เคเลบ จอร์แดน เป็นคนไทย ถ้ามองแค่ภายนอกต้องคิดว่าเป็นชาวต่างชาติร้อยเปอร์เซ็นต์

จากคนที่หาอะไรในชีวิตไม่ได้ อยู่ๆ วันหนึ่งเขาก็รู้สึกว่าพระเจ้าบอกให้เขาก้าวเข้าไปใน ‘โลกของกาแฟ’  

เขาปลูกกาแฟอยู่บนดอยมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน มานานถึง 15 ปี 

เริ่มจากไม่มีอะไรเลย จนทุกวันนี้กาแฟของเคเลบ จอร์แดน ได้รับการยอมรับว่าเป็นกาแฟไทยที่ดีอันดับต้นๆ ของไทย ได้รับรางวัลติด 1 ใน 3 การประกวดเมล็ดระดับประเทศ คะแนนดีเทียบเท่ากาแฟชั้นนำของโลก

โอกาสที่จะได้ขึ้นไปหาเคเลบถึงไร่บนดอยมณีพฤกษ์ไม่ได้มีบ่อยมากนัก วันหนึ่งเพื่อนในวงการกาแฟแจ้งข่าวดีว่ากำลังจะขึ้นไปจังหวัดน่านเพื่อไปพบกับเคเลบ ผมไม่มีทางที่จะปล่อยให้โอกาสไปพบเขาครั้งนี้หลุดลอยไปแน่

เดินทางออกจากอำเภอเมืองน่านแต่เช้าตรู่ รถยนต์ไต่ระดับความสูงมาถึงที่ระดับ 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ข้างบนอากาศดีกว่าในเมืองมาก ทั้งตัวเลขฝุ่นละอองและตัวเลขอุณหภูมิ เราจอดรถที่หัวมุมถนนดินลูกรัง ก่อนที่จะต้องเดินเท้าต่อไปอีกไม่ไกล บ้านไม้ภายนอกดูคล้ายกันทุกหลัง เหมือนสร้างด้วยช่างคนเดียวกันทั้งหมู่บ้าน วางตัวเรียงรายไล่ลงไปตามเนิน 

หนึ่งในบ้านหลังนั้นเป็นบ้านของเคเลบ จอร์แดน นักพัฒนากาแฟผู้สร้างโรงคั่วกาแฟ Gem Forest ชื่อที่มาจากความหมายเดียวกันกับชื่อหมู่บ้าน

เคเลบ จอร์แดน ฝรั่งบนดอยผู้ใช้กาแฟพัฒนาชีวิตคนเผ่าปรัยและชวนกันสร้างกาแฟดีระดับประเทศ

ฝรั่งบนดอย

เคเลบ จอร์แดน ฝรั่งบนดอยผู้ใช้กาแฟพัฒนาชีวิตคนเผ่าปรัยและชวนกันสร้างกาแฟดีระดับประเทศ

หมู่บ้านมณีพฤกษ์เป็นหมู่บ้านของคนปรัย หนึ่งในชาติพันธุ์ลัวะที่อาศัยอยู่บนดอยนี้มาแต่ดั้งเดิม เดาได้ไม่ยากว่าบ้านไหนน่าจะเป็นบ้านของเคเลบ ภายนอกทุกหลังดูคล้ายกันไปหมด แต่หลังหนึ่งที่มีเตาอบพิซซ่าและกองฟืนกองใหญ่อยู่หลังบ้าน ต้องเป็นบ้านเขาไม่ผิดแน่นอน

เคเลบออกมาต้อนรับที่หน้าบ้าน ชายไทยเชื้อสายอเมริกันรูปร่างสูงใหญ่ ผมหยิกฟู ยิ้มใจดี ก่อนชวนเราเข้าไปดื่มกาแฟข้างใน กว่าจะเดินทางมาถึงที่นี่ก็ใกล้เวลาเที่ยง ภรรยาของเคเลบกำลังเตรียมอบขนมปังและทำสปาเกตตี้กินเป็นอาหารกลางวันพอดี พวกเราถูกเชิญให้กินอาหารกลางวันร่วมกัน 

ระหว่างรออาหารผมเลยได้นั่งคุยกับเคเลบถึงเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต และสิ่งดลใจให้เขาเริ่มทำกาแฟ

“ผมเกิดและโตที่นี่มาตลอด พ่อกับแม่ของผมมาอยู่บนดอยตั้งแต่ปี 2520 พวกเขาเป็นมิชชันนารี เลือกมาอยู่ที่นี่เพราะรู้ว่าที่นี่มีชนเผ่าที่ยังไม่เคยมีใครมาสอนเรื่องพระเจ้าก่อน ตอนพ่อมาใหม่ๆ ยังไม่มีถนน ทุรกันดาร องค์กรของพ่อเน้นเอาข่าวดีของพระเจ้าไปเล่าให้คนที่ไม่เคยได้ยินฟัง

“คนไทยในเมืองเขาได้ยินมาแล้ว คนบนดอยเขายังไม่ได้ยินก็อยากเล่าให้เขาฟังเผื่อเขามีโอกาสเชื่อ องค์กรก็เลยแนะนำว่าเผ่าปรัย หนึ่งในชนชาติลัวะ ยังไม่เคยมีใครสอนนะ เขาก็เลยเลือกที่นี่ พ่อเลยขึ้นมาสำรวจ แต่ก่อนบนดอยเป็นเขตสีแดง ยังรบกันอยู่ ตอนพ่อมาใหม่ๆ คอมมิวนิสต์ยังอยู่ มีหมู่บ้านเดียวที่เข้าหาได้ คือบ้านแพะกลาง สมัยนั้นต้องนอนฟังเสียงระเบิดทุกคืน (หัวเราะ)” เคเลบเล่าย้อนถึงอดีตด้วยภาษากลางเจืออู้คำเมืองเล็กน้อย

โบสถ์ที่เป็นโรงคั่วกาแฟ

“ผมเข้าโรงเรียนที่อำเภอทุ่งช้างตอนเป็นเด็ก แล้วไปเรียนต่อโรงเรียนนานาชาติที่เชียงใหม่ จบแล้วเรียนมหาวิทยาลัยที่รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ตอนไปผมก็ไม่รู้จะทำอะไรกับชีวิต เลยเรียนสลับกันไปเรียนทั้งวิศวะเครื่องกล เรียนภาษาศาสตร์ เรียนศิลปะ เรียนหลายอย่าง ไม่รู้ว่าเราจะเอาปริญญาอะไรดี เลยออกไปฝึกงานที่โบสถ์ ฝึกงานที่นั่นเหมือนกับเรียนฟรี เรียนครึ่งวัน อีกครึ่งวันทำงาน แล้วงานที่เขาให้ทำคือคั่วกาแฟ

“ที่มีโรงคั่วกาแฟอยู่ในโบสถ์เพราะว่าเขามีโปรแกรมสอนพระคัมภีร์ เขาอยากให้เป็นโปรแกรมเรียนฟรี และพอดีว่าโบสถ์ได้เครื่องคั่วกาแฟมา เขาก็เลยตัดสินใจคั่วกาแฟขายเพื่อให้มีรายได้ ให้ทุกคนอยู่ฟรีเรียนฟรี 

“มีเด็ก 20 คนอยู่ด้วยกัน คั่วกาแฟด้วยกัน ตอนผมเข้าไปเขาเพิ่งเริ่มได้สามสี่ปีเอง สมัยนั้นยังไม่มีใครรู้อะไรเกี่ยวกับกาแฟมากนัก วงการกาแฟยังไม่ค่อยมีข้อมูลอะไรเลย กูเกิลหาอะไรก็ไม่เจอ สมาคมกาแฟพิเศษ (SCA : Specialty Coffee Association) มีแล้วนะ แต่เพิ่งตั้งใหม่เอี่ยมเลย (หัวเราะ) 

“ผมอยู่กับโบสถ์ได้ 1 ปี เขาให้ผมเป็นหัวหน้าฝ่ายคั่ว ผมก็เลยตัดสินใจสละเวลา 1 วันต่ออาทิตย์เป็นวันศึกษากาแฟ ตอนนั้นคิดว่าเราน่าจะทดลองอะไรบ้าง เราคิดออกแค่ว่าถ้าแต่ละครั้งคั่วไม่เหมือนกันรสชาติก็ต้องไม่เหมือนกัน เลยทดลองลองคั่วหลายๆ แบบ ลองชงแล้วชิม ทำทุกอย่าง พยายามศึกษาเอง เน้นทดลองเอง อ่านหนังสือด้วย อ่านสิ่งที่คนอื่นพบเจอด้วย จนสุดท้ายเราเข้าใจกาแฟแต่ละตัวดีมากเลย

“เราก็ส่งคนคั่วคนหนึ่งไปแข่งงานคั่วกาแฟที่จัดโดยสมาคมคั่วกาแฟของเขา ปรากฏว่าคนที่เราส่งไปก็ได้ที่หนึ่งเลยในครั้งแรก”  เขาเล่าพลางหัวเราะ

พระเจ้าช่วย

เคเลบเป็นลูกชายของมิชชันนารี ก่อนหน้านี้เขาเหมือนจะได้เพียงแค่รู้เรื่องพระเจ้าจากสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่ไม่ได้เชื่อ จนเมื่อเกิดบางสิ่งขึ้นในชีวิต ก็เป็นจุดพลิกผลันกับเรื่องราวทั้งหมดของเขาหลังจากนั้น

“เราก็รู้เรื่องพระเจ้าตั้งแต่เป็นเด็ก ถามว่าเชื่อมั้ย ก็เชื่อ แต่ยังไม่ได้เอาแบบวางใจกับพระเจ้าจริงๆ นึกออกไหม ที่เริ่มเชื่อในพระเจ้าก็คิดเรื่องชีวิตนี่แหละ เราทำอะไรกับชีวิตตัวเองอยู่ กำลังเริ่มรู้สึกว่าชีวิตไม่มีเป้าหมาย เพื่ออะไรก็ไม่รู้ สุดท้ายก็สงสัยขึ้นมาว่าเราเชื่อพระเจ้าจริงๆ รึเปล่า

“พอถึงจุดหนึ่งที่เรียนมา 2 ปีแล้วตัดสินใจ โอเค ถ้าพระเจ้ามีจริง เราก็จะเอาทุกอย่างในชีวิตให้พระเจ้าตัดสินว่าเราต้องทำอะไร

“หลังจากนั้นเราก็เหมือนฝันบ่อยมากว่าเราต้องกลับไปอยู่เมืองไทย ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยวางแผนอย่างนั้น ก่อนนั้นคือวางแผนจะทำงานวิศวะ หาเงินอยู่ที่นั่น แต่พอคิดว่ายกชีวิตให้พระเจ้าตัดสินหมดเลยว่าจะทำอะไร พระเจ้าก็ส่งสัญญาณบอกเราชัดอยู่ว่าอยากให้เรากลับไทย และเราก็รู้สึกในใจว่ามันจริง มันเป็นทางที่ถูกต้อง

“ตอนที่กำลังจะไปใช้เงินทุกบาทที่มีซื้อตั๋วเครื่องบิน One way ไปเมืองไทย ไม่รู้จะจบยังไง มันก็เสียวๆ อยู่นะ เราบ้ารึเปล่าเนี่ย เคยคิดอยู่”

ก่อนกลับไทยไม่กี่อาทิตย์ เคเลบประสบอุบัติเหตุจากการขี่จักรยาน สมองได้รับการกระทบกระเทือนที่เขาเองใช้คำว่า ‘เละ’ จากภาพสแกนสมองที่เห็นความเสียหายไปซีกหนึ่ง ทางโรงพยาบาลบอกให้เรียกญาติมาด่วน เพราะเขาอาจจะเหลือเวลาอีกไม่มาก คนที่โบสถ์ก็ร่วมกันสวดอธิษฐานต่อพระเจ้า พร้อมยอมรับและทำใจ แต่สุดท้ายไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น เคเลบกลับอาการดีขึ้นจนหายดีในที่สุด ทำเอาหมองงกันไปหมด 

ผมสังเกตได้ว่าเคเลบเลี่ยงที่จะเล่าเรื่องนี้ให้ดูเป็นเรื่องปาฏิหาริย์เหนือธรรมชาติ และทำให้มันดูเป็นเรื่องราวการบาดเจ็บและหายแบบธรรมดา แต่ผมคิดว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เขาเชื่อในพระเจ้าแล้วอย่างเต็มใจ

เคเลบ จอร์แดน ฝรั่งบนดอยผู้ใช้กาแฟพัฒนาชีวิตคนเผ่าปรัยและชวนกันสร้างกาแฟดีระดับประเทศ

ช่วยพระเจ้า

“ตอนกลับมาผมไม่ได้วางเป้าเล่นเรื่องกาแฟ แต่เป้าหมายชีวิตตอนแรกคือรับใช้พระเจ้า พอเรารู้จักพระเจ้าเราก็อยากทำอะไรในชีวิตที่เป็นประโยชน์ ตอนแรกปรึกษากับพ่อผมว่ามีอะไรที่ผมจะช่วยคนปรัยได้รึเปล่า 

“พ่อผมก็บอกว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของคนปรัยคือไม่มีอาชีพที่หาเลี้ยงชีพใกล้ตัว ทางเลือกเดียวคือไปทำงานที่กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ทำให้ครอบครัวแตกแยกกัน สังคมก็ไม่ค่อยสมบูรณ์ ถ้าจะสอนเรื่องพระเจ้า คนก็ไม่ค่อยอยู่บ้าน หนีไปทำงานหมด ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นก็ไปทำงานต่างจังหวัด หรือบางครั้งพ่อก็จะไปทำงานต่างประเทศ หายไปเป็นปีสองปี ลูกก็โตโดยไม่มีพ่อ ก็เลยเริ่มมีปัญหาในสังคมเยอะ 

“ตอนแรกคิดว่ากลับมาจะช่วยพ่อแปลพระคัมภีร์ แต่พ่อก็เสนอขึ้นมาว่า ไหนๆ รู้เรื่องกาแฟอยู่แล้ว ทำไมไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ทำอะไรที่จะช่วยให้ชาวบ้านมีอาชีพยั่งยืน

“พอได้ยินพ่อบอกแบบนั้นเลยนึกถึงตอนไปเรียนที่โบสถ์ รอบๆ ตัวเราตอนนั้นก็อยู่กับคนที่ตามพระเจ้าเหมือนกันกับเรา เลยคิดขึ้นมาว่าหรือกาแฟนี่อาจจะเป็นอะไรสักอย่าง อาจจะเป็นเครื่องมืออะไรสักอย่างที่ช่วยคนได้ 

“พอกลับมาเมืองไทยเราก็เห็นว่ากาแฟยังไม่ค่อยดีนะ ยังไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับมัน เราเห็นกาแฟดีๆ มาจากอเมริกา เรารู้ว่ามันมีความเป็นไปได้อะไรบ้าง เรารู้ว่าถ้าทำดี ๆ จะเจอรสชาติยังไงบ้าง แบบที่คนชอบกาแฟเขาต้องการ

“โอเค งั้นลองดู 3 ปีแรกแค่ทดลองเอง ไม่ได้แนะนำใครให้ใครปลูกเลย ความจริงเขาก็ขอปลูกด้วย แต่ผมไม่ให้ปลูก ผมบอกว่ารอให้ผมลองดูก่อนว่ามันดีหรือไม่ดีก่อน” เคเลบเล่า

ขอแค่กล้า

“ตอนนั้นมีโครงการของป่าไม้แจกต้นกล้ากาแฟสายพันธุ์คาติมอร์ให้ชาวบ้าน แต่แค่แจกกล้าไม่ได้สอน พอชาวบ้านปลูก แล้วตอนหลังมารู้ว่าต้องรอ 3 ปีกว่าจะได้กิน เขาก็ฟันทิ้ง กล้ากาแฟ 14,000 ต้นหายเกลี้ยง อย่างน้อยปลูกกะหล่ำ 3 เดือนก็ได้แล้ว

“มีบางคนที่เก็บต้นกาแฟไว้อยู่บ้างนะ แต่มันก็ไม่มีตลาด ไม่มีใครคิดว่ากาแฟจะมีอนาคตหรอก ผมก็เลยคิดว่าอากาศอย่างนี้น่าจะปลูกกาแฟได้ 

“ผมคิดว่าต้องหาสายพันธุ์อื่นมาทดลองปลูกเพิ่ม เสิร์ชกูเกิลเล่นๆ เจอคนที่เขากำลังทดลองทำกาแฟสายพันธุ์ปานามา เกอิชา (กาแฟที่ดีติดอันดับต้นๆ ของโลก) ตอนนั้นเกอิชายังไม่ดังเลยนะ เลยอีเมลขอมาลองปลูก เขาก็ส่งไปรษณีย์มาให้ สุดท้ายมันไม่งอกบ้าง เป็นราบ้าง ตายเรียบ เหลือแค่ต้นเดียว หลังจากนั้นเกอิชาดังมาก ขอไปอีกทีเขาก็ไม่ให้แล้ว (หัวเราะ)

“ตอนนั้นอยากได้กาแฟสายพันธุ์อื่นๆ มาลองปลูก เขียนอีเมลหาทั้งแอฟริกา ไม่มีใครตอบเลย เลยเริ่มอธิษฐานขอกับพระเจ้า

เคเลบ จอร์แดน ฝรั่งบนดอยผู้ใช้กาแฟพัฒนาชีวิตคนเผ่าปรัยและชวนกันสร้างกาแฟดีระดับประเทศ
เคเลบ จอร์แดน ฝรั่งบนดอยผู้ใช้กาแฟพัฒนาชีวิตคนเผ่าปรัยและชวนกันสร้างกาแฟดีระดับประเทศ

แล้วพระเจ้าก็พาคนคนหนึ่งมา

“วันหนึ่งผมออกมาจากไร่กลับมาบ้าน เจอคนคนหนึ่งรออยู่ที่หน้าบ้าน เขาบอกได้ยินมาว่าผมกำลังหาเมล็ดกาแฟอยู่ใช่ไหม แล้วเขาก็พาไปเก็บที่สวน เมื่อก่อนแปลงของเขาถูกใช้เป็นแปลงทดลองสายพันธุ์กาแฟขององค์กรหนึ่ง องค์กรนี้เอากาแฟหลายพันธุ์มาลงแปลงทดลองปลูก แต่ตอนนี้ข้อมูลเดิมมันหายไปหมด มันไม่รู้ว่าพันธุ์ไหนเป็นพันธุ์ไหน เราเห็นมันปลูกเป็นแถว เป็นคนละสีคนละทรงต้นไปหมด เราก็เลือกมั่วๆ เอาอันที่สวยๆ

“หลังจากนั้นก็เริ่มได้มาจากที่ต่างๆ เอามาลองปลูกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่กล้าให้ชาวบ้านปลูก ต้องรอดูว่าแข็งแรงไหม อร่อยไหม ให้มันแน่ใจว่าดีก่อน

“แต่สุดท้ายเราก็เลือกพันธุ์ที่เหมือนจะมีอนาคตคือ จาวา กับอีกพันธุ์ที่ผสมมาจากหลายพันธุ์ เลยตั้งชื่อใหม่ว่า ‘ซิรินา’ ตามชื่อลูกสาวของผม สองพันธุ์นี้อร่อยและทนทาน ถึงได้เริ่มให้ชาวบ้านปลูกตาม

“ช่วงแรกเราก็จัดอบรมบ้าง การปลูก การดูแลรักษา ช่วงแรกมีบางคนที่สนใจ แต่หลายคนก็ยังไม่สนใจเพราะยังไม่เห็นเกิดผล เริ่มมีมาสนใจตอนเห็นสวนผมออกลูกปีแรก เขาก็เริ่มอยากปลูกเอง แต่เขาก็กลัวว่าเขาจะปลูกแล้วไม่มีใครซื้อ 

“แต่วันหนึ่งมีคนจากกรุงเทพฯ มาดูเกอิชาและพันธุ์อื่นที่ผมปลูก ชาวบ้านก็มาถามผมว่าแขกกรุงเทพฯ เป็นใคร เขามาทำไม เขาขับรถมาตั้งจากกรุงเทพฯ มาดูกาแฟเพราะเขาอยากซื้อ นั่นเปลี่ยนมุมมองเขาหมดเลยนะว่าขนาดนั้นเลยเหรอ ตอนแรกเขาคิดว่าปลูกแล้วจะไม่มีใครสนใจ แต่นี่ขับรถมาตั้งจากกรุงเทพฯ แค่ดูเกอิชา ขนาดยังไม่ออกลูกก็มาดูแล้ว น่าจะมีอนาคต หลังจากนั้นทุกคนก็เริ่มปลูกกัน พอเริ่มได้ผลผลิตผมก็ทำโรงสีเล็กๆ ไว้ให้เขา ที่นี่ เขาก็อุ่นใจว่าจะมีคนรับซื้อตลอด จะมีอนาคต แต่ตั้งแต่แรกผมกะว่าจะใช้เวลาประมาณ 15 ปี กว่ามันจะไปเองได้ ตอนนี้กำลังปีที่ 15 พอดีเลย”

สู้กับขิง

“แต่ปัญหาคือขิงมาปุ๊บ เขาได้เงินเร็วกว่า ปลูกขิงได้เงินเร็ว เขาก็เลยเอากาแฟไว้เป็นตัวรอง ทุ่มเทเวลากับขิงหมดเลย ซึ่งขิงนี่ปลูกยาก เสี่ยงเยอะ ต้องลงทุนเป็น 2 เท่าของกาแฟ แต่บางครั้งราคามันดีเขาก็ได้เงินคืนเร็ว เขาก็อยากซื้อรถ อยากซื้อบ้าน ทำบ้านใหม่ เขาก็เลยใช้เวลากับขิง บางคนก็แทบไม่มีเวลาดูแลกาแฟ

“ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่าขิงมันอันตรายเท่าไร แต่ขิงมันทำลายป่าเยอะ ใช้ยาใช้เคมีเยอะ ก็ไม่ค่อยอยากให้ปลูกขิง ดีอย่างเดียวคือได้เงินไว แต่ไม่ยั่งยืนเลย 

“ขิงปลูกซ้ำที่เดิมไม่ได้ ปลูกแล้วต้องรอ 20 ปี กว่าดินจะกลับมา เพราะมันเป็นโรคครับ เป็นขิงพันธุ์อุตสาหกรรมที่แพ้โรคง่าย ต้องใช้ยา ใช้เคมีหลายอย่าง ใช้เยอะมาก ไม่งั้นขิงก็จะตาย ถ้าโรคเข้าในขิงปุ๊บจะตายทั้งสวนเลย เรียบร้อยเลย ต้องปลูกที่ใหม่ตลอดเพื่อเบิกป่าใหม่ๆ ป่าหมดเกลี้ยง อันนี้เป็นปัญหาที่มาทีหลัง

“ที่ดินที่ปลูกขิงไม่ได้แล้วผมก็บอกให้เขาปลูกกาแฟ อย่างน้อยก็ยังไม่ใช่ที่เปล่าๆ จะไปเปลี่ยนความคิดเขาให้เลิกปลูกขิงทันทีเลยก็ไม่ได้ แต่อย่างน้อยให้มีอะไรรองรับหลังหลังจากที่ดินหมดจริงๆ ให้เขามีทางเลือกที่ยั่งยืนได้ เขาก็จะมาเลือกกาแฟ” 

เคเลบเคยบอกว่า ปกติคนปรัยปลูกข้าวโพด แล้วจู่ๆ ก็มีสาเหตุที่ทำให้ทั้งดอยปลูกขิงขึ้นมาพร้อมๆ กัน

“วันหนึ่งมีพ่อค้าขึ้นมาบนหมู่บ้าน พูดประโยคเดียว ‘ปีนี้เรารับซื้อขิงราคากิโลฯ ละ 20 บาท’ แล้วก็หายไปเลย ชาวบ้านกระตือรือร้นกันใหญ่

“เรื่องนี้ทำให้ผมเรียนรู้หนึ่งอย่างกับการพัฒนาเกษตรคือ เห็นหลายองค์กร เห็นหลายหน่วยงาน มาส่งเสริมเกษตรโดยแบ่งความรู้ แบ่งกล้าพันธุ์ แบ่งเมล็ด อบรมรณรงค์อะไรต่างๆ แล้วไม่เกิดผล อันนี้พ่อค้าขายของไม่ได้ช่วยอะไรเลยนะ กับคำพูดคำเดียว ชาวบ้านหาข้อมูลพันธุ์ว่าต้องใช้พันธุ์ไหนปลูก พันธุ์นี้ต้องใช้ยาตัวไหน ปลูกยังไง เอาจนได้ (หัวเราะ) ทั้งหมดเกิดจากแค่พ่อค้าขึ้นมาพูดคำเดียวเท่านั้น ก็เลยทำให้เราคิด ความจริงกาแฟก็ไม่ต่างกัน เราอยากให้ชาวบ้านปลูกพันธุ์จาวา เราไม่ต้องสอนมาก 

“ผมเลยเขียนราคาคาติมอร์ตอนแรก 20 บาท ราคาจาวา 30 บาท ราคาเกอิชา 40 บาท เขียนไว้ ไม่ได้พูดอะไร ชาวบ้านมาเห็น หลังจากนั้นไม่ต้องทำอะไรเลย เขาก็เพาะกล้าเอง หาพันธุ์เอง คือทุ่มเทเองเหมือนขิงเลย เพราะเขาเห็นว่ามีราคาต่าง มีคนซื้อจริง มันไม่ใช่แบบพ่อค้าที่ขึ้นมาแล้วก็หายไป อยู่ประจำกับเขาจนเขาไว้ใจ

“ตอนนี้ก็ยังใช้กระดานนี้อยู่เลย (หัวเราะ)”

มณีพฤกษ์

“ผมใช้วิธีขายต้นกล้าในราคาต้นทุนให้เขาได้รู้สึกเป็นเจ้าของ ดีกว่าได้รับของฟรีแล้วไม่เห็นคุณค่า แล้วเขาก็ปลูกกัน ปลูกแล้วผมก็รับซื้อ ผมพยายามดูว่าคนอื่นรับซื้อเท่าไร แล้วก็ดูว่าราคาของเราจะต้องแพงกว่าคนอื่นตลอด อยากให้เขาไม่รู้สึกว่าโดนกดโดนเอาเปรียบ เพราะว่าถ้ามีความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นปุ๊บมันแก้ยาก ยิ่งเป็นคนฝรั่งนะ โอ้โห มาเอาเปรียบชาวบ้าน เจอหมด เลยตัดสินใจตั้งแต่แรกว่าจะไม่ยอมให้มีคนอื่นในประเทศซื้อแพงกว่าเรา (หัวเราะ) สุดท้ายก็ขายได้ ของดีก็ขายได้ อยากให้เขารู้สึกว่าของเขามีมูลค่า ไม่ใช่แบบราคาตลาด แต่ต้องเป็นตามราคาที่มันจะขายได้”

เคเลบคุยเรื่องโปรเจกต์กาแฟนี้กับเพื่อนสมัยเรียนที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนช่วงแรก เพื่อนำไปรับซื้อกาแฟจากชาวบ้าน พอเริ่มคั่วขายได้ก็หมุนกำไรไปเรื่อยๆ ทุกปีได้กำไรก็เอากำไรไปขยายต่อ ไปสร้างให้ใหญ่ขึ้น

“สิ่งหนึ่งที่ช่วยผมเยอะมากคือมีผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่ง ผู้ว่าฯ ได้ข่าวว่าผมขึ้นมาทำกาแฟเขาก็แปลกใจ ‘เคเลบจบวิศวะจากอเมริกา ทำไมมาทำกาแฟอยู่บนดอย’ เขาสงสัยเลยขึ้นมาคุยกับผม ผมก็คุยกับเขายาวเลย ทำไมมาอยู่นี่ เป้าหมายชีวิตอะไร เขาก็บอกว่า โอ้ โอเค นี่ดีนะ แล้วเขาก็ไปพูดออกวิทยุ ตอนนั้นทุกอาทิตย์มีรายการวิทยุชั่วโมงหนึ่ง แล้วเกือบทุกอาทิตย์เลยเขาก็จะเล่าเรื่องกาแฟที่นี่ สุดท้ายทุกคนในจังหวัดก็รู้เรื่องนี้จากผู้ว่าฯ ร้านกาแฟที่ต้องการใช้กาแฟท้องถิ่นก็เริ่มติดต่อมามากขึ้น

สร้างภาษาเพื่อสอนศาสนา

“ตอนผมขึ้นมาผมร่วมงานกับอาจารย์สอนพระคัมภีร์ เขาเป็นคนตั้งคริสตจักรที่นี่ ทุกวันเสาร์ก็ใช้เวลากับผู้นำในคริสตจักรเพื่อช่วยสอนให้คนหมู่บ้านอ่านพระคัมภีร์ได้เข้าใจด้วยตัวเอง”

เผ่าปรัยมีภาษาเป็นของตัวเอง แต่มีเพียงแค่ภาษาพูด ไม่มีตัวอักษร พ่อของเคเลบเป็นคนที่สร้างภาษาเขียนโดยใช้ตัวอักษรไทยบางตัวมาผสมผสานให้คำพูดเป็นภาษาที่อ่านออกเขียนได้

“เขาอ่านได้หลายคน แต่อ่านไม่ค่อยคล่อง คือเขาไม่ค่อยเห็นคุณค่า เขาไม่ค่อยฝึกอ่าน อ่านพอได้ เป็นสิ่งที่เราพยายามสนใจให้เขาอ่านเขียนเยอะขึ้น

“พี่สาวผมเขาทำงานกับองค์กร SIL เป็นองค์กรเกี่ยวกับภาษาศาสตร์ที่ทำงานทั่วโลก แล้วโครงการของเขาคือช่วยให้ใช้ระบบการศึกษาสอนภาษา สอนการอ่านเขียนภาษาแม่ตั้งแต่เด็กอายุยังน้อย เด็กจะได้ถนัดอ่านเขียนในภาษาแม่ของเขา เพราะถ้ารอเป็นผู้ใหญ่มันจะยาก 

“ความจริงเวลาเด็กเรียนอ่านเขียนนี่ถ้าเรียนแบบหลักการอ่าน หลักการเขียนในภาษาที่เป็นภาษาแม่ก็จะเรียนรู้ได้เร็วกว่า เพราะว่าภาษากลางไม่ได้เป็นภาษาแม่ ถ้าเราเรียนอ่านเขียนในภาษาที่สองที่สามมันจะจำยาก

“ถ้าได้หลักการอ่านเขียนภาษาตัวเองแล้วก็ค่อยเรียนเป็นภาษาไทยมันก็จะง่ายมาก ตัว ก ก็เป็น ก เหมือนกัน ตัว ข ก็เป็น ข เหมือนกัน นอกนั้นมันแค่รู้จักเพิ่มตัวหนังสือบางตัวเอง”

เครื่องคั่วมันแพง ก็ทำเองมันเสียเลย

เคเลบพาขึ้นไปตรงโรงเรือนเล็กๆ ไม่ไกลจากบ้าน ตรงนี้มีทั้งที่ผสมปุ๋ย และเป็นห้องสตูดิโองานช่างของเขา เหล็กและอุปกรณ์ช่างครบมือจัดอยู่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ผมเข้าใจว่านี่คืองานอดิเรก นักพัฒนากาแฟที่ไหนจะต้องใช้ค้อน สิ่ว หรือที่เชื่อมเหล็ก

“บริเวณนี้เป็นที่จัดประชุมอบรมอะไรต่างๆ ผมวาดผนังด้านหนึ่งไว้เพื่อจะมีอะไรชี้เวลาอธิบายชาวบ้าน เมื่อก่อนผมต้องวาดรูปให้เขาเห็นภาพ วาดรูปที่ไวท์บอร์ด เอ๊ะ ผมต้องวาดซ้ำๆ ตลอด น่าจะให้มีรูปถาวรไปเลย ผมก็เอาปากการ่างไว้ก่อน ภรรยาของผมก็เอาสีมาเพนต์ลง เขาอาจจะไม่เข้าใจละเอียดทุกข้อ แต่ว่าเขาก็เรียนรู้เรื่อยๆ”  เคเลบอธิบายที่มาของผนังด้านหนึ่งในโรงเรือนที่วาดรูปความรู้เกี่ยวกับกาแฟไว้เต็มผนัง 

จนสายตาหันไปมองผนังด้านหนึ่งที่เขียนแปลนแบบคร่าวๆ เหมือนจะเป็นเครื่องคั่วกาแฟ ทั้งอุปกรณ์ช่างและแปลนบนผนังทำให้ผมต้องหันกลับไปมองหน้าเขา

“อย่าบอกนะว่ากำลังทำเครื่องคั่วกาแฟเอง” ผมถาม

“คือเครื่องคั่วมันแพงมาก” เขาพูดพร้อมหัวเราะออกเสียง

เคเลบ จอร์แดน ฝรั่งบนดอยผู้ใช้กาแฟพัฒนาชีวิตคนเผ่าปรัยและชวนกันสร้างกาแฟดีระดับประเทศ
เคเลบ จอร์แดน ฝรั่งบนดอยผู้ใช้กาแฟพัฒนาชีวิตคนเผ่าปรัยและชวนกันสร้างกาแฟดีระดับประเทศ

“คือตอนเริ่มทำกาแฟมันต้องมีตัวอย่างกาแฟที่ถูกคั่ว เพื่อวัดผลสิ่งที่กำลังทำอยู่ กำลังทดลองสายพันธุ์ ต้องมีวิธีรู้ว่าอันไหนอร่อย อันไหนไม่อร่อยใช่ไหม แล้วตอนนั้นไม่มีเพื่อน ไม่รู้ใครที่มีเครื่องคั่ว เครื่องคั่วก็ราคาสูง เราต้องหาวิธีที่จะคั่วเองได้ ก็เลยไปหาเศษเหล็กที่รับซื้อของเก่า ประกอบเครื่องคั่วแบบเอาที่มันคั่วกาแฟได้ ต้นทุนประมาณ 500 บาท (หัวเราะ) ทำเครื่องคั่ว

“ตอนนั้นเราก็แค่ต้องรู้หลักการของเครื่องคั่ว รู้ว่าต้องการให้เครื่องมันทำอะไร แล้วก็สร้างมัน เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เรารู้ว่ากาแฟที่เราทำอยู่เราไปถูกทางรึเปล่า เครื่องแรกที่ทำไว้คั่วกาแฟ ใช้งานอย่างคุ้มเลย” 

คำว่าเครื่องแรกของเคเลบบอกว่า นอกจากพัฒนาสายพันธุ์กาแฟแล้ว เขายังพัฒนาเครื่องคั่วกาแฟของเขาไปด้วย โรงคั่วกาแฟของเคเลบมีเครื่องคั่วที่สามารถคั่วกาแฟขนาดต่างๆ ถึง 3 ขนาด ทั้งหมดเขาลงมือทำขึ้นมาด้วยตัวเอง ใช้ต้นทุนทั้งหมดเท่ากับราคาเครื่องคั่วมียี่ห้อขนาดเล็กสุดที่ขายกันราคาตลาด มองเผินๆ ดูไม่ต่างจากเครื่องคั่วมาตรฐานจากโรงงานเลยแม้แต่นิดเดียว 

“สิ่งนี้ได้มาจากตอนเรียนวิศวะใช่มั้ยครับ” ผมถาม 

การคั่วกาแฟ

“ก็ไม่ได้โดยตรงนะ ของขวัญวันเกิดตอนผมอายุ 3 ขวบพ่อซื้อขวานเล็กให้ ผมก็ใช้แกะไม้ ทำดาบ ทำปืน ทำอะไรจากไม้ ฟันมือตัวเองบ้าง (หัวเราะ) คือชอบหาอะไรทำตั้งแต่เด็ก ชอบประดิษฐ์ของ ผมอาจจะเลือกวิศวะเพราะชอบทำอะไรแบบนี้มั้ง แต่สุดท้าย เราเห็นว่าคนอื่นที่เรียนวิศวะ เขาจบที่งานตรงโต๊ะคอม ผมเลยคิดว่าไม่เอาดีกว่า เราต้องทำงานแบบเดินไปเดินมาได้ หมายถึงอยู่โต๊ะคอมทั้งวันไม่ได้หรอก ก็เลยออกไปเรียนศิลปะ ศิลปะที่เกี่ยวกับเหล็กโดยเฉพาะ ที่โรงเรียนมีคอร์สศิลปะเหล็ก วาดรูปไม่เก่ง เพนต์ไม่เก่ง แต่ชอบงานเหล็ก มีคอร์สเหล็ก ทอง เงิน เครื่องทองเหลือง อะไรแบบนี้ เราชอบตอนนั้นมาก ตอนนั้นเป้าหมายชีวิตก็เปลี่ยนพอสมควร เหมือนพระเจ้ามีแผนที่ดีกว่านี้สำหรับชีวิตเรา”

วิชาศิลปะจากงานเหล็กไม่ได้ส่งผลแค่ทำให้เคเลบประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นประโยชน์กับการทำกาแฟของเขาเท่านั้น แต่ยังมีงานอดิเรกคือการตีมีด เขาบอกว่า บางทีก็ใช้มันเป็นการระบายอะไรบางอย่าง บางทีก็ใช้สร้างสมาธิ เขาสร้างโรงตีมีดเล็กๆ เอาไว้ แล้วใช้เวลาอยู่กับมันได้เป็นวัน

“ที่จริงก็อยากสอนชาวบ้านด้วย ให้มาตีมีดด้วยกัน เมื่อก่อนคนปรัยมีศิลปินในท้องถิ่น แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว มีแต่คนทำงานเกษตร คนออกไปทำงานที่อื่น คืออยากให้เขาเห็นว่าจริงๆ มันมีทางเลือกกว้างกว่านั้น

“สุดท้ายถ้าสังคมที่ดีที่สมดุล ไม่ควรมีเกษตรกรล้วนๆ หรือวิศวกรล้วนๆ คือต้องมีความหลากหลาย ต้องมีเกษตรกรบ้าง ช่างบ้าง ศิลปิน นักเขียนบ้าง หลายๆ แนวทาง เด็กวัยรุ่นที่เกิดมาใหม่ทุกปีก็จะไม่ใช่ทุกคนมีเป้าหมายอยากเป็นเกษตรกร”

เคเลบ จอร์แดน ฝรั่งบนดอยผู้ใช้กาแฟพัฒนาชีวิตคนเผ่าปรัยและชวนกันสร้างกาแฟดีระดับประเทศ

เพราะเป็นคนในหมู่บ้าน เลยต้องช่วยหมู่บ้าน

ผมถามเคเลบว่า ที่ทำทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาของตัวเองเลย ทำไมเขาถึงเลือกแก้ปัญหาให้คนอื่น 

“ก็ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนของสังคม ผมก็เป็นหนึ่งคนในหมู่บ้าน ถ้าหมู่บ้านมีปัญหาก็เป็นปัญหาของผมด้วย ผมก็เป็นสมาชิกหมู่บ้านเหมือนกัน คนอื่นเจ็บผมก็เจ็บด้วย คนอื่นได้ดีผมก็ได้ดีด้วย ก็อาจเป็นเพราะผมโตกับคนปรัยตั้งแต่เกิด อาจจะรู้สึกผูกพันกับเขา เหมือนรู้สึกว่าในใจผมเข้าใจเขา ความจริงผมเข้าใจคนปรัยมากกว่าคนฝรั่งอีก คนอเมริกันนี่ผมไม่ค่อยเข้าใจเลยนะ (หัวเราะ) ไปอเมริกานี่ผมงงเลยอะ ทำไมเป็นอย่างนี้อย่างนั้น รู้สึกไม่เข้าเลย มาอยู่กับคนปรัยรู้สึกมันง่าย เหมือนเรารู้อยู่ว่าเขาคิดอะไรอยู่ เขาก็รู้ว่าผมคิดอะไรอยู่

“คนปรัยมีความผูกพันกับสังคมสูงมาก อาจเกิดจากการอยู่ด้วยกันในป่า คือต้องพึ่งพากันจริงๆ คือถ้าเราอยู่กรุงเทพฯ เราไม่ต้องพึ่งใคร อาหารเราก็ไปซื้อเองได้ งานเราก็ทำงานอะไรของเรา คนอื่นก็ทำงานของเขา อยู่แบบอิสระได้ 

ดอยมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน

“แต่คนปรัยเขาต้องพึ่งกันจริงๆ อย่างสร้างบ้านเขาสร้างคนเดียวไม่ได้ เขาต้องมีทีมช่วยกัน ทำไร่ทำสวนก็ทำคนเดียวไม่ได้ต้องมีหลายๆ คนช่วยกัน ทำทีเดียวเลย ตอนนี้เรารุมกันทำไร่ของคนนี้ ก็รุมกันทำ 30 – 40 คน มาทำ ช่วยกันทำให้เสร็จ มันมีการช่วยกัน การคิดแบบเป็นวิธีคิดของคนปรัยนี่ผมว่าดีนะ ไม่เคยมีคนหิวข้าว ไม่เคยมีคนขาด อย่างเขาดูแลกันดีมาก เขาจะไม่ยอมให้มี 1 คนในหมู่บ้านขาดอะไร

“อย่างวันนั้นผมลงข้างล่างแล้วขึ้นมา ลืมเอาข้าวสารมาด้วย ไม่มีข้าวสารกิน เราก็คุยกันสองคนกับภรรยาในบ้านเรื่องลืมเอาข้าวมาเหรอ คุยกันแป๊บเดียว พอดีมีคนเดินผ่านได้ยินเราคุยว่าไม่มีข้าวสาร 5 นาทีก็มีคนมาก๊อกๆ ที่หน้าประตู เอาข้าวสารมาให้ถุงหนึ่ง เขาจะเป็นอย่างนี้ (หัวเราะ) ห่วงกันมาก คือใครป่วยใครเข้าโรงพยาบาลเขาก็จะดูแลกัน เขาไม่ได้มองแต่ละคนต่างหาก แต่เขาจะมองทั้งสังคมเป็น 1 หน่วย” 

ดอยมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน

มันไม่ใช่กาแฟคนใดคนหนึ่ง เป็นกาแฟรวมทั้งหมู่บ้าน

“เรามีดริปกาแฟสาธารณะ ชาวบ้านจะมาชงกาแฟกิน เราก็เอากาแฟวางตรงนั้นตลอด ผมก็สอนดริปให้หลายคน น่าจะประมาณ 20 คน ที่ชงเป็น ส่วนใหญ่มาดริปตอนเช้าก่อนไปทำงาน เขาจะมากินกาแฟกัน  บางครั้งตอนเย็นก็มี คือสร้างเป็นพื้นที่ที่เขาเรียนรู้ได้แล้วก็กินกาแฟของตัวเองได้ด้วย ไหนๆ เราก็สี ตาก คั่วกาแฟ เขาอยู่แล้ว เราก็แบ่งส่วนหนึ่งให้เขามีโอกาสชิมกาแฟของเขาเองกับของหมู่บ้านอื่นเปรียบเทียบกัน บางครั้งเขาก็อยากรู้ว่ากาแฟบ้านคนอื่นกับบ้านตัวเองมันต่างกันยังไง เรายังดีกว่าเขาอยู่มั้ยอะไรแบบนี้”

ในโรงสีเล็กๆ ที่เป็นพื้นที่กลางที่เคเลบใช้สอนและรับซื้อกาแฟชาวบ้าน มีอุปกรณ์สำหรับให้ชงกาแฟวางเรียงรายไว้ บนชั้นด้านหลังมีถุงกาแฟที่มีชื่อเขียนอยู่ที่ซองว่าเป็นกาแฟใครบ้าง ชาวบ้านจะมาหยิบกาแฟชงเมื่อไหร่ก็ได้

“มันอาจจะไม่สำคัญมาก แต่ผมเชื่อว่ามันต้องมีผลกับการเอาใจใส่กาแฟอยู่ ถ้าเรารู้ว่าเพื่อนๆ เราจะมากินกาแฟของเรา เราจะรู้ว่าเป็นของเรานะ เราก็อยากจะทำดีๆ ไม่อยากอายเขาอะ ก็เป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้เขาอยากจะทำดีๆ ด้วย” (หัวเราะ)

Gem Forest Coffee

ต่างกันกับชื่อของเจ้าของที่ติดอยู่บนถุงกาแฟสาธารณะสำหรับดริป เวลาเคเลบส่งกาแฟประกวดเขาจะส่งในชื่อของหมู่บ้านมณีพฤกษ์ กาแฟจากมณีพฤกษ์ได้รับรางวัลสุดยอดเมล็ดกาแฟไทยจากสมาคมกาแฟพิเศษไทยในงาน Thailand Coffee Fest คะแนนติดอันดับ 1 ใน 3 และยังได้รับการประมูลในราคาที่สูงมาก นอกจากนั้น กาแฟจากมณีพฤกษ์ยังได้รับการยอมรับจากคนทำกาแฟอีกมากมาย 

“อันที่ผมประกวดนผมก็เอาของหลายๆ คนมารวมกัน เพราะว่าผมไม่อยากเอาเป็นคนใดคนหนึ่งมายกย่องเป็น อ๋อ คนนี้เก่ง คนอื่นไม่เก่ง ไม่อยากให้เป็นภาพแบบนั้น แต่ผมก็เอาของหลายๆ คนในหมู่บ้านมณีพฤกษ์มาเบลนด์รวมกัน บอกเขาด้วยว่าปีนี้เราจะเอากาแฟส่งประกวดนะ ทุกคนก็เหมือนลุ้นๆ อยู่ว่าจะได้มั้ย 

“พอได้รางวัลกาแฟ เขาก็ประมูลมาได้ เงินก้อนที่ได้มาก็เอามาทำระบบน้ำให้ชาวบ้านด้วย คือให้ชาวบ้านเห็นว่ากาแฟทำให้มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ใช่กับแต่ละคน แต่เกิดกับภาพรวมได้ด้วย ไม่ใช่ว่าคนนี้ปลูกกาแฟรวยคนเดียว เราต้องเข้าใจว่าคนปรัยคิดแบบเป็นสังคม เป็นภาพรวม พอเขาเห็นกาแฟเป็นสิ่งที่ช่วยทั้งสังคมทีเดียวเขาก็ชอบ ชอบมาก 

“อยากให้เขาเข้าใจว่ากาแฟที่เขาทุกคนทุ่มเททำ แล้วเห็นมั้ย เนื่องจากทุกคนทำกาแฟดีๆ เนี่ย เราก็ได้รางวัลกลับมา”

เพราะมันไม่ใช่กาแฟคนใดคนหนึ่ง เป็นกาแฟรวมทั้งหมู่บ้าน

ผมบอกเขาว่า ทุกอย่างดูลงตัวไปหมด

เขาตอบทันทีว่า ไม่ ที่เราคุยกันมันคือภาพใหญ่ มันยังมีปัญหาเล็กๆ อีกหลายอย่างที่ต้องค่อยๆ แก้ไข ที่ผมบอกว่าลงตัวนั้นหมายถึงชีวิตของเขา สิ่งที่เคเลบชอบตั้งแต่เด็ก การไปเรียนที่อเมริกา การที่ไปเจอโบสถ์ที่คั่วกาแฟ (เขาหัวเราะ) การที่กลับมาที่นี่ เจอมณีพฤกษ์ รวมถึงความขวนขวายและความพยายามของตัวเขา

“ผมตามพระเจ้าทีละก้าวเลย ถ้าถามผม 15 ปีก่อนว่าจะเป็นยังไง ผมตอบไม่ถูกเลย นึกภาพไม่ออก ขนาด 10 ปีก่อนก็ยังไม่รู้ว่าจะทำโรงคั่วกาแฟ เหมือนกับถึงเวลาทำพระเจ้าก็บอกว่าถึงเวลาทำแล้ว ก็ทำ เสี่ยงทำดูมันก็ไปเรื่อยๆ มันก็มีอุปสรรค มีสิ่งที่เหมือนเป็นปัญหาใหญ่เกิดขึ้น แต่เราก็รอดู รอคอย นึกถึงพระเจ้าแล้วคำตอบก็จะมา มาตามเวลาที่สมควรเอง

“กาแฟเป็นหนึ่งอย่างที่พระเจ้าให้ผม แต่พระเจ้าไม่ได้บังคับผม แค่เอาของขวัญให้ เอาครอบครัวคนปรัยมาอยู่ในชีวิต เป็นประสบการณ์หนึ่งที่ช่วยให้เรามีมุมมองที่มีอยู่ทุกวันนี้ ให้ของขวัญเป็นความรู้กาแฟ แล้วพระเจ้าก็แค่รอดูว่าผมจะทำอะไรกับมัน จะเอาไปใช้ยังไง”

เคเลบ จอร์แดน ฝรั่งบนดอยผู้ใช้กาแฟพัฒนาชีวิตคนเผ่าปรัยและชวนกันสร้างกาแฟดีระดับประเทศ

Writer & Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2