ครั้งนี้ไม่ต้องเผาให้ยุ่งยาก อยู่ทนทานนานเป็นร้อยปี วัตถุธรรมชาติจะย่อยสลายไปตามกาลเวลา เพราะฉะนั้น เราเลยเลือกได้ว่าจะทำเป็นกระถางต้นไม้หรือที่รองแก้ว เพราะเป็นของไม่ต้องอยู่กับเรานานมากนัก
จากนั้นกรอกส่วนผสมต่าง ๆ ลงหม้อ แล้วอัดพิมพ์ไปด้วยกัน ทุกสูตรใช้ตัวเชื่อมเดียวกันก่อน ค่อย ๆ ทำไปทีละสูตร
วิธีขึ้นรูป
เทส่วนผสมต่าง ๆ ในแต่ละสูตรลงไปในหม้อหรือกระทะ คนให้เข้ากัน ต้องมีสมาธิในการใช้ไม้พาย คนอย่าหยุด ระวังเผลอมีใครมาชวนคุยอาจทำให้วัสดุทั้งหมดแข็งตัวก่อนนำเข้าใส่ในพิมพ์ หากวัสดุเหลือก็เทใส่พิมพ์สำเร็จรูปอื่น ๆ ได้ถ้าเป็นคนขี้เสียดาย

สูตรที่ 1
Cascara + เปลือกกุ้งบดหยาบ + ปุ๋ยจากถังหมักอาหาร
ขั้นตอนนี้ห้องมีกลิ่นคล้าย ๆ กะปิ เพราะเราเน้นใส่หางกุ้ง หัวกุ้ง เปลือกกุ้ง ผสมลงไปด้วย หวังจะให้เป็นประกายกะพริบวิบวับ ระหว่างทำกลิ่นคล้าย ๆ กะปิ เนื้อก็สีเหมือนน้ำพริกกะปิ เทหกบ้างพลาดบ้างเพราะกะไม่ถูก

สูตรที่ 2
เยื่อกาแฟ + กากจากการสกัดข้าวสาลีอ่อนปั่นหยาบ
ระหว่างทำกลิ่นคล้าย ๆ ชาเขียว สูตรนี้เยลชอบมาก ๆ


สูตรที่ 3
กากกาแฟร่อนละเอียด + เปลือกไข่บดละเอียด
เนื้อออกมาคล้าย ๆ ทรายชายทะเล เนื้อสวยเนียนทั้งที่ใช้ส่วนผสมแค่ 2 อย่าง

พักทิ้งไว้รอให้แห้ง ประมาณ 3 – 6 วันจึงแห้งสนิท จะได้เป็นของใช้จาก Biomaterials ตามที่ออกแบบไว้
หากใครอยากจะร่วมทดลองลงมือทำให้เข้าใจ ก็อยากชวนมาทำเวิร์กช็อปการทำ Biomaterials จากกากกาแฟและขยะในบ้านไปด้วยกันที่งาน Thailand Coffee Fest 2021 ที่โซน Sustainability Coffee : Play (Coffee) Ground by Uncle Ree’s farm x Regen Districts
ในงาน Thailand Coffee Fest ทุกปี ทีมผู้จัดจะมีกระบะไม้ประกอบใบใหญ่ ๆ ตั้งเด่นไว้กลางงานเสมอ เพื่อใช้รองรับกากกาแฟที่เกิดขึ้นจากบูทต่าง ๆ ในงานพื้นที่รอบล้อมด้วยงานทดลองสูตรต่าง ๆ จนโซนนี้แทบจะเป็นห้องสมุด Biomaterials เล็ก ๆ เลยก็ว่าได้

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนกาแฟแบบไหน เราขอชวนมาพบกันที่งาน ‘Thailand Coffee Fest 2021 : Coffee People คนกาแฟ’ พร้อมให้ทุกคนได้มาทำความรู้จักและหลงรักกาแฟยิ่งกว่าเดิม พบกันวันที่ 23 – 26 ธันวาคมนี้ เวลา 10.00 – 20.00 น. ที่ IMPACT EXHIBITION HALL 5 – 7 เมืองทองธานี
